8 ทักษะง่าย ๆ ที่หัวหน้างานควรรู้

หลายคนชอบคิดไปว่า “การเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องง่าย แค่ชี้นิ้วสั่งให้ลูกน้องทำงาน ทั้งยังมีอำนาจสามารถทำตามใจต้องการได้ทุกเรื่อง… แต่ความเป็นจริงแล้ว “หัวหน้าคือคนที่ทำงานหนัก แบกความรับผิดชอบไว้มากมาย ทั้งยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และครองใจลูกน้องได้ด้วย”

บทความนี้จะขอนำเสนอ 8 ทักษะง่าย ๆ ที่หัวหน้างานควรรู้” เพราะเมื่อคุณอ่านจบและทำตาม คุณจะพบว่า “ชีวิตการเป็นหัวหน้าของคุณดีขึ้น” คุณสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ลูกน้องจะรักคุณมากขึ้นด้วย…

1. เอ่ยคำ “ขอบคุณ” อย่างจริงใจ

หากคุณเป็นหัวหน้า คุณย่อมรู้ดีว่า ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีภารกิจต้องทำมากมาย ต้องประชุม ต้องทำงานร่วมกับทีม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ แม้กระทั่งการตอบอีเมล… คุณต้องไม่ลืมว่า ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องเดินผ่านบันไดไปทีละขั้น ๆ และข้างทางยังต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า “การที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คุณไม่สามารถทำงานคนเดียว” ทุกคนที่แวดล้อมมีส่วนผลักดันและคอยสนับสนุนคุณอยู่เสมอ ดังนั้น คุณควรกล่าว “ขอบคุณ” พวกเขาเป็นการตอบแทน แม้สิ่งที่พวกเขาทำให้ อาจเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

หลายองค์กรคิดว่าการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานในรูปแบบตัวเงิน โบนัส และสวัสดิการ ก็น่าจะเพียงพอ… แต่คุณลองคิดดูว่า หากคุณทำสิ่งดี ๆ ให้ใครสักคน แล้วเขารู้สึกได้ถึงความปรารถนาดีของคุณ เขาซาบซึ้งใจและกล่าวขอบคุณ สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือรางวัลใด ๆ เป็นการตอบแทน…

หัวหน้างานก็เช่นกัน หากลูกน้องทำสิ่งต่าง ๆ ให้ คุณควรกล่าวขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารับรู้ว่า “คุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ” และพวกเขาก็จะประทับใจในตัวคุณ

2. จัดเวลาคุยกับทีม อย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

ไม่ว่าคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณควรมีเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ในการพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับทีมงาน คุณควรสอบถามความก้าวหน้าของงานเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาประสบปัญหา หรือติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่…

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า “คุณดูแลเอาใจใส่ ไม่ทิ้งให้พวกเขาอยู่ลำพัง” และคุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากคุณมีเวลาว่างมากกว่านั้น คุณอาจถามถึงเรื่องสารทุกข์สุกดิบอื่น ๆ เช่น เรื่องท่องเที่ยว, ชีวิตครอบครัว, งานอดิเรก, ข่าวสารบ้านเมือง…

หากคุณให้ความเป็นกันเอง พยายามพูดคุยสื่อสาร เข้าหาพนักงานในความดูแล จะช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่เครียด ไม่อึดอัด และสามารถทำงานกับคุณได้อย่างสบายใจ

3. มอบหมายงานอย่างเหมาะสม

คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน? ระหว่างหัวหน้าที่ทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด หรือหัวหน้าที่กระจายงานให้กับลูกทีม…

หากคุณเป็นประเภทแรก คุณจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่น และบางครั้ง คุณอาจส่งงานไม่ทันตามกำหนดเวลา ในทางกลับกัน หากคุณเป็นหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณจะมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ลูกทีม โดยคุณเป็นผู้ติดตาม ตรวจทาน และเสนอแนะวิธีแก้ไข

หัวหน้างานที่ดี คือหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณควรสอนให้พวกเขาทำงานเป็น เพราะหากไม่มีคุณ ลูกทีมก็ยังสามารถสานต่อและรับผิดชอบงานแทนได้… วิธีนี้คล้ายกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าให้ปลาเขา เขาจะมีกินแค่วันนี้ แต่ถ้าคุณสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลากินไปชั่วชีวิต”

นอกจากนี้ การมอบหมายงานยังทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลา และมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว คุณก็ควรเป็นผู้ฝึกสอน คอยให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาพบเจออุปสรรคในการทำงานด้วย

4. เลิกงานตรงเวลา

Work-Life Balance เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน กล่าวคือ พนักงานจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย ดังนั้น คุณไม่ควรโหมทำงานหนักจนเกินไป คุณควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนหรือดูแลตัวเองบ้าง เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นกับการทำงาน สุขภาพของคุณก็จะแย่ และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา

นอกจากนี้ การที่คุณซึ่งเป็นหัวหน้างาน กลับบ้านดึก เพราะเอาแต่ทำงาน ถือเป็นการกดดันลูกน้องทางอ้อม ให้พวกเขากลับบ้านดึกเหมือนคุณ เพราะลูกน้องจะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องกลับบ้านก่อนหัวหน้า ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานตึงเครียด อึดอัด ไม่มีชีวิตชีวา… ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเป็น Role Model ด้วยการเลิกงานให้ตรงเวลา และบริหารจัดการงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ

5. ตรวจเช็คอีเมลก่อนส่งทุกครั้ง

จะเกิดอะไรขึ้น หากคุณรีบร้อนส่งอีเมลออกไปโดยไม่ตรวจทาน แน่นอนว่าคุณต้องพบกับความผิดพลาดด้านเนื้อหา หรือการใช้ภาษาผิด คุณอาจคิดว่าความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ แต่จริง ๆ แล้ว มันทำให้ “ภาพลักษณ์ของคุณ เป็นคนที่ไม่ละเอียดรอบคอบ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ” ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งอีเมลทุกครั้ง ควรตรวจทานให้ดี

6. สื่อสารระหว่างกันและกันตลอดเวลา

“เป้าหมาย” เป็นสิ่งสำคัญเมื่อต้องทำงานเป็นทีม เพราะหากทุกคนไม่เห็นเป้าหมายเดียวกัน ย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง หัวหน้ามีเป้าหมายในการทำกำไรให้บริษัท แต่ลูกน้องมีเป้าหมายในการหาเลี้ยงครอบครัว…

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย และสามารถทำตามความต้องการของตน คุณจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้สื่อสารบ้าง กล่าวคือ หัวหน้าที่ดีต้องใช้การสื่อสารแบบ Two-Way Communication ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ไม่ดีจะใช้การสื่อสารแบบ One-Way Communication เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการให้ลูกน้องเข้าใจคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจลูกน้องก่อน และทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

7. ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

หัวหน้าไม่จำเป็นต้องตอบรับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลูกน้อง เพราะหากคุณทำเช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะถาโถมเข้าหาคุณ ดังนั้น หากมีสิ่งที่เกินกำลัง หรือคุณไม่สามารถทำได้ คุณควรปฏิเสธ ดีกว่าจะรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของหัวหน้า ควรเป็นการปฏิเสธที่มีศิลปะ คุณควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และอย่าลืมรักษาน้ำใจคนฟังด้วย

8. ควบคุมอารมณ์ และให้เกียรติลูกน้อง

หากคุณเจอะเจอปัญหาในออฟฟิศ ทำให้หัวเสีย โมโห หรือส่งผลให้อารมณ์ไม่ดี จงจำให้ขึ้นใจว่า “การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์อันใด” และจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น วิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจผลงานของลูกน้อง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คุณต้องตั้งสติ พยายามระงับความเดือดดาลภายในใจ และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างให้เกียรติ… อย่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ตะโกน หรือตะคอกใส่ผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบพฤติกรรมเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND


ปล. ไม่ว่าคุณจะเป็น Old Boss หรือ New Leader ทักษะที่สำคัญในการนำทีม ในยุคนี้ มี 3 ประการ คือ Mindset Performance Teamwork 

การช่วยให้ทีมงาน รับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณมีทักษะของผู้นำยุคใหม่ครบ 3 ข้อ ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ในหลักสูตร “THE NEW LEADERSHIP SKILL – สู่การเป็นผู้นำยุคใหม่” คลิกอ่านที่นี่ครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save