3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม

ปัญหาในการประชุมสำหรับทีมของคุณคืออะไร?

มีคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งหัวหน้า คนพูดเยอะ และคนไม่ค่อยพูด (หรือไม่พูดเลย) ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้แหล่ะที่อาจสร้างปัญหาในห้องประชุมได้  

ประเด็นสำคัญสำคัญในการประชุมก็คือ ทุกคนที่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุม ควรจะมีบทบาทต่อหัวข้อที่ต้องการความคิดเห็นและการตัดสินใจ คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุมได้อย่างแท้จริงโดยที่ทุกคนรู้สึกพึงพอใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบังคับ ถูกครอบงำ หรือถูกเรียกเข้ามาให้เป็นตรายางรับรองการประชุมเฉย ๆ

====

‘Tsedal Neeley’  นักเขียนของ Harvard Business Review ออกแบบการประชุมโดยกำหนดว่าควรจะมีกฎ 3 ข้อสำหรับคน 3 แบบ เพื่อที่จะให้การตัดสินใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

1.กฎสำหรับหัวหน้าทีม

สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องท่องเอาไว้ก็คือ สร้างสมดุลในการประชุม ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม คอยดูว่าแต่ละคนที่มีส่วนร่วมนั้น มีบทบาทมากไหน รับฟังกันหรือเปล่า และได้มีโอกาสพูดอย่างทั่วถึงและเหมาะสมหรือไม่ 

หากพบว่าใครพูดน้อยหรือไม่พูดเลย ก็ควรจะขอให้คนนั้นได้กล่าวอะไรสักหน่อย ถ้าเจอคนที่พูดไม่คล่องนักก็ต้องคอยช่วยเหลือ ช่วยเสริมประเด็น หรือซักถามให้เคลียร์ 

หน้าที่สำคัญอีกอย่างก็คือ คอยสรุปและจับใจความสิ่งที่สมาชิกในที่ประชุมพูดออกมา ถ้ามีอะไรที่ไม่ชัดเจนก็ต้องทำให้กระจ่างชัดที่สุดด้วย

บางครั้งการเป็นหัวหน้าที่พูดเยอะเกินไปหรือพูดอย่างไม่ระวังก็อาจทำให้ทีมพังได้ อ่าน ระวัง! คุณอาจเป็นหัวหน้าที่พูดจนทีมพัง  คลิกที่นี่ 

====

2.กฎสำหรับคนที่พูดคล่องหรือพูดเยอะ 

สิ่งที่ต้องจำเอาไว้ก็คือ อย่าครอบงำคนอื่นมาก ไม่งั้นอาจจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ชวนหมั่นไส้ได้  สิ่งที่ควรปฏิบัติก็คือ ใช้ภาษาที่เข้าใจได้ง่ายไม่ว่าใครก็รู้เรื่อง อย่าเล่นศัพท์เทคนิคหรือสลับภาษาไปมาจนน่าเวียนหัว ควรลดจังหวะการพูดให้ช้าลงสักหน่อย ไม่งั้นยิ่งพูดจะยิ่งมัน จึงยิ่งดังและยิ่งเร็ว

ถ้าอยากให้เกิดบรรยากาศที่ดี อย่าเสนอตัวพูดไปหมดทุกเรื่อง ลองฝึกที่จะตั้งใจฟังคนอื่นพูดบ้าง และที่สำคัญ คอยถามคนอื่น ๆ ว่าเข้าใจและเคลียร์ในสิ่งที่คุณสื่อสารออกไปหรือไม่

====

3.กฎสำหรับคนที่พูดไม่เก่งหรือไม่พูด

สิ่งที่ควรจดจำก็คือ หาทางมีส่วนร่วม เพื่อให้การประชุมสมบูรณ์ คุณควรจะหาทางพูดหรือแสดงความคิดเห็นออกมาบ้าง ถ้าการประชุมนั้นเปิดโอกาสให้พูดแบบเวียนไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงคิวก็อย่าหลีกเลี่ยงหรือลุกหนีไปเข้าห้องน้ำ 

อย่าหลุดไปใช้ภาษาส่วนตัวหรือภาษาท้องถิ่น คอยหมั่นถามคนอื่นเวลาที่พูดเสร็จว่าเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสารหรือไม่ เคล็ดลับอีกอย่างสำหรับการมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องมีทักษะการพูดที่ดีมากก็คือการฟังแล้วถามในกรณีที่ไม่เข้าใจ หรืออยากจะให้คนพูดอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่าง

เพียงทำตามกฎ 3 ข้อเท่านี้ก็จะทำให้การประชุมออกมาราบรื่น สร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน และผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจสำหรับสมาชิกอย่างแน่นอน

เพื่อให้คุณและคนในทีมมีทักษะในการประชุม การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

=====

เรียบเรียงจาก “Global teams that work” โดย Tsedal Neeley จาก Harvard Business Review ตุลาคม 2015

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย

 สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผู้บริหารคือการคัดสรรคนให้เหมาะกับงาน  ผลประกอบการจะออกมาดีหรือไม่ย่อมขึ้นกับคน

Learning Hub ขอนำเสนอ 7 เคล็ดลับในการเลือกคนให้เข้ากับงาน หรือ “Put the right man on the right job” ฝากให้บรรดาผู้บริหารได้ลองนำไปเป็นไอเดียในการเลือกลูกน้องกันครับ 

====

1.พิจารณาจากงานที่เคยทำ  

งานที่แตกต่างจึงต้องการคนที่แตกต่างกัน 

 Peter  Drucker ปรมาจารย์ด้านการจัดการยุคใหม่ กล่าวว่าหากพนักงานทำงานไม่ดีย่อมเป็นความผิดของผู้บริหาร ไม่ใช่พนักงาน เพราะผู้บริหารเป็นคนเลือกเขามาทำงานเอง ดังนั้นเพื่อป้องกันความผิดพลาด ผู้บริหารจึงต้องใส่ใจกับการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เขาจึงแนะนำว่าการเลือกคนต้องพิจารณาจากงานที่คนผู้นั้นเคยรับผิดชอบมาก่อน อย่างน้อยก็จากประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

         ยกตัวอย่างเช่น การจะหาผู้จัดการฝ่ายการตลาดสักคน ต้องคิดก่อนว่า หน้าที่ของผู้จัดการคนนี้คืออะไร เพิ่มยอดขาย คิดค้นสินค้าใหม่ หรือเจาะตลาดใหม่

ซึ่งงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน    จึงต้องการคนที่มีประสบการณ์แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรเลือกพนักงานที่เคยผ่านงานหรือมีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งนั้นมากที่สุด หากคุณสนใจแนวคิดดีๆของ Drucker ผมแนะนำหนังสือชื่อ The Essential Drucker ครับ 

====

 2.อย่ามอบงานใหญ่ให้คนไม่ใหญ่   

กระจายอำนาจการตัดสินใจให้พนักงาน  

         Alfred Sloan อดีตผู้บริหารบริษัท General Motors ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับบริษัท    หนึ่งในนั้นคือการปรับวิธีการทำงาน โดยการกระจายอำนาจให้พนักงาน ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ 

         ซึ่งเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร  แต่ไม่ได้หมายความว่าพนักงานทุกคนจะมีอำนาจในการตัดสินใจเท่ากันนะครับ  เพราะสำหรับพนักงานใหม่แล้ว   เขาจะยังไม่มอบหมายภาระงานสำคัญให้ เนื่องจากยังอ่อนประสบการณ์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดได้    

        เขาจึงมอบหมายให้พนักงานใหม่ทำงานที่มีความชัดเจนสูง คาดการณ์ได้ ส่วนพนักงานที่มีประสบการณ์แล้วเขาจึงเพิ่มอำนาจในการตัดสินใจครับ    

====

3.ถามไถ่คนใกล้ชิด  

ผู้บริหารต้องฟังสิ่งที่คนอื่นคิด  

        Hermann Abs อดีตผู้บริหาร Deutsche Bank มีมุมมองว่า การเลือกใช้คนของผู้บริหารโดยมากตั้งอยู่บนอคติส่วนตัว ทำให้ใช้คนผิดประเภท หรือเลือกแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดมากกว่าคนที่มีความสามารถ  

        เพื่อให้การเลือกคนมีความถูกต้องและผิดพลาดน้อยที่สุด เขาจึงมองว่านอกจากการสอบประวัติของบุคคลที่ต้องการแต่งตั้งแล้ว ผู้บริหารควรจะสอบถามจากเจ้านายเก่า ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน อย่างน้อย 3 – 5 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการเลือกคนที่เหมาะสม

        ดังนั้น “ We need to listen ผู้บริหารจึงต้องรับฟัง” ครับ 

==== 

4.เลือกคนที่เข้าใจงาน  

วิถีของ Apple คือสร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้า  

        Tim Cook ซีอีโอบริษัท Apple ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์สินค้าเทคโนโลยีขั้นเทพให้กับลูกค้า ดังนั้นหัวใจสำคัญของ Apple จึงอยู่ที่แผนกฮาร์ดแวร์เทคโนโลยี เพราะแผนกนี้จะทำหน้าที่ผลิตชิป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสมองของสินค้า ดังนั้นคนที่จะรับบทหนักเช่นนี้ Tim Cook จึงเลือก  Johny Srouji  ทำไมต้องเป็นเขา ? 

        Srouji เคยผ่านงานจากบริษัท Intel และ IBM มาก่อน เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการวางระบบชิปเป็นอย่างดี เมื่อเขาเข้าร่วมงานกับ Apple  Srouji มีส่วนอย่างมากในการออกแบบระบบการทำงานของ iPhone และแท็บเล็ตใหม่   ทำให้ระบบการทำงานมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น   

        จึงทำให้  Apple สามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมั่นคง ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ Tim Cook เลือกคนที่เข้าใจงานทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม

====

 5.เข้าใจคนก่อนใช้คน   

 อย่าให้จุดด่างดำมาบดบังหยกขาว  

         Bob Burg วิทยากรชื่อดังของสหรัฐอเมริกา และเจ้าของหนังสือชื่อ The Go-Giver Leader เป็นกูรูอีกคนหนึ่งด้านการใช้คนครับ แน่นอนครับว่า ทุกคนย่อมมีดีมีเสียแตกต่างกันไป เขาจึงแนะนำครับว่า ควรมองคนจากจุดแข็งก่อนครับ เพราะมูลค่าของงานจะสร้างสรรค์ขึ้นได้จากจุดแข็งของคน  

        จากนั้นจึงพิจารณาจากจุดอ่อนครับ แต่ไม่ใช่คือมีจุดอ่อนแล้วคัดออกนะครับ เพราะเขาแบ่งจุดอ่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ     จุดอ่อนที่ไม่เป็นปัญหา จุดอ่อนที่แก้ไขได้ และจุดอ่อนที่เป็นปัญหา  พูดง่ายๆก็คือ หากพนักงานมีจุดอ่อน 2 ประเภทแรก ไม่ถือเป็นปัญหาครับ แต่หากเป็นจุดอ่อนประเภทที่สาม แม้ว่ามีจุดแข็งที่ดีแค่ไหนคงต้องคัดออก  

         เขาได้ยกตัวอย่างวิศวกรที่ทำงานเก่งคนหนึ่ง ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนก แต่วิศวกรรายนี้ทำหน้าที่ประสานงานได้ไม่ดี แต่งานในตำแหน่งหัวหน้าต้องมีทักษะการประสานงาน

         ดังนั้นจุดอ่อนของเขาถือเป็นประเภทที่สาม เพราะถ้าเขาไม่สามารถประสานงานได้  ก็ไม่อาจแบกรับความรับผิดชอบได้

==== 

 6.เลือกคนจากลักษณะนิสัย   

Judging เหมาะกับงานบัญชี แต่ Perceiving เหมาะกับงานการตลาด  

         โดยทั่วไปลักษณะนิสัยของแต่ละคนมีส่วนอย่างมากต่อผลลัพธ์ของการทำงาน   คนที่ชอบทำงานเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนล่วงหน้า ไม่ค่อยครีเอทีฟ เรียกว่า Judging ครับ เหมาะกับการทำงานบัญชีหรือการเงินเพราะเป็นคนละเอียด 

          แต่คนที่ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบงานเอกสาร เรียกว่า Perceiving เหมาะกับงานการออกแบบหรือการตลาดครับ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Target ถูกโจรกรรมข้อมูล บริษัทสูญเสียความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นจึงเลือก John Mulligan ดำรงตำแหน่งเป็นรักษาการ CEO แทน CEO คนเก่าที่ขาดความน่าเชื่อถือไปแล้ว

          เหตุที่เลือกเขาเพราะเขาเป็นรองประธานฝ่ายการเงินหลายปี ทำงานละเอียด หรือก็คือเป็นคนประเภท Judging ซึ่งเหมาะที่จะเข้ามาประเมินความเสียหายและฟื้นฟูสถานะทางการเงินภายหลังถูกโจรกรรมข้อมูล  

====

 7.ต้องเป็นที่ยอมรับ 

เลือกคนที่เป็นที่ยอมรับ ย่อมทำงานได้ราบรื่น  

         เทคนิคนี้ผมได้บทเรียนจากประธานาธิบดีโอบามาครับ   เมื่อครั้งโอบามารับตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ๆ เสียงวิพากษ์ดังขรมว่า โอบามาขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้การประสานงานกับรัฐสภาจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากมาก  

         คงไม่มีใครให้ความร่วมมือกับเด็กอ่อนอย่างโอบามาแน่  ดังนั้นโอบามาจึงดึง โจเซฟ ไบเดน เข้ามาเป็นรองประธานาธิบดี ซึ่งจะเขาเคยเป็นกรรมาธิการด้านต่างประเทศถึง 9 สมัย

         ด้วยประสบการณ์ชั้นเซียนเช่นนี้ ย่อมกลบจุดอ่อนของโอบามาได้เป็นอย่างดี และความน่าเชื่อถือและการยอมรับย่อมเพิ่มขึ้น  

====

         แม้ว่าคุณจะเรียนรู้เทคนิคการใช้คนทั้ง 7 ข้อไปแล้วก็ตาม แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ แต่หากเราใช้คนผิดพลาด เราก็ควรยอมรับความจริง และเปลี่ยนคนใหม่ให้เร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจจะสร้างความเสี่ยงให้กับองค์กรได้   เพราะ Misfit is cruel to an organization.    

ที่มา  The Eessential Drucker: Peter Drucker author  

ต่อให้คุณสามารถเลือกลูกน้องได้เป็นอย่างดีจนได้คนที่ไม่เปลี่ยนงานง่าย ๆ แล้วก็ตาม แต่ถุ้าคุณไม่บริหารลูกน้องให้ดีพวกเขาก็อาจจากไปได้เสมอ เรียนรู้และฝึกฝน 3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง คลิกที่นี่

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

 

เรียบเรียงโดย 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ

ยอมรับมาซะดีๆ ว่าคุณเคยแอบอิจฉาคนในที่ทำงานที่ได้ดิบได้ดี เป็นลูกรักของ Boss แถมโบนัสและเงินเดือนก็ยังเกินหน้าเกินตาเพื่อนร่วมงานไปหลายเท่า

หลายต่อหลายครั้งที่ต้องยอมรับในความสามารถของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพนักงานระดับ Top 5 ในออฟฟิศ

ความสามารถที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ไม่ได้มาจากการประจบสอพลอ

และหลายต่อหลายคนคิดว่าความสามารถของคนระดับ Top 5 เกิดขึ้นเพราะเขามี ‘พรสวรรค์’ 

====

ความเชื่อเหล่านั้นทำให้หลายคนหยุดพัฒนาการทำงานของตัวเอง ซึ่งตามมาด้วยความรู้สึกหมดหวังต่อความก้าวหน้าในงานที่ทำอยู่ จนอาจกลายเป็นอาการเบื่องานในไม่ช้า

ทั้งที่ ในความเป็นจริงแล้วพนักงานระดับ Top 5 ก็ไม่ได้มีสิ่งใดเหนือกว่าพนักงานระดับธรรมดาๆ เลย ต่างกันเพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น

นั่นคือ  ‘ความสามารถในการเรียนรู้ที่รวดเร็ว’

====

โชคดีที่ความสามารถนี้เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง และ ต่อไปนี้ คือ 5 เคล็ดลับ ที่จะทำให้คุณมีศักยภาพในการเรียนรู้รวดเร็ว

1.สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบ

ขั้นตอนแรกของการเรียนรู้  มิใช่แค่การฟังหรือการอ่าน แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้

สภาพแวดล้อมที่เงียบ สงบ และปราศจากสิ่งรบกวนที่จะมาดึงความสนใจของคุณจากสิ่งที่กำลังเรียนรู้ จะช่วยให้จิตใจเกิดสมาธิ 

TIP : ควรให้ความสำคัญกับการจัดโต๊ะทำงานและบริเวณโดยรอบให้อยู่ในบรรยากาศที่เงียบ สงบ ปราศจากสิ่งรบกวน ควรปิดเสียงเครื่องมือสื่อสาร และไม่ควรตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ควรเก็บไว้ในลิ้นชักเพราะจะได้ไม่รบกวนสายตาซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างสมาธิในการทำงานมากกว่า

====

2.ใช้จินตนาการช่วยในการเรียนรู้

ทฤษฎีทางจิตวิทยา สรุปได้ว่า มนุษย์เรียนรู้และจดจำเป็นภาพ มิใช่คลื่นเสียงหรือตัวอักษร  ดังนั้น ก่อนจะเรียนรู้งานเรื่องใดให้คุณลองจินตนาการว่า

เมื่อคุณได้รับความรู้นั้นแล้ว จะนำไปทำอะไรบ้าง ในขณะฟังหรืออ่านให้ค่อย ๆ ลำดับความคิดเป็นภาพ

วิธีการนี้เป็นการเปิดจิตใต้สำนึกให้ค่อย ๆ ดูดซับความรู้ใหม่เข้าไปไว้ในความทรงจำ นอกจากนี้การทบทวนความรู้ใหม่ในตอนกลางคืน โดยเฉพาะ 30 นาที ก่อนนอน ยังช่วยให้จิตใต้สำนึกจดจำภาพต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน และสามารถประมวลผล

เพื่อดึงกลับมาใช้ได้อย่างแม่นยำในวันหน้า

TIP : ทุกครั้งที่ได้รับมอบหมายงานที่ไม่เคยทำ ก่อนที่จะบ่นว่ายากให้เปลี่ยนเป็นการฝึกตั้งคำถามกับตัวเองว่า

งานนี้องค์กรจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง ?

เราจะได้เรียนรู้สิ่งใดจากงานนี้ ?

เราจะทำงานนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร ?

====

3.  จดบันทึกสั้น ๆ

รูปแบบการเรียนรู้หลัก ๆ ที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่เป็นทารก คือ เรียนรู้จากการฟัง (AUDITORY) และเรียนรู้จากการมองเห็น (VISUAL) ซึ่งการเรียนรู้จากการมองเห็นจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการฟัง

เนื่องจากเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างตากับสมองมีจำนวนมากกว่าเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูกับสมองถึง 22 เท่า แต่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สุด กลับเป็นการเรียนรู้จากการใช้มือเขียนบันทึกข้อมูลหรือการโน้ตย่อ

เพราะช่วยให้เส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างสมองกับตา และสมองกับหูสามารถทำงานไปพร้อม ๆ กัน

กล่าวคือในระหว่างคุณจดบันทึกข้อความ สมองของคุณจะเห็นภาพและได้ยินเสียงเกี่ยวกับข้อมูลที่กำลังจดบันทึกในเวลาเดียวกัน

วิธีการจดบันทึกจึงเป็นเสมือนทางลัดที่ใช้ในการส่งข้อมูลความรู้เข้าไปจัดเก็บไว้ในคลังสมอง

Tip : ฝึกจดบันทึกประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากงานชิ้นใหม่ๆ ที่เพิ่งเคยทำ หรือ งานชิ้นเดิมๆ ที่เคยทำผิดพลาด รายละเอียดของงานในแต่ละขั้นแต่ละตอน หมั่นนำมาอ่านทบทวนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อสะสมความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์ตรงไว้ในคลังสมอง

====

4.  แบ่งปันความรู้ใหม่ให้กับผู้อื่น

สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียนรู้ กว่า 90 % ไม่ว่าจะมาจากการฟัง การอ่าน หรือการเขียนก็ตาม จะคงอยู่ในสมองได้ไม่นานนัก

หากคุณไม่รีบนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน สมองจะสั่งการว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคุณ และจะค่อยๆ โละความรู้นั้นทิ้งในเวลาต่อมาเพื่อไม่ให้เป็นภาระสมอง 

ดังนั้น วิธีการที่ง่ายที่สุดในการเก็บความรู้ใหม่ให้คงอยู่ในคลังสมองตลอดไป คือ การพูดคุยเพื่อแบ่งปัน แลกเปลี่ยนสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ให้แก่คนในชีวิตประจำวันของคุณ เช่น เพื่อน คนรัก พี่น้อง

ซึ่งถือเป็นการย้ำเตือนกับสมองว่าเรื่องที่แบ่งปันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันห้ามลบทิ้งโดยเด็ดขาด

Tip : หาเวลาว่างสักวันละ 5 นาที พูดคุยเรื่องราวดีๆ ที่ได้เรียนรู้มาจากการทำงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน แทนการสุมหัว ตั้งวง บ่น นินทา เม้ามอย ฯลฯ

====

5.  ดื่มน้ำและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เป็นวิธีที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากสมองส่วนหน้าของมนุษย์มีไว้เพื่อทำหน้าที่ในการเรียนรู้และจดจำ ดังนั้น สมองส่วนหน้าจึงมีความต้องการใช้ออกซิเจนในเลือดในปริมาณที่เพียงพอเพื่อเพิ่มเซลสมองให้ส่วนนี้

การดื่มน้ำและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการที่ใช้ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าได้อย่างทั่วถึง จึงถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างสมองอัจฉริยะ

Tip : บนโต๊ะทำงานของคุณควรมีกระติกน้ำ หรือ ขวดน้ำที่มีความจุประมาณ 1 ลิตร ตั้งไว้ เพื่อเป็นการเตือนความจำให้คุณค่อยๆ หยิบมาจิบไปเรื่อยๆ ระหว่างนั่งทำงาน 8 – 10 ชั่วโมง และหลังเลิกงานควรแบ่งเวลาออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15 – 30 นาที

====

อีกหนึ่งวิธีต่อยอดทักษะความสามารถในการเรียนรู้อย่างรวดเร็วเพื่อการประสบความสำเร็จในงาน อ่าน  3 เคล็ดลับที่การเรียนรู้ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้มากขึ้น คลิกที่นี่

เคล็ดลับง่ายๆ ทั้ง 5 ข้อ คงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าพรสวรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด

อันที่จริงแล้ว “พรสวรรค์เป็นสิ่งที่เราต้องลงทุน”  การลงทุนที่ดีที่สุด ก็คือการลงทุนกับการเรียนรู้

อย่าลืมใส่ใจดูแลสมองและร่างกายให้พร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อสร้างความสำเร็จในการทำงานให้ทะลุอันดับ Top 5 Top 3 ไปจนถึง Number 1 กันนะครับ

====

วิธีการสำคัญที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้รวดเร็วก็คือการพัฒนา Growth Mindset ในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร Growth Mindset for Effective Work ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

 

4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม

การทำงานในทุกๆ ที่ มักเกิด “ปัญหาขัดแย้ง” ไม่มากก็น้อย… “ความคิดเห็นไม่ตรงกัน” คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในที่ประชุม โดยเฉพาะที่ทำงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก…

ไม่มีทางที่ “ทุกคน” จะชอบไอเดียของคุณได้ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณไม่ควรกลัว หรือหลีกเลี่ยง แต่ควรเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาด

และถ้าคุณสามารถจัดการข้อขัดแย้งในแต่ละครั้งได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม

====

บ่อยครั้งที่คุณอยากจะให้ปัญหานี้จบๆ ไป… ปล่อยผ่าน… ไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือมีเรื่องกับใครเพิ่ม…

โดยเฉพาะออฟฟิศในองค์กรแบบไทยๆ ที่มักแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าใครไม่ได้อยู่พวกนี้ ก็หมายความว่าเป็นศัตรูกับพวกนั้น การอยู่เฉย แน่นอนว่าเป็นการไม่หาเรื่องเข้าตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน

ในทางตรงข้าม มันหมายความว่า คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือมีอะไรโดดเด่นที่ทำให้เจ้านายและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ…

ทางที่ดี ถ้าปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ มาถึง พยายามมอง “เป็นโจทย์ และความท้าทายใหม่ๆ” เป็นเวทีที่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานั้นๆ

และที่สำคัญ เมื่อคุณแก้ไขปัญหาได้ คุณอาจได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนก เพราะคุณได้แสดงให้เห็นว่า คุณจัดการปัญหานั้นได้ดี ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอย่างแท้จริง

====

เริ่มต้นจากหาสาเหตุความขัดแย้ง

เริ่มแรก คุณควรเข้าใจและเข้าถึงปัญหาเสียก่อน พยายามเปิดใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติใดๆ คุณจึงจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุรอบ 360 องศา กว้างมากขึ้น และเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น ว่ามาจาก...

====

1. อารมณ์

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนกำลังมีอารมณ์ และพร้อมระเบิดมันออกมา ทางที่ดีที่สุดคือเดินออกมาจากห้องนั้น หรือ ณ ตรงนั้น เพื่อสงบสติอารมณ์…

อย่าใช้อารมณ์ในการโต้แย้ง แต่จงใช้ความจริง สถิติ หลักฐานในอีเมล์ พยาน ลูกค้า และทางที่ดี พยายามหาข้อเท็จจริงที่มาจากต้นตอของปัญหา

อย่าคิดไปเอง อย่าคาดว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้จะเกิด เลิกโทษอดีต เช่น ถ้าอย่างงั้น ทำไมพี่ไม่ทำล่ะ… ถ้ารู้อย่างงี้ ทำไมเธอไม่รับผิดชอบ

มันไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างถึงอดีตที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรเอาเรื่องไม่สร้างสรรค์และวนในอ่างมาพูดถึง แต่ควรพยายามหาทางที่เป็นทางออกเชิงสร้างสรรค์

เช่น แล้วคุณจะทำอย่างไร? คุณมีแผนสำรองอย่างไร? คุณได้ลองติดต่อทางโน้นแล้วหรือยัง? นั่นคือประโยคเชิงบวกที่ดีและสร้างสรรค์กว่าการนั่งถกเถียง และเกี่ยงกัน

====

2. การสื่อสาร

คุณกำลังใช้ภาษาหยาบคาย หรือถ้อยคำประชดประชัน ในการตอบคำถาม โต้แย้ง หรือปะทะคารม ให้อีกฝ่ายมีอารมณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า?

และถ้าคุณต้องเป็นกรรมการในการห้ามมวยคู่นั้น คุณควรพูดอย่างเป็นกลาง พยายามตัดจบเรื่องราว ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ให้ทุกคนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อใช้ประชุมในครั้งหน้า และข้อมูลที่นำมาเสนอ ควรเป็นเรื่องที่ชัดเจน แม่นยำ เชื่อถือได้ และไม่เก่าจนเกินไป

====


4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

1. หาจุดร่วมของทีม

สร้างโมเดล หรือกติกาในการตัดสินใจร่วมกัน หรือหาความเห็นตรงกัน “การสร้างจุดร่วม” อาจเกิดจากการถามความเห็นและสนับสนุนสิ่งที่ทำให้เกิดทีมเวิร์ค โดยคุณอาจจะกำหนดคนที่เป็น Team Player คนที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติ Influencer สร้างเฟรมเวิร์คที่มาจากความเห็นของพวกเขา และใช้สิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ

====

2. หาปมขัดแย้ง

พยายามหาปมขัดแย้งให้เร็วที่สุด ทุกอย่างมีโอกาสเป็นปมขัดแย้งได้หมด แม้ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องไร้สาระหรือมีสาระ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ

ทางที่ดี คุณและทีมควรเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง และอย่ากลัวที่ต้องเผชิญความจริง คุณต้องย้ำกับเพื่อนร่วมงานหรือทีมเสมอๆ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ เราลงเรือเดียวกันแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบร่วมกัน

แสดงสปิริตที่จะทำให้คนกล้าพูดความจริง เพื่อที่จะหาต้นตอของปัญหาที่ถูก และใช่ ในเวลาจำกัด

====

3. หาแรงจูงใจ

การเล็งไปที่แรงจูงใจของสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา จะทำให้คุณได้ความคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้ ใครเสียผลประโยชน์สูงสุด ปัญหาและปมขัดแย้งนี้มีที่มาจากคนแบบไหน และเขาต้องการอะไร เพื่อความสะใจ เพื่อทำลายใคร เพื่อจุดมุ่งหมายแบบไหน บางที เราไม่ควรมองที่การกระทำ แต่ควรใส่ใจที่เจตนาด้วย

====

4. หาปัจจัยแวดล้อม

หลังจากเราหาเหตุเจอแล้ว มาถึงคราวที่เราจะต้องหาปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดปมขัดแย้ง อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปมขัดแย้งในที่ทำงานปะทุขึ้นมากกว่าเดิม ใครมีส่วนร่วมบ้าง และเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร

พยายามพูดคุยเปิดใจกัน และมองภาพใหญ่ให้ออก ว่าใครเป็นคนสนับสนุนปัจจัยสำคัญเหล่านั้น… พยายามเชื่อมโยงและทำให้พวกเขาเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาควรทำ หรือไม่ควรทำ

เรียนรู้ต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งและวิธีการจัดการเพิ่มเติมได้ใน วิธีจัดการความขัดแย้งในทีมฉบับฉุกเฉิน คลิกที่นี่

====

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน อยากแก้ไขความขัดแย้งในทีมและพัฒนาให้ทีมร่วมมือร่วมใจกันทำงานได้ดียิ่งขึ้น ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน

ในที่ทำงานทุกคนล้วนต้องการเป็นคนสำคัญ โดดเด่น และได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ

แต่กว่าที่คุณจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง คุณจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก

กล่าวคือ คุณต้องอุทิศตนในการทำงาน และวางตัวให้เหมาะสมในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความตั้งใจจริง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 8 ข้อในบทความนี้ คุณจะได้รับความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือในที่ทำงานแน่นอน

====

1) มีความมั่นใจในตัวเอง และแสดงความเป็นผู้นำ

หากคุณต้องการให้คนอื่นเคารพนับถือคุณ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณต้องเคารพตัวเองก่อน คุณควรเชื่อมั่นในทุกการกระทำของตนเอง มีความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และไม่กลัวกับปัญหาอุปสรรคใดๆ

เพราะหากคุณสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ และสามารถผ่านพ้นจากปัญหาต่างๆไปได้ ก็จะทำให้ผู้คนเกิดความศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวคุณ และสิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นความเคารพนับถือในท้ายที่สุด

====

2) บริหารเวลาให้เป็น

หนึ่งในพฤติกรรมที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณก็คือ การบริหารเวลา

หากคุณลองเปรียบเทียบพนักงาน 2 คน ระหว่างพนักงานคนแรกที่เข้าประชุมตรงเวลาและส่งงานตามกำหนดทุกครั้งกับพนักงานคนที่ 2 ที่มักเข้าประชุมสายและไม่เคยส่งงานทันเวลา

แน่นอนว่าเมื่อคุณจะมอบหมายงานหนึ่งชิ้น คุณจะมอบหมายให้พนักงานคนแรกทำ เพราะคุณไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

ทั้งนี้ ในระหว่างทำงาน คุณควรทุ่มเทกำลังความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลากับกิจกรรมที่ไร้สาระ เพื่อที่งานจะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงาน

====

3) อ่อนน้อมถ่อมตน

แม้ว่าคุณจะรู้ว่าตนเองสามารถทำงานได้ดี รวดเร็ว หรือมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน จงอย่าคุยโวโอ้อวด แต่จงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งคุณต้องทำอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เมื่อได้รับการยกย่องชมเชย คุณไม่ควรหลงระเริงไปกับคำพูดเยินยอของคนอื่น

ในทางกลับกัน คุณควรคิดว่าแต่ละคนเป็นเพียงหน่วยหนึ่งที่ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อทำให้งานสำเร็จและบรรลุเป้าหมายขององค์กร การอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้คุณไม่หยุดนิ่ง และรู้จักการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

====

4) ให้ความเคารพเพื่อนร่วมงาน

เพื่อนร่วมงานบางคนอาจทำงานอย่างเฉื่อยชา และไร้ประสิทธิภาพ พวกเขาอาจไม่มีแรงบันดาลใจเหมือนเช่นคุณ หรือพวกเขาอาจมีปัญหาส่วนตัวบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่

แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถดูถูกพวกเขาได้ คุณควรปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่นมนุษย์ด้วยกัน จงให้เกียรติพวกเขา และไม่ก้าวล้ำเส้นของกันและกัน

กล่าวคือ คุณไม่ควรมองพวกเขาว่าเป็นเพียงเพื่อนร่วมงาน แต่ให้มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ เพราะวิธีการนี้จะทำให้คุณเข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และคุณจะได้รับความไว้วางใจ รวมทั้งความเคารพนับถือเป็นการตอบแทน

====

5) ชื่นชมและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน

คุณควรหาโอกาสชื่นชมเพื่อนร่วมงานบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากเพื่อนร่วมงานของคุณทำงานชิ้นหนึ่งได้อย่างยอดเยี่ยมและส่งผลดีต่อบริษัท คุณก็ควรแสดงชื่นชมในความรู้ความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขาทุ่มเทจนทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย

คำชื่นชมเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น

ในทางกลับกัน หากเพื่อนร่วมงานของคุณล้มเหลวแทนที่คุณจะคอยซ้ำเติมและตอกย้ำความผิดพลาดนั้น คุณควรให้อภัยและให้กำลังใจต่อกัน

เพราะการต่อว่าหรือแสดงพฤติกรรมด้านลบนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ใดๆ ยังทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อคุณอีกด้วย

====

6) ช่วยเหลือทีม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน

มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะต่อว่าหรือโจมตีเพื่อนร่วมงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวคุณและบริษัท

ทางที่ดีคือ คุณควรช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกัน ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน

นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมจะทำให้การทำงานมีความราบรื่นเพราะเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใดก็จะมีคนสนับสนุน และผลักดันคุณด้วยความเต็มใจ

ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

====

7) ไม่ซุบซิบนินทา

การซุบซิบนินทาในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณเสียเวลาในการทำงานแล้ว คงไม่มีใครเคารพนับถือคนที่ปล่อยข่าวลือ และพูดจาให้ร้ายผู้อื่น

กล่าวคือ หากคุณไม่ให้ความเคารพนับถือผู้อื่น คุณก็จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน

ดังนั้น คุณจึงไม่ควรจับกลุ่มซุบซิบนินทาในที่ทำงาน เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ในตัวคุณ

====

8) ไม่บังคับหรือควบคุมคนอื่น

การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้เกิดจากความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ หากคุณได้งานแต่ไม่ได้ใจคน คุณก็ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้

การทำงานที่ดี คือ การคิดถึงเรื่องงานพร้อมๆกับจิตใจของผู้ร่วมงาน ในทางกลับกัน หากคุณใช้วิธีการบังคับเพื่อนร่วมงานให้ทำอย่างที่ใจคุณต้องการ คุณก็จะไม่ได้รับความร่วมมือใดอย่างเต็มที่

ดังนั้น คุณไม่ควรบังคับหรือควบคุมคนอื่น ให้ยึดหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มอบหมายงานให้คนในทีมอย่างเหมาะสม และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีปัญหา คุณก็ควรช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

เมื่อเริ่มทำให้คนเชื่อถือได้แล้ว เชิญชวนทุกท่านมาทบทวน 4 คุณสมบัติของผู้นำยุคใหม่ ว่าคุณพร้อมหรือยังที่จะเป็นผู้นำในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความผันผวนเช่นนี้ คลิกอ่านที่นี่

====

ถ้าคุณสนใจเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนา Mindset และทักษะของผู้นำยุคใหม่ที่ผู้คนให้ความเชื่อถือ ขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skills เพื่อพัฒนาคุณให้เป็นผู้นำยุคใหม่ที่ผู้คนเชื่อถือ  คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

5 ขั้นตอน ของการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพ

การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ

=====

หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”

อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย

เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้างกันดีกว่า

=====

ขั้นตอนที่ 1 การรับรู้

ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ

เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา

เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า

เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใดก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น

=====

ขั้นตอนที่ 2 ตัดสินใจอย่างไร

เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด

ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่

ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์

“เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง

=====

ขั้นตอนที่ 3  การตัดสินใจที่แท้จริง

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ”

คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!

เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ

ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

=====

อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้

อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน

อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง

=====

อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน

เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว

เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว

ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน

ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”

หนึ่งสิ่งที่เราควรระวังคือเรื่อง “ต้นทุนจม” เพราะมันมักทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดเสมอ เรียนรู้เรื่องนี้ได้ใน ต้นทุนจม อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด  คลิกที่นี่

=====

ขั้นตอนที่ 4 วางแผนอย่างเป็นระบบ

เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ

คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่”

พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น

=====

ขั้นตอนที่ 5 ประกาศการตัดสินใจให้ผู้อื่นรับรู้ 

“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ”

คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

Categories EQ

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

3 สิ่งที่ผู้นำมักทำพลาด (โดยไม่รู้ตัว)

ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของทุกปี ผมจะหาโอกาสให้ตัวเองได้หยุดพักจากงาน ถอยออกมาจากความวุ่นวายยุ่งเหยิงของชีวิต เข้าหาธรรมชาติ ปลีกวิเวกไปพักในที่เงียบๆสัก 1 สัปดาห์

ผมใช้เวลานี้ในการทบทวนและตกผลึกตัวเอง อีกทั้งใช้ในการมองภาพที่กำลังจะนำพาบริษัทและทีมงานก้าวต่อไปในอนาคต

สิ่งที่ผมได้จากการทบทวนตัวเอง ไม่ใช่ไอเดียใหม่ๆ ดีๆ แต่จะเห็นสิ่งที่ตนเองทำผิดพลาดไป ซึ่งในชีวิตการทำงานปกติ ไม่มีทางเลยที่ผมจะสังเกตหรือมองเห็น

และต่อไปนี้คือ 3 สิ่งที่ผมสังเกตเห็นตัวเองทำผิดพลาด และคิดว่านี่อาจเป็นสิ่งที่ผู้นำหรือผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นเหมือนกับผม จึงเขียนบทความนี้แชร์ให้คุณได้เรียนรู้ไปด้วยกัน

====

แน่นอนว่า คนที่เป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เก่ง ฉลาด มั่นใจ มีความมุ่งมั่นพยายามอย่างเต็มที่ที่จะบรรลุผลลัพธ์และเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีความหวังดีกับผู้อื่น อยากช่วยเหลือผู้อื่น

คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์และช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ในแง่ของการนำทีม สิ่งเหล่านี้อาจจะกลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ได้ นั่นเพราะอะไรบทความนี้มีคำตอบ

====

1.ความมั่นใจที่มากไปจนกลายเป็นอีโก้

ในฐานะผู้นำ เราผ่านชีวิตการทำงานมามาก มีประสบการณ์มาเยอะ จนประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ แน่นอนว่าเมื่อเจอสถานการณ์อะไรที่คุ้นเคย เราจะสามารถตัดสินใจในสิ่งนั้นได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีไม่ทันจะฟังความเห็นคนอื่น

แม้อีกฝ่ายจะพยายามอธิบาย เราก็จะมีธงในใจและเอาตามสิ่งที่เราเห็นว่าถูก สั่งการฟันธงลงไปทันที นั่นทำให้ลูกน้องและคนรอบตัวมองว่าเรามีอีโก้ จึงมีระยะห่าง ไม่อยากจะเข้าหา หรือมาคุยกับเรา

====

2.มุ่งผลลัพธ์มากไป จนกลายเป็นเผด็จการ

ในฐานะผู้บริหาร เราอยากจะสร้างผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ อยากทำงานให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่อยากให้เกิดความผิดพลาดแม้จุดเล็กๆน้อยๆ สิ่งที่เราทำจึงเป็นการพยายามควบคุมทุกอย่าง ออกคำสั่งอย่างเดียว ลงรายละเอียดทุกจุด โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกน้องคิดและทำด้วยตนเอง

หลายๆครั้ง ทีมงานอยากเสนอไอเดีย หรืออยากทำในสิ่งที่ต่างไป แต่พอจะพูด ก็ไปเจอข้อ 1 อีก คือเราไม่ฟังเขาเลย สุดท้ายทีมงานจะมองว่าเราเผด็จการ จึงหยุดคิด หยุดเสนอความเห็น เปลี่ยนเป็นรอฟังคำสั่งแทน เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเดือดร้อนถ้าตัดสินใจผิดพลาด

====

3.หวังดีมากไป จนกลายเป็นยัดเยียด

ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านโลกมามากกว่า เรามีความหวังดีต่อทีมงาน อยากช่วยเหลือลูกน้อง จึงพยายามแนะนำสั่งสอนในจุดที่คิดว่าเขายังทำได้ไม่ดีพอ พอเราแนะนำไปแล้วเขาไม่ทำตาม เราก็ผิดหวัง ขุ่นเคือง หรือถึงขั้นน้อยใจ ทั้ง ๆ ที่หลายครั้งเขาก็ไม่ได้ขอให้ช่วยเลย

นั่นทำให้ทีมงาน มองว่าเรายัดเยียด จึงพยายามเอาตัวออกห่าง หรือถึงขั้นหูทวนลม ในทุกๆครั้งที่เราเอ่ยปากพูดอะไร เพราะมองว่าเราไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ของเขาจริงๆ

====

ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้ปรับตัวเองเพื่อให้เป็นผู้นำที่ดีขึ้น จนได้รับผลสะท้อนที่ดีจากน้อง ๆ ในทีมหลังจากนั้นไม่นาน ผมมีคำแนะนำให้กับผู้นำหรือผู้บริหารที่ไม่อยากมีปัญหาเหมือนผม ดังนี้

1.ไม่อยากมีอีโก้ ให้ลดความเร็วลง

ไม่ใช่ทุกเรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่จะต้องได้คำตอบเดี๋ยวนี้ตอนนี้เท่านั้น เวลามีเรื่องอะไรเข้ามากระทบ ไม่ควรรีบตัดสินถูกผิด “ปล่อยให้ตัวเองได้ช้าลง” รับฟังมากขึ้น ถามความเห็นของทีมก่อน หากเขาคิดไม่ตรงกับเรา ก็ถามเหตุผลและให้เขาอธิบายมากขึ้นอีก ยังไม่ต้องรีบหาคำตอบหรือแก้ไขปัญหาเลย ทิ้งเวลาตัวเองและอีกฝ่ายกลับไปคิดใคร่ครวญในอีกมุมที่ต่างกัน แล้วค่อยนัดมาหารือกันทีหลัง

บางทีเราอาจจะเห็นจุดที่ดีกว่าจากมุมของอีกฝ่าย หรือกระทั่งแง่มุมที่มาปรับรวมกันแล้วดีขึ้นก็เป็นได้ แม้สุดท้ายแล้วเราตัดสินใจว่าจะไม่ทำตามความคิดของเขา แต่เราก็ได้แสดงออกอย่างจริงใจว่าเราได้รับฟังและเคารพมุมมองของเขาอย่างเป็นกลางแล้วนั่นเอง

====

2.ไม่อยากเป็นเผด็จการ ปล่อยให้ทีมทำผิดพลาดได้

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเป๊ะทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสั่งการหรือควบคุม “ฝึกให้ความไว้วางใจทีมงาน” ให้โอกาสทีมได้ทดลองทำ และเปิดพื้นที่ให้สำหรับความผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์แบบบ้าง เพื่อให้ทีมงานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้บทเรียนจากการคิดเองทำเอง จะได้พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น

เมื่อมอบหมายงานให้ไปแล้ว ก็อย่าไปคอยถามหรือตามงานบ่อย ๆ เพราะเขาจะมองว่าเราจู้จี้และไม่ไว้ใจ หากกังวลว่าลูกน้องจะทำงานสำคัญพัง ก็ให้มาเล่าแผนการและนัดให้มีการรายงานผลเป็นระยะแทน

====

3.ไม่อยากยัดเยียด อย่ารีบสอนรีบแนะนำ

สิ่งที่ยากในการเป็นผู้บริหาร คือ “การวางตัวเป็นกลาง” เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ แล้วปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ ค่อย ๆ เป็นไปตามจังหวะเวลาของมัน ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ต้องเข้าไปแก้ไข บางทีความหวังดีที่เราให้ไป แต่ไม่ใช่จังหวะเวลาที่เขาจะเข้าใจ คำแนะนำของเราเสียเปล่าหรืออาจเป็นผลเสียต่อเขาก็ได้ เช่น เขาต่อต้านแล้วไปทำตรงข้ามกับที่เราแนะนำ หรือเขาทำตามคำแนะนำโดยที่ไม่ได้รู้เหตุผลที่แท้จริง ปัญหาเดิมก็ไม่ถูกแก้ แต่จะกลับมาใหม่อีกเรื่อย ๆ

แต่ก็ไม่ใช่จะวางเฉยจนไม่ทำอะไรเลย เมื่อเราพบว่าสิ่งที่ลูกน้องคิดและทำอาจส่งผลเสียหาก และดูท่าทางเขาจะไม่รู้ว่าตัวเองพลาดอะไร ให้หาโอกาสชวนมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว พูดถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็น พูดถึงความเป็นห่วงของเรา ให้ทำด้วยความเมตตาและปรารถนาดี

จากนั้นถามความเห็นหรือมุมมองของเขาว่าคิดเรื่องนี้อย่างไร ให้เวลาในการรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ยังไม่ต้องรีบสอนหรือแนะนำ จนกว่าเขาจะขอความเห็นจากเรา เราก็ค่อยอธิบายมุมมองของเรา โดยไม่ต้องบังคับหรือคิดว่าเขาจะทำตามเรา เพราะชีวิตเขา เขาต้องรับผิดชอบผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเอง

ยกเว้นว่าสิ่งนั้นส่งผลกระทบต่องานและส่วนรวม เราจะต้องอธิบายให้เห็นผลกระทบส่วนนี้ แล้วถามเขาต่อว่าเขาจะป้องกันหรือแก้ไขมันอย่างไร หากเขาไม่ทราบหรือไม่รู้ เราค่อยแชร์มุมมองของเราอีกที ถ้าเป็นแบบนี้ทีมงานจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ก้าวก่ายชีวิตเขา แต่เรากำลังทำเพื่อส่วนรวม

ฝึกฝนทักษะการฟังเพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ไม่ด่วนแนะนำด้วย  Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

====

จากที่เล่ามา เป็นสิ่งที่ผมพยายามสังเกตตนเองจากการบริหารทีม และพยายามปรับตัวเองเพื่อเป็นผู้นำที่ดีขึ้น ซึ่งหลายท่านที่อ่านอาจจะรู้สึกว่า ต้องปรับตัวเองมากไปหรือเปล่า ต้องผืนใจหรือพยายามเกินไปไหม

จากประสบการณ์ตรงของผม ยิ่งเราพูดน้อยลง สั่งการน้อยลง เข้าไปนั่งในออฟฟิศน้อยลง ผมพบว่าทีมงานยิ่งเก่งขึ้น ขยันมากขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และดูเหมือนว่าบรรยากาศในการทำงานจะดีขึ้นด้วย

ส่วนสิ่งที่ผมทำมากขึ้นคือ ให้เวลาในการฟังแต่ละคนมากขึ้น ให้เวลาพัฒนาแต่ละคนตามเป้าหมายของเขามากขึ้น สนับสนุนให้กำลังใจและชื่นชมแต่ละคนมากขึ้น

ที่ผมเน้นย้ำว่า “แต่ละคน” คือไม่ทำแบบเหมารวม แต่ทำแบบเฉพาะคน เลือกคนที่สำคัญเป็น Keyman ไม่กี่คนที่เราจะโฟกัสพัฒนาเขา แล้วสอนเขาให้ไปพัฒนาคนอื่นต่อ

เพราะงานที่แท้จริงของผู้นำ คือ “การสร้างผู้นำรอบ ๆ ตัว”

บทความโดย อ.เรือรบ CEO และผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962


====

ปล. ผมมีหลักสูตรใหม่ล่าสุดสำหรับปี 2023 ชื่อ Leading with Empathy” ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้บริหารระดับสูง ดูรายละเอียดหลักสูตร คลิกที่นี่ หากสนใจจัดอบรมในองค์กร โทร 093 925 4962 หรือ Line @lhtraining

5 เทคนิคทำให้คุณเป็นที่รักของทุกคนในทีม

ตั้งใจอ่านบทความนี้ให้ดีๆ นะครับ! เพราะนี่คือวิธีที่จะทำให้คุณ กลายเป็นที่รักของคนรอบข้างได้อย่างง่ายดาย

 และที่สำคัญมันทำจะให้ตัวคุณเอง ได้ค้นพบด้วยว่า… ภาษารักของคุณคืออะไร

====

คุณเคยมีคำถามแบบนี้กับตัวเองหรือเปล่า?

“ทั้งๆ ที่คุณก็แสดงออกถึงความใส่ใจต่อคนที่คุณรักแล้ว แต่เขากลับไม่รู้สึกถึงความรักจากคุณเลย!” 

ถ้าเคย… บทความนี้จะทำให้คุณรู้ว่า… มันเกิดจากอะไร และคุณควรจะทำอย่างไร

ถ้าไม่เคย… บทความนี้ จะช่วยให้คุณรู้เทคนิค ที่จะทำให้คุณ มัดใจผู้คนได้ง่ายมากๆ

====

ผมมีคำถามง่ายๆ 1 ข้อมาถามคุณครับ

ระหว่างคน 2 คน คนที่ 1 เขาจะให้ในสิ่งที่ “คุณต้องการ” เสมอ
กับคนที่ 2 ที่ มักจะให้ ในสิ่งที่เขา “คิดว่ามันน่าจะดี” กับคุณเสมอ

คุณรู้สึกดี และชอบคนไหนมากกว่ากัน?

ผมเชื่อว่าคำตอบของคุณก็ต้องเป็น  “คนที่ 1” ใช่ไหม

ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” เรามาเรียนรู้กันเลยครับว่า 5 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณ เป็นที่รัก และเอาชนะใจของผู้คนในทีมคืออะไร

====

1. พูดชื่นชม และยกย่อง

หมั่นพูดเพราะๆ คอยหยอดคำหวาน แค่นี้ก็ทำให้คนบางคนใจละลายได้แล้ว

“ตัวเองน่ารักจังเลย” “ขอบคุณมากๆ เลยนะ… น่ารักที่สุด” “ถ้าไม่ได้คุณช่วยเอาไว้… ฉันคงแย่แน่ๆ” “วันนี้คุณดูสวย/หล่อ มากๆ เลยนะครับ”

“ผม/ฉัน รู้สึกชื่นชมในความกล้าหาญของคุณจากใจจริง” ฯลฯ
ใช้ปิยวาจา ในเวลาที่เหมาะสม ด้วยถ้อยคำที่กลั่นมาจากใจ ใครๆ ก็จะชื่นชอบในตัวคุณครับ

====

2. คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนเขา

การหยิบยื่นการสนับสนุน เป็นสะพานเชื่อมหัวใจของผู้คนได้เป็นอย่างดีครับ เมื่อคุณเห็นเขากำลังทำงาน หรือทำภารกิจอะไรอยู่ สอบถามเขาสักนิด หยิบยื่นน้ำใจ และความช่วยเหลือไปให้

ที่สำคัญคือ การสนับสนุนนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ ก็ได้ เพราะแม้การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ก็ล้วนมีคุณค่าทางจิตใจทั้งสิ้น

และการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่อง…. ก็อาจมีผลต่อใจเขามากกว่า การหยิบยื่นของใหญ่ๆ เพียง 1 ครั้งนะครับ

====

3. มอบของขวัญ พิเศษให้กับเขา

แอบมีของขวัญเล็กๆ ไปเซอร์ไพรส์เขา ไปไหนมาไหน มีของฝากติดไม้ติดมือมาบ้าง ทำให้รู้ว่าคุณยังคิดถึงเขาอยู่

และทุกๆ ครั้งที่เขาหยิบเอาของขวัญของคุณขึ้นมา เขาจะคิดถึงคุณครับ ฝากเยอะๆ ฝากบ่อยๆ คุณจะไปอยู่ในใจเขาอย่างรวดเร็ว 

====

4. มอบช่วงเวลาที่มีคุณภาพให้แก่เขา

แบ่งเวลาคุณภาพให้กับเขา มอบเวลาของคุณเพื่ออยู่กับเขาอย่างเต็มที่เต็ม 100

ใช้ช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน อาจเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ใช้เวลาเพื่อดูหนังกันอย่างอิ่มเอม หรือการนั่งลงและพูดคุยกันแบบเปิดอก พูดคุยกันอย่างเป็นกันเองและสนุกสนาน ทำให้ช่วงเวลาที่ได้ใช้ไปด้วยกันนี้ เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ เป็นช่วงเวลาที่ดี และน่าจดจำ

====

5. สัมผัส โอบกอด ทำให้เขารู้ว่าคุณอยู่ข้างๆ เขา

การสัมผัส และการโอบกอด เป็นอีก 1 วิธีการการแสดงออกถึงความรักที่น่าทึ่งนะครับ

บางคนพูดอะไรมากมายเป็นร้อยเป็นพันคำ กลับทำทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอบอุ่นได้ไม่เท่าการโอบกอดเพียงไม่กี่นาที

คุณอาจสวมบทบาทเป็นหมอนวดแผนไทยชั่วคราวทำการบีบนวดผ่อนคลายให้เขา หลังจากที่เขาต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาทั้งวัน…. แค่นี้คนถูกนวดก็ฟิน และรักคุณจะตายแล้ว(ควรทำกับคนเพศเดียวกันเท่านั้นนะครับ) 

====

และนี่ครับ คือ 5 เทคนิคง่ายๆ ที่จะทำให้คุณเป็นที่รัก และชนะใจผู้อื่นได้ทันที

แต่!!!.. ผมยังมีข่าวดี มากกว่านี้อีก!

ข่าวดีก็คือ…. เพื่อที่จะเป็นที่รัก และเอาชนะใจผู้คน
คุณไม่จำเป็นต้องทำ ครบทั้ง 5 ข้อที่ผมแบ่งปันนี้ก็ได้!

เพียงคุณรู้ว่า เขาคนนั้น เป็นคนที่มีภาษารักแบบไหน จากภาษารักทั้ง 5 ภาษา
(จากหนังสือ The 5 Love Languages โดย Gary Chapman)

ภาษารักแบบที่ 1 – Words of Affirmation การใช้คำพูดชื่นชม
ภาษารักแบบที่ 2 – Acts of Service การแสดงออกถึงการบริการ
ภาษารักแบบที่ 3 – Receiving Gifts การได้รับของขวัญ
ภาษารักแบบที่ 4 – Quality Time การได้ใช้เวลาคุณภาพ
ภาษารักแบบที่ 5 – Physical Touch การสัมผัส

ซึ่งแต่ละคน จะมีภาษารักที่รู้สึกสำคัญของตัวเอง 1 หรือ 2 ภาษา และมีภาษารักที่ไม่สำคัญอยู่ด้วย

====

ตัวอย่างเช่น ตัวผมเอง เป็นคนที่มีภาษารักในแบบที่ 2 (Acts of Service) เยอะมากๆ และ ภาษารักแบบที่ 3 (Receiving Gifts) เป็นรูปแบบที่ผมให้ความสำคัญน้อยที่สุด

ดังนั้น หากใครที่มาช่วยงานผม หรืออาสามาสนับสนุนในภารกิจ หรืองานที่ผมทำอยู่ ผมจะรักคนเหล่านี้มากๆ มากกว่าคนเอาของขวัญมาให้ แต่ไม่ได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนอะไรเลย

และในขณะเดียวกัน ผมก็จะเป็นคนที่ชอบอาสาไปช่วยงานผู้อื่นอยู่เป็นประจำ เพราะมันคือภาษารักที่ผมให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1

เมื่อเราทำให้คนในทีมรักเราได้แล้ว มาลองฝึกฝนวิธีทำให้ลูกน้องร่วมมือกับเราอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน คลิกอ่านที่นี่

====

ภาษารักของคุณคืออะไร?

คุณจะลองสังเกตตัวเองดูก็ได้นะครับ ว่าตัวคุณ มีภาษารักแบบไหน?
และคนที่คุณรักเขาให้ความสำคัญกับภาษารักแบบไหน?

เพราะเมื่อคุณได้ให้ในสิ่งที่ตรงกับภาษารักของเขามากที่สุด เขาจะรักคุณอย่างง่ายดายครับ

ขอให้คุณมีความสุข และสมหวังในความรักนะครับ 

หนึ่งทักษะสำคัญที่ทำให้คนรักและเคารพคุณก็คือ ทักาะการบริหารอารมณ์ ผมขอแนะนำหลักสูตรสำึัญสำหรับผู้นำยุคใหม่ Emotion Intelligence คลิกดูรายละเอียดที่นี่

บทความโดย อ.กิตติ ไตรรัตน์ 

Self – Leadership Coach


Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพให้คนทำงาน

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต เพราะมนุษย์คนหนึ่งสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะที่ธรรมชาติให้มาอย่างการฟังนั่นเอง

ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด อาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้เสมอ 

เพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ที่จะบอกในบทความนี้จะช่วยให้คุณ มีพัฒนาการด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณด้วย

====

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

====

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

====

3.ทวนความเป็นช่วงๆ 

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

====

4.ฝึกสมาธิเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

====

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงดู

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

====

6. เข้ารับการอบรมเรื่องการฟัง 

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

ผมมีหลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร ในชื่อหลักสูตร Executive Communication คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

====

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

====

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน

====


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

ฝึกฝนทักษะการฟังให้เข้มข้นเพิ่มขึ้นกับ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save