๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก (ตอนที่ ๒)

พระบรมราโชวาทในตอนที่ ๒ นี้ฉันขอยก ๓ พระบรมราโชวาทที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเราเอง

1. การทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข

“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)

ฉันยังคงเชื่ออยู่เสมอว่า “มนุษย์สามารถทำได้ทุกอย่างที่อยากทำ หากมีความตั้งใจจริง” ในชีวิตการทำงาน ต่อให้เป็นงานอันเป็นที่รัก ก็ย่อมต้องเจออุปสรรค เจอปัญหา และเจอกับภาวะฝืน เพราะไม่ว่างานอันใด ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่ายดาย มีทั้งอุปสรรคที่คาดไม่ถึง

อุปสรรคที่มาจากเงื่อนไขของเราเอง หรืออุปสรรคที่เกิดจากบุคคลรอบข้างและส่งผลหรือมีอิทธิพลกับงานของเรา พระบรมราโชวาทนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเล็งเห็นถึงสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ และต้องเกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน พระองค์ท่านอยากให้เราเริ่มป้องกัน เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการ “เลิกตั้งข้อแม้ และลดเงื่อนไข”

เพียงเท่านี้ก็สามารถลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อันใด ต่อให้เราต้องเจอกับงานที่ไม่เป็นไปดังที่เราตั้งใจ เราก็จะสามารถทำและผ่านมันไปได้ด้วยใจที่ยอมรับ ไม่ฝืน ไม่อึดอัด เพราะเราไม่ได้สร้างเงื่อนไขใดๆ ไว้ตั้งแต่แรก

และจงเชื่ออยู่เสมอว่า… “คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ” ต่อให้เราไม่ได้สวมบทบาทของนายจ้าง เราเป็นเพียงแค่ลูกจ้าง ยิ่งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราอาจจำเป็นต้องทำงานหลายอย่างที่เรารู้สึกว่า “ไม่ใช่หน้าที่” “เกินหน้าที่” ของเรา ก็จงตระหนักไว้เสมอว่า “ไม่ว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ก็จงทำให้เต็มความสามารถ

ต่อให้เป็นงานที่เราไม่เคยมีประสบการณ์หรือไม่เคยทำมาก่อน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราทำไม่ได้ เพียงแค่เรายังไม่เคยทำ” หลายอย่างในชีวิตฉัน เข้ามาพัฒนางานเขียนของฉันให้เติบโตขึ้น หนึ่งในนั้นคือสภาวะ “ฝืน” สภาวะ “เรียนรู้” จากสิ่งที่เคยบอกว่า “ไม่ชอบ” “ไม่เคยทำ”

อย่าด่วนสรุปว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เรา “ไม่ชอบ” หากเรายังไม่เคยทำสิ่งนั้นมาก่อนเลย ทุกการเรียนรู้มีการเติบโต ฉันเชื่อว่า…พระองค์ทรงอยากให้เราทุกคนเรียนรู้ พัฒนางานตัวเอง มิใช่มาจาก “ความชอบ” เพียงอย่างเดียว แต่ “ความจำเป็น” ก็สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาได้เช่นกัน

2.การตั้งมั่นในความเพียร

“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน

ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”

(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)

ตามความเข้าใจของฉัน “ความเพียร” ในความหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ได้กำหนดความเพียรไว้ 2 ประการคือ

1. “ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่” หากมองในแง่ของการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฉันขอเรียกว่า “เป็นหูเป็นตา” คือ การดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์ และร่วมกันตั้งมั่นอยู่ในความดีงามและศีลธรรม ช่วยกันสอดส่องดูแล ให้องค์กรมีความก้าวหน้าอย่างขาวสะอาด ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล ร่วมมือกันผลักดันให้งานเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หากมีใครหรือมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้อง เหมาะสม ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหา และกำจัดคนพาลอย่าให้เข้ามามีบทบาทในองค์กร รวมถึงการไม่ปล่อยให้คนพาลเข้ามามีอิทธิพลในองค์กรอีก

2. “ความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้น และระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป” นอกจากการเป็นหูเป็นตาให้องค์กรแล้ว ก็ต้องมีความตั้งมั่นที่จะประพฤติตนเป็นคนดี มีความเพียร ความตั้งใจในการทำงาน อดทน มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรค หลายครั้งในชีวิตการทำงาน

ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไขง่ายดายถ้าเพียงเราละเลยคำว่า “ศีลธรรม ความดีงาม” แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ไม่สามารถสร้างความสำเร็จและความสุขที่ยั่งยืนให้แก่เราได้ หากมันจะยากขึ้น หากมันจะต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ก็จงเชื่อมั่นใน “คุณธรรม” ว่าสุดท้ายแล้ว ความดีงามจะทำให้เราผ่านทุกอุปสรรคไปได้ “ช้า” แต่ “ยั่งยืน”

และที่สำคัญ! ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะสร้างความภาคภูมิใจ มิใช่แค่ตัวเราเอง แต่ยังรวมไปถึงการสร้างการยอมรับในสังคม และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลของเราเช่นกัน

3. การแก้ปัญหาด้วยปัญญา

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”

(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)

ในทุกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ล้วนแฝงไปด้วยหลักธรรมคำสั่งสอน ต่อให้พระองค์ตรัสถึงสติปัญญา ก็ยังคงเป็นสติปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้สติ มิใช่การใช้เฉพาะแค่ “ปัญญา” “สติปัญญา” มิใช่แค่ความฉลาด หลักแหลมในการแก้ปัญหาอย่างเดียว

ไม่ใช่การแก้เฉพาะโจทย์ปัญหา แต่เป็นการตระหนักย้อนไปยังเหตุ เพื่อนำมาสู่ผล หาที่มา และมองไปข้างหน้าถึงผลที่จะได้รับ เป็นการคิดรอบด้าน คิดเป็นกระบวนการ ซึ่งนั่นย่อมนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดปัญหา มิใช่การรอให้ “ปัญหา” เกิดและคอยแก้เพียงอย่างเดียว เป็น “การใช้สติปัญญา” ตั้งแต่เริ่มต้น

มีการดำรงสติรู้ตัวอยู่เสมอในทุกขณะของการทำงาน เพื่อดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท  และเตรียมรับมือกับปัญหาด้วยสติปัญญา ที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมื่อมีศีลธรรมเป็นตัวตั้ง ความยุติธรรมและสติปัญญาเป็นตัวตาม ปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง แก้ได้ที่ต้นเหตุ มิใช่แก้ที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ หมดไป ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

ทั้ง ๓ พระบรมราโชวาทที่ฉันนำมาขยายความ หากเราน้อมนำมาใช้ในการทำงาน ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ บทบาท ตำแหน่ง นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้เกิดกับตัวเองแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร นำไปสู่การพัฒนา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ฉันคิดว่าพระองค์ก็คงอยากจะตรัสว่า “อย่าเกียจคร้าน มีงานก็ทำไป ขอเพียงขยัน ตั้งใจ อดทน และจงใช้ทั้งสติและปัญญาในการแก้ไขปัญหา แล้วชีวิตเราทุกคนก็จะเดินไปข้างหน้า นำพาประเทศเราให้อยู่รอดปลอดภัย”

แค่เราทุกคนทำได้ ไม่ต้องรอเป็นคนสำคัญระดับชาติ เราทำ ทุกคนทำ ประชาชนคนไทยทำ ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง สำหรับในหลวง…ฉันเชื่อว่า…เราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย…คือคนสำคัญของพระองค์!

ในฐานะคนสำคัญของพระราชา…เราควรทำสิ่งใด? เราน่าจะรู้ดี!

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save