3 ช่วงเวลาสุดท้าทาย ที่ผู้นำต้องข้ามผ่าน
มีเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำให้อ่านมากมาย มีวิธีไปสู่ความสำเร็จจากหลากหลายแหล่งให้เลือกเสพ
แต่สิ่งที่หลายคนมักจะถามคล้าย ๆ กันคือ แล้วบทเรียนจาก ‘ความล้มเหลว’ ของผู้นำทั้งหลายล่ะ มีอะไรบ้าง
น่าสนใจเหลือเกินว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้บรรดาผู้นำคนเก่งต้องกุมขมับ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนแทบเป็นแทบตาย ต้องล้มแล้วลุกไม่รู้กี่รอบกว่าจะข้ามผ่านไปได้
====
ต่อไปนี้คือบทเรียนจาก 3 ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็น ‘ด่านโหดหิน’ ของการเป็นผู้นำ ที่ผู้นำทุกคนควรเรียนรู้และข้ามผ่านไปให้ได้
1.ช่วงที่ต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ
การเปลี่ยนสถานะนั้นยากเสมอ เชื่อเหลือเกินว่าตอนที่ใครสักคนต้องก้าวจากการเป็นลูกน้องขึ้นมานำทีมเป็นครั้งแรกคือช่วงเวลาสุดปั่นป่วน
สถิติจากงานวิจัยบอกว่า ในช่วง 18 เดือนแรกของการมาบริหารงานระดับสูง มีคนเก่ง 50 – 60% ที่ล้มเหลวเพราะยังเตรียมตัวกับอีกระดับของงานได้ไม่ดีพอ หรือกระทั่งมองไม่เห็นภาพขนาดใหญ่ของงาน (เพราะไม่เคยมองระดับนั้นมาก่อน)
แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร สิ่งที่ดีที่สุดคือการขอ feedback แบบรอบด้านบ่อย ๆ เหมือนการยืมมือลูกน้องทั้งหลายมาช่วยทำให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น หาช่องว่างหรือจุดโหว่เพื่อที่จะปรับปรุงได้นั่นเอง
การให้และรับ Feedback เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ทุกคนจำเป็นต้องฝึกฝน อ่าน ให้ Feedback ได้ ทีมพัฒนาไวขึ้น คลิกที่นี่
อีกวิธีที่จะช่วยให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น คือการหาความรู้เพิ่มเติมว่าการไปยืนตรงนั้นควรจะทำอย่างไรบ้าง ลองหาโค้ชส่วนตัว ที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่ชำนาญด้านนั้นคอยประคับประคองหรือกระทั่งการให้คนในทีมที่ไว้ใจได้มาอยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น
====
2.ช่วงที่องค์กรปรับเปลี่ยน
ในองค์กรสมัยก่อน การปรับเปลี่ยนแต่ละทีถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สำหรับยุคนี้การปรับเปลี่ยนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
ถ้าเห็นท่าไม่ดีก็จะมีการเปลี่ยนแปลงส่งนั้นให้เร็วที่สุด
ความท้าทายของผู้นำคือ ไม่เพียงต้องว่ายในกระแสเหล่านี้ให้ได้ แต่ต้องรู้ว่าจะว่ายเมื่อไหร่ และว่ายไปทางไหนด้วย
ผู้นำองค์กรยุคเก่ามักจะตัดสินใจเชื่องช้า รวมถึงบางทีก็ไม่ค่อยเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง คำแนะนำที่ดีที่สุดก็คือผู้นำจะต้องอ่านสถานการณ์ให้ดีและ ทำอะไรสักอย่างก่อนความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง
แนวทางที่ดีคือการสื่อสารกับผู้นำระดับสูงหรือบอร์ดบริหารให้ชัดเจนและบ่อยครั้งเพื่อประเมินว่าควรจะสนองตอบอย่างไร
====
3.ช่วงไม่รู้ว่าจะไต่ไปที่ไหนต่อ
เวลาที่ผู้บริหารไต่เต้าขึ้นสู่จุดสูงสุดขององค์กร ความรู้สึกโดดเดี่ยวจะเกิดขึ้นก่อนเป็นลำดับแรกเพราะไม่มีใครที่มีอำนาจเทียบเท่า จึงไม่มีคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมงาน
จากนั้นจะรู้สึกว่าไม่มีจุดหมายที่สูงกว่านั้นให้ไปแล้ว เมื่อมุมานะทำงานหนักจนอยู่ในจุดสูงสุดของทีมแล้วการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำมักจะเกิดขึ้น เพื่อดันภาพรวมองค์กรให้ออกมาดี แต่ปัญหาก็คือในแง่ของสายงาน คนเหล่านี้ไม่รู้จะไต่ไปจุดไหนต่อดีจึงมักจะเกิดภาวะเหนื่อยล้า สับสน หมดไฟในการทำงานได้
ภาวะแบบนี้เป็นเหตุให้ค่าเฉลี่ยของบรรดา CEO บริษัทใหญ่ๆ จะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 5 ปี ขณะที่ CMO ของบริษัทนั้นอาจจะไม่ถึง 4 ปีด้วยซ้ำ
คำแนะนำสำหรับคนที่บริหารงานมาสู่จุดสูงสุด คือ อย่า ‘ติดแหง็ก’ ตรงนั้นถ้าใจไม่ต้องการ ลองหาทางขยับขยายไปทางอื่น โดยมีที่ปรึกษาหรือเพื่อนคอยปรับทุกข์ หรือหาโมเดลจากคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนว่าเขาทำอย่างไร อาจจะย้ายไปองค์กรอื่น หรืออยู่ต่อไปเพื่อเป็นบอร์ดบริหาร หรือออกไปสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวเองเลย
ทั้งนี้ การลองไปทำงานในสายที่ตำแหน่งต่ำกว่าเดิมแต่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ ก็อาจจะช่วยได้ และสักวันจะไต่ขึ้นมาในอีกบทบาทที่น่าสนใจก็ได้ครับ
====
ถ้าคุณต้องการฝึก Mindset และ Skillset ในการเป็นผู้นำยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกดูรายละเอียด ที่นี่
เรียบเรียงจาก “3 Transitions Even the Best Leaders Struggle With” โดย Cassandra Frangos จาก Harvard Business Review 2 กรกฎาคม 2018
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน