ทำอย่างไรให้คนในทีมระเบิดความสร้างสรรค์ออกมา

ทำอย่างไรให้คนในทีมระเบิดความสร้างสรรค์ออกมา


หนึ่งในสิ่งที่คนทำงานมืออาชีพบอกต่อกันมาแบบผิดๆ ก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล”

คำกล่าวนี้ต้องการจะบอกว่าใครที่มีก็มี ส่วนใครไม่มีก็จะไม่มีไปตลอดกาล


แต่ในความเป็นจริงมีการทำวิจัยไม่รู้กี่ครั้งในหลายสิบปีก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าใครจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าใครตั้งแต่กำเนิด!
===

ความจริงก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์นั้นสร้างได้” ใครๆ ก็มีได้ ขอเพียงให้มีโอกาสที่เหมาะและบริบทแวดล้อมที่ถูกต้องเท่านั้นเอง

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเป็นทีมนั้นจึงต้อง ‘สร้าง’ ร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทุกคนล้วนถูกปลดล็อคให้ไอเดียบรรเจิดได้ทั้งนั้น และนี่คือขั้นตอนในการระเบิดความคิดสร้างสรรค์ของทีม
===

บ่มเพาะความชำนาญเฉพาะด้าน

ก่อนจะไปสร้างสรรค์อะไรให้โลกตะลึงเราควรจะมีความชำนาญเฉพาะด้านเสียก่อน

 

ถ้าอยากจะเป็นนักสร้างสรรค์ระดับท็อปของงานโฆษณา ก็ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของโฆษณาอย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับก่อนที่คุณจะเป็นนักประดิษฐ์ด้านเครื่องกล คุณก็ต้องเข้าใจหลักกลศาสตร์ให้ปรุโปร่งก่อนนั่นเอง

 

ฉะนั้น ถ้าอยากให้ทีมของคุณเป็นทีมแห่งความสร้างสรรค์ ก็ลองระบุว่าคนในทีมจะต้องมีทักษะอะไรบ้าง ช่วยโค้ชและให้กำลังใจทีมงาน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่กว่าการสอนงานเบื้องต้น

ลองให้ทีมของคุณทำบันทึกการทำงานส่งแล้วคุณ Feedback กลับไปว่าอะไรดีไม่ดีอย่างละเอียด สิ่งนี้ช่วยยกระดับทีมงานของคุณได้
===

สนับสนุนให้สำรวจหาสิ่งใหม่ๆ

การมีเพียงความชำนาญเฉพาะในสิ่งนั้น ๆ อาจจะไม่เพียงพอ หากคุณรู้ทุกอย่างในกระบวนการโฆษณาซึ่งไม่ต่างจากการ ‘รู้แน่น’ ในการโฆษณาตามแบบฉบับขององค์กร ซึ่งเท่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปไกลจากคนอื่นเลย

ลองไปสำรวจเรียนรู้สิ่งอื่นนอกเหนือจากแวดวงตัวเอง เช่น เรียนรู้การปลูกพืชออร์แกนิก ซึ่งอาจจะช่วยเปิดโลกและปลดล็อคการคิดสร้างสรรค์ในงานโฆษณาก็เป็นได้

องค์กรใหญ่หลายแห่งเริ่มมีนโยบายให้พนักงานแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเพื่อไปค้นคว้าหาสิ่งแปลกใหม่ เพื่อจะมีไอเดียกลับมาทำให้การทำงานในทีมนั้นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์แล้ว
===

เสริมพลังในทีมด้วยเทคโนโลยี

เพราะเทคโนโลยีมีบทบาทในการช่วยให้มนุษย์ก้าวกระโดดจากจุดเดิม การใช้เทคโนโลยีจะเพิ่มความชำนาญไปจนถึงร่นระยะเวลาการทำงานเดิม ๆ จนมีเวลาไปสร้างอะไรแปลกใหม่ได้

ตัวอย่าง บริษัทพิกซาร์ที่ทำแอนิเมชั่นจนได้รางวัลออสการ์นั้นจะมีการลองใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ มาทดลองทำหนังสั้น ซึ่งถือเป็นการเล่าเรื่องเชิงทดลองด้วย

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการทำภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ และกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการในที่สุด
===

อดทดรอผลลัพธ์

อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการทดลอง หากเร่งรัดรีบร้อนก็คงจะล้มเหลวทั้งวงการ

สิ่งที่ควรจะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรคือการเกื้อหนุนให้สามารถทดลองความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และให้เวลามากพอที่จะพัฒนาและอดทนรอดอกผลให้งอกเงย

แม้กระทั่งหากผลลัพธ์ไม่ออกมาอย่างที่หวัง ก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องปกติ และให้หันไปหาไอเดียใหม่ๆ มาลองทำอีกโดยไม่ต้องมองว่าสูญเปล่าหรือสิ้นเปลือง

บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากให้ค่ากับการสร้างสรรค์ โดยให้เวลาอย่างมากมาย อดทนรอคอยโดยไม่หวาดหวั่นกับต้นทุนจนเกินไป

เพราะเมื่อคุณค้นพบความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ ‘เวิร์ค’ ผลผลิตดี ๆ จะตามมา ช่วยให้เวลาและทรัพยากรที่ทุ่มทุนไปนั้น พลิกกลับมาเป็นผลประกอบการอันยอดเยี่ยมอย่างรวดเร็วและมหาศาลได้อย่างแน่นอน
===

เรียบเรียงจาก “Set the Conditions for Anyone on Your Team to Be Creative” โดย Greg Satell จาก Harvard Business Review เดือน ธันวาคม 2018

 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

10 วิธีสร้างความไว้วางใจให้ทีมของคุณ

10 วิธีสร้างความไว้วางใจให้ทีมของคุณ

หากคุณกำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ รู้มั้ยว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างความไว้วางใจจากทีมของคุณ 

แน่นอนว่า ทีมย่อมต้องการผู้นำ ที่มีวินัย ความรับผิดชอบ และกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเดิม

เป็นคนที่ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ‘ความไว้วางใจ(Trust)’ คือหัวใจสำคัญของการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งมันจะทำให้ทีมของคุณเวิร์คมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มผลกำไรและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความสุขในชีวิตอีกด้วย

====

ต่อไปนี้คือ 5 แนวทางในการสร้างความไว้วางใจ ที่ผมสกัดออกมาจากบทความ Ten Ways To Build Trust On Your Team ที่เขียนโดย Liz Ryan
ในนิตยสาร Forbes

1. กล้าที่จะแบ่งปันความเปราะบางของคุณ

เปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยถึงความกลัวและพูดถึงปัจจัยที่คุณคิดว่าจะทำให้เกิด Trust เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในธุรกิจของคุณ 

===

2. หยุดสร้างวัฒนธรรมแห่งการตำหนิ ติโทษ และการทำให้คนในทีมอับอายจากความผิดพลาดของเขา

เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความผิดพลาด การรับผิดชอบที่จะลงมือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแทน

===

3. ทบทวนกฎ ระเบียบ ที่ล้าสมัย

โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับการบังคับ สั่งการ และทำโทษ ตัดกฎที่รกรุงรังออกไปให้เยอะที่สุด การมีกฎลักษณะนั้นรังแต่จะทำให้ทีมงานของคุณรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเด็กที่ยังไม่โต 

===

4. สร้างระบบที่ให้คนในทีมพบเจอหัวหน้าทีมบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เป็นการพบเจอทั้งในส่วนของงานและในเรื่องทั่ว ๆไป อย่ารอให้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยมาพบเพื่อปะทะกันเมื่อที่ผ่านมา

===

5. ให้ความสำคัญกับทีมงานของคุณในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ทีมแต่ละคน ก็มีความเฉพาะตัวและแตกต่างหลากหลาย อย่ามองพวกเขาว่าเป็นเพียงคนทำงานให้คุณ ช่วยเปิดพื้นที่ในการรับรู้สารทุกข์สุกดิบ ความชอบ ความถนัด เป้าหมายในชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปของทีมงานแต่ละคนบ้าง

===

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบบางส่วนในการสร้าง Trust ที่เมื่อคุณนำไปปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแล้ว คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ของทีมเวิร์คที่มีความไว้วางใจเต็มเปี่ยมอย่างแน่นอน
===

ที่มา https://www.forbes.com/sites/lizryan/2018/03/17/ten-ways-to-build-trust-on-your-team/#7c7aa41a2445

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

จะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าอย่างไร

จะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าอย่างไร

นี่คือเรื่องเล่าของผู้บริหารหญิงคนหนึ่งที่ชื่อ ซูซาน

เธอได้เข้าไปทำงานในสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่ง อะไร ๆ ก็เหมือนจะดีในช่วงแรก แต่ซูซานก็เจอปัญหาสำคัญในการทำงาน

เธอมีเพื่อนผู้บริหารคนหนึ่งชื่อ แพท ซึ่งทั้ซูซานและแพทต่างก็ไม่กินเส้นกันตั้งแต่ช่วงแรกที่ร่วมงานกัน

เมื่อเวลาผ่านไป อะไรต่ออะไรก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานก็อาจจะทำให้ผลงานที่ทั้งคู่ต้องรับผิดชอบย่ำแย่ลง และชีวิตการงานที่นี่ของทั้งสองก็อาจจะพังพินาศได้
====

เมื่อซูซานลองวิเคราะห์สถานการณ์ดู เธอพบว่าแพทเป็นคนที่มีทักษะการทำงานอยู่ในระดับสูง เป็นคนที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้บริหารที่ใคร ๆ ต่างก็ชื่นชอบ แถมแพทยังไม่ใช่คนที่มีพิษมีภัยหรือบั่นทอนใครเลย

แต่ซูซานก็ต้องยอมรับตรง ๆ ว่าเธอไม่ชอบแพทเอาเสียเลย เพราะเป็นมนุษย์คนละสไตล์กับเธออย่างแท้จริง

ซูซานพบว่าเธอเข้าไม่ถึงแพทเลย เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจหรือไม่ได้รับความสำคัญในการทำงานร่วมกัน

นอกจากนั้นทีมของซูซานยังถูกทีมของแพทปล่อยปละละเลย ไม่สื่อสารอย่างที่ควรจะเป็น หรือบางทีก็เหมือนว่าทีมของแพทหลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกับทีมของซูซาน
====

สุดท้ายแล้วซูซานก็ตัดสินใจคิดกลยุทธ์ที่จะทำงานร่วมกับแพท

แล้วซูซานก็ได้แนวทางในการทำงานร่วมกับคนที่ไม่ชอบหน้าทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

 

1.ลองใช้เวลาอยู่ลำพังเพื่อสะท้อนสาเหตุความตึงเครียดที่มีต่อกันแล้วคิดทบทวนว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ลองคิดใคร่ครวญดูว่าทำไมถึงเกิดความรู้สึกไม่ชอบหน้ากันขึ้นมาได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าคุณควรเรียนรู้จากทุกคนที่ได้พบเจอว่าคุณควรทำตัวอย่างไรเมื่อพบเจอคนที่แตกต่าง (แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย)

