โลกสอนให้เราเปลี่ยนความคิดบอกว่า เปลี่ยนความคิดแล้วชีวิตจะเปลี่ยน
แต่ในความเป็นจริงพบว่าหลายครั้งที่เราเปลี่ยนความคิดแล้วแต่ชีวิตของเราก็ยังย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม
เรารู้แล้วว่าเราควรทำอะไร แต่..เราก็ยังควบคุมตัวเองให้ทำสิ่งที่ควรทำไม่ได้ เหมือนคนคิดดีแต่ทำดีไม่ได้พูดง่ายๆ ว่า “คิดอย่างทำอีกอย่าง”
คล้ายๆ เวลาที่เราอ่านหนังสือ แล้วเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ตามที่หนังสือบอก
เช่นเรารู้ว่าโกรธไม่ดี แต่เราก็ยังโกรธ เรารู้ว่าควรจะเงียบแต่เราก็ยังพูด
รู้ว่าไม่ควรรักแต่ก็ยังรัก รู้ว่าไม่ควรเสียใจแต่ก็ยังเสียใจ
รู้ว่าควรปล่อยวางแต่ก็ยังยึดติดอย่างนี้เป็นต้น
เห็นได้ว่า กระบวนการของความคิด มีอย่างอื่นแทรกแซงอยู่เสมอ ความคิดไม่ได้เป็นอิสระ ไม่ได้มีอานุภาพอยู่เหนือทุกสิ่งเหมือนที่หลายคนเข้าใจกัน
เมื่อเปลี่ยนความคิดชีวิตไม่เปลี่ยน แล้วเราต้องเปลี่ยนที่อะไร…
โลกสอนให้เราเปลี่ยนความคิด แต่พระพุทธเจ้าสอนให้เราเปลี่ยนที่จิต เปลี่ยนโดยอาศัยกระบวนการของจิตที่เข้าไปรู้ทันความคิด การรู้ทันความคิดในที่นี้หมายถึง รู้ตัวอยู่เสมอว่าเรากำลังคิดอะไร
ชอบก็รู้ว่าชอบ
ไม่ชอบก็รู้ว่าไม่ชอบ ความคิดไหลไปก็รู้ ความคิดสงบนิ่งก็รู้ รู้ไปตามสภาพความเป็นจริงของความคิดโดยไม่มีการบังคับ
นี่เรียกว่า รู้ความคิด
แน่นอนว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของความคิด เพียงแต่พระองค์ตระหนักดีว่าการเปลี่ยนความคิดนั้นเป็นทางอ้อม ทำได้ช้า
แต่การเปลี่ยนเข้าไปที่จิตนั้นเป็นทางตรง และทำได้เร็วกว่า
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงย้ำอยู่เสมอว่า ความรู้ของพระองค์จะอาศัยความคิดเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้
ทุกสิ่งจำเป็นต้องฝึกฝนลงไปในขั้นจิต ไม่สามารถใช้สุตมยปัญญา หรือปัญญาเกิดจากการฟัง
ไม่สามารถใช้จินตามยปัญญา หรือปัญญาเกิดจากการคิด แต่ต้องใช้ภาวนามยปัญญา หรือปัญญาเกิดจากฝึกฝนทางจิต จึงสามารถเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้
จิตเป็นนาย ความคิดเป็นบ่าว ส่วนร่างกายเป็นทาส ถ้าเราควบคุมเจ้านายใหญ่ได้
ถึงตอนนั้นเราจะเป็นผู้ใช้ความคิดโดยไม่ถูกความคิดเล่นงาน
“ใช้ความคิด แต่ไม่ถูกความคิดใช้” คือ เคล็ดลับของความสำเร็จ
และยังเป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเราจึงสมควรพาตนเองเข้าสู่วิถีแห่งการพัฒนาจิต
“เปลี่ยนที่ความคิดเหมือนขี่เต่า แต่เปลี่ยนที่จิตเราเหมือนขี่มังกร”