วิธีทำให้คนที่ไม่ถูกกันร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าขากันได้ดี หรือปลาบปลื้มชื่นชมเพื่อนร่วมงานหรอกนะ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าใครสักคนทำตัวเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” มีพฤติกรรมน่ารำคาญ ก็อาจทำให้เขาสร้างปัญหากับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ส่งผลให้ทีมเจอะเจออุปสรรคปัญหาในการทำงานได้…

ถ้าคุณเป็น “หัวหน้างาน” เราขอแนะนำคุณ ดังต่อไปนี้…

====

1. หาสาเหตุที่ถูกต้อง

ว่าทำไมลูกน้องของคุณคนนี้ ถึงไม่สามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้? โดยพุ่งเป้าความสนใจไปที่ “พฤติกรรมของเขา” ไม่ใช่ที่ “บุคลิกลักษณะของเขา”

ดูว่าเขาทำตัวหยาบคาย หรือชอบพูดจาจิกกัดคนอื่นๆ มีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวเวลาที่คนอื่นไม่ทำตามความต้องการของเขาไหม? มักปฏิเสธความช่วยเหลือผู้ร่วมงานในเรื่องการทำงาน หรือการแก้ปัญหาใดๆ หรือไม่

====

2. เรียกลูกน้องคนนั้นเข้ามาคุยกับคุณ

“เป็นการส่วนตัว” อย่าตักเตือนลงโทษเขาอย่างเป็นทางการ แต่ทำให้เขาเข้าใจอย่างชัดเจน ว่านี่เป็นประเด็นปัญหาเรื่องการทำงานที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะมันมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน/องค์กร

====

3. บอกให้เขารู้ว่าปัญหาคืออะไร?

อย่าบอกเขาว่า “คุณเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ” หรืออะไรก็ตามที่เป็นการตราหน้า ว่าเขาเป็นคนไม่ดี! ให้พูดถึงแต่พฤติกรรมของเขา

เช่น “เวลาที่คุณตำหนิหรือกล่าวโทษคนอื่นรุนแรงเกินไปนั้น ทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมงานของคุณอยู่นะ” พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้เห็นภาพ

====

4. อย่าทำให้เขารู้สึกว่ากำลังโดนกดดัน หรือถูกบีบคั้น

 คุณไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า “ทุกคนในแผนกบ่นเรื่องคุณกันทั้งนั้น”

====

5. ให้ตระหนักไว้ว่า คนส่วนใหญ่ทำบางสิ่งบางอย่างจนติดเป็นนิสัย

จนกระทั่งพวกเขาอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่า คนอื่นๆ มองเขาเป็นคนอย่างไร? เขาอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่า เขาได้ทำตัวหยาบคาย เที่ยวจิกกัดชาวบ้านเป็นประจำ

คุณควรพูดเตือนเขาดีๆ และอย่าไปทำลายความมั่นใจในตัวเองของเขา เพียงแต่ทำให้เขารู้ว่า “จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง”

====

แล้วถ้ามีพนักงาน/ลูกน้อง ไม่ชอบขี้หน้ากันอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ทั้งทีมมีปัญหาการทำงานได้ คุณในฐานะหัวหน้า/ผู้บริหาร ต้องเป็นคนเข้าไปไกล่เกลี่ย แก้ไขความไม่ลงรอยกันระหว่างลูกน้องทันที ถ้า…

– หลายคนมองเห็นว่า กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้น!
– ความขัดแย้งนั้นมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน
– ความขัดแย้งนั้นทำให้พนักงานไม่สื่อสารกัน/ไม่ร่วมมือกัน
– พนักงานคนอื่นๆ มีการเข้าข้างผู้ขัดแย้งแต่ละฝ่าย
– ทั้งทีม/หน่วยงาน กำลังรู้สึกแย่ กับการขัดแย้งครั้งนี้
– ความขัดแย้งส่งผลกระทบในทางลบต่อลูกค้า
– ความขัดแย้งทำให้คุณไม่สามารถทุ่มเทความสนใจให้กับงานที่มีความสำคัญๆ ได้ เนื่องจากคุณต้องคอยจับตาดูคู่กรณี
– ที่สำคัญ ณ ตอนนี้ คุณยังไม่ได้เข้าข้างใคร ยังมีความเป็นกลาง
– คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ให้ความไว้วางใจ/เชื่อถือคุณ

====

ทั้งนี้ คุณจะต้องเรียก “คู่กรณี” เข้ามาคุยพร้อมกัน ไม่ควรเรียกเข้ามาคุยทีละคน เพราะจะทำให้แต่ละคนสงสัย ว่าคุณพูดอะไรกับอีกคนหนึ่ง? หรืออีกคนหนึ่งบอกอะไรกับคุณบ้าง? และพวกเขาก็อาจให้ข้อมูลผิดๆ แก่คุณได้ด้วย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้คุณขัดแย้งกับพวกเขาไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ

ถ้าคุณมีคู่กรณี หรือ คนที่รู้สึกไม่ชอบหน้าเสียเอง คุณสามารถเรียนรู้และลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ อ่าน เราจะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าได้อย่างไร คลิกที่นี่

====

ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหานั้น คุณจะต้อง…

1. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ทำให้ดูจริงจังเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งตัวคุณเอง สัมผัสได้ถึงความตึงเครียด

2. บอกให้ทั้งคู่เข้าใจอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มการพูดคุย ว่าหน้าที่ของคุณ คือทำให้ทีมร่วมกันทำงานมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของแผนก/องค์กร อย่างมีประสิทธิผลที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ความขัดแย้งของพวกเขากำลังเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการดังกล่าว และคุณต้องการแก้ปัญหานี้เพื่อหน่วยงาน

3. อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า คุณไม่ได้ต้องการตำหนิ หรือกล่าวโทษใคร คุณเพียงแต่ต้องการแก้ปัญหานี้

4. ขอให้พวกเขายอมรับคุณในฐานะที่เป็นคนกลาง ซึ่งคุณเชื่อว่า การพูดคุยปัญหานี้อย่างเปิดอก จะช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ขอให้ทั้งคู่ยอมรับด้วยว่า ถ้ามีประเด็นใดที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเขาจะยอมรับการตัดสินใจของคุณในประเด็นนั้น ซึ่งพวกเขาสามารถนำประเด็นเหล่านี้กลับมาพิจารณาในภายหลังได้เสมอ ถ้าปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่

5. กำหนดแนวทางในการพูดคุยปรึกษา เช่น แต่ละฝ่ายจะยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องที่เขาต้องการพูดจนจบก่อน โดยจะไม่พูดแทรก หรือขัดจังหวะ… ให้มุ่งไปที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ที่บุคลิกลักษณะส่วนตัวของอีกฝ่าย… ให้แต่ละฝ่ายพูดถึงความรู้สึกและปฏิกิริยาของตนที่มีต่อปัญหานั้น ไม่ใช่พูดถึงแต่การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง…

6. เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดให้มากที่สุด ส่วนคุณมีหน้าที่คอยเตือน เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ และเริ่มมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะกัน

7. คุณจะต้องคอยระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ว่าจะไม่แสดงท่าทีใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นการบ่งบอกว่าคุณลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าคุณคิดว่าฝ่ายหนึ่งไม่มีเหตุผล หรือทำตัวมีปัญหามากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อย่าแสดงท่าทีอะไรให้ทั้งสองฝ่ายรู้ เพราะคุณเป็นเพียงคนกลาง ฉะนั้น อย่าแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่คุณมีต่อคู่กรณี

8. อย่ายอมให้การพูดคุยกันจบลง โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีการตกลงกัน ว่าพวกเขาจะแก้ไขพฤติกรรมในอนาคตของตน แต่คุณต้องทำให้เกิดการตกลงด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ามีฝ่ายใดถูกบังคับให้ต้องตกลง เขาก็มักจะไม่ทำตามที่ตกลงนั้น คุณต้องทำให้แน่ใจว่าทั้งคู่ได้พูดคุย และได้หาวิธีแก้ปัญหาที่ทั้งคู่ยอมรับได้

9. ในฐานะที่เป็นหัวหน้า ให้พยายามทำทุกวิธีที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยพวกเขาแก้ปัญหา เช่น พวกเขาอาจขอให้คุณจัดแบ่งงานบางอย่างใหม่ หรือจัดที่นั่งทำงานของพวกเขาใหม่ เพื่อให้ที่นั่งทำงานของพวกเขาเข้ามาใกล้กันมากขึ้น หรือไม่ก็แยกให้ห่างกันออกไป… คุณจะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของพวกเขา เมื่อมีการนำวิธีแก้ปัญหานั้นไปปฏิบัติจริง เพื่อให้วิธีแก้ปัญหานั้นประสบผลสำเร็จ

10. กำหนดวันที่จะให้พวกเขามาพูดคุยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหานั้นอีกครั้ง เช่น อาจจะเป็นหนึ่งสัปดาห์ หลังจากวันที่พูดคุยกันครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่ไม่รู้สึกว่า พวกเขาต้องทำตามข้อตกลงที่พวกเขาอาจไม่พอใจลึกๆ ก็เป็นได้ และถ้าการทำตามข้อตกลงนั้นช่วยแก้ปัญหาได้เพียงนิดหน่อย พวกเขาก็จะได้ใช้โอกาสนี้เจรจาปรึกษากัน ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป…

11. เมื่อสิ้นสุดการประชุม คุณต้องขอบคุณทั้งคู่ ที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และในการประชุมครั้งต่อไป คุณก็ควรขอบคุณพวกเขาอีกครั้ง สำหรับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ เพื่อให้ปัญหานั้นๆ คลี่คลาย และบอกว่าการที่ทั้งคู่พยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนั้น ได้ส่งผลดีต่อทีมด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะประนีประนอมกันได้ คุณก็ควรจะ…

– อย่าให้พวกเขาเผชิญหน้ากัน ถ้าคุณเชื่อว่าการนำเรื่องของพวกเขาขึ้นมาพูดนั้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
– แยกพวกเขาออกจากกัน โดยการมอบหมายงาน การเลื่อนขั้น ย้ายแผนก หรืออาจต้องให้คนใดคนหนึ่งออกจากงาน (ถ้าจำเป็น)
– ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกันชนระหว่างทั้งคู่ เป็นผู้ประสานงานระหว่างคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน
– วางกฎ ยืนกรานในเรื่องการร่วมมือกันทำงาน ถ้าใครไม่ทำตามกฎ จะถูกลงโทษ

====
TIP วิธีป้องกันความขัดแย้งระหว่างพนักงาน

ในกรณีที่คุณไม่ต้องการปวดหัวกับ “ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกน้อง” คุณอาจป้องกันปัญหานี้ได้ โดย…

1. ให้ลูกน้องเข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องวิธีทำงานกับคนที่มีภูมิหลัง บุคลิกลักษณะ และทัศนคติที่แตกต่างกัน
2. อย่าปล่อยให้ลูกน้องทะเลาะ แย่งชิงทรัพยากรกัน ให้จัดสรรสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน แก่พวกเขา อย่างพอเพียง
3. อย่าส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันระหว่างลูกน้อง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่าทำให้มันเป็นการแข่งขันในทางทำลายล้าง
4. เมื่อใดที่ลูกน้องเริ่มมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันอย่างมาก ให้เข้าไปไกล่เกลี่ย หรือหาทางยุติทันที ก่อนที่จะกลายเป็นการทะเลาะวิวาท
5. บอกวิสัยทัศน์ของแผนก/องค์กร ที่คุณอยากให้ลูกน้องร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น ให้พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจน
6. จัดทำข้อมูลอธิบายลักษณะงานที่ชัดเจน และมีลักษณะประสานสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดการเกี่ยง (หรือแย่งงานบางอย่าง) กันทำ
====

ถ้าคุณอยากเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการสร้างทีมและทำงานเป็นทีมโดยใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration ดูรายละเอียดคลิกที่นี่
บทความโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

 

5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง

เป็นความจริงที่ว่า… มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ สามารถเลือกบริษัทใหญ่โตดูมั่นคงที่อยากทำงานด้วยได้ เลือกโลเคชั่นพิกัดสถานที่ทำงานเพื่อความสะดวกในการเดินทางได้ แต่เรากลับ “ไม่สามารถ” รู้ได้เลยว่า จะเจอเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า แบบใด!!!

เพื่อนร่วมงานดี หัวหน้างานน่ารัก ย่อมทำให้ชีวิตการทำงานของเรามีความสุข แต่ถ้าประจวบเหมาะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ต้องติดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานไม่มีเหตุผล นิสัยแอบแย่ จอมเหวี่ยง ขี้อิจฉา นั่นหมายถึงว่า ชีวิตการทำงานของเราคงไม่เป็นสุข และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลงาน หรือประสิทธิภาพการทำงาน

บทความนี้ เรามีไอเดียดีๆ ให้คุณเก็บไว้ใช้สื่อสาร-รับมือ กับ “เพื่อนร่วมงานนิสัยไม่น่ารัก” เหล่านั้น


1. ปรับอารมณ์ก่อนพูดคุยกับพวกเขา

แรกสุดเลย อยากบอกว่า… เรารู้นะว่าคุณโดนอะไรมา!!! แต่ถ้าคุณกำลังรู้สึกแย่กับคำพูด หรือการกระทำของเพื่อนร่วมงาน อย่าตอบโต้ตามอารมณ์คุกรุ่นด้วยถ้อยคำรุนแรง ทั้งด้วยคำพูดและท่าทาง เพราะนั่นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ทั้งยังจะทำให้สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายลง

การใช้อารมณ์ “เหวี่ยงร่วม” นอกจากจะทำให้คุณดูแย่ ยังทำให้บรรยากาศโดยรอบ แย่ตามไปด้วย ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ของตัวคุณเองในองค์กร… สูดหายใจเข้าลึกๆ ควบคุมสติ ประคองอารมณ์ ทำตัวสวยๆ พูดคุยกันด้วยเหตุผล… มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหรอกนะ เราเข้าใจคุณ… แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องยากหรอก ขอเพียงเริ่มจากความคิดในใจว่า “ฉันทำได้… ฉันรับมือได้… ”

 

2. พูดคุยกับคนอื่น ระบายความรู้สึกแย่ๆ ออกมา

โอเค… คุณเพิ่งโดนเหวี่ยงมา ทั้งที่คุณไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อนเลยนะ… จังหวะนี้ คุณอาจต้องการคนคุยด้วย เพื่อระบายความอึดอัด และเพื่อให้คุณรู้สึกแย่น้อยลง แชร์เรื่องราวของคุณกับเพื่อนหรือคนรู้ใจ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่เสริมเติมอารมณ์ส่วนตัว อย่าด่วนตัดสินผิด-ถูก ลองฟังคำพูด-ความเห็นจากคนที่ไม่ได้อยู่ร่วมสถานการณ์ด้วย

บ่อยครั้ง พวกเขาจะมีไอเดียดีๆ ให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ เพราะพวกเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมคนนอก ด้วยเหตุด้วยผล และไม่ได้ใช้อารมณ์ในการตัดสิน… แต่คุณไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของพวกเขาหรอกนะ เพราะการที่คุณได้ระบายสิ่งที่คุณอึดอัด ฟังอย่างพินิจพิเคราะห์และเป็นกลาง เพียงแค่นี้ก็น่าจะช่วยให้อารมณ์คุณดีขึ้นมากแล้ว

 

3. เปลี่ยนมุมมองในใจ ลองคิดด้วยมุมของพวกเขา

การเปลี่ยนมุมมอง แล้วย้อนคิดดูว่า “พวกเขาโดนอะไรมานะ?” อาจทำให้คุณเห็นภาพเพื่อนร่วมงานจอมเหวี่ยง ว่าพวกเขาอาจได้รับแรงกดดันมหาศาล จากทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน หรือเติบโตมาในครอบครัวไม่สมบูรณ์ มีปมด้อยในชีวิต บ่มเพาะให้คิดไปว่า “การเหวี่ยงวีน การทำตัวเหนือคนอื่น เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำกัน และจะให้ผลลัพธ์ที่ดี”

เมื่อคุณรู้จักพื้นฐานครอบครัว ที่มาความคิดของพวกเขา ย่อมทำให้คุณเข้าอกเข้าใจนิสัยพื้นเพ เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม สื่อสารไม่น่ารัก คุณจะรู้สึกแย่น้อยลง แถมยังยิ้มในใจว่า “ก็เขาเคยโดนอย่างนั้นมา.. เขาเลยเป็นคนแบบนี้แหละ.. ฉันเข้าใจคุณนะ”

 

4.  หาเวลาพูดคุยกันด้วยความผ่อนคลาย

เมื่อคุณเริ่มเข้าอกเข้าใจ รู้ที่มาที่ไปของบุคลิกนิสัยไม่น่ารักของเพื่อนร่วมงานคุณแล้ว คุณอาจหาเวลาพูดคุย หรือทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ผ่อนคลาย-ไม่จริงจัง เช่น การตีแบตหลังเลิกงาน ไปกินข้าว หรือทำกิจกรรมบันเทิงสนุกๆ ร่วมกัน

เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีนอกเหนือหน้าที่การงาน จะทำให้พวกเขาผ่อนคลาย และเมื่อคุณสนิทกับพวกเขามากขึ้น คุณอาจหาจังหวะโอกาสพูดคุยกันแบบเปิดอก ว่าคุณรู้สึกอย่างไร? พร้อมทั้งอธิบายสิ่งที่พวกเขาแสดงออกมานั้น ว่าไม่น่ารักอย่างไร? วิธีนี้คือ “การเปลี่ยนศัตรูเป็นมิตร” นั่นเอง!

 

5. ไว้คุยกันเมื่อพร้อมและสบายใจ แต่ตอนนี้ ขออยู่ห่างๆ ก่อนนะ

สำหรับ “บางคน” ถ้าคุณได้ลองทุกวิธีข้างต้น… ทั้งปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติต่อพวกเขา ทำดีด้วยก็แล้ว พูดคุยด้วยความเข้าอกเข้าใจก็แล้ว คุณได้เปิดโอกาสให้ตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ในการพัฒนาความสัมพันธ์อันดี แต่สถานการณ์กลับยังไม่ดีขึ้น… สุดท้าย คุณอาจจำเป็นต้องตัดพวกเขาออกจากการพบปะพูดคุย ด้วยการอยู่ห่างจากพวกเขา หลีกเลี่ยงการต้องทำงานร่วมกันในช่วงเวลานี้ เพราะเขาคงยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง!

เพราะการเปลี่ยนนิสัย-ความคิด-ความเชื่อของบางคนอาจเป็นสิ่งยาก แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดคือการควบคุมปัจจัยภายในตัวคุณเอง… อย่าให้คนชอบวีน ขี้เหวี่ยง นิสัยไม่น่ารัก แสดงพฤติกรรมแย่ๆ มาทำลายวันทำงานของคุณ หรือส่งผลให้คุณรู้สึกเป็นทุกข์…

คุณควรมีความสุขกับงานที่ทำ… อย่าใส่ใจหรือให้คุณค่ากับคนไม่น่ารักเหล่านั้นเลย! 

 

 

บทความโดย LEARNING HUB TEAM

ไดอะล็อคในองค์กร (1)

ในตอนนี้ เราจะมาดูรูปแบบในการทำไดอะล็อคในหน่วยงานหรือองค์กร ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลองนำไปใช้

เพื่อให้พอเห็นภาพจะบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ พึงระลึกไว้ว่า การนำไปฝึกฝนและปฏิบัติเท่านั้น จึงจะทำให้เราสัมผัสไดอะล็อคได้อย่างแท้จริง แม้การอ่านอย่างตั้งใจ และมีความเข้าใจในทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเพียง 10% ของประสบการณ์จริงเท่านั้น

การจัดสถานที่ ควรเลือกให้อยู่ในพื้นที่สงบปราศจากเสียงรบกวนและมีความสบายเพียงพอ โดยมากหากจะได้ผล จะจัดให้นั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยไม่มีโต๊ะหรือสิ่งขวางกั้นอยู่กลางวง หากเป็นไปได้ให้นั่งกับพื้นหรือบนเบาะรองนั่งเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม โดยที่ไม่มีประธานของกลุ่ม

เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เริ่มใหม่ อาจตั้งผู้มีประสบการณ์ในการทำไดอะล็อคคอยเป็นผู้อำนวยวงหรือเรียกสั้นๆว่า “ฟา (Facilitator) ” เพื่ออธิบาย คอยดูแลกติกาของกลุ่ม และจับประเด็นในการพูดคุย สมาชิกในการพูดคุยอาจเริ่มจาก 4-5 คน ไปจนถึง 20 คน

ระยะเวลาที่ใช้ ควรมีเวลาอย่างต่ำราว 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม

โดยมากชั่วโมงแรกบรรยากาศจะยังอึดอัดและไม่คุ้นชิน (Stress) การสนทนาในวงจะเริ่มเลื่อนไหล (Flow) ในชั่วโมงที่สอง เมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่สาม จะเกิดการใคร่ครวญภายในตน และเริ่มดำดิ่งลงลึกในการค้นหาคำตอบของตัวเอง (Deep Inquiry) และโดยมากจะรู้สึกอิ่มเอมและผ่อนคลาย (Relax) ในตอนจบ โดยไม่จำเป็นต้องตกตะกอนความคิดได้ในทุกครั้งที่ทำ

การเปิดวงไดอะล็อค รอบแรกนิยมเริ่มด้วยการเช็คอิน (Check in)

นั่นคือการพูดแสดงความรู้สึกสดๆในขณะนั้นทีละคน เพื่อเป็นการให้กลับมาสัมผัส รับรู้และมีสติอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดถึงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวลในขณะนั้นก็ได้ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถละวางเรื่องราวภาระหน้าที่ต่างๆไว้นอกวงได้ชั่วคราว ให้รู้สึกว่าตนได้วางตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิวัยวุฒิ ยศฐาหรือฐานะลงไว้ก่อน รู้สึกเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมวง รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยในรอบต่อไป

รอบที่สอง พูดตามใจโดยไม่มีหัวข้อ หรือ Free Talk

หลังจากเช็คอินครบทุกคนแล้ว ให้เริ่มผลัดกันพูดทีละคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ใครจะสมัครใจพูดก่อนก็ได้ รอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอาจยกมือพอให้เป็นสัญญาณว่าเราขอเป็นคนพูดต่อไป โดยอยากจะพูดหัวข้อใดก็ได้ตามใจ ไม่จำเป็นต้องพูดหัวข้อเดียวกัน อยากจะเปลี่ยนหัวข้อ ข้ามหัวข้อ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะความตั้งใจในการคุย เราไม่ได้มาฝึกพูด แต่เรามาฝึกที่จะ “ฟัง”

ใครไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนที่เหลือก็เป็นผู้ฟังที่ดี ระหว่างที่ฟังนั้น ให้สังเกตอารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตน สังเกตสิ่งที่ได้ยินและสิ่งที่เราตีความ การตัดสินถูกผิด ความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย

ยิ่งเราอึดอัดขัดข้อง อยากพูดค้านมากเท่าใด แสดงว่าเราสามารถจับการตัดสินของตนเองได้แล้ว ให้โอกาสตนเองได้ห้อยแขวนคำตัดสินนั้นไว้ก่อน แล้วฟังต่อจนจบ

การสนทนาแบบใหม่เช่นนี้ อาจทำให้อึดอัดและรู้สึกฝืนในช่วงแรก

แต่หากเราทำได้ จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเสมอกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่เท่าเทียมและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นวงสนทนาเพื่อทำการจัดการความรู้ (KM) ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถค่อยๆลำเลียงองค์ความรู้ภายในออกมาได้ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะจะปิดกั้นความรู้สึกอยากแบ่งปันออกไป

ยิ่งการหาไอเดียใหม่ๆด้วยระดมความคิด (Brain Storming) โดยใช้วิธีนี้ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะความเห็นเพียงเล็กๆกับเรื่องง่ายๆหรือเรื่องธรรมดาๆ ก็อาจเปิดช่องให้สร้างโอกาสหรือความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราด่วนทำการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใดๆ อาจทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก และไม่อยากเสนอความคิดอื่นๆอีกเลยก็เป็นได้

การดำเนินการพูดคุยในวง ก็จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ วนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา โดยในตอนหน้า จะอธิบายถึงตอนจบและประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อไป

………………..

(ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)

ไดอะล็อคในองค์กร (2)

ต่อจากตอนที่แล้ว เรากำลังกล่าวถึงการนำกระบวนการไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งสิ่งที่แปลกไปกว่าการสนทนาหรือการประชุมทั่วไปก็คือ ในวงไดอะล็อค จะไม่มีหัวข้อในการพูดคุย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องตั้งหัวข้อมาก่อน

ความน่าฉงนของบทสนทนาที่ไม่มีหัวข้อ

เราจะพบว่า เมื่อแต่ละคนพูดเรื่องบางอย่างออกมา ตอนแรกอาจดูไม่เกี่ยวกัน ไปคนละทิศละทาง แต่พอผลัดกันพูดวนไปสักรอบหรือสองรอบ อาจมีหัวข้อบางเรื่องที่กลายเป็น “วาระร่วม” หรือความสนใจร่วมในที่สุด เมื่อนั้นก็จะเกิดการเลื่อนไหลอย่างรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

อย่างไรก็ตาม หากเราจะมีจุดประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้รูปแบบของการไดอะล็อค มาทำ KM หรือมาประชุมหารือใดๆ ก็อาจตั้งหัวข้อได้เช่นกัน แต่ถ้าหากมีการถกเถียงกันหรือต้องหาข้อยุติด้วยการโหวต หรือคำตัดสินของคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องประกาศและยอมรับการประชุมนั้นว่าได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการอภิปราย หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การไดอะล็อคอีกต่อไป

พูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ด่วนสรุป ห้อยแขวนคำตัดสิน

ในระหว่างที่พูดคุยทำไดอะล็อคกัน หากใครต้องการจะเสนอความคิดที่ตนเองกลั่นกรองหรือตกผลึกได้ ก็ควรพูดในลักษณะที่เป็นความเห็นเฉพาะตน ไม่ยัดเยียดข้อสรุปนั้นให้ใคร ไม่ฟันธง อาจทิ้งท้ายว่า มั้ง รึเปล่า เพื่อเตือนสติตนเองว่า ความคิดของตนนั้นไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปก็ได้

หากเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่าตนคิดถูกเสมอ เราก็จะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งยังปิดโอกาสที่จะเข้าใจหรือยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นเป็นชนวนบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งระหว่างคู่สนทนา แต่หากเมื่อใดเราห้อยแขวนคำตัดสินได้ รับฟังเขาอย่างเต็มที่ แม้ภายหลังเรายืนกรานความคิดเรา อีกฝ่ายก็ย่อมยินดีจะเข้าใจมากกว่าที่เราปิดใจ รีบเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่ยังไม่ทันฟังจนจบ ซึ่งล้วนเห็นในบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน


 

รอบสุดท้าย คือการ Check Out

เมื่อสมควรแก่เวลา ผู้อำนวยวงหรือฟา (Facilitator) ก็จะเชิญผู้ร่วมวงเช็คเอาท์ (Check out) ซึ่งก็คือการพูดถึงคุณค่าที่ตนได้รับจากการพูดคุยในครั้งนี้ รวมไปถึงสิ่งใดๆที่อยากพูดเพื่อให้รู้สึกเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไม่ค้างคาใจ (Completion)

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากไดอะล็อคกันได้นานและลงลึกพอ สมาชิกในวงจะพบกับความอิ่มเอมใจ เพราะการสนทนานั้นจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความหมาย

เพียงระยะเวลาสั้นๆ เราจะได้รู้จักเพื่อนร่วมวงในมุมใหม่ที่ลึกซึ้งอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน การได้สัมผัสอารมณ์เบื้องลึกและคุณค่าในใจของกันและกัน ทำให้รู้สึกสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น อีกทั้งตลอดเวลาในการทำไดอะล็อคนั้น เราจะได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

เพียงแค่การรับฟังอย่างตั้งใจก็เปรียบเสมือนคำชื่นชมและการยอมรับ โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องกล่าวคำเยินยอหรือใช้คำพูดหวานหูใดๆเลย

เมื่อทุกคนเช็คเอาท์ครบแล้ว ฟาก็อาจเชิญทุกคนคารวะให้กัน เป็นแสดงการขอบคุณด้วยการโค้งงามๆในท่านั่งให้แก่กันและกัน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


มหัศจรรย์ผลลัพธ์ของการไดอะล็อค

ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่ในช่วงเวลาแห่งการสนทนาเท่านั้น โดยมากผู้คนรายงานว่า หลังจากจบการไดอะล็อคแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน อยู่ๆพวกเขาก็จะเกิดญาณทัสนะหรืออาการปิ๊งแว้บบางอย่างขึ้นมา และสามารถแก้ไขโจทย์ที่ตนขบคิดไว้มานานก่อนการไดอะล็อคได้

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราต่างมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตและจิตใจใกล้เคียงกัน การสนทนาที่ผ่อนคลายก็นำพาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันอยู่ในวงนั้น ให้เลื่อนไหลเข้ามาสู่จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อมันเพาะบ่มได้ที่ หากมีปัญหาก็ถึงเวลาที่ปัญญาจะเผยออกมา

สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อาจมีปัญญาหาคำตอบได้เลยหากเราคิดเพียงคนเดียว เพราะถ้าหากเรารู้คำตอบอยู่แล้ว หรือหาคำตอบได้เอง นั่นก็จะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง หรือไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่อะไรนัก

แต่ปัญหาชีวิตหรือปัญหาสำคัญที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถขบคิดได้ด้วยตนเอง หากจะเกิดจากการตกผลึกจากกระบวนการคิดร่วมกัน ได้ค้นพบปัญญาญาณร่วม หรือ Collective Wisdom ในวงไดอะล็อคนั่นเอง

( ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)


 

10 สุดยอดเทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

LHT template update 26 12 2016

คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหนคะ?

จากการทำงานภายใต้องค์กรหนึ่งชื่อว่า gullup organization พบว่าคนที่มีเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรที่ดี 7 เท่าได้มาจากการทำงาน

บทความนี้เราจะโฟกัสไปที่คุณจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราจะมาดูกันว่าทำไมการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจึงมีความสำคัญและยังโฟกัสไปถึงการกระชับความสัมพันธ์ของคุณกับคนที่ไม่ค่อยลงรอยกับคุณให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

 

ทำไมจึงต้องมีความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดีในการทำงาน?

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราโหยหามิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีเสมือนโหยหาน้ำและอาหาร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ยิ่งเรามีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสุขและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

ข้อดีในการมีความสัมพันธ์ในการทำงานนั้นมีมากมาย เช่น คุณจะเพลิดเพลินในการทำงานขึ้นมาทันทีเมื่อคุณถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งคนเหล่านั้นมีแนวโน้มในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีทำให้เรากลายเป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดียังให้อิสระต่อเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับความสัมพันธ์แย่ๆ เราสามารถโฟกัสไปที่โอกาสต่างๆที่เข้ามาได้มากขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากถ้าคุณต้องการจะพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของคุณเอง พูดง่ายๆคือหากเจ้านายคุณไม่ไว้ใจคุณแล้วละก็ สิทธิในการได้รับเลื่อนตำแหน่งในโอกาสต่างๆของคุณก็หมดไปแน่นอนเพราะเราเองก็คงไม่อยากร่วมงานกับคนที่ไม่ลงรอยกับเราเท่าไหร่นัก

นอกจากเจ้านายของคุณแล้ว คุณยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆอีกด้วยในที่นี้คือ ลูกค้า ผู้ผลิต และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการประสบความสำเร็จของคุณ ดังนั้นมันจึงจำเป็นอย่างมากในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนเหล่านี้ไว้

 

แล้วอะไรล่ะที่เรียกว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน?

ลักษณะที่ดีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน ได้แก่

ความไว้เนื้อเชื่อใจ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกๆความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่คุณเชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ นั่นหมายถึงคุณได้เชื่อมสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คุณทำงานและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะความเชื่อใจจะทำให้คุณคิดและทำทุกอย่างอย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย และไม่ต้องมาคอยกังวลหรือเสียเวลากับการคอยระมัดระวังการกระทำของคุณ

ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อไหร่ที่คุณเคารพเพื่อนร่วมงานของคุณ เช่น เคารพการทำงานหรือความคิด คุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาเช่นกัน

การเอาใจใส่ ในที่นี้หมายถึงการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและคำพูด คนที่เอาใจใส่ผู้อื่นจะระมัดระวังและใส่ใจสิ่งที่เขาพูดไปและจะไม่ยอมให้คำพูดหรืออารมณ์ในด้านลบของตนเองต้องไปกระทบกับคนใกล้ตัว

การยอมรับซึ่งความหลากหลาย ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงแต่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดหรือระหว่างตัวบุคคลเท่านั้นแต่ใส่ใจสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เช่น เมื่อไหร่ที่เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอไอเดียที่แตกต่างออกไปจากคุณ คุณให้เวลากับตัวเองในการพิจารณาไอเดียเหล่านั้น เจาะลึกไปในแต่ละจุดและนำสิ่งเหล่านั้นไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

การสื่อสาร คนเราสื่อสารกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล์ การส่งข้อความต่างๆหรือแม้แต่การประชุม ยิ่งคุณมีการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพกับผู้คนรอบๆตัวคุณมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

 

เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้กับใครล่ะ?

แม้ว่าเราควรพยายามที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกๆคน แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์หรือคนบางกลุ่มที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น คุณจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาความสัมพันธ์จากผู้ที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์ในองค์กรของคุณ

คนเหล่านี้คือผู้ที่ชี้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงาน การสานสัมพันธ์กับคนเหล่านี้จะช่วยให้งานหรือโปรเจคใหญ่ๆของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

การที่เราจะรู้ว่าผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นเป็นใครบ้าง คุณควรทำรายการวิเคราะห์ขึ้นมา เมื่อคุณทำรายการวิเคราะห์แล้วใครที่มีความสนใจในงานหรือโปรเจคของคุณ คุณก็เริ่มใช้เวลาในการสานสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้เลย

ส่วนลูกค้าหรือผู้รับบริการที่สมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ให้คุณลองนึกว่าเมื่อไหร่คือครั้งสุดท้ายที่คุณได้มีโอกาสจัดการกับลูกค้านิสัยแย่ๆ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แม้ว่าเราจะไม่สามารถรักษาความพึงพอใจของลูกค้าทุกคนได้  100 เปอร์เซ็นต์

แต่การรักษาไว้ซึ่งความน่าไว้วางใจ ความซื่อสัตย์กับลูกค้าจะสามารถช่วยทำให้คุณแน่ใจว่าเมื่อไหร่ที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาด ผลกระทบก็อาจจะมีไม่มาเท่าไหร่นัก นอกจากนี้การสานสัมพันธ์ที่ดีกบลูกค้าสามารถทำให้คุณเพิ่มยอดขาย คำติชมหรือรางวัลความสำเร็จในชีวิต

 

นี่คือ 10 สุดยอดเทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

1.พัฒนาทักษะการทำงานกับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากการมีทักษะเรื่องการทำงานที่ดีกับคน เช่น การร่วมมือกันทำงาน การสื่อสารและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

2.แยกแยะความสัมพันธ์กับคนที่คุณต้องการจะพัฒนา

โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ที่คุณต้องการ คุณรู้รึเปล่าว่าคุณต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น? แล้วพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไรจากคุณ? การเข้าใจถึงความต้องการเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำคัญที่ดีขึ้นได้

3.รู้จักจัดตารางเวลา

สละเวลาของคุณเพียงเล็กน้อยในแต่ละวันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานเพียงแค่ 5 นาทีหรือ 20 นาที เช่น เข้าไปถามไถ่เพื่อนร่วมงานช่วงพักกลางวัน ตอบข้อความในทวิตเตอร์หรือชวนกันไปนั่งดื่มกาแฟ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะการพูดคุยหรือทำอะไรต่อหน้ากัน

4.ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์

ใช้เวลาในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณรับรู้ความรู้สึกของคุณเองและเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพยายามที่จะบอกคุณ ดังนั้นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

5.ยกย่องผู้อื่น

แสดงความขอบคุณเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนช่วยคุณ ทุกคนในที่นี้คือตั้งแต่เจ้านายของคุณไปจนถึงแม่บ้านทุกคนต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในงานที่ทำ ดังนั้นการที่เราชื่นชมยกย่องผู้คนรอบตัวคุณด้วยความจริงใจ นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดประตูในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคุณกับคนเหล่านั้น

6.คิดบวก

การคิดบวกเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและสามารถส่งต่อไปยังคนรอบข้างได้และมันจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานแข็งแรงขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบตลอดเวลา

7.จัดการกับขอบเขตของคุณ

คุณต้องแน่ใจว่าคุณจัดการขอบเขตของคุณอย่างเรียบร้อย ทุกคนต้องการมีเพื่อนในที่ทำงานแต่บางครั้งมิตรภาพก็ส่งผลกระทบต่องานของคุณ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานของคุณเริ่มอยากจะใช้เวลากับคุณมากขึ้น

เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่มันจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องบริหารเวลาของคุณให้ดีว่าคุณมีเวลาเข้าสังคม พบปะสังสรรค์มากน้อยเพียงใดในระหว่างการทำงานแต่ละวัน

8.หลีกเลี่ยงการนินทา

การแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงานและการนินทาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำร้ายความสัมพันธ์ของคุณ ถ้าคุณมีประสบการณ์การมีปัญหาความขัดแย้งกับใครบางคนในกลุ่มให้คุยกันแบบเปิดเผยถึงปัญหา

เพราะการนินทาเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่จะเพิ่มความรุนแรงแต่ยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงและความเกลียดชังอีกด้วย

9.ฟังอย่างตั้งใจ

เมื่อไหร่ที่คุณพูดคุณกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน คนเหล่านั้นจะตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้ฟังตั้งใจฟังว่าพวกเขาพูดอะไร โฟกัสการฟังมากกว่าการพูดแล้วคุณจะกลายเป็นคนที่น่าไว้ใจได้ภายในพริบตา

10.จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก

บางครั้งคุณอาจจะต้องทำงานกับคนที่คุณไม่ชอบหรือบางคนที่ทำงานไม่เข้าขากันบ้างแต่ยังไงก็ตามมันก็จำเป็นอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ให้มีความเป็นมืออาชีพกับคนเหล่านั้น เมื่อไหร่ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพยายามเรียนรู้คนคนนั้น

ช่วงแรกๆมันอาจจะดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ดังนั้นเราควรเริ่มต้นบทสนทนาที่เป็นกันเอง จริงใจ เช่นอาจจะชวนไปทานอาหารเที่ยง เป็นต้น ระหว่างบทสนทนาเพื่อให้เป็นกันเองมากขึ้นอาจจะถามถึงสิ่งที่เขาสนใจหรือสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต แทนที่คุณจะมองหาความแตกต่างระหว่างกัน คุณควรมองหาสิ่งที่คล้ายคลึงระหว่างเขาและคุณมากกว่า

สุดท้ายนี้ให้คุณระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่เราพยายามจะออกมาเวิร์คแต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่

แปลและเรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand Team

ที่มาบทความ

https://www.mindtools.com/pages/article/good-relationships.htm

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save