พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตลอด ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ มีมากมายนับไม่ถ้วน ทุกพระราชดำรัส ทุกถ้อยคำ ทุกประโยค ล้วนทำได้จริง ทำได้เลย และทำแล้วดีต่อชีวิต เป็นประโยชน์ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเอง หากทำได้ ฉันถือว่าเป็นมงคลหนึ่งที่พระองค์พระราชทานให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพียงอยากให้สังคมไทยอุดมไปด้วยคนที่คิดดี ทำดี นั่นย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
ฉันอยากจะยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานให้ในโอกาสต่างๆ และขอขยายความในสิ่งที่พระองค์ตรัส ตามความเข้าใจที่อาจไม่แตกฉานนักของฉันเอง เพียงหวังให้เราทุกคน ซึมซับ รับรู้ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ
๙ พระบรมราโชวาทที่ฉันยกมานี้ ถือว่าเป็นหลักคิดที่ดีงามในการนำไปใช้ในการทำงาน ฉันเชื่อแน่ว่า…ไม่ว่าเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้าง ทุกข้อ หากนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดผลดีกับชีวิต และสร้างความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพการงานได้อย่างมั่นคง วันนี้ฉันจะขอยกพระบรมราโชวาทในเรื่องของ “ความดี” มากล่าวถึงก่อนเป็นอันดับแรก
1.คนดี
“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)
เรารู้ว่าสังคมเราทุกวันนี้ ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน
แต่องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยคนดี มีคุณธรรม ไม่มีองค์กรใด เจริญเติบโตได้ หากนายจ้างมีเพียงอำนาจ แต่ขาดคุณธรรม ในฐานะลูกจ้างก็เช่นกัน การปรับเปลี่ยน เลื่อนตำแหน่ง ต่อให้เรามองว่าในระบบงานของเรายังคงมีเรื่องของเส้นสายมาเกี่ยวข้อง เรื่องของการ “เลียแข้งเลียขา”
จงศรัทธาในความดี ไม่มีใครเติบโต และประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างมั่นคง ด้วยการเหยียบหัวผู้อื่นเพื่อไปยืนอยู่บนที่สูง ความสำเร็จในองค์กร ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว และไม่สามารถรักษาไว้ได้ด้วยอำนาจ ความมั่นคงในอาชีพการงาน…การยึดมั่นในความดีต่างหาก ที่จะเป็นเหมือนเสาเข็มปักลงไปให้แข็งแรงทนทาน เราอาจต้องพิสูจน์ความดีกันเกือบทั้งชีวิต
ในขณะที่บางคนก้าวไปยังปลายทางได้เลยด้วยแรงผลักดันจากพรรคพวก แต่จงเชื่อเถอะว่า…ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้นาน คุณธรรมความดีนั้นยั่งยืนกว่า ฉันมิได้เชื่อที่ผลกรรมอย่างเดียว แต่ฉันเชื่อว่า…ทุกองค์กรล้วนต้องการคนเก่ง คนมีความสามารถ คนฉลาด ต่อให้ก้าวมาด้วยวิธีใด ผลประกอบการ ผลงานก็คือตัวกำหนดทิศทาง หรือต่อให้ผลงานโดดเด่น สร้างความสำเร็จให้องค์กรเพียงใด
สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ “การสร้างพลังความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน” นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้างรักและศรัทธา การทำงานเป็นทีม ก็ต้องทำให้เพื่อนร่วมทีมเชื่อ…ในความสามารถ และพร้อมจะลุยไปด้วยกัน หรือแม้จะเป็นลูกจ้างด้วยกัน การมีคุณธรรมความดีในหัวใจ สิ่งที่เราปฏิบัติกับผู้อื่น ปฏิบัติกับองค์กร ก็จะนำพาแต่สิ่งดีๆ มาสู่เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผลตอบแทนมิได้มีเพียงแค่ “เงินเดือน” “ค่าจ้าง” แต่มันคือ “ความรักในงานที่ทำ ความสุขในงานที่ทำ รอยยิ้มที่มีต่อกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และการมีหัวหน้าที่ดีมีคุณธรรม”
มองง่ายๆ เลยว่า “หากเราอยากให้หัวหน้างานเราเป็นแบบใด ก็จงทำตัวให้เป็นแบบนั้น”
อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ…การเลือก หรือส่งเสริมให้คนดีๆ ได้มีบทบาทในการแสดงความสามารถในด้านที่เขาถนัด และเปิดโอกาสให้คนดี เข้ามามีบทบาทในการควบคุมคนไม่ดี หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คนเก่งน่ะหายากก็จริง แต่คนดีหายากยิ่งกว่า” ต่อให้คนเก่ง เก่งกว่า ก็ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
หากไม่สามารถสร้างแรงศรัทธา พูดง่ายๆ หากไม่สามารถทำให้ “ลูกน้องยอมตายถวายชีวิต เพื่อนายจ้าง” ได้ ความสำเร็จก็คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะทุกองค์กรล้วนต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งฉันคงไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ “การเห็นแก่สินจ้างรางวัล” บางคนรู้ แยกแยะได้ว่าใครดี ใครไม่ดี โดยเฉพาะคนที่ให้สินจ้างรางวัลเพื่อผลักดันตัวเองไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า มีไม่น้อยที่ได้รับการสนับสนุน มิใช่มาจากคำว่า “ศรัทธา” แต่มาจากคำว่า “ค่าตอบแทน” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” ดังพระบรมราโชวาทของในหลวง ตรงพระดำรัสที่ว่า “ควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล พระองค์มองผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว การยกย่อง เชิดชูคนไม่ดี ให้เข้ามามีอำนาจ บทบาทในองค์กร เพียงเพราะได้รับ “ค่าตอบแทน” พวกเขาหารู้ไม่ว่า…พวกเขากำลังนำพาความเดือดร้อนมิใช่เกิดกับองค์กรรวม แต่ความเดือดร้อนจะเกิดกับเราทุกคน “อำนาจที่ได้มาด้วยการแลกด้วยเงิน”
คุณค่าของเราทุกคนก็จะถูกตีราคาด้วยเงินเช่นกัน เราน่าจะนึกออกได้ว่า “หากเราทำงานกับนายจ้าง หรือหัวหน้า ที่ใช้เพียงอำนาจเงิน โดยไร้ซึ่งคุณธรรม เราต้องเจอกับอะไรบ้าง?” แล้วเราจะโทษใคร ในเมื่อเราเองที่เป็นคนเลือกเขาเหล่านั้น
นี่ฉันกำลังกล่าวถึงเรื่องการทำงานนะ แต่ดูเหมือนเส้นทางกำลังจะหันไปทางการเมือง เอาเป็นว่า…จงใช้สติ และสำนึกแห่งความดีงาม ตามคำสอนของพ่อ เลือก…คนที่ต้องมาทำงานกับเรา คนที่มาดูแลเรา คนที่เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน คนที่จะอดทน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเรา คนที่เราจะยิ้มให้กันทุกวันในที่ทำงาน เพราะความสุข ความสำเร็จในชีวิตการทำงานของเรา มิได้หมายถึง “เราได้ทำงานกับคนดี”
แต่หมายถึง “เราได้เพิ่มกัลยาณมิตรเข้ามาในชีวิต” กัลยาณมิตรที่รายล้อมรอบตัวเรา เมื่อเราก้าวเท้าออกจากบ้าน ทีนี้…เรารู้หรือยังว่า…บุคคลเหล่านี้สำคัญแค่ไหนกับชีวิตเรา? เพราะนอกจากเวลาที่เราทุ่มเทให้กับครอบครัวแล้ว พวกเขาเหล่านี้…คือเวลาที่เหลือเกือบทั้งหมดของชีวิตเรา เวลาของการทำงาน!
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า…พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างเดียว แต่สิ่งที่พระองค์ห่วงใยมากกว่านั้น…คือเราทุกคนในชาติ!
พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้