วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีนให้ง่ายเหมือนปอกกล้วย

communicatewithcoworker
communicatewithcoworker

วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีน ให้ง่ายเหมือนปอกกล้วย

          สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่น่าอยู่ ชวนตื่นขึ้นมายามเช้าและกระตือรือร้นอยากไปทำงาน ก็คือบรรยากาศในการทำงาน และเพื่อนร่วมงานก็เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างบรรยากาศเหล่านั้น

แต่ข่าวร้ายก็คือเราไม่สามารถเนรมิตเพื่อนร่วมงานน่ารักๆ พูดคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ รักใคร่ชอบพอเหมือนเพื่อนสนิทขึ้นมาได้ ใครมีบุญวาสนาได้พบพานกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมดีก็ย่อมสุขใจ แต่หากเราพบเจอเข้ากับเพื่อนร่วมงานประเภท “ขี้วีนขี้เหวี่ยง”  “พูดจาขวานผ่าซาก” หรือ “วาจายิ่งกว่ามีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ที่พร้อมจะเชือดเฉือนให้เราแหว่งวิ่นทุกครั้งที่เข้าใกล้แล้วล่ะก็ ที่ทำงานอันเป็นสถานที่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันก็เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจได้ง่ายๆ

อ๊ะๆ แต่อย่าเพิ่งท้อแท้นะคะ วันนี้เรามีวิธีการดีๆ ที่จะช่วยให้คุณสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น มาฝากกันค่ะ

1.น้ำขุ่นอยู่ในน้ำใสอยู่นอก

ใครก็ย่อมไม่อยากดีด้วยกับคนที่ไม่ดีกับเรา อันนี้เข้าใจค่ะ แต่ทว่าการทำกิริยาแบบ “แรงมาก็แรงตอบ” ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด หากแต่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานดิ่งลงเหวมากกว่าเดิม

หากคุณต้องการให้การสื่อสารราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วล่ะก็ ควรเริ่มจากตัวเราก่อน สูดหายใจเข้าลึกๆ ลืมเรื่องขุ่นข้องหมองใสเสียให้หมด ยิ้มกว้างๆ เข้าไว้ และพูดคุยด้วยอารมณ์ที่สดใส อย่าให้อีกฝ่ายจับได้เด็ดขาดว่าแท้ที่จริงคุณก็ไม่อยากพูดคุยกับเขาหรือเธอคนนั้นมากสักเท่าไหร่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่สำหรับคนเก่งอย่างคุณ เรื่องแค่นี้ทำได้สบายอยู่แล้วค่ะ

2.ปลดปล่อยความรู้สึกแย่ให้ถูกจังหวะ

อึดอัดใช่ไหมล่ะคะ กับการต้องฝืนทำดีกับคนที่มีนิสัยขี้วีนเหวี่ยง การปลดปล่อยความรู้สึกด้านลบออกมาเป็นสิ่งที่ดีในสถานการณ์แบบนี้ เนื่องจากทำให้คุณมีสภาวะจิตใจที่ดีขึ้น แต่การระบายความรู้สึกออกมานั้นควรเลือกกระทำให้ถูกที่ ถูกคน และถูกจังหวะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแย่ๆ ตามมา

มองหาเพื่อนที่คุณไว้วางใจได้สักคน เป็นเพื่อนที่คุณสนิทสนมด้วยมานานพอที่จะระบายความในใจให้ฟังได้อย่างไม่เคอะเขิน และมีทัศนคติด้านดีมากพอที่จะมองโลกด้วยใจเป็นกลาง เพื่อที่เธอคนนั้นจะได้ช่วยมองในมุมของคนนอกและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อคุณในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้ เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ถึงสองต่อเลยนะคะ

3.เปลี่ยนมุมมองใหม่ เข้าใจมากขึ้น

การมองจากมุมมองของคุณเพียงมุมเดียวไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ลองเปลี่ยนไปมองจากมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่งว่า “เกิดอะไรขึ้นในชีวิตเขากันนะ” จึงทำให้เขาเป็นคนแบบที่เป็นอยู่นี้ อาจทำให้คุณเข้าใจได้ว่านิสัยวีนเหวี่ยงที่เพื่อนร่วมงานของคุณเป็น เกิดได้จากสภาพกดดันจากปัญหาครอบครัว ปัญหาทางการเงิน หรือแม้กระทั่งปัญหาสุขภาพที่เขาประสบอยู่ จนทำให้เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ขี้วีนขี้เหวี่ยงที่เกิดขึ้นได้

เมื่อคุณเข้าใจปัญหาจากมุมมองของเขาแล้ว ย่อมทำให้คุณเกิดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานของคุณได้มากขึ้น เมื่อใดที่เขาทำนิสัยไม่น่ารักเหล่านั้นกับคุณ คุณก็เพียงคิดเสียว่า “โลกช่างโหดร้ายกับเขาเสียเหลือเกิน” แล้วก็ยิ้มด้วยความเห็นอกเห็นใจเขาเสียด้วยนะคะ

4.สร้างมิตรด้วยกิจกรรม

เมื่อคุณได้เรียนรู้และเปิดใจยอมรับ “นิสัยไม่น่ารัก” ของเพื่อนร่วมงานได้บ้างแล้ว ขั้นตอนถัดมาซึ่งอาจจะยากขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ ให้หาโอกาสพูดคุยสร้างความสนิทสนมกันให้มากขึ้น หรือหากเป็นไปได้ให้ชวนเขาไปทำกิจกรรมหลังเลิกงานร่วมกัน เลือกกิจกรรมที่คุณสองคนชอบหมือนๆ กัน เช่น การหาของกินอร่อยๆ ดูหนังด้วยกันสักเรื่อง หรือเข้าฟิตเนสด้วยกัน

เมื่อมีโอกาสทำกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานร่วมกัน จะทำให้คุณสองคนรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกดีต่อกันมากขึ้น เทคนิคนี้จะทำให้การสื่อสารระหว่างทั้งสองเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้นเมื่อต้องทำงานร่วมกันในโอกาสต่อไป เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคการ “สร้างมิตรด้วยกิจกรรม” นั่นเองค่ะ

5.อยู่ห่างๆ หากยังไม่พร้อม

เทคนิคต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบางคนดีขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ย่อมมีเหมือนกันที่สำหรับ “คนบางคน” จะยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงแม้ว่าเราจะลองครบทุกวิธีแล้วก็ตาม

หากเป็นแบบนั้นก็คงต้องใช้เทคนิคข้อสุดท้ายก็คือ “อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” กล่าวคือ เมื่อยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเกิดการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน  เกิดรอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ให้พยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อกันไปก่อน ระหว่างนี้ใช้วิธีการสื่อสารผ่านคนกลางที่พูดคุยได้ทั้งสองฝ่าย หรือพยายามติดต่อกันเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น จนกว่าเขาคนนั้นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับคุณ

การเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการนั้นทำได้ยาก เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็คือตัวของเขาเอง สำหรับตัวคุณเองก็เช่นเดียวกัน คุณสามารถเลือกที่จะ “รู้สึกมีความสุข” ได้ แม้ว่าจะมีเพื่อนร่วมงานขี้วีนขี้เหวี่ยงอยู่ใกล้ๆ ในทุกวันก็ตามทีค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรามีความยินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

วิธีรับมือการทำงานหลายอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

thebestperformance
thebestperformance

วิธีรับมือการทำงานหลายอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          การทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรา เป้าหมายที่ต้องการย่อมเป็นการทำสิ่งเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมที่สุด แต่หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็คือ  เรามีอะไรหลายอย่างให้ทำมากเกินไปในช่วงเวลาอันจำกัด และเมื่อต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมๆ กันเข้าไปแล้ว ก็จะพบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเหล่านั้นลดลงอย่างน่าใจหาย

การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน มีแนวโน้มที่จะพบกับความผิดพลาดจากการทำงานได้มากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราจะมีความตั้งใจในการทำงานที่ลดลง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานน้อยลงกว่าเดิม นั่นทำให้เกิดผลลบต่อการทำงานของเราขึ้นได้

สาเหตุที่ทำให้การทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่าสมองจะมีระบบการประมวลผลในการทำงาน หากเราทำงานที่หลากหลายพร้อมกันสมองจะต้องแบ่งพลังในการประมวลผล โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้สมาธิทุ่มเทในการทำในระดับมากเท่าๆ กัน

สมองแบ่งการทำงานของตามกิจกรรมที่ทำในขณะนั้นๆ กล่าวคือ ขณะที่เราฟัง เรามองเห็นภาพ มีการเคลื่อนไหว หรือมีการใช้ภาษา  จะใช้สมองคนละส่วนกัน

ดังนั้นหากเราทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างที่ใช้พื้นที่สมองเดียวกัน เช่น การฟังเพื่อนเล่าเรื่องหนุ่มคนใหม่ให้ฟังพร้อมๆ กับฟังดาราคนโปรดให้สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุไปด้วย  ก็จะพบว่าเราจับใจความทั้งสองเรื่องได้ไม่ค่อยดีนักเพราะเป็นงานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน หรือหากเราอ่านนิยายไปด้วยและคุยโทรศัพท์กับแฟนไปด้วย ก็จะพบว่าเราเข้าใจนิยายไม่ได้เต็มที่ นั่นเป็นเพราะว่าทำงานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคุณลองนอนยกขาขวาขึ้นสูงพร้อมกับสลับเอาแขนซ้ายลงมาดูค่ะ จะพบว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นไปแบบงงๆ ก็เป็นเพราะเราทำงานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันนั่นเองนะคะ

ข่าวดีก็คือ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ โดยลองทำตามวิธีแนะนำของเราในวันนี้กันนะคะ

หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้ทักษะเหมือนกันพร้อมๆ กัน

เช่น หากคุณอยู่ในขณะขับรถไม่ควรพิมพ์แชทกับเพื่อนไปด้วยเนื่องจากเป็นการทำงานด้านการเคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่สามารถฟังเพลงขณะขับรถไปด้วยได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเป็นการทำงานด้านการฟังและการเคลื่อนไหว

หากคุณอ่านหนังสือหรือทำงานแล้วอยากฟังเพลง

ควรเลือกเพลงบรรเลงแทนเพลงที่มีเนื้อร้อง หรือเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาที่เราแปลไม่ออกแทน เนื่องจากสมองจะได้ไม่ต้องใช้การประมวลผลทางด้านภาษา ซึ่งจะดีกับการทำงานของคุณมากกว่า

หากคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้พักสักครู่ก่อนเริ่มงานใหม่

วิธีนี้จะช่วยให้การเริ่มงานใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้คั่นกลางด้วยกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การรดน้ำต้นไม้ การเก็บเสื้อผ้า เพื่อให้สมองคุณได้พักหลังจากที่ผ่านการใช้ความคิดมากๆ

รู้จักจัดลำดับความสำคัญงานจึงจะสำเร็จ 

สิ่งใดๆ ที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 4 ด้านได้แก่ ด้านการงาน ด้านความสัมพันธ์ งานอดิเรกการพักผ่อน และสุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เราควรกำหนดเป้าหมายในชีวิตของเราให้ได้ก่อนว่าเป็นด้านใด เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วจึงจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราทำว่า สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตของเราหรือไม่

โดยให้เราแบ่งกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้ คือ งานด่วนและทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่รีบด่วน และงานที่ไม่ด่วนและไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

เมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็ตามเข้ามาในชีวิตเราให้นำกิจกรรมเหล่านั้นเข้ามาใส่ในหมวดหมู่ 4 ประเภทข้างต้น

หากเรามีงานหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิตพร้อมกัน ก็ให้เลือกทำงานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยทำงานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น และงานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่ด่วน ส่วนจะทำอย่างไรกับงานประเภทสุดท้ายน่ะเหรอคะ คำตอบก็คือโยนมันทิ้งไปได้เลยค่ะ ตลอดกาล!

เห็นไหมคะว่าเพียงเท่านี้เราก็จะสามารถจัดการกับงานต่างๆ ในชีวิตของเรา และรับมือไหวไม่ว่าจะมีงานเข้ามาพร้อมกันหลายๆ งานก็ตามทีค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

ประสบความสำเร็จในชีวิต แค่คิดเชิงกลยุทธ์

strategytosuccess
strategytosuccess

ประสบความสำเร็จในชีวิต แค่คิดเชิงกลยุทธ์

          เมื่อคุณต้องการไปเที่ยวพักร้อนในช่วงวันหยุดยาว สิ่งแรกที่คุณจะทำคืออะไรคะ หากคุณตอบว่า “วางแผนว่าจะไปเที่ยวที่ไหน อย่างไร” แล้วจะก็ นั่นเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณ

แต่หากลองใช้คำถามนี้กับชีวิตด้านอื่นๆ เช่น “จะทำอย่างไรกับโปรเจคที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น” หรือ “ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรในอีก 6 เดือนข้างหน้า” เชื่อไหมคะว่ามีอีกหลายท่านที่ไม่มีคำตอบให้กับคำถามนี้

และสำหรับผู้ที่วางแผนให้กับชีวิตของตัวเอง ก็พบว่ามีตั้งแต่กลุ่มที่ “วางแผนวันละครั้ง” ในช่วงก่อนเข้านอนตอนกลางคืนว่าจะทำสิ่งไหนบ้างในวันรุ่งขึ้น และก็มีบางคนที่ “วางแผนสัปดาห์ละครั้ง” ในช่วงก่อนเริ่มต้นสัปดาห์โดยรวบรวมเอาเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านไป มาช่วยในการกำหนดเป้าหมายและแผนการที่จะทำต่อไป

เดาได้ไม่ยากเลยใช่ไหมคะว่ากลุ่มหลังจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่ากลุ่มที่ “วางแผนวันละครั้ง” อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ “วางแผนสำหรับเดือนใหม่” พวกเขาเหล่านี้จะวางแผนสำหรับ 40 วันข้างหน้า เนื่องจากจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการวางแผนเพียงแค่ 30 วัน  โดยจะทำการทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในรอบเดือน และวางแผนเป็นส่วนๆ ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัว และเป้าหมายด้านหน้าที่การงานที่อยากทำให้สำเร็จในระยะเวลา 30-40 วัน

จากนั้นทำการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการทำงาน ด้านครอบครัว และชีวิตส่วนตัว เข้าไว้ในตาราง จัดลงรายละเอียดทั้งวัน และเวลาที่จะทำกิจกรรมต่างๆ และควรจะแบ่งช่วงเวลาสำหรับเรื่องเหนือความคาดหมายที่อาจจะเกิดขึ้นเผื่อไว้ด้วย หลังจากที่คุณจัดตารางกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมองเห็นภาพในอนาคตได้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่คุณจะทำให้สำเร็จได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เรียกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic thinking)  ซึ่งทำให้ผู้คนมากมายประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เราสามารถนำ “การคิดเชิงกลยุทธ์” นี้มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี อย่าให้คำยากๆ อย่าง “กลยุทธ์” มาทำให้คุณคิดการใหญ่จนท้อไปเสียก่อนนะคะ

การคิด “เชิงกลยุทธ์” มีข้อดีอย่างไร 

วิธีนี้เป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยใช้ทรัพยากรต่างๆ รวมทั้ง “เวลา” ที่เป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ไปอย่างคุ้มค่า และนี่เป็นเหตุผลบางส่วนที่สนับสนุนว่าเราควรใช้การคิดเชิงกลยุทธ์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา

ทุกอย่างจะง่ายขึ้น หากคุณ “คิดเชิงกลยุทธ์” 

คำกล่าวที่ว่า “เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” เป็นคำพังเพยที่ไม่เกินกว่าความจริง ยิ่งเป็นการเตรียมตัวแบบมีแผนการแล้วล่ะก็ ยิ่งทำให้การจัดการต่างๆ ง่าย และประสบความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น

ตัวอย่างของผู้มีชื่อเสียงที่นำการคิดเชิงกลยุทธ์ไปใช้ก็คือ จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ นักคิดและนักเขียน ผู้ที่ทำให้การเตรียมบทเรียนในการสอน และการเตรียมคำกล่าวสุนทรพจน์เป็นเรื่องง่ายขึ้น ด้วยการจัดทำแฟ้มข้อมูลเกี่ยวกับ คำคม เรื่องเล่า กรณีศึกษา และบทความ อย่างเป็นระบบไว้ถึง 1,200 แฟ้ม เมื่อต้องการสืบค้นข้อมูลที่ใช้ในงานที่กำลังเขียนอยู่ก็สามารถสืบค้นได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทำให้การทำงานของเขาเป็นไปได้อย่างราบรื่น

คำถามที่ใช้เพื่อเริ่มวางแผนกลยุทธ์ 

การตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์สามารถช่วยแยกประเด็นปัญหาที่ใหญ่ หรือมีความซับซ้อน ให้เป็นส่วนเล็กๆ ที่มองเห็นภาพง่ายขึ้นได้ โดย “บ๊อบบ์ บีห์ล” ผู้เขียนหนังสือ Masterplanning ได้ยกตัวอย่างคำถามไว้ดังนี้

คำถามเพื่อกำหนดทิศทาง เราควรทำอย่างไรต่อไป เพราะเหตุใด

คำถามสำหรับองค์กร การควบคุมกำกับในองค์กรเป็นอย่างไร หน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนเป็นอย่างไร การจัดสรรบุคคลเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่

การจัดการด้านการเงิน รายรับ รายจ่าย กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ยอมรับได้หรือไม่ และจะบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

การกำกับติดตาม การดำเนินการเป็นไปตามที่วางแผนไว้หรือไม่

การประเมินผล การดำเนินการได้คุณภาพตามที่ต้องการหรือไม่ อย่างไร

การปรับปรุง ทำอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยให้พร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน 

แม้ว่าสถานการณ์จะไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหมายได้ แต่การคิดเชิงกลยุทธ์จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสิ่งที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันกับสิ่งที่เราวางแผนเอาไว้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าสิ่งที่คุณต้องการจะเอื้อมคว้าได้ยากเพียงใด ก็จะเข้าใกล้ขึ้นมาได้ด้วยการใช้เทคนิคนี้

ผิดพลาดน้อยลง เมื่อคิดเชิงกลยุทธ์ 

การคิดตัดสินใจอย่างเร่งรีบ หรือทำอย่างขอไปที โดยไม่ได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้เสียก่อน ย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดได้มากขึ้น เปรียบเสมือนเรายิงธนู โดยไม่ได้เล็งลูกธนู ไปยังเป้า หรือยืนหันไปคนละทิศทางกับเป้ากระดาษนั้น ย่อมทำให้โอกาสที่ยิงลูกธนูไม่เข้าเป้าเป็นไปได้มาก หรือเรียกจะว่าโอกาสที่จะยิ่งเข้าเป้านั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

การนำวิธีคิดเชิงกลยุทธ์มาประยุกต์ใช้จึงเป็นการช่วย กำหนดทิศทางของการกระทำให้เป็นไปในทางเดียวกับเป้าหมาย วิธีการนี้จะช่วยให้โอกาสที่คุณจะทำงานให้ประสบความสำเร็จย่อมมีมากขึ้น

การคิดเชิงกลยุทธ์ เหมาะแก่การเป็นผู้นำ 

การกำกับควบคุมให้การทำงานเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับผู้นำในองค์กรต่างๆ ทั้งในหน่วยงานขนาดใหญ่ และการบริหารธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากวิธีนี้จะทำให้คุณได้รับความเชื่อถือจากบุคคลที่คุณร่วมทำงานด้วย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจของคุณ

จึงไม่เป็นคำกล่าวที่เกินเลยไป หากจะบอกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” เหมาะกับทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าว่าคุณจะอยู่ในองค์กรขนาดใหญ่ หรือในธุรกิจขนาดเล็กก็ตามค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้คุณเป็นคนสำเร็จ

howtosettinggoal
howtosettinggoal

ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้คุณเป็นคนสำเร็จ

          ผู้คนต่างมองหาสูตรแห่งความสำเร็จ ซึ่งมีข้อแนะนำมากมายสำหรับการทำให้ประสบความสำเร็จ แต่การจะประสบความสำเร็จนั้นมันไม่ได้มาอย่างง่ายดาย ดังที่คุณเคยทราบมาก่อนแล้ว แต่จะทำอย่างไรล่ะให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย ซึ่งสิ่งที่เป้าหมายเหล่านั้นควรมีก็คือ

มีความชัดเจน

การจะตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องมี ความชัดเจน ว่าคุณต้องการประสบความสำเร็จเรื่องอะไร ต้องการให้เกิดสิ่งใดขึ้นในชีวิตของคุณ

ทำตามขั้นตอน

การจะทำตามสูตรสำเร็จนั้นควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีพื้นฐานที่มั่นคง หลังจากที่เรารู้วิธีที่ถูกต้องแล้วจากนั้นจึงสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ได้

ความซับซ้อนไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น

ลืมความคิดที่ว่า “ยิ่งซับซ้อน ยิ่งประสบความสำเร็จ” ไปซะ สูตรที่ดีที่สุดไม่ใช่สูตรที่ซับซ้อน หากแต่เป็นสูตรธรรมดาๆ ที่เรียบง่าย แต่ผ่านกระบวนการคิดทบทวน ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน และพบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดี

รู้ให้แน่ชัดว่าคุณต้องการอะไร 

การจะรู้ว่า “ความสำเร็จของคุณคืออะไร” นั้น คุณจะต้องรู้ให้แน่ชัดเสียก่อนว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต คุณอาจจะเคยค้นหาคำตอบมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ลองค้นหาตามวิธีของเราอีกสักครั้งเพื่อให้มั่นใจว่า คำตอบที่คุณต้องการยังเป็นสิ่งที่คุณคิดเอาไว้หรือไม่

ขั้นตอนแรกให้คุณเขียนว่า สำหรับคุณแล้วความสำเร็จมีความหมายอย่างไร การเขียนให้คุณนั่งในท่าสบายๆ ในสถานที่เงียบๆ ปราศจากการรบกวน แล้วเขียนแบบต่อเนื่องเป็นเวลา 5 นาที เขียนรายละเอียดให้ชัดเจน เช่นดังตัวอย่างต่อไปนี้

ความสำเร็จคือการมีรูปร่างดี ให้เขียนออกมาว่าคุณต้องการมีน้ำหนักตัวเท่าไหร่ สัดส่วนอก เอว สะโพก กี่นิ้ว จะต้องลดลงอีกเท่าใดจึงจะได้รูปร่างตามที่ต้องการ จะออกกำลังกายด้วยวิธีไหน  ออกกำลังกายสัปดาห์ละกี่วัน วันละกี่นาที ในช่วงเวลากี่โมง จะรับประทานอาหารแบบไหนบ้าง ทำกินเอง หรือซื้อจากร้านเจ้าประจำ

ความสำเร็จคือความร่ำรวย ให้เขียนออกมาว่าคุณต้องการมีเงินเท่าใด ต้องการมีบ้านอย่างไร มีรถยี่ห้ออะไร จะเก็บเงินเหล่านี้ไว้ที่ไหน จะบริหารเงินเหล่านี้อย่างไร วางแผนทำอย่างไรให้มันงอกเงยเพิ่มขึ้น ให้เพื่อการกุศลเท่าไหร่ จ่ายให้กับคนใกล้ชิดอย่างไรบ้าง

หากคำตอบที่คุณเขียนออกมาภายใน 5 นาทีนั้นชัดเจน เขียนได้อย่างไม่ติดขัด ก็ขอแสดงความยินดีกับคุณด้วยค่ะ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า คุณรู้อย่างชัดเจนว่าต้องการอะไรในการประสบความสำเร็จของคุณแล้วนะคะ

 จินตนาการที่ชัดเจนเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ 

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการประสบความสำเร็จก็คือ คุณต้องมองเห็นภาพความสำเร็จนั้นให้ได้อย่างต่อเนื่อง มองเห็นมันอย่างชัดเจนเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงต่อหน้าต่อตาของคุณ

หากคุณพบว่ามันยากที่จะเขียนภาพของความสำเร็จขึ้นมาในจินตนาการของคุณ ให้คุณใช้เทคนิคช่วย คือการหากิจกรรมเบาๆ ทำคั่นเวลา เช่นการเดินเล่นออกกำลังกาย หรือสูดอากาศบริสุทธิ์สักครู่ และอาจวาดรูปเพื่อช่วยขยายจินตนาการของคุณ ให้ใช้ความพยายามเพิ่มมากขึ้น อย่าหยุดจนกว่าภาพนั้นจะชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างที่สุด

สนใจแค่สิ่งที่คุณต้องการ ปล่อยสิ่งที่ไม่ต้องการทิ้งไป 

ในช่วงแรกของการค้นหาเป้าหมายในการประสบความสำเร็จ จะมีภาพต่างๆ ผุดขึ้นมามากมายในจินตนาการของคุณ ทั้งสิ่งที่คุณต้องการและสิ่งที่คุณไม่ต้องการ ให้คุณใส่ใจและพุ่งประเด็นไปเฉพาะ “สิ่งที่ต้องการ” เช่น หากคุณต้องการมีรูปร่างที่ดี ให้จินตนาการและพูดถึง การมีน้ำหนักที่ลดลง การมีสัดส่วนที่สวยงาม ไม่ต้องใส่ใจเป้าหมายประเภท “สิ่งที่ไม่ต้องการ” เช่น ฉันไม่อยากอ้วน ฉันไม่อยากใส่เสื้อผ้าแล้วคับติ้ว หรือฉันไม่อยากมีห่วงยางแบบที่เป็นอยู่

การคิดถึงสิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่ไม่ต้องการ อาจดูเหมือนเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ที่จริงมันให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากทีเดียว สาเหตุเกิดจาก

สิ่งที่เป็นบวกสามารถวัดผลลัพธ์ได้ เช่น คุณสามารถตั้งเป้าหมายว่า ฉันจะลดน้ำหนักลง 2 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน หรือฉันจะมาทำงานเวลา 8 โมงเช้าทุกวัน จะสามารถวัดผลได้ง่ายกว่า การตั้งเป้าหมายว่า ฉันจะไม่อ้วน หรือฉันจะไม่มาทำงานสาย

คุณไม่สามารถสั่งสมองให้ทำในสิ่งลบ ให้คุณทำการทดลองง่ายๆ ด้วยการสั่งเพื่อนว่า “ห้ามมองหาผู้หญิงผมยาว” แล้วลองถามเพื่อนหลังจากนั้น คุณจะพบว่าเพื่อนของคุณกวาดสายตามองผู้หญิงผมยาวโดยอัตโนมัติ แต่หากคุณบอกว่าให้มองดูผู้หญิงผมสั้น ผลลัพธ์จะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เริ่มต้นทำอย่างมีกลยุทธ์ 

การเริ่มต้นทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่ดี แต่หากเราใช้วิธีการเดิมๆ เช่น หากต้องการหางานใหม่ แล้วเริ่มต้นจากการเปิดเว็บไซด์รับสมัครงาน แล้วกรอกใบสมัคร หรือเดินท่อมๆ หาตำแหน่งงานตามบริษัทต่างๆ ซึ่งเราย่อมหนีไม่พ้นผลลัพธ์แบบเดิมๆ แต่หากเราเริ่มต้นอย่างมีกลยุทธ์ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมแต่ต่างออกไป

เทคนิคการค้นหากลยุทธ์ 

แหล่งของกลยุทธ์ที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ มาจากผู้คนที่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ มาแล้ว ให้คุณเริ่มศึกษาและทำตามวิธีที่พวกเขาเหล่านั้นได้กระทำ ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการมีงานใหม่ที่ดีกว่าเดิม ให้ลองสังเกตจากเพื่อนที่มีหน้าที่การงานที่ดี แล้วค้นหาว่าพวกเขาใช้วิธีการหางานอย่างไร มีอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่เราเคยทำอยู่เดิมบ้าง

สิ่งที่เราต้องการสำหรับการค้นหากลยุทธ์เหล่านี้คือ “สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำจริงๆ” หลีกเลี่ยงการเชื่อในทันที หลังจากการสอบถามหรืออ่านบทสัมภาษณ์ของบุคคลต้นแบบของคุณ สิ่งที่เราควรทำคือสังเกตสิ่งที่พวกเขาทำในแต่ละวันเพื่อให้ประสบความสำเร็จ คุณอาจจะลองนัดหมายพวกเขาเหล่านั้นเพื่อสังเกตสิ่งที่คุณต้องการจะเห็น หรือสอบถามพวกเขาประกอบเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “เชื่อในสิ่งที่คุณเห็น” มากกว่า “สิ่งที่คุณได้ยินมา”

สิ่งต่างๆ จะเริ่มเป็นไปในทางที่ดี 

เมื่อคุณเริ่มตั้งเป้าหมายอย่างมีกลยุทธ์แล้ว คุณจะพบว่าสิ่งต่างๆ ในชีวิตของคุณจะเริ่มเข้าใกล้ “การประสบความสำเร็จ” อย่างที่คุณจินตนาการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่ลดลง รูปร่างที่ดีขึ้น ฐานะการเงินที่มั่นคงขึ้น หรืออะไรก็ตามที่คุณได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้

หากคุณพบว่าสิ่งต่างๆ กำลังเป็นไปได้ด้วยดี ขอให้ทำสิ่งเหล่านั้นต่อไปอย่าได้หยุดยั้ง คุณจะพบกับผลลัพธ์ที่ดีขึ้นและดีขึ้นเรื่อยๆ  แต่หากคุณพบว่ายังอยู่ห่างไกลจาก “การประสบความสำเร็จ” แล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้คุณรีบเปลี่ยนกลยุทธ์ที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากแสดงว่ากลยุทธ์นั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันของคุณนั่นเอง

เหตุการณ์ที่ดำเนินไปด้วยดีแสดงให้เห็นว่าคุณทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และขั้นตอนต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ให้คุณทำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นให้กลายเป็น “ส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ” เป็นเหตุการณ์ปกติที่คุณทำอย่างสม่ำเสมอ แล้วคุณจะยิ่งพบว่าการประสบความสำเร็จนั้นไม่ได้ยากเกินไปกว่าความพยายามของคุณเลยค่ะ

 

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี?

โฟกัสกับงานนานๆ ไม่ได้ทำอย่างไรดี?

          การทำงานใดๆ ให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการมีสมาธิหรือ “การโฟกัส” กับงาน และยิ่งสามารถทำงานได้โดยปราศจากสิ่งรบกวนจนเกิด “ภาวะลื่นไหล” ในการทำงานได้แล้วล่ะก็ เราจะพบกับผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ

แต่ความเป็นจริงในชีวิตการทำงาน บ่อยครั้งที่เราพบว่าได้สูญเสียเวลาในแต่ละวันไปโดยที่งานไม่มีความคืบหน้า การทำตัวยุ่งอยู่ตลอดทั้งวัน หรือการทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำกลับไม่ได้ทำให้ชิ้นงานของคุณออกมาดีอย่างที่ต้องการ

นั่นเป็นเพราะเราไม่สามารถโฟกัสกับงานที่ทำได้นั่นเอง

สิ่งเหล่านี้เรายืนยันได้จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ในปี 2008 ที่พบว่าการนั่งอยู่โต๊ะเป็นเวลานานๆ จะลดประสิทธิภาพของการทำงานลง แต่หากมีการพักเบรกช่วงสั้นๆ สลับไปกับการทำงานจะช่วยให้เกิดสมาธิและเพิ่มพลังงานมากขึ้น

สอดคล้องกันกับการวิจัยด้านสุขภาพหลายชิ้นที่สรุปออกมาเหมือนกันว่า การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และมะเร็ง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับผู้ที่ติดกับดัก “การบ้างาน” และไม่ใส่ใจต่อการเคลื่อนไหวออกกำลังกาย

แม้ว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างที่เราเคยทราบมาบ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ ยิ่งในสภาวะที่มีงานเร่งด่วนจนล้นมือ  แต่ข่าวดีก็คือ Dr. ElinEkblom-Bakนักวิจัยชาวสวีเดนได้ค้นพบในปี 2010 ว่า เราสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเหล่านั้นได้ด้วย“การพักเบรกช่วงสั้นๆ” ในขณะทำงาน

การพักเบรกช่วงสั้นๆ นี้ เป็นหลักการที่สอดคล้องกับเทคนิคที่มีชื่อว่า “โพโมโดโร เทคนิค” ซึ่งคิดค้นขึ้นมาในปี 1980 โดย Francesco Cirilloและถูกตีพิมพ์ในหนังสือขายดีที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้ และยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

เทคนิคชื่อแปลกนี้ ได้แนวคิดมาจาก “โพโมโดโร” ซึ่งเป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่ามะเขือเทศ เนื่องจากขณะที่ Cirilloเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ใช้เทคนิคการบริหารเวลาในห้องครัว ด้วยตัวจับเวลารูปมะเขือเทศนั่นเอง

“โพโมโดโร เทคนิค”มีหลักการก็คือให้คุณแบ่งการทำงานออกเป็นช่วงละ 25 นาที คั่นด้วยการพักเบรกช่วงสั้นๆ ก่อนจะเริ่มงานช่วงต่อไป และแนะนำให้คุณทำงานจนครบ 4 ช่วง จากนั้นจึงพักยาวเพื่อเติมพลังให้แก่ร่างกาย

มาเรียนรู้5 ขั้นตอนของเทคนิคโพโมโดโร

1.ตรวจสอบตารางเวลาของคุณ

ก่อนที่จะใช้เทคนิคนี้ให้คุณตรวจสอบตารางเวลาของตัวคุณเอง ว่าจะสามารถนำเทคนิคโพโมโดโร ไปใช้ในช่วงเวลาไหนจึงจะเหมาะสม ซึ่งนั้นแปลว่าคุณต้องรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรช่วงไหนบ้าง และมีเวลาที่เพียงพอในช่วงใดที่จะนำเทคนิคนี้มาใช้ได้สำเร็จ

เนื่องจากนาฬิกาชีวภาพในร่างกายของคนเรา จะโฟกัสสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลายาวนาน 90 – 120 นาที ก่อนที่ร่างกายจะต้องการการพักผ่อน ดังนั้นเทคนิคนี้จึงแนะนำให้คุณทำงานช่วงละ 25 นาทีต่อด้วยการพัก 5 นาที ติดต่อกันเพียง 4 ช่วง แล้วให้พักยาวเป็นเวลา 20 – 30 นาที จึงค่อยกลับมาเข้าสู่ช่วงทำงานอีกครั้ง

2.จัดสภาวะการทำงานให้ปราศจากสิ่งรบกวน

เตรียมอุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการทำงานให้ครบพร้อม วางไว้ใกล้ตัวให้สามารถหยิบฉวยได้ง่าย ทั้งปากกา กระดาษโน้ต และอุปกรณ์จับเวลาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการทำเทคนิคโพโมโดโร

อุปกรณ์จับเวลาไม่ได้จำกัดเฉพาะนาฬิกาเท่านั้น คุณสามารถใช้ได้ตั้งแต่ นาฬิกาจับเวลาสำหรับการทำอาหารเช่นเดียวกับเจ้าของเทคนิค หรืออาจจะใช้การปลุกจากนาฬิกาปลุกธรรมดาบนสมาร์ทโฟน รวมทั้งสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่ใช้เทคนิคโพโมโดโร ซึ่งมีบริการทั้งบนระบบ Android และ IOS

เมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ได้ถูกเตรียมไว้พร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะเริ่มใช้เทคนิคนี้ได้แล้ว จำเอาไว้ว่าเมื่อเริ่มต้นจับเวลาจะต้องสนใจเฉพาะงานที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าเท่านั้น ปิดประตูห้องทำงาน ปิดเสียงแจ้งเตือนต่างๆ ของโทรศัพท์ บอกกล่าวคนในครอบครัวให้รู้ล่วงหน้าด้วยว่าคุณกำลังโฟกัสกับงาน

3.ปล่อยช่วงเวลาทำงานให้ลื่นไหล

ขณะที่เข้าสู่ช่วง 25 นาทีของการใช้เทคนิคนี้ ให้ปล่อยการทำงานของคุณให้ลื่นไหล มุ่งความสนใจแต่กับเฉพาะงานที่เราตั้งใจจะทำให้เสร็จ หากมีไอเดียของงานชิ้นอื่นผุดขึ้นมาในช่วงนั้นอย่าเพิ่งให้ความสนใจกับมัน จดบันทึกเอาไว้แล้วค่อยกลับมาดูอย่างละเอียดทีหลังซึ่งหากมันเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ แล้วล่ะก็ คุณยังสามารถใส่มันเข้าไปในตารางเวลาช่วงอื่นหลังจากทำงานตรงหน้าให้สำเร็จแล้ว

เทคนิคนี้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากคุณทำการจดบันทึกเอาไว้ว่าได้ทำงานสำเร็จไปแล้วกี่ชิ้น และนำข้อมูลระยะเวลาและช่วงเวลาที่ใช้ทำงานมาช่วยวางแผนในการทำงานชิ้นต่อๆ ไป

4.ใช้เวลาพักให้คุ้มค่า

เมื่อถึงช่วงเวลาพักเบรก หลังจากผ่านช่วง 25 นาทีมาแล้ว ให้คุณทำการหยุดทำงานทันทีแม้ว่าคุณจะยัง “ลื่นไหล” ไปกับสิ่งที่ตรงหน้าก็ตาม

สิ่งนี้ค่อนข้างจะขัดกับความเชื่อของเราที่ว่า ควรปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าสมองจะอ่อนล้าหรือรับไม่ไหว แต่ท่านผู้คิดค้นเทคนิคนี้ได้กล่าวว่า การพักเบรก 5 นาที จะช่วยให้เกิดการชาร์ทพลังกลับมาใหม่และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วง 25 นาทีถัดไป เนื่องจากเป็นการบริหารจัดการพลังงานที่เหมาะสม

ช่วงเวลาที่ใช้ในการพัก ให้คุณอยู่ให้ห่างจากโต๊ะทำงาน เดินเล่นไปรอบๆ ยืดเส้นยืดสายให้หายเมื่อย ทำกิจกรรมง่ายๆ ที่ไม่ต้องใช้พลังงานสมองมากเกินไป เช่น การชงกาแฟ ดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำ การพักด้วยกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายของคุณ

และที่สำคัญอีกสิ่งก็คือ หลีกเลี่ยงการคิดถึงเรื่องงานที่เพิ่งวางเอาไว้ และ ไม่ควรใช้เวลาพักไปกับการท่องโลกโซเชียล หรือเช็คอีเมลต่างๆ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการสายตาเสียจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือนานจนเกินไป

5.เข้าช่วงพักยาวเมื่อครบ 4 ช่วงเวลา

ตั้งอกตั้งใจทำงานให้ครบ 4 ช่วงเวลา และเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง ให้เคารพหลักเกณฑ์ของเทคนิคนี้ด้วยการพักยาว 20 – 30 นาที แม้ว่าคุณอาจจะยังไม่อยากพักมากนักก็ตาม

ใช้เวลาพักยาวไปกับการรับประทานอาหารมื้อหลัก กินของว่าง อ่านหนังสือ เล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวโปรด หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่อยู่ห่างจากโต๊ะทำงานของคุณเอาไว้ เพื่อผ่อนคลายจากการทำงานมาเป็นระยะเวลานาน

ฟังความต้องการของร่างกายคุณเป็นสำคัญ

แม้ว่าเทคนิคนี้จะแนะนำให้ใช้เวลา 90 -120 นาทีก่อนเข้าสู่ช่วงพักยาว แต่หากร่างกายของคุณเหนื่อยล้าเกินไป หรือเริ่มรู้สึกว่า “หลุดโฟกัส” บ่อยครั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องฝืนทำให้ครบช่วงเวลาแต่อย่างใด ให้คำนึงด้วยว่าคุณอาจใช้พลังงานสมองมาช่วงระยะหนึ่งก่อนที่จะทำเทคนิคนี้ก็ได้

ค้นหาระยะเวลา รวมถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับตัวคุณ

สำหรับบางคน ระยะ 20 นาที พัก 5 นาที อาจทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากกว่าก็ได้ และแต่ละคนจะมีสมาธิในการทำงานในช่วงเวลาต่างๆ ได้ดีแตกต่างกัน บางคนเป็นช่วงเช้า บางคนเป็นช่วงเวลาหัวค่ำ หรือกลางดึก ให้คุณค้นหาสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง

ข้อดีและข้อเสียที่ควรรู้ของเทคนิคโพโมโดโร

ข้อดีก็คือ การหั่นเวลาให้สั้นลงจะช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงานให้สูงขึ้น และยังช่วยลดสิ่งรบกวนจากการทำงานให้น้อยลง ช่วยแก้นิสัยพลัดวันประกันพรุ่งให้ดีขึ้น เพราะเราจะรู้สึกว่ามีช่วงเวลาที่ชัดเจนเป็นตัวกำหนดขอบเขตในการทำงานแต่ละชิ้นสิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานของเราประสบความสำเร็จได้ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้การพักเบรกช่วงสั้นๆ จะทำให้สมองปรับตัวรับข้อมูลได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการคิดไอเดียใหม่ๆ ได้มากขึ้น

เจ้าตำรับของเทคนิคนี้ยังระบุด้วยว่า โพโมโดโรสามารถใช้กับผู้เป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Disorder) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีโพโมโดโร ไม่ได้เหมาะสมกับทุกๆ คน สำหรับบางท่านแล้วไม่ชอบเอาเสียเลยกับการถูกขัดจังหวะในช่วงที่กำลังทำงานอย่างลื่นไหล นอกจากนี้หากคุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานหลายคนในห้องเดียวกัน การทำงานให้ยาว 25 นาทีโดยไม่ถูกขัดจังหวะก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้สรุปได้ว่า “โพโมโดโร” เป็นเทคนิคที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องลงทุนสูง เพียงแค่คุณมีตัวจับเวลาและความเชื่อมั่นว่า “จะต้องทำสำเร็จ” เพียงสองสิ่งเท่านั้น คุณก็จะสามารถโฟกัสกับงานของคุณได้นานขึ้นอย่างน่าทึ่ง อย่าเพิ่งเชื่อนะคะจนกว่าจะได้ทดลองด้วยตัวคุณเองค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining  

4 วิธีใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

4 วิธีใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

          เคยไหมคะ บางครั้งเวลาเราพบเจอกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากหรือมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต แล้วมีบางสิ่งบางอย่างผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของคุณ ชักนำให้คุณอยากจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นในทันทีทันใด นั่นเรียกว่าการตอบสนองไปตาม “สัญชาตญาณ”

สัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่ลึกลับและเข้าใจได้ยาก มีส่วนคล้าย “ความคิดสร้างสรรค์” ตรงที่เกิดจากแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก แต่มีความแตกต่างกันตรงที่สัญชาติญาติจะเกิดขึ้นแบบ “ปิ๊งแว้บ” ขึ้นมาอย่างฉับพลันแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ความรู้สึกฉับพลันที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะไม่สนใจและปล่อยผ่าน เนื่องจากเป็นสิ่งที่หาเหตุผลมารองรับไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้ว “ลางสังหรณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน” เหล่านี้ สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้หากเรารู้จักวิธีที่จะจัดการกับลางสังหรณ์เบื้องต้นเหล่านี้ อย่างเช่นที่มีงานวิจัยกล่าวเอาไว้ว่า ความรู้สึกปิ๊งขึ้นมานี้เป็นความรู้สึกที่ชักนำเราไปในทางที่ถูกต้อง

สัญชาติญาณจะแม่นยำที่สุดเรื่องไหน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเชื่อสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ วิธีการก็คือให้เราลองสังเกตว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เราได้เคยมีประสบการณ์มาแล้วบ่อยครั้งหรือไม่ เช่น หากเราคุ้นเคยกับการสื่อสารกับผู้คนมากหน้าหลายตา ย่อมมีความรู้สึกตามสัญชาตญาณในเรื่องชอบ ไม่ชอบ ไว้ใจ หรือไม่ไว้ใจกับผู้คนที่เราพบเจอกันใหม่ได้อย่างมาก ลักษณะเช่นเดียวกันกับ “นักพยากรณ์ดวงชะตา” ที่จะสามารถนำความชำนาญจากการทำนายดวงชะตาหลายสิบปีมาประเมิน“เจ้าชะตา” ที่เพิ่งพบเจอได้อย่างแม่นยำ และใช้เวลาในทำนายทายทักอย่างรวดเร็วมากกว่านักพยากรณ์ที่ยังมีประสบการณ์น้อย

การใช้สัญชาตญาณถึงมีข้อจำกัดและควรระวังในสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว นั่นคือหากเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นน้อยเกินไป หรือหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณได้อย่างแท้จริง เช่น เมื่อเกิดความกลัว หรือเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงเป็นพิเศษ

สัญชาตญาณมาจาก “จิตใต้สำนึก” ซึ่งตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบได้อย่างรวดเร็วและรวมรวมข้อมูลได้มากกว่า “จิตสำนึก” ดังนั้นหากเป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจมีความซับซ้อน ควรฟัง “สัญชาตญาณ” ก่อน แต่หากเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าให้ใช้เหตุผลในการหาคำตอบ

ขั้นตอนการใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

ขั้นตอนที่ 1 หมั่นฝึกจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นครั้งแรก

เมื่อมีความประทับใจแรกเกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มันจะพุ่งผ่านจิตใต้สำนึกของคุณเข้ามาเหมือนลูกดอก ให้คุณใช้ความตั้งใจของคุณเป็นตาข่ายที่จะจับเจ้าความรู้สึกเหล่านั้นให้ทัน และให้หมั่นจดบันทึกเมื่อเกิดความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าปกติเพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อเกิดความประทับใจขึ้นให้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า อะไรที่กระตุ้นให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น สาเหตุที่มันเกิดขึ้นเป็นเพราะอะไรกันแน่ เป็นเพราะรายละเอียดบางอย่างของเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกที่รุนแรงขึ้นมาหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว

ขั้นตอนที่ 3 ตรองดูผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

ให้เวลาตัวเองสักนิด นั่งลงเงียบๆ และไต่ตรองดูว่า “จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากเราไว้ใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น และลองทำตามความรู้สึกพวกนี้” บางครั้งการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราได้กระทำไปแล้วนั้นจะเป็นอย่างไร วิธีนี้จึงช่วยให้คุณประเมินสถานการณ์ได้เหมาะสมขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 ตรวจสอบสมมติฐาน

นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการใช้สัญชาตญาณ คุณควรจะตรวจสอบสมมติฐานของตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าการโต้ตอบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดมาจากข้อมูลที่ผิดพลาด หรือใช้ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวในการโต้ตอบออกไป วิธีนี้จะช่วยให้เราใช้สัญชาตญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความสำเร็จในชีวิตเกิดขึ้นมาได้ไม่ยาก หากใช้ “สัญชาตญาณ” ร่วมด้วยในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างที่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตท่านอื่นๆ ได้ใช้มาแล้ว เพียงแค่เราต้องหมั่นฝึกฝนและรู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้สัญชาตญาณ คุณอาจจะต้องแปลกใจหากพบว่า สิ่งนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนทำได้ง่ายกว่าการใช้เหตุผลล้วนๆ ในการตัดสินใจเสียอีกค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

3 วิธีต่อยอดงานประจำให้ทำเงิน

3 วิธีต่อยอดงานประจำให้ทำเงิน

          ในยุคปัจจุบันกระแสการเพิ่มรายได้ด้วยการ “ลาออกจากงานประจำ” หรือ “ทำรายได้จากงานไม่ประจำกันดีกว่า” เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยม

แต่หากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ หรือยังไม่พร้อมที่จะลาออกจากงานประจำแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ วันนี้เรามีวิธีในการทำให้รายได้จากงานประจำของเราเพิ่มพูนขึ้น จนคุณอาจเลิกล้มความคิดที่จะลาออกอีกต่อไป

เป็นไปได้หรือที่จะทำเงินเพิ่มจากงานประจำ?

เงินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดก็จริง แต่ว่าโอกาสในการสร้างเงินมีอยู่ในทุกอาชีพ แม้แต่อาชีพที่มีรายได้ไม่มากนักก็ยังมีกลุ่มผู้ที่สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำขึ้นมาได้ ดังนั้นการสร้างเงินเพิ่มจากงานที่คุณทำอยู่เป็นประจำจนมีความชำนาญแล้วย่อมเป็นไปได้

คำแนะนำ 3 ข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณสร้างรายได้จากงานประจำที่คุณทำอยู่มากขึ้น จนคุณอาจจะคาดไม่ถึงเลยก็ได้ค่ะ

วิธีที่ 1 ค้นหาPassion ของคุณให้พบ

มองหา “สิ่งที่คุณหลงใหลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” หรือที่เราเรียกว่า “Passion” ของคุณให้พบ วิธีการก็คือคุณไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะบทบาทหน้าที่หลักในอาชีพของคุณ ให้ค้นหาว่าคุณยังมีสิ่งใดที่ชอบ มีความสุขที่ได้ทำ ได้แบ่งปัน หรือได้พูดถึงสิ่งนั้น เช่น หากคุณเป็นคุณครู นอกจากการสอนหนังสือแล้วคุณอาจจะหลงใหลในการถ่ายภาพ หากคุณเป็นคุณหมอคุณอาจรักในการเรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือคุณอาจชอบวาดภาพแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานในสาขาอาชีพนี้เลยก็ได้

เคล็ดลับ ในขั้นตอนการค้นหายังไม่ต้องกังวล หรือคิดไปล่วงหน้าว่าจะนำ Passion ที่เรามีไปทำอะไรได้ต่อไป

 

วิธีที่ 2 Skill จากงานประจำช่วยทำเงิน

ในขั้นตอนที่สองนี้ ให้คุณวิเคราะห์สิ่งที่คุณทำอยู่เสมอในงานประจำหรือในชีวิตประจำวันของคุณ ว่าใช้ทักษะอะไรบ้าง ลองสังเกตว่าทักษะใดที่คุณมีความเชี่ยวชาญ สามารถทำได้เป็นอย่างดี ทำได้อย่างลื่นไหลเป็นอัตโนมัติ ตัวอย่างของทักษะที่คุณควรลองค้นหาดู ก็คือ ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านการสื่อสาร ทักษะด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และทักษะด้านการเขียน เป็นต้นค่ะ

เคล็ดลับ ทุกงานประจำที่เรียบง่าย และอาจขาดความตื่นเต้นท้าทาย มักจะมีทักษะสำคัญหลายอย่างซ่อนอยู่

 

วิธีที่ 3 Connection ส่วนสำคัญที่สร้างได้

เครือข่าย หรือ Connection เป็นส่วนสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้อีกสองข้อข้างต้น ทั้งสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่ทำงานประจำก็ตาม ทั้งนี้เครือข่ายที่กล่าวถึงมีส่วนสำคัญทั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ และเครือข่ายแบบออฟไลน์ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ social network เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันรวมถึงในการทำงานของเรา ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้อย่างไม่จำกัด

ทำไม “connection” จึงสำคัญ? 

คำตอบของคำถามนี้ก็คือ มันเป็นส่วนที่เราจะนำ “Passion” และ “Skill” ที่เราค้นหามาใช้ต่อยอดและเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง เช่น หากเรามีความหลงใหลด้านเทคโนโลยี และมีทักษะการใช้โปรแกรม excel เป็นอย่างดีเราก็สามารถนำทักษะด้านนั้นมาเผยแพร่โดยการเปิดกลุ่มสอนแบบเจอหน้า หรือผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อทำเงินให้เราได้นั่นเองค่ะ

การประสานวิธีทั้ง 3 เข้าด้วยกันเป็นกระบวนการที่จะทำให้การหาเงินเพิ่มจากงานประจำเป็นไปได้ และเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมาย เหมือนที่มีผู้เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าหาก“Passion” คือเมล็ดพันธุ์“Skill”ก็คือการรดน้ำพรวนดินให้เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตงอกงาม และ“connection” ก็เปรียบเสมือนกลุ่มคนที่เดินอยู่ในตลาดค้าขายพืชที่เราปลูกนั่นเอง

เมล็ดพันธุ์ของคุณคืออะไร ค้นหาให้พบโดยเร็วที่สุดนะคะ อย่าปล่อยให้โอกาสที่คุณจะร่ำรวยจากงานประจำของคุณหลุดลอยไปได้ค่ะ!

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

3 วิธีกำจัดความรู้สึกลบในงานขาย

3 วิธีกำจัดความรู้สึกลบในงานขาย

          การซื้อสินค้าจากแหล่งซื้อขาย อย่างห้างสรรพสินค้าย่อมมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักๆ คือ ลูกค้าและพนักงานขายสินค้า ซึ่งหากคุณเป็นลูกค้าแล้วล่ะก็ ในสถานการณ์นี้คุณย่อมเป็นผู้ที่ “ถูกต้องเสมอ” อยู่แล้ว ไม่ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตาม และคุณจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ทั้งการโค้งคำนับขณะเข้ามาในห้างร้าน การให้ข้อมูลสินค้า และข้อมูลส่งเสริมการขายต่างๆ

แต่หากคุณเป็นฝ่ายที่ต้องเป็น “พนักงานขาย” ล่ะ คุณจะพบว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปทันที คุณจะเป็นฝ่ายต้องรับกับลูกค้ามากหน้าหลายตา ทั้งลูกค้าขาประจำและลูกค้าใหม่ เดินเข้ามาพร้อมกับกลุ่มเพื่อนหรือเดินเข้ามาตามลำพังคนเดียว ทั้งครอบครัวที่เข้ามาพร้อมหน้าแบบพ่อแม่ลูก หรืออาจมีแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่มาพร้อมรถเข็น

เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น มีตั้งแต่ลูกค้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสกับพนักงานขาย ไปจนถึงลูกค้าที่อารมณ์เสียตั้งแต่ก่อนเข้ามาในร้านค้า เร่งรีบเพราะต้องรีบใช้ของที่มาซื้อภายใน 5 นาทีนี้ หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่เฉยเมย ไม่แม้กระทั่งสบตาหรือยิ้มรับการยกมือไหว้ของพนักงานของร้านนั้น

นี่เป็นสิ่งที่เกิดเป็นปกติ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความรู้สึกของลูกค้าและความรู้สึกของพนักงานขายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ความรู้สึกของลูกค้าสำคัญอย่างไร

เมื่อมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและพนักงานขายเกิดขึ้น อาจจะเกิดการซื้อขายขึ้นมาหรือไม่ก็ได้ หากความสัมพันธ์เป็นไปได้ด้วยดี จะทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกสบายใจ พึงพอใจ และประทับใจ  ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าขึ้น หรือหากลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อในขณะนั้น การกลับมาซื้อสินค้าในวันหลัง หรือการกลับมาซื้อซ้ำย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก ดังนั้นความรู้สึกของลูกค้าจึงมีความสำคัญมากทีเดียว

ความรู้สึกของพนักงานขายสำคัญอย่างไร

น้อยครั้งมากที่เราจะค้นหาและใส่ใจความรู้สึกของพนักงานขาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกของพนักงานขายจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ แท้ที่จริงแล้วเรื่องนี้เรียกได้ว่าสำคัญมากสำหรับการธุรกิจ เพราะหากพนักงานขายเกิดความรู้สึกทางลบขึ้น จะทำให้การให้บริการเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น และทำให้ความสุขในการทำงานของพนักงานขายลดลงอีกด้วยค่ะ

ความรู้สึกด้านลบที่ควรกำจัดทิ้งไป 3 ประการ

1.ความรู้สึกสงสารตัวเอง

เมื่อใดที่เราต้อง “ทำดี กับคนที่ไม่ได้ดีตอบ” หรือต้องยิ้มแย้มต้อนรับคนที่ไม่แม้แต่จะสบตาเราขึ้นมาละก็ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นมาก็คือ “รู้สึกสงสารตัวเอง” ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้ เนื่องจากเราต้องสูญเสียความภาคภูมิใจในตัวเอง จนบางครั้งอยากจะเลิกทำหน้าที่พนักงานขายเสียให้รู้แล้วรู้รอด

ภาพพจน์แห่งความไร้ค่า นอกจากจะเกิดจากความรู้สึกที่พนักงานขายได้รับจากลูกค้าแล้ว ยังเกิดจากภาพพจน์ที่แสดงออกมาทางสื่อต่างๆ ที่มักแสดงให้เห็นว่างานขายหรืองานบริการ เป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ต้องเป็นเบี้ยล่างให้กับลูกค้า

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบ ให้เราลองหัดมองว่า แท้ที่จริงแล้วการที่ผู้อื่นจะมองเห็นเราเป็นอย่างไรนั้นไม่ได้ทำให้คุณค่าของตัวเราเองลดลงแต่อย่างใดนะคะ คุณค่าของตัวเราเองอยู่ที่ “ความคิดของตัวเราที่มองเห็นตัวเอง” ต่างหากค่ะ

2.ความรู้สึกโกรธลูกค้า

การให้บริการแก่ลูกค้า พนักงานขายมักให้บริการอย่างเต็มอกเต็มใจ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความคาดหวังว่าลูกค้าย่อมต้องรู้สึกพึงพอใจต่อการให้บริการ และซื้อสินค้าหรือบริการกลับไป

แต่ความเป็นจริงแล้ว การที่ลูกค้าซื้อสินค้าหรือไม่ซื้อนั้นอยู่ที่ความสมัครใจของลูกค้าเอง เราไม่สามารถไปบังคับใจลูกค้าได้ เหตุผลในการซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าและบริการมีเหตุผลหลายอย่าง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเต็มที่ในการบริการของเราเพียงอย่างเดียว

และนอกจากนั้นลูกค้าบางประเภท ยังมีพฤติกรรมแง่ลบต่อพนักงานขาย ทั้งที่เกิดจากการไม่พึงพอใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดจากบุคลิกลักษณะส่วนตัวของลูกค้าเอง เช่น ลูกค้าที่ไม่ยิ้มแย้ม พูดจาห้วน หรือเปิดใจรับฟังสิ่งที่เรานำเสนอ ซึ่งเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกของลูกค้าให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการได้

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบ สิ่งที่พนักงานขายทำได้ในกรณีนี้ก็คือ เข้าใจและยอมรับว่า บุคคลแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน และเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกหรือความคิดของใครได้ ยกเว้นแต่ว่าเขาจะต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง เช่นเดียวกันกับ “ความรู้สึกโกรธ” ของเรา เราเองก็เป็นผู้ที่ควบคุมได้

มองเห็นลูกค้าเป็นกัลยาณมิตรคนหนึ่ง มีความปรารถนาดีอยากให้ลูกค้าได้รับสินค้าและบริการที่ดี ให้ในสิ่งที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นของแถม หรือส่วนลด หากเราสามารถให้ได้ เพียงเท่านี้เราก็จะเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เบาบางลงได้ค่ะ

3.ความรู้สึกอิจฉาลูกค้า

 การปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน พนักงานขายจะต้องพบกับลูกค้าที่มี “อำนาจเหนือกว่า” ในการตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าและบริการหรือไม่ ซึ่งพนักงานขายได้แต่ยอมรับผลของการตัดสินใจนั้น ทำให้เกิดความรู้สึก “อิจฉา” ก่อตัวขึ้นมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้

ผลของความรู้สึกอิจฉา ทำให้พนักงานขายแสดงพฤติกรรมเชิงลบออกมา ทั้งการนินทาลูกค้าหลับหลัง การแสดงออกทางสีหน้าที่ไม่สบอารมณ์อย่างปิดไม่มิด พฤติกรรมเหล่านี้หากลูกค้าจับได้อาจก่อให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลาย กลายเป็นต่างฝ่ายต่างเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ซึ่งนั้นไม่เป็นผลดีต่อเราเลยนะคะ

วิธีกำจัดความรู้สึกด้านลบให้เปลี่ยนความรู้สึกอิจฉา หรือหมั่นไส้ต่อลูกค้า มาเป็นการใส่ใจต่อความต้องการของลูกค้าอย่างจริงใจแทน ว่าลูกค้าต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำอะไร และตอบสนองสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ตรงจุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมิตรภาพระหว่างเราและลูกค้า และเปลี่ยนลูกค้าเป็นมิตรแทนที่จะเป็นศัตรูต่อกัน

ในการทำหน้าที่พนักงานขายหรือให้บริการ หมั่นสังเกตความรู้สึกของตัวเองว่ามี 3 สิ่งนี้ผุดขึ้นมาบ้างหรือไม่ บ่อยครั้งเพียงใด และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นความรู้สึกแง่บวก ซึ่งจะทำให้เรามีความสุขกับการขาย และทำยอดขายได้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายดายยิ่งขึ้นค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรามีความยินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

4 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในที่ทำงาน  

4 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในที่ทำงาน

          ในหนึ่งวันคุณอาจมีอารมณ์แปรเปลี่ยนไปได้หลากหลายรูปแบบ มีทั้งความสุข ทุกข์ เครียด กังวล ดีใจ โล่งใจ หิว เหวี่ยง และอารมณ์อื่นๆ  ซึ่งหากอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเพื่อนหรือคนรอบข้างคุณ คุณอาจมองว่าเป็นปัญหาเล็กนิดเดียว แต่ในทางกลับกันพวกเขาอาจรู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขา

อย่าตัดสินปัญหาของคนเราด้วยการเปรียบเทียบกัน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ควรตัดพ้อหรือโทษโชคชะตาเมื่อเจอกับปัญหา

สติปัญญา คือ สิ่งที่ช่วยทำให้คุณมองปัญหาออก และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ถ้าคุณมีความฝันและปรารถนาชีวิตที่มีความสุข คุณต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าคุณชอบทำอะไร สามารถทำอะไรได้ดี ทำอะไรแล้วมีความสุข และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คุณต้องยอมรับความจริงก่อนว่าคุณมีสัญญาณว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในการทำงานเอาซะเลย

1.คุณมีความสัมพันธ์ที่อึดอัด

ความรักเป็นสิ่งสวยงามที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับชีวิตคุณ เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรักเริ่มทำร้ายคุณ ทำให้ชีวิตแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น และทำให้เสียใจบ่อยๆ คุณควรจะหันมาให้ความรัก และคุณค่ากับตัวเอง มากกว่าจะไปให้ความสำคัญกับคนที่ไม่สนใจและทำร้ายความรู้สึกคุณ  อย่าได้เสียดายเวลาที่สูญเสียไป แต่จงเสียดายเวลาในอนาคต หากคุณต้องทนอยู่อย่างไม่มีความสุข ยอดตัดความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่เสียตั้งแต่ตอนนี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต

2.คุณไม่ยอมตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิต

สิ่งรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของพฤติกรรมที่แย่ เพื่อนที่แย่ สิ่งแวดล้อมที่แย่  ทุกอย่างคือปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคุณไม่มีความสุข  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนแย่ๆ ที่ชอบยืมเงินและไม่คืนคุณ  บ้านหรือที่อยู่อาศัยคุณที่อยู่ใกล้เพื่อนบ้านที่นิสัยไม่ดี พฤติกรรมการตื่นสายที่แก้ไม่ได้  หรือ พฤติกรรมการติดเหล้าติดบุหรี่  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งรบกวนที่ทำให้ชีวิตคุณแย่ลงเรื่อยๆ  คุณอาจเคยคิดที่จะตัดมันออกไปจากชีวิต แต่ถ้าคุณแค่คิด แต่ไม่สามารถตัดสิ่งไม่ดีออกไป ท้ายสุดคุณก็ไม่มีความสุขที่แท้จริงอยู่ดี

3.คุณเต็มไปด้วยความสงสัยและความกลัว

คุณอาจเคยผิดหวังมามาก คุณอาจกลัวในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มีคำถามสงสัยเต็มหัวไปหมด ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างไร ซึ่งบางทีเรื่องราวเหล่านั้นยังไม่เกิด และอาจไม่เกิดเลยก็ได้ การที่คุณคิดไปเองก่อน ทำให้คุณเป็นทุกข์และกังวลเปล่าๆ ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณกำลังมีความคิดวนเวียนซ้ำๆ ซากๆ มีความสงสัย ความกังวลในเรื่องเดิมๆ นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่าคุณกำลังไม่มีความสุขเอาเสียเลย

4.คุณผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ

การที่คุณบอกตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยทำ และผลัดมันไปเรื่อยๆ คือปัญหาสะสมเรื้อรัง และดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณเลื่อนไปเรื่อยๆจะไม่มีทางเป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่มีใครอยู่ได้ไปตลอดกาล ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาก่อน คุณควรทำในสิ่งที่คุณอยากทำตอนนี้ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป การผัดผ่อนสิ่งต่างๆ ในชีวิตออกไปเรื่อยๆ เป็นอีกสัญญานที่บ่งบอกว่าคุณยังไม่พร้อม หรือ ติดค้างปัญหาอื่นๆอยู่

การเปลี่ยนแปลงคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง คุณต้องมีความเชื่อก่อนว่าคุณสามารถทำได้ และสามารถทำได้ดีด้วย คุณสามารถมีชีวิตอย่างมีความหวัง และมีความสุข ไม่มีสิ่งไหนในชีวิตได้มาง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม ชีวิตคุณลิขิตได้ เพียงแค่คุณเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยการเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อทำให้ชีวิตคุณมีความสุขขึ้น

คุณมีชีวิตที่มีความสุขหรือยัง?

หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีความสุขมากกว่าเดิม ขอแนะนำหลักสูตร

“Personal Mastery : หลักจิตวิทยา พัฒนาคุณเป็นคนใหม่ใน 1 วัน”

ดูรายละเอียด คลิกที่นี่

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาคนในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 02645

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่า คุณยังฟังไม่เป็น

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่า คุณยังฟังไม่เป็น

“ยิ่งคุยกันมากขึ้น ทำไมเรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

บทความนี้ ผมจะเล่าถึง 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คนเรามักจะทำผิดพลาด ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักๆมาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้องอาศัย “สติ” และการ “เอาใจใส่”

ส่วนการได้ยิน เกิดขึ้นเองที่หู โดยเราไม่ต้องพยายามอะไร

 

ดังนั้น เรามีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่องๆนั้นเลย เป็นเหตุให้การสนทนาในชีวิตประจำวัน หากเราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายจริงๆ นั่นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นปมความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะ และเลิกคบหากันในเวลาต่อมา

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจมั้ย ว่าคุณฟังเป็น ? 

ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม  เรามักจะพลาดกัน ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังแบบผิดๆแบบนี้บ้างหรือไม่

1.ฟัง แบบคิดล่วงหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอ “คิดไปดักหน้า” หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เค้าเสร็จสรรพ

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่เราคิดมโนไปนั้น ก็ได้พลาดสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เค้าต้องการเลย

Tips: ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

ข้อนี้คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อนมักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น

และยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีต เรายิ่งจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่เรามีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆครั้ง อาการอินของเรา หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ย่อมจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้เราละเลยผู้พูดไป อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

Tips: เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเค้าได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วเราก็จะสามารถฟังได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง 

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น

แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชทได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

คนที่ใจลอยบ่อยๆเมื่อต้องฟังนั้น หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่องๆนั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าฟัง แต่หากสังเกตด้วยการมองตา ก็จะรู้เลยว่า ใจเค้าไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เค้าจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

Tips: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือเราไม่สะดวกคุยตอนนี้ 

การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆแล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเค้าจะรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว เราฟังเค้าอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่า เสียวเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่หากลองคิดให้ดี ในแต่ละครั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามบริบทและเวลา การรีบด่วนตัดสินนั้นย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่เรารับรู้ในอดีตเท่านั้น เราจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

Tips: เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้นๆไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

บทความนี้ ทำให้เรารู้ว่า “การฟัง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจมองข้ามไม่ได้

หากเรามีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย เราก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเค้าอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟังหากเราสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล

และจะส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว อย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

www.learninghubthailnd.com

หากคุณต้องการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารกับทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

17 พ.ย. นี้ โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save