เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานต้องเคยพบเจอกับสถานการณ์อันน่าลำบากใจนี้ นั่นก็คือ การลาออก แต่การบอกลาเจ้านาย และการลาออกอย่างมืออาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร และ ความกดดันต่างๆ อาจทำให้คุณลืมคิด หรือ ลืมในสิ่งที่ควรทำก่อนลาออกได้
และเพื่อไม่ให้การลาออกครั้งนี้ของคุณเป็นเรื่องแย่ๆ ลองมาดูวิธีการลาออกอย่างมืออาชีพที่ทำให้เจ้านายและบริษัทของคุณจะต้องรู้สึกเสียดายที่คุณต้องย้ายงานครั้งนี้กัน
1. สร้างผลงานให้เกินเป้าหมายที่ได้รับ
คุณควรบอกลาเจ้านายและบริษัทเก่าอย่างสง่างาม ด้วยการปิดตัวเลข หรือ ทำยอดที่เกินเป้า นอกจากเป็นการแสดงว่าคุณ Top perform แล้ว ยังทำให้บริษัทใหม่เข้าใจว่าคุณเป็นคนมีความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำผลงานแย่และมีแนวโน้มโดนปลดจนถึงต้องหาบริษัทใหม่ซบ
การทำผลงานให้โดดเด่น เป็นการทิ้งท้ายสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย และบางทีคุณอาจได้แพ็กเกจใหม่ จากบริษัทเก่าในการดึงตัวคุณไว้
2. ช่วยงานของเจ้านายอย่างเต็มที่
ถ้าคุณอยู่ในบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ การทำรายงานส่งเบื้องบน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่ต้องทำประจำทุกเดือน ทุกไตรมาส และทุกๆสิ้นปี และเจ้านายคุณจะต้องเป็นปลื้มถ้าคุณได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึก ไว้อย่างละเอียด และเรียบร้อยก่อนที่คุณจะลาออก
ยิ่งอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงเท่าไหร่ การทำรายงานและคุยเคลียร์ตัวเลข เพื่อตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และการที่จะได้ข้อมูลเหล่านั้นก็คือมาจากลูกน้อง หรือ ผู้ช่วยมือฉมังอย่างคุณนั่นเอง
3. เคลียร์งานของตัวเองให้เสร็จ
คุณควรลิสงานและโปรเจ็คที่คุณรับผิดชอบทั้งหมด ทั้งที่ทำอยู่ เคยทำ และในอนาคต เพื่อที่จะให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานได้สานต่ออย่างราบรื่น โดยเฉพาะโปรเจ็คที่คุณกำลังทำอยู่ หรือ โปรเจ็คใหม่ที่คุณเพิ่งไปนำเสนอมา ถ้าโปรเจ็คใหม่ผ่าน ไอเดียที่คุณนำเสนอเข้าตากรรมการ ลูกค้าชอบใจ และต้องการให้คุณทำต่อ
คุณต้องรีบบอกลูกค้า ถึงแผนการลาออกของคุณ และหาคนรับผิดชอบต่อจากคุณ และที่สำคัญอย่าคุณควรแชร์ปัญหาที่ค้างคาต่างๆ ไม่หมกเม็ด ไม่ทำให้คนอื่น หรือ ทีมเดือดร้อน และไม่เป็นภาระใครต่อ เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาหลังคุณไม่อยู่ ทุกคนจะมองว่าคุณในแง่ไม่ดี และอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานของคุณในอนาคตได้
4. ถ่ายโอนงานตัวเองให้เสร็จ
การถ่ายโอนงานให้กับเพื่อนร่วมงาน หรือ เจ้านาย ลูกน้อง เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คุณอาจจัดประชุมและชี้แจงงานที่คุณต้องทำ และงานที่คุณต้องดีลต่อเนื่อง รวมถึงให้รายชื่อการติดต่อ Cross function หรือ third party ที่แผนกคุณ หรือ คุณติดต่อเป็นประจำ การถ่ายโอนงานทำให้บริษัทได้รับผลกระทบน้อย และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานของคุณ
5. วางแผนล่วงหน้า
คุณควรบอกล่วงหน้า บอกตรงไปตรงมา และบอกอย่างจริงใจ ว่าคุณจะลาออก แต่คุณควรบอกหลังจากที่คุณได้เซ็นสัญญาบริษัทใหม่แล้วเท่านั้น ซึ่งแต่ละบริษัทมีระบุชัดเจนว่าให้พนักงานแจ้งลาออกล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน และคุณไม่ควรลาออกในช่วงพีคของบริษัท
เช่น ถ้าเป็นบริษัทบัญชี ไม่ควรลาออกช่วง year end เพราะว่าไม่สามารถหาคนมาทำงานแทนคุณในช่วงเวลาที่ทุกคนงานหนัก และยุ่งมากได้
6. ใช้วันลาอย่างฉลาด
อย่าใช้วันหยุดของทั้งปีมาหยุดช่วงที่คุณจะลาออก แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้โอนถ่ายงาน หรือ มีการลาพักครึ่งวันบ้าง เพื่อใช้แพ็กเกจตรวจสุขภาพของบริษัท ในบางบริษัทคุณสามารถเปลี่ยนวันลาหยุดเป็นเงินเดือนได้อีกด้วย คุณลองเช็ควันลาและสวัสดิการต่างๆ ของบริษัทให้ดี และบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด
อย่าใช้วันหยุดทั้งหมดลาเกือบทั้งเดือนและหายไปจากบริษัทก่อนถึงวันลาออกจริงๆ เพราะคุณอาจพลาดช่วงเวลาที่เพื่อนร่วมงานของคุณนัด Farewell หรือจัดกิจกรรมเลี้ยงส่งคุณอีกด้วย
7. บอกสาเหตุการลาออกอย่างมีเหตุผล
จงเป็นมืออาชีพ บอกสาเหตุการลาออกให้กับเจ้านายอย่างมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจครั้งนี้ เช่น ไม่ควรบอกว่าลาออกเพราะเบื่อเจ้านาย เบื่อเพื่อนร่วมงาน แต่ให้เหตุผลการลาออกว่าต้องการพัฒนาตัวเอง โดยการไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และไม่ควรทิ้งระเบิดให้ร้ายเพื่อนร่วมงานก่อนลาออกอีกด้วย
จงจำไว้ว่าถ้าคุณทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ชื่อเสียของคุณอาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของคุณภายในอนาคต จงอย่าสร้างศัตรูที่ทำร้ายตัวเอง และนี่คือ 7 ข้อดีๆ ที่คุณควรพิจารณาและลองปฎิบัติตาม เพื่อให้การลาออกของคุณเป็นไปอย่างน่าประทับใจและเต็มไปด้วยความอวยพรยินดีกับหน้าที่การงานใหม่ของคุณ