หากจะยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน เชื่อแน่ว่า…เราสามารถน้อมนำทุกพระบรมราโชวาทมาใช้ได้หมด มิใช่แค่ในชีวิตการทำงาน แต่ยังเป็นมงคลต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน
เพราะทุกสิ่งที่พระองค์สอน ล้วนเป็นคำที่แสนง่ายดาย ปฏิบัติได้ไม่ยาก และใช้ได้กับประชาชนคนไทยทุกคน ทุกระดับชั้น
ในครั้งนี้…ฉันขอหยิบยก ๓ พระบรมราโชวาท ที่หากเราน้อมนำมาปฏิบัติแล้ว ย่อมเกิดความสำเร็จและความสุขในชีวิต มิใช่แค่ดีกับตัวเอง แต่ดีกับผู้ร่วมงาน ดีกับคนรอบข้าง เป็นการดำรงอาชีพด้วยหลักธรรมโดยแท้
๑. การทำความดี
“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525)
ฉันเชื่ออย่างหนึ่งว่า…แม้เราจะแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ แม้เราจะมีสำนึกของการทำความดี แต่ไม่ทุกคนที่สามารถปฏิบัติได้จริง อย่างเคร่งครัด เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่มักเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา และทำให้เราเกิดความลังเล ลืมตัว และเผลอเลือกอารมณ์ให้เป็นใหญ่เหนือเหตุผล และยิ่งเมื่อมีคำว่า “อำนาจ” “ความร่ำรวย” “ความมั่งคั่ง” ซึ่งเป็นกิเลสก้อนใหญ่ ที่เราคงต้องใช้สติและพลังอันมากมาย ที่จะปฏิเสธมัน
นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อม เช่น ความกดดัน การแข่งขัน และชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องดิ้นรน เราจึงมักละเลย เว้นวรรค โดยคิดเพียงแค่ว่า “คงไม่หนักหนา” “แค่นี้คงไม่เป็นไร” “ใครๆ เขาก็ทำกัน” “ความดีกินไม่ได้”
พระบรมราโชวาทของในหลวงครั้งนี้ พระองค์คงมองเห็นถึง “ภาวะการต่อสู้ระหว่างดีชั่วในจิตใจของคนเรา” เพราะการทำชั่ว อาจให้ผลดี (โดยวัดจากการได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ โดยมิได้มองถึงผลในระยะยาว) เราคิดว่า “ดี” ในตอนนั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว “ไม่มีความเจริญ ในหมู่คนชั่ว” เราทุกคนต่างต้องการความสำเร็จโดยวัดจากการเห็นผลชัด เห็นผลเร็ว ได้เลย ไม่ต้องรอนาน โดยมิได้คิดว่าสิ่งที่เรากระทำ ส่งผลกระทบถึงใคร และส่งผลร้ายใดๆ ในอนาคตบ้าง
หรือต่อให้รู้ว่าส่งผลร้ายกับผู้อื่น แต่ในเมื่อเราไม่เดือดร้อน เราก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมปัจจุบัน ไม่ได้สนใจว่า “ใครดีใครอยู่” แต่สนใจแค่ว่า “ใครเอาตัวรอดได้ก่อนใครอยู่” หมายถึง “ผู้ชนะหรือผู้ที่มีสิทธิ์ก่อนเท่านั้น ถึงจะอยู่รอดในสังคมนี้ได้” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์จึงได้เน้นย้ำว่า “แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
พระองค์ทราบดีว่าเราคงต้องใช้พลังมหาศาลที่จะเอาชนะกิเลสในตัวเองให้ได้ เพราะแน่นอนว่า…หากเราทุกคน เลือกวิถีปฏิบัติในทางเดียวกัน คือ “รู้ว่าอะไรดีชั่ว แต่ก็ยังทำ เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งที่ต้องการ” สุดท้าย…ทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา ก็ไม่ต่างกันกับเรา “เราทำสิ่งใดไว้ ผู้อื่นก็สามารถทำกับเราได้เช่นกัน”
ไม่ต้องมองไปไกลถึงประเทศชาติ แค่ในองค์กร ในหน่วยงานของเราเอง โลกของการทำงานจะกลายเป็นแหล่งรวมของคนชั่ว แค่นี้ก็คงพอมองเห็นว่า…ปลายทางของชีวิตการทำงานจะเป็นเช่นไร?
