ใครๆ ก็อยากเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้นใช่ไหมคะ เพราะจะได้ปรับเงินเดือนสูงขึ้น มีลูกน้องเพิ่มขึ้น มีคนนับหน้าถือตามากขึ้น แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว Leaning Hub เชื่อว่าหลายคนอดกลัว และกังวลใจไม่ได้ เพราะเมื่อนึกถึงภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น งานหนัก เหนื่อยและยากมากขึ้น ก็รู้สึกหวาดหวั่นและเกรงว่าจะทำไม่ได้
แต่คุณลองคิดดูสิคะว่าจะมีสักกี่คนในบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจ และโอกาสอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรับตำแหน่งใหม่ได้อย่างมั่นใจ วันนี้เรามีวิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่มาฝากกันค่ะ
1) ปลุกความกล้าในตัวคุณ
“จงเปลี่ยนความกลัว ให้เป็นความกล้า”
คนส่วนใหญ่เมื่อต้องรับตำแหน่งใหม่จะคาดการณ์ไปก่อนแล้วว่าเป็นงานยาก หนัก และเหนื่อย ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและลงมือทำเลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเข้าใจรายละเอียดงานเบื้องต้นแล้ว ก็ยังคิดว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานนั้นได้ จึงเกิดความกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง และพาลไม่อยากรับตำแหน่งใหม่ค่ะ
แต่คุณรู้ไหมคะว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเหมือนหลุมพรางที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า และทำให้คุณพลาดโอกาสดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าคุณมัวแต่คิดว่าตนเองไม่พร้อม คุณก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้นทำอะไรเลย และนั่นจะทำให้คุณแพ้ตั้งแต่เกมส์ยังไม่เริ่มค่ะ
คุณควรคิดว่าการลงมือทำจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ 50% แต่หากคุณกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไรเลย โอกาสความสำเร็จของคุณจะเท่ากับ 0% ดังนั้น เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่ารีรอที่จะสู้ และลงมือทำค่ะ
2) เชื่อมั่นและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
“การดูถูกความสามารถของตนเอง เป็นความคิดที่ทำร้ายตัวเองมาก”
การที่หัวหน้าให้ตำแหน่งคุณแสดงว่าเขาเล็งเห็นศักยภาพ และมั่นใจในความสามารถของคุณที่จะทำงานให้สำเร็จได้ ในเมื่อคนอื่นไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวคุณขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่คุณจะดูถูกความสามารถของตนเองนะคะ
ลองทบทวนดูสิคะว่าคุณมีจุดดี จุดเด่นอะไรบ้าง เช่น เป็นคนตรงเวลา ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ หรือรู้จักเพื่อนร่วมงานมากมาย นอกจากนี้ คุณอาจย้อนนึกถึงผลงาน หรือความภาคภูมิใจที่คุณเคยทำสำเร็จในอดีต
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมา และพร้อมจะเป็นแรงผลักดันให้คุณพัฒนาตนเองต่อไปค่ะ แม้ว่าคุณจะเคยทำความผิดพลาดในอดีตก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะคะ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
จงนำมันมาเป็นบทเรียน ปรับปรุง และหมั่นฝึกฝนตนเองต่อไป อย่าเสียเวลาคร่ำครวญกับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คุณควรสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่สวยงามค่ะ
3) เลิกเครียดและกดดันตัวเอง
“ความเครียดทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง”
ทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าในการทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องรับตำแหน่งใหม่จริงๆ คุณก็เกิดความรู้สึกกังวล เครียด และกดดันใช่ไหมคะ คุณมักกลัวกับการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากปรับตัวใหม่
ความเครียดและแรงกดดันเกิดขึ้น เพราะคุณรู้สึกว่าต้องทำงานที่คนอื่นสั่ง คุณจึงทำอย่างไม่เต็มใจ และแน่นอนว่าคุณไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นค่ะ
ดังนั้น จงปรับทัศนคติของตนเองใหม่ค่ะ เพียงคิดว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้พิสูจน์และพัฒนาฝีมือตัวเอง มองงานให้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังที่ช่วยผลักดันให้คุณสร้างสรรค์สิ่งที่ดีค่ะ
ในช่วงแรกคุณควรหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายที่เป็นอันดับหรือตัวเลข แต่ให้มุ่งเน้นไปที่แนวทางและวิธีการทำงานก่อนค่ะ เพราะเมื่อคุณทำงานโดยไม่เครียดและไม่มีแรงกดดันแล้ว คุณจะสามารถดึงศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ และความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลค่ะ
4) เลือกมองแต่ด้านดี
“การคิดบวก ทำให้คุณมีพลังในการทำงาน”
ตำแหน่งใหม่มักมาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น ประชุมทั้งวัน รายงานความคืบหน้าให้หัวหน้ารับทราบ มอบหมายงานให้ลูกน้องปฏิบัติ และตรวจสอบความถูกต้อง เป็นต้น
แค่คิดก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมคะ อาการท้อแท้กับงานส่วนใหญ่เป็นเพราะคุณมองเห็นแต่อุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานที่รับผิดชอบค่ะ
นั่นหมายความว่า หากคุณเห็นประโยชน์มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ลองถามตัวเองดูสิคะว่า
“ตำแหน่งใหม่ของคุณมีข้อดีอะไรบ้าง”
“ทำให้คุณได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง”
“ทำให้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ คือใครบ้าง” เป็นต้น
เมื่อคุณรู้ประโยชน์ที่จะได้รับ คุณจะเกิดความรู้สึกเชิงบวก และมองเห็นว่างานนั้นน่าสนใจ มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อชีวิตคุณค่ะ
5) เพิ่มพูนทักษะ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
“ทักษะ เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้คุณทำงานได้สำเร็จ”
งานใหม่จะยากสักแค่ไหน แต่ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ มันก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันทีค่ะ ดังนั้น ก่อนรับตำแหน่งใหม่ คุณจำเป็นต้องเข้าใจเนื้องาน และพัฒนาทักษะตนเองให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย
คุณต้องทราบว่างานใหม่เป็นงานประเภทไหน เช่น งานวิเคราะห์ งานติดต่อประสานงาน งานเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณทราบแล้ว คุณจะได้พัฒนาทักษะของตนเองให้ตรงจุด เพื่อที่จะรับมือกับงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
คุณสามารถเลือกวิธีพัฒนาตนเองได้มากมาย เช่น สังเกตการณ์ อ่านหนังสือ สอบถามผู้รู้ หรือลงเรียนคอร์สอบรมต่างๆ เมื่อคุณมีทักษะเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นใจ และลงมือทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอนาคตในการทำงานของคุณจะสดใสรุ่งโรจน์แน่นอนค่ะ
สุดท้ายนี้ ใครก็ตามที่กำลังจะได้รับตำแหน่งใหม่ Learning Hub ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ จงตั้งใจทำงาน รับผิดชอบต่อหน้าที่ และอย่าลืมนำเทคนิคดีๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ไปใช้ด้วยนะคะ
เรียบเรียงโดย Nadda Learning Hub Team
ที่มา (http://www.pakornblog.com/tools-trap4.php)