กระตุ้น PASSION ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน

คุณ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนสองรางวัลซีไรต์ จากผลงาน “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” และ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” เคยเขียนถึงประเด็น “ว่าด้วย PASSION” โดยยกตัวอย่าง บิล แบลส นักออกแบบเสื้อผ้าชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตก ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คนทำงานแฟชั่น ต้องมี Passion ถ้าไม่มีเมื่อไหร่ ก็ควรเลิกทำ… ซึ่งถ้าวันไหนผมไม่มี Passion ผมก็จะไป…”

แล้ววันหนึ่งบิลก็ไป! เขาขายธุรกิจเสื้อผ้าที่ตนก่อร่างมาจนใหญ่โต และลาออกจากวงการ!

คุณวินทร์ เลียววาริณ อธิบายความหมายของ “Passion” ว่า “คือความกระตือรือร้น ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ในงานที่ทำ เป็นไฟที่ขับเคลื่อนให้ผู้สร้างสรรค์งาน เดินหน้าอย่างเปี่ยมพลัง!”

พร้อมกันนั้น คุณวินทร์ยังเล่าถึง กิมย้ง นักเขียนนวนิยายจีนกำลังภายในชาวฮ่องกง ซึ่งเขียนนวนิยายเพียง 15 เรื่องในชีวิต กินช่วงเวลาเพียง 17 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2498-2515) ก็ยุติบทบาทนักเขียนนวนิยาย… ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ ว่าด้วยมันสมองของเขา ไม่ยากที่จะเขียนนิยายกำลังภายในอีกสัก 50 เรื่อง โดยรีไซเคิลจากงานเก่า เช่นที่ฮอลลีวู้ดปฏิบัติมานานนม และด้วยฝีมือของเขา งานย่อมไม่แย่แน่นอน

แต่สำหรับกิมย้ง “หากไม่มีอะไรใหม่กว่าสิ่งที่เคยสร้างสรรค์มา ก็อย่าเขียนดีกว่า!” ว่าแล้วเขาก็ยุติบทบาทการเขียนนิยายจีนกำลังภายในที่เขาเป็นหัวหอก แล้ว “ล้างมือในอ่างทองคำ” (สำนวนนิยายกำลังภายใน หมายถึง “ลาออกจากวงการ”)

คุณวินทร์สรุปปิดท้ายในบทความว่า…

“มีศิลปินไม่มากนักในโลกที่สามารถทำเช่นนั้นได้ บิล แบลส ขายธุรกิจของเขาไปเป็นเงิน 50 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 1,650 ล้านบาท) ส่วนกิมย้ง เป็นนักเขียนชาวจีนที่รวยที่สุด ประมาณทรัพย์สินของเขาที่ได้มาจากการเขียนหนังสือ ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 2,520 ล้านบาท) แต่ศิลปินไทยส่วนใหญ่ ต่อให้หมดไฟหมดแรง ก็ยังต้องลุกขึ้นมาทำงาน มิเช่นนั้นจะหมดลมหายใจด้วยความหิวโหย!”

จากบทความของคุณวินทร์ ทำให้นึกไปถึงสิ่งที่ จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เคยเขียนเกี่ยวกับ “การกระตุ้น PASSION ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน” ซึ่งมีดังต่อไปนี้…

 

1. รู้จักนิสัยส่วนตัวอย่างแท้จริง

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ อธิบายว่า บนโลกใบนี้ ทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกัน… บุคลิกของเราโดยธรรมชาติ อาจเป็นคนชอบความถูกต้อง รักความสงบสุข ไม่ใช่คนกระตือรือร้น หรือชอบแสดงออก ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีบุคลิกแบบไหน ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีถูก-ผิด เพียงแค่ต้องพิจารณาให้ชัดว่าเราเป็นคนแบบใด เพื่อนำมาปรับใช้

จอห์นเล่าถึง ชาร์ลี เวตเซล ผู้ร่วมเขียนหนังสือกับเขาหลายเล่ม ซึ่งมีลักษณะนิสัยไม่ชอบแสดงออก หรือตื่นเต้นในสิ่งที่สนใจจนออกนอกหน้า แต่เขาจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยบุคลิกนิ่งๆ สงบ และเพียรพยายามอย่างยิ่ง… ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองเขียนหนังสือร่วมกันถึง 45 เล่ม ซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากเขาเป็นคนไม่มีความต่อเนื่อง… ถ้าคุณเป็นคนแบบเดียวกับชาร์ลี คุณย่อมสามารถใช้ความเพียรอย่างสม่ำเสมอที่มีอยู่ในตัว กระตุ้น Passion ให้ลุกโชน

กลับกัน หากคุณมีบุคลิกรักสนุก หรือชอบทำอะไรตามวิธีของตนเอง คุณมีแนวโน้มที่แสดงออกอย่างกระตือรือร้นในสิ่งที่คุณสนใจ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะหมดความสนใจได้อย่างรวดเร็ว เช่นกัน!

Passion จะร้อนแรง แต่ไม่คงทน… จอห์นยอมรับว่าเขาเป็นคนแบบนี้!

“ผมจะตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ มาก แต่ก็จะเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีนิสัยแบบนี้ ก็ต้องเอามาคิดด้วยว่า ตัวเราเหมาะกับการทำงานประเภทใด ควรกระตุ้น Passion ในด้านใด”

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เปรียบเทียบ Passion เหมือนการทำอาหาร เนื้อบางส่วน เช่น เนื้อที่ไม่มีมัน จะอร่อยที่สุด ก็ต่อเมื่อปรุงด้วยความร้อนสูง โดยใช้เวลาสั้นๆ แต่หากเป็นเนื้อติดมัน การปรุงย่อมต้องใช้ความร้อนต่ำ และเวลานาน… แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็ปรุงอาหารให้อร่อยได้ เพียงแค่รู้ว่ากำลังปรุง “เนื้อแบบไหน” อยู่… เท่านั้น!

 

2. สังเกตเสมอ ว่าอะไรสำคัญสำหรับเรา

 

The Leadership Challenge คือหนังสือเกี่ยวกับผู้นำที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลกทุกวันนี้ ผู้เขียนคือ เจมส์ คูเซส และ แบร์รี่ โพสเนอร์ ผู้เขียนถาม จอห์น เอช สแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นพลตรีแห่งกองทัพสหรัฐฯ ว่า เขาพัฒนาผู้นำอย่างไร?

สแตนฟอร์ดตอบว่า “สำหรับผม ความลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือ จงมีความรักอยู่เสมอ การมีความรักในสิ่งที่ทำ จะส่งผลให้เรามีไฟจุดประกายให้คนอื่นๆ เกิด Passion ที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จมากกว่าปกติ ผู้ไม่มีความรัก จะไม่มีวันเข้าใจความตื่นเต้นนี้ ความรักจะทำให้เรามุ่งไปข้างหน้า และนำคนอื่นไปสู่ความสำเร็จ ผมไม่รู้ว่านอกจากพลังงานแห่งความรักแล้ว จะมีพลังงานอื่นที่ทำให้เรามีความสุข และรู้สึกดีได้มากกว่านี้อีกไหม”

สแตนฟอร์ดรู้สึกเสมอว่า ต้องรักษาความมุ่งมาดปรารถนาของตน ซึ่งก็คือ “การรักผู้อื่น” เอาไว้ ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่สามารถนำคนอื่นได้ แต่มีหลายคนทำเช่นนี้ไม่ได้ หลงลืมสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ Passion ของคนเหล่านั้นมอดดับลง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มไม่รู้สึกถึง Passion ของตน… จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ แนะนำว่า “ให้ย้อนถามตัวเอง ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ และเหตุใดจึงอยากไล่ตามความฝันนั้นในตอนแรก ตราบเท่าที่คุณจำความรู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ การรักษา Passion ให้คงอยู่ ก็จะเป็นเรื่องง่าย”

 

3. อย่ากังวล ถ้าคุณจะต่างจากคนอื่น

 

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เล่าถึง ผู้ก่อตั้ง “เทย์เลอร์ กีตาร์” บริษัทผลิตเครื่องดนตรีที่ประสบความสำเร็จรายหนึ่งของโลก โดยเฉพาะชื่อเสียงในด้านการออกแบบเครื่องดนตรีใหม่ๆ ด้วยความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ที่หาตัวจับยาก

บ็อบ เทย์เลอร์ เป็นคนที่แตกต่างจากเพื่อนๆ เด็กมัธยม กระทั่งตอนที่เข้าไปทำงานในร้านกีตาร์ “อเมริกัน ดรีม” เมื่ออายุ 19 เขาก็แตกต่างจากคนในร้านนั้นเช่นกัน! บ็อบไม่สนใจว่าตัวเองไม่เหมือนใคร เขาสนใจเพียงการไล่ตามความฝันของเขาเท่านั้น

“ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน ผมเองรู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด รู้สึกว่าตัวเองเข้ากับคนอื่นๆ ในหน่วยงานไม่ได้ ผมไม่เคยเป็นหนึ่งในพวกเด็กใหม่… ตอนแรก ผมก็ไม่ค่อยสบายใจ แต่ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ทำ ผมมุ่งมั่นไปข้างหน้า แม้จะใช้เวลาหลายปี แต่ในที่สุดผมก็ทำสำเร็จ สิ่งที่น่าแปลกใจคือ หลังจากนั้นไม่นาน คนอื่นๆ ล้วนมาขอคำแนะนำจากผมทั้งสิ้น”

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ สรุปจากประสบการณ์ของบ็อบ เทย์เลอร์ ว่า “ผู้บรรลุฝั่งฝันได้ ย่อมต้องมีความโดดเด่นบางอย่าง คุณไม่สามารถบรรลุความฝันที่ต้องการ หากยังไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ถ้าคุณต้องการมีชีวิตที่พิเศษและสร้างสิ่งมหัศจรรย์ คุณต้องก้าวไปตาม Passion โดยไม่ต้องสนใจ ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับคุณ”

 

4. ไม่ปล่อยให้อายุ และอุปสรรค ทำร้ายคุณ

เด็กๆ จะมี Passion และความกระตือรือร้นตามธรรมชาติ พวกเขารักที่จะใช้ชีวิต มีความฝันใหญ่โต บางคนสามารถเก็บความกระตือรือร้นและพลังงานเหล่านี้ไว้ได้จนโตเป็นผู้ใหญ่

แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิตที่ยาวนาน มนุษย์จะทำความกระตือรือร้นหล่นหาย แล้วจะมีความเฉื่อยชาเข้ามาแทนที่ มากขึ้นๆ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเพราะเราสูญเสียอุดมคติ หรือเพราะอุปสรรคที่เกิดขึ้นทุกวันทำให้เราหมดกำลังใจ และสุดท้าย Passion ของเราจะหายไป!

อย่าปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความผิดหวังและความยากลำบากสักแค่ไหน? อย่าให้มันมาบั่นทอน Passion ของเรา เพราะแม้ผู้ที่ต้องเผชิญกับความทุกข์แสนสาหัส ก็ยังสามารถค้นหาเป้าหมายในชีวิตได้

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ ย้ำว่า “ในแต่ละช่วงของชีวิต มีทั้งอุปสรรคและสิ่งดีๆ มีทั้งความทุกข์ทรมานและชัยชนะ ขึ้นอยู่กับคุณที่จะดึงด้านดีออกมาให้มากที่สุด และอย่าปล่อยให้ด้านลบทำให้คุณท้อแท้และสิ้นหวัง”

จอห์นยอมรับว่า ถึงตอนนี้จะอายุใกล้ 70 พลังงานในตัวมีน้อยกว่าแต่ก่อนมาก แรกๆ เขารู้สึกไม่สบายใจ เพราะไม่อยากให้ตัวเองทำอะไรช้าลง แต่เขากลับได้เติม Passion อยู่ตลอดเวลา ด้วยการใช้ชีวิตกับครอบครัว…

“ผมให้เวลากับตัวเองมากขึ้น มีความสุขกับครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลานๆ ทั้ง 5 คน ผมยังคงมีไฟ มี Passion และมีความสุขกับชีวิตช่วงนี้ ไม่ต่างจากช่วงที่แล้วๆ มา”

การทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ จะทำให้เรามีพลังก้าวต่อไป… มันจะเปลี่ยนเราในด้านวิธีคิด วิธีทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น… Passion เป็นพลังอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเราได้…

จอห์น รัสกิน นักเขียนและนักวิจารณ์ เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อความรักกับทักษะ รวมเข้าด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิด Passion ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก”

 


เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save