คำถามที่มักมีคนถามเข้ามามาก คือ ทำไมบางเรื่องเราอยากลืมจากความทรงจำเรา แต่นานวันมันกลับชัดเจนมากขึ้นทุกที
ทำให้คิดถึงแต่เรื่องเก่าๆ เดิมๆ เหมือนวนเวียนอยู่ในตู้ปลา ลืมได้แค่เดี๋ยวเดียวแล้วก็กลับมาคิดถึงเรื่องเดิมอีก มันนานเกินกว่าที่เราเคยเป็น
คิดเรื่องเดิมๆ มาเกือบสองปี มีวิธีไหนที่ทำให้เราไม่ต้องสนใจ หรือไม่คิดถึงมันได้บ้าง ?
คำตอบ…
1.ธรรมชาติของจิต มันจะคิดตลอดเวลา
ทั้งคิดดี คิดไม่ดี คนเราคิดวันละ 5หมื่นเรื่องเป็นอย่างน้อย
2.ถ้าไม่อยากคิดแบบฟุุ้งซ่าน ต้องฝึกสมาธิ
เพราะคนฝึกสมาธิ มันจะคิดน้อยลง เป็นภาวะที่เรียกว่า “จิตอิ่มอารมณ์” เวลาทำสิ่งใดอยู่ จิตก็จะอยู่กับสิ่งๆ นั้นได้ อันนี้มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์มาแล้วมากมาย
3.การที่คนเราอยากจะเลิกคิด ไม่ใช่อยากเลิกมันก็จะเลิกได้
ไม่อย่างนั้น คงไม่มีใครมีความทุกข์กัน ดังนั้น ถ้าเราอยากเลิกฟุ้งซ่าน ไม่อยากให้ความคิดทำร้ายเรา ก็จำเป็นต้องฝึกสมาธิครับ
ส่วนวิธีอื่นๆ เช่นเบี่ยงเบนความสนใจ ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยว วิธีพวกนี้ก็ใช้ได้ แต่เดี๋ยวมันก็จะกลับมาคิดอีกเพราะธรรมชาติของจิตที่ไร้สมาธิมันเป็นแบบนั้น มันจะคิดตลอดเวลา
4.คนเราคิดอยู่เสมอ
บางคนคิดแง่ดีก็ดีไป บางคนคิดแง่ร้ายก็แย่ไป ถ้าไม่อยากทำสมาธิก็ฝึกให้ตัวเองคิดในแง่ดีเข้าไว้ แต่การฝึกให้ตัวเองคิดในแง่ดี
วิธีนี้จะใช้เวลานานกว่าการทำสมาธิ และได้ผลน้อยกว่า เพราะตราบใดที่จิตยังคิดมากอยู่ ต่อให้คิดแง่ดีเท่าไหร่ ไม่นานมันก็จะไป
คว้าเอาความคิดแย่ๆ มาทำร้ายตนเองจนได้
5.คนเราคิดมากไม่เท่ากัน เพราะจิตมีกำลังต่างกัน
ยิ่งจิตเป็นสมาธิเท่าไหร่ ความคิดจะฟุ้งซ่านน้อยลงเท่านั้น คิดมากในที่นี้ไม่ได้แปลว่าคิดกังวลอย่างเดียว แต่อาการใจลอย
คิดอะไรพล่าๆ เบรอๆ คิดน้อยใจ หรือคิดแต่เรื่องการงานทั้งวัน เหล่านี้เรียกว่าคิดมากทั้งนั้น
6.ผู้ฝึกจิต จะสามารถควบคุมความคิดได้
เช่น เมื่อถึงเวลาต้องใช้ความคิด ก็คิด และความคิดนั้นจะมีพลังมากกว่า แต่เมื่อต้องการอยู่นิ่งๆ มันก็นิ่งได้ เมื่อทำสิ่งใดก็อยู่กับสิ่งนั้น
ไม่มีอาการคนใจลอย คิดอดีต อนาคต ทำให้ความคิดเฉียบคมและทรงพลังมากกว่าคนทั่วไป
7.แนะนำให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
คือ อยากให้ไปหัดทำสมาธิครับ ไม่เช่นนั้นปัญหามันก็จะวนไปวนมาอยู่แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
8.ทำสมาธิ
ทุกวันนี้มีหนังสือมากมายที่สอนการทำสมาธิ หรือสำนักต่างๆ จะเน้นสมถะกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐานก็ตามแต่ใจ หรือจะใช้วิธีดูลมหายใจก็ตามแต่สะดวกเลยครับ
จริงอยู่ความคิดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การฝึกจิตก็ช่วยให้ความคิดนั้นเป็นไปอย่างมีคุณภาพและไม่ทำร้ายตนเอง
ขอให้ควบคุมความคิดได้ในเร็ววันนะครับ
บทความโดย พศิน อินทรวงค์
ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ได้ที่
เพจ https://www.facebook.com/talktopasin2013