คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหม ว่าคุณฟังเป็น?

หากคุณคิดว่าการฟังเป็นเรื่องง่าย ๆ ลองอ่านบทความนี้ให้จบนะครับ ผมจะเล่าถึง “หลุมพรางของการฟัง” ที่บ่งบอกว่า คุณอาจจะยังฟังไม่เป็น

หากคุณกำลังเจอปัญหาความไม่เข้าใจกัน มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้ง ๆ ที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้อง “ใส่ใจ” ไม่ใช่ “แค่ได้ยิน”

คุณมีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่อง ๆ นั้น.. ในชีวิตประจำวัน หากคุณไม่ได้สังเกตตัวเอง ก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายอย่างแท้จริง

ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คุณมักจะพลาดกัน (อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม)

ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังแบบผิด ๆ แบบนี้บ้างหรือไม่


1. ใจลอย


บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนาน ๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกม หรือแชท ได้นาน ๆ ดูซีรี่ส์ได้เป็นวัน ๆ

คำว่า “สมาธิสั้น” นั้น อาจดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟัง

คนที่ใจลอยบ่อย ๆ เมื่อต้องฟัง หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่อง ๆ นั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าเงียบฟัง แต่หากมองตาดู ก็จะรู้เลยว่า ใจเขาไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เขาจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

TIPS: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากคุณไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรง ๆ ว่าติดธุระอะไรอยู่ หรือไม่สะดวกคุยตอนนี้

การทำทีว่าฟัง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดจะรู้สึกได้ว่า จริง ๆ แล้ว คุณฟังเขาอยู่หรือเปล่า


2. คิดล่วงหน้า


หลายคนมักคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริง การคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง คุณมักเผลอ “คิดไปดักหน้า”

หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้วว่า คนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นคุณ ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เขาเสร็จสรรพ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่คุณคิดมโนไปนั้น ได้พลาดสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เขาต้องการ

TIPS : ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถาม จึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ


3. จมกับอารมณ์

ข้อนี้ คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อน มักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง ก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น ๆ

และหากคุณมีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้ย้อนนึกถึงอดีต คุณก็จะจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่คุณมีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลาย ๆ ครั้ง อาการอินของคุณ หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์รุนแรงเหล่านี้ย่อมบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้ละเลยผู้พูด อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

TIPS : เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจ ใช้สติแยกแยะว่าคุณสามารถรับฟังเขาได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วคุณก็จะสามารถฟังได้ โดยไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง


4. ตั้งธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเอง การฟังแบบตั้งธงในใจ จะเกิดขึ้น เมื่อคุณคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกเสียเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมา แย่งพูดโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย

แต่หากลองคิดให้ดี การรีบด่วนตัดสินนั้น ย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่คุณรับรู้ในอดีตเท่านั้น คุณจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่าง ทำให้ตัดสินใจพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

TIPS : เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าคุณกำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้น ๆ ไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้คุณเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟัง ทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้ หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ คุณจะคิดว่าคุณฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ คุณไม่เคยฟังเลย!


“การฟัง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ มองข้ามไม่ได้.. หากมีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย คุณก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเขาอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟัง หากคุณสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล ย่อมส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัวอย่างแน่นอน

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

หากคุณต้องการฝึกฝนเรื่องทักษะการฟัง เชิญมาพบกันในคอร์ส Executive Communication : ทักษะการสื่อสารของผู้บริหารยุคใหม่
วันศุกร์ 30 พ.ย.นี้ รับจำกัดเพียง 20 ท่าน คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save