 

จำไว้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ การพบปะพูดคุยในฐานะเพื่อนร่วมงานนั้นสำคัญมาก และบางทีการที่เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกันหรือการไม่ชอบหน้ากันอาจจะเกิดจากตัวคุณเองก็เป็นได้
====

2.พยายามเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายให้มากขึ้น

วิธีการนี้สำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของคุณเอง ลองคิดดูว่า “ทำไมคนนั้นถึงทำแบบนั้น จะทำอย่างไรถึงจะจูงใจคนนั้นได้ คนนั้นมองเราอย่างไร คนนั้นต้องการอะไรจากเราบ้าง ฯลฯ”

การคิดในมุมของคนอื่นจะทำให้เห็นว่าอีกฝ่ายก็ต้องการประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับคุณ หมายความว่าเป้าหมายปลายทางของคุณกับเขาไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันเลยนั่นเอง
====

3.ทำตัวเป็นนักแก้ปัญหา มากกว่าจะเป็นนักวิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นคู่แข่งกับเขา

เพื่อที่จะทำงานด้วยกันให้ได้ดีที่สุด คุณควรเปลี่ยนจากการมองว่าเขาเป็นคู่แข่งให้เป็นคนที่ร่วมงานกัน หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่คุณฝึกปฏิบัติได้คือการ ‘ให้’

ให้อีกฝ่ายได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคุณ และเชิญชวนให้อีกฝ่ายบอกความรู้สึกของเขาเช่นกัน ก่อนจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน
====

4.ถามให้มากขึ้น

ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด หลายคนมักจะเลือกบอกนู่นบอกนี่ ซึ่งอาจจะทำให้คุณดูเหมือนพวกชอบบงการและสร้างแรงกระเพื่อมในด้านลบเพิ่มขึ้นอีก

จะดีกว่าถ้าลองสร้างคำถามปลายเปิดดี ๆ ให้เขาได้ลองตอบและทั้งสองฝ่ายต่างก็รับฟังซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
====

5.ระมัดระวังการสื่อสารระหว่างบุคคลให้มากกว่าเดิม

เพราะแต่ละคนมีสไตล์การสื่อสารที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งสไตล์ของเราอาจไปสะกิดต่อมความรู้สึกไม่ชอบหรือไปโดนจุดเปราะบางของเขา

ฉะนั้นจะเป็นเรื่องดีกว่าถ้าคุณมองเห็นความแตกต่างระหว่างกันแล้วลองประยุกต์ความไม่เหมือนกันนั้นให้เชื่อมเข้าหากัน หรือหาตัวช่วยอื่นๆ ที่จะทำให้สองคนสามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้น

กระทั่งการมีตัวกลางที่คุณและเขาเคารพมาช่วยถ่ายทอดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ได้เช่นกัน
====

6.ร้องขอความช่วยเหลือ

การขอให้อีกฝ่ายช่วยเหลือกลายเป็นเรื่องดีอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะวิธีนี้ทำให้คุณเป็นฝ่ายทลายกำแพงความตึงเครียด และแสดงให้อีกฝ่ายเห็นถึงความเชื่อมั่นที่คุณมีต่อเขา

มันคือการแสดงออกว่าคุณมองเห็นคุณค่า เห็นความเฉลียวฉลาดและประสบการณ์ของเขา
====

ซูซานได้ใช้หลักการเหล่านี้ในการจัดการปัญหากับแพท เธอพบว่าความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันดีขึ้น สื่อสารกันมากขึ้นและเกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ชื่นชอบกันมากกว่าที่เคยคิดเอาไว้แต่แรกด้วย
====

เรียบเรียงจากบทความ “How to Collaborate with People You Don’t Like” โดย Mark Nevins ตีพิมพ์เมื่อ 4 ธันวาคม 2018 ใน Harvard Business Review


เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข –

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

Categories EQ

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะมาเผยความลับแก่คุณ

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจะมาเผยความลับแก่คุณ


แม้จะรู้ทฤษฎี รู้หลักการต่าง ๆ มากมายนับสิบ นับร้อยเรื่อง แต่ในสถานการณ์จริงการสร้างทีมเวิร์คก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณอยู่ดี

และต่อไปนี้คือประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทีมซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ

ลองศึกษาวิธีการของพวกเขาแล้วนำไปปรับใช้กับโจทย์ที่คุณพบเจออยู่ ตั้งเป้าไปเลยว่าคุณจะต้องมีทีมเวิร์คที่ดีให้ได้ภายในปีนี้และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นคุณก็จะไม่เลิกล้มกลางคัน

แล้ววันหนึ่งคุณอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นคนแชร์บทเรียนเหล่านี้ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นต่อไปก็ได้
====

1. จงรู้ความต้องการของคนในทีม บทเรียนจาก Utsav Bhattacharjee, cofounder ของ Reculta

 

“จงรู้ถึงความต้องการพื้นฐานที่สุดในการเข้ามาเป็นสมาชิกในทีม ทุกคนควรจะเข้าใจชัดเจนทั้งเป้าหมายของทีมและเป้าหมายของสมาชิกแต่ละคนเพื่อให้ความพยายามของสมาชิกแต่ละคนสอดคล้องกับความพยายามของทีมนั่นเอง”

 

“ให้คุณดูทีมพายเรือโอลิมปิกที่เป็นแชมป์กับทีมพายเรือมือใหม่เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่าง คุณจะเห็นว่าการรับรู้เป้าหมายของตัวเอง เป้าหมายของเพื่อน และเป้าหมายของทีมอย่างชัดเจนที่สุดทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเท่าที่ทีมจะทำได้” Bhattacharya บอก

“นอกจากนี้การให้ข้อเสนอแนะและการเรียนรู้ที่จะยอมรับฟังคำวิจารณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของทีมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองทักษะนี้ต้องใช้ความระมัดระวังและต้องฝึกฝนโดยใช้เวลา” Bhattacharya สรุป
====

 

2. รับฟังและเรียนรู้จากกันและกัน บทเรียนจาก Piyush Kedia, founder and CEO ของ Blue Vector

Kedia พูดถึงคุณสมบัติที่ทำให้ทีมของเขาและทีมที่มีประสิทธิภาพทีมอื่น ๆ ที่เขาพบเจอมีเหมือนกัน ดังนี้

 

“ฟังและเรียนรู้ – เราควรพร้อมที่จะรับข้อมูลจากใครก็ตามที่อยู่รอบตัวคุณโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงอายุ ประสบการณ์การทำงาน หรือภูมิหลังของเขา “

 

“หลีกเลี่ยงการนินทาผู้อื่น – นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความไว้วางใจ ระวังการพูดนินทาคนอื่นไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้แต่คนในแผนกอื่นก็ตาม

ระลึกไว้เสมอว่าทุกคำที่คุณพูดจะต้องเป็นถ้อยคำที่เจ้าตัวสามารถมานั่งฟังอยู่ด้วยได้”

“การพบหลังเวลาทำการ – อย่าให้ความเป็นทีมของคุณมีอยู่เฉพาะเวลาทำงาน จงสร้างทีมโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เป็นหลัก ให้เวลากับเพื่อนร่วมทีมนอกเหนือเวลางานเพื่อรับฟังเรื่องราวของเขาและแบ่งปันชีวิตด้านอื่น ๆ แก่กันและกันบ้าง”
====

3. จงแสดงความคิดเห็นออกมาด้วยความเคารพต่อกัน บทเรียนจาก Jayesh Khandor, founder ของ The Brand Saloon

 

“สิ่งสำคัญคือการมีความเห็น ไม่ว่าคนนั้นจะฉลาดมากหรือฉลาดน้อยแค่ไหน ทุกคนในทีมล้วนต้องการความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นที่ดีต้องมีความเคารพรักต่อคนในทีมตามมาด้วยเสมอ”

“โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คุณแสดงความคิดเห็น ลองจินตนาการว่าถ้าคุณเป็นเขาแล้วมีคนวิพากษ์วิจารณ์คุณแบบนั้นคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณไม่โอเคก็ลองปรับเปลี่ยนให้คุณรู้สึกโอเคที่สุดก่อนพูดออกมา”

====

บทความจาก Entrepreneur.com เขียนโดย Baishali Mukherjee

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน – ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

โลกยุคนี้ต้องการผู้นำแบบไหน

โลกยุคนี้ต้องการผู้นำแบบไหน

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีอิสระในการทำงานนั้น ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี และบรรยากาศที่ดีก็ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ยิ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้น

ภาวะผู้นำ ที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Liberating Leadership) จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้คนในองค์กรแสดงศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น

 

ต่อไปนี้คือ 4 แนวทางการสร้างภาวะผู้นำที่ผู้บริหารยุคใหม่พึงตระหนักและบ่มเพาะไว้เสมอ

====

1.ลดอีโก้

ผู้นำยุคใหม่ไม่ใช่ว่าต้องรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเองเสมอไป เมื่อต้องทำงานเป็นทีมก็ควรมีการวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน

การเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในทีมจะทำให้ลูกทีมรู้สึกว่าเขาได้รับความไว้วางใจ ทำให้เขารู้สึกมั่นใจ และสามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
===

2.แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน

ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการทำงานและวิสัยทัศน์ขององค์กรกับคนในทีม เพื่อหาจุดร่วมหรือหาบรรทัดฐานของการทำงาน ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดขอบเขตงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
===

 

3.เคารพซึ่งกันและกัน

สร้างบรรยากาศการทำงานให้อบอุ่นด้วยการให้ความเคารพต่อกัน เริ่มจากคนที่เป็นหัวหน้าต้องรู้สึกเคารพและเชื่อมั่นในตัวลูกทีม

นี่คือวิธีเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมที่ดีที่สุด ช่วยให้เกิดความสบายใจเมื่อต้องทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
===

4.ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในการทำงาน

บางครั้งอุปสรรคในการทำงานอาจเกิดจากวัฒนธรรมองค์กร หรือโครงสร้างในการทำงานที่ไม่เหมาะสม

ครั้งต่อไปเมื่อเจออุปสรรคระหว่างการทำงาน ให้ลองถามลูกทีมว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จากนั้นนำข้อคิดเห็นกลับมาปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
===

Liberating Leadership ไม่ใช่หลักการตายตัว เพียงแต่เป็นแนวทางที่ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นนั่นเอง
========

 

จากบทความ “Give Your Team the Freedom to Do the Work They Think Matters Most” โดย Brian Carney and Isaac Getz ตีพิมพ์เมื่อ 10 กันยายน 2018 ใน Harvard Business Review

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

10 เคล็ดลับที่ทำให้ทีมเวิร์คประสบความสำเร็จ

10 เคล็ดลับที่ทำให้ทีมเวิร์คประสบความสำเร็จ

มีสองเหตุผลที่องค์กรและทีมที่ประสบความสำเร็จไม่ได้บอกเคล็ดลับซึ่งทำให้ทีมของเขาเป็นสุดยอดทีมเวิร์คแก่คุณ

เหตุผลแรกคือพวกเขากลัวว่าทีมของคุณจะกลายมาเป็นคู่แข่งของเขาในอนาคต ส่วนเหตุผลที่สองซึ่งสำคัญกว่าก็คือ…

พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น

แต่ผมรู้ครับ! จากการศึกษาทีมเวิร์คและองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกเกือบร้อยแห่ง ผมพบว่าหัวใจสำคัญของการเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จประกอบไปด้วยเคล็ดลับที่จำแนกออกมาได้ทั้งหมด 10 ข้อ  ดังนี้

=====

1. สมาชิกในทีมรู้และเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน

การที่สมาชิกในทีมไม่รู้ว่าทีมที่เขาสังกัดมีเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง หรือเป้าหมายใหญ่ที่สุดเป็นอะไรก็ไม่ต่างกับการออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน สมาชิกแต่ละคนจะเคว้งคว้าง ผิดทิศ และมักเดินกันไปคนละทาง

ลองใช้เวลาประชุมเพื่อถามทุกคนในทีมเกี่ยวกับเป้าหมายของทีม ถ้าพวกเขาตอบไม่ได้หรือตอบไปคนละทางก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพูดคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกันก่อน
====

2. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความจริงใจ

พื้นที่ปลอดภัย (safe space) คือพื้นที่ทางจิตใจที่ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวเอง ทุกคนสามารถสื่อสารความคิด ความรู้สึก มุมมองที่แตกต่าง เผยความเปราะบางให้กันและกันรับรู้ได้ และสมาชิกในทีมเต็มไปด้วยความรู้สึกไว้วางใจกันและกัน

สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญในการสร้างทีมที่ประสบความสำเร็จซึ่งต้องมีองค์ประกอบในข้อถัดไป

รู้ไหม ความไว้วางใจนั้นสร้างได้ ซึ่งความไว้วางใจนี่แหล่ะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและจริงใจ คลิกอ่านวิธีการที่นี่
====

3.มีการสื่อสารที่เปิดกว้าง เปิดใจ ซื่อสัตย์ จริงใจ และเต็มไปด้วยความเคารพ

การสื่อสารนี่แหล่ะคือแก่นหลักในการเป็นทีม เป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมจะประสบความสำเร็จได้หากปราศจากการสื่อสารที่มีคุณภาพ

ซึ่งการสื่อสารที่มีคุณภาพคือการสื่อสารที่เปิดกว้าง รับฟังกันและกัน สื่อสารด้วยความสัตย์จริงทั้งต่อหน้าและลับหลัง และที่สำคัญคือต้องสื่อสารด้วยความเคารพกันและกันเสมอ
====

4. ทุกคนในทีมมีจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของทีมหรือองค์กรนี้ร่วมกัน (sense of belonging)

หากคนในบ้านไม่รู้สึกว่าตัวเองคือเจ้าของบ้านเขาจะใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องดูแลหรือรับผิดชอบอะไรในบ้านหลังนั้นเลย

ทีมก็เช่นกัน การปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของทีมทำได้โดยการเปิดโอกาสให้เขาได้นำทีมเป็นระยะและรับรู้ถึงไอเดีย มุมมอง ความรู้สึกของเขาที่มีต่อทีม ต่องานแต่ละโปรเจคเสมอ
====

5. สมาชิกในทีมรับรู้ถึงความมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันทั้งของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม

การรู้ว่าตัวเองคือใคร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร มีพรสวรรค์หรือความถนัดด้านไหน และมองเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในตัวเพื่อนร่วมทีมซึ่งแตกต่างไปจากตัวเราเอง

สิ่งนี้ทำให้ทุกคนในทีมเกิดความเข้าใจและยอมรับกันและกันได้ง่ายขึ้น ต่อยอดไปสู่การผลัดกันขึ้นมานำในแต่ละจังหวะเวลาได้อีกด้วย
====

6. ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และมุมมองที่แตกต่างกันจะต้องได้รับการมองเห็นและสนับสนุนเสมอ

ทีมที่ประสบความสำเร็จจะไม่มีความคิดเห็นหรือมุมมองของใครเป็นความคิดโง่ๆ ความคิดไม่ได้เรื่อง หรือเป็นแม้กระทั่งไม่ได้รับการมองเห็น

ทุกไอเดียที่แตกต่างสามารถต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมได้เสมอ การรับรู้และสนับสนุนความคิดที่แตกต่างกันนี่แหล่ะที่ช่วยให้คนในทีมรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมกัน
====

7. มีการสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบทีมและตรวจสอบตัวเองได้ตลอดเวลา

อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาวิธีแก้ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสำคัญกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการสร้างระบบตรวจสอบตัวเองที่รัดกุมขึ้นมา และให้สมาชิกในทีมเข้าสู่ระบบนี้โดยอาจทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

และควรสร้างระบบไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบคนอื่นและถูกตรวจสอบได้นั่นเอง

====

8. สมาชิกทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่างๆ

จิตสำนึกในการเป็นเจ้าของจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญๆ เช่น การกำหนดข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ

เมื่อพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ พวกเขาก็จะรับผิดชอบต่อความคิดตัวเองมากกว่าการถูกป้อนคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว
====

9. ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำของการประชุม รวมถึงเป็นผู้นำในแต่ละโปรเจคด้วย

บทบาทที่สำคัญคือการเป็นผู้นำ แม้ทุกทีมจะมีตำแหน่งระบุว่าใครคือหัวหน้า แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริง ทีมที่ประสบความสำเร็จคือทีมที่ทุกคนคือผู้นำ

ลองกำหนดว่าทุกคนจะได้ขึ้นมานำประชุมในแต่ละครั้งแล้วหมุนเวียนกันไป รวมถึงโปรเจคซึ่งควรเปิดโอกาสให้คนในทีมขึ้นมานำในส่วนที่เขาถนัดด้วย
====

10. สมาชิกทุกคนในทีมจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ร่วมกัน

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาที่มีเรื่องสำคัญๆ นอกจากที่สมาชิกในทีมต้องรับรู้แล้ว พวกเขาจะต้องมีสิทธิในการตัดสินใจด้วย

โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวเขาโดยตรง เช่น การรับโปรเจคใหญ่ๆ การรับลูกค้าใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ

ถึงตรงนี้คุณน่าจะพอมองเห็นแล้วว่าองค์ประกอบที่สำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จก็คือ พื้นที่ปลอดภัย การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของร่วมนั่นเอง

====

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างความร่วมมือร่วมใจในทีมคือสองเรื่องที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เขียน โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Collaboration  (Team Collaboration Facilitator) 

 Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 ลักษณะผู้นำสุดแมนที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

5 ลักษณะผู้นำสุดแมน ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง


โลกธุรกิจเป็นโลกที่มีการแข่งขันรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง และตลาดก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน

หลายองค์กรพยายามค้นหาและไขว่คว้าโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ต่อไป

====

‘ผู้นำที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง’

คือหัวใจสำคัญที่จะพาองค์กรอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้

หลายคนอาจสงสัยว่าผู้นำที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร

นี่คือ 5 คุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่สามารถโอบรับความเปลี่ยนแปลงและพาองค์กรข้ามผ่านการเปลี่ยนแปลงจนสามารถเติบโตได้

1.สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน

การมีเป้าหมายจะนำไปสู่การลงมือทำ เป้าหมายที่มีพลังต้องชัดเจน และมีความหนักแน่นมั่นคงในหลักการ มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

เป้าหมายเช่นนี้จะไม่พังครืนลงมาเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายที่ผ่านเข้ามา
====

2.มองการณ์ไกล

ผู้นำหลายคนมองว่าการมองการไกลเป็นเรื่องของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่การจะรับมือกับความไม่แน่นนอนควรปลูกฝังและบ่มเพาะตั้งแต่ผู้จัดการทั่วไปขึ้นมาจนถึงระดับบน

คนกลุ่มนี้ต้องการการสนับสนุนและการกระตุ้นให้มองเห็นโอกาสในงานที่ทำอยู่ทุกวัน ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องให้ความสำคัญกับเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อการวางแผนและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
====

3.อะไรไม่เวิร์คก็ปรับเปลี่ยน

การลองผิดลองถูกเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ เพราะเทรนด์โลกเข้ามาและจากไปอยู่ตลอด

บางวิธีที่เคยใช้ได้ผลอาจไม่ได้ผลกับตลาดเดิม การหารือกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาจุดบกพร่องที่จะนำมาปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจต่อไป

นอกจากนี้การหารือกันแบบนี้ยังสร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กรให้เกิดขึ้นได้ด้วย
====

4. ให้ความสำคัญกับการประเมินความเสี่ยง

แทนที่จะถามหาที่มาที่ไปของความเสี่ยงที่จะลงทุน ลองมองหาช่องทางประเมินความเสี่ยงกับสิ่งที่จะลงมือทำดูบ้างว่า ถ้าทำแล้วผลที่ได้จะเป็นอย่างไร

การตั้งคำถามลักษณะนี้ยังต่อยอดไปถึงการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอีกขั้นด้วย
====

5.มองหาช่องทางการทำงานร่วมกับผู้อื่น

มองหาโอกาสในการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิด จุดประกายความคิดซึ่งจะนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจของเราได้ด้วย
====

ท้ายที่สุดคุณควรตระหนักไว้เสมอว่า ‘ความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง’ เป็นคุณลักษณะที่จำเป็นของผู้นำทุกระดับตั้งแต่หัวหน้าผู้จัดการไปจนถึงผู้บริหารองค์กรเลยทีเดียว
====

เรียบเรียงจากบทความ “5 Behaviors of Leaders Who Embrace Change” โดย Edith Onderick Harvey ตีพิมพ์เมื่อ 18 พฤษภาคม 2018 ใน Harvard Business Review

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

5 ทักษะที่สำคัญของทีมเวิร์ค

5 ทักษะที่สำคัญของทีมเวิร์ค

ทีมงานหนึ่งทีมก็เหมือนมนุษย์หนึ่งคน สมาชิกในทีมที่เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่และสอดประสานกันได้อย่างลงตัว ทีมจึงจะมีสุขภาพดีและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ถ้ามองในมุมของมนุษย์หนึ่งคน คน ๆ นั้นจะต้องมีทักษะที่สำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และการทำงาน

 

ในทีมก็จะต้องมีทักษะเพื่อดูแลสุขภาพและการทำงานของทีมเช่นกัน

 

และต่อไปนี้คือทักษะที่สำคัญที่สุด 5 ประการที่ทีมซึ่งอยากมีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมี
===


1. ทักษะการสื่อสาร (communication skill)

สมาชิกต้องมีความสามารถในการสื่อสารความคิด ความรู้สึก และความต้องการทุกระดับของตัวเองไปสู่ผู้อื่นได้ในทุกช่องทาง

 

ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบตัวหนังสือผ่านอีเมล ไลน์ ข้อความต่างๆ การโทรศัพท์ ตลอดจนการสนทนาเมื่อพบปะเจอตัวกันจริงๆ ด้วย

สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ เพราะต่อให้คุณพูดหรือพิมพ์ถ้อยคำที่เป็นบวกแต่ภายในใจยังคิดลบ ต่อต้าน หรือตัดสินอีกฝ่าย สิ่งที่คุณคิดจะถูกสื่อสารออกมาทางอวัจนะภาษาและพลังงานที่คุณส่งไปหาเขาโดยไม่รู้ตัว

 

หัวใจสำคัญคือการสื่อสารกับตัวเองให้เข้าใจตัวเองเสียก่อนที่จะไปสื่อสารกับผู้อื่นนั่นเอง
===

 

2. ทักษะการฟัง (Listening skill)

 

ในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมานั้นให้ความสำคัญกับการพูดมากกว่าการฟัง

 

ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้วสองทักษะนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

และเมื่อสังคมให้ความสำคัญกับการฟังน้อยลงเรื่อยๆ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงฟังไม่เป็น

 

เมื่อฟังไม่เป็นก็จะไม่เข้าใจอีกฝ่าย ไม่สามารถอำนวยให้อีกฝ่ายเข้าไปสัมผัสรับรู้ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง

 

และสุดท้ายทั้งทีมก็จะพังไม่เป็นท่าเพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ท่ามกลางความไม่เข้าใจ
===

 

3. ทักษะการเชื่อใจ (Reliability skill)

 

ความเชื่อใจ ความไว้วางใจคือหัวใจสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ และนี่คือทักษะที่ทุกคนฝึกฝนได้ไม่ว่าพื้นฐานของแต่ละคนจะมีมากน้อยขนาดไหนก็ตาม

 

ความไว้วางใจและการเชื่อใจผู้อื่นเกิดจากการสะสมการพูดและทำทุกสิ่งตามที่ได้รับปากไว้ การไม่โกหกหลอกลวงกันและกัน การซื่อสัตย์ต่อตัวเอง การตรงต่อเวลา การไม่นินทาลับหลัง การเป็นคนตรงไปตรงมาโดยไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มต้นฝึกได้โดยการยอมรับความคิด ความรู้สึกของตัวเองอย่างแท้จริง
===

 

4. ทักษะการเคารพ (Respectfulness skill)

 

ความรู้สึกที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากความเชื่อใจก็คือความเคารพ การเคารพที่ดีจะไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายนอก เช่น เขาต้องทำงานเก่ง เขาต้องมั่งคั่งร่ำรวย ฯลฯ

 

เพราะการเคารพเพราะเงื่อนไขก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้เคารพที่ความเป็นมนุษย์หรือตัวตนของเขาจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ

ฝึกการเคารพโดยการให้เกียรติ ไม่ต่อว่านินทาเขาทั้งต่อหน้าและลับหลัง

 

รับฟังความคิดเห็นของเขาอย่างใส่ใจ ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน และชื่นชมในความคิด ความสามารถ จุดยืน และตัวตนของเขาแม้ว่ามันจะแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
===

 

5. ทักษะบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)

 

ทีมที่ไม่เคยมีความขัดแย้งเลยอาจจะย่ำแย่กว่าทีมที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เสียอีก เพราะในความเป็นจริง คนทุกคนมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอนแม้ว่าจะมีอะไรคล้ายกันขนาดไหนก็ตาม

 

ซึ่งความแตกต่างที่ได้รับการเผยแสดงออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอและมีการบริหารจัดการที่ดีนี่เองจะนำไปสู่การพัฒนาสิ่งต่างๆ และเสริมสร้างความเชื่อใจและความเคารพซึ่งกันและกันด้วย

 

ส่วนทีมที่ไม่เคยมีความขัดแย้งเลย มีความเป็นไปได้ว่าบางคนในทีมที่คิดเห็นแตกต่างอาจไม่เคยสื่อสารออกมาเพราะไม่รู้สึกว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยเพียงพอ

 

และการเก็บงำความคิดที่แตกต่างโดยสะสมไว้กับตัวเรื่อยๆ อาจนำไปสู่การแตกหักเข้าสักวัน
ทางออกที่ดีที่สุดคือเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพิ่มพูนความเชื่อใจและความเคารพ ผ่านการสื่อสารและรับฟังอย่างแท้จริง

 

เพื่อมีพื้นที่สำหรับความคิดเห็น ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างกันซึ่งจะไม่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทจนแตกหักในที่สุด

===

เมื่อเราใช้คำว่า ทักษะ (skill) นั่นแปลว่ามันคือสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนจนมีติดตัวได้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จในการทำงานภายใต้การเป็นทีมที่เวิร์คอย่างแท้จริง ก็จงให้เวลากับการฝึกฝนทักษะทั้งห้านี้อย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ
=====


บทความ โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค

 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
……………………..

สุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม 6 วิธีต่อไปนี้ช่วยได้!

เพราะสุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม 6 วิธีต่อไปนี้ช่วยได้!

พอล ซานตากาต้า หัวเรือใหญ่ของ Google กล่าวไว้ว่า “หากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ ย่อมไม่เกิดการทำงานเป็นทีม”

พอลรู้ซึ้งในความหมายของประโยคดังกล่าวจากการร่วมงานกับคนในทีมของเขาตลอดระยะเวลา 2 ปี

 

สิ่งที่เขาค้นพบว่าช่วยทำให้ทีมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด คือการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง

 

โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในทีมมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะไม่ถูกลงโทษหากทำอะไรผิดพลาด

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า การมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงช่วยให้สามารถพูดในสิ่งที่คิดได้อย่างเต็มที่  มีความคิดสร้างสรรค์ และทำให้กล้าลงมือทำอะไรสักอย่างโดยไม่กลัวล้มเหลว

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการประสบความสำเร็จทั้งสิ้น

 

แล้วสมาชิกในทีมจะมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงได้อย่างไร? คำตอบอยู่ที่ 6 ปัจจัยที่พอลนำมาใช้กับทีมงานแล้วเวิร์คสุด ๆ
====

1.จัดการกับปัญหาเพื่อผลลัพธ์ที่ทุกคนพอใจ

มนุษย์ส่วนใหญ่จะเกลียดความพ่ายแพ้มากกว่าอยากชนะเสียอีก แม้กระทั่งการทำงานในทีมเดียวกันก็ตาม

พอลรู้ดีว่าการจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้น ทุกฝ่ายจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ win – win(ไม่มีใครแพ้) ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เขาจะหาทางแก้ปัญหาโดยการตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไรถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ”
====

2. อย่าลืมว่าทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา

มนุษย์แต่ละคนย่อมต้องการความเคารพนับถือ ต้องการให้มีคนยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และต้องการอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง 

พอลจะหมั่นเตือนคนในทีมว่า เวลาคุยงานหรือต้องเจรจาเรื่องงานกับผู้อื่น ให้คิดเสมอว่าอีกฝ่ายก็เหมือนกับตัวเราที่อยากจบการสนทนานี้อย่างมีความสุข

 

เพราะพวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราที่มีความเชื่อ มีมุมมอง และมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความหวัง มีความกังวล มีความเปราะบางเป็นของตัวเอง ทุกคนมีเพื่อน มีครอบครัว และบางทีอาจมีลูกที่รักเหมือน ๆ กับเราด้วย

 

และที่สำคัญที่สุดเราต่างปรารถนาความสงบ ความสุข และความรื่นเริงเหมือนกัน
====

3. คาดการณ์และวางแผนรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า

นอกจากคิดว่าต้องทำอย่างไรให้หน้าที่การงานประสบความสำเร็จแล้ว เราต้องตั้งคำถามล่วงหน้าเผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น “ถ้าฉันตัดสินใจทำเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีวิธีรับมือได้อย่างไร” การตอบคำถามเหล่านี้อาจต้องลองเปลี่ยนมุมมองจากตัวเราให้กลายเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งเฝ้ามองเหตุการณ์นี้อยู่ห่างๆ จึงจะมองเห็นอย่างชัดเจนว่า “ปัญหาคืออะไร” “อะไรคือช่องโหว่ของการตัดสินใจดังกล่าว” เมื่อเรามองเห็นแล้ว หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง เราจึงจะสามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรัดกุมและมีสติมากขึ้น
====

4. เปลี่ยนการตำหนิให้เป็นบวก

ถ้าเกิดคนในทีมสัมผัสได้ว่าคุณกำลังจะตำหนิเขา สายตาที่พวกเขามองและนึกถึงคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที

 

งานวิจัยพบว่าการตำหนิและการวิจารณ์จะทำให้ความบาดหมางบานปลายจนนำไปสู่การปิดตัวเองและในที่สุดก็ตัดขาดออกจากทุกสิ่งอย่างได้

การตำหนิไม่ใช่ด้านบวกแต่ก็มีวิธีที่จะทำให้มันอ่อนโยนขึ้น

เริ่มจากการพูดถึงปัญหาหรือผลลัพธ์ผ่านการสังเกตโดยใช้ภาษาที่เป็นกลางแล้วใช้ข้อเท็จจริงมาอธิบายประกอบ

จากนั้นจึงร่วมสำรวจถึงปัญหานั้นไปด้วยกัน ปิดท้ายด้วยการถามอีกฝ่ายถึงความคิดเห็นว่าจะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นได้อย่างไร โดยที่เราต้องให้บุคคลนั้นเป็นผู้คิดและเสนอทางแก้ไขเหล่านั้นด้วยตัวเอง

เพราะเขาคือผู้กุมกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนานี้ได้
====


5. เป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับบ้าง

การเป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับไปยังเพื่อนร่วมทีม ถือเป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทีมเวิร์คได้

เพราะคนในทีมจะรู้ว่าการสื่อสารระหว่างกันนั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนั้นจะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นจุดบอดในการสื่อสาร เพื่อนำมาแก้ไขในอนาคต ทั้งหมดทั้งมวลจะช่วยให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้นำมากขึ้น

 

การจบบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า “อะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผลบ้างจากการสื่อสารของเรา?”

 

, “รู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินข้อความนี้?”

และ “ฉันจะนำเสนอมันให้ออกมาได้ผลมากขึ้นได้อย่างไร?” อย่าเป็นฝ่ายออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว เราต้องเป็นฝ่ายรับ feedback บ้างเช่นกัน
====

6. หมั่นตรวจวัดระดับสุขภาพจิต

พอลมักจะถามลูกทีมเสมอว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างในการทำงาน รู้สึกดีกับการทำงานเป็นทีมหรือไม่ แล้วอะไรจะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง

โดยเขามักจะให้ทีมทำแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย เพราะเขามองว่านั่นคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

 


ถ้าคุณเริ่มหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและเพื่อนร่วมทีมตั้งแต่ตอนนี้ มั่นใจได้เลยว่าศักยภาพในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
====

เรียบเรียงจากบทความ “High-Performing Teams Need Psychological Safety. Here’s How to Create It” โดย Laura Delizonna ตีพิมพ์เมื่อ 24 สิงหาคม 2017 ใน Harvard Business Review


เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save