คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คงไม่เจอโลกใหม่ ถ้า “ไม่ขอ” ให้พระราชินีพระราชทานเรือสำรวจมหาสมุทร พร้อมลูกเรือ? ถ้า โธมัส เอดิสัน ไม่ขอทุนเพื่อทำการทดลอง เราคงต้องอ่านหนังสือกันโดยใช้กองไฟ? กระทั่ง ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ยังร้องขอคนอเมริกัน ด้วยประโยคทรงพลังที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้คุณ แต่จงถามว่าคุณจะทำอะไรให้ประเทศชาติได้บ้าง”
เพอร์ซี่ รอสส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่สร้างตัวจากศูนย์ เคยกล่าวไว้ว่า “เธอต้องเอ่ยปากออกมา เพราะการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ คือเคล็ดลับสู่ความสำเร็จที่ทรงพลัง แต่กลับถูกมองข้ามมากที่สุด”
หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเทคนิควิธีมากมาย ซึ่งการเอ่ยปาก “ขอ” ความช่วยเหลือ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการนั้น และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตบางคนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแค่ “เอ่ยปากขอให้ถูกวิธี”
นักจิตวิทยาแนวพัฒนาตนเองยืนยันว่า “การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนอ่อนแอ หรือไร้ความสามารถ แต่มันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของคนกล้าและมีไหวพริบ ต่างหาก!”
ไทเกอร์ วูดส์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่โดดเด่น เพราะเขา “ขอ” คำแนะนำและขอฝึกเพิ่ม… ตอนที่ บิลล์ เมอร์เรย์ ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง เพิ่งเริ่มสร้างชื่อให้ตัวเอง เขา “ขอ” ให้ จอห์น เบลุคชี่ ดาวตลกที่ได้รับการยกย่องในยุคนั้น ช่วยเป็นพี่เลี้ยง… ขนาดศิลปินชื่อก้อง ลีโอนาร์โด ดาวินชี ยังเคย “ขอ” คำแนะนำจาก เวรอคชิโอ ศิลปินอีกท่าน ที่มีผู้คนนับหน้าถือตา…
คนส่วนใหญ่กลัวที่จะขอ
เป็นเรื่องปกติ ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ… มีเหตุผลมากมาย เช่น อึดอัดเวลาถูกมองว่าไร้ความคิด เป็นคนขัดสน เป็นคนไม่ฉลาด ไม่มีใครอยากโดนมองแบบนั้นแน่ๆ แต่สาเหตุสำคัญที่นักจิตวิทยาได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคที่ทำให้คุณไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ นั่นคือ กลัวโดนปฏิเสธ และไม่อยากได้ยินคำว่า “ไม่ได้”
นั่นหมายความว่า พวกเรากำลัง “ปฏิเสธตัวเอง” ตั้งแต่เริ่มต้น หรือพูดอีกอย่างได้ว่า คุณกำลังบอกตัวเองว่า “ไม่ได้” ก่อนที่คนอื่นจะพูดคำนั้นใส่คุณ เสียอีก! เพราะเรา ๆ ท่านๆ มักคิดเอาเองว่า สิ่งที่คิดหรือสิ่งที่ต้องการขอความช่วยเหลือ จะถูกปฏิเสธ!
แทนที่จะคิดแบบนั้น ลองเสี่ยงเอ่ยปากขอในสิ่งที่คุณต้องการ หรืออยากได้ ดูสิ! ถ้าไม่ได้ ก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน แต่ถ้าได้ขึ้นมา คุณจะรู้สึกดีขนาดไหนล่ะ! ได้ออกเดทกับคนที่แอบชอบ ได้หน้าที่การงานที่ดีกว่า ได้ร่วมทีมที่แข็งแกร่ง หรือกระทั่งได้ความช่วยเหลือในการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ทำโครงการใหม่ ๆ
อย่าปล่อยให้ “ความกลัวถูกปฏิเสธ” ฉุดรั้งเราไว้อีกเลย
4 เทคนิคเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ
“แล้วควรจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลืออย่างไร?” เป็นคำถามที่นักจิตวิทยาถูกถามมากที่สุด และคำตอบก็คือ เทคนิคในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้คุณได้ในสิ่งที่ปรารถนา มันไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากอะไรเลย ก็แค่…
1. เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ โดยหวังว่าจะได้
จุดเริ่มต้นคือ “ความคิดของคุณเอง” เมื่อไหร่ที่คิดในเชิงลบ นั่นหมายถึงคุณกำลังต่อต้านตัวเองอยู่ ให้คิดไว้เลยว่า สิ่งต่างๆ จะออกมาอย่างที่คุณปรารถนา แล้วคุณจะมีแรงผลักดันให้สิ่งที่ต้องการ กลายเป็นจริง!
อย่าเอ่ยปากขอ โดยตั้งความหวังไว้แค่นิดๆ หน่อยๆ ว่าจะได้รับความช่วยเหลือ คุณต้องเอ่ยปากด้วยความมั่นใจและรู้สึกลึกๆ เต็มเปี่ยม ว่าจะได้สมใจ! จงเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ โดยคิดไว้ล่วงหน้า ว่าจะได้ยินคำว่า “ได้”
เมื่อคุณมั่นใจว่าได้ การเข้าหาคนที่ต้องการให้ช่วยเหลือ ก็ควรมีมารยาทนอบน้อม อย่าวางมาดหยิ่ง หรือแสดงสีหน้ายโส ทำตัวน่ารัก แล้วพวกเขาจะเอ็นดู พร้อมทั้งแนะนำว่าจะช่วยเหลือคุณได้อย่างไร?
2. ขอคนที่จะให้ความช่วยเหลือได้
คุณต้องคิดให้ชัดว่าจะขอใคร? เหมาะหรือไม่ที่จะขอจากคนนั้น?
การจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ คุณควรเริ่มด้วยการถามตัวเองก่อนว่า “ฉันต้องเอ่ยปากขอ…จากใคร ถึงจะได้?”, “ใครจะอนุญาตฉันให้ทำ…ได้?” และ “ใครมีข้อมูลหรือทรัพยากรที่ฉันต้องมี เพื่อที่จะทำ….ได้?”
เทคนิคข้อนี้คือการมองให้ออกถึงบุคคลที่เหมาะสม การเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่จะขอ “ใครก็ได้” เพราะการขอใครก็ได้ คือการขอโดยไร้จุดหมาย!
3. ขอความช่วยเหลือให้ชัดเจน
นักจิตวิทยาเล่าตัวอย่างของเทคนิคนี้ให้เห็นภาพว่า ตอนที่เขาไปเป็นวิทยากร เขามักจะถามผู้เข้าฟังการบรรยายว่า “ใครอยากได้เงินเพิ่มบ้าง?” แล้วเลือกใครสักคนที่ยกมือขึ้น และส่งให้เขาหนึ่งเหรียญ จากนั้นก็ถามต่อว่า “ตอนนี้มีเงินเพิ่มแล้ว พอใจหรือยัง?” คนส่วนใหญ่มักตอบว่า “ยัง ผมอยากได้มากกว่านี้”
นักจิตวิทยาจะให้เหรียญเขาอีกสองเหรียญ แล้วถามว่า “พอหรือยัง?” คำตอบยังคงเป็น “ยัง ผมอยากได้มากกว่านี้”
เกมนี้ชื่อว่า “มากกว่านี้ได้อีก” สุดท้ายเขาต้องระบุตัวเลขที่แน่นอน ถึงจะจบเกม!
นักจิตวิทยานำเสนอให้คนฟังการบรรยายเห็นว่า “จำเป็นแค่ไหนที่ต้องระบุสิ่งที่ต้องการขอให้ชัดเจน… การขอกว้างๆ ย่อมได้ผลกว้างๆ การเอ่ยปากร้องขอความช่วยเหลือต้องชัด ถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์เฉพาะเจาะจง”
เขายกตัวอย่างการเอ่ยปากขอแบบเฉพาะเจาะจง ดังนี้…
อย่าพูดว่า “ขอที่นั่งที่ดีกว่านี้ได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “ขอที่นั่งแถวหน้าได้ไหม?”, อย่าพูดว่า “คุณจะสนับสนุนวงดนตรีของเรา ด้วยการบริจาคเงินสักหน่อยได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “คุณช่วยกรุณาบริจาคสักหนึ่งร้อยเหรียญ ให้วงของเราได้ไหม? เราจะได้เดินทางไปร่วมประกวดการแข่งขันวงดนตรีระดับรัฐ”
อย่าพูดว่า “เราพอจะมีเวลาอยู่ด้วยกันสุดสัปดาห์นี้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “คืนวันเสาร์นี้ ออกไปกินข้าวดูหนังด้วยกันไหม?”, อย่าพูดว่า “คุณช่วยทำโปรเจ็คท์นี้หน่อยได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “ขอเวลาสักชั่วโมง หลังเลิกงานวันพฤหัสฯ มาช่วยทำโปรเจ็คท์พิเศษนี้หน่อยได้ไหม?”
คุณเริ่มเห็นภาพของคำพูดที่ “ชัดเจน” ในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ แล้วใช่ไหม!
4. ขอความช่วยเหลือ ซ้ำได้!
บางที เราอาจยังไม่ได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่ครั้งแรกที่เอ่ยปากขอ ที่สำคัญ อย่ามองว่าการถูกปฏิเสธในตอนต้น คือทางตันถาวร เพราะหนึ่งในหลักการสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือความไม่ย่อท้อ-ไม่ยอมแพ้
เมื่อไหร่ก็ตามที่ขอให้ใครสักคนช่วยเหลือ บางคนอาจปฏิเสธ นั่นอาจเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ณ เวลานั้น พวกเขาอาจมีงานด่วน หรือรับปากใครไว้แล้ว หรือมีเหตุผลอื่นที่ยังช่วยเหลือเราไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่กระจกสะท้อนให้เห็นตัวคุณ หรือความฝันของคุณ ว่าตัวคุณไม่โอเค หรือฝันของคุณไร้สาระ
คุณควรยอมรับความจริงว่า คงต้องมีถูกปฏิเสธบ้างล่ะ… สิ่งสำคัญคืออย่ายอมแพ้ หลังจากโดนปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ อย่าเพิ่งเลิกล้มความตั้งใจในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ มันอาจเป็นแค่เรื่องของจังหวะเวลา หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือไม่ก็แค่…ถึงเวลาไปขอให้คนอื่นช่วย!
อย่าปล่อยให้คำว่า “ไม่ได้” มาทำให้เราเปลี่ยนใจ (ไม่ขอแล้ว) พวกที่คิดว่า “ต้องได้” ย่อมมีหวังว่า “ได้” พวกเขาจะเห็นผลประโยชน์และโอกาสที่จะได้รับเสมอ… ขอแค่เติมกำลังใจตลอดเวลา และอย่าท้อ
เริ่มขอความช่วยเหลือ ตั้งแต่ตอนนี้
เพื่อปลดปล่อยพลังของการขอ ก่อนอื่น คุณต้อง “เต็มใจ” ที่จะขอความช่วยเหลือ… เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า จุดเริ่มต้นมักน่ากลัวและอาจจะยาก นักจิตวิทยาแนะนำให้ลองหยิบกระดาษขึ้นมาตอบคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการขอความช่วยเหลือ…
– เขียนสิ่งที่อยากได้ แต่ไม่ค่อยได้ขอความช่วยเหลือจากใคร?
– แต่ละข้อ เขียนอธิบายว่า คุณห้ามตัวเองไม่ให้ขอ อย่างไร? และทำไม? คุณกลัวอะไร? คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือ?
– หลังจากนั้น ให้เขียนลงไปว่า คุณต้องสูญเสียอะไร ถ้า “ไม่ขอ” อะไรที่อาจขาดไป เพียงเพราะคุณไม่ยอมขอ?
– สุดท้าย เขียนว่าชีวิตจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง ถ้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ? คุณจะได้อะไร? คุณจะถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จได้เร็วขึ้นขนาดไหน?
เมื่อคุณได้อ่านทบทวนทั้งหมดที่เขียนข้างต้น คุณจะมีความมั่นใจมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการแค่… “เอ่ยปากขอความช่วยเหลือออกมา”
เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND