Mindset หรือ กรอบความคิด เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาตนเอง เพื่อให้ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดี
ย่อมต้องเริ่มมาจาก “การมี Mindset ที่ถูกต้อง”
ซึ่งการเปลี่ยน Mindset นั้น เราควรฝึกทำให้ได้ก่อนอายุ 30 โดยผมขอแชร์จากประสบการณ์ตรง ที่สามารถเปลี่ยน Mindset ของตัวเองได้และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหลังจากนั้น และต่อไปนี้เป็น 5 ขั้นตอนง่ายๆที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้กับตัวเอง
1. มองให้เห็นปัญหา ว่ามันเป็นโอกาส
“การมองเห็นปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”
การมองเห็นตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย ต่อเนื่องจากที่ผมเคยเล่าไว้แล้วในบทความ “3 เหตุผล ทำไมเราควรเปลี่ยนแปลงตัวเอง ก่อนอายุ 30” ได้แก่ เรามักมองไม่เห็นตัวเอง ถึงมองเห็นก็มักไม่ยอมรับ หรือยอมรับแล้ว ก็ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา ดังนั้นการมองเห็นปัญหา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
ในช่วงก่อนอายุ 30 มีคนหลายคนสะท้อนว่า แรกๆ ที่เจอ ผมเป็นคนดูหยิ่ง หน้าดุ ไม่ค่อยยิ้ม ซึ่งผมฟังแล้วก็เฉยๆ ไม่คิดอะไร เพราะคิดว่าคงเกิดมาหน้าตาเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เมื่อใช้ชีวิตมานานขึ้น ก็ได้ยินเสียงสะท้อนมากขึ้น จากคนที่หวังดีอีกหลายๆ คน ทำให้ผมเริ่มเอะใจขึ้นมาบ้าง
เห็นได้ชัดว่า การเห็นปัญหาของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยจริงๆ แต่ในทุกปัญหา ย่อมมีโอกาส ผมลองย้อนคิดดูว่า ขนาดหน้าไม่รับแขก ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนหลายคนนะ ถ้าผมยิ้มเก่ง ยิ้มง่ายขึ้น ดูน่าเข้าหา จะมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิตมากขึ้นแค่ไหน
2. อย่าปลอบใจตัวเอง
“ปัญหาเล็กๆ มักจะส่งผลกระทบใหญ่โต โดยที่เราไม่เคยรู้ตัว”
ก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยมองเห็นปัญหา เพราะมองแค่ที่ตัวเอง ไม่ได้มองลึกลงไปถึง “ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่” เพราะแน่นอนว่าปัญหาใหญ่ มันจะไม่ได้อยู่ตื้นๆ ที่พื้นผิวให้เราเห็นง่ายๆ
สำหรับในเรื่องยิ้ม ถ้ามองแค่ที่ตัวเอง ผมย่อมไม่เดือดร้อน เพราะผมไม่ได้เห็นหน้าตัวเองนี่ แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ก็คือ คนจะไม่ค่อยกล้าเข้าหาผม หรือไม่อยากเข้ามาพูดคุยกับผม ทำให้ผมมีเพื่อนน้อย เพื่อนใหม่ยิ่งยากที่จะมี แต่ผมก็มักจะปลอบใจตัวเองว่า ไม่เห็นเป็นไร การมีเพื่อนน้อยก็ดี เรื่องไม่เยอะ การอยู่คนเดียวก็ดี สงบสบายดี
การปลอบใจตัวเอง เป็นแนวโน้มให้เรา “ยึดติด” ในนิสัยเดิมๆ ไม่ได้ช่วยให้เรา “แก้ปัญหา” นั้นๆได้เลย
ดังนั้นเมื่อเจอกับปัญหาเราจำเป็นต้องนำมาพิจารณาตรงๆ อย่างเป็นกลาง ด้วยการตั้งคำถามใหม่ว่า ภายใต้ปัญหาเล็กๆ ในเรื่องนั้น “อะไรคือปัญหาใหญ่ที่ซ่อนอยู่”
