5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์

เป็นความจริงที่ว่ามนุษย์ออฟฟิศอย่างเราสามารถเลือกบริษัทใหญ่โตที่ดูมั่นคงเพื่อไปทำงานด้วยได้ เราเลือกโลเคชั่นหรือสถานที่ทำงานที่สะดวกในการเดินทางได้ แต่เราแทบจะไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าได้เลย

เพื่อนร่วมงานดีและหัวหน้างานน่ารักย่อมทำให้ชีวิตการทำงานของเรามีความสุข แต่ถ้าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้องติดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่มีเหตุผล นิสัยเสีย เจ้าอารมณ์นั่นหมายความว่า ชีวิตการทำงานของเราก็คงไม่เป็นสุข ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่องาน และประสิทธิภาพในการทำงานด้วย

=====

จากประสบการณ์ในการทำงานอบรมและโค้ชผู้บริหารมานานหลายปี เราได้ถอดบทเรียนเทคนิควิธีการในการรับมือและสื่อสารกับ “เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่น่ารัก” เหล่านั้นมาให้คุณแล้ว 


1. ปรับอารมณ์ก่อนพูดคุยกับพวกเขา

สิ่งแรกที่เราอยากบอกกับคุณก็คือ … เรารู้ว่าคุณโดนอะไรมา แต่ถ้าคุณกำลังรู้สึกแย่กับคำพูด หรือการกระทำของเขา จงอย่าตอบโต้ตามอารมณ์คุกรุ่นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยถ้อยคำรุนแรงหรือท่าทางที่ไม่พอใจ  เพราะมันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ทั้งยังจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีกด้วย  

การใช้อารมณ์  “เหวี่ยงร่วม(เขาแรงมาเราแรงตอบ)” นอกจากจะทำให้ตัวเราดูแย่ ยังทำให้บรรยากาศแย่ตามไปด้วย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ที่คนในองค์กรมองมาที่คุณ

จงสูดหายใจเข้าลึกๆ ควบคุมสติ ประคองอารมณ์ ทำตัวสวยๆ พูดคุยกันด้วยเหตุผล  มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอเพียงเริ่มจากความคิดในใจของคุณเองว่า

“ฉันทำได้… ฉันรับมือได้… ”

=====

2. พูดคุยกับคนอื่น เพื่อระบายความรู้สึกแย่ๆ ออกมา

คุณอาจจะเพิ่งโดนเหวี่ยงมา ทั้งที่คุณไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อนเลย… เวลานี้ คุณอาจต้องการคนคุยด้วย เพื่อระบายความอึดอัด และเพื่อให้คุณรู้สึกแย่น้อยลง

ลองแชร์เรื่องราวของคุณกับเพื่อนหรือคนที่ไว้ใจ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เสริมอคติส่วนตัว ถ้าเป็นไปได้อย่าเพิ่งด่วนตัดสินผิด-ถูก ลองฟังความคิดเห็นจากคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้นเพื่อให้คุณมองเห็นภาพที่กว้างขึ้น

บ่อยครั้ง คนเหล่านั้นก็จะมีความคิดดีๆ ให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะพวกเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมมองของคนนอก ทำให้สามารถมองด้วยเหตุผล และไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินได้

แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของพวกเขาทั้งหมด เพราะการที่คุณได้ระบายสิ่งที่อึดอัดโดยมีคนรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์และเป็นกลาง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้อารมณ์ของคุณดีขึ้นได้แล้ว

=====

3. เปลี่ยนมุมมองในใจโดยการทดลองคิดด้วยมุมของเขาดู

การเปลี่ยนมุมมอง แล้วย้อนคิดว่า “เขาพบเจออะไรมาหรือเติบโตมาอย่างไรถึงได้มีบุคลิกนิสัยอย่างนี้” จะทำให้คุณเห็นภาพว่าเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์อาจได้รับแรงกดดันมหาศาล จากที่บ้าน ที่ทำงาน

หรือเขาอาจเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ มีปมด้อยในชีวิต เหตุการณ์ต่าง ๆ บ่มเพาะให้เขาคิดไปว่า “การเหวี่ยงวีน หรือทำตัวเจ้าอารมณ์ใส่คนอื่น เป็นสิ่งที่ใช้เอาตัวรอดได้และใครๆ ก็ทำกัน”

เมื่อคุณวิเคราะห์พื้นฐานครอบครัว วิเคราะห์ที่มาของความคิดความเชื่อของพวกเขาจะช่วยทำให้คุณเข้าอกเข้าใจตัวเขามากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แสดงออกไม่น่ารัก คุณก็จะรู้สึกแย่น้อยลง แถมยังยิ้มในใจว่า “ก็เขาเคยโดนอย่างนั้นมา เขาเลยเป็นคนแบบนี้แหละ”

หนึ่งลักษณะของคนที่ทำงานด้วยยากมากก็คือ คนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ อ่าน แนวทางการทำงานร่วมกับคนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ คลิกที่นี่

=====

4.  หาเวลาพูดคุยกันด้วยความผ่อนคลาย

เมื่อคุณเริ่มเข้าอกเข้าใจ โดยรู้ที่มาที่ไปของบุคลิกนิสัยไม่น่ารักของเขาแล้ว คุณอาจหาเวลาพูดคุย หรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องงานเท่านั้น เช่น การตีแบตหลังเลิกงาน ไปกินข้าว กันเป็นกลุ่ม หรือทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน

เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งอยู่นอกเหนือหน้าที่การงาน จะทำให้เขากับเราผ่อนคลายต่อกันมากขึ้น  และเมื่อคุณสนิทกับเขามากขึ้น คุณอาจหาจังหวะพูดคุยแบบเปิดอก ว่าคุณรู้สึกอย่างไร? พร้อมทั้งอธิบายสิ่งที่เขาแสดงออกว่ามันส่งผลกระทบเชิงลบอย่างไร?

วิธีนี้คือ “การเปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร” นั่นเอง

=====

5. ไว้คุยกันเมื่อพร้อมและสบายใจ แต่ตอนนี้ ขออยู่ห่างๆ กันก่อนนะ

สำหรับ “บางคน” ถ้าคุณได้ลองทุกวิธีข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองหรือทัศนคติที่มีต่อพวกเขา ทำดีด้วยก็แล้ว พูดคุยด้วยความเข้าอกเข้าใจก็แล้ว เปิดโอกาสให้ตัวเองและเพื่อนร่วมงานพัฒนาความสัมพันธ์อันดีก็แล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น

สุดท้าย คุณอาจจำเป็นต้องตัดเขาออกจากการพบปะพูดคุย โดยการอยู่ห่างจากเขา หลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกันเท่าที่สามารถทำได้ไปก่อน  เพราะเขาคงยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง 

การเปลี่ยนนิสัย-ความคิด-ความเชื่อของคนบางคนเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่สิ่งที่ง่ายกว่า(และควรทำมากกว่า)ก็คือการควบคุมปัจจัยภายในของตัวเราเอง

อย่าให้คนชอบวีน คนขี้เหวี่ยง คนนิสัยไม่น่ารัก และคนแสดงพฤติกรรมแย่ๆ มาทำลายการทำงานทั้งหมดของคุณ หรือส่งผลให้คุณเป็นทุกข์อีกต่อไปเลย 

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาทักษะการบริหารจัดการอารมณ์ของคนทำงานยุคใหม่ขอแนะนำหลักสูตร   Emotion Intelligence  เพื่อพัฒนาให้คุณมีทักษะความสามารถที่จะบริหารจัดการอารมณ์เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ  คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

=====

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กรฟรี  ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข

คุณผู้อ่านทุกท่านคงเคยชมภาพยนตร์ ซึ่งท่านคงสังเกตเห็นว่าภาพยนตร์แทบทุกเรื่องจะต้องมีจุดวิกฤต (Climax) ที่ทำให้ชีวิตตัวละครตกต่ำ ซึ่งสุดท้ายตัวละครนั้นก็จะสามารถฝ่าฟันไปพบตอนจบที่สวยงามได้ในที่สุด

ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะสนุกหรือไม่ อยู่ที่ว่าคนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนั้นวาง Plot เรื่องไว้ดีแค่ไหน

=====

ในชีวิตคนทำงานก็เช่นกัน สถานการณ์ที่ถือเป็นจุดวิกฤตของคนทำงานคงหนีไม่พ้นการถูกเจ้านายดุด่าว่ากล่าว 

และตอนจบนั้นจะสวยงามหรือแสนเศร้าก็ขึ้นอยู่กับเราในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ชีวิตตัวเองว่าก่อนที่เราจะตัดสินใจพูดหรือทำอะไรลงไป เราได้วางPlot ที่เหมาะสมแล้วหรือยัง

7 ขั้นตอนง่ายๆ ต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณผ่านสถานการณ์วิกฤตอย่างการถูกเจ้านายดุไปได้อย่างสวยงาม 

            วาง Plot คือ การวางโครงเรื่องให้สละสลวย และเอื้อต่อโอกาสที่จะสร้างตอนจบที่สวยงาม

=====

1.สร้างนิยามใหม่

หากคุณคิดว่าสาเหตุที่ถูกเจ้านายหรือลูกค้าตำหนิ เพราะ คุณอยู่ในฐานะลูกน้องหรือผู้รับใช้ ความคิดแบบนี้เป็นการนิยามให้ตนเองรู้สึกต้อยต่ำและจะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดลบๆ อื่นๆ ที่กำลังจะตามมา

การสร้างนิยามใหม่คือการที่คุณเปลี่ยนมุมมองว่าผลงานของคุณคือการ “ช่วย” หรือ “ให้” สิ่งใดกับเจ้านายหรือลูกค้า เช่น ฉันช่วยอำนวยความสะดวกเรื่อง…. ,ฉันให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ…

จุดเริ่มต้นของความคิดแบบนี้จะป้องกันไม่ให้คุณรู้สึกต่ำต้อยและยังทำให้เกิดไอเดียในการจัดการกับปัญหาในขั้นตอนต่อไปอีกด้วย

=====

2.ทบทวนผลงาน

ตัดอารมณ์ที่ไม่ดีและความกังวลออกให้หมด แล้วใช้สมาธิ focus ไปที่คุณภาพของผลงานของตัวเอง แล้วตอบคำถามตัวเองด้วยใจที่เป็นกลางว่า “ผลงานของฉันมีคุณภาพเพียงพอแล้วหรือยัง ถ้ายังฉันสามารถพัฒนาจุดไหนได้บ้าง”

=====

3.ยอมรับความจริง

หากผลงานของคุณมีคุณภาพ ก็ควรยอมรับความจริงว่า “สิ่งที่ดีที่สุดในความคิดเห็นของเราอาจไม่ดีที่สุดในความคิดเห็นของผู้อื่น”

แต่หากผลงานของคุณมีจุดบกพร่อง ก็ควรยอมรับความจริงว่า “เป็นธรรมดาที่ผู้อื่นมักจะเห็นส่วนที่บกพร่อง มากกว่าเรื่องดีๆ ที่อยู่ในส่วนอื่นๆ”

          สร้าง Theme คือ การสร้างแก่นของคุณค่าที่จะนำเสนอ ยิ่งสร้างคุณค่ามาก ตอนจบก็ยิ่งสวยงาม

=====

4.เลือกบรรยากาศที่ใช่

หลายคนพอเจอปัญหานี้จะสื่อสารด้วยการพูดโต้ตอบทันที ทำให้บรรยากาศการสนทนากลายเป็นการโต้เถียงและสิ่งที่พูดออกมาก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าการแก้ตัว

ก่อนพูดจึงควรคิดสักนิดว่าเราควรสร้างบรรยายกาศในการสนทนาอย่างไร เช่น เป็นการอธิบายแทนที่จะโต้เถียง ,เป็นการขอบคุณในคำแนะนำแทนที่จะแก้ตัว ,เป็นการสร้างความมั่นใจแทนที่จะปัดความรับผิดชอบ เป็นต้น 

บรรยากาศเป็นอย่างไร ตอนจบก็จะเป็นอย่างนั้น

=====

5.ห้ามลดตัว

ไม่ว่าผลงานของคุณจะดีหรือไม่ดีในความรู้สึกผู้อื่น จุดยืนของคุณคือห้ามลดตัวเด็ดขาด เพราะนอกจากจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้นยังอาจจะเป็นการทำให้เจ้านายหรือลูกค้าหมดความศรัทธาในผลงานชิ้นอื่นๆ ของคุณ

สิ่งที่คุณควรทำ คือ หากผลงานที่ทำมีคุณภาพ ให้ยืนยันในคุณภาพนั้นแต่ยอมรับว่าอาจจะไม่เหมาะสมในความคิดเห็นของคนบางกลุ่ม

หากผลงานมีข้อบกพร่องให้ยืนยันในเจตนาที่ดีในการสร้างสรรผลงานนี้แต่ยอมรับว่ามีบางสิ่งต้องแก้ไข

          เริ่ม Action คือ การเริ่มลงมือทำตามโครงเรื่องและแก่นของเรื่องที่สร้างมา (Plot )

=====

6.เสนอทางแก้ปัญหา

ไม่ว่าผลงานคุณจะมีคุณภาพหรือไม่ ไม่ว่าเจ้านายหรือลูกค้าจะเห็นว่าผลงานของคุณดีหรือแย่เพียงให้ การเริ่มต้นพูดคุยโดยเสนอตัวที่จะลงมือแก้ไขปัญหาต่างๆ ถือเป็นการแสดงความสง่างามของผู้พูด

บรรยายการของการสนทนาต่อจากนี้จะไม่มีใครผิดใครถูกเพราะจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่คนสองคนพูดคุยหารือเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน 

=====

7.จบด้วยความรู้สึกขอบคุณ

ในทุกปัญหา ในทุกวิกฤติ สร้างสิ่งดีๆ ให้เราได้เรียนรู้เสมอ เมื่อคุณทำครบตั้งแต่ข้อ 1-6 เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมจบการสนทนากับเจ้านายหรือลูกค้าด้วยความรู้สึกดีๆ ยิ้มและกล่าวขอบคุณจากใจ

ภาพยนตร์ในโรง หรือ ภาพยนตร์ในชีวิตจริง ถ้าใช้ Plot ที่ดี ก็ล้วนแต่มีตอนจบที่สวยงามเช่นกัน ไม่ว่าปัญหาของคุณจะหนักแค่ไหนของให้มีตอนจบแบบ Happy Ending ครับ

ถ้าเริ่มมีแนวทางทำงานกับหัวหน้าดุแล้ว คุณสามารถพัฒนาตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนอื่นให้ดีขึ้นด้วย 5 เทคนิคทำให้คุณเป็นที่รักของทุกคนในทีม คลิกที่นี่

=====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับเจ้านายที่ดุ และพัฒนาความร่วมมือร่วมใจทำงานเป็นทีมให้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

บทความโดย จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ (โค้ชแมงปอ)

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กรฟรี  ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

คุณเคยเป็นไหมครับ ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทำอะไรเสร็จเร็วๆ แต่หลายครั้งกลับผิดพลาด หรือหลงลืมอย่างไม่น่าให้อภัย

เรามักบอกตัวเองว่าไม่มีเวลา จึงดูเหมือนว่าการเริ่มทำอะไรใหม่ๆก็ยากไปเสียหมด แต่เรากลับมีเวลาผลาญเล่นไปกับเกม ยูทูป และโซเชียลมีเดีย

====

เชื่อหรือไม่ว่าหากเราช้าลงกว่าเดิมสักนิด เรากลับทำสิ่งต่างๆได้เร็วขึ้น เพราะมีความผิดพลาดน้อยลง ไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไข หรือกลับมาทำใหม่เพราะหลงลืม

หากเราช้าลงอีกสักหน่อย เราจะเห็นว่า เราจัดสรรเวลาได้ เวลามีเหลือเฟือสำหรับสิ่งที่สำคัญกับเรา

====

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ไม่ได้หมายถึง เรื่อยเปื่อยเนิบนาบเป็นเต่าคลาน แต่หมายถึง สภาวะที่เราช้าพอที่จะสามารถผ่อนคลายและดื่มด่ำกับชีวิตได้

หากวันนี้เราคิดว่าความเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น มันอาจทำให้เรารีบจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

จริงๆแล้วเราสามารถทำหลายสิ่งให้ช้าลงได้ในจังหวะที่ตัวเองรู้สึกโอเค และทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เรียกว่า ช้าเพื่อเร็ว นั่นเอง

====

5 สัญญาณบ่งบอกว่า เราใช้ชีวิตเร็วเกินไป

  1. คุณพบว่า มันยากขึ้น ที่จะโฟกัสกับกิจกรรมตรงหน้าในปัจจุบันขณะ และคุณต้องคอยหาอะไรทำตลอดเวลา

  2. คุณใช้ชีวิตเหมือนเดิม เรื่อยๆ “อย่างเป็นอัตโนมัติ” โดยไม่ได้ตระหนักว่า คุณกำลังทำมันอยู่ด้วยซ้ำ

  3. คุณรีบเร่งไปกับกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน โดยไม่ได้ใส่ใจกับมันนัก รีบทำให้เสร็จเพื่อไปทำอย่างอื่นต่อ

  4. คุณกำลังมุ่งมั่นกับเป้าหมายบางอย่างอยู่ จนไม่ได้ใส่ใจว่าตอนนี้ตัวเองและคนรอบข้างกำลังทำอะไรอยู่บ้าง

  5. คุณพบว่าในสมอง เต็มไปด้วยความคิดหวาดกลัว กังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือความเศร้า โกรธแค้นเพราะคำนึงอยู่กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว

====


 

ชีวิตที่ช้า คือชีวิตที่ยืนยาว

คนเรายอมเสียเงินนับแสน เพื่อซื้อยาต้านความแก่ วิตามินชะลอความชรา ทำทุกอย่างเพื่อยืดอายุตัวเองออกไป ให้ได้อีกสัก 1-2 ปีก็ยังดี

พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเป็นอัตโนมัติและหลับใหล ทำตามระบบไปอย่างไม่รู้วันคืน แต่พวกเขากลับไม่พยายาม “ตื่นขึ้นมา” เพื่อใช้ชีวิตของตัวเอง

ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอายุยืนจนแก่หง่อม จึงจะเรียกว่า “ใช้ชีวิตคุ้ม”

คุณสามารถใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและยืนยาวได้ โดยเพิ่มเวลาการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ขึ้นสัก 2 เท่าในทุกๆวัน นั่นเท่ากับว่าคุณมีอายุยืนขึ้นในด้านคุณภาพ เหมือนคุณอายุ 60 ปี แต่ได้ใช้ชีวิตเท่ากับคนที่มีอายุยืนยาว 120 ปี

แล้วถ้าคุณเพิ่มเวลาได้ถึง 3-4 เท่าล่ะ ? มันจะดีแค่ไหน

====

ในเรื่องการใช้ชีวิต ปริมาณของเวลาไม่มีความหมายเท่ากับคุณภาพ

หากแม้คุณอายุยืนขึ้นเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ แต่ไม่มีความสุข

ไม่ได้ใช้ชีวิตที่ตนเองรัก เพราะถูกบังคับ มีแต่ข้อจำกัด นั่นอาจเป็นความทรมานอย่างร้ายแรง

ดังนั้นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดใคร่ครวญก็คือ จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตได้อย่างไร ?

====

ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีง่ายๆที่จะยืดชีวิตให้ยาว ปลุกเราให้ตื่นจากความหลับใหล ด้วยการทำชีวิตให้ “ช้าลง”

5 วิธี ที่ทำให้ชีวิต “ช้าลง”

 1. กลับมาอยู่กับลมหายใจ

เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ หงุดหงิด เครียดหรือกังวล ลองใช้เวลาสัก 3 นาที นำจิตที่ว้าวุ่น กลับมาอยู่กับลมหายใจ

สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ให้ลึกยาว จนรู้สึกว่าท้องพองออก ผ่อนลมหายใจออกเบาๆผ่อนคลาย จนรู้สึกว่าท้องยุบลง

ทำแบบนี้ต่อเนื่องกัน โดยนำจิตรับรู้ อยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น มันจะเป็นสะพานเชื่อมร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเข้าด้วยกัน เพียงเท่านี้คุณก็จะเกิดสมดุลทางอารมณ์ขึ้นมา การกลับมาสู่ปัจจุบันขณะจะทำให้สติของคุณเต็มเปี่ยม

 การกลับมาอยู่กับลมหายใจสักครู่หนึ่ง จะช่วยให้คุณจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

====

2. ออกไปเดินเล่น

นี่เป็นวิธีออกกำลังที่ง่ายที่สุด ช่วยปลดปล่อยความเครียด และช่วยผ่อนคลายอารมณ์

การเดินจะช่วยให้คุณกลับมาอยู่กับปัจจุบัน สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว สัมผัสกับธรรมชาติและกิจกรรมต่างๆของผู้คน

คุณอาจเปลี่ยนจากการขึ้นรถเมล์ ขึ้นมอเตอร์ไซด์ ขึ้นลิฟท์ เป็นการเดินแทน แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย แต่ถ้าอยากสดชื่นกว่านั้น ออกไปเดินตอนฝนตกปรอยๆ หรือเดินในสวนตอนเช้าๆอย่างไม่รีบเร่ง

 แค่ได้อยู่กับการเดิน เชื่อมั้ยว่าคุณจะรู้สึกดีสุดๆไปเลย

====

 3. ดื่มด่ำไปกับกิจกรรมต่างๆ

ความสุข คือการมองเห็นสิ่งๆเดิม ในมุมมองที่เปลี่ยนไป ในเมื่อชีวิตนั้นเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ วันวานและวันพรุ่งนี้มีอยู่เพียงแต่ในความคิด

ฉะนั้นจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ที่เราจะสัมผัสรับรู้กับปัจจุบันขณะที่กำลังเป็นอยู่ ฝึกที่จะสังเกตและรับรู้สิ่งดีๆรอบๆตัว และใช้เวลามากขึ้นที่จะอยู่กับชั่วขณะนั้น มันจะทำให้ประสบการณ์ของความพึงพอใจนั้นยาวนานขึ้นอีก

ไม่ว่าจะเป็นการเข้าครัวเตรียมมื้ออาหาร การนั่งเล่นชื่นชมดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพูดคุยสนุกๆกับครอบครัว ในทุกๆกิจกรรม เราก็แค่ “อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยม และดื่มด่ำกับมัน”

 แค่รู้จักดื่มด่ำกับสิ่งรอบตัว  เราจะสัมผัสความสุขได้ง่ายๆและบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ

==== 

4. อยู่กับความเงียบ

หลายคนคิดว่าความสุข คือความสนุกสนานร่าเริง และมีกิจกรรมต่างๆทำให้เพลิดเพลินใน

แต่เราหารู้ไม่ว่า ชีวิตที่ถูกครอบครองด้วยกิจกรรมตลอดเวลา ลึกๆแล้วจะเรียกร้องหา “เวลาสำหรับตัวเอง”

แม้แต่คอมพิวเตอร์ยังต้องการ Defragment และ มี Sleeping Mode มนุษย์เราก็ต้องการ “ชั่วขณะแห่งความเงียบ” ให้ตัวเองเหมือนกัน

ในทุกๆวัน เราสามารถกำหนดเวลาสัก 5-10 นาที เพื่ออยู่กับตัวเองลำพังในความเงียบ

คุณอาจจะลองใช้คำถามเหล่านี้กับตนเอง และอาจจะเขียนมันลงไปเพื่อให้หลายๆสิ่งชัดเจนขึ้น

ร่างกายเรากำลังรู้สึกสัมผัสกับอะไรบ้างในขณะนี้ ?

จิตใจและอารมณ์ในขณะนี้ของเราเป็นอย่างไร ?

เรากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ มีความกังวลหรือไม่สบายใจอะไรบ้าง ?

เมื่อทบทวนชีวิตในวันนี้ มีอะไรที่เราได้เรียนรู้ มีอะไรที่เราจะทำได้ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ?

เมื่อเรากลับมาสนใจ รับรู้ ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้สักพัก เราจะพบกับความสงบใจอย่างน่าประหลาด

 ท่ามกลางที่ว่างนี้ ดูเหมือนจะเกิดความสุขได้ง่ายขึ้น เราจะตอบคำถามบางอย่างในใจตนเองได้ และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป

====

5. ไม่ด่วนตัดสิน

ความน่ากลัวอย่างหนึ่งที่คนเรามักมองข้ามไปก็คือ “เราจะได้ยิน เฉพาะสิ่งที่เราอยากฟังเท่านั้น” ปรากฏการณ์เช่นนี้สืบเนื่องมาจากการ ‘ด่วนตัดสิน’ 

เมื่อใดก็ตามที่เรา “ด่วนตัดสิน” กับคนบางคน กับเรื่องบางเรื่องไปแล้ว แม้เค้าพูดไม่ทันจบประโยค เราจะปิดการฟังไป เปลี่ยนเป็นการแทรกสอด คำถาม หรือไม่สนใจ นั่นทำให้เกิดการเข้าใจผิด เกิดความขัดแย้งขึ้นในความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  ฝึกที่จะรับฟังผู้คนจนจบ โดยยังไม่ด่วนตัดสิน ตีความไปก่อน นั่นทำให้การสื่อสารนั้นเข้าถึงเราได้อย่างเต็มเปี่ยม เราจะได้ยินในสิ่งที่เค้าไม่ได้พูดออกมา ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ แล้วจะประหลาดใจว่า เราสามารถเข้าใจเค้าได้ง่ายขึ้น

หนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตช้าลงได้และไม่ด่วนตัดสิน ได้แก่ “การฝึกไดอะล็อค” พัฒนาทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง เรียนรู้และฝึกฝน  Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

 

 

การช้าลง ไม่ด่วนตัดสิน จะทำให้การสนทนาที่ดูจะยากลำบากครั้งนั้น กลับราบรื่นไปได้ด้วยดี

 

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับ 5 วิธีการทำให้ชีวิตช้าลง หากเรานำวิธีเหล่านี้ไปใช้ เชื่อว่าจะมีความสุขขึ้นมากๆและบ่อยครั้งด้วยครับ

====

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนา Mindset และทักษะของผู้นำยุคใหม่ที่ผสมผสานความช้าเข้ากับการทำงานในโลกที่เร่งรีบได้อย่างลงตัว  ผมมีหลักสูตร The New Leadership Skillsเพื่อพัฒนาให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูง คลิกดูรายละเอียดที่นี่

บทความโดย อ.เรือรบ CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962



5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

ในชีวิตของคนเราต้องพบเจอกับผู้คนมากมายหลายประเภท บางคนคอยช่วยเหลือและสนับสนุนให้เราทำสิ่งต่างๆให้สำเร็จ

ในทางตรงกันข้าม ก็มีบางคนที่คอยกลั่นแกล้ง ขัดขวาง เอาเปรียบ ใส่ร้ายป้ายสี มองโลกในแง่ลบ และทำให้เราหมดกำลังใจที่จะไล่ตามความฝัน

ซึ่งเราให้คำนิยามกับคนประเภทนี้ว่าเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” หรือ  “เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา”

เพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา คือ คนที่มักทำให้คนรอบข้างเกิดความยุ่งยาก หงุดหงิด รำคาญใจ และบางทีอาจทำให้ผู้อื่นเสียหายได้

====

พวกเขาอาจเป็นเจ้านาย ลูกน้อง ลูกค้า เพื่อน หรือคนในครอบครัวของคุณ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดเมื่อเจอกับคนเหล่านี้ก็คือ การเดินหนี หรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

อย่างไรก็ตามวิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหลายครั้งคุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจวิ่งหนีปัญหาได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งคุณจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

1) อย่าเกลียดชัง แต่จงขอบคุณมนุษย์เจ้าปัญหา

เมื่อคุณเจอกับมนุษย์เจ้าปัญหา คุณอาจรู้สึกโกรธ เกลียดชัง หรือท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกในแง่ลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรก้าวข้ามและผ่านมันไปให้ได้ เพราะมันเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขของคุณ

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเปลี่ยนทัศนคติ โดยคิดว่าพวกเขาเป็นสิ่งที่ท้าทายในชีวิต

กล่าวคือ คุณควรคิดว่าการใช้ชีวิตหรือการทำงานกับคนเจ้าปัญหาเป็นบททดสอบหนึ่ง ซึ่งสิ่งนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรขอบคุณพวกเขาที่ทำให้คุณรู้จักความอดทนอดกลั้น และได้พัฒนาตนเอง

วิธีการนี้ดูเหมือนว่าเป็นวิธีการที่ยาก แต่มันเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากคุณสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ คุณก็จะสามารถรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาได้เช่นกัน

====

2) ใช้มนุษย์เจ้าปัญหาเป็นตัวกระตุ้นสิ่งดีๆในตัวคุณ

อีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาก็คือ การใช้สิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำเป็นแรงผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้า

ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่คุณกำลังนั่งทำงานอย่างหนัก เพื่อนร่วมงานของคุณได้นั่งจับกลุ่มนินทาและพูดคุยเรื่องไร้สาระทั้งวัน

แน่นอนว่าหากคุณเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ คุณต้องอารมณ์เสีย หงุดหงิด และไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมกับความคิดด้านลบเหล่านั้น

สิ่งที่คุณควรทำก็คือ การเปลี่ยนความรู้สึกแย่ๆให้กลายเป็นพลังเชิงบวก

ให้คุณคิดซะว่ามันไม่ใช่เรื่องของคุณ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรเสียเวลาหรือใส่ใจกับการกระทำของคนเหล่านั้น และจงปล่อยให้พวกเขาทำต่อไปเพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้สำหรับตัวคุณเองก็ควรมุ่งมั่นตั้งใจสร้างสรรค์สิ่งดีๆ พัฒนาตนเอง และใช้อุปสรรคทั้งหลายเป็นตัวกระตุ้นไฟในตัวคุณ

====

3) ใช้เวลากับพวกเขาให้มากขึ้น

แทนที่คุณจะวิ่งหนีปัญหา ให้คุณลองเปลี่ยนแนวทางดูบ้าง กล่าวคือ คุณอาจลองเข้ากลุ่ม หรือใช้เวลากับพวกมนุษย์เจ้าปัญหาให้มากขึ้น

แม้วิธีการนี้อาจทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังบีบบังคับจิตใจตนเองก็ตาม แต่การคลุกคลีและร่วมทำกิจกรรมต่างๆกับคนเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเปิดใจและยอมรับคุณมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้คุณทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมในการสร้างปัญหาหรือก่อความวุ่นวายให้กับคนรอบข้างตลอดเวลา

ทั้งนี้ เมื่อคุณเข้าใจพวกเขามากขึ้น คุณอาจได้ปรับมุมมองหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อพวกเขาก็เป็นได้ และคุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจตนเองได้มากขึ้นเช่นกัน

สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์เจ้าปัญหาได้อย่างเข้าใจ และราบรื่นยิ่งขึ้น

====

4) ตั้งเป้าหมายของตัวคุณเอง

การตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับคนเจ้าปัญหาพร้อมๆกับการพัฒนาตนเอง กล่าวคือ ให้คุณลองตั้งเป้าหมายของตนเองที่เกี่ยวกับการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา

เช่น หากฉันเจอกับคนขี้บ่น ก้าวร้าว ซุบซิบนินทา ฉันจะต้องไม่รู้สึกแย่ หงุดหงิด หรือหมดกำลังใจ นอกจากนี้ ฉันจะพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนเจ้าปัญหาให้ได้ เป็นต้น

คุณอาจตั้งเป้าหมายเล็กๆก่อน และค่อยๆขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อยๆ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกท้าทาย และเห็นว่าการรับมือกับคนเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก ทั้งยังช่วยให้คุณมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอีกด้วย

กล่าวคือ หากคุณอดทนกับคนเจ้าปัญหาและยังสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ ก็จะทำให้คุณเป็นคนใจเย็นขึ้น ใจกว้างขึ้น และอดทนมากขึ้น

====

5) พยายามทำความเข้าใจและช่วยเหลือมนุษย์เจ้าปัญหา

บางคนอาจเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาด้วยเหตุผลบางประการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเผชิญกับสิ่งเลวร้ายในชีวิตหรือมีปัญหาทางร่างกาย จิตใจ หรืออารมณ์ และสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นจึงส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพวกเขาจนทำให้เป็นมนุษย์เจ้าปัญหาในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น คุณควรปฏิบัติต่อเขาอย่างที่คุณต้องการให้เขาปฏิบัติต่อคุณ

อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องทำใจยอมรับว่า เขาอาจปฏิบัติต่อคุณได้ไม่ดีเท่าที่คุณปฏิบัติต่อเขา นั่นเป็นเพราะปมปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น คุณควรให้เวลากับพวกเขา พยายามทำความเข้าใจ และช่วยเหลือพวกเขาเมื่อมีโอกาสด้วย

บางครั้งมนุษย์เจ้าปัญหาก็มีมากกว่าหนึ่ง และในหลายครั้งพวกเขาก็เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งด้วย เรียนรู้วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน คลิกที่นี่

====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับมนุษย์เจ้าปัญหา แก้ไขความขัดแย้งในทีมและพัฒนาให้ทีมร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

Source: http://www.lifehack.org/312503/encountered-difficult-people-and-wanna-escape-you-should-deal-with-them-these-5-ways

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย

 สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผู้บริหารคือการคัดสรรคนให้เหมาะกับงาน  ผลประกอบการจะออกมาดีหรือไม่ย่อมขึ้นกับคน

Learning Hub ขอนำเสนอ 7 เคล็ดลับในการเลือกคนให้เข้ากับงาน หรือ “Put the right man on the right job” ฝากให้บรรดาผู้บริหารได้ลองนำไปเป็นไอเดียในการเลือกลูกน้องกันครับ 

====

1.พิจารณาจากงานที่เคยทำ  

งานที่แตกต่างจึงต้องการคนที่แตกต่างกัน 

 Peter  Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการยุคใหม่ กล่าวว่าหากพนักงานทำงานไม่ดีย่อมเป็นความผิดของผู้บริหาร ไม่ใช่พนักงาน เพราะผู้บริหารเป็นคนเลือกเขามาทำงานเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด ผู้บริหารจึงต้องใส่ใจกับการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เขาจึงแนะนำว่าการเลือกคนต้องพิจารณาจากงานที่คนผู้นั้นเคยรับผิดชอบมาก่อน อย่างน้อยก็จากประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

         ยกตัวอย่างเช่น การจะหาผู้จัดการฝ่ายการตลาดสักคน ต้องคิดก่อนว่า หน้าที่ของผู้จัดการคนนี้คืออะไร เพิ่มยอดขาย คิดค้นสินค้าใหม่ หรือเจาะตลาดใหม่

ซึ่งงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน    จึงต้องการคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือกพนักงานที่เคยผ่านงานหรือมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งนั้นมากที่สุด หากคุณสนใจแนวคิดดีๆของ Drucker ผมแนะนำหนังสือชื่อ The Essential Drucker ครับ 

====

 2.อย่ามอบงานใหญ่ให้คนไม่ใหญ่   

กระจายอำนาจการตัดสินใจให้พนักงาน  

         Alfred Sloan อดีตผู้บริหารบริษัท General Motors ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับบริษัท    หนึ่งในนั้นคือการปรับวิธีการทำงาน โดยการกระจายอำนาจให้พนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ 

         ซึ่งเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร  แต่ไม่ได้หมายความว่าพนักงานทุกคนจะมีอำนาจในการตัดสินใจเท่ากันนะครับ  เพราะสำหรับพนักงานใหม่แล้ว   เขาจะยังไม่มอบหมายภาระงานสำคัญให้ เนื่องจากยังอ่อนประสบการณ์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้    

        เขาจึงมอบหมายให้พนักงานใหม่ทำงานที่มีความชัดเจนสูง คาดการณ์ได้ ส่วนพนักงานที่มีประสบการณ์แล้วเขาจึงเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจครับ    

====

3.ถามไถ่คนใกล้ชิด  

ผู้บริหารต้องฟังสิ่งที่คนอื่นคิด  

        Hermann Abs อดีตผู้บริหาร Deutsche Bank มีมุมมองว่า การเลือกใช้คนของผู้บริหารโดยมากตั้งอยู่บนอคติส่วนตัว ทำให้ใช้คนผิดประเภท หรือเลือกแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดมากกว่าคนที่มีความสามารถ  

        เพื่อให้การเลือกคนมีความถูกต้องและผิดพลาดน้อยที่สุด เขาจึงมองว่านอกจากการสอบประวัติของบุคคลที่ต้องการแต่งตั้งแล้ว ผู้บริหารควรจะสอบถามจากเจ้านายเก่า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน อย่างน้อย 3 – 5 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการเลือกคนที่เหมาะสม

        ดังนั้น “ We need to listen ผู้บริหารจึงต้องรับฟัง” ครับ 

==== 

4.เลือกคนที่เข้าใจงาน  

วิถีของ Apple คือสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า  

        Tim Cook ซีอีโอบริษัท Apple ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าเทคโนโลยีขั้นเทพให้กับลูกค้า ดังนั้นหัวใจสำคัญของ Apple จึงอยู่ที่แผนกฮาร์ดแวร์เทคโนโลยี เพราะแผนกนี้จะทำหน้าที่ผลิตชิป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมองของสินค้า ดังนั้นคนที่จะรับบทหนักเช่นนี้ Tim Cook จึงเลือก  Johny Srouji  ทำไมต้องเป็นเขา ? 

        Srouji เคยผ่านงานจากบริษัท Intel และ IBM มาก่อน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการวางระบบชิปเป็นอย่างดี เมื่อเขาเข้าร่วมงานกับ Apple  Srouji มีส่วนอย่างมากในการออกแบบระบบการทำงานของ iPhone และแท็บเล็ตใหม่   ทำให้ระบบการทำงานมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น   

        จึงทำให้  Apple สามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมั่นคง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ Tim Cook เลือกคนที่เข้าใจงานทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม

====

 5.เข้าใจคนก่อนใช้คน   

 อย่าให้จุดด่างดำมาบดบังหยกขาว  

         Bob Burg วิทยากรชื่อดังของสหรัฐอเมริกา และเจ้าของหนังสือชื่อ The Go-Giver Leader เป็นกูรูอีกคนหนึ่งด้านการใช้คนครับ แน่นอนครับว่า ทุกคนย่อมมีดีมีเสียแตกต่างกันไป เขาจึงแนะนำครับว่า ควรมองคนจากจุดแข็งก่อนครับ เพราะมูลค่าของงานจะสร้างสรรค์ขึ้นได้จากจุดแข็งของคน  

        จากนั้นจึงพิจารณาจากจุดอ่อนครับ แต่ไม่ใช่คือมีจุดอ่อนแล้วคัดออกนะครับ เพราะเขาแบ่งจุดอ่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ     จุดอ่อนที่ไม่เป็นปัญหา จุดอ่อนที่แก้ไขได้ และจุดอ่อนที่เป็นปัญหา  พูดง่ายๆก็คือ หากพนักงานมีจุดอ่อน 2 ประเภทแรก ไม่ถือเป็นปัญหาครับ แต่หากเป็นจุดอ่อนประเภทที่สาม แม้ว่ามีจุดแข็งที่ดีแค่ไหนคงต้องคัดออก  

         เขาได้ยกตัวอย่างวิศวกรที่ทำงานเก่งคนหนึ่ง ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนก แต่วิศวกรรายนี้ทำหน้าที่ประสานงานได้ไม่ดี แต่งานในตำแหน่งหัวหน้าต้องมีทักษะการประสานงาน

         ดังนั้นจุดอ่อนของเขาถือเป็นประเภทที่สาม เพราะถ้าเขาไม่สามารถประสานงานได้  ก็ไม่อาจแบกรับความรับผิดชอบได้

==== 

 6.เลือกคนจากลักษณะนิสัย   

Judging เหมาะกับงานบัญชี แต่ Perceiving เหมาะกับงานการตลาด  

         โดยทั่วไปลักษณะนิสัยของแต่ละคนมีส่วนอย่างมากต่อผลลัพธ์ของการทำงาน   คนที่ชอบทำงานเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนล่วงหน้า ไม่ค่อยครีเอทีฟ เรียกว่า Judging ครับ เหมาะกับการทำงานบัญชีหรือการเงินเพราะเป็นคนละเอียด 

          แต่คนที่ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบงานเอกสาร เรียกว่า Perceiving เหมาะกับงานการออกแบบหรือการตลาดครับ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Target ถูกโจรกรรมข้อมูล บริษัทสูญเสียความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นจึงเลือก John Mulligan ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการ CEO แทน CEO คนเก่าที่ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว

          เหตุที่เลือกเขาเพราะเขาเป็นรองประธานฝ่ายการเงินหลายปี ทำงานละเอียด หรือก็คือเป็นคนประเภท Judging ซึ่งเหมาะที่จะเข้ามาประเมินความเสียหายและฟื้นฟูสถานะทางการเงินภายหลังถูกโจรกรรมข้อมูล  

====

 7.ต้องเป็นที่ยอมรับ 

เลือกคนที่เป็นที่ยอมรับ ย่อมทำงานได้ราบรื่น  

         เทคนิคนี้ผมได้บทเรียนจากประธานาธิบดีโอบามาครับ   เมื่อครั้งโอบามารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ เสียงวิพากษ์ดังขรมว่า โอบามาขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้การประสานงานกับรัฐสภาจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก  

         คงไม่มีใครให้ความร่วมมือกับเด็กอ่อนอย่างโอบามาแน่  ดังนั้นโอบามาจึงดึง โจเซฟ ไบเดน เข้ามาเป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งจะเขาเคยเป็นกรรมาธิการด้านต่างประเทศถึง 9 สมัย

         ด้วยประสบการณ์ชั้นเซียนเช่นนี้ ย่อมกลบจุดอ่อนของโอบามาได้เป็นอย่างดี และความน่าเชื่อถือและการยอมรับย่อมเพิ่มขึ้น  

====

         แม้ว่าคุณจะเรียนรู้เทคนิคการใช้คนทั้ง 7 ข้อไปแล้วก็ตาม แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ แต่หากเราใช้คนผิดพลาด เราก็ควรยอมรับความจริง และเปลี่ยนคนใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรได้   เพราะ Misfit is cruel to an organization.    

ที่มา  The Eessential Drucker: Peter Drucker author  

ต่อให้คุณสามารถเลือกลูกน้องได้เป็นอย่างดีจนได้คนที่ไม่เปลี่ยนงานง่าย ๆ แล้วก็ตาม แต่ถุ้าคุณไม่บริหารลูกน้องให้ดีพวกเขาก็อาจจากไปได้เสมอ เรียนรู้และฝึกฝน 3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง คลิกที่นี่

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

 

เรียบเรียงโดย 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม

การทำงานในทุกๆ ที่ มักเกิด “ปัญหาขัดแย้ง” ไม่มากก็น้อย… “ความคิดเห็นไม่ตรงกัน” คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในที่ประชุม โดยเฉพาะที่ทำงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก…

ไม่มีทางที่ “ทุกคน” จะชอบไอเดียของคุณได้ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณไม่ควรกลัว หรือหลีกเลี่ยง แต่ควรเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาด

และถ้าคุณสามารถจัดการข้อขัดแย้งในแต่ละครั้งได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม

====

บ่อยครั้งที่คุณอยากจะให้ปัญหานี้จบๆ ไป… ปล่อยผ่าน… ไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือมีเรื่องกับใครเพิ่ม…

โดยเฉพาะออฟฟิศในองค์กรแบบไทยๆ ที่มักแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าใครไม่ได้อยู่พวกนี้ ก็หมายความว่าเป็นศัตรูกับพวกนั้น การอยู่เฉย แน่นอนว่าเป็นการไม่หาเรื่องเข้าตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน

ในทางตรงข้าม มันหมายความว่า คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือมีอะไรโดดเด่นที่ทำให้เจ้านายและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ…

ทางที่ดี ถ้าปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ มาถึง พยายามมอง “เป็นโจทย์ และความท้าทายใหม่ๆ” เป็นเวทีที่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานั้นๆ

และที่สำคัญ เมื่อคุณแก้ไขปัญหาได้ คุณอาจได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนก เพราะคุณได้แสดงให้เห็นว่า คุณจัดการปัญหานั้นได้ดี ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอย่างแท้จริง

====

เริ่มต้นจากหาสาเหตุความขัดแย้ง

เริ่มแรก คุณควรเข้าใจและเข้าถึงปัญหาเสียก่อน พยายามเปิดใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติใดๆ คุณจึงจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุรอบ 360 องศา กว้างมากขึ้น และเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น ว่ามาจาก...

====

1. อารมณ์

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนกำลังมีอารมณ์ และพร้อมระเบิดมันออกมา ทางที่ดีที่สุดคือเดินออกมาจากห้องนั้น หรือ ณ ตรงนั้น เพื่อสงบสติอารมณ์…

อย่าใช้อารมณ์ในการโต้แย้ง แต่จงใช้ความจริง สถิติ หลักฐานในอีเมล์ พยาน ลูกค้า และทางที่ดี พยายามหาข้อเท็จจริงที่มาจากต้นตอของปัญหา

อย่าคิดไปเอง อย่าคาดว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้จะเกิด เลิกโทษอดีต เช่น ถ้าอย่างงั้น ทำไมพี่ไม่ทำล่ะ… ถ้ารู้อย่างงี้ ทำไมเธอไม่รับผิดชอบ

มันไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างถึงอดีตที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรเอาเรื่องไม่สร้างสรรค์และวนในอ่างมาพูดถึง แต่ควรพยายามหาทางที่เป็นทางออกเชิงสร้างสรรค์

เช่น แล้วคุณจะทำอย่างไร? คุณมีแผนสำรองอย่างไร? คุณได้ลองติดต่อทางโน้นแล้วหรือยัง? นั่นคือประโยคเชิงบวกที่ดีและสร้างสรรค์กว่าการนั่งถกเถียง และเกี่ยงกัน

====

2. การสื่อสาร

คุณกำลังใช้ภาษาหยาบคาย หรือถ้อยคำประชดประชัน ในการตอบคำถาม โต้แย้ง หรือปะทะคารม ให้อีกฝ่ายมีอารมณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า?

และถ้าคุณต้องเป็นกรรมการในการห้ามมวยคู่นั้น คุณควรพูดอย่างเป็นกลาง พยายามตัดจบเรื่องราว ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ให้ทุกคนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อใช้ประชุมในครั้งหน้า และข้อมูลที่นำมาเสนอ ควรเป็นเรื่องที่ชัดเจน แม่นยำ เชื่อถือได้ และไม่เก่าจนเกินไป

====


4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

1. หาจุดร่วมของทีม

สร้างโมเดล หรือกติกาในการตัดสินใจร่วมกัน หรือหาความเห็นตรงกัน “การสร้างจุดร่วม” อาจเกิดจากการถามความเห็นและสนับสนุนสิ่งที่ทำให้เกิดทีมเวิร์ค โดยคุณอาจจะกำหนดคนที่เป็น Team Player คนที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติ Influencer สร้างเฟรมเวิร์คที่มาจากความเห็นของพวกเขา และใช้สิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ

====

2. หาปมขัดแย้ง

พยายามหาปมขัดแย้งให้เร็วที่สุด ทุกอย่างมีโอกาสเป็นปมขัดแย้งได้หมด แม้ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องไร้สาระหรือมีสาระ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ

ทางที่ดี คุณและทีมควรเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง และอย่ากลัวที่ต้องเผชิญความจริง คุณต้องย้ำกับเพื่อนร่วมงานหรือทีมเสมอๆ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ เราลงเรือเดียวกันแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบร่วมกัน

แสดงสปิริตที่จะทำให้คนกล้าพูดความจริง เพื่อที่จะหาต้นตอของปัญหาที่ถูก และใช่ ในเวลาจำกัด

====

3. หาแรงจูงใจ

การเล็งไปที่แรงจูงใจของสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา จะทำให้คุณได้ความคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้ ใครเสียผลประโยชน์สูงสุด ปัญหาและปมขัดแย้งนี้มีที่มาจากคนแบบไหน และเขาต้องการอะไร เพื่อความสะใจ เพื่อทำลายใคร เพื่อจุดมุ่งหมายแบบไหน บางที เราไม่ควรมองที่การกระทำ แต่ควรใส่ใจที่เจตนาด้วย

====

4. หาปัจจัยแวดล้อม

หลังจากเราหาเหตุเจอแล้ว มาถึงคราวที่เราจะต้องหาปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดปมขัดแย้ง อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปมขัดแย้งในที่ทำงานปะทุขึ้นมากกว่าเดิม ใครมีส่วนร่วมบ้าง และเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร

พยายามพูดคุยเปิดใจกัน และมองภาพใหญ่ให้ออก ว่าใครเป็นคนสนับสนุนปัจจัยสำคัญเหล่านั้น… พยายามเชื่อมโยงและทำให้พวกเขาเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาควรทำ หรือไม่ควรทำ

เรียนรู้ต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งและวิธีการจัดการเพิ่มเติมได้ใน วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน คลิกที่นี่

====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน อยากแก้ไขความขัดแย้งในทีมและพัฒนาให้ทีมร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน

ในที่ทำงานทุกคนล้วนต้องการเป็นคนสำคัญ โดดเด่น และได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ

แต่กว่าที่คุณจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง คุณจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก

กล่าวคือ คุณต้องอุทิศตนในการทำงาน และวางตัวให้เหมาะสมในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความตั้งใจจริง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 8 ข้อในบทความนี้ คุณจะได้รับความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือในที่ทำงานแน่นอน

====

1) มีความมั่นใจในตัวเอง และแสดงความเป็นผู้นำ

หากคุณต้องการให้คนอื่นเคารพนับถือคุณ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณต้องเคารพตัวเองก่อน คุณควรเชื่อมั่นในทุกการกระทำของตนเอง มีความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และไม่กลัวกับปัญหาอุปสรรคใดๆ

เพราะหากคุณสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ และสามารถผ่านพ้นจากปัญหาต่างๆไปได้ ก็จะทำให้ผู้คนเกิดความศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวคุณ และสิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นความเคารพนับถือในท้ายที่สุด

====

2) บริหารเวลาให้เป็น

หนึ่งในพฤติกรรมที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณก็คือ การบริหารเวลา

หากคุณลองเปรียบเทียบพนักงาน 2 คน ระหว่างพนักงานคนแรกที่เข้าประชุมตรงเวลาและส่งงานตามกำหนดทุกครั้งกับพนักงานคนที่ 2 ที่มักเข้าประชุมสายและไม่เคยส่งงานทันเวลา

แน่นอนว่าเมื่อคุณจะมอบหมายงานหนึ่งชิ้น คุณจะมอบหมายให้พนักงานคนแรกทำ เพราะคุณไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

ทั้งนี้ ในระหว่างทำงาน คุณควรทุ่มเทกำลังความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลากับกิจกรรมที่ไร้สาระ เพื่อที่งานจะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงาน

====

3) อ่อนน้อมถ่อมตน

แม้ว่าคุณจะรู้ว่าตนเองสามารถทำงานได้ดี รวดเร็ว หรือมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน จงอย่าคุยโวโอ้อวด แต่จงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งคุณต้องทำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เมื่อได้รับการยกย่องชมเชย คุณไม่ควรหลงระเริงไปกับคำพูดเยินยอของคนอื่น

ในทางกลับกัน คุณควรคิดว่าแต่ละคนเป็นเพียงหน่วยหนึ่งที่ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อทำให้งานสำเร็จและบรรลุเป้าหมายขององค์กร การอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้คุณไม่หยุดนิ่ง และรู้จักการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

====

4) ให้ความเคารพเพื่อนร่วมงาน

เพื่อนร่วมงานบางคนอาจทำงานอย่างเฉื่อยชา และไร้ประสิทธิภาพ พวกเขาอาจไม่มีแรงบันดาลใจเหมือนเช่นคุณ หรือพวกเขาอาจมีปัญหาส่วนตัวบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถดูถูกพวกเขาได้ คุณควรปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่นมนุษย์ด้วยกัน จงให้เกียรติพวกเขา และไม่ก้าวล้ำเส้นของกันและกัน

กล่าวคือ คุณไม่ควรมองพวกเขาว่าเป็นเพียงเพื่อนร่วมงาน แต่ให้มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ เพราะวิธีการนี้จะทำให้คุณเข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และคุณจะได้รับความไว้วางใจ รวมทั้งความเคารพนับถือเป็นการตอบแทน

====

5) ชื่นชมและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน

คุณควรหาโอกาสชื่นชมเพื่อนร่วมงานบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากเพื่อนร่วมงานของคุณทำงานชิ้นหนึ่งได้อย่างยอดเยี่ยมและส่งผลดีต่อบริษัท คุณก็ควรแสดงชื่นชมในความรู้ความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขาทุ่มเทจนทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

คำชื่นชมเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

ในทางกลับกัน หากเพื่อนร่วมงานของคุณล้มเหลวแทนที่คุณจะคอยซ้ำเติมและตอกย้ำความผิดพลาดนั้น คุณควรให้อภัยและให้กำลังใจต่อกัน

เพราะการต่อว่าหรือแสดงพฤติกรรมด้านลบนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ใดๆ ยังทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อคุณอีกด้วย

====

6) ช่วยเหลือทีม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน

มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะต่อว่าหรือโจมตีเพื่อนร่วมงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวคุณและบริษัท

ทางที่ดีคือ คุณควรช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกัน ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน

นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมจะทำให้การทำงานมีความราบรื่นเพราะเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใดก็จะมีคนสนับสนุน และผลักดันคุณด้วยความเต็มใจ

ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

====

7) ไม่ซุบซิบนินทา

การซุบซิบนินทาในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณเสียเวลาในการทำงานแล้ว คงไม่มีใครเคารพนับถือคนที่ปล่อยข่าวลือ และพูดจาให้ร้ายผู้อื่น

กล่าวคือ หากคุณไม่ให้ความเคารพนับถือผู้อื่น คุณก็จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน

ดังนั้น คุณจึงไม่ควรจับกลุ่มซุบซิบนินทาในที่ทำงาน เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ในตัวคุณ

====

8) ไม่บังคับหรือควบคุมคนอื่น

การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้เกิดจากความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ หากคุณได้งานแต่ไม่ได้ใจคน คุณก็ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้

การทำงานที่ดี คือ การคิดถึงเรื่องงานพร้อมๆกับจิตใจของผู้ร่วมงาน ในทางกลับกัน หากคุณใช้วิธีการบังคับเพื่อนร่วมงานให้ทำอย่างที่ใจคุณต้องการ คุณก็จะไม่ได้รับความร่วมมือใดอย่างเต็มที่

ดังนั้น คุณไม่ควรบังคับหรือควบคุมคนอื่น ให้ยึดหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มอบหมายงานให้คนในทีมอย่างเหมาะสม และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีปัญหา คุณก็ควรช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

เมื่อเริ่มทำให้คนเชื่อถือได้แล้ว เชิญชวนทุกท่านมาทบทวน 4 คุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่ ว่าคุณพร้อมหรือยังที่จะเป็นผู้นำในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความผันผวนเช่นนี้ คลิกอ่านที่นี่

====

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนา Mindset และทักษะของผู้นำยุคใหม่ที่ผู้คนให้ความเชื่อถือ ขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skills เพื่อพัฒนาคุณให้เป็นผู้นำยุคใหม่ที่ผู้คนเชื่อถือ  คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

5 ขั้นตอน ของการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพ

การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ

=====

หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”

อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย

เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่า

=====

ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้

ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ

เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา

เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า

เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใดก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น

=====

ขั้นตอนที่ 2 ตัดสินใจอย่างไร

เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด

ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่

ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์

“เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง

=====

ขั้นตอนที่ 3  การตัดสินใจที่แท้จริง

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ”

คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!

เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ

ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

=====

อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้

อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน

อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง

=====

อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน

เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว

เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว

ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน

ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”

หนึ่งสิ่งที่เราควรระวังคือเรื่อง “ต้นทุนจม” เพราะมันมักทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดเสมอ เรียนรู้เรื่องนี้ได้ใน ต้นทุนจม อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด  คลิกที่นี่

=====

ขั้นตอนที่ 4 วางแผนอย่างเป็นระบบ

เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ

คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่”

พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น

=====

ขั้นตอนที่ 5 ประกาศการตัดสินใจให้ผู้อื่นรับรู้ 

“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ”

คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Categories EQ

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของทุกปี ผมจะหาโอกาสให้ตัวเองได้หยุดพักจากงาน ถอยออกมาจากความวุ่นวายยุ่งเหยิงของชีวิต เข้าหาธรรมชาติ ปลีกวิเวกไปพักในที่เงียบๆสัก 1 สัปดาห์

ผมใช้เวลานี้ในการทบทวนและตกผลึกตัวเอง อีกทั้งใช้ในการมองภาพที่กำลังจะนำพาบริษัทและทีมงานก้าวต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ผมได้จากการทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ แต่จะเห็นสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไป ซึ่งในชีวิตการทำงานปกติ ไม่มีทางเลยที่ผมจะสังเกตหรือมองเห็น

และต่อไปนี้คือ 3 สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตัวเองทำผิดพลาด และคิดว่านี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้นำหรือผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับผม จึงเขียนบทความนี้แชร์ให้คุณได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

====

แน่นอนว่า คนที่เป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เก่ง ฉลาด มั่นใจ มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะบรรลุผลลัพธ์และเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีความหวังดีกับผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น

คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ในแง่ของการนำทีม สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ นั่นเพราะอะไรบทความนี้มีคำตอบ

====

1.ความมั่นใจที่มากไปจนกลายเป็นอีโก้

ในฐานะผู้นำ เราผ่านชีวิตการทำงานมามาก มีประสบการณ์มาเยอะ จนประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเมื่อเจอสถานการณ์อะไรที่คุ้นเคย เราจะสามารถตัดสินใจในสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีไม่ทันจะฟังความเห็นคนอื่น

แม้อีกฝ่ายจะพยายามอธิบาย เราก็จะมีธงในใจและเอาตามสิ่งที่เราเห็นว่าถูก สั่งการฟันธงลงไปทันที นั่นทำให้ลูกน้องและคนรอบตัวมองว่าเรามีอีโก้ จึงมีระยะห่าง ไม่อยากจะเข้าหา หรือมาคุยกับเรา

====

2.มุ่งผลลัพธ์มากไป จนกลายเป็นเผด็จการ

ในฐานะผู้บริหาร เราอยากจะสร้างผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ อยากทำงานให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดแม้จุดเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการพยายามควบคุมทุกอย่าง ออกคำสั่งอย่างเดียว ลงรายละเอียดทุกจุด โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องคิดและทำด้วยตนเอง

หลายๆครั้ง ทีมงานอยากเสนอไอเดีย หรืออยากทำในสิ่งที่ต่างไป แต่พอจะพูด ก็ไปเจอข้อ 1 อีก คือเราไม่ฟังเขาเลย สุดท้ายทีมงานจะมองว่าเราเผด็จการ จึงหยุดคิด หยุดเสนอความเห็น เปลี่ยนเป็นรอฟังคำสั่งแทน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเดือดร้อนถ้าตัดสินใจผิดพลาด

====

3.หวังดีมากไป จนกลายเป็นยัดเยียด

ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านโลกมามากกว่า เรามีความหวังดีต่อทีมงาน อยากช่วยเหลือลูกน้อง จึงพยายามแนะนำสั่งสอนในจุดที่คิดว่าเขายังทำได้ไม่ดีพอ พอเราแนะนำไปแล้วเขาไม่ทำตาม เราก็ผิดหวัง ขุ่นเคือง หรือถึงขั้นน้อยใจ ทั้ง ๆ ที่หลายครั้งเขาก็ไม่ได้ขอให้ช่วยเลย

นั่นทำให้ทีมงาน มองว่าเรายัดเยียด จึงพยายามเอาตัวออกห่าง หรือถึงขั้นหูทวนลม ในทุกๆครั้งที่เราเอ่ยปากพูดอะไร เพราะมองว่าเราไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ของเขาจริงๆ

====

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้ปรับตัวเองเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น จนได้รับผลสะท้อนที่ดีจากน้อง ๆ ในทีมหลังจากนั้นไม่นาน ผมมีคำแนะนำให้กับผู้นำหรือผู้บริหารที่ไม่อยากมีปัญหาเหมือนผม ดังนี้

1.ไม่อยากมีอีโก้ ให้ลดความเร็วลง

ไม่ใช่ทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องได้คำตอบเดี๋ยวนี้ตอนนี้เท่านั้น เวลามีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ ไม่ควรรีบตัดสินถูกผิด “ปล่อยให้ตัวเองได้ช้าลง” รับฟังมากขึ้น ถามความเห็นของทีมก่อน หากเขาคิดไม่ตรงกับเรา ก็ถามเหตุผลและให้เขาอธิบายมากขึ้นอีก ยังไม่ต้องรีบหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาเลย ทิ้งเวลาตัวเองและอีกฝ่ายกลับไปคิดใคร่ครวญในอีกมุมที่ต่างกัน แล้วค่อยนัดมาหารือกันทีหลัง

บางทีเราอาจจะเห็นจุดที่ดีกว่าจากมุมของอีกฝ่าย หรือกระทั่งแง่มุมที่มาปรับรวมกันแล้วดีขึ้นก็เป็นได้ แม้สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามความคิดของเขา แต่เราก็ได้แสดงออกอย่างจริงใจว่าเราได้รับฟังและเคารพมุมมองของเขาอย่างเป็นกลางแล้วนั่นเอง

====

2.ไม่อยากเป็นเผด็จการ ปล่อยให้ทีมทำผิดพลาดได้

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเป๊ะทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสั่งการหรือควบคุม “ฝึกให้ความไว้วางใจทีมงาน” ให้โอกาสทีมได้ทดลองทำ และเปิดพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้บทเรียนจากการคิดเองทำเอง จะได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น

เมื่อมอบหมายงานให้ไปแล้ว ก็อย่าไปคอยถามหรือตามงานบ่อย ๆ เพราะเขาจะมองว่าเราจู้จี้และไม่ไว้ใจ หากกังวลว่าลูกน้องจะทำงานสำคัญพัง ก็ให้มาเล่าแผนการและนัดให้มีการรายงานผลเป็นระยะแทน

====

3.ไม่อยากยัดเยียด อย่ารีบสอนรีบแนะนำ

สิ่งที่ยากในการเป็นผู้บริหาร คือ “การวางตัวเป็นกลาง” เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แล้วปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ค่อย ๆ เป็นไปตามจังหวะเวลาของมัน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไข บางทีความหวังดีที่เราให้ไป แต่ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เขาจะเข้าใจ คำแนะนำของเราเสียเปล่าหรืออาจเป็นผลเสียต่อเขาก็ได้ เช่น เขาต่อต้านแล้วไปทำตรงข้ามกับที่เราแนะนำ หรือเขาทำตามคำแนะนำโดยที่ไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริง ปัญหาเดิมก็ไม่ถูกแก้ แต่จะกลับมาใหม่อีกเรื่อย ๆ

แต่ก็ไม่ใช่จะวางเฉยจนไม่ทำอะไรเลย เมื่อเราพบว่าสิ่งที่ลูกน้องคิดและทำอาจส่งผลเสียหาก และดูท่าทางเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองพลาดอะไร ให้หาโอกาสชวนมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว พูดถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็น พูดถึงความเป็นห่วงของเรา ให้ทำด้วยความเมตตาและปรารถนาดี

จากนั้นถามความเห็นหรือมุมมองของเขาว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร ให้เวลาในการรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ยังไม่ต้องรีบสอนหรือแนะนำ จนกว่าเขาจะขอความเห็นจากเรา เราก็ค่อยอธิบายมุมมองของเรา โดยไม่ต้องบังคับหรือคิดว่าเขาจะทำตามเรา เพราะชีวิตเขา เขาต้องรับผิดชอบผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเอง

ยกเว้นว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่องานและส่วนรวม เราจะต้องอธิบายให้เห็นผลกระทบส่วนนี้ แล้วถามเขาต่อว่าเขาจะป้องกันหรือแก้ไขมันอย่างไร หากเขาไม่ทราบหรือไม่รู้ เราค่อยแชร์มุมมองของเราอีกที ถ้าเป็นแบบนี้ทีมงานจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ก้าวก่ายชีวิตเขา แต่เรากำลังทำเพื่อส่วนรวม

ฝึกฝนทักษะการฟังเพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ไม่ด่วนแนะนำด้วย  Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

====

จากที่เล่ามา เป็นสิ่งที่ผมพยายามสังเกตตนเองจากการบริหารทีม และพยายามปรับตัวเองเพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ซึ่งหลายท่านที่อ่านอาจจะรู้สึกว่า ต้องปรับตัวเองมากไปหรือเปล่า ต้องผืนใจหรือพยายามเกินไปไหม

จากประสบการณ์ตรงของผม ยิ่งเราพูดน้อยลง สั่งการน้อยลง เข้าไปนั่งในออฟฟิศน้อยลง ผมพบว่าทีมงานยิ่งเก่งขึ้น ขยันมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และดูเหมือนว่าบรรยากาศในการทำงานจะดีขึ้นด้วย

ส่วนสิ่งที่ผมทำมากขึ้นคือ ให้เวลาในการฟังแต่ละคนมากขึ้น ให้เวลาพัฒนาแต่ละคนตามเป้าหมายของเขามากขึ้น สนับสนุนให้กำลังใจและชื่นชมแต่ละคนมากขึ้น

ที่ผมเน้นย้ำว่า “แต่ละคน” คือไม่ทำแบบเหมารวม แต่ทำแบบเฉพาะคน เลือกคนที่สำคัญเป็น Keyman ไม่กี่คนที่เราจะโฟกัสพัฒนาเขา แล้วสอนเขาให้ไปพัฒนาคนอื่นต่อ

เพราะงานที่แท้จริงของผู้นำ คือ “การสร้างผู้นำรอบ ๆ ตัว”

บทความโดย อ.เรือรบ CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962


====

ปล. ผมมีหลักสูตรใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2023 ชื่อ Leading with Empathy” ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูง ดูรายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่ หากสนใจจัดอบรมในองค์กร โทร 093 925 4962 หรือ Line @lhtraining

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save