3 Mindset ที่ช่วยให้การโค้ชลูกน้องมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
เบื่อไหมครับกับการที่ลูกน้องกลับมาถามวิธีแก้ปัญหาเดิมซ้ำ ๆ ทั้งที่เราเคยบอกไปแล้วหลายครั้ง
เหนื่อยไหมครับกับการต้องคอยบอกคอยสอนงานลูกน้องทุกคนอย่างละเอียด และเครียดไหมครับกับการที่ลูกน้องไม่เคยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งที่เรามั่นใจว่า ‘โค้ช’ ไปตั้งหลายรอบแล้ว
ถ้าคุณเคยประสบปัญหา 1 ใน 3 อย่างข้างต้น (หรือพบเจอทุกปัญหา) ไม่ต้องกังวลไปครับ บทความนี้มีทางออกให้กับปัญหาหนักอกที่ทำให้คุณเบื่อ เหนื่อย และเครียดกับการบริหารลูกน้องมานานหลายปี
====
โค้ชลูกน้อง หนึ่งในงานหลักของหัวหน้า
ในการทำงานยุคนี้เราทุกคนต่างเคยได้ยินคำว่า โค้ช (Coaching) หรือ โค้ชลูกน้อง กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่เชื่อไหมครับว่ายังมีหลายคนที่เข้าใจคำนี้ผิดไป
เวลาที่บอกว่า “ฉันโค้ชลูกน้องแล้วนะ” บางคนหมายถึงการพูด บอก แนะนำ และสอนงาน ซึ่งทั้งหมดนี้เคยเป็นวิธีการที่โลกการทำงานยุคก่อนเรียกรวมๆ กันว่า โค้ช (เหมือนโค้ชกีฬาที่สอนและฝึกนักกีฬาด้วยการแนะนำ)
แต่ทว่าแท้จริงแล้วการโค้ช (Coaching) นั้นหมายถึง กระบวนการและทักษะการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้บุคคลค้นพบและตระหนักรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเอง (Reality) เล็งเห็นเป้าหมาย (Goal) ปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาในการค้นหาทางเลือก (Options) และกำหนดวิธีการจัดการ (Will) ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ทางออกหรือ Solution ซึ่งถือเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
โดยการโค้ชจะใช้ทักษะหลัก ๆ 3 ทักษะ นั่นคือ
การตั้งคำถาม
การรับฟัง
การสะท้อน
นั่นหมายความว่าการโค้ชจะไม่มีการบอก การแนะนำ การพูดสอน ให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้แต่จะช่วยให้เขาสามารถคิดหาคำตอบหรือวิธีการได้ด้วยตัวของเขาเอง
====
เพราะอะไรการโค้ชถึงไม่เวิร์ค
แม้จะเข้าใจการโค้ชได้อย่างถูกต้อง และมั่นใจว่าตัวเองใช้การตั้งคำถาม การรับฟัง และสะท้อนสิ่งที่ได้ยิน ทั้งการทวนคำ การสะท้อนสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยเข้าใจตัวเองมาก่อน ไปจนถึงการช่วยสรุปประเด็นแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีหัวหน้าจำนวนมากที่พบว่าการโค้ชของพวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ
เรื่องนี้อาจอธิบายได้จาก Mindset หรือ ทัศนคติของการโค้ช ที่คนซึ่งทำหน้าที่โค้ชหลายคนอาจยังไม่มีหรือที่หนักไปกว่านั้นก็คือ อาจจะเข้าใจการโค้ชผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิงเลย
ก่อนจะฝึกฝนและพัฒนาทักษะ (Skills) ใดก็ตาม การกำหนดวิธีคิดให้ถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันอาจเป็นตัวกำหนดว่าการใช้ทักษะนั้นจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คได้เลย
และจากประสบการณ์การโค้ชลูกน้องมานานหลายปี ตลอดจนเป็นที่ปรึกษาด้านการใช้ทักษะการโค้ชเพื่อพัฒนาลูกน้องให้กับองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศหลายร้อยแห่ง ทำให้ผมได้ตกผลึก Coaching Mindset 3 ประการขึ้นมา ดังนี้
1.โค้ชไม่ใช่นักตีกรอบความคิด
เราอาจมีความรู้ มีประสบการณ์ที่มากกว่า สามารถบริหารจัดการอารมณ์ ความคิด และชีวิตได้ดีกว่าจนมั่นใจว่าวิธีการที่เราใช้คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว แต่ความคิดเช่นนั้นทำให้เราไม่สามารถโค้ชได้อย่างแท้จริง
