เคลียร์ให้ชัดในสามนาที! คุณมี ‘ทีมเวิร์ค’ จริงๆ หรือเปล่า

เคลียร์ให้ชัดในสามนาที! คุณมี 'ทีมเวิร์ค' จริงๆ หรือเปล่า

ทีมเวิร์ค (Teamwork) เป็นคำที่ถูกนำมาใช้จนเกร่อ แต่มีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่กลุ่มคนซึ่งทำงานร่วมกันจะเป็นทีมเวิร์คที่แท้จริง!



เพราะลำพังแค่การมีคนมากกว่าหนึ่งมาทำงานร่วมกันไม่ได้หมายความว่านั่นคือทีมเวิร์คเสมอไป



จะบอกว่า ‘ทีม’ ที่คุณอยู่ ‘เวิร์ค’ ได้อย่างไร ในเมื่อต่างคนต่างอยู่ แทบไม่มีการสื่อสารกันเลย แล้วผลงานที่ออกมาก็ทั้งล่าช้าทั้งไม่มีคุณภาพ พอมีปัญหาก็โทษกันไปมา บรรยากาศโดยรวมไม่ได้เอื้อให้มีความสุขในการทำงานแม้แต่น้อย



เพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้น คำถามที่สำคัญก็คือ อะไรเป็นปัจจัยที่แยกแยะทีมเวิร์คกับทีมไม่เวิร์คออกจากกัน


ลองจินตนาการถึงทีมฟุตบอลที่ทุกคนต่างวิ่งไปหาลูกบอลโดยไม่สนใจว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งไหน ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมทีมอยู่ตำแหน่งไหน ไม่รับรู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ต่างคนต้องการจะเป็นคนเตะลูกเข้าประตูเพื่อเอาหน้า



แค่คิดก็ปวดหัวแล้วใช่ไหมครับ และคุณคงเห็นภาพชัดว่าทีมฟุตบอลทีมนี้ไม่เวิร์คอย่างแน่นอน



แล้วมีเกณฑ์อะไรที่จะบอกได้ว่ากลุ่มคนที่เรากำลังทำงานด้วยคือทีมเวิร์ค หรือเป็นเพียงแค่กลุ่มงาน (working group) เท่านั้น


นี่คือ 4 ปัจจัยที่จะบอกความแตกต่างระหว่างกลุ่มงานกับทีมเวิร์ค เพื่อให้คุณสามารถแยกแยะและมีความตระหนักรู้ว่าทีมที่อยู่นี้เวิร์ค หรือ ไม่เวิร์ค กันแน่

 

กลุ่มงาน – ผู้นำเดี่ยวที่เข้มแข็ง

กลุ่มงานไม่สนใจหรอกว่าทุกคนคือใคร มีจุดแข็งด้านไหน มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือความถนัดอะไร
ขอแค่ทุกคนเชื่อฟังคำสั่งจากผู้นำคนเดียวก็พอ

 

ทีมเวิร์ค – ผู้นำร่วมที่ผลัดกันนำ

ทีมเวิร์คจะรู้ว่าทุกคนคือผู้นำ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหร่ก็ตาม ทุกคนจึงผลัดกันนำตามจุดแข็ง ความถนัด ประสบการณ์ ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความตระหนักชัดถึงความแตกต่างของทุกคนในทีม มีความเคารพกันอย่างเต็มเปี่ยม หลักการพื้นฐานคือทุกคนในทีมเวิร์คจะต้องรู้จุดแข็งและความถนัดของตัวเองและของเพื่อนร่วมทีมเป็นอย่างดี

 

กลุ่มงาน – อยู่รอด

คำนึงถึงการอยู่รอดและเป้าหมายส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น คติของกลุ่มงานคือ “ขอแค่ตัวชั้นรอดก็พอ” ทำให้ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างอยู่ ทุกคนต่างอยู่ในโหมดเอาตัวรอด (survivor mode) และนั่นก็ทำให้กลุ่มงานไม่สามารถเชื่อมประสานจนกลายเป็นทีมได้

 

ทีมเวิร์ค – อยู่ร่วม

ทุกคนในทีมมีทั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายของทีมหรือเป้าหมายร่วม ซึ่งทั้งสองมักเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทำให้แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันจึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ไม่ยาก เพราะเป้าหมายร่วมนี่แหล่ะคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนเชื่อมประสานกันจนกลายเป็นทีม แน่นอนว่าเป้าหมายส่วนตัวของทุกคนยังมีอยู่ แต่การที่ทุกคนยึดเป้าหมายร่วมนี่แหล่ะที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสุดท้ายก็ช่วยให้เป้าหมายส่วนตัวสำเร็จด้วยเช่นกัน

 

กลุ่มงาน – แยกส่วนกันทำงาน

ไม่มีทีมไหนที่ต่างคนทำงานแบบแยกส่วน และปล่อยให้แต่ละคนแก้ปัญหาของตัวเอง ถ้าทุกคนในทีมมองเห็นเป้าหมายเดียวกันและมองเห็นการทำงานที่สอดประสานเชื่อมโยงกันจนเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแยกส่วนกันทำงานก็คือเมื่อเกิดปัญหาต่างฝ่ายจะโทษกันไปมาแทนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหานั้น กลุ่มงานจึงเป็นกลุ่มคนที่ถนัดในการหาคนผิดมากกว่าที่จะแก้ไขความผิดพลาดร่วมกัน

 

ทีมเวิร์ค – มีทั้งงานส่วนตัวและงานที่ต้องทำร่วมกัน

ต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตัวเอง แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในจุดที่ต้องส่งงาน รับงาน เชื่อมประสาน สื่อสารกันและกัน การมองเห็นเป้าหมายร่วม การรับรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความไว้วางใจสูงสุดทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของทีมเวิร์ค

 

กลุ่มงาน – ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายนอกเป็นหลัก

เงินเดือน โบนัส การได้ลาพักร้อน ฯลฯ แรงจูงใจภายนอกเหล่านี้มักไม่ทรงพลังและไม่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้ เพราะมันคือเรื่องของแต่ละคน

เมื่อยึดถึอแรงจูงใจภายนอกมากๆ ก็ยิ่งทำให้แต่ละคนยึดถือผลประโยชน์ส่วนตัวจนเกิดสภาวะแบ่งแยกมากขึ้น และท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหลอมรวมเป็นทีมเดียวกันอย่างแท้จริง

 

ทีมเวิร์ค – ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายในเป็นหลัก

ความรักความหลงใหลในสิ่งที่ทำ การเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ เห็นคุณค่าในตัวเอง อิสระในการคิดและทำ ฯลฯ แรงจูงใจภายในเหล่านี้นี่แหล่ะคือสิ่งสำคัญที่เชื่อมประสานทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน เพราะเป็นความปรารถนาอันเป็นสากลที่ทุกคนมีเหมือนกัน เมื่อมุ่งเน้นที่แรงจูงใจภายในจะทำให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายร่วมอย่างเดียวกัน และสภาวะนั้นก็ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะจับมือเดินหน้าไปด้วยกันได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้แล้วว่าทีมที่ตัวเองอยู่นั้นเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เมื่อพบว่าทีมที่อยู่เป็นแค่กลุ่มงาน และถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นทีมเวิร์คทำได้โดยการค้นหาจุดแข็ง พรสวรรค์ ความถนัดทั้งของตัวเองและของเพื่อนร่วมทีม ให้เวลาในการค้นหาเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ฝึกที่จะไว้วางใจตัวเองและไว้วางใจผู้อื่น และฝึกฝนทักษะการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนทีม เพียงเท่านี้ทีมของคุณก็จะเวิร์คสมชื่อแล้วล่ะครับ

 

บทความ โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค
[ ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 02645

อยากเคลียร์ปัญหาทีไร ทำไมยิ่งแย่กว่าเดิม

อยากเคลียร์ปัญหาทีไร ทำไมยิ่งแย่กว่าเดิม

หลาย ๆ คน พอมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ตัว ก็จะรีบเคลียร์ พยายามคุยให้จบ ซึ่งกลายเป็นแย่ลง… หลาย ๆ ครั้ง ก็มักจะบานปลายไปกันใหญ่… ถ้าเป็นแบบนี้ ควรจะแก้ยังไงดี?

ผมพอจะสรุปแนวทางจัดการปัญหาที่คนทั่วไปใช้ เมื่อเกิดความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ได้ดังนี้

วิธีแรก เปิดอกเคลียร์กันด้วยเหตุผล

ทำแบบนี้ทีไร มักเกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายหากเหตุผลแน่นกว่า คุณเป็นฝ่ายถูก เขาก็ต้องยอมรับ แต่ทุกครั้งกลับพบว่า บรรยากาศระหว่างนั้นจะอึดอัดตึงเครียด และความสัมพันธ์หลังจากนั้นมักแย่ลงเสมอ

ต่างคนแยกจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี ทำให้บางคนออกห่าง ไม่มาปรึกษาคุณอีก หรือไม่สนิทกันเหมือนเดิม

บางครั้งก็จะมีปัญหาว่า คุณอยากจะเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ แต่อีกฝ่ายกลับหลบลี้หนีหน้า หรือบ่ายเบี่ยงไปเรื่องอื่น หรือทำเฉยชาไม่สนใจ ก็ยิ่งทำให้โมโห และไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่คุยกันให้จบ ๆ ไป

วิธีที่สอง ไม่อยากเผชิญหน้า ทำเนียนเปลี่ยนเรื่องไป

การทำแบบนี้อาจทำให้สถานการณ์เบาลง แต่เมื่อปัญหายังไม่ถูกแก้ไข แล้วเกิดประเด็นปัญหาเดิมซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง และอีกครั้ง ทำให้ในที่สุดจะมีคนทนไม่ไหว ระเบิดออกมา อีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงไม่พอใจได้ขนาดนี้ ก่อนนี้ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรนี่นา

การรักษาสัมพันธ์โดยทำเปลี่ยนเรื่องไป หาเรื่องอื่นมาเอาใจ พยายามทำอะไรก็ได้ให้ลืม ๆ มันไป จะทิ้งปัญหาไว้ให้อยู่ในที่ ๆ เดิม รอวันปะทุขึ้นมาใหม่…

วิธีที่สาม ใช้วิธีอดทน และให้อภัย

ช่วงแรก ๆ ก็พอทนไปได้ นาน ๆ ไป คุณกลับรู้สึกเครียด อึดอัด เก็บกด มากเข้า ๆ วันหนึ่งก็จะปะทุ ปรี๊ดแตกทะลุปรอทขึ้นมา อีกฝ่ายก็จะตกใจ งง ไม่เข้าใจ แล้วถามว่า ทำไมเพิ่งจะมาบอกว่าไม่โอเคกับเรื่องนี้

คุณก็จะบอกอย่างเหลืออดว่า ไม่ชอบมาตั้งนานแล้ว แต่คิดว่าน่าจะสังเกตได้บ้าง เรื่องแค่นี้น่าจะรู้ได้เอง น่าจะปรับปรุงตัวเองได้ เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ น่าจะเข้าใจ เรื่องเล็ก ๆ ไม่น่าให้มันเป็นเรื่องเลย

แต่หารู้ไม่ว่า เพราะคุณเองนั่นแหละ ที่เก็บเรื่องเล็ก ๆ ไว้ จนบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต แล้วพอความสัมพันธ์ร้าวไปแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้…

สรุปแล้ว ทั้งสามวิธี ไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีในการจัดการความขัดแย้ง หรือดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่ใช้วิธีทั้งสามนี่แหละ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กลับไปกลับมา แล้วก็สงสัยว่า ทำไมความสัมพันธ์ไม่เวิร์ค

ตรงก็แล้ว หยวนก็แล้ว ไม่สนใจก็แล้ว แต่ทำไม ปัญหาไม่เคยหมดไปเสียที จะทำยังไงดี มีวิธีอื่น ๆ อีกไหม

ผมมีแนวทางที่ทำให้คุณสามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้อย่างน่าทึ่ง.. สรุปออกมาเป็นกระบวนการ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. หยุดไว้ชั่วคราว

เมื่อเกิดความไม่ลงรอยใด ๆ ขึ้น ทำท่าจะบานปลาย เป็นการปะทะคารม ให้คุณหยุดการโต้เถียงทันที โดยการขอเวลานอก เดินแยกตัวออกมาจากสถานการณ์นั้นก่อน ป้องกันการลุกลามจนเป็นการทะเลาะที่รุนแรง

เพราะถ้าไม่เข้าใจกันแล้ว ต่างหาเหตุผลมาปกป้องความคิดตัวเอง จะไม่มีใครฟังใคร มีแต่อยากเป็นฝ่ายพูด และบังคับให้อีกฝ่ายเชื่อ หรือยอมตาม ซึ่งย่อมจะไม่เกิดผลใด ๆ นอกจากจะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดรุนแรงมากขึ้น

2. ดูแลใจตัวเอง

พอคุณห่างจากเหตุการณ์ออกมาแล้ว ตอนนี้ให้ใช้เวลาเงียบ ๆ กับตัวเอง ทิ้งระยะให้สงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วเริ่มถามตัวเองว่า ไม่พอใจอะไร คุณไม่จำเป็นต้องทน หรือทำเป็นยินยอม ทั้งที่ใจจริงไม่ยอม และขอให้มองความต้องการของตัวเองให้ออก ว่าอยากให้ออกมาในรูปแบบไหน อะไรที่ขาดหายไป

3. พร้อมรับผิดชอบ

เมื่อชัดเจนกับตัวเองแล้ว ให้ถามตัวเองว่า คุณพร้อมจะเข้ามารับผิดชอบในความขัดแย้งครั้งนี้ไหม คนทั่วไป มักจะโทษอีกฝ่าย ว่าเป็นสาเหตุของเรื่องราว เขาทำให้เราเสียใจ เขาต้องมาขอโทษเราสิ เขาต้องทำนู่น ทำนี่ ให้พอใจ คุณถึงจะยอมดีด้วย ถ้าใครคิดแบบนี้ คงต้องรอไปอีกนาน เผลอ ๆ ไม่มีวันกลับมาดีกันได้อีกเลย

แต่หากมองให้ดี ทุกปัญหา คุณมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยเสมออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่ให้มองว่า มีอะไรที่คุณทำได้ มีอะไรที่คุณแก้ปัญหาได้บ้าง เฉพาะในส่วนของตัวคุณเอง ให้คำมั่นกับตัวเองว่า จะรับผิดชอบสานสร้างความสัมพันธ์ให้กลับคืนมา

4. ปล่อยวางคำตัดสิน

เมื่อเข้าใจตนเองแล้ว ให้ลองมองว่า คุณจะวางความเห็นส่วนตัวไว้ชั่วครู่ แล้วเริ่มมองเหตุการณ์เดิมในมุมมองของอีกฝ่าย ไม่ต้องมองว่าใครผิดใครถูก คุณอาจจะไม่เข้าใจ แต่เป็นไปได้ไหม ว่าจะ “ยอมรับ” อย่างที่มันเกิดขึ้น อย่างที่เขาเป็นก่อน

5. ให้อภัย

ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ คุณจะไม่สามารถสานสร้างความสัมพันธ์ใด ๆ กลับมาได้ หากยังโกรธ และไม่พร้อมจะให้อภัย คุณจะไม่สามารถเคลียร์ใจ คุยเปิดอกกับใครได้ หากยังมองว่าเขาผิด คุณถูก หรือเขาด้อยกว่า คุณเหนือกว่า

จะสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจได้ ต้องมาจากความเท่าเทียมและปราศจากการกล่าวโทษ

คุณต้องใช้จิตใจที่มีเมตตา เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ถึงจะให้อภัยคน ๆ หนึ่งได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเขายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่คุณสามารถให้อภัยเขาก่อนได้

6. กล้าเปราะบาง

ปล่อยวางความเป็นผู้ถูก ความที่คุณต้องดูดี วางหัวโขนใด ๆ ที่สวมใส่ไว้ ไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไร แล้วยอมเปราะบาง ยอมห่วย ไม่ต้องดีก็ได้ ยอมอ่อนแอ ไม่ต้องเก่งก็ได้ เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ที่พร้อมจะเรียนรู้และรับฟัง พร้อมจะมองจากมุมมองที่แตกต่าง พร้อมจะทำความเข้าใจ และไม่ปกป้องตัวเอง

มาถึงจุดนี้ คุณสามารถปลดพันธนาการทางใจออกไปได้ คุณพร้อมแล้วที่จะเดินเข้าไปหาเขา ขอโทษในสิ่งที่ทำผิด ให้อภัยในความพลาดพลั้งไม่ตั้งใจของเขา คุณพร้อมจะเปิดใจและพร้อมที่จะรับฟัง เรียนรู้ในมุมมองของเขา

7. สื่อสารโดยไม่คาดหวัง

ให้คุณสื่อสารด้วยความเท่าเทียม เคารพในความคิดเห็น มุมมองของเขา ไม่พยายามยัดเยียดความคิดของคุณ ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเขา ไม่พยายามแก้ไข ไม่คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจ ตอบรับ หรือมาคืนดี นั่นไม่สำคัญเลย

สิ่งสำคัญก็คือ คุณเคลียร์ใจตัวเองได้หมดแล้ว ไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของคุณที่มีต่อเขาได้

“คำพูด” ไม่ว่าจะเต็มไปด้วยเหตุผลมากแค่ไหน ไม่อาจเปิดใจของเขาได้ เท่ากับ “ท่าทีของคุณ” ที่เข้าไปพูดกับเขาด้วยความรักและมิตรภาพ ปราศจากโทสะและกำแพงแห่งอคติ เหมือนก่อนหน้านี้

มีข้อสังเกตว่า ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเพียงข้อเดียว ที่คุณมีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับคู่กรณี ส่วนข้อ 1-6 นั้น เป็นการเตรียมเรื่องภายในใจของคุณเพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กระบวนการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมา ไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสาร ทักษะการพูด หรือการปฏิบัติตัวอย่างให้เหมาะสมอย่างไรเลย หัวใจสำคัญก็คือ “การจัดการอารมณ์ภายในใจ” ของคุณล้วน ๆ

ดังนั้น “ก่อนจะเคลียร์ปัญหากับใคร ให้เคลียร์ใจของตัวเองก่อน”

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ยิ่งพูดมากเท่าไหร่ จะยิ่งฟังได้น้อยลง

ยิ่งพูดมากเท่าไหร่ จะยิ่งฟังได้น้อยลง

ยุคดิจิทัล ปัญหาสำคัญที่สุดภายในองค์กร ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ แต่เป็น “ปัญหาเรื่องคน”

ปัจจัยที่ทำให้คนทำงานแล้วมีปัญหา คือ การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน

ในที่ทำงาน แต่ละคนมีข้อมูลมากมาย มีความมั่นใจในตัวเอง ใคร ๆ ก็อยากเป็น “ผู้พูด” แต่ไม่ค่อยมีใครยอมเป็น “ผู้ฟัง”

การฟังที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ก่อให้เกิดความผิดพลาด ปัญหาความขัดแย้งในการทำงาน บางทีก็ลามไปถึงชีวิตส่วนตัวและครอบครัวด้วย

“การฟัง” เป็นทักษะสำคัญ แต่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารหลาย ๆ คนมักมองข้าม เพราะต่างคิดว่าตัวเองฟังเป็นอยู่แล้ว..

หารู้ไม่ว่า “การฟัง” กับ “การได้ยิน” ต่างกันอย่างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น จากผลสำรวจพบว่า คนยิ่งเรียนสูง ประสบการณ์สูง อายุมาก ประสบความสำเร็จมาก มีแนวโน้มว่าจะมีทักษะการฟังที่ลดลง อย่างมีนัยสำคัญ

นั่นเพราะความเชื่อมั่นในตัวเอง ได้บดบังความสนใจที่มีต่อผู้อื่น

หากกล่าวกันตรง ๆ คนกลุ่มแรกที่ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “การฟัง” น่าจะเป็นผู้บริหาร หรือผู้ใหญ่ในองค์กร นั่นเอง!

ถ้าอยากจะฟังให้มีคุณภาพ จะต้องใช้ “หัวใจ” ให้มากกว่า “หัวสมอง”

ผมขอแนะนำทักษะการฟังที่สำคัญ ให้กับผู้บริหารองค์กร หัวหน้าทีมทุกคน นั่นคือ “Deep Listening”

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ฟังในสิ่งที่เขาไม่ได้พูดได้อย่างเข้าใจ เช่น อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่เขายึดถือ

โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่า ว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วน ๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่คุณสามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 3 ขั้นตอน ดังนี้

1. เป็นพื้นที่ว่าง

ก่อนจะรับฟังใคร หากในจิตใจคุณยังเต็มไปด้วยความคิด ความกังวล ย่อมไม่ได้รับฟังเขาอย่างแท้จริง คุณจะต้องเคลียร์จิตใจตัวเองให้เป็น “พื้นที่ว่าง” ให้ได้เสียก่อน

เมื่อจะฟังใคร ต้องพักวางสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ หยุดความคิดและความกังวลทั้งปวง แล้วตั้งใจว่า คุณจะฟังเขาอย่างเป็นพื้นที่ว่าง พร้อมรับฟังอย่างเปิดใจ ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว

2.มองตา ใส่ใจ ให้ความสำคัญ

คนเราสื่อสารกัน ไม่ใช่แค่ด้วยภาษา แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ดังนั้น นอกจากการฟังสิ่งที่เขาพูดแล้ว คุณต้องสบตาผู้พูด เพื่อรับรู้อารมณ์ของเขาที่สื่อสารส่งผ่านมาทางสายตาด้วย

ยุคนี้ เราไม่ค่อยสบตากันในการพูดคุย เราก้มหน้า มองนู่นนี่ หรือทำสิ่งต่าง ๆ ไปด้วย ระหว่างที่ฟังอีกฝ่าย นั่นทำให้คุณพลาดสาระสำคัญในการเข้าถึงจิตใจซึ่งกันและกันไปอย่างน่าเสียดาย

การสบตา จะช่วยให้คนสองคน ได้เชื่อมต่อจิตใจซึ่งกันและกัน จนทำให้ผู้พูด รู้สึกสนิทสนม ไว้วางใจ และเปิดใจกับผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว

3. ไม่ถาม ไม่ขัด ไม่ตัดสิน

ระหว่างฟังอยู่ สำคัญมากที่คุณจะต้องปล่อยให้เขาพูดอย่างอิสระตามต้องการ โดยไม่ตั้งคำถาม ไม่ขัด และไม่ด่วนตัดสิน ว่าสิ่งที่พูดนั้น ผิดหรือถูก

แน่นอนว่า คุณอาจมีคำถาม หรือข้อสงสัย แต่จะดีกว่าไหม ถ้ารอให้เขาพูดสิ่งที่ต้องการจนจบเสียก่อน เพราะถ้าฟังให้ดี บางทีความสงสัยที่เกิดขึ้น อาจมีคำตอบอยู่ตรงนั้นแล้ว เพียงแต่คุณอาจใจร้อนตั้งคำถามไปก่อน

มากไปกว่านั้น คำถามของคุณ หลาย ๆ ครั้งเป็นคำถามเชิงอยากรู้ และคำถามเชิงชี้นำ นั่นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายได้พูดความในใจออกมาอย่างเต็มที่ จะต้องคอยมาตอบคำถามคุณเป็นระยะ ๆ ทำให้การพูดของเขาติดขัด ไม่ลื่นไหล

หากไม่เห็นด้วยกับบางเรื่องที่อีกฝ่ายพูด คุณสามารถรับฟังจนจบได้ โดยไม่ต้องแสดงอาการขัดแย้ง เพราะนั่นจะทำให้บทสนทนากลายเป็นการตอบโต้กันไปมา

หัวใจสำคัญ ของการฟังอย่างลึกซึ้ง

การรับฟังที่ดี คุณไม่ต้องรีบหาว่า อะไรถูก อะไรผิด คุณเพียงรับฟังมุมมองที่แตกต่าง เพื่อสำรวจว่า อะไรที่เขารู้และเชื่อกันแน่ และสาเหตุที่เขาเชื่อแบบนั้น เป็นเพราะอะไร

แม้สิ่งที่เขาพูด อาจไม่ใช่ความจริงของคุณ แต่มันเป็นความจริงในโลกของเขา คุณจึงควรเคารพความเชื่อนั้น แล้วนั่นจะทำให้เขาพร้อมรับฟังคุณมากขึ้น เมื่อคุณเป็นฝ่ายพูด

การเป็นผู้ฟังที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่คุณให้ความสำคัญกับมันหรือไม่ เมื่อฝึกใหม่ ๆ คุณอาจพลาด เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง ยิ่งได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าไหร่ ย่อมสามารถพัฒนาทักษะการฟังของคุณได้มากขึ้นเท่านั้น

วิธีฝึกง่าย ๆ ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าคุณจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้ คุณก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น

แล้วจะพบว่า คนตรงหน้าคุยกับคุณอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เขาจะรู้สึกดีมาก ๆ แม้ว่าคุณจะไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

ทั้งหมดนี้ คือ “เทคนิคฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากคุณฝึกได้สม่ำเสมอ จะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุก ๆ ด้าน

เพราะการพัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้คุณได้พัฒนาจิตใจไปพร้อม ๆ กันด้วย

เมื่อคุณฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของคุณก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขในการทำงานและในครอบครัว ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand


ปล. หากคุณต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และการสื่อสารเพื่อสร้างทีม ขอแนะนำ หลักสูตร “Executives Communication: ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่ ”

คอร์สนี้เป็นหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ มี Workshop และกิจกรรมหลากหลาย ที่ผมจัดให้กับองค์กรมหาชนมากกว่า 300 รุ่น คลิกอ่านที่นี่ครับ

บันได 3 ขั้น สู่ความสำเร็จ

บันได 3 ขั้น สู่ความสำเร็จ

ทุกคนล้วนต้องการก้าวสู่ความสำเร็จ แต่หลายคนมักตั้งคำถาม ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี?

เราอยากให้คุณลองคิดถึงช่วงเวลาที่คุณเตรียมแผนการท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นจากการฝันถึงหลากหลายสถานที่อันสวยงาม เลือกจุดหมายปลายทาง วางแผนการเดินทางอย่างละเอียด จัดเตรียมกิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน แน่ล่ะ คุณคงไม่ลืมเตรียมความพร้อมด้านที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และร้านอาหาร

ช่วงเวลาตั้งแต่คุณเริ่มวางแผน วันที่คุณได้สัมผัสกับการท่องเที่ยว ตลอดจนความประทับใจที่ได้จากการเดินทาง เราเชื่อว่าคุณกำลังรู้สึกถึง… ช่วงเวลาแห่งความสุข


ตอนนี้ ให้คุณลองเปรียบเทียบประสบการณ์การวางแผนวันหยุดของคุณ กับความพยายามในการทำงาน… ทำให้การทำงานเป็นเรื่องราวแสนสนุก เต็มไปด้วยพลัง เพราะการทำงานมีความสำคัญต่อชีวิตคุณอย่างมาก การทำงานจะช่วยให้คุณสามารถหาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และทำให้คุณมีฐานะการเงินที่มั่นคง ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณในระยะยาว

บทความนี้จะเปิดเผย “เทคนิคช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน” เพียงแค่คุณคิดว่าการทำงานเหมือนกับการท่องเที่ยว กล่าวคือ คุณต้องมีความฝัน ตั้งเป้าหมาย และมุ่งมั่นตั้งใจทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริง

หากคุณยังไม่เห็นภาพชัดเจน บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจหนทางที่จะนำคุณไปสู่ความสำเร็จ ด้วยวิธีการ 3 ขั้นตอน ดังนี้
 

ขั้นที่ 1 กล้าที่จะฝัน


ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเริ่มต้นจากความฝัน… หากคุณยังไม่รู้ว่าตนเองมีความฝันอะไร? หรืออยากเป็นอะไร? วิธีการง่าย ๆ ก็คือ ให้คุณลองคิดว่า อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการทำในอีก 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ลองจินตนาการและค้นหาว่า อะไรคือสิ่งที่คุณปรารถนาจริง ๆ

บางที คุณอาจพบว่าตนเองอยากเรียนภาษาเกาหลี วิ่งมาราธอน หรือลดน้ำหนักสัก 5-10 กิโลกรัม ปลดปล่อยความคิดของคุณให้เป็นอิสระ คุณสามารถวาดฝันถึงอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น การเล่นสกีที่เทือกเขาหิมาลัย การเอาชนะการแข่งขัน F1 การสร้างแหล่งพลังงานให้กับหมู่บ้านที่ห่างไกลในอินเดีย เป็นต้น

เมื่อคุณจุดประกายความฝันด้วยการสร้างภาพจินตนาการแล้ว จงเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวคุณเอง ยืนหยัดทำมันอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุด คุณจะประสบความสำเร็จ

และถ้าคุณไม่สามารถทำความฝันนั้นให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว คุณสามารถหาเพื่อนร่วมทางได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พวกเขาต้องมีเป้าหมายเดียวกันกับคุณ เพราะหากคุณและเพื่อนร่วมทางมีเป้าหมายแตกต่างกัน ก็คงยากที่จะถึงฝั่งฝันนั้นได้

คุณสามารถประยุกต์ขั้นตอนนี้กับเรื่องงานของคุณได้ โดยคุณอาจจินตนาการว่า ตนเองอยากทำงานในตำแหน่งหัวหน้า ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งประธานบริษัท หากคุณมีความฝันแล้ว ก็จงอย่าดูถูกความฝันของตนเอง แล้วเดินหน้าสู่บันไดขั้นถัดไป…
 

ขั้นที่ 2 ตั้งเป้าหมาย


หลังจากคุณเห็นภาพความฝันชัดแล้ว คุณต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ และทำให้เป็นจริง… คุณอาจเขียนความปรารถนาเหล่านั้นใส่กระดาษ อัดเสียง หรืออัดคลิปวิดีโอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความฝันของคุณมีชีวิต และเป็นรูปธรรม

ความมุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นพลังให้คุณพยายามทำสิ่งที่คุณคาดหวังไว้ ให้เป็นจริง นอกจากนี้ ยังทำให้คุณเห็นความฝันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณฝันว่า อยากมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง คุณก็ต้องตั้งเป้าหมายและคิดหาหนทางที่จะพาตนเองให้ไปสู่บันไดแห่งความสำเร็จนั้น

ยกตัวอย่าง หนทางสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง
            1) ฉันต้องไปวิ่งออกกำลังกับเพื่อน ๆ
            2) ฉันต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
            3) ฉันจะเล่าเป้าหมายเรื่องสุขภาพให้ครอบครัวของฉันฟัง

ในเรื่องงานก็เช่นกัน หากคุณมีความฝันชัดแล้ว จงเปลี่ยนให้กลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้น แต่ยังเป็นการตั้งเป้าหมายระยะยาว ซึ่งส่งผลดีต่ออนาคตของคุณด้วย

ขั้นที่ 3 ลงมือทำ


“ความคิด” หรือ “คำพูด” ที่ปราศจาก “การลงมือทำ” เป็นสิ่งไร้ค่า… เพราะมันเหมือนปล่อยให้ความฝันของคุณหลุดลอยไปกับสายลม

“การลงมือทำ” มีความหมายมากกว่าการเคลื่อนไหวทางร่างกาย เช่น การเดิน การเขียน การสร้างสรรค์ การทำลาย การรักษา การปกป้อง เป็นต้น กล่าวคือ การลงมือทำต้องอาศัยความคิดและจิตใจร่วมด้วย เพราะหากเราใส่จิตวิญญาณลงไปในสิ่งที่เราทำ มีความแน่วแน่ต่อเป้าหมาย ความฝันนั้นจะยิ่งชัดเจน คุณก็จะเดินไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตั้งเป้าหมายว่า “วันนี้ฉันจะออกไปวิ่งกับเพื่อน” คุณต้องทำให้กลายเป็นจริง โดยคุณอาจตั้งนาฬิกาสำหรับการออกกำลังกายไว้ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นให้คุณรีบหยิบรองเท้ากีฬาคู่โปรด พร้อมกับชักชวนเพื่อนของคุณออกไปวิ่ง

ให้คุณท่องจำให้ขึ้นใจว่า หากจะทำอะไรก็ตาม อย่ารีรอ “จงทำในทันที” เพียงเท่านี้ คุณย่อมสามารถเดินตามความฝันของคุณได้สำเร็จ และผลที่ตามมาก็คือ คุณสามารถสร้างฝันที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่รู้จบ เพราะคุณมองเห็นและสามารถกำหนดเส้นทางชีวิตได้ด้วยตนเอง

ดังนั้น เริ่มต้นวันทำงานของคุณด้วยการตั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะยาว และอย่าลืมลงมือทำให้สำเร็จ เพราะภาพความฝันที่เปลี่ยนเป็นความจริง จะทำให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจ คุณสามารถควบคุมอุปสรรครอบข้างได้ดีขึ้น คุณเอาชนะวิกฤติการณ์ ความกลัว และก้าวผ่านความไม่รู้ต่าง ๆ ไปได้

เชื่อมั่นเลยว่า หากคุณมีความฝัน ยึดมั่นกับเป้าหมาย และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง… ดังเช่น 3 ขั้นตอนข้างต้น สุดท้าย คุณจะพบว่า ความฝันของคุณกลายเป็นความจริง และความสำเร็จอยู่ไม่ไกล…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

โน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล

โน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล

หนึ่งในคำถามที่มีคนถามมากที่สุด เมื่อผมได้รับเชิญไปจัดอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารให้กับองค์กรต่าง ๆ คือ “จะโน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล”

ผู้คนส่วนใหญ่อยากรู้ว่า มีเทคนิควิธีการอะไร ที่จะโน้มน้าวใจคนอื่นให้คล้อยตามเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ทีมงาน หรือกระทั่งคนในครอบครัว

ผมอาศัยหลัก Persuasion Mastery ครับ.. หากคุณอยากจะมีพลังในการโน้มน้าวผู้คน นี่คือ 3 สิ่งที่ควรโฟกัส และฝึกทำให้ได้ครับ..


1. POWER – มีพลังงานสูง


คุณไม่อาจโน้มน้าวใจใครได้ ถ้าเขาสนใจบ้างไม่สนใจบ้าง ดังนั้น คนที่มีพลังงานต่ำ ทำตัวน่าเบื่อ น้ำเสียงท่าทางซังกะตาย ไม่อาจโน้มน้าวใครได้อย่างแน่นอน

การมีพลังงานสูง ไม่ใช่ต้องเสียงดัง ทำตัวไฮเปอร์ตลอดเวลา เทคนิคง่าย ๆ คือ “การดำรงอยู่กับสถานการณ์และคนตรงหน้าอย่างเต็มเปี่ยม ให้พลังในตัวเราโฟกัสกับคน ๆ นั้น และสิ่ง ๆ นั้น เต็มที่”

นั่นก็คือการรับฟัง ให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญ สบตา และกระตือรือร้นที่จะสนทนากับคนตรงหน้าอย่างแท้จริง


2. UNDERSTANDING – มีความเข้าใจที่แท้จริง


การสนทนากับใครให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าว เจรจาต่อรอง นอกจากการมีพลังงานสูงแล้ว คุณต้องมีความเข้าใจในตัวเองอย่างชัดเจน ว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร สิ่งใดทำได้ สิ่งใดไม่สามารถทำได้

ความชัดเจนในตัวเอง ทำให้คุณมีจุดยืนในการเจรจาต่อรอง และสามารถเปิดเผยความรู้สึกและความจริงในใจได้

แต่การรู้ตัวเองก็เป็นเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือคือการรับฟัง การทำความเข้าใจ ว่าจุดยืนของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร เขาต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร อะไรที่เขาสามารถทำได้และไม่ได้

เมื่อมีความเข้าใจที่แท้จริงจากทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้น คุณจะเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ร่วมกัน ไม่ใช่เพียงประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเดียว และนั่นจะเปิดพื้นที่ตรงกลางในการสนทนาและสื่อสาร ให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น ความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้ผู้คนไว้วางใจและคล้อยตามในที่สุด


3. POSSIBILITY – มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ


การตั้งธงไว้ก่อน มีคำตอบล่วงหน้า ย่อมทำให้เกิดการถกเถียงกันได้ง่าย เกิดความเครียด และอาจทำให้บางฝ่ายรู้สึกเสียโอกาส

การพยายามประนีประนอม ก็ยังเป็นการเจรจาต่อรองที่ไม่ได้ผลนัก เพราะต้องยอม ต้องลดสิ่งที่ต้องการ แต่ละฝ่ายอาจรู้สึกว่าต้องยอมแลก หรือต้องสูญเสียบางอย่าง

หากคุณมีความเข้าใจในความต้องการของตัวเองและอีกฝ่ายอย่างชัดเจน คุณพูดคุยอย่างเท่าเทียมไปสักพัก จะตกผลึกจนเจอพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีในตัวเลือกเดิม และอาจเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคิดไม่ถึงมาก่อน

ความเป็นไปได้ใหม่นี้ จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้น เป็น Win-Win Situation เป็นไปในทิศทางที่ทั้งคู่ต้องการ

เมื่อสามารถเปลี่ยนจากการต่อรอง เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งใหม่ ทำให้สองฝ่ายได้มากกว่าเดิม คุณย่อมจะได้รับความร่วมมือและความเต็มใจกว่าการต่อรองหลายเท่า

กล่าวโดยสรุป การโน้มน้าวใจให้ได้ผล ไม่ได้มาจากว่า ต้องพูดยังไง หรือตั้งธงแค่จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว.. คุณควรต้องมี Mindset ที่พร้อมจะรับฟัง ทำความเข้าใจ เปิดรับโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการสนทนากับอีกฝ่าย นั่นเอง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคุณจะได้รับโอกาสดี ๆ และมีคนเต็มใจร่วมมือกับคุณ แน่นอนครับ

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ทำแบบนี้สิ! ชีวิตจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ทำแบบนี้สิ! ชีวิตจะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

อยากก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่ามองที่ความเร็ว แต่ให้โฟกัสที่การแสดงออก…

ในสังคมออนไลน์ ที่ทุกวันมีแต่เรื่องราวของคนสำเร็จเร็ว รวยเร็ว บางทีก็ทำให้คุณจิตตกได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้าเทียบกับคนอายุใกล้เคียงกัน ทำไมเขาสำเร็จได้รวดเร็ว ต่างกับคุณที่ชีวิตนิ่งอยู่กับที่ ดูเหมือนถอยหลังเสียด้วยซ้ำ

หลายคนพอเห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ค่อยก้าวหน้าไปไหน ก็เลิก ยอมแพ้ ไปหาอย่างอื่นทำดีกว่า

ชีวิตที่วัน ๆ เฝ้าแต่ค้นหาแรงบันดาลใจ ค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ ยิ่งค้นก็ดูเหมือนยิ่งช้า ยิ่งหาก็ยิ่งไม่เจอ.. พวกเขาไม่รู้ว่า นั่นคือ “หลุมพรางชีวิต” แบบหนึ่ง

ชีวิตที่ “เริ่มใหม่” อยู่เรื่อย ๆ จะก้าวหน้าไปได้อย่างไร?

จริง ๆ แล้ว ความก้าวหน้าในชีวิตจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับ “การแสดงออก” มากกว่าเฝ้าดูความก้าวหน้า หรือความรวดเร็ว

คำว่า “การแสดงออก” คืออะไร?

การแสดงออกที่ว่านี้เรียบง่ายมาก แต่เป็นสิ่งที่บรรดาโค้ชและเทรนเนอร์ ใช้ฝึกนักกีฬาระดับโลก นักกีฬาโอลิมปิค

1. แสดงออกจากตัวตนที่ดีที่สุดของคุณ


ในทุก ๆ สถานการณ์ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณเป็น และทำเพื่อคนอื่นได้ นักกีฬาบาสเกตบอล NBA ย่อมมีสติกับตัวเองเสมอว่า ลูกที่ชู้ตครั้งนี้ เขาต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ชู้ต ๆ ไปแบบไม่หวังผล เพราะมันอาจตัดสินผลแพ้ชนะในแมตช์นั้นได้เลย

เปรียบกับตัวคุณ ในทุก ๆ วัน คุณรู้จุดแข็งของตัวเองหรือยัง? เป็นตัวของตัวเองและได้ทำสิ่งนั้นเต็มที่แล้วหรือยัง?

หากคุณไม่สามารถแสดงออกจากตัวตนที่ดีที่สุดได้ คุณก็จะดูเหมือนคนอื่น ๆ  แล้วทำไมหัวหน้า ทำไมลูกค้าต้องเลือกคุณด้วยล่ะ!

อยากก้าวหน้าเร็ว ทุก ๆ การกระทำ ต้องทำเต็มที่ หวังผลเลิศ ไม่ใช่ทำ ๆ ไปให้ผ่าน ๆ มันไม่เกี่ยวกับผลตอบแทนที่ได้รับ แต่เกี่ยวกับว่า เราใส่ใจและตั้งใจ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้แล้วหรือยัง…

2. แสดงออกด้วยความสุข

คนสำเร็จในชีวิตที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ถ้ารู้สึกไม่โอเค เขาจะมีสติจัดการอารมณ์ตัวเองให้กลับมาเป็นปกติ แล้วจึงออกไปพบผู้คนด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส ให้กำลังใจผู้อื่น ไม่ใช่คอยแต่มองหากำลังใจจากคนรอบตัว

แม้ในใจจะมีเรื่องราวมากมาย แต่เขารู้ว่าจะก้าวข้ามพ้นมันไปได้ สิ่งดี ๆ จะเกิดตามมาแน่นอน ดังนั้นจะรอทำไม เริ่มสร้างความสุขให้ตัวเอง ณ ตอนนี้เลย

หากทำทุกวันให้มีความสุข ผลงานก็จะออกมาดีโดยธรรมชาติ

ลองคิดดู ระหว่างคนที่มีอารมณ์บวก คนที่พร้อมให้กำลังใจและให้พลังผู้อื่น กับคนที่หน้าบูดบึ้ง ขี้วีน และคอยดูดพลังคนรอบตัว เราอยากจะอยู่ใกล้ใคร อยากสนับสนุนใคร พอมีโอกาสดี ๆ อยากจะแนะนำใครเป็นพิเศษ..

3. รู้จักอดทนและรอคอย


สิ่งที่นักกีฬาระดับโลกจะไม่ทำ คือ อาการฟิวส์ขาด แสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ออกไป คุณเคยเห็นนักเทนนิสที่ตีไม่ดีดังใจ แล้วโมโหหัวฟัดหัวเหวี่ยงทุบไม้ ด่าทอ โยนแร็กเก็ตไหมครับ น่าจะเดาไม่ยากว่า แมตช์นั้นเขาแพ้ขาดลอย และบางทีอาจจะตีไม่ได้ดีอีกเลย

หากคุณได้ทำ 2 ข้อด้านบนแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นว่าชีวิตก้าวหน้า คุณกำลังมองแค่เรื่อง “ความเร็ว” อยู่หรือเปล่า? อันที่จริง ความก้าวหน้าอาจซ่อนอยู่กับ “การเรียนรู้” ที่คุณได้รับระหว่างการเดินทาง ก็เป็นได้!

เมื่อการเรียนรู้มากพอ ความเร็วจะเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย คุณอาจเห็นคนบางคนสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็ว จับอะไร ทำอะไร แป๊บเดียวก็สำเร็จ แต่สิ่งที่คุณมองไม่เห็น คือ พวกเขาเคยผิดพลาด ล้มเหลว ทำอะไรชักช้ามามากแค่ไหน?

ตอนนี้พวกเขาอยู่ในจุดที่การเรียนรู้และประสบการณ์เต็มเปี่ยม เขาเป็นผู้เชื่ยวชาญในสิ่งนั้น พอทำสิ่งใด ๆ ก็เลยดูสำเร็จได้โดยง่าย

ดังนั้น อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับใคร ให้เปรียบเทียบตัวเองกับตัวเราเมื่อวาน ก็พอ

นี่คือ 3 สิ่งที่คุณควรโฟกัส เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว.. สรุปอีกครั้งนะครับ “อยากก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อย่ามองที่ความเร็ว แต่ให้โฟกัสที่การแสดงออก”

บทความโดย CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหม ว่าคุณฟังเป็น?

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหม ว่าคุณฟังเป็น?

หากคุณคิดว่าการฟังเป็นเรื่องง่าย ๆ ลองอ่านบทความนี้ให้จบนะครับ ผมจะเล่าถึง “หลุมพรางของการฟัง” ที่บ่งบอกว่า คุณอาจจะยังฟังไม่เป็น

หากคุณกำลังเจอปัญหาความไม่เข้าใจกัน มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนมีสาเหตุหลัก ๆ มาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้ง ๆ ที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้อง “ใส่ใจ” ไม่ใช่ “แค่ได้ยิน”

คุณมีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่อง ๆ นั้น.. ในชีวิตประจำวัน หากคุณไม่ได้สังเกตตัวเอง ก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายอย่างแท้จริง

ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คุณมักจะพลาดกัน (อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม)

ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังแบบผิด ๆ แบบนี้บ้างหรือไม่


1. ใจลอย


บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนาน ๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกม หรือแชท ได้นาน ๆ ดูซีรี่ส์ได้เป็นวัน ๆ

คำว่า “สมาธิสั้น” นั้น อาจดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟัง

คนที่ใจลอยบ่อย ๆ เมื่อต้องฟัง หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่อง ๆ นั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าเงียบฟัง แต่หากมองตาดู ก็จะรู้เลยว่า ใจเขาไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เขาจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

TIPS: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากคุณไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรง ๆ ว่าติดธุระอะไรอยู่ หรือไม่สะดวกคุยตอนนี้

การทำทีว่าฟัง แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดจะรู้สึกได้ว่า จริง ๆ แล้ว คุณฟังเขาอยู่หรือเปล่า


2. คิดล่วงหน้า


หลายคนมักคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริง การคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง คุณมักเผลอ “คิดไปดักหน้า”

หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้วว่า คนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นคุณ ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เขาเสร็จสรรพ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่คุณคิดมโนไปนั้น ได้พลาดสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เขาต้องการ

TIPS : ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถาม จึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ


3. จมกับอารมณ์

ข้อนี้ คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อน มักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง ก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น ๆ

และหากคุณมีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้ย้อนนึกถึงอดีต คุณก็จะจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่คุณมีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลาย ๆ ครั้ง อาการอินของคุณ หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์รุนแรงเหล่านี้ย่อมบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้ละเลยผู้พูด อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

TIPS : เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจ ใช้สติแยกแยะว่าคุณสามารถรับฟังเขาได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วคุณก็จะสามารถฟังได้ โดยไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง


4. ตั้งธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเอง การฟังแบบตั้งธงในใจ จะเกิดขึ้น เมื่อคุณคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกเสียเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อมีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมา แย่งพูดโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย

แต่หากลองคิดให้ดี การรีบด่วนตัดสินนั้น ย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่คุณรับรู้ในอดีตเท่านั้น คุณจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่าง ทำให้ตัดสินใจพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

TIPS : เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าคุณกำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้น ๆ ไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้คุณเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟัง ทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้ หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ คุณจะคิดว่าคุณฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ คุณไม่เคยฟังเลย!


“การฟัง เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ มองข้ามไม่ได้.. หากมีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย คุณก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเขาอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟัง หากคุณสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล ย่อมส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัวอย่างแน่นอน

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

หากคุณต้องการฝึกฝนเรื่องทักษะการฟัง เชิญมาพบกันในคอร์ส Executive Communication : ทักษะการสื่อสารของผู้บริหารยุคใหม่
วันศุกร์ 30 พ.ย.นี้ รับจำกัดเพียง 20 ท่าน คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ 

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

“ปัญหาของการไม่มีเป้าหมายชีวิต เปรียบได้กับการที่คุณสามารถใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการวิ่งขึ้นวิ่งลงไปทั่วสนาม และทำคะแนนไม่ได้แม้แต่แต้มเดียว” บิลล์ โคปแลนด์

คุณเคยรู้สึกไหมว่า ตัวเองทำงานหนักมากแต่กลับย่ำอยู่กับที่? บางครั้งคุณพบว่า ตัวเองมีพัฒนาการขึ้นเล็กน้อยในทักษะฝีมือ หรือในด้านความสำเร็จเมื่อเทียบกับตัวเองเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน หรือบางที คุณต้องดิ้นรนเพื่อให้รู้สึกว่า สามารถตอบสนองความทะเยอทะยานภายในตัวเองได้

ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตไปกับการทำงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง หรือวิ่งวุ่นไปทั่วเพื่อทำอะไรให้สำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีสิ่งที่ทำสำเร็จจริง ๆ ได้เล็กน้อยเท่านั้น

การตั้ง “เป้าหมายที่ชาญฉลาด หรือ SMART Goals หมายความว่า คุณสามารถเข้าใจความคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจน โฟกัสไปที่ความพยายาม ใช้เวลาและทรัพยากรที่ตัวเองมีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในชีวิต

บทความของเราจะพาทุกท่านไปรู้จักกับ SMART Goals ว่าคืออะไร? และคุณสามารถใช้มันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างไร?

SMART หมายถึงอะไร?

SMART คืออักษรย่อที่คุณสามารถใช้เป็นแนวทางการตั้งเป้าหมายได้

หลักเกณฑ์ทั่วไปนำมาจากแนวคิด ‘หลักการบริหารจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์’ ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกในนิตยสาร Management Review ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1981 โดย จอร์จ ที. โดแรน จากนั้น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอส. รูบิน (มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์) ได้เขียนเกี่ยวกับ SMART ในบทความสำหรับสมาคมจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เขาเริ่มใช้คำว่า SMART เพื่อนิยามถึงสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล…

เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายของคุณชัดเจนและสัมผัสได้ แต่ละเป้าหมายควรจะเป็นดังนี้

SPECIFIC – มีความเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย สมเหตุสมผล เป็นเป้าหมายที่สำคัญ
MEASURABLE – วัดผลได้ มีความหมาย มีแรงจูงใจ
ACHIEVABLE – ลงมือทำได้จริง สามารถทำได้สำเร็จ
RELEVANT – มีความเกี่ยวเนื่องกัน มีเหตุผล มีทรัพยากร ตั้งอยู่บนฐานผลลัพธ์ที่เป็นไปได้
TIME BOUND – กำหนดเวลาได้

อย่างไรก็ตาม นักคิดบางคนได้ขยายแนวคิดนี้เพื่อโฟกัสด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น SMARTER โดยรวมเอาการประเมินผล (EVALUATED) และการทบทวน (REVIEWED) เข้าไปด้วย

วิธีการใช้แนวคิด
SMART

นักธุรกิจชื่อ พอล เจ. เมเยอร์ นักเขียนและผู้ค้นพบแนวคิด ‘แรงจูงใจในความสำเร็จระดับสากล’ ซึ่งอธิบายลักษณะเฉพาะของ SMART Goals ในหนังสือของเขา ชื่อว่า “Attitude Is Everything: If You Want to Succeed Above and Beyond.” ไว้ดังนี้…


1. มีความเฉพาะเจาะจง (Specific)


เป้าหมายของคุณควรชัดเจนและมีความเฉพาะเจาะจง มิฉะนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถรวบรวมความตั้งใจ หรือรู้สึกถึงแรงจูงใจที่แท้จริงในการประสบความสำเร็จได้ เมื่อทำการร่างเป้าหมาย จึงควรตอบคำถาม 5 W นี้ให้ได้

  • WHAT – คุณต้องการประสบความสำเร็จเรื่อง อะไร?
  • WHY – ทำไม เป้าหมายนี้จึงมีความสำคัญ?
  • WHO – ใคร มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง?
  • WHERE – สถานที่ในการดำเนินการตั้งอยู่ ที่ไหน?
  • WHICH – ทรัพยากรหรือข้อจำกัด อะไรที่เกี่ยวข้อง?


ตัวอย่าง


ลองจินตนาการว่า คุณทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และต้องการขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็น “ฉันต้องการทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กร เพราะฉะนั้น ฉันต้องสร้างหน้าที่การงานและทีมที่ประสบความสำเร็จ”


2. วัดผลได้ (Measurable)


การมีเป้าหมายที่วัดผลได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณจะสามารถติดตามความคืบหน้าและยังคงมีแรงจูงใจต่อไปได้ การประเมินความคืบหน้าจะช่วยให้คุณสามารถโฟกัสที่เป้าหมาย เผชิญกับกำหนดเวลา รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

เป้าหมายที่วัดผลได้อาจเริ่มจากคำถามเหล่านี้…

  • มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
  • มีปริมาณมากแค่ไหน?
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จ?


ตัวอย่าง


คุณอาจวัดเป้าหมายในการได้รับทักษะสำหรับการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด จากการเข้าร่วมการอบรมที่จำเป็นจนเสร็จสิ้น หรือได้รับประสบการณ์จากงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาห้าปี


3. ลงมือทำได้จริง (Achievable)


เป้าหมายของคุณต้องมีความสมจริง สามารถทำให้สำเร็จได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เป้าหมายควรท้าทายความสามารถของคุณ แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้.. เมื่อคุณตั้งเป้าหมาย คุณอาจมองไปถึงโอกาส หรือทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อทำให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จในอนาคต

เป้าหมายที่ลงมือทำได้จริงมักจะเริ่มด้วยคำถาม เช่น
            – ฉันจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?
            – เป้าหมายนี้ตั้งบนฐานความเป็นจริงมากแค่ไหน เช่น ดูจากปัจจัยทางการเงิน เป็นต้น


ตัวอย่าง


คุณอาจต้องถามตัวเองว่า การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดนั้น อยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่ อาจมองจากคุณสมบัติ หรือประสบการณ์เดิมที่คุณมี เช่น

            – คุณมีเวลามากพอจะเข้าอบรมจนเสร็จสิ้นไหม?
– มีทรัพยากรที่จำเป็นหรือไม่?
– คุณสามารถที่จะทำมันได้หรือไม่?

 

4.มีความเกี่ยวเนื่องกัน (Relevant)

สำหรับขั้นตอนนี้ เป็นการทำให้แน่ใจว่า เป้าหมายนั้นเหมาะสมกับคุณและมีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย… อันเนื่องมาจากพวกเราทุกคนต่างต้องการการสนับสนุน ต้องการความช่วยเหลือในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ต้องสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าแผนของคุณจะผลักดันคนอื่น ๆ ไปข้างหน้า และคุณก็ต้องรับผิดชอบความสำเร็จของเป้าหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน…

การหาว่าเป้าหมายนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ คุณต้องตอบ “ใช่” จากคำถามต่อไปนี้…

  • มันดูคุ้มค่าหรือไม่?
  • ถูกช่วงเวลาแล้วใช่ไหม?
  • มันตรงกับความต้องการอื่น ๆ หรือไม่?
  • ฉันคือคนที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ใช่ไหม?
  • เป้าหมายนี้สามารถเป็นไปได้ในสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมปัจจุบันหรือไม่?


ตัวอย่าง


คุณอาจต้องการเพิ่มพูนทักษะเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กรของคุณ แต่นี่คือเวลาสำหรับการเข้าร่วมอบรมหรือยัง? หรือจะเลือกเพิ่มเติมคุณสมบัติที่จำเป็นก่อน? คุณแน่ใจแล้วใช่ไหมว่า ตัวเองเหมาะกับบทบาทหัวหน้าฝ่ายการตลาด? คุณพิจารณาเป้าหมายของคู่สมรสบ้างหรือไม่?


5. ผูกพันกับเวลา (Time-bound)


ทุก ๆ เป้าหมายต้องการกำหนดเวลา ดังนั้น คุณต้องตั้งเส้นตายในการทำเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองโฟกัสในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า หัวข้อนี้ของ SMART Goals จะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญสำหรับเป้าหมายระยะยาวได้

การกำหนดเวลามักถามด้วยคำถามเหล่านี้…

  • เมื่อไหร่?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกเดือนต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกสัปดาห์ต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในวันนี้?


ตัวอย่าง


การเพิ่มพูนทักษะสำหรับเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดอาจต้องการการฝึกฝนหรือประสบการณ์ ตามที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น?

หากคุณต้องการเข้าอบรม คุณก็ต้องทดสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติหรือไม่ มันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องให้กรอบเวลาตามความเป็นจริงสำหรับทำเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ ๆ ต่อไป

ข้อดีและข้อเสีย


SMART นั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้คุณมองเห็นเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน สามารถโฟกัสกับจุดมุ่งหมายและมีแรงจูงใจเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความสามารถ เพิ่มแรงใจในการกำหนดวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และกำหนดวันที่ต้องการให้สำเร็จอีกด้วย… ทุกคนสามารถนำหลัก SMART Goals ไปปฏิบัติตามได้ง่ายในทุกที่ โดยไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ หรือการฝึกฝนใด ๆ มาก่อน

แต่การตีความได้หลากหลายของ SMART อาจทำให้สูญเสียประสิทธิภาพ หรือเกิดการเข้าใจผิดในความหมายที่แท้จริงได้ อีกทั้งบางคนก็มีความเชื่อว่า SMART ไม่เหมาะกับเป้าหมายระยะยาว เพราะขาดความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์

เคล็ดลับ


SMART เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการวางแผน หรือการตั้งเป้าหมาย ในขณะที่มีการตีความเรื่องอักษรย่อที่หลากหลาย ทั้งความเฉพาะเจาะจง การวัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน และเรื่องความผูกพันกับเวลา

เมื่อคุณใช้แนวคิด SMART คุณสามารถสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถทำได้จริง และมีความหมายขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาแรงจูงใจ แนวทางปฏิบัติ และการสนับสนุนที่ต้องการเพื่อทำให้สำเร็จได้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน


บางครั้งคุณอาจฝันบ่อย ๆ ว่าอยากไปเที่ยวรอบโลก แต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง คุณอาจบอกตัวเองว่า เป็นเพราะคุณไม่มีเวลา หรือเงิน และบางทีอาจผลัดไปเป็นปีหน้า

ลองตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals เพื่อช่วยให้เป้าหมายการท่องเที่ยวของคุณมีความเจาะจงมากขึ้น สามารถวัดผลได้ ทำได้จริง มีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ และผูกพันกับกำหนดเวลา

คุณอาจพบเหตุผลที่แท้จริง ว่าทำไมคุณถึงไม่เคยได้ออกเดินทาง… นั่นอาจเพราะแผนการของคุณไม่ชัดเจน หรือเกินจริงมากไป ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้เข้ากับแนวคิด SMART Goals และนี่คือ ตัวช่วยที่จะทำให้ความฝันของคุณเป็นจริง…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

5 เคล็ดลับ ทะยานสู่ระดับ Top ในที่ทำงาน

5 เคล็ดลับ ทะยานสู่ระดับ Top ในที่ทำงาน

มนุษย์เงินเดือนทุกคนล้วนอยากเป็นที่รักของทั้งหัวหน้า ลูกน้อง และเพื่อนร่วมงาน และบ่อยครั้ง ก็อยากทำงานได้โดดเด่น เป็นระดับ TOP ในที่ทำงาน…

และหลายต่อหลายคนมักคิดว่า ความสามารถของคนระดับ Top นั้น เป็นเพราะ “เขามีพรสวรรค์”

ความเชื่อแบบนี้ทำให้คุณหยุดพัฒนาการทำงานของตัวเอง ตามมาด้วยอาการหมดหวังต่อความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ จนอาจกลายเป็นสภาวะเบื่องาน ในที่สุด

ทั้งที่ความจริงแล้ว พนักงานระดับ Top 5 ไม่ได้มีสิ่งใดเหนือกว่าพนักงานโดยส่วนใหญ่ อาจจะต่างกันเพียงแค่พรสวรรค์ข้อเดียวเท่านั้น นั่นคือ “พรสวรรค์ในการเรียนรู้เร็ว”

โชคดี พรสวรรค์นี้เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ง่าย ๆ และ ต่อไปนี้คือ 5 เคล็ดลับ ที่จะทำให้คุณมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว”

1. สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ

ขั้นตอนแรกของการเรียนรู้ ไม่ใช่การฟัง หรือการอ่าน แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้… สภาพแวดล้อมเงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวนดึงความสนใจของคุณจากสิ่งที่กำลังเรียนรู้ จะช่วยให้จิตใจเกิดสมาธิ

TIP : ควรให้ความสำคัญกับการจัดโต๊ะทำงานและบริเวณโดยรอบ ให้อยู่ในบรรยากาศเงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวน ควรปิดเสียงเครื่องมือสื่อสาร และไม่ควรตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ควรเก็บไว้ในลิ้นชัก จะได้ไม่รบกวนสายตา ส่งผลดีต่อการสร้างสมาธิในการทำงานได้มากกว่า

2. ใช้จิตนาการช่วยในการเรียนรู้

ทฤษฎีทางจิตวิทยา สรุปไว้ว่า “มนุษย์เรียนรู้และจดจำเป็นภาพ มิใช่คลื่นเสียง หรือตัวอักษร” ดังนั้น ก่อนจะเรียนรู้งานเรื่องใด ให้คุณลองจินตนาการว่า… เมื่อคุณได้รับความรู้นั้นแล้ว จะนำไปทำอะไรบ้าง? ในขณะฟัง หรืออ่าน ให้ค่อย ๆ ลำดับความคิดเป็นภาพ

วิธีการนี้เป็นการเปิดจิตใต้สำนึกให้ค่อย ๆ ดูดซับความรู้ใหม่เข้าไว้ในความทรงจำ นอกจากนี้ การทบทวนความรู้ใหม่ในตอนกลางคืน โดยเฉพาะ 30 นาที ก่อนนอน ยังช่วยให้จิตใต้สำนึกจดจำภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถประมวลผล เพื่อดึงกลับมาใช้ได้อย่างแม่นยำในวันหน้า

TIP : ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานที่ไม่เคยทำ ก่อนจะบ่นว่ายาก ให้เปลี่ยนเป็นการฝึกตั้งคำถามกับตัวเอง ว่างานชิ้นนี้องค์กรจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง? เราจะได้เรียนรู้สิ่งใดจากงานชิ้นนี้? เราจะทำงานชิ้นนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร?

3. จดบันทึกสั้น ๆ



รูปแบบการเรียนรู้หลัก ๆ ที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เป็นทารก คือ เรียนรู้จากการฟัง (AUDITORY) และเรียนรู้จากการมองเห็น (VISUAL) ซึ่งการเรียนรู้จากการมองเห็นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟัง เนื่องจากเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมอง มีจำนวนมากกว่าเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูกับสมอง ถึง 22 เท่า

แต่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด กลับเป็นการเรียนรู้จาก “การใช้มือเขียนบันทึกข้อมูล หรือการโน้ตย่อ” เพราะช่วยให้เส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองกับตา และสมองกับหู สามารถทำงานไปพร้อม ๆ กัน

กล่าวคือ ในระหว่างคุณจดบันทึกข้อความ สมองของคุณจะเห็นภาพ และได้ยินเสียงเกี่ยวกับข้อมูลที่กำลังจดบันทึกในเวลาเดียวกัน… “การจดบันทึก” จึงเป็นเสมือนทางลัดที่ใช้ในการส่งข้อมูลความรู้เข้าไปจัดเก็บไว้ในคลังสมอง

TIP : ฝึกจดบันทึกประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากงานชิ้นใหม่ ๆ ที่เพิ่งเคยทำ หรืองานชิ้นเดิม ๆ ที่เคยทำผิดพลาด รายละเอียดของงานในแต่ละขั้นแต่ละตอน หมั่นนำมาอ่านทบทวนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสะสมความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง ไว้ในคลังสมอง

 

4. แบ่งปันความรู้ใหม่กับผู้อื่น



สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียนรู้ กว่า 90 % ไม่ว่าจะมาจากการฟัง การอ่าน หรือการเขียนก็ตาม จะคงอยู่ในสมองได้ไม่นานนัก

หากคุณไม่รีบนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สมองจะสั่งการว่า สิ่งนั้นไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคุณ และจะค่อย ๆ โละความรู้นั้นทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นภาระสมอง

ดังนั้น วิธีการง่ายที่สุดในการเก็บความรู้ใหม่ให้คงอยู่ในคลังสมองตลอดไป คือ การพูดคุยเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ ให้แก่คนในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น เพื่อน คนรัก พี่น้อง ซึ่งจะเป็นการย้ำเตือนกับสมองว่า เรื่องที่แบ่งปันเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ห้ามลบทิ้งโดยเด็ดขาด!

TIP : หาเวลาว่างสักวันละ 5 นาที พูดคุยเรื่องราวดี ๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน แทนการสุมหัว ตั้งวง บ่น นินทา เม้าท์มอย ฯลฯ

5. ดื่มน้ำและออกกำลังกายสม่ำเสมอ

วิธีนี้เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากสมองส่วนหน้าของมนุษย์ทำหน้าที่เรียนรู้และจดจำ ดังนั้น สมองส่วนหน้าจึงมีความต้องการใช้ออกซิเจนในเลือดในปริมาณที่เพียงพอ

การดื่มน้ำและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการส่งเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้อย่างทั่วถึง จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสมองอัจฉริยะ

TIP : บนโต๊ะทำงานของคุณ ควรมีกระติกน้ำ หรือขวดน้ำที่มีความจุประมาณ 1 ลิตร ตั้งไว้ เพื่อเป็นการเตือนความจำให้คุณค่อย ๆ หยิบมาจิบไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั่งทำงาน 8–10 ชั่วโมง และหลังเลิกงาน ควรจัดสรรเวลาออกกำลังกาย อย่างน้อยวันละ 15–30 นาที

ถ้าคุณสามารถทำได้ตามเคล็ดลับง่าย ๆ ทั้ง 5 ข้อ คุณจะได้เรียนรู้ว่า “พรสวรรค์ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด” อันที่จริงแล้ว “พรสวรรค์เป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาสรรค์สร้าง” และการพัฒนาสรรค์สร้างที่ดีที่สุด ก็คือ “การให้เวลากับการเรียนรู้”

อย่าลืมใส่ใจดูแลสมองและร่างกาย ให้พร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงานให้พุ่งทะยานสู่อันดับ Top ในที่ทำงานกันนะครับ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

อยากเพิ่มความมั่นใจในที่ทำงาน ทำยังไงดี!?

อยากเพิ่มความมั่นใจในที่ทำงาน ทำยังไงดี!?

ในแต่ละวันของการทำงาน คุณเคยจู่ ๆ ก็รู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาบ้างไหม?

และถ้าคุณกำลังมีอาการขาดความมั่นใจในที่ทำงาน หรือมีความกังวลว่า จริง ๆ แล้วคุณอาจไม่เหมาะที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้ เพราะอาจมีความคิดแวบขึ้นมาว่า คนรอบข้างฉลาดกว่าคุณ พร้อมกว่าคุณ ขณะเดียวกันหัวหน้าก็คอยจ้องจับผิดคุณอยู่ตลอดเวลา

อย่าปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านี้อยู่กับคุณนานเกินไป ลองเติมความมั่นใจให้ตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้ดูนะคะ…

1. ทำความเข้าใจกับเรื่องไร้สาระ

ไม่มีใครเหมาะสม หรือดีพร้อมไปทุกอย่างหรอกค่ะ บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การนินทา การพูดคุยลับหลัง เพราะถ้ามองว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ มันก็จะสำคัญ แต่ถ้าลองทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น พูดคุยกับตัวเองมากขึ้น ให้กำลังใจตัวเอง “การคิดดี” จะช่วยทำให้คุณเรียนรู้และเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

2. เพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง

เพิ่มเติมความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงาน ด้วยการอ่านหนังสือ หรือค้นหางานวิจัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีตรรกะเหตุและผล ความคิด เรียนรู้วิธีการและเข้าใจขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงกระบวนการทำงานที่ดี ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวคุณได้อย่างรวดเร็ว

3. กล้าตั้งคำถามให้มากขึ้น

อย่ากลัวที่จะซักถามเมื่อคุณไม่รู้ ความกลัวนี่ล่ะที่จะทำให้คุณไม่กล้าตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ เพราะคุณจะรู้สึกตลอดเวลาว่าไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอย่างแท้จริง ดังนั้น หากคุณไม่แน่ใจในวิธีการทำงานบางอย่าง ก็ควรที่จะซักถามในสิ่งที่คุณสงสัย นอกจากจะช่วยให้มีความรู้เพิ่มขึ้นแล้ว คุณยังมีความมั่นใจและกล้าพูดคุยกับคนรอบข้างมากขึ้นด้วยค่ะ

4. เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

คงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง หากคุณมัวแต่คร่ำครวญว่าคุณทำไม่ได้! จงตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง และเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า จะต้องไปถึงสิ่งนั้นให้ได้ด้วยการเพิ่มความมั่นใจในความสามารถของคุณ เพื่อความสำเร็จของตัวคุณเอง และเพื่อโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพของคุณ… เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณประสบความสำเร็จแล้วครั้งหนึ่ง ให้นึกถึงความสำเร็จนั้น เพื่อเป็นแรงผลักดันสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง…

5. สนุกกับชีวิตในทุก ๆ วัน

ไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่คุณจริงจังกับชีวิตมากเกินไป! แน่นอนว่าคุณต้องการทำผลงานให้ออกมาดี แต่คุณก็ยังสามารถสนุกกับงาน มีความสุขกับชีวิตในขณะที่คุณกำลังทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ด้วยได้นะคะ ลองเรียนรู้ที่จะหัวเราะกับความพ่ายแพ้และความผิดพลาดของคุณ มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ขัน จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในตัวคุณ และช่วยให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นค่ะ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save