สำหรับกรณีของผม ถ้ามองอย่างเป็นกลางแล้ว การที่เพื่อนน้อย หากไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่การที่คนใหม่ๆไม่อยากจะมาทำความรู้จักกับผม เป็นปัญหาใหญ่แน่นอน เพราะนั่นหมายถึง โอกาสดีๆ และคอนเนคชั่นดีๆ ในชีวิตหลายๆ อย่าง จะหายไป นอกจากนั้น สิ่งดีๆ ในตัวผม ก็คงไม่สามารถแบ่งปันกับใครได้มาก เพราะไม่มีใครอยากจะเข้าหาผมนั่นเอง
3. ทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน
“ชีวิตไม่เคยเร่งด่วน แต่ปัญหาของชีวิตต้องให้เป็นเรื่องเร่งด่วน”
เราสามารถนอนทับปัญหา หรือจมอยู่กับมันได้นานเท่านาน ถ้าเรายังมองว่าชีวิตโอเคอยู่ นอกจากชีวิตจะเจอกับวิกฤต ที่จะบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง การเปลี่ยนด้วยวิกฤตจึงเป็นเรื่องเจ็บปวดมาก การจะรอให้ชีวิตเจอวิกฤตแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง จึงไม่น่าใช่ทางเลือกที่ควรทำนัก
ความเร่งด่วนจะไม่เกิดขึ้นเอง มันจะต้องมาจากการเห็นความสำคัญของปัญหา โดยการจินตนาการจากคำถามว่า “หากเรายังนอนทับปัญหานี้ต่อไป สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับเราจะเป็นอย่างไร”
การที่ผมเป็นคนไม่ค่อยยิ้ม แต่เมื่อใช้ชีวิตมาสักระยะหนึ่ง พบว่า บุคคลิกของคนที่ประสบความสำเร็จและคนรวย มักจะเป็นคนที่มนุษยสัมพันธ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ดูน่าคบหา ผมก็ชอบคนเช่นนั้น แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจำเป็นจะต้องทำ
ดังนั้นการเห็นปัญหา จึงเป็นแค่จุดเริ่มต้น อาจยังไม่พอให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ความเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น ผมจึงต้องลองพิจารณาตัวเองว่าสิ่งที่จะแย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น ถ้าผมยังไม่ยิ้ม มันจะเป็นอย่างไรนะ
เคยได้ยินคำกล่าวว่า “ผลลัพธ์ในชีวิตของเรา สะท้อนตัวตนที่เราเป็น” ดังนั้นผมเลยย้อนมาดูผลลัพธ์ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ “เงินในกระเป๋า” จึงเห็นได้ชัดเลยว่า มีน้อยกว่าที่ควร ผมเองยังไม่พอใจกับเรื่องรายได้ของตัวเอง นั่นแสดงว่า “ตัวตนที่ผมเป็น” ในตอนนี้ยังไม่โอเคนะ ความเร่งด่วนเกิดขี้นทันที
เมื่อผมคิดว่า ถ้ายังไม่ยิ้มแบบนี้ ชีวิตคงจะถังแตกไปเรื่อยๆ แล้วมันจริงซะด้วย เห็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เค้ายิ้มแย้มแจ่มใสกันทุกคน ว่าแต่ คิดได้แล้ว จะเปลี่ยนยังไงดีล่ะ
4. ออกเดินทาง เพื่อแก้ปัญหา
“การแก้ปัญหา ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่นั่งคิด
แม้ว่าจริงๆ แล้วการแก้ปัญหา ก็คือการพลิกความคิดนั่นเอง”
ฟังแล้วงงมั้ยครับ สิ่งที่ผมอยากสื่อก็คือ การแก้ปัญหานั้นจะง่ายดาย แบบพลิกความคิดเลย ถ้าเรารู้วิธี แต่ขั้นตอนกว่าที่จะรู้วิธี เราจำเป็นต้องออกแรงเดินทางไปค้นคว้า ไปหาผู้รู้ หรือหาวิธีการมาครับ นั่งคิดเองไม่ได้ เพราะหากมันเป็นปัญหาได้ มันต้องใหญ่เกินกรอบความคิดของเราในปัจจุบันแน่นอน
คนที่ “ฝึกเจริญสติ” มาอย่างดีแล้วเท่านั้น ที่จะมีปัญญาที่สามารถทะลุทะลวงเข้าไปพิจารณาอดีตของตัวเอง จนเจอที่มาของนิสัยของตัวเองได้
หากเรายังไม่แก่กล้าถึงเพียงนั้น แนะนำให้หา “โค้ช” ไปปรึกษาในเรื่องที่เราติดขัด หรือไปเข้า “อบรมสัมมนา” ในคอร์สที่จะพลิกมุมมองพลิกชีวิตของตัวเองได้ หรืออย่างน้อยที่สุด “อ่านหนังสือ” ด้านการพัฒนาตัวเอง ให้ได้ข้อมูลใหม่ๆมาพัฒนาชีวิต
ส่วนตัวผม ในช่วงวัย 25-30 ก็ได้ไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองจากหลากหลายที่ ไม่ว่าจะไปคอร์สปฏิบัติธรรม เข้าสัมมนา ฝึกเจริญสติ เรียนศาสตร์โค้ชชิ่ง อ่านหนังสือหลายสิบเล่ม เพราะผมเชื่อว่ายังมีปัญหาหรือจุดบอดอีกมาก ที่ผมยังไม่รู้ว่ามี
และสิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยผมได้ในอนาคต และข้อดีของการออกเดินทางก็คือ ระหว่างทางที่เราจะเดินไปแก้ปัญหานึงนั้น โดยรู้ตัวและบางครั้งก็ไม่รู้ตัว เราได้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆในชีวิตไปได้อีกมากเลยทีเดียว
แม้ว่าผมจะยังยิ้มไม่เก่งอยู่ แต่ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น รู้จักคนมากขึ้น ยอมรับความแตกต่างของคนได้มากขึ้น โดยไม่รู้ตัว ผมเริ่มเป็นคนรับฟังคนเก่ง มนุษย์สัมพันธ์ดี และมีแฟนที่น่ารัก อันหลังไม่เกี่ยวกับนิสัย แต่เป็นผลพลอยได้ครับ
5. นิสัยใหม่ ทำให้ยั่งยืน
“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำครั้งเดียวแล้วได้ผล นอกจากเราจะเป็นคนสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา”
ในเมื่อนิสัยเก่าๆเค้าใช้เวลาสะสมมาหลายปี ทำให้เรากลายเป็นคนแบบนี้ได้ การสร้างนิสัยใหม่ ก็ต้องใช้เวลา หากเราคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ย่อมจะผิดหวัง
ดังนั้นต้องเผื่อใจ และค่อยๆทำมันทีละนิด แต่บ่อยๆ ซึ่งในตอนแรกๆมักจะรู้สึกฝืน นั่นก็แปลว่ามาถูกทางแล้วครับ ผมจึงต้องเริ่มฝึกที่จะยิ้มกับกระจกทุกเช้า เจอใครก็เตือนตัวเองว่าให้ยิ้ม ทั้งๆ ที่ในใจก็วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอยู่ด้วย แต่ผมรู้ว่า นิสัยใหม่ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ไอ้ความคิดเดิมๆ มันจะยังไม่ทิ้งผมไปไหนหรอก
แต่หากเราทำนิสัยใหม่ มากเข้า บ่อยเข้า นานพอ ความคิดใหม่ก็จะเสียงดังความความคิดเดิมได้เอง อีกครั้ง สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีสติ ในการใช้ชีวิตทุกวัน อย่าปล่อยให้อารมณ์ ความขี้เกียจ และความคุ้นชินเดิมๆ มันลากเรากลับไปได้ เพราะนั่นเท่ากับเรายอมแพ้กับชีวิตและอนาคตของตัวเอง
ไม่จำเป็นว่าเราต้องอายุน้อยกว่า 30 ที่จะทำตามเทคนิคเหล่านี้ได้ ขอแค่หัวใจเราอายุน้อยกว่า 30 ที่ยังมองว่าอนาคตยังมีความหวัง ยังอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้วันนี้ดีที่สุด และเพื่อวันพรุ่งนี้ที่จะดีกว่า
เทคนิคทั้ง 5 ข้อนี้ ก็จะช่วยคุณได้มากๆเลยละครับ แม้ผมไม่รู้สาเหตุในอดีตว่าทำไมตัวเองไม่ชอบยิ้ม แต่ด้วยการเปลี่ยน Mindset และการฝึกทุกวัน ตอนนี้เมื่ออายุ 30 กว่าปี ผมเริ่มยิ้มได้อย่างเป็นธรรมชาติแล้ว เสียงในหัวของผมเงียบลงไป และจะทำให้ผมยิ้มเก่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเจอกับผมก็แวะเข้ามาหามาชวนคุยได้ครับ ผมไม่ดุ รับรอง ^__^