๒. ความมีคุณธรรม
“ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมคุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงาม จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุขความร่มเย็นและมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไป”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีบรวงสรวง สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า 5 เมษายน 2535)
พระบรมราโชวาทนี้ ครอบคลุมแทบทุกเรื่องที่เป็นหลักธรรมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ การรู้จักข่มใจให้ประพฤติตนอยู่ในความดี การอดทน อดกลั้นที่จะไม่ทุจริต และการรู้จักละวางความชั่ว
พระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้หลายครั้ง เพราะถือว่าเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา และส่งผลไปสู่ความเจริญของประเทศชาติ เราจะพัฒนาประเทศ และผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างไร หากเพียงไร้คุณธรรมในชีวิต เพราะนั่นหมายถึงการขาดสติในการตัดสินแก้ปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ในบ้าน ไปถึงที่ทำงาน จนไปถึงปัญหาระดับชาติ
๓. การเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้
“คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ หมายความว่าต่อไป และเดี๋ยวนี้ด้วยเมื่อรับสิ่งของใดมา ก็จะต้องพยายามให้ ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีให้หมู่คณะและในชาติ ทำให้หมู่คณะและชาติประชาชนทั้งหลายมีความไว้ใจซึ่งกันและกันได้ ช่วยที่ไหนได้ก็ช่วย ด้วยจิตใจที่เผื่อแผ่โดยแท้”
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 เมษายน 2521)
การสร้างความสำเร็จในชีวิต โดยเฉพาะในชีวิตการทำงาน “ความเมตตา” คือคุณธรรมสำคัญของผู้นำในองค์กรต่างๆ รวมไปถึงพนักงานในระดับล่างๆ เพราะการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องมาจากการยอมรับจากคนรอบข้าง การเป็นผู้ให้ก่อน สิ่งที่ตามมาเสมอคือ “การได้รับ” ความยินดี ความเต็มใจ การเห็นตรงกัน รวมไปถึงการเลือกสรร หรือคัดคน ล้วนต้องผ่านประชามติ มาจากความเห็นชอบ มิใช่แค่ระดับหัวหน้าขึ้นไป
แต่ยังรวมถึงการสร้างความประทับใจให้เกิดกับเพื่อนร่วมงานด้วย เพียงแค่ความปรารถนาดีที่เรามีต่อกัน เชื่อหรือไม่ว่า…ความดีของคนเพียงคนเดียว แต่หากคนรอบข้างยอมรับ ยกย่อง ก็สามารถสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นกับคนหมู่มากได้ ต่อให้แตกแยก
แต่หากเรามีผู้นำที่มีจิตแห่งการเสียสละ เข้าช่วยเหลือ แก้ปัญหาให้กับทุกคนด้วยความยุติธรรม เสมอภาค บุคคลนั้นก็ย่อมกลายเป็นแบบอย่างที่ดีของทุกคนเช่นกัน “การสร้างความเชื่อในความดี” คือหัวใจสำคัญของหัวหน้างานทุกคน ฉันเชื่ออย่างนั้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิเพียงแค่มอบพระบรมราโชวาทให้คนไทยทุกคน แต่พระองค์ยังทรงทำให้เห็น ทุกคำสอนของพระองค์ พระองค์ปฏิบัติให้เราเห็นมาตลอด ๗๐ ปี พระราชกรณียกิจของพระองค์ ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดส่วนพระองค์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พระองค์คือพระราชาที่ทรงทศพิธราชธรรม” และคงยืนยันได้จากภาพในวันนี้ ที่เราทุกคนต่างต้องเสียน้ำตาอาลัยแทบขาดใจ “พระองค์คือผู้ให้โดยแท้ ผู้ให้โดยไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน”
คงมีเพียงสิ่งเดียวที่พระองค์หวังคือ “การทำให้ประเทศชาติเจริญ ผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยดี และประชาชนคนในชาติ เป็นคนดี มีความเป็นอยู่ที่ดี” นับจากนี้ต่อไป…เราทุกคนคงต้องพึ่งพาตัวเอง เสียสละเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อตัวเอง เพื่อประเทศชาติ และเพื่อในหลวงของเรา…
น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand