“เพียงพอ ก็พอเพียง” 5 หลักดำเนินชีวิต ที่พ่อทิ้งไว้

ในปี พ.ศ ๒๕๔๙ เป็นปีที่ฉันให้กำเนิดลูกสาวคนเดียวของฉัน ก่อนคลอด…ฉันคิดตั้งชื่อลูกไว้ไม่กี่ชื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ…อยากให้มีชื่อที่เรียบง่าย เข้าใจได้เลย ไม่ต้องเปิดตำราหาคำแปล เพราะฉันอยากให้ลูกมีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนชื่อ

แต่ก็ยังไม่ฟันธงว่าจะใช้ชื่อใด เพราะแม่ของฉันค่อนข้างให้ความสำคัญกับการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ที่ถูกต้องตรงตามตำราอันเป็นมงคลกับชีวิตตามวันเกิด ดังนั้นจึงต้องรอให้ทราบวันคลอดที่แน่ชัดก่อน จึงจะเลือกได้ว่าควรจะใช้ชื่อใด

หนึ่งในชื่อไม่กี่ชื่อ และเป็นลำดับต้นๆ ที่ฉันคิดขึ้นมาได้เลยคือ คำว่า “เพียงพอ” ฉันชอบคำนี้ตั้งแต่แรกคิด และแอบลุ้นอยู่ลึกๆ ว่าอยากให้ลูกเกิด ในวันที่ชื่อนี้เป็นมงคลสอดคล้องต้องตามตำราดังแม่ว่า

ว่ากันง่ายๆ คืออยาก “เกิดตามชื่อ” ไม่ใช่ “เกิดก่อนแล้วชื่อตามมา” คงไม่ต้องเดาว่าทำไมฉันถึงคิดคำนี้ขึ้นมาได้ ตลอดชีวิตของฉัน ฉันมักจะได้ยินเรื่องราว “การทำงานของในหลวง” อยู่อย่างสม่ำเสมอ

ไม่มาจากทางข่าวสารบ้านเมือง สารคดี ก็เป็นการเคลื่อนไหวต่างๆ ในชุมชน ข่าวในพระราชสำนัก ฉันได้ยินคำว่า “แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ฉันได้ยินคำว่า “โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ฉันได้ยินคำว่า “โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙” และอีกมากมายที่มีคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

สิ่งที่ฉันคิดต่อยอดมาจากคำๆ นั้นคือ “เพียงรู้จักพอ…ก็พอเพียง” และฉันก็ได้ให้กำเนิดลูกในวันที่แม่ของฉันบอกฉันว่า…ทุกพยัญชนะ ทุกสระในคำว่า “เพียงพอ” เป็นมงคลเหลือเกินสำหรับชีวิตลูก เป็นบุญแท้! ไม่มีตัวอักษรหรือสระใดไม่ควรใช้ และเมื่อรวมกันเป็นตัวเลขตามตำราปฏิทิน 100 ปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุด มีความสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีชื่อใดดีเท่านี้อีกแล้ว

นั่นคงพอบอกเป็นนัยๆ ว่า…ชื่อของลูก จะแทนคำมั่นสัญญาที่ฉันมีต่อแผ่นดิน จะคอยเตือนตัวเองและลูกให้รำลึกถึงการใช้ชีวิตดำเนินตามรอยพระราชดำริ เพื่อความสุขอันยั่งยืนของชีวิต และใช้เป็นรากฐานดำเนินชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปอนาคต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นแนวพระราชดำริที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวทางการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง อยู่ในความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร”. เป็นที่ตั้ง แล้วจะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง

ในครั้งแรกฉันยังไม่เข้าใจความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” มากนัก หลายคนคิดเพียงว่าหมายถึง “ความประหยัด” เพียงอย่างเดียว แต่โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว ประกอบไปด้วยคุณสมบัติเหล่านี้คือ

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนเกินไป โดยไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่หมายถึงกระเบียดกระเสียรจนเกินพอดี แต่สามารถฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและผู้อื่น

2. ความมีเหตุผล หมายถึง ระดับความพอเพียงของเรา จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องรอบด้าน รวมไปถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ต้องผ่านการตัดสินใจอย่างรอบคอบเสมอ

3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต พูดง่ายๆ ว่า “การเตรียมรับมือกับผลที่เกิดขึ้น” โดยยึดหลักเงื่อนไขของการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ 2 ประการดังนี้

เงื่อนไขความรู้  นั่นคือ เราต้องมีความรู้ในด้านนั้นๆ และมีความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน เพื่อจะได้ระมัดระวังในการปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม นั่นคือ ความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร เพื่อใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

นั่นยิ่งทำให้ฉันเห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชดำริของพระองค์มิใช่เกิดจากสายพระเนตรเพียงด้านเดียว แต่ครอบคลุมกันเป็นวงกลม ซึ่งเราสามารถนำไปปรับใช้ได้หมดตั้งแต่ในครอบครัว ไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แฝงไปด้วยหลักธรรมาภิบาล เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมตามหลักศาสนาพุทธ

ฉันขอไม่กล่าวถึงการนำไปใช้ในองค์กรอื่นๆ แต่ฉันจะกล่าวถึงสิ่งที่ฉันจับต้องได้ และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวฉันเอง

การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้ทุกครอบครัว ทุกฐานะ ทำได้เลย และทำได้ง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องอาศัยองค์ความรู้ใดๆ มากมาย สิ่งเดียวที่เราทุกคนต้องมีคือ “จิตสำนึก” พระองค์สอนให้เราทำ “เพื่อตัวเราเอง” ทำ “เพื่อสร้างความเจริญให้ชีวิตเราเอง” หลักการง่ายๆ ก็คือ

1. ยึดหลักความประหยัด

ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต แต่ละครอบครัว ล้วนมีความจำเป็นแตกต่างกันไป ควรพิจารณาให้รอบคอบ และใช้ให้เหมาะสม

2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง  ดำรงชีพด้วยความสุจริต

3. ละเลิกในการแก่งแย่งผลประโยชน์ 

และการแข่งขันในทางการค้า หลีกเลี่ยงความรุนแรง เพื่อให้ได้ซึ่งความสำเร็จจากความเห็นแก่ตัว

4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางนำพาชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ยาก

ด้วยการขวนขวายหาความรู้และเพิ่มพูนรายได้ จนไปถึงซึ่งคำว่า “พอเพียง”

5. ปฏิบัติตนในทางที่ดี

ลดละสิ่งชั่ว ดำรงตนตามหลักคำสอนของศาสนา

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จึงเป็นหลักพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง เป็นแนวทางที่ให้เราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ดำเนินตามวิถีแห่งการดำรงชีพอย่างสันติสุข โดยมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งก็คือ วิถีชีวิตไทย ที่ยึดทางสายกลางของความพอดี เมื่อเกิดความพอดีขึ้นในบ้าน

และหากนำไปปฏิบัติใช้ในทุกองค์กร ในสังคม ก็ย่อมเกิดความพอดีในทุกๆ เรื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ เทคโนโลยี ต่อให้พัฒนาไปไกลแค่ไหน ก็เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

ที่สำคัญ! เป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคน  สร้างความพอดีให้จิตใจ ผ่านทุกๆ ปัญหาไปได้ด้วยดี และยังสามารถดำรงอยู่ซึ่งสังคมวัฒนธรรมไทยได้โดยไม่เสื่อมถอย

ฉันรู้สึกว่าตัวเองและครอบครัว มีบุญเหลือเกินที่ได้เกิดอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี มิเพียงแค่ชื่อ “เพียงพอ” ที่ฉันตั้งให้ลูก แต่เพราะชื่อนี้…ทำให้ฉันศึกษาและเข้าใจความหมายของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

ฉันสอนลูกเสมอว่า “แม้ลูกจะเติบโตมา และพลาดโอกาสที่จะได้เห็นพระจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีมากมายหลายพันโครงการ มิเพียงพระราชดำริ ยังรวมถึงพระราชดำรัส และภาพของการพระราชดำเนินไปดูแลไพร่ฟ้าประชาชนในทั่วทุกสารทิศ ที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไปไม่ถึง แทบทุกตารางนิ้วของผืนแผ่นดินไทย ล้วนผ่านสายพระเนตรของพระองค์มาแล้วทั้งสิ้น ลูกไม่มีโอกาสได้เห็น แต่ลูกก็รับรู้ได้จากสารคดี จากคำบอกเล่าของพ่อแม่ และซึมซับความจงรักภักดีโดยไม่มีเงื่อนไขใด”

อย่างน้อยๆ สิ่งที่ยังอยู่เสมอ มิใช่แค่ในความทรงจำของลูก คือ “ชื่อของลูก” ชื่อที่จะติดตัวลูกไปตราบเท่าชีวิตของลูกเอง เพื่อตอกย้ำให้ลูกระลึกอยู่เสมอว่า “คำสอนของพ่อ จะอยู่กับลูกเสมอ” มงคลชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วันที่ลูกเกิดมา คือ “การได้เกิดมาเป็นข้ารองบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙”

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวนและครอบครัว ด.ญ. เพียงพอ ศุภมาตย์

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  www.raiporjai.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save