เพราะในกระบวนการโค้ช เราจำเป็นต้องปล่อยวางความคิดทั้งหลายเหล่านั้นลง แล้วทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ยืนอยู่ ณ ตำแหน่งเดียวกับเขาอย่างแท้จริง การตั้งคำถามด้วย Mindset เช่นี้จึงเป็นคำถามที่เป็นปลายเปิด และเป็นคำถามที่โค้ชเองก็ไม่รู้คำตอบมาก่อนด้วยเช่นกัน
ระวังการตั้งคำถามที่ตัวเราเองรู้หรือคิดคำตอบอยู่ในใจแล้ว เพราะนั่นจะกลายเป็นคำถามปลายเปิดแบบปลอม ๆ เช่น เคยลองทำวิธีนี้แล้วหรือยัง หรือ เธอเคยคิดบ้างไหมว่าถ้าทำแบบนั้นจะส่งผลเสียอย่างไร เป็นต้น
====
2. การโค้ชไม่ใช่การสอนงาน
อย่างที่บอกไปว่าในสมัยก่อนคนมักใช้คำว่า โค้ช กับการสอนงาน และความเข้าใจนั้นก็ฝังแน่นติดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น จนทำให้บางที่ บางคนยังเข้าใจเช่นนั้นอยู่
การสอนงาน ก็คือการเป็นครู (Teacher) หรือ การเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ตัวเองในการบอก แนะนำ สั่งสอน ซึ่งโดยมากจะเหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ ๆ หรือ คนที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์นั่นเอง
ส่วนการโค้ชนั่นมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน ส่วนมากจะเหมาะกับคนที่มีความรู้หรือประสบการณ์มาพอสมควรแล้ว เพื่อที่เขาจะได้มีวัตถุดิบในการคิดและค้นหาทางเลือกใหม่ๆ ได้
ตราบใดที่ยังคิดว่าการโค้ชคือการสอน การบอก การแนะนำ การโค้ชของเราก็จะครึ่ง ๆ กลาง ๆ และขาดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ฉะนั้นต่อให้คุณรู้หรืออยากสอนแค่ไหนก็ต้องข่มใจ และหุบปากเอาไว้เสมอ
====
3. การโค้ชอาจไม่ใช่วิธีการที่สำเร็จเสมอไป
แม้ว่าผมจะเชี่ยวชาญการโค้ช และนำการโค้ชไปใช้ในหลายองค์กร แต่ก็ต้องยอมรับว่าการโค้ชไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพเพียงวิธีการเดียวในการแก้ปัญหาและพัฒนาคน
การโค้ชจำเป็นต้องพิจารณาจากคนที่เราโค้ชและสถานการณ์ด้วย คนที่เหมาะสมจะได้รับการโค้ชควรเป็นคนที่มีความรู้และประสบการณ์มาพอสมควร ทำงานมาถึงระดับนึงจนถึงจุดติดขัดจนไปต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหานั้นก็ควรเป็นปัญหาที่ไม่เร่งด่วนมากนักเพราะบางครั้งกระบวนการโค้ชจะต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งครั้งนั่นเอง
ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่ต้องบริหารคน ยังมีรูปแบบการดูแล และพัฒนาคนอีกเยอะมากที่คุณควรเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นครูและพี่เลี้ยงที่บอกและสอนงานจากประสบการณ์ ซึ่งเหมาะกับมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์มากนัก
หรือคุณจะทำหน้าที่เป็นพี่หรือเพื่อนที่คอยรับฟังและทำความเข้าใจเขาโดยที่ยังไม่ต้องตั้งคำถามเพื่อรีบร้อนหาทางออกก่อนก็ได้
จะเห็นว่าการโค้ชเป็นกระบวนการและทักษะที่ทรงพลังถ้าหากคุณมี Mindset ที่ถูกต้องและสอดคล้องกับมันอย่างแท้จริง และการโค้ชของคุณอาจจะพังหรือไม่เกิดผลที่ดีถ้าคุณยังไม่มี Mindset เหล่านี้
====
ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นโค้ชใคร ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูนะครับว่า “ฉันมีความเชื่อทั้ง 3 ข้อนี้แล้วหรือยัง” นั่นคือ
ฉันคือโค้ช ไม่ใช่คนที่ตีกรอบความคิดของเขา
ฉันคือโค้ช ไม่ใช่ครูที่มาสอนงานเขา
ฉันคือโค้ช และฉันสามารถใช้วิธีการอื่น ๆ เพื่อช่วยเขาได้เช่นกัน
ขอให้คุณประสบผลสำเร็จในการโค้ชนะครับ
ถ้าคุณต้องการฝึกฝนการโค้ชให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อ่านโค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่ คลิกที่นี่
====
ถ้าหากคุณต้องการเรียนรู้ทักษะการโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching & Positive Feedback คลิกดูได้ที่นี่ครับ
บทความโดย
อ.แบท อรรณพ นิยมเดชา
นักจิตวิทยาองค์กร
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน