วิธีเอาชนะความกลัว เมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง

วิธีเอาชนะความกลัว เมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง

          คนส่วนใหญ่ล้วนอยากได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ใช่ไหมคะ? เพราะนั่นหมายถึงฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น มีลูกน้องเพิ่มขึ้น มีคนนับหน้าถือตามากขึ้น แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้ว กลับมีหลายคนรู้สึกกลัวและกังวลใจ เมื่อนึกถึงภาระงานที่เพิ่มขึ้น งานหนัก เหนื่อย และยากมากขึ้น เลยพาลให้รู้สึกหวาดหวั่นว่าจะทำไม่ได้

แต่คุณลองคิดดูสิคะ ว่าจะมีสักกี่คนในบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจ และโอกาสอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ ดังนั้น เพื่อให้คุณรับตำแหน่งใหม่ได้อย่างมั่นใจ… เรามีวิธีเอาชนะความกลัว เมื่อรับตำแหน่งใหม่มาฝากกันค่ะ

1. ปลุกความกล้าในตัวคุณ

คนส่วนใหญ่เมื่อต้องรับตำแหน่งใหม่ จะคาดการณ์ไปก่อนว่าเป็นงานยาก หนัก และเหนื่อย ทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาและลงมือทำเลย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะเข้าใจรายละเอียดงานเบื้องต้นแล้ว ก็ยังคิดว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะทำงานนั้นได้ จึงเกิดความกลัว ขาดความมั่นใจในตัวเอง และพาลไม่อยากรับตำแหน่งใหม่

แต่คุณรู้ไหมคะว่า ความคิดเช่นนี้เป็นเหมือนหลุมพรางที่ฉุดรั้งความก้าวหน้า ทำให้คุณพลาดโอกาสดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ถ้าคุณมัวแต่คิดว่าตนเองไม่พร้อม คุณก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้นทำอะไรเลย และนั่นจะทำให้คุณแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มค่ะ

คุณควรคิดว่าการลงมือทำจะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ 50% แต่หากคุณกลัวความล้มเหลวจนไม่กล้าทำอะไรเลย โอกาสความสำเร็จของคุณจะเท่ากับ 0% ดังนั้น เมื่อคุณรู้แบบนี้แล้ว ก็อย่ารีรอที่จะสู้ และลงมือทำค่ะ

2. เชื่อมั่นและมองเห็นคุณค่าในตัวเอง

การที่หัวหน้ามอบตำแหน่งใหม่ให้คุณ แสดงว่าเขาเล็งเห็นศักยภาพ มั่นใจในความสามารถของคุณที่จะทำงานได้สำเร็จ ในเมื่อคนอื่นไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวคุณขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะดูถูกความสามารถของตัวเองค่ะ

ลองทบทวนดูว่าคุณมีจุดดี-จุดเด่นอะไรบ้าง เช่น เป็นคนตรงเวลา ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบ หรือรู้จักเพื่อนร่วมงานมากมาย นอกจากนี้ คุณอาจย้อนนึกถึงผลงาน หรือความภาคภูมิใจที่คุณเคยทำสำเร็จในอดีต สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่คุณสั่งสมมา พร้อมจะเป็นแรงผลักให้คุณพัฒนาต่อไป

และแม้ว่าคุณจะเคยทำความผิดพลาดในอดีต ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่นะคะ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง จงนำมันมาเป็นบทเรียน ปรับปรุง และหมั่นฝึกฝนตนเอง อย่าเสียเวลาคร่ำครวญกับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่คุณควรสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่สวยงามค่ะ

3. เลิกเครียดและกดดันตัวเอง

ทุกคนล้วนต้องการความก้าวหน้าในที่ทำงาน แต่เมื่อถึงเวลาที่คุณต้องรับตำแหน่งใหม่จริง ๆ คุณกลับรู้สึกกังวล เครียด และกดดัน คุณอาจกลัวกับการเปลี่ยนแปลง และไม่อยากปรับตัว… ความเครียดและแรงกดดันเกิดขึ้น เพราะคุณรู้สึกว่าต้องทำงานที่คนอื่นมอบหมาย คุณจึงทำอย่างไม่เต็มใจ นั่นจะทำให้คุณไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าที่ควรจะเป็นค่ะ          

ดังนั้น ขอแค่ปรับทัศนคติของตนเองซะใหม่ คิดว่างานที่ได้รับมอบหมายเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้พิสูจน์และพัฒนาฝีมือตัวเอง มองงานให้เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เปลี่ยนแรงกดดันเป็นพลังผลักดันให้คุณสร้างสรรค์สิ่งที่ดีในอนาคต

4. เลือกมองแต่ด้านดี

ตำแหน่งใหม่มักมาพร้อมกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทำงานหนักขึ้น เหนื่อยขึ้น ประชุมทั้งวัน รายงานความคืบหน้าให้หัวหน้ารับทราบ มอบหมายงานให้ลูกน้องปฏิบัติ และตรวจสอบความถูกต้อง เป็นต้น

แค่คิดก็เหนื่อยแล้วใช่ไหมคะ อาการท้อแท้กับงานส่วนใหญ่เป็นเพราะคุณมองเห็นแต่อุปสรรค หรือปัญหาที่เกิดขึ้น มากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานที่รับผิดชอบค่ะ นั่นหมายความว่า หากคุณเห็นประโยชน์มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ลองถามตัวเองดูสิคะว่า ตำแหน่งใหม่ของคุณมีข้อดีอะไรบ้าง? ทำให้คุณได้พัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง? ทำให้ได้รู้จักเพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ ใครบ้าง?

เมื่อคุณรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ คุณจะเกิดความรู้สึกเชิงบวก และมองเห็นว่างานนั้นน่าสนใจ มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อชีวิตค่ะ

5. เพิ่มพูนทักษะ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

ตำแหน่งงานใหม่จะยากสักแค่ไหน แต่ถ้าคุณมีความรู้ความสามารถ ก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายทันที ดังนั้น ก่อนรับตำแหน่งใหม่ คุณจำเป็นต้องเข้าใจเนื้องาน และพัฒนาทักษะตนเองให้เหมาะสมกับงานที่ได้รับมอบหมาย คุณต้องทราบว่างานใหม่เป็นงานประเภทไหน เช่น งานวิเคราะห์ งานติดต่อประสานงาน งานเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณทราบแล้ว คุณจะได้พัฒนาทักษะของตนเองให้ตรงจุด เพื่อที่จะรับมือกับงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสามารถเลือกวิธีพัฒนาตนเองได้มากมาย เช่น สังเกตคนที่ทำมาก่อน อ่านหนังสือ สอบถามผู้รู้ หรือลงเรียนคอร์สอบรมต่าง ๆ เมื่อคุณมีทักษะเพิ่มขึ้น คุณจะรู้สึกมั่นใจ ลงมือทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และอนาคตในการทำงานของคุณจะสดใสรุ่งโรจน์แน่นอนค่ะ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ประชุมงานอย่างไร ให้ได้งาน

ประชุมงานอย่างไร ให้ได้งาน

เหล่ามนุษย์งานทั้งหลาย เคยเบื่อการประชุมบ้างไหมคะ?

          เชื่อว่ามีหลายคนยกมือสนับสนุนขึ้นสุดแขน! แต่ถึงอย่างไรในชีวิตการทำงานของเราคงหนีไม่พ้นต้องประชุม ใช่ไหมคะ… คงไม่ดีแน่ ถ้าคุณนั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ในห้องประชุมครึ่งค่อนวันอย่างไม่มีความสุข เพราะเท่ากับว่าคุณกำลังปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าหมอง ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคุณย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

แต่ไม่ต้องกลุ้มใจไปค่ะ วันนี้ เรามีเทคนิคดี ๆ ที่จะทำให้การประชุมไม่น่าเบื่ออีกต่อไป มาฝากกันค่ะ

1. ประเด็นต้องชัดเจน

คุณเคยเข้าประชุมแล้วออกมาแบบงง ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมคะ พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็หมดไปกับการนั่งเหม่อลอยมองคนอ่านพรีเซนต์ ฟังคนเถียงกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุม หากใครเคยประสบพบเจอปัญหาดังกล่าว แสดงว่าการประชุมไม่ได้ผล และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ เพียงแค่คุณตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมจึงมีการจัดประชุม? เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การประชุมคืออะไร? ถ้าคุณตอบได้ การประชุมของคุณจะกระชับ ตรงประเด็น และได้ผลค่ะ

แต่หากคุณเอะอะก็นัดประชุมทุกเรื่อง โดยไม่คัดกรองหัวข้อให้ดี ไม่วางแผนอย่างเป็นลำดับขั้น การประชุมก็จะเต็มไปด้วยความสับสน และนั่นทำให้คุณเสียเวลาประชุม แถมยังต้องกลับไปนั่งทำงานแบบไร้ทิศทางเสียด้วยซ้ำ

2. ผู้ร่วมประชุมต้องกล้าเสนอความเห็น

คุณอาจเคยชินกับบรรยากาศการเข้าประชุมที่มีแต่คนหน้าเดิม ๆ พูดแสดงความคิดเห็น ส่วนที่เหลือก็นั่งก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์บ้าง แสร้งทำเป็นจดบันทึกการประชุมบ้าง ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาบ้าง

ภาพแบบนี้ทำให้การประชุมไร้ชีวิตชีวาและผิดวัตถุประสงค์ของการประชุมค่ะ เพราะความสำคัญของการประชุม คือเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแผนงานและปฏิบัติงานอย่างมีเป้าหมายเดียวกัน

ดังนั้น การประชุมที่ดีต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ประธานควรดำเนินการประชุมอย่างกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่พูดระบายอารมณ์ของตนเองในที่ประชุม และควรเปิดใจรับฟังผู้เข้าร่วมประชุมโดยปราศจากอคติ

ด้านผู้เข้าร่วมประชุม ก็ไม่ควรนั่งฟังเฉย ๆ โดยไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แชร์ไอเดีย หรือไม่ร่วมกิจกรรมใด ๆ ให้คิดว่าการได้เข้าประชุม คือโอกาสดีที่ได้นั่งคุยกับเพื่อน ได้เห็นความคืบหน้าของงาน เพื่อที่ทีมจะได้มองเห็นภาพความสำเร็จร่วมกัน และช่วยกันสร้างสรรค์งานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

3. การนำเสนอต้องน่าสนใจ

ถ้าให้หลับตาและนึกถึงภาพ Presentation การประชุมที่บริษัท เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นภาพ Presentation ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือชวนง่วงนอน มิหนำซ้ำ ผู้พูดก็ยังนำเสนอข้อมูลด้วยน้ำเสียงโมโนโทน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะสัปหงก และเผลอหลับคาห้องประชุม

แต่ปัจจุบันนี้หมดยุคที่ผู้คนจะสื่อสารกันด้วยวิธีการแบบเดิม ๆ โลกหมุนเร็วกว่าที่คิด การใช้ข้อมูลจากตัวหนังสือประกอบการนำเสนอ เป็นสิ่งที่แสนน่าเบื่อและทำให้หัวใจห่อเหี่ยว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ทันสมัย ดึงดูดความสนใจให้มากขึ้น เช่น ใช้ Infographic, Video Clip หรือ Multimedia เริ่ด ๆ ประกอบการนำเสนอในที่ประชุม ลองทำดูนะคะ แล้วการประชุมของคุณจะ Work สุด ๆ เลยล่ะค่ะ

4. ความถี่การประชุมต้องเหมาะสม

ปัญหาที่หนุ่มสาวออฟฟิศต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันก็คือ ประชุมทั้งวันจนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น บางคนพูดติดตลกว่า “มีอาชีพรับจ้างประชุม” อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ว่าการประชุมที่ดีต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ใช่นึกอยากจะเรียกประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะหากประชุมพร่ำเพรื่อ ผู้เข้าร่วมจะไม่เห็นความสำคัญ และพาลไม่อยากเข้าประชุม

นอกจากนี้ ควรมีคนควบคุมเวลาไม่ให้การประชุมยืดยาวเกินไป เพราะสมาธิของคนเรามีจำกัด การประชุมเลยเวลา อาจทำให้ผู้เข้าประชุมไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเหนื่อยล้าและมึนงงกับชั่วโมงประชุมที่ยาวนานได้ค่ะ

5. ประชุมเสร็จต้องสรุปและติดตามผล

สิ่งสำคัญของการประชุม ก็คือต้องสรุปและติดตามผลการประชุม เพราะการเขียนสรุปการประชุมจะทำให้ผู้เข้าร่วมทราบว่า ผลของการประชุมคืออะไร? ใครต้องรับผิดชอบเรื่องใดต่อ?

ลองคิดดูนะคะว่า หากมีประเด็นถกเถียง โต้แย้ง หรือแชร์ไอเดียที่เป็นประโยชน์ในที่ประชุม แต่ไม่มีใครจดบันทึกเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนก็จะลืม และไม่ได้นำสิ่งที่ประชุมมาปฏิบัติต่อให้เป็นรูปธรรม ผลคือ การประชุมทั้งหมดสูญเปล่า

ในทางกลับกัน หากมีการจดบันทึกข้อคิดเห็นสำคัญ หรือมติที่ประชุม ทุกคนก็จะมีหลักฐานอ้างอิง สามารถยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานต่อไปได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การทำงานราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

8 ทักษะง่าย ๆ ที่หัวหน้างานควรรู้

8 ทักษะง่าย ๆ ที่หัวหน้างานควรรู้

หลายคนชอบคิดไปว่า “การเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องง่าย แค่ชี้นิ้วสั่งให้ลูกน้องทำงาน ทั้งยังมีอำนาจสามารถทำตามใจต้องการได้ทุกเรื่อง… แต่ความเป็นจริงแล้ว “หัวหน้าคือคนที่ทำงานหนัก แบกความรับผิดชอบไว้มากมาย ทั้งยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และครองใจลูกน้องได้ด้วย”

บทความนี้จะขอนำเสนอ 8 ทักษะง่าย ๆ ที่หัวหน้างานควรรู้” เพราะเมื่อคุณอ่านจบและทำตาม คุณจะพบว่า “ชีวิตการเป็นหัวหน้าของคุณดีขึ้น” คุณสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ลูกน้องจะรักคุณมากขึ้นด้วย…

1. เอ่ยคำ “ขอบคุณ” อย่างจริงใจ

หากคุณเป็นหัวหน้า คุณย่อมรู้ดีว่า ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีภารกิจต้องทำมากมาย ต้องประชุม ต้องทำงานร่วมกับทีม แก้ไขปัญหาต่าง ๆ แม้กระทั่งการตอบอีเมล… คุณต้องไม่ลืมว่า ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องเดินผ่านบันไดไปทีละขั้น ๆ และข้างทางยังต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า “การที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คุณไม่สามารถทำงานคนเดียว” ทุกคนที่แวดล้อมมีส่วนผลักดันและคอยสนับสนุนคุณอยู่เสมอ ดังนั้น คุณควรกล่าว “ขอบคุณ” พวกเขาเป็นการตอบแทน แม้สิ่งที่พวกเขาทำให้ อาจเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

หลายองค์กรคิดว่าการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานในรูปแบบตัวเงิน โบนัส และสวัสดิการ ก็น่าจะเพียงพอ… แต่คุณลองคิดดูว่า หากคุณทำสิ่งดี ๆ ให้ใครสักคน แล้วเขารู้สึกได้ถึงความปรารถนาดีของคุณ เขาซาบซึ้งใจและกล่าวขอบคุณ สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือรางวัลใด ๆ เป็นการตอบแทน…

หัวหน้างานก็เช่นกัน หากลูกน้องทำสิ่งต่าง ๆ ให้ คุณควรกล่าวขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารับรู้ว่า “คุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ” และพวกเขาก็จะประทับใจในตัวคุณ

2. จัดเวลาคุยกับทีม อย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

ไม่ว่าคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณควรมีเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ในการพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับทีมงาน คุณควรสอบถามความก้าวหน้าของงานเป็นระยะ ๆ เพื่อจะได้รู้ว่าพวกเขาประสบปัญหา หรือติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่…

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า “คุณดูแลเอาใจใส่ ไม่ทิ้งให้พวกเขาอยู่ลำพัง” และคุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากคุณมีเวลาว่างมากกว่านั้น คุณอาจถามถึงเรื่องสารทุกข์สุกดิบอื่น ๆ เช่น เรื่องท่องเที่ยว, ชีวิตครอบครัว, งานอดิเรก, ข่าวสารบ้านเมือง…

หากคุณให้ความเป็นกันเอง พยายามพูดคุยสื่อสาร เข้าหาพนักงานในความดูแล จะช่วยลดช่องว่างระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่เครียด ไม่อึดอัด และสามารถทำงานกับคุณได้อย่างสบายใจ

3. มอบหมายงานอย่างเหมาะสม

คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน? ระหว่างหัวหน้าที่ทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด หรือหัวหน้าที่กระจายงานให้กับลูกทีม…

หากคุณเป็นประเภทแรก คุณจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่น และบางครั้ง คุณอาจส่งงานไม่ทันตามกำหนดเวลา ในทางกลับกัน หากคุณเป็นหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณจะมอบหมายงานต่าง ๆ ให้ลูกทีม โดยคุณเป็นผู้ติดตาม ตรวจทาน และเสนอแนะวิธีแก้ไข

หัวหน้างานที่ดี คือหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณควรสอนให้พวกเขาทำงานเป็น เพราะหากไม่มีคุณ ลูกทีมก็ยังสามารถสานต่อและรับผิดชอบงานแทนได้… วิธีนี้คล้ายกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าให้ปลาเขา เขาจะมีกินแค่วันนี้ แต่ถ้าคุณสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลากินไปชั่วชีวิต”

นอกจากนี้ การมอบหมายงานยังทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลา และมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว คุณก็ควรเป็นผู้ฝึกสอน คอยให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาพบเจออุปสรรคในการทำงานด้วย

4. เลิกงานตรงเวลา

Work-Life Balance เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน กล่าวคือ พนักงานจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย ดังนั้น คุณไม่ควรโหมทำงานหนักจนเกินไป คุณควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนหรือดูแลตัวเองบ้าง เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นกับการทำงาน สุขภาพของคุณก็จะแย่ และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา

นอกจากนี้ การที่คุณซึ่งเป็นหัวหน้างาน กลับบ้านดึก เพราะเอาแต่ทำงาน ถือเป็นการกดดันลูกน้องทางอ้อม ให้พวกเขากลับบ้านดึกเหมือนคุณ เพราะลูกน้องจะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องกลับบ้านก่อนหัวหน้า ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานตึงเครียด อึดอัด ไม่มีชีวิตชีวา… ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเป็น Role Model ด้วยการเลิกงานให้ตรงเวลา และบริหารจัดการงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ

5. ตรวจเช็คอีเมลก่อนส่งทุกครั้ง

จะเกิดอะไรขึ้น หากคุณรีบร้อนส่งอีเมลออกไปโดยไม่ตรวจทาน แน่นอนว่าคุณต้องพบกับความผิดพลาดด้านเนื้อหา หรือการใช้ภาษาผิด คุณอาจคิดว่าความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ แต่จริง ๆ แล้ว มันทำให้ “ภาพลักษณ์ของคุณ เป็นคนที่ไม่ละเอียดรอบคอบ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ” ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งอีเมลทุกครั้ง ควรตรวจทานให้ดี

6. สื่อสารระหว่างกันและกันตลอดเวลา

“เป้าหมาย” เป็นสิ่งสำคัญเมื่อต้องทำงานเป็นทีม เพราะหากทุกคนไม่เห็นเป้าหมายเดียวกัน ย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง หัวหน้ามีเป้าหมายในการทำกำไรให้บริษัท แต่ลูกน้องมีเป้าหมายในการหาเลี้ยงครอบครัว…

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย และสามารถทำตามความต้องการของตน คุณจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้สื่อสารบ้าง กล่าวคือ หัวหน้าที่ดีต้องใช้การสื่อสารแบบ Two-Way Communication ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ไม่ดีจะใช้การสื่อสารแบบ One-Way Communication เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการให้ลูกน้องเข้าใจคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจลูกน้องก่อน และทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

7. ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

หัวหน้าไม่จำเป็นต้องตอบรับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลูกน้อง เพราะหากคุณทำเช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะถาโถมเข้าหาคุณ ดังนั้น หากมีสิ่งที่เกินกำลัง หรือคุณไม่สามารถทำได้ คุณควรปฏิเสธ ดีกว่าจะรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของหัวหน้า ควรเป็นการปฏิเสธที่มีศิลปะ คุณควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และอย่าลืมรักษาน้ำใจคนฟังด้วย

8. ควบคุมอารมณ์ และให้เกียรติลูกน้อง

หากคุณเจอะเจอปัญหาในออฟฟิศ ทำให้หัวเสีย โมโห หรือส่งผลให้อารมณ์ไม่ดี จงจำให้ขึ้นใจว่า “การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์อันใด” และจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น วิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจผลงานของลูกน้อง หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น คุณต้องตั้งสติ พยายามระงับความเดือดดาลภายในใจ และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างให้เกียรติ… อย่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ตะโกน หรือตะคอกใส่ผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบพฤติกรรมเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND


ปล. ไม่ว่าคุณจะเป็น Old Boss หรือ New Leader ทักษะที่สำคัญในการนำทีม ในยุคนี้ มี 3 ประการ คือ Mindset Performance Teamwork 

การช่วยให้ทีมงาน รับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก หากคุณมีทักษะของผู้นำยุคใหม่ครบ 3 ข้อ ซึ่งผมได้รวบรวมไว้ในหลักสูตร “THE NEW LEADERSHIP SKILL – สู่การเป็นผู้นำยุคใหม่” คลิกอ่านที่นี่ครับ

บุคลิกพนักงานน้องใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างหลงรัก

บุคลิกพนักงานน้องใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างหลงรัก

          สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งก้าวเท้าเข้าสู่สังคมคนทำงาน หลายคนอาจพบเจอแววตาของพี่ ๆ ในออฟฟิศ ซึ่งมองว่าเป็นเด็กกะโปโล ความรู้ความสามารถยังด้อยเมื่อเทียบกับรุ่นพี่ และอาจมีบางคนสบประมาท ว่าคงทำอะไรไม่เป็น…

เหตุการณ์เช่นนี้ช่างทรมานใจยิ่งนัก เพราะมันทำให้น้อง ๆ รู้สึกประหม่า จนไม่สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อมีอายุงานมากขึ้น… เรามีเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว มานำเสนอให้อ่านกันค่ะ…

1. แต่งกายให้เข้ากับบุคลิก

หากน้อง ๆ ต้องการดูเป็นมืออาชีพ ก็ต้องแต่งตัวอย่างมืออาชีพ.. เริ่มแรกอาจต้องมองซ้ายแลขวาไปยังรุ่นพี่ในบริษัท คนที่น้อง ๆ เห็นตั้งแต่แวบแรกว่าเขาหรือเธอเป็นคนเก่ง แล้วลองประยุกต์การแต่งกายของพวกเขาให้เข้ากับบุคลิกของน้อง ๆ

นอกจากนี้ อาจต้องลองปรับเปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยทำให้น้อง ๆ ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น… สำหรับผู้หญิง อาจทำทรงผมรวบตึงที่ช่วยให้ดูมีบุคลิกภาพทะมัดมะแมง เลือกใส่รองเท้าส้นสูง และทาลิปสติกสีสุภาพ… สำหรับผู้ชาย ควรตัดผมสะอาดสะอ้าน สวมเสื้อผ้าโทนสีสุภาพ และไม่สวมนาฬิกาหรือเครื่องประดับแฟชั่นให้ดูเว่อร์เกิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นทางการ หรือดูโตเกินกว่าวัย ทางที่ดีที่สุดคือ เลือกปรับบางสิ่งบางอย่างโดยไม่หลุดความเป็นตัวเองค่ะ

2. เรียนรู้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

หนทางก้าวไปสู่โลกของมืออาชีพ ย่อมเต็มไปด้วยขวากหนาม ยิ่งเมื่อได้พบเจอคนที่มีชั่วโมงบินสูงกว่า แน่นอนว่าน้อง ๆ อาจรู้สึกกลัว ประหม่า หรือไม่มั่นใจในตนเอง ทางเดียวที่จะเอาชนะปัญหานี้ได้ คือการเรียนรู้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสื่อสาร

หากน้อง ๆ ไม่รู้ว่าจะพูดโต้ตอบคู่สนทนา หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ กับผู้ใหญ่กว่า อย่างไร? ให้ลองใช้บทสนทนาสมมุติ สิ่งนี้คล้าย ๆ กับการฝึกท่องจำบทสนทนาต้นแบบในหนังสือเรียน และสุดท้ายก็จะยึดถือเป็นต้นแบบในชีวิตจริง.. การทำเช่นนี้จะทำให้มีความกล้าและมั่นใจมากยิ่งขึ้น

3. เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง

จุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงานได้ ก็คือความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง น้อง ๆ อาจลองจินตนาการสร้างภาพ ว่าตนเองเป็นบุคคลที่ทุกคนยอมรับและไว้วางใจ เมื่อมีความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ก็จะมีพลังในการสร้างสรรค์ และเมื่อน้อง ๆ สามารถนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรอบข้าง เมื่อนั้น จะเป็นการเปิดประตูให้ผู้อื่นมองเห็นทักษะความสามารถที่แท้จริงในตัวน้อง ๆ แล้วรุ่นพี่ในที่ทำงานก็จะลืมเรื่องอายุงานไปเลย

4. สังเกตวิธีการซักถาม

ผู้ที่มีความเป็นผู้ใหญ่และเป็นมืออาชีพ คือคนที่รู้จักการตั้งคำถาม การตั้งคำถามไม่เพียงแต่ช่วยให้ดูเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ แต่ยังเป็นการแสดงความสนใจต่อคู่สนทนา นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่น้อง ๆ จะได้รับข้อมูลอย่างละเอียดอีกด้วย

แต่จงจำไว้ว่า การตั้งคำถามเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง น้อง ๆ ต้องรู้จักตั้งคำถามอย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการทราบข้อมูลบางอย่างจากหัวหน้างาน ให้ดูจังหวะที่หัวหน้าไม่ยุ่งมากจนเกินไป และควรเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การซักถามราบรื่น และไม่ทำให้หัวหน้ารู้สึกเสียเวลา

5. บริหารจัดการเวลาอย่างชาญฉลาด

หนึ่งในเทคนิคสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพนักงานน้องใหม่ ก็คือ การบริหารจัดการเวลาในที่ทำงาน หากมีงานชิ้นหนึ่งที่หัวหน้ามอบหมายให้คุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ทำเหมือน ๆ กัน แต่เมื่อถึงกำหนดส่ง ต่างคนก็ต่างส่งงานนั้น ๆ ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน หากเป็นเช่นนี้ หัวหน้าก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

ในทางกลับกัน หากใช้เวลาทำงานชิ้นนั้นรวดเร็วกว่าคนอื่น หรือทำงานชิ้นนั้นได้ดีและละเอียดกว่าคนอื่น นั่นแสดงว่าน้อง ๆ สามารถใช้เวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ คุณอาจต้องทุ่มเททำงานให้หนักขึ้น หากจะทำให้ส่งงานได้เร็วขึ้น หรืออาจเตรียมตัวก่อนการประชุมสักเล็กน้อย เพื่อให้การประชุมราบรื่น หรืออาจทำงานอย่างกระตือรือร้นโดยโต้ตอบอีเมล หรือรับโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สามารถทำให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของน้อง ๆ ยอมรับในการทำงานแบบมืออาชีพ และนั่นจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างได้ไม่ยาก

6. ใช้ความอ่อนเยาว์ให้เป็นประโยชน์

น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่า การที่มีอายุน้อยนั้นเป็นข้อดี เพราะน้อง ๆ จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีไอเดียแปลกใหม่กว่าคนที่ทำงานมานาน ดังนั้น เมื่อกล้าเสนอความคิดใหม่ ๆ ที่เพิ่งเรียนรู้มาจากรั้วมหาวิทยาลัย หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นคุณค่าในตัวน้อง ๆ และสิ่งนี้ส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมาก เพราะบริษัทต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น อย่ารอช้าที่จะเสนอไอเดียเจ๋ง ๆ ให้กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน รับรองว่าพวกเขาจะไม่สนใจอายุของคุณอีกเลย

ความเป็นมืออาชีพในขณะที่อายุยังน้อยนั้น เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก และถ้าน้อง ๆ สามารถผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้ มันจะกลายเป็นสิ่งล้ำค่า… ในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องยากลำบาก แต่จงจำให้ขึ้นใจว่า แม้ตอนนี้เรายังเด็ก แต่สักวันหนึ่ง เราจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทได้อย่างแน่นอน!

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

10 ทักษะบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ

10 ทักษะบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพ

“การบริหารเวลา” เป็นทักษะสำคัญต่อความสำเร็จ ทั้งในอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว เชื่อเถอะค่ะว่า ความสามารถในการบริหารจัดการเวลาของคุณในวันนี้ จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้ตลอดขีวิตเลยทีเดียวค่ะ… วันนี้เรามี “10 ทักษะ ที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการบริหารเวลาของคุณ” มาฝากกันค่ะ…

1. วางแผนเวลาทุกวัน

จัดสรรเวลาสักครึ่งชั่วโมง ไว้วางแผนเวลาทั้งวันของคุณทุกวัน ใช่ค่ะ มันอาจจะฟังดูแปลก ๆ ที่จะวางแผนในการวางแผน แต่การจินตนาการ หรือนึกถึงงานที่คุณตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องสำเร็จภายในวันนี้ และจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานแต่ละงาน จะสามารถช่วยให้คุณเห็นภาพความสำเร็จ และนึกภาพออกง่ายขึ้น ว่าควรจะทำอย่างไร

2. เผื่อเวลาให้กับสิ่งรบกวนต่าง ๆ

ทุกครั้งที่ทำการนัดหมาย หรือลงตารางเวลางาน อย่าลืมเผื่อเวลาสำหรับสิ่งรบกวนต่าง ๆ ที่จะหยุดการทำงานของคุณชั่วคราว ส่งผลให้คุณทำงานได้ช้าลง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ดัง มีงานด่วน หรืออีเมลที่ไม่คาดคิดอาจจะเข้ามามากมาย ถ้าคุณพยายามนัดหมายใครต่อใครแบบเวลาชนเวลาเป๊ะ ๆ โดยไม่ได้มีเวลาเว้นว่าง หรือเผื่อเวลาไว้บ้างเลย แน่นอนค่ะว่า คุณจะไม่สามารถทำตามทุกนัดหมายได้ทันเวลา

3. ถ้าไม่จำเป็นต้องตอบตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องตอบ

ยอมรับเถอะค่ะว่า คุณไม่สามารถรับโทรศัพท์ทุกสาย หรือตอบกลับทุกอีเมลได้ในทันที หากคุณจำเป็นต้องทำโปรเจคท์ หรืองานของคุณให้เสร็จจริง ๆ ก็จงปล่อยให้โทรศัพท์ดัง หรือปล่อยให้ไลน์ แชต หรือข้อความต่าง ๆ ดังไปก่อน อย่าตกอยู่ในกับดักของการโต้ตอบกับทุกสิ่ง ถ้ามันไม่ได้จำเป็นต้องมีการตอบรับจากคุณตอนนี้ ก็ยังไม่ต้องสนใจมันหรอกค่ะ

4. กำหนดเวลาการทำงานให้กับตัวเอง

ลองกำหนดเวลาการทำงานแต่ละชิ้นให้ตัวเองตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันไม่ให้งานของคุณลากยาวเกินไป เช่น หากคุณกำหนดไว้ว่า คุณต้องส่งอีเมลจำนวน x อีเมล ให้เสร็จภายในเวลา Y ชั่วโมง การที่คุณจะถูกดึงความสนใจไปที่งานอื่น ๆ ที่ยังไม่จำเป็นก็จะลดน้อยลงอีกไอเดียหนึ่งที่ดี คือการตั้งกำหนดเวลาเหล่านี้ในปฏิทินของคุณ เพื่อช่วยในการติดตาม และทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

5. สรุปคร่าว ๆ ทั้งก่อนและหลังการพูดคุย

ทุกครั้งก่อนการประชุม หรือการนัดหมาย หรือแม้แต่การคุยโทรศัพท์ ลองใช้เวลาสักนิดเพื่อคิดคร่าว ๆ สรุปในใจของคุณก่อนว่า สิ่งที่คุณต้องการจากการประชุม หรือนัดหมาย หรือการคุยในครั้งนี้ คืออะไร? วิธีนี้จะทำให้คุณเห็นภาพความสำเร็จก่อนที่จะเริ่มต้นลงมือทำ หลังการประชุม การนัดหมาย หรือการคุยโทรศัพท์

ลองใช้เวลาอีกสักนิดในการสรุป ว่าคุณได้อะไรจากการประชุม หรือการคุยครั้งนี้บ้าง วิธีนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นระหว่างการประชุม หรือการคุยของคุณ แต่ยังจะช่วยให้คุณมีประสิทธิภาพในการพูดคุยมากขึ้น และท้ายที่สุด คุณก็จะได้รับสิ่งที่คุณต้องการได้เร็วขึ้น

6. ทฤษฎี 80/20

“กฏแห่งทฤษฎีของพาเรโต้” ระบุว่า 80 เปอร์เซนต์ของความสำเร็จของคุณ มาจากกิจกรรม 20 เปอร์เซนต์ ในตลอดทั้งวันของคุณ พยายามลองนึกสิคะว่า กิจกรรมที่นับเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณ มีอะไรบ้าง? พยายามค่อย ๆ แทรกกิจกรรมเหล่านั้นเข้าไปในแต่ละวันของคุณ และค่อย ๆ เพิ่มเวลาให้กับมันมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่ะ

7. แบ่งงานให้คนอื่นบ้าง

บางคนอาจรู้สึกอึดอัด หรือไม่ค่อยถนัดในการมอบหมายงานต่าง ๆ ที่อยู่ในมือ ให้ลูกน้องหรือคนอื่น ๆ สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งดีในระยะยาวนะคะ สิ่งที่ดีกว่าคือ การค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะแบ่งงาน โดยเริ่มจากงานที่ไม่ค่อยสำคัญมากนัก ไปให้คนอื่นได้ทำบ้าง หรือจ้างคนอื่นที่เชี่ยวชาญกว่ามาทำ ในกรณีที่สามารถทำได้ดีกว่าค่ะ

8. ทำงานที่คล้าย ๆ กันในทีเดียว

รวบรวมงานที่คล้าย ๆ กัน มาทำพร้อมกันทีเดียว เช่น หากคุณต้องโทรศัพท์หาคนหลาย ๆ คนในวันนั้น ลองหาเวลาสักครู่ แยกตัวออกมาจากทุก ๆ งาน และคุยโทรศัพท์ให้เสร็จในทีเดียวไปเลยค่ะ

9. เด็ดขาดกับเวลาในการประชุม

คุณต้องเด็ดขาดกับการประชุม โดยต้องกำหนดวาระ หัวข้อการประชุม และกำหนดเวลาของแต่ละหัวข้อ อย่าปล่อยให้ผู้เข้าร่วมประชุมลากยาว หรือนอกเรื่องมากจนเกินไป มีสถิติว่า โดยเฉลี่ยแล้ว พนักงานออฟฟิศใช้เวลาอยู่ในห้องประชุมถึง 16 ชั่วโมง ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งโดยประมาณ 4 ชั่วโมง ใน 16 ชั่วโมงที่ว่านี้ ถือเป็นเวลาที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น คุณควรเอาเวลาที่สิ้นเปลืองนั้น ไปทำงานอย่างอื่นน่าจะดีกว่า

10. เมื่อต้องโฟกัส ก็ต้องโฟกัส

กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิ เมื่อคุณต้องการโฟกัสกับงานของคุณ ซึ่งอาจหมายถึงการไปนั่งทำงานในห้องเงียบสงบ หรือใส่หูฟังเพื่อป้องกันเสียงรบกวนในออฟฟิศ พยายามอย่าเปิดเว็บไซต์สื่อสังคมต่าง ๆ บนเบราเซอร์ของคุณไว้นะคะ นอกเสียจากเว็บเหล่านั้นจะมีความจำเป็นต่องานของคุณค่ะ

การฝึกทักษะควบคุมเวลา คือการฝึกควบคุมตนเองอย่างหนึ่ง และท้ายที่สุด คุณก็จะพบว่า เมื่อคุณฝึกควบคุมตัวเองได้ คุณจะสามารถควบคุมส่วนอื่น ๆ ในชีวิตของคุณให้เป็นไปในแบบที่คุณต้องการได้ เช่นเดียวกัน

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

เคล็ดลับรับมือหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจ…ด้วยความเข้าใจ

เคล็ดลับรับมือหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจ ด้วยความเข้าใจ

          จากผลวิจัยของ World Economic Forum ระบุว่า ความเครียดของพนักงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากสัมพันธภาพที่ไม่ดีกับหัวหน้างาน ถ้าเจอหัวหน้างานแย่ ๆ เป็นใครก็อยากลาออก… แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เจอหัวหน้าแย่ย่อมดีกว่าตกงาน… เราเลยขอนำเสนอ “เคล็ดลับรับมือกับหัวหน้างานไม่ได้ดั่งใจด้วยความเข้าใจ” เพราะความเข้าใจคือหัวใจของการอยู่ร่วมกัน! 

1. หัวหน้างานจุกจิก  

น่าปวดหัวไม่น้อย เมื่อคุณต้องทำงานกับหัวหน้างานจู้จี้ทุกเรื่องราว คมชัดทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ผิดไปเสียหมดในสายตาหัวหน้า

ถ้าเจอหัวหน้างานประเภทนี้ การปรับตัวเข้าหากันจะเหมาะสมที่สุด สิ่งแรกเลย คือการทำงานของเราต้องมีวินัย ทำงานให้เสร็จก่อนกำหนดส่ง เพื่อให้หัวหน้างานได้ตรวจดูรายละเอียด และมีเวลาปรับแก้งานก่อนส่งจริง อย่าทำเวอร์ชั่นเดียวแล้วส่งในวันสุดท้าย เพราะหัวหน้างานประเภทนี้ ถูกต้องไม่สำคัญเท่ากับถูกใจ การรายงานความก้าวหน้าและส่งงานก่อนกำหนด จึงเป็นทางออกที่จะช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับหัวหน้าราบรื่น… 

2. หัวหน้าอัตตาสูง  

ถ้าคุณเจอะเจอหัวหน้างานอีโก้สูง คิดว่าความคิดของตัวเองถูกเสมอ และมองลูกน้องที่คิดเห็นแตกต่างหรือขัดแย้ง เป็นฝ่ายตรงข้าม ทำให้คนที่ทำงานเอาหน้าประจบประแจงได้รับความไว้ใจ แต่คนทำงานอยู่เบื้องหลังจริง ๆ เหนื่อยฟรี!

การทำงานกับหัวหน้าประเภทนี้ คุณควรเสนอความคิดเห็นในบริบทที่หัวหน้างานจะได้หน้าไปด้วย หรือพูดง่าย ๆ คือ ให้มีส่วนได้หน้าจากผลงานของเรานั่นเอง!

แม้จะเป็นวิธีการที่เจ็บปวดหน่อย ที่ต้องให้คนอื่นชุบมือเปิบ แต่ก็ป่วยการที่จะเป็นปรปักษ์กับหัวหน้างานโดยไม่จำเป็น สำคัญที่ตัวคุณต้องรู้จักตนเองและควบคุมอารมณ์ เลือกปะทะในสมรภูมิที่ได้เปรียบจะดีกว่า

3. หัวหน้าไม่เป็นงาน 

ระบบอุปถัมภ์ทำให้การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสูงอยู่ที่คนของใคร มากกว่าความสามารถ ส่งผลให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ต้องพลอยลำบาก ต้องคอยแก้งานให้กับหัวหน้าที่ไม่เป็นงาน…

หัวหน้าประเภทนี้มักเข้าหาลูกน้องก็ต่อเมื่อเจอปัญหา ปล่อยให้ลูกน้องแก้ปัญหาแต่เพียงลำพัง ในขณะที่ตนเองไม่คิดหาข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง ทำให้การทำงานในหลาย ๆ ครั้งสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

หัวหน้างานประเภทนี้จะรับมือยากสักหน่อย เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน รวมกลุ่มกันพูดคุยกับหัวหน้า เพื่อปรับวิธีการทำงานและหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำงาน  ลดปัญหาในการทำงาน แต่ไม่ใช่การรวมกลุ่มกันประท้วง หรือตำหนิหัวหน้างาน ต้องอาศัยการบอกกล่าวพูดคุยกันด้วยเหตุผล มุ่งเน้นที่การทำงานเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นที่ตัวบุคคล เป็นการเตือนหัวหน้าในสิ่งที่เขาไม่รู้ตัว นั่นเอง!

4. หัวหน้าอ่อนประสบการณ์ 

เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่หัวหน้า ที่ไม่ได้รู้ไปเสียทุกเรื่อง เขาอาจจะย้ายมาจากแผนกอื่น หรือทำงานที่เขาไม่คุ้นเคย เราในฐานะลูกน้องที่ผ่านงานมามากกว่า ควรแลกเปลี่ยน แชร์ประสบการณ์กับเขา

การเสนอแนะไอเดียที่เป็นประโยชน์ ย่อมทำให้หัวหน้ารู้สึกเป็นมิตรกับเรา เช่น หัวหน้างานรุ่นเก่าอาจจะไม่คุ้นกับการทำ Power Point หน้าที่ของเรา คือแชร์ความรู้กับเขา หรือใช้ความสามารถของเราเติมเต็มส่วนที่หัวหน้าขาด ไม่ดูถูกหรือทำให้เขารู้สึกอับอาย คิดอีกแง่ เราเองก็มีเรื่องมากมายที่หัวหน้ารู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ก็เป็นได้… 

5. หัวหน้าชื่นชอบตัวเลข 

บ่อยครั้งเรามักจะพบความขัดแย้งระหว่างนักการตลาดและนักบัญชี สาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากการมองต่างมุม… นักบัญชี หรือนักการเงิน ถูกสอนให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และอ้างอิงตัวเลขเป็นสำคัญ จึงมักตั้งคำถามกับนักการตลาดว่า กลยุทธ์ที่เสนอมา สร้างกำไรกี่บาท กี่เปอร์เซ็นต์                 

เป็นคำถามที่นักการตลาดไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกี่คน ซื้อคนละกี่ชิ้น เพราะฉะนั้น หากเผชิญหน้ากับหัวหน้าที่มีพื้นฐานทางบัญชี หรือการเงิน การจะทำงานร่วมกับเขาได้นั้นต้องมีตัวเลขเสมอ

แผนการที่เสนอไป อย่างน้อยก็ต้องมีการประมาณการณ์งบประมาณ เป้าหมายทางการเงิน ยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น การตัดสินใจบนพื้นฐานของตัวเลข ไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือผิด แต่อยู่ที่สมมติฐานของใครน่าเชื่อถือมากกว่ากัน  

6. หัวหน้าสายครีเอทีฟ  

หัวหน้าผู้มีความคิดสร้างสรรค์นับเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามีมากไปก็เป็นโทษได้เหมือนกัน เพราะแต่ละวันจะมีไอเดียผุดขึ้นมากมาย เดี๋ยวก็ให้ทำนั่น เดี๋ยวก็ให้ทำนี่ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่กำลังทำอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ!

การรับมือกับหัวหน้าประเภทนี้ เราต้องโฟกัสความคิดของหัวหน้า ว่าหัวหน้าต้องการผลลัพธ์อะไรในขั้นตอนสุดท้าย เพราะหัวหน้าช่างครีเอทีฟมีความคิดกว้าง แต่ไม่สามารถลงลึกถึงการปฏิบัติจริง การโน้มน้าวเขาจึงต้องตั้งคำถามที่โฟกัสมาก ๆ ว่าต้องการอะไรที่เป็นรูปธรรม และชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้หากทำเช่นนั้น             

แต่คุณไม่ควรวิพากษ์หรือปฏิเสธไอเดียของเขาโดยเด็ดขาด พยายามคล้อยตามความคิดเขา และชี้ให้หัวหน้าเห็น ว่าหากทำตามนี้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา…   

7. สุดท้ายแล้ว… หัวหน้าไม่ใช่ศัตรู

ไม่ว่าหัวหน้าจะเป็นคนเช่นไร อย่ามองว่าเขาเป็นศัตรู ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่มีความสุขในที่ทำงาน… World Economic Forum แนะนำว่า ถ้าหัวหน้าอาการหนัก คุณไม่ควรเผชิญหน้ากับเขาโดยตรง ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งจะยิ่งร้าวลึก และก็อย่าแกล้งทำเป็นหูทวนลม หรือโฟกัสที่งานโดยไม่เห็นหัวหน้าอยู่ในสายตา เพราะหัวหน้าจะคิดว่าคุณไม่ให้ความเคารพ และเขาก็จะไม่เคารพคุณเช่นกัน      

นอกจากนั้น การแกล้งป่วยแกล้งลาก็ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน เพราะนั่นคือการหนีปัญหา การลาป่วยในวันที่หัวหน้าต้องการคุณ จะยิ่งสร้างความบาดหมางได้… และสิ่งสุดท้ายที่ไม่ควรทำเด็ดขาด คือการประจานหัวหน้าให้คนภายนอกรับรู้… “ความในไม่ควรนำออก ความนอกก็ไม่ควรนำเข้า” ค่ะ 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

เทคนิครับมือเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

เทคนิครับมือเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

          ในชีวิตคนเราต้องพบเจอผู้คนมากมายหลายประเภท บางคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุนให้เราทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม บางคนคอยกลั่นแกล้ง ขัดขวาง เอาเปรียบ ใส่ร้ายป้ายสี มองโลกในแง่ลบ และทำให้เราหมดกำลังใจที่จะไล่ตามความฝัน ซึ่งเราให้คำนิยามกับคนประเภทนี้ว่าเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” 

มนุษย์เจ้าปัญหา คือพวกที่มักทำให้คนรอบข้างเกิดความยุ่งยาก หงุดหงิด รำคาญใจ และบางทีอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย พวกเขาอาจเป็นได้ทั้งหัวหน้า ลูกน้อง ลูกค้า เพื่อน หรือคนในครอบครัวของคุณเอง

แน่ล่ะ วิธีการที่ง่ายที่สุดเมื่อเจอกับคนเหล่านี้ ก็คือการเดินหนี หรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหลายครั้งคุณมักตกอยู่ในสถานการณ์ไม่อาจวิ่งหนีปัญหาได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งคุณจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านี้… เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ 

1. อย่าเกลียดชัง แต่จงขอบคุณมนุษย์เจ้าปัญหา

เมื่อคุณเจอมนุษย์เจ้าปัญหา คุณอาจรู้สึกโกรธ เกลียดชัง หรือท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกในแง่ลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรก้าวข้ามและผ่านมันไปให้ได้ เพราะมันเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขของคุณ

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเปลี่ยนทัศนคติ โดยคิดว่าพวกเขาเป็นสิ่งท้าทายในชีวิต กล่าวคือ คุณควรคิดว่าการใช้ชีวิตหรือการทำงานกับคนเจ้าปัญหา เป็นบททดสอบ ซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรขอบคุณพวกเขา ที่ทำให้คุณรู้จักความอดทนอดกลั้น และได้พัฒนาตนเอง วิธีการนี้ดูเหมือนเป็นวิธีการที่ยาก แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคุณสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ คุณก็จะสามารถรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาได้เช่นกัน 

2. ใช้มนุษย์เจ้าปัญหาเป็นตัวกระตุ้นสิ่งดี ๆ ในตัวคุณ

อีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา ก็คือการใช้สิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำเป็นแรงผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่คุณกำลังนั่งทำงานอย่างหนัก เพื่อนร่วมงานของคุณได้นั่งจับกลุ่มนินทาและพูดคุยเรื่องไร้สาระทั้งวัน

แน่นอนว่า หากคุณเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ คุณคงอารมณ์เสีย หงุดหงิด และไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมกับความคิดด้านลบเหล่านั้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือ การเปลี่ยนความรู้สึกแย่ ๆ ให้กลายเป็นพลังเชิงบวก ให้คุณคิดซะว่า มันไม่ใช่เรื่องของคุณ!

คุณจึงไม่ควรเสียเวลาหรือใส่ใจกับการกระทำของคนเหล่านั้น และจงปล่อยให้พวกเขาทำต่อไป เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ สำหรับตัวคุณเอง ก็แค่มุ่งมั่นตั้งใจ สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ พัฒนาตนเอง และใช้อุปสรรคทั้งหลายเป็นตัวกระตุ้นไฟในตัวคุณ  

3. ใช้เวลากับพวกเขาให้มากขึ้น

แทนที่คุณจะวิ่งหนีปัญหา ให้คุณลองเปลี่ยนแนวทางดูบ้าง กล่าวคือ คุณอาจลองเข้ากลุ่ม หรือใช้เวลากับพวกมนุษย์เจ้าปัญหาให้มากขึ้น แม้วิธีการนี้อาจทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังบีบบังคับจิตใจตนเองก็ตาม แต่การคลุกคลีและร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนเหล่านี้ จะทำให้พวกเขาเปิดใจและยอมรับคุณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม

วิธีนี้อาจทำให้คุณทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมในการสร้างปัญหา หรือก่อความวุ่นวายให้กับคนรอบข้างตลอดเวลา ทั้งนี้ เมื่อคุณเข้าใจพวกเขามากขึ้น คุณอาจได้ปรับมุมมองหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อพวกเขา และคุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์เจ้าปัญหาได้อย่างเข้าใจ และราบรื่น

4. ตั้งเป้าหมายของตัวคุณเอง

การตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับคนเจ้าปัญหา พร้อม ๆ กับการพัฒนาตนเอง กล่าวคือ ให้คุณลองตั้งเป้าหมายของตนเองเกี่ยวกับการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา เช่น หากฉันเจอคนขี้บ่น ก้าวร้าว ซุบซิบนินทา ฉันจะต้องไม่รู้สึกแย่ หงุดหงิด หรือหมดกำลังใจ นอกจากนี้ ฉันจะพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนเจ้าปัญหาให้ได้ เป็นต้น 

คุณอาจตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อน และค่อย ๆ ขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกท้าทาย และมองการรับมือกับคนเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก ทั้งยังช่วยให้คุณมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอีกด้วย กล่าวคือ หากคุณอดทนกับคนเจ้าปัญหาและยังสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ ก็จะทำให้คุณเป็นคนใจเย็นขึ้น ใจกว้างขึ้น และอดทนมากขึ้น นั่นเอง

5. พยายามทำความเข้าใจและช่วยเหลือมนุษย์เจ้าปัญหา

พวกเขาอาจเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาด้วยเหตุผลบางประการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเผชิญกับสิ่งเลวร้ายในชีวิต หรือมีปัญหาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพวกเขา จนทำให้เป็นมนุษย์เจ้าปัญหาในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น คุณควรปฏิบัติต่อเขาอย่างที่คุณต้องการให้เขาปฏิบัติต่อคุณ อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องทำใจยอมรับว่า เขาอาจปฏิบัติต่อคุณได้ไม่ดีเท่าที่คุณปฏิบัติต่อเขา นั่นเป็นเพราะปมปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น คุณควรให้เวลากับพวกเขา พยายามทำความเข้าใจ และช่วยเหลือพวกเขาเมื่อมีโอกาส

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

5 วิธีให้คนจดจำคุณได้ตั้งแต่แรกพบ

5 วิธีให้คนจำคุณได้ ตั้งแต่แรกพบ

ไม่ว่าจะเรื่องการทำงาน หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ เราย่อมอยากเป็นที่จดจำเสมอ ข่าวดีก็คือ ในตอนนี้ คุณสามารถแตกต่างจากคนทั่วโลกได้ เพียงใช้ทริกง่ายๆ ที่คุณทำได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

1.ทำตัวให้มีออร่าน่าจับจ้อง

          เริ่มจากการที่คุณต้องมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองที่ชัดเจนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การใช้คำพูด การเดินที่ดูสง่างาม อ้อ! การทำตัวให้มีออร่าในที่นี้ไม่ใช่ให้คนแต่งตัวแปลกแยกจนสุดโต่ง หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร แต่หมายความว่า ในทุกๆ กิจกรรมในชีวิตของคุณ จะต้องดูเป็นตัวของตัวเอง คงไว้ซึ่งความสง่า จนคนละสายตาไปจากคุณไม่ได้ แล้วจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากคุณ ที่ทำให้คนเห็นแล้วคิดถึงคุณหรือธุรกิจของคุณได้ทันที โดยไม่ต้องบอกชื่อค่ะ

2.ฉายแสงแห่งภาวะผู้นำ

          คนมักจะจดจำผู้นำได้เสมอ ฉะนั้นคุณต้องสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นในตัวของคุณ ซึ่งภาวะผู้นำในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่า คุณเป็นหัวหน้าคุณต้องมีภาวะของความเป็นผู้นำเท่านั้นนะคะ เพราะบางคนเป็นหัวหน้าแต่ไม่กล้าตัดสินใจ ถามความเห็นลูกน้อง ให้ลูกน้องตัดสินใจให้ตลอดก็มี ซึ่งตอนนี้ถ้าคุณรู้ตัวว่าไม่มีภาวะของความเป็นผู้นำ สมัยนี้หาเรียนได้ง่ายมากค่ะ ลองดู แล้วจะรู้ว่าการมีภาวะผู้นำช่วยสร้างการจดจำได้มากขนาดไหน

3.มีน้ำใจ แม้อีกฝ่ายยังไม่เอ่ยปากขอ

          แค่เริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณก็สามารถสร้างความประทับใจได้แล้วค่ะ เช่น เห็นคนหิ้วของพะรุงพะรังขึ้นรถไฟฟ้า แต่คุณนั่งอยู่ คุณสามารถลุกให้เขานั่ง หรือถ้าเขาไม่นั่ง ช่วยถือของให้ เขาก็ประทับใจแล้วค่ะ หรือแม้กระทั่งการพาคนพิการข้ามถนน คนที่เขาเห็นคุณทำแบบนี้ บอกได้เลยค่ะ ว่าเขาประทับใจอย่างแน่นอน อ้อ! แต่ที่ทำไม่ได้หวังให้สร้างภาพนะคะ แต่ให้ทำเพราะอยากทำจริงๆ เพราะนี่คือสิ่งเล็กน้อยที่ยิ่งใหญ่ที่นับวันจะห่างหายไปจากสังคมของเราเต็มทีแล้วค่ะ

4.พูดจาฉะฉาน แต่น้ำเสียงไม่แข็งกร้าวจนเกินไป

          การพบใครสักคนครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ลูกค้า หรือใครก็ตามที่คุณเพิ่งเจอ การพูดที่ดูฉะฉาน จะทำให้คุณดูฉลาด และมีเสน่ห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องควบคุมน้ำเสียงของคุณให้ดี เพราะบางครั้งมันอาจทำให้คุณดูแข็งกร้าวจนคนฟังระอาเอาได้ค่ะ

5.สื่อสารด้วยสายตา ที่มาของความประทับใจ

          คุณเคยเห็นคนที่ยิ้มแต่ปาก แต่ดวงตาไม่ได้ยิ้มตามด้วยไหมคะ หรือคนประเภทเวลาที่คุยกับเราแต่ตาของเขามองไปที่อื่น เวลาเจอแบบนั้นมันไม่น่าอภิรมย์เลยใช่ไหมล่ะคะ ฉะนั้นถ้าหากคุณอยากทำให้ใครสักคนเกิดความประทับใจแรกพบขึ้นมาแล้วล่ะก็ สิ่งที่คุณต้องทำเลยก็คือ ในขณะที่คุณพูดกับเขา หรือฟังเขา คุณต้องมองตาค่ะ อ้อ! แต่การมองตาในที่นี้ ต้องมองอย่างสุภาพนะคะ ไม่ใช่จ้องจนคู่สนทนารู้สึกอึดอัด ให้มองแบบใส่ใจ ว่าเรากำลังใส่ใจในสิ่งที่เขาพูด และตั้งใจพูดในสิ่งที่เราจะบอกเขาเท่านั้นเองค่ะ

howtofirstimpression

            อยากเป็นบุคคลที่น่าจดจำ หรือจะทำให้เราเหมือนคนทั่วๆ ไป คุณเลือกได้ค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรามียินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

5 คำพูดเป็นพิษที่คุณคิดไม่ถึง!

5 คำพูดเป็นพิษที่คุณคิดไม่ถึง

          ใครจะรู้ว่าคำพูดทั่วๆ ไป ที่เราพูดติดปากอยู่บ่อยๆ จะกลายเป็นพิษได้ แล้วมันอาจส่งผลร้ายแรงกับชีวิต ถ้าไม่คิดไตร่ตรองให้ดีๆ ก่อนพูด แต่คำพูดที่ว่าจะเป็นคำพูดอะไรบ้างนั้น เรามาดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

1.ยอดเยี่ยม!

          คำนี้ถามว่าถ้ามีคนพูดกับเรา หนึ่งครั้งหรือสองครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนะคะ แต่ลองคิดดูสิคะว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร สิ่งเล็กน้อย สิ่งยิ่งใหญ่ คนบางคนก็ยังใช้คำว่า “ยอดเยี่ยม!” เสมอต้นเสมอปลาย ราวกับว่าในชีวิตของเขาไม่เคยเรียนรู้คำชมคำอื่นมาก่อนในชีวิต เราจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่า เราจะเริ่มกังขา หากเราได้ยินคำรีไซเคิลนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าบ่อยๆ ว่าชมเราด้วยความจริงใจจริงๆ หรือเปล่า การใช้คำพูดเกินจริงหลายครั้งที่ทำให้คำพูดนั้นดูไม่จริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ แล้วทำให้เราไม่อยากที่จะพูดอะไรให้คนที่ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำฟังอีก เพราะพูดไปก็ไม่แน่ใจถึงความจริงใจที่มีให้ เพราะฉะนั้นทางสายกลางเถอะค่ะ คำพูดที่ดี ก็ใช้แต่พอประมาณ แล้วก็ใช้ด้วยความจริงใจจะดีกว่า

2.ขอโทษ

          ฟังดูเหมือนคนพูดจะมีสามัญสำนึก ถ้าไม่ได้ใช้บ่อยจนชินปาก แต่หากคุณเป็นพวกชอบพูดคำขอโทษบ่อยๆ เพราะชอบรับปากคนอื่นๆ ไว้ก่อน แล้วคิดว่า ถ้าทำไม่ได้ค่อยขอโทษทีหลัง อันนี้ไม่ดีแน่ค่ะ เพราะคนฟังจะรู้สึกว่าคุณเป็นคนปากพล่อย และคิดว่าคำขอโทษของคุณนั้นไม่ได้มาจากใจ และอาจทำให้คนอื่นมองว่าคุณเป็นคนไม่น่าเชื่อถือ ไม่อยากที่จะร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้นหากจะพูดคำว่าขอโทษ ขอให้เป็นเหตุการณ์ที่คุณผิดจริงๆ และให้ขอโทษจากใจ ไม่ใช่ขอโทษลมๆ แล้งๆ จะดีกว่าค่ะ

3.หวังว่า

          คำนี้ดูเหมือนจะไม่มีพิษภัย แต่ส่งผลทางจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณพูดว่า “หวังว่า” นั่นหมายความถึง คุณไม่มีความมั่นใจ แล้วคุณคิดดูสิคะ ว่าใครจะอยากร่วมงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่มีความั่นใจในชีวิต ยิ่งถ้าคุณพูดแต่คำๆ นี้แล้วล่ะก็ บอกลาความมั่นคงในชีวิตไปได้เลย เพราะคำพูดของคุณ ก็จะสั่งให้คุณได้แต่ “หวังว่า” แต่ไม่ลงมือทำอะไรสักทีเหมือนกัน คำนี้นอกจากจะมีผลกระทบกับคนอื่นที่ได้ฟังแล้ว ยังส่งผลต่อจิตใต้สำนึกของคุณได้อย่างไม่รู้ตัว ฉะนั้นถ้าอยากให้ชีวิตเดินหน้า เลิกพูดคำว่า “หวังว่า” แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นค่ะ

4.เอ่อ

          เวลาที่มีใครถามอะไรแล้วเราต้องการเวลาคิด หลายครั้งที่เราอดไม่ได้ที่จะเผลอพูดคำว่า “เอ่อ” เพื่อเป็นการถ่วงเวลาในการหาคำตอบ ซึ่งคำนี้ไม่ได้เสียหายอะไรหรอกค่ะ แต่มันทำให้คุณดูไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย จะดีกว่าไหมคะ ถ้าหากมีคนถามในสิ่งที่คุณตอบไม่ได้ ให้คุณเปลี่ยนจากคำว่า “เอ่อ” ให้เป็นคำว่า “ขอคิดสักครู่นะคะ” เพราะเมื่อคุณพูดประโยคนี้ แล้วคุณตอบออกมา คำตอบของคุณจะดูน่าเชื่อถือมากกว่าที่คุณจะพูดว่า เอ่อ นำหน้าค่ะ

5.โอเค

          ยิ่งถ้าคำถามปลายเปิด ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น แล้วคุณไม่รู้จะตอบอะไร แล้วตอบลงท้ายแค่ โอเคค่ะ หรือแม้กระทั่งประโยคปลายปิด แต่คุณใช้น้ำเสียงกระด้างว่า โอเค ก็ไม่ส่งผลดีกับคุณอย่างแน่นอน ซ้ำร้าย จะทำให้คนมองคุณว่าเป็นคนไม่ใส่ใจคน จากคำว่า โอเคจะไม่ โอเคก็คราวนี้ล่ะค่ะ

5-badwords

ฉะนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นคำพูดอะไรก็แล้วแต่ คิดให้ดีก่อนพูดนะคะ เพราะหากพูดผิดชีวิตเปลี่ยนแน่นอนค่ะ!  

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

3 สิ่งปิดกั้นความสุขในชีวิต

3 สิ่ง ปิดกั้นความสุขในชีวิต

          ในยุคที่เงินอยู่ในอากาศ ที่ใครก็คว้ามาได้ถ้ารู้วิธีหาอย่างตรงจุด ทำให้เงินไม่ใช่สิ่งที่คนโหยหาเป็นสิ่งหลักๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการเสียทีเดียว เพียงแค่ลึกๆ แล้วถ้าถามความเห็นกันจริงๆ สิ่งที่คนต้องการมากที่สุดในยุคสมัยนี้ก็คือ “ความสุข” ข่าวดีคือ คุณสามารถสร้างความสุขได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง แต่คุณต้องจัดการกับ 3 สิ่งนี้ให้ได้ก่อนค่ะ

1.อย่าขี้เกรงใจเกินกว่าเหตุ

ประเภทที่ว่า “ได้ครับพี่ ดีครับผม” หลายครั้งทำให้คุณรู้สึกอึดอัดและไม่มีความสุขในชีวิต ฉะนั้นคุณต้องหัดปฏิเสธเสียบ้าง
อะไรที่มันเหลือบ่ากว่าแรง ก็ให้บอกไปตรงๆ อย่ามัวแต่เกรงใจจนทำร้ายตัวเองมานั่งทนทุกข์ทรมานกับความเกรงใจไม่มีที่สิ้นสุด

ชีวิตเราเกิดมาครั้งเดียว สิ่งที่เราต้องทำคือ ใช้ชีวิตให้มีความสุข โดยไม่เบียดเบียนใคร และที่สำคัญที่สุด ต้องไม่เบียดเบียนตัวเองด้วยค่ะ

2.ยอมรับความจริงให้ได้

หลายครั้งที่เราทุกข์ เพราะว่าเราหลอกตัวเองอยู่ค่ะ เช่น เวลาที่เราพลาดหวังจากการโปรโมทเป็นหัวหน้างาน เราแสร้งทำเป็นว่าเราโอเค ต่อหน้าคนอื่น แม้กระทั่งกับตัวเอง เรายังบอกว่า ฉันเข้มแข็ง เรื่องแค่นี้ทำอะไรฉันไม่ได้หรอก 


ถ้าคุณไม่ได้สตรองจริง คุณผิดหวังก็ให้ยอมรับกับตัวเองให้ได้เถอะค่ะ ว่ากำลังผิดหวัง เพราะหากคุณยอมรับกับตัวเองแล้ว ไม่นานคุณจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่หากคุณไม่ยอมรับ อย่าคิดเลยค่ะว่าคุณจะมีความสุขได้ง่ายๆ

3.หยุด มโน แล้ว โกทู โลกแห่งความเป็นจริง

การคิดบวกเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ให้คิดบวกบนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย ไม่อย่างนั้นจะเป็นการหลอกตัวเอง แล้วท้ายที่สุดเมื่อคุณหลอกตัวเองมากๆ แล้วคุณยังไม่ได้เป็นตามที่คุณหวัง คุณจะแอบกดดันตัวเองอยู่ลึกๆ โดยที่คุณไม่รู้ตัว

          ทำให้ท้ายที่สุด คุณกลายเป็นคนไม่มีความสุขในชีวิตได้ ฉะนั้นแล้วถ้าอยากมีความสุข คิดบวกบนโลกแห่งความเป็นจริงเถอะค่ะ 


เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

Categories EQ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save