เทคนิคการประชุมให้มีประสิทธิภาพสูง
หลายคนคงมีประสบการณ์ไม่ดีนักเกี่ยวกับการประชุม คนจำนวนมากถึงกับบอกว่าการประชุมเป็นเรื่อง ‘เสียเวลา’ จนพาลรู้สึกเกลียด
แต่ยิ่งเกลียดก็ยิ่งเจอ เพราะการนัดหมายเพื่อประชุมนั้นติดตามคุณไปทุกหนทุกแห่ง และเป็นการนัดหมายที่ไม่เคยจบสิ้นเลย
มีการประเมินเอาไว้ว่า บรรดาผู้บริหารจะต้องเจอการประชุมเป็นเวลาเฉลี่ยประมาณ 23 ชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์
จากจำนวนทั้งหมดนี้ 8 ชั่วโมงเป็นปริมาณการประชุมที่สูญเปล่า มีทีมงานถึงร้อยละ 90 ยอมรับว่าเวลาประชุมพวกเขานั่งเหม่อลอยคิดเรื่องอื่น ๆ และร้อยละ 73 ยอมรับว่า พวกเขาเอาเวลาประชุมนี่แหละนั่งทำอย่างอื่นไปด้วย
====
ปัญหาจริง ๆ มีอยู่ว่าบรรดาเจ้านายหรือหัวหน้าทีมมักจะคิดไปเองว่าการประชุมนั้นดีงาม จากการสำรวจในกลุ่มผู้จัดการ พบว่าเกือบร้อยละ 80 นั้นคิดว่าการประชุมที่เขาจัดให้ผลที่ยอดเยี่ยม
มีการทำวิจัยอย่างจริงจังพบว่าคนที่มักจะบอกว่าการประชุมนั้นให้ผลดีเลิศ และมีความสุขที่สุด ก็คือคนที่พูดมากที่สุด ซึ่งก็คือ ผู้นำทีมเองนั่นแหละ
แล้วถ้าประชุมแบบนี้ต่อไปจะเสียหายอย่างไร งานวิจัยบอกกับเราว่า มีการประเมินในสหรัฐอเมริกาว่าการที่ลูกน้องในทีมต้องมานั่งประชุม โดยไม่ได้ทำงานที่สมควรทำหรืองานเร่งด่วน ไม่ได้ใช้เวลาไปกับการหาแรงบันดาลใจและคิดค้นอะไรใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียมากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว
====
เมื่อการประชุมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงมีคำแนะนำสำหรับบรรดาผู้นำว่าทำอย่างไรให้การประชุมมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้
1.เตรียมตัวให้พร้อม
เริ่มต้นมีชัยไปกว่าครึ่ง คนจะนัดประชุมนั้นต้องเตรียมตัวมาอย่างดีที่สุด ต้องรู้เหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอว่าทำไมต้องมีการประชุมนี้ ควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าการประชุมจะก่อให้เกิดอะไรบ้าง และกระบวนการนั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง มีประเด็นหรือหัวข้ออะไรที่จำเป็นจริง ๆ
เมื่อรู้แล้ว ต่อมาก็คือเตรียมคนที่จะเข้าประชุม ให้นึกถึงเฉพาะคนที่จะมาช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพ ใครที่จะมาช่วยงาน ใครที่จะมาแสดงความคิดเห็น ใครจะมาช่วยตัดสินใจ แล้วต้องทำให้เห็นว่าคนที่ไม่จำเป็นต้องร่วมประชุมก็จะไม่ถูกทอดทิ้ง อาจจะให้พวกเขาเสนอความคิดเห็นนอกรอบมาก่อนแล้วค่อยแชร์ผลการประชุมให้พวกเขารับทราบในภายหลัง
ถัดมาก็ตัดสินใจเรื่องเวลาและสถานที่ให้ชัดเจน ลองเปลี่ยนที่ใหม่ ๆ ลองประชุมในตอนเช้าบ้าง ลองเปลี่ยนเวลาการประชุมให้แปลกออกไปสักหน่อย บางทีการเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่งก็ได้ผลดี หรือถ้าคนไม่เยอะอาจใช้การเดินประชุม การยืนประชุมก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เมื่อยเสมอไป
====
2.สนับสนุนให้การประชุมราบรื่น
การสนับสนุนคนประชุมให้รู้สึกดีถือเป็นสิ่งสำคัญ เช่น มีคนมายืนรับและทักทายหน้าห้องประชุม ขอบคุณทุกคนที่มา มีขนมนมเนยให้กิน มีการเล่นดนตรีสักหน่อย (แต่อย่าเยอะเกินไป) ขอให้ช่วยปิดเครื่องมือสื่อสารที่จะรบกวนสมาธิ และช่วยบอกคนที่มาว่าแต่ละคนนั้นทำไมถึงจะต้องมาร่วมประชุมครั้งนี้
ระหว่างประชุมก็ควรมีจิตวิทยาในการจัดการ เน้นการตั้งคำถามที่ดี ฟังอย่างละเอียดถี่ถ้วน ช่วยดึงคนให้มีส่วนร่วมกันอย่างทั่วถึง ถ้าเริ่มขัดแย้งก็ต้องหาทางคลี่คลายให้บรรยากาศกลับมาดีอีกครั้ง
คนที่เชิญคนมาร่วมหรือประธานการประชุมนั่นแหละจะเป็นคนทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกมีคุณค่าและไม่เสียเวลาที่มาประชุมครั้งนี้
เมื่อคนที่มาประชุมรู้สึกว่าการประชุมนั้นมีคุณค่า พวกเขาก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมอีก และไม่เท่านั้นพวกเขายังจะทำให้หวนกลับไปทำงานตามหน้าที่ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยผู้นำการประชุมที่รู้จักยืดหยุ่น เรียนรู้ และมีเหตุผล รวมถึงมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี
เพียงเท่านี้ การประชุมครั้งต่อไปของคุณก็จะไม่เสียเวลาอีกต่อไปแล้วล่ะ
====
เรียบเรียงจาก “Why Your Meetings Stink and What to Do About It” โดย Steven G. Rogelberg จาก Harvard Business Review มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2019
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน