โลกยุคนี้ต้องการผู้นำแบบไหน

ผู้นำแบบไหนที่โลกยุคใหม่ต้องการ

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีอิสระในการทำงานนั้น ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศที่ดี และบรรยากาศที่ดีก็ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยเฉพาะในยุคที่มีการแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ยิ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้น

ภาวะผู้นำ ที่ช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วม (Liberating Leadership) จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้คนในองค์กรแสดงศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น

ต่อไปนี้คือ 4 แนวทางการสร้างภาวะผู้นำที่ผู้บริหารยุคใหม่พึงตระหนักและบ่มเพาะไว้เสมอ

====

1.ลดอีโก้

ผู้นำยุคใหม่ไม่ใช่ว่าต้องรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตัวเองเสมอไป เมื่อต้องทำงานเป็นทีมก็ควรมีการวางแผนและตัดสินใจร่วมกัน

การเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนในทีมจะทำให้ลูกทีมรู้สึกว่าเขาได้รับความไว้วางใจ ทำให้เขารู้สึกมั่นใจ และสามารถดึงศักยภาพของเขาออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่
====

2.แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน

ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องการทำงานและวิสัยทัศน์ขององค์กรกับคนในทีม เพื่อหาจุดร่วมหรือหาบรรทัดฐานของการทำงาน ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดขอบเขตงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
====

3.เคารพซึ่งกันและกัน

สร้างบรรยากาศการทำงานให้อบอุ่นด้วยการให้ความเคารพต่อกัน เริ่มจากคนที่เป็นหัวหน้าต้องรู้สึกเคารพและเชื่อมั่นในตัวลูกทีม

นี่คือวิธีเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมที่ดีที่สุด ช่วยให้เกิดความสบายใจเมื่อต้องทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
====

4.ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบในการทำงาน

บางครั้งอุปสรรคในการทำงานอาจเกิดจากวัฒนธรรมองค์กร หรือโครงสร้างในการทำงานที่ไม่เหมาะสม

ครั้งต่อไปเมื่อเจออุปสรรคระหว่างการทำงาน ให้ลองถามลูกทีมว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จากนั้นนำข้อคิดเห็นกลับมาปรับปรุงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Liberating Leadership ไม่ใช่หลักการตายตัว เพียงแต่เป็นแนวทางที่ช่วยเสริมสร้างความเท่าเทียมกันในองค์กร และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นนั่นเอง

ถ้าอยากรู้ว่าอะไรคือแก่นแท้ของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ อ่าน 5 แก่นแท้ของผู้นำชั้นยอด คลิกที่นี่
====

จากบทความ “Give Your Team the Freedom to Do the Work They Think Matters Most” โดย Brian Carney and Isaac Getz ตีพิมพ์เมื่อ 10 กันยายน 2018 ใน Harvard Business Review

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำอย่างเข้มข้น ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง ดูรายละเอียดที่นี่

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 แก่นแท้สู่การเป็นผู้นำชั้นยอด

5 แก่นแท้สู่การเป็นผู้นำชั้นยอด

คุณคิดว่าสิ่งที่ทำให้ผู้นำหลายคนล้มเหลว คืออะไร

ทั้งที่บางคนมีความเฉลียวฉลาดถึงระดับวัดไอคิวได้เป็นอัจฉริยะ ผลงานอยู่ในระดับดีเลิศ หรือมีบุคลิกดีจนน่าเลื่อมใส แต่ทำไมคนเหล่านั้นกลับไม่สามารถคุมทีมให้ประสบความสำเร็จได้

คำตอบก็คือ ผู้นำเหล่านี้ขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’

จากการค้นคว้าวิจัย หาความสัมพันธ์ของบรรดาผู้นำในองค์กรและระดับความสำเร็จที่เกิดขึ้น พบว่ายิ่งผู้นำฉลาดทางอารมณ์เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างสดใสมากเท่านั้น
=====

ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ ประกอบไปด้วย 5 แก่นหลัก ได้แก่ การรู้จักตัวเอง การควบคุมตนเอง แรงกระตุ้นจูงใจ ความเห็นอกเห็นใจ และทักษะทางสังคม

1.การรู้จักตัวเอง

ไม่ใช่เพียงรู้ว่าตัวเองเป็นใครในองค์กรเท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันว่าตนเองมีคุณสมบัติอะไร อะไรคือข้อดี อะไรคือข้อเสีย และปรับใช้สิ่งเหล่านั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์

ผู้นำชั้นยอดจะรู้จักปฏิเสธ ถ้าโปรเจคที่ได้รับข้อเสนอมานั้นไม่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนค่อนข้างอารมณ์ร้อน แต่ต้องทำงานกับหัวหน้าอารมณ์ร้อนพอๆ กันภายใต้สถานการณ์กดดันตลอดเวลา แบบนั้นก็จะคิดให้หนักก่อน

หรือผู้นำที่รู้จักตัวเองอาจจะรับงานดังกล่าว แต่มอบหมายให้ผู้นำระดับรองลงไปที่มีความอดทนดีกว่า เป็นคนเข้าไปจัดการแทน เป็นต้น

ถ้าคุณคิดว่ารู้และเข้าใจตัวเองดีพอแล้ว คุณจำเป็นต้องนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ศึกษาวิธีการนำความรู้จักตัวเองมาเป็นการปรับตัวได้ที่นี่
=====

2.การควบคุมตนเอง

ลืมเรื่องเล่าอย่างบอสจอมทำลายข้าวของและด่ากราดไปได้เลย เพราะคนเป็นผู้นำต้องมีน้ำอดน้ำทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวเองในการทำงานกับคนอื่น ลองนึกถึงผู้นำที่ยังใจเย็นได้ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุ เป็นใครก็ย่อมเคารพนับถือ

ผู้นำที่ควบคุมตนเองได้จะถูกมองว่ามีเหตุผลและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดี รวมถึงไม่แสดงอาการร้อนรน สามารถพาทีมก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้ดีไปด้วยนั่นเอง
=====

3.แรงกระตุ้นจูงใจ

เชื่อว่าคนทำงานที่ไหนต่างก็มีแรงกระตุ้นทั้งนั้น แต่การเป็นหัวหน้าทีม จะต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง แรงกระตุ้นในเรื่องเงินกับแรงกระตุ้นในเรื่องงาน

ผู้นำที่ทุ่มเทเพื่อให้ผลงานออกมาดี ด้วยความลุ่มหลงและความรักในงาน มีพลังงานที่จะทำงานอย่างล้นเหลือ ย่อมจะทำให้ลูกทีมเห็นถึงแบบอย่างที่ดี จนอยากจะร่วมมือผลักดันให้งานสำเร็จมากกว่าจะรอจังหวะหยิบฉวยผลประโยชน์เพื่อตัวเอง
=====

4.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ไม่ว่าใครก็ล้วนอยากได้ความเข้าใจและความเห็นใจ ในชีวิตส่วนตัวคนอาจจะเห็นใจกันได้แต่เมื่อเข้าสู่เรื่องธุรกิจก็มักจะเต็มไปด้วยความเขี้ยวจนไม่ค่อยคิดถึงจิตใจกันสักเท่าไหร่

เหมือนประโยคที่บอกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องธุรกิจ” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำธุรกิจจะเห็นอกเห็นใจกันไม่ได้

ผู้นำไม่จำเป็นต้องแคร์คนในทีมถึงขนาดที่ต้องทำให้ทุกคนโอเคหรือเอาใจทุกคนเกินเหตุ แต่ในยามที่ต้องตัดสินใจหรือคิดถึงการทำงาน ผู้นำจะนำความรู้สึกของคนในทีมมาใคร่ครวญด้วยเพื่อหาหนทางที่จะสร้างสมดุลระหว่างการตัดสินใจกับความรู้สึกของผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
=====

5.ทักษะทางสังคม

ในแก่นของความฉลาดทางอารมณ์ 3 ข้อแรกคือการเน้นไปที่ตัวเอง ส่วน 2 ข้อหลังจะเน้นไปที่คนอื่น ข้อนี้คือการเข้าสังคมที่ไม่ได้หมายความถึงการแต่งตัวเป็น ออกงานบ่อย สร้างภาพดีแต่อย่างใด

ทักษะเข้าสังคมของผู้นำ คือการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าคนในสังคม (หมายถึงคนในทีมและคนภายนอก) เป็นอย่างไร มีทักษะว่าจะจูงใจคนให้มารวมกัน ปลุกเร้าให้คนเดินไปในทิศทางใด ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในธุรกิจ ก็สามารถใช้ทักษะโน้มน้าวคนจำนวนมากให้คล้อยตามได้

แก่นแท้ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา ทักษะข้อสุดท้ายมีความสำคัญมากที่สุด เพราะลูกทีมย่อมคาดหวังว่าผู้นำจะต้องหลอมคนในทีมให้เป็นหนึ่งเดียว แต่นั่นก็หมายความว่าผู้นำคนนั้นจะต้องมี 4 ข้อก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐานก่อนนั่นเอง
=====

ถ้าคุณต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำทั้ง 5 อย่างจริงจัง ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “What Makes a Leader?” โดย Daniel Goleman จาก Harvard Business Review มกราคม 2014

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ผู้นำจะปรับตัวและบริหารองค์กรให้เติบโตได้อย่างไร ในยุค Next Normal

ผู้นำจะปรับตัวและบริหารองค์กรให้เติบโตได้อย่างไร ในยุค Next Normal

เพียงแค่เริ่มปี 2022 สังคมโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ  จนยากจะคาดเดาได้

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่จนตามแทบไม่ทัน ความไม่แน่นอนที่เกิดจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิกฤตไวรัสโควิด หรือมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ 

ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และวิถีชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เรียกว่านี่คือยุค ‘Next Normal’ ซึ่งความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว

====

ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารในองค์กร การบริหารธุรกิจให้ไปต่อและเติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะเมื่อหลายปัญหาถาโถมรวมกันก็อาจทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร แม้แต่วิธีที่เคยได้ผลดีในอดีตก็ไม่อาจการันตีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป 

ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรในยุคนี้จึงต้องมองให้ไกลกว่าภาพในปัจจุบันเท่านั้นไม่ใช่แค่สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ แต่ควรมีหลักคิดและแนวทางในการเตรียมองค์กรเพื่อที่จะปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำควรที่จะมีความสามารถในการออกแบบอนาคตขององค์กรให้เป็นตามที่ต้องการ ไม่ใช่ทำงานแค่พออยู่รอดไปแต่ละวัน หรือนั่งรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป 

เพราะเมื่อบางสิ่งได้เกิดขึ้นไปแล้ว มันอาจสายเกินไปที่จะแก้ไข คุณคงได้เห็นข่าวการปิดตัวของธุรกิจใหญ่ๆในช่วงนี้แทบจะทุกวัน ไม่นับธุรกิจเล็กๆที่ไม่เป็นข่าว ซึ่งคงเยอะกว่าเป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว 

====

เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้นำ ผู้บริหารองค์กร และผู้ประกอบการในประเทศไทยให้อยู่รอดและเติบโต  ผมจึงศึกษางานวิจัยหลายชิ้นในช่วงต้นปีนี้  โดยเฉพาะจากองค์กรที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เช่น  Mckinsey & Company , PwC, Freeman ซึ่งผมได้นำมาเรียบเรียงและตกผลึกอยู่ในบทความนี้ เพื่อตอบคำถามสำคัญ ที่ได้จั่วหัวไว้ในบรรทัดแรกนั่นเอง 

ผมขอเสนอหลักการ “4Ps of the future” ซึ่งคุณสามารถใช้เป็นหลักคิดในการพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต หลักการนี้ประกอบไปด้วย 4P  ได้แก่  Purpose, People, Planet และ Profit

====

1.Purpose

“จุดมุ่งหมายของธุรกิจ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่เป็นหัวใจของวิธีคิดและการตัดสินใจขององค์กร”

Purpose นั้นอธิบายว่า เราเป็นใคร ทำไมเราถึงทำสิ่งที่ทำอยู่นี้ ธุรกิจของเรามีเป้าหมายอย่างไร  การที่ผมยก Purpose ขึ้นมาเป็นข้อแรก เพราะมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประการ ยิ่งองค์กรมี Purpose ชัดเท่าไหร่ก็จะได้รับความร่วมมือจากพนักงานในองค์กร และได้รับการสนับสนุนจากลูกค้ามากเท่านั้น 

ประการแรก Purpose กำหนดแก่นแท้ของคนในองค์กร 

เมื่อองค์กรมี Purpose ชัดก็จะดึงดูด Talent และคนเก่งๆที่มีเป้าหมายเดียวกันกับองค์กรเข้ามาเพื่อร่วมกันทำให้ภารกิจนั้นกลายเป็นจริง คนที่มีความสามารถสูงไม่ได้เลือกงานที่ได้เงินดีอย่างเดียว เขาอยากทำงานที่มีความหมายและได้เรียนรู้พัฒนาตนเองไปด้วย

เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานไม่ว่าจะเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก พนักงานจะมั่นใจที่จะตัดสินใจได้โดยไม่รีรอ หากพวกเขาเข้าใจว่า Purpose ขององค์กรคืออะไร โดยพวกเขาจะตัดสินใจเพื่อตอบเป้าหมายเดียวกันนั่นเอง

เมื่อต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือทำสิ่งใหม่ๆ ผู้คนในองค์กรจะไม่หลงทางหรือเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ เพราะเขารู้ว่า Purpose ขององค์กรคืออะไร เขาจะมุ่งตรงไปยังทิศทางเดียวกัน

====

ประการที่สอง Purpose ช่วยสร้างการสนับสนุนจากลูกค้า

ในอนาคตอันใกล้ องค์กรที่จะเติบโตและได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าเป็นอย่างดีจะไม่ใช่องค์กรที่เน้นเป้าหมายในการทำกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นองค์กรที่ทำ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ให้กับโลกและสังคมในวงกว้าง 

แบรนด์ที่จะอยู่ในใจของผู้บริโภคได้ ท่ามกลางแบรนด์คู่แข่งนับร้อยย่อมจะต้องแตกต่าง  จดจำง่าย เข้าถึงได้ และแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจน 

เมื่อมี Purpose ที่ชัดเจนแล้วต้องประกาศอย่างชัดเจนให้ลูกค้ารู้ถึงเหตุผลของการมีอยู่ขององค์กรผ่านการสื่อสารและการเล่าเรื่องในทุกช่องทาง รวมถึงการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับ Purpose นั้น

เพียงไม่นาน ผู้บริโภคหรือลูกค้าจะรับรู้ได้ว่าเหตุใดเขาถึงควรจะสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์องค์กรนี้ไม่ใช่องค์กรคู่แข่งที่พยายาม ลด แลก แจก แถม เพียงเพราะอยากได้ยอดขายมากขึ้น

====

กรณีศึกษาของบริษัท Learning Hub Thailand 

บริษัทของผม เริ่มก่อตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ด้วยเป้าประสงค์ (Purpose) ในการพัฒนาคนด้าน Soft Skills เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้คนทำงานอย่างมีความสุข 

ด้วยเป้าประสงค์นี้ นับตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มธุรกิจ นอกจากการจัดอบรมพัฒนาคนในองค์กรเอกชนและมหาชนแล้ว ในวันหยุดเรายังจัดคอร์ส Soft Skills ให้กับคนทั่วไปเป็นประจำทุกเดือน ในราคาเพียง 500 บาท แล้วนำเงินที่ได้ไปบริจาคตามองค์กรการกุศลต่างๆ

เมื่อปีที่แล้วในช่วงโควิด รัฐบาลมีมาตรการให้ Lockdown  เราจึงจัดอบรมแบบปกติไม่ได้ รายได้เริ่มหดหาย ผมจึงริเริ่มจัดอบรมผ่าน Zoom โดยตั้งชื่อว่า ‘Live Training’  โดยเชิญวิทยาการหลายท่านมาสอนฟรี เพียงเวลาไม่นาน ลูกค้าก็ติดต่อมาให้จัดอบรมออนไลน์ ทำให้เรามีรายได้แทบไม่ต่างจากปีก่อนหน้าที่ไม่ได้เกิดโควิดเลย

(ปัจจุบัน Live Training จัดมา 42 ครั้งแล้ว ในปีนี้เราก็ยังจัดอบรมคอร์สใหม่ๆ ทุกเดือน มีสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์กว่า 1,200 คน  ซึ่งคุณสามารถเข้าร่วมเรียนได้ฟรี โดยคลิกสมัครที่นี่  https://bit.ly/Livetraining-Free)
====

ส่วนปีนี้เราก็ริเริ่มโครงการใหม่โดยตั้งใจจะนำกำไร 10% ที่ได้ไปจัดกิจกรรมพัฒนา Mindset ให้แก่น้องๆ นักเรียนในชนบทห่างไกลเป็นประจำทุกเดือนด้วย

ยิ่งธุรกิจของเราเติบโตในแต่ละปี เราก็ยิ่งสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมได้มากขึ้น และเมื่อลูกค้ารับรู้เช่นนั้นเขาก็ยิ่งยินดีที่จะสนับสนุนธุรกิจของเรา เพราะรู้ว่าการจ่ายเงินของเขามีส่วนช่วยสังคมไปพร้อมกัน

ไม่ต้องเล่าต่อคุณก็คงเดาได้ว่า เราได้รับการสนับสนุนจากคนที่มี Purpose เดียวกันเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมทีม วิทยากรเก่งๆ ที่มีจิตใจแห่งการให้ และลูกค้าน่ารักๆ ที่สนับสนุนเราอย่างต่อเนื่องมายาวนาน

เมื่อมีสถานการณ์วิกฤตหรือไม่ปกติ ผมจะไม่ลดราคาเพื่อความอยู่รอด แต่จะสร้างคุณค่าให้ลูกค้าเห็นมากขึ้น ปรับ Business Model ให้ตอบโจทย์ Purpose อย่างชัดเจนขึ้น และนั่นก็ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตรวดเร็วกว่าเดิมเมื่อวิกฤตผ่านไป

====

2.People 

“คน ไม่ใช่ฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร แต่เป็นหัวใจของการเติบโตที่ยั่งยืน”

องค์กรจะเติบโตได้นั้นสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสก็คือ ‘คน’ เพราะไม่ว่ากระบวนการทำงานจะเป็นระบบ มีมาตรฐาน มีเทคโนโลยีหรือโปรแกรมที่ล้ำสมัยเพียงใด หากคนไม่มีคุณภาพ คนไม่เรียนรู้ คนไม่ร่วมมือ การลงทุนด้านระบบและโครงสร้างทั้งหมดก็สูญเปล่า

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ผู้นำที่อยากให้องค์กรเติบโตอาจจะพยายามลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ อยากทำ Digital Transformation พยายามผลักดันให้คนปรับตัวเป็นการทำงานแบบ Agile และต้องสามารถ Remote Working ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่คนไม่ใช่เครื่องจักรที่สั่งงานได้ทันที เราอาจต้องใช้เวลา และใช้ทักษะหลายอย่างในการผลักดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง คำถามคือเราจะพัฒนาเรื่องคนอย่างไร

====

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องการพัฒนาคนให้กับองค์กรมหาชนมากว่า 7 ปี คือหลักการสำคัญทั้งหมด 3 ข้อ 

  1. รู้ว่าใคร คือคนที่ใช่
  2. รู้ว่าจะช่วยให้คนที่ใช่ ทำงานได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร
  3. รู้ว่าจะพัฒนาคนที่ใช่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร

คนที่ใช่ 1 คน สามารถทำงานได้มากกว่าคนทั่วไป 3 คน ฉะนั้นการเลือกคนที่ใช่ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด หากพยายามเคี่ยวเข็ญคนที่ไม่ใช่ คนที่ไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้น นอกจากจะเป็นภาระและสร้างปัญหาให้กับองค์กรแล้ว เรายังเสียโอกาสในการที่จะได้คนที่ใช่มาทำงานด้วย เท่ากับเสียหาย 2 ต่อเลยทีเดียว

กระบวนการคัดเลือกคน บางครั้งเราก็ทำอย่างเร่งรีบจนเกินไป สัมภาษณ์เพียงผิวเผินเกินไป หากคุณสามารถวัด Level of Mindset ของคนทำงานได้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาได้มากมาย 

ระดับของ Mindset จะบ่งบอกว่าคนๆ นี้ควรจะทำงานในตำแหน่งไหน ระดับใด หากคุณให้คนที่มี Mindset มองแค่ตัวเองแบบวันต่อวันไปคุมทีม ทีมย่อมพังอย่างแน่นอน 

====

หากเป็นคนที่มี Mindset ระดับทีมก็จะมองสิ่งต่าง ๆ ระดับเดือนต่อเดือน การจะให้เขาไปทำงานบริหารขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตด้วยการทำงานเชิงกลยุทธ์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ 

ทักษะเรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่ผู้นำต้องเรียนรู้และสะสมให้มากพอ ถ้าคุณอยากให้องค์กรเติบโต  ก็บอกได้เลยว่า Soft Skills สำคัญกว่า Hard Skills อย่างแน่นอน 

(ผมได้รวบรวม 24 ทักษะ Soft Skills ที่สำคัญสำหรับคนทำงาน ไว้ใน eBook เล่มใหม่ “24 Future Soft Skills” คุณสามารถดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี คลิกที่นี่ https://bit.ly/24SoftSkills)

หากต้องการปรึกษาเรื่องการวางระบบในการคัดสรร ประเมินผล และพัฒนาคนในองค์กร โดยใช้หลัก Level of Mindset สามารถส่งอีเมลมาหาผู้ช่วยผมได้ที่ assist@learninghub.1stcraft.com 

====

3.Planet 

“ธุรกิจที่จะเติบโตได้ในวันนี้และอนาคต คือธุรกิจที่ทำเพื่อโลก”  

กระแสรักษ์โลก อาจเป็นแคมเปญทางการตลาดเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและโลกอย่างจริงจัง พวกเขาย่อมคิดมากขึ้นว่าตัวเองกำลังสนับสนุนบริษัทแบบไหนอยู่

ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิคกำลังเป็นเทรนด์ คนมีรายได้สูงหันมาบริโภคสินค้าออร์แกนิคมากขึ้นเพราะปลอดภัยจากสารพิษและช่วยโลกให้ดีขึ้น ในต่างประเทศกระแสการกินแบบ Vegan เติบโตอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่ต่างเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทำให้ Plant Based Food เป็นธุรกิจที่มาแรงในหลายประเทศ

====

การที่สินค้ามีราคาสูงไม่ใช่ปัญหาของคนที่รักและห่วงใยโลก เพราะเขารู้ว่าหากโลกอยู่ไม่ได้ เราทุกคนก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน แบรนด์ที่ใส่ใจโลกสามารถขายสินค้าราคาแพงกว่าแบรนด์คู่แข่งแถมยังเติบโตได้ดีกว่าอีกด้วย 

ในขณะที่ธุรกิจยุคเก่า ยิ่งเติบโตก็ยิ่งเผาผลาญทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษสู่อากาศและทะเลมากขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างหันมาเริ่มธุรกิจและสร้างอุตสาหกรรมจากพลังงานสะอาดที่ช่วยฟื้นฟูโลกในทุกแง่มุม เพราะพวกเขาเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นเก่าทิ้งไว้ให้มากมาย 

ลองดูกรณีของ Tesla ที่มียอดจองรถยนต์ทะลุเป้า จนมีมูลค่าบริษัทเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ ทั้งๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน

อย่าเข้าใจผิดว่า การ Disruption ที่ทำให้ธุรกิจเก่าๆล้มหายตายไป เกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว อันที่จริงแล้วมันเกิดจากการมองเห็นปัญหาหรือ Pain Point ที่ธุรกิจเก่าๆตอบโจทย์ผู้บริโภคไม่ได้ต่างหาก (เช่น น้ำมันราคาสูง และทำลายสิ่งแวดล้อม)

====

ผู้นำจึงต้องคิดค้น Business Model และเฟ้นหากลยุทธ์ในการนำพาธุรกิจของตนเองให้เติบโตได้ในระยะยาว บางครั้งต้องมองไกลไปกว่าชั่วอายุของตัวเองด้วยซ้ำ มิใช่คิดแต่จะหาเงินในระยะสั้น เพราะนั่นเท่ากับว่า เราเริ่มธุรกิจที่มีวันหมดอายุระบุตั้งแต่เริ่มแล้ว 

หากธุรกิจของคุณมีส่วนช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด รับรองได้ว่าคุณจะมีความสุขในทุกๆวันที่ทำงาน และความเจริญรุ่งเรืองจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติ คุณสามารถพิสูจน์แนวคิดนี้โดยการไปดูองค์กรที่อยู่ยั่งยืนมากกว่า 100 ปีเพราะพวกเขาล้วนใช้หลักการนี้ทั้งนั้น 

====

4.Profit

“ผลกำไร ไม่ใช่เพียงตัวเลขทางการเงิน แต่เป็นผลกระทบทางบวกที่ธุรกิจได้สร้างไว้ด้วย” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจคือผลกำไร แต่คงจะเป็นการมองที่แคบไปหากวัดกันที่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว เราสามารถวัดผลกำไรของธุรกิจได้ในหลายมิติ โดยวัดจากผลกระทบทางบวกที่ธุรกิจนั้น ๆ ได้สร้างไว้ เช่น

  • มิติทางเศรษฐกิจ ธุรกิจได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้นมากเพียงใด ธุรกิจของเรามีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร
  • มิติทางสังคม ธุรกิจได้ช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้นในรูปแบบไหนบ้าง เช่น สินค้าของเราลดปัญหาทางสังคมได้หรือไม่ บริการของเราช่วยให้คนบางกลุ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นมากเพียงใด
  • มิติทางการพัฒนา ธุรกิจได้สร้างแนวคิด หรือสร้างอิทธิพลให้ผู้คนหันมาปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นมากแค่ไหน มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วส่งเสียงสะท้อนกลับมาบอกเรามากเพียงใด

====

คุณสามารถสร้างตัวชี้วัดเหล่านี้ได้อีกมากมายหลายรูปแบบ ทั้งมิติที่วัดจากภายนอกและมิติที่วัดจากภายในองค์กรเอง 

ผลกำไรที่วัดจากภายใน เช่น ความสุข คุณภาพชีวิตของพนักงาน การเรียนรู้พัฒนาตัวเองของพนักงาน

การที่คุณสามารถวัดผลกระทบทางบวกในการดำเนินธุรกิจของคุณได้ ผมมั่นใจว่าจะสร้างความสุขและกำลังใจให้กับทีมงานทั่วทั้งองค์กร มากกว่าตัวเลขผลกำไรอย่างแน่นอน 

เพราะตัวเลขผลกำไรจะรับรู้ได้ปีละครั้ง แต่ผลกระทบทางบวกสามารถรับรู้ได้ทุกๆวันที่ทำงาน และเรื่องราวทางบวกนั้นจับต้องได้มากกว่าตัวเลขในบัญชีเสียอีก 

ยังไม่นับเรื่องเล่าดีๆ ที่จะกระจายออกไปสู่สังคม โดยพนักงานของพวกเราเองหรือครอบครัวของพวกเขา ไม่ต้องเสียเงินจ้าง Youtuber หรือ Influencer มาโปรโมทองค์กรของคุณเลย

====

บทสรุป 

บทความนี้นำเสนอหลักการ 4Ps of Future: Purpose, People, Planet และ Profit เพื่อช่วยให้คุณในฐานะผู้นำและผู้บริหารองค์กร นำไปใช้ออกแบบอนาคตของธุรกิจในยุคหลังโควิด หรือยุค Next Normal ให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้คุยกับนักธุรกิจท่านหนึ่งที่ทำงานด้านสื่อ เขาถามว่า ผมมีหลักช่วยเหลือ SME ในยุคโควิดอย่างไร ผมก็ได้แนะนำหลักการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไป 

เขาตอบกลับมาว่า “เรื่องความยั่งยืนไม่สนใจหรอก เอาหลักการที่ว่า ทำยังไงให้พรุ่งนี้รอดก็พอแล้ว ทำยังไงให้พนักงานทำงานมากขึ้น ขยันขึ้น เก่งขึ้น รวดเร็วขึ้น ทั้งที่่มีรายได้น้อยลง มีมั้ย” 

เมื่อจากมา ผมก็ได้แต่คิดในใจว่า คนที่คิดเอาตัวรอดแค่วันต่อวัน มองแต่ตัวเลขอย่างเดียว จะสร้างอนาคตระยะยาวให้ธุรกิจได้อย่างไร และเมื่อผู้นำมองสั้น ก็ทำให้ธุรกิจของเขาอายุสั้นไปด้วย…

ผู้นำหลายคนโฟกัสที่ Profit หรือผลกำไรทางการเงิน โดยไม่ได้สร้าง P อีก 3 ตัวที่สำคัญก่อนหน้าเลย แล้วจะหวังผลให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร เหมือนเราติดกระดุมผิดเม็ดแต่แรก ไม่มีทางที่จะสำเร็จเลย

====

หากคุณอ่านบทความนี้จบแล้วก็ผ่านเลยไปโดยไม่นำไปคิดปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ในที่สุดธุรกิจของคุณก็จะถูกเปลี่ยนอยู่ดี 

แทนที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องการ ไม่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งตัว จะดีกว่าไหมถ้าเรามาออกแบบอนาคตเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการ

สุดท้าย ผมขอยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่าหลักการ 4Ps นี้ ‘ทำได้จริง’  ไม่ใช่แค่แนวคิดสวยหรู เพราะได้ใช้มาตั้งแต่เริ่มโดยไม่ตั้งใจ และไม่ว่าจะเป็น SME หรือ บริษัทมหาชนก็ใช้หลักการนี้ได้ ลองนำไปปรึกษากันในทีมผู้บริหาร และเริ่มออกแบบอนาคตของธุรกิจกันดูนะครับ 

====

ถ้าคุณต้องการฝึก Mindset และ Skill ในการเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกดูรายละเอียดที่นี่

เขียนโดย CEO เรือรบ ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

ผู้นำยุคใหม่ฝึกจิตใจเพื่อสร้างทีม

มีอยู่หลายเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ในโลกการทำงานยุคปัจจุบัน

หนึ่งในเรื่องดังกล่าวก็คือการที่ผู้นำจะต้องทำให้คนในทีมทำงานได้อย่าง รวดเร็วพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย

งานยุคใหม่ทั้งซับซ้อนและหนักหนาสาหัสซึ่งก็มักจะทำให้คนทำงานอยู่ในสภาพที่ล่องลอยเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสภาวะที่คนมักทำอะไรไปวันต่อวันด้วยตามความเคยชิน

การปล่อยให้ตัวเองอยู่ในสภาพนั้น ทำให้‘ความคิดสร้างสรรค์’ ค่อย ๆ มลายหายไปทีละน้อย ซึ่งถ้าผู้นำจะให้คนทำงานโฟกัสไปที่งานทีละชิ้นโดยมีเป้าหมายให้พวกเขาเกิดไอเดียแปลกใหม่สุด ๆ ต่องานแต่ละชิ้น ก็คงไม่มีเวลามากพอจะทำอย่างนั้นได้

แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ

====

เชื่อหรือไม่ ‘การฝึกจิตใจ’ ช่วยทีมของคุณได้

ผลการวิจัยที่ได้จากการทดลองล่าสุดสรุปว่ากลุ่มที่เข้ารับการฝึกจิตใจสามารถทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงเวลาจำกัดได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ฝึก

ข้อสรุปจากผลการวิจัยนี้คือ การฝึกจิตใจทำให้ภายในทีมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น แถมยังมีความคิดที่ยืดหยุ่นกว่า มองเห็นภาพรวมดีกว่า ไปจนถึงสามารถแก้ปัญหาจากภายในได้ดีกว่าอีกด้วย

การฝึกจิตใจในรูปแบบที่เรียกว่า Mindfulness ต้องอาศัยเวลาและความตั้งใจ รวมถึงเรียนรู้แบบนามธรรม ซึ่งถ้าหากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดอะไรได้ด้วยสายตาแปลกใหม่ ไม่ติดอยู่ในวังวนการทำงานซ้ำซากอีกต่อไป

แน่นอนว่าการฝึกจิตใจส่งผลดีต่อการทำงานเป็นทีม และควรค่าที่จะให้องค์กรต่าง ๆ พิจารณาเพื่อนำไปใส่ไว้ในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรด้วย

กระทั่งองค์กรอย่าง google  ก็ยังสร้างโปรแกรมฝึกพนักงานให้มีความฉลาดทางปัญหาและสุขภาวะที่ดีจากการฝึกจิตใจ และนี่คือสิ่งที่เราสกัดมาจากแนวทางของกูเกิ้ลเผื่อว่าคุณจะลองนำไปปรับใช้กับองค์กรของคุณดูนะครับ

====

เชื่อมโยงการฝึกจิตใจเข้ากับค่านิยมองค์กร

มองหาว่าอะไรคือค่านิยมร่วมขององค์กร แล้วเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการฝีกจิตใจ เช่น ถ้าองค์กรของคุณมีค่านิยม ‘โอบกอดและขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง’ คุณก็อาจจะนำเอา Keyword ‘ความเปลี่ยนแปลง’ มาใช้ โดยชูธงว่าการฝึกจิตใจในโปรแกรมนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนที่ดีนั่นเอง

=====

สร้างโปรแกรมการฝึกขององค์กร

ออกแบบการฝึกฝนเพื่อให้พนักงานสามารถนำการฝึกจิตใจมาใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ เช่น ลองถามพนักงานของคุณว่านิสัยแบบใดที่ส่งผลให้เกิดการมองเห็นสิ่งใหม่

ถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำงานอย่างสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ และพวกเขามีวิธีทำให้เกิดขึ้นในที่ทำงานได้อย่างไร จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบวิธีการฝึกจิตใจ

สอดแทรกโปรแกรมฝึกอบรมในองค์กร
เมื่อมีการฝึกฝนอบรมอื่น ๆ ขององค์กร ลองนำการฝึกจิตใจใส่เข้าไปในการฝึกอบรมด้วย

=====

ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดี

ลองทำให้พนักงานมีเวลาที่จะฝึกจิตใจได้เสมอ เช่น แนะนำให้พวกเขาทำอะไรช้าลง, แนะนำให้พวกเขามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีการแบบใหม่

ในตอนก่อนจะเริ่มการประชุมต่าง ๆ ก็ให้พนักงานลองหายใจเข้าออกลึกๆ ลืมเรื่องกังวลภายนอกห้องประชุมออกไปให้หมด วิธีการเหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาทางจิตใจที่ดีมาก

=====

หาทรัพยากรสนับสนุน

ทำได้โดยการจัดหาสิ่งที่พนักงานสามารถเดินเข้ามาใช้งานเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตใจของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็น คอร์สสัมมนาออนไลน์ อุปกรณ์ช่วยทำสมาธิ การสร้างคอร์สเรียนรู้ระหว่างกินข้าวเที่ยง คอลเล็คชั่นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณทำได้ และจะพาให้ทีมของคุณข้ามผ่านการทำงานที่เร่งรีบและสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันได้แน่นอน

อีกหนึ่งรูปแบบการฝึกจิตใจก็คือการฝึกมีสติรู้ตัวในทุก ๆ เรื่องที่ทำ หรือการมี Self – Awareness อ่าน วิธีฝึก Self – Awareness แบบ Step by Step ได้ที่นี่

====

การฝึกบริหารจัดการอารมณ์เพื่อไม่ให้การทำงานและการสร้างทีมพังเป็นหนึ่งวิธีการที่ควรทำควบคู่กับการฝึกจิตใจ เราขอแนะนำหลักสูตร Emotion Intelligence เพื่อให้คุณเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ดูรายละเอียดที่นี่

เรียบเรียงจาก “How to Use Mindfulness to Increase Your Team’s Creativity” โดย Ellen Keithline Byrne and Tojo Thatchenkeryจาก Harvard Business Review 12 กรกฎาคม 2018

เรียบเรียงโดย  Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 วิธีให้คนประทับใจตั้งแต่แรกพบ

5 วิธีให้คนประทับใจตั้งแต่แรกพบ

ไม่ว่าจะเรื่องงาน หรือในเรื่องความสัมพันธ์ คนส่วนใหญ่ย่อมอยากเป็นที่จดจำในทางที่ดีหรืออยากให้คนประทับใจเสมอ

ข่าวดีก็คือ คุณสามารถเป็นคนที่แตกต่างและโดดเด่นจากคนทั้งโลกได้ เพียงใช้ทริกง่ายๆ ที่คุณทำได้ทันทีที่อ่านจบ ดังต่อไปนี้

====

1.ทำตัวให้มีออร่าน่าจับตามอง 

          เริ่มจากการที่คุณต้องมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองที่ชัดเจนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว การใช้คำพูด การเดินที่ดูสง่างาม อ้อ! การทำตัวให้มีออร่าในที่นี้ไม่ใช่ให้แต่งตัวแปลกแยกจนสุดโต่ง หรือทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร

ออร่า หมายความว่า ในทุกๆ กิจกรรมชีวิตของคุณ จะต้องดูเป็นตัวของตัวเอง คงไว้ซึ่งความงามสง่า จนผู้คนละสายตาจากคุณไม่ได้ แล้วจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากคุณ ที่ทำให้คนเห็นแล้วคิดถึงคุณหรือธุรกิจของคุณได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยชื่อเลยทีเดียว

====

2.ฉายแสงแห่งภาวะผู้นำ

          คนมักจะจดจำผู้นำได้เสมอ คุณจึงต้องสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นภายในตัวคุณ ภาวะผู้นำในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องเป็นหัวหน้าจึงจะมีภาวะผู้นำเท่านั้นนะ เพราะบางคนเป็นหัวหน้าแต่ไม่กล้าตัดสินใจ ถามความเห็นลูกน้อง ให้ลูกน้องตัดสินใจให้ตลอดก็มี

ถ้าตอนนี้ถ้าคุณรู้ตัวว่าไม่มีภาวะผู้นำ คุณสามารถหาที่เล่าเรียนและฝึกฝนได้ง่ายมาก แล้วคุณจะรู้ว่าการมีภาวะผู้นำช่วยสร้างการจดจำได้มากขนาดไหน

====

3.มีน้ำใจ แม้อีกฝ่ายยังไม่เอ่ยปากขอก็ตาม 

ลองเริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ คุณก็สามารถสร้างความประทับใจได้แล้ว เช่น คุณนั่งอยู่ในรถไฟฟ้าแล้วเห็นคนหิ้วของพะรุงพะรังขึ้นมา  คุณสามารถลุกให้เขานั่งได้ หรือถ้าเขาไม่นั่งก็ช่วยถือของให้ เขาก็ประทับใจแล้ว

หรือแม้กระทั่งพาคนแก่หรือคนพิการข้ามถนน คนที่เห็นคุณทำแบบนี้จะต้องประทับใจอย่างแน่นอน แต่อย่าทำเพราะหวังสร้างภาพเด็ดขาด ให้ทำเพราะอยากทำจากใจจริง  เพราะนี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่นับวันจะห่างหายไปจากสังคมของเราเต็มทีแล้ว

====

4.พูดจาด้วยเสียงฉะฉานแต่ไม่แข็งกร้าว

          การพบใครสักคนเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า ลูกค้า หรือใครก็ตามที่คุณเพิ่งเจอนั้น การพูดที่ดูฉะฉาน จะทำให้คุณดูฉลาด และมีเสน่ห์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณต้องควบคุมน้ำเสียงให้ดี เพราะบางครั้งมันอาจทำให้คุณดูแข็งกร้าวจนคนฟังไม่พอใจได้เลย

====

5.สื่อสารด้วยสายตา ที่มาของความประทับใจ

          คุณเคยเห็นคนที่ยิ้มแต่ปาก แต่ดวงตาไม่ได้ยิ้มตามไหมหรือคนที่คุยกับเราแต่ตาของเขามองไปที่อื่น  เวลาเจอคนแบบนั้นช่างไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลยใช่ไหม ฉะนั้นถ้าหากคุณอยากทำให้ใครสักคนประทับใจตั้งแต่แรกแล้วล่ะก็ สิ่งที่คุณต้องทำคือ มองตาเขาในขณะที่คุณพูดกับเขา หรือฟังเขา

การมองตาต้องมองอย่างสุภาพ ไม่ใช่จ้องจนคู่สนทนารู้สึกอึดอัด ให้มองด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังใส่ใจในสิ่งที่เขาพูด และตั้งใจพูดในสิ่งที่เราจะบอกเขานั่นเอง 

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ทำให้คุณกลายเป็นคนที่คู่สนทนาประทับใจมากขึ้นก็คือทักษะการฟังอย่างใส่ใจ หรือ active listening ซึ่งคุณสามารถศึกษาและฝึกฝนได้ที่นี่

คุณอยากเป็นบุคคลที่น่าจดจำ หรือจะเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไป คุณเลือกได้เสมอครับ

====

หนึ่งในทักษะที่ช่วยให้คนเชื่อมั่นและประทับใจคือทักษะการโน้มน้าวใจ ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Win-win Negotiation เพื่อให้คุณมีทักษะในการเจรจาต่อรองอย่างมีประสิทธิภาพ คลิกที่นี่

เรียบเรียงโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

สุดยอดเทคนิคเพิ่มพลังการโน้มน้าวให้จนทุกคนเชื่อมั่น

สุดยอดเทคนิคเพิ่มพลังการโน้มน้าวใจให้ทุกคนเชื่อมั่น

การจะสร้างองค์กรที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพได้  คุณจำเป็นต้องมีทักษะการโน้มน้าวใจคน ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนอย่างจริงจัง  

ต่อให้มีตำแหน่งที่สูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะโน้มน้าวใจคนอื่นได้เสมอไป ในขณะที่บางคนไม่ได้มีตำแหน่งอะไรเลยแต่จับพลัดจับผลูต้องมานำทีมแบบไม่เป็นทางการ  คนเหล่านี้จึงต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรที่จะให้คนอื่นยินดีรับฟังและนำสิ่งที่เขาบอกไปปฏิบัติตาม

====

การจะโน้มน้าวใจคนอื่นได้สำเร็จมีเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่การทำให้คนอื่นรู้สึกว่าพวกเขาอยากจะฟังคุณ  นั่นหมายความว่าคุณจะต้องเป็นคนที่ดูมีคุณค่าจนน่ารับฟังซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากมากในยุคนี้ เพราะทุกคนมีสื่อมากมายรายล้อมที่พวกเขาติดตาม

อีกทั้งสังคมยังมีบรรยากาศแห่งความเร่งรีบ มีแหล่งข้อมูลให้เสพบริโภคเต็มไปหมด  การที่จะทำให้คนอื่นยินดีรับการจูงใจจากคุณจำเป็นต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง ดังนี้

====

เริ่มต้นจากการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี 

ถ้าเขาชอบคุณ เขาก็อยากจะฟังคุณ นี่คือโอกาสที่จะชักจูงให้พวกเขาคล้อยตามได้ การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นถือเป็นก้าวแรกที่ดีที่สุด ผู้คนในทีมจะเริ่มลดการ์ดลงจนมองเห็นความตั้งใจและพลังงานที่คุณอยากจะส่งไปหาพวกเขาได้

====

ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี 

คนทุกคนล้วนต้องการมีตัวตน และอยากเป็นคนสำคัญ หากคุณอยากจะชักจูงใครสักคน คนๆ นั้นจะต้องอยากรับฟังคุณด้วยความเต็มใจ การทำให้เขารับรู้ได้ว่าคุณเป็นฝ่ายเริ่มรับฟังเขาก่อน ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาอยากจะพูดก่อน  เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อีกฝ่ายอยากจะให้ความสำคัญแก่คุณกลับมา ซึ่งสิ่งแรกสุดที่เขาจะทำตอบแทนคุณก็คือการรับฟังเช่นเดียวกัน

 
หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพคือการฟังอย่างใส่ใจ หรือ active listening ซึ่งคุณสามารถศึกษาและฝึกฝนได้ที่นี่

====

มีภาษากายที่เหมาะสม 

จัดวางบุคลิกท่าทางให้ดูน่าเชื่อถือและเหมาะสม  ไม่กอดอกปกป้องตัวเอง ขณะพูดและฟัง จัดวางท่วงท่าแขนขาให้อีกฝ่ายเห็นถึงความมั่นคงแน่วแน่ วิธีการพูดที่มั่นคงจริงจังไม่อ่อนแอทำให้อีกฝ่ายอยากจะรับฟังด้วยความสบายใจไปพร้อม ๆ กับการรู้สึกถึงพลังอำนาจที่สะกดให้พวกเขาคล้อยตาม ทั้งหมดนี้นับเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณต้องฝึกฝน

====

ทำให้คนอื่นเห็นว่าคุณชำนาญเรื่องที่จะพูดจริงๆ

 วิธีการคือการเอาตัวคุณและชื่อของคุณไปผูกติดกับเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นในงานสัมมนาวิชาชีพ การเข้าร่วมโปรแกรมอบรมต่างๆ หรือมีบทบาทเป็นผู้นำสักอย่างในด้านนั้นๆ วิธีการเหล่านี้จะทำให้คนในสังคมรับรู้ถึงการมีตัวตนในด้านดังกล่าว ทำให้ใคร ๆ ก็พร้อมที่จะเปิดอกรับฟังคุณ

====

วางกลยุทธ์อย่างเหมาะสม

 เมื่ออยากจะชักจูงให้คนคล้อยตามไอเดียใหม่ ๆ คุณจะต้องกางแผนออกมาดูแล้วปักหมุดว่าใครอยู่ตำแหน่งไหน ระดับใด มองให้ออกว่าจะพุ่งเข้าไปชักจูงคนนั้นด้วยวิธีการไหน จะใช้ใครเป็นผู้นำทางความคิดของเขาได้ไหม มองหาว่าใครอาจจะเป็นภัยคุกคามในแผนการนี้ และถ้าสามารถทำให้คนนั้นกลายมาเป็นพันธมิตรได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

====

ให้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ 

การรู้เขารู้เราย่อมทำให้เรามีชัยชนะทุกครั้ง กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าหากหาได้ว่าสิ่งที่คนเหล่านี้อยากได้คืออะไร คุณจะสามารถใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจได้ง่ายขึ้น ทุกคนมักจะคิดอยู่เสมอว่าถ้าหากตัดสินใจตามที่คุณนำเสนอพวกเขาจะได้อะไรกลับไป ถ้าหากผลลัพธ์มันตรงกับภายในใจล่ะก็ คุณย่อมจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน 

ทั้งหมดนี้คือวิธีการจูงใจให้คนคล้อยตาม จงอย่าลืมว่า ทุกสิ่งควรจะเป็นไปในทางบวก สร้างคุณค่ามูลค่า มากกว่าจะเป็นการขู่เข็ญคุกคาม 

ทักษะการโน้มน้าวใจผู้อื่นและการเจรจาต่อรองเป็นทักษะที่จะทำให้คุณเป็นต่อในการทำงาน เราขอแนะนำหลักสูตร Persuasion and Negotiation Mastery เพื่อฝึกฝนเทคนิคการโน้มน้าวใจและการเจรจาต่อรองสำหรับหัวหน้างาน คลิกที่นี่ 
===== 

เรียบเรียงจาก “How to Increase Your Influence at Work” โดย Rebecca Knight จาก Harvard Business Review 16 กุมภาพันธ์ 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

5 บทบาทของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนให้ทันยุค

บางทีก็แอบคิดเล่น ๆ ไม่ได้นะว่าถ้าสามารถไล่ผู้จัดการที่ล้าสมัยออกจากบริษัทได้ ก็น่าจะช่วยบริษัทประหยัดงบประมาณไปได้เยอะเลย

คุณทราบไหมว่าบริษัทต้องสูญเม็ดเงินไปจำนวนมากกับการจ้างคนมานั่งเฝ้าคนอื่นทำงานไปวัน ๆ และเอาเข้าจริงเราไม่ได้ต้องการผู้จัดการแบบนั้นหรอก!

เมื่อโลกธุรกิจมีความท้าทายมากขึ้นในทุก ๆ วัน ‘ผู้จัดการ’ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการบริหารคนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยในอัตราที่มากกว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนบทบาททั้ง 5 ต่อไปนี้

====

1. เปลี่ยน ‘การสั่ง’ เป็น ‘การสอน’

สำหรับการทำงานในโรงงานได้มีการเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและตัดปัญหาความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หุ่นยนต์ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI.) เหล่านี้ล้วนไม่ได้ต้องการให้ใครมาสั่งงานเลย

ผู้จัดการที่ต้องควบคุมดูแลหุ่นยนต์ต้องปรับวิธีการบริหารใหม่ แทนที่จะปล่อยให้หุ่นยนต์ทำงานตามออเดอร์ไปวันๆ ควรทำความเข้าใจหลักการการใช้แรงงานจากหุ่นยนต์ คอยสังเกตและมองหาวิธีในการที่จะใช้ประโยชน์จากพวกมันให้ได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด

เมื่อรวบรวมความรู้ในการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้แล้ว คุณจะสามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับบรรดาคนที่ต้องร่วมงานกับหุ่นยนต์ได้ต่อไป
====

2. มองจาก ‘แคบ’ ให้เป็น ‘กว้าง’

ผู้จัดการจำนวนมากยุ่งกับลูกน้องตัวเล็ก ๆ มากเกินไป ไม่ยอมปล่อยให้หัวหน้าโดยตรงของคนเหล่านั้นบริหารจัดการเอง และนั่นก็ทำให้พวกเขาเข้าไปจำกัดความคิดของลูกน้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ไอเดียใหม่ๆ ถูกสกัดอย่างน่าเสียดายด้วย

ผู้จัดการควรกระตุ้นให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและมีโอกาสในการแสดงไอเดียที่แตกต่างโดยไม่พยายามไปควบคุมความคิดมากเกินไป

ผู้จัดการหลายคนเข้าใจว่าตัวเองเก่งและ ‘เอาอยู่’ ในทุกสถานการณ์จึงหลงคิดว่าไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร แต่กลายเป็นว่าผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพคือผู้จัดการที่สามารถรวมทีมจากหลายแผนกเพื่อร่วมกันมองหาข้อผิดพลาดและแนวทางแก้ไขจากหลากหลายมุมมองได้

แนวทางนี้จะช่วยทำให้มองเห็นภาพได้กว้างมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ดีกว่าการนั่งคิดเองคนเดียวเป็นไหน ๆ
====

3. ก้าวออกจาก ‘วังวนซ้ำซาก’

ผู้จัดการยุคเก่ามักจะชอบอะไรที่คาดเดาได้และเป็นแบบแผน ทุกอย่างต้องอยู่ในระเบียบอย่างที่เคยเป็นมาและคาดหวังให้เป็นแบบนั้นตลอดไป

ถึงแม้การปล่อยให้อะไร ๆ ที่เข้าที่อยู่แล้วเป็นแบบนั้นต่อไปจะเป็นเรื่องดี แต่ก็อาจทำให้ความคิดหยุดนิ่ง ผู้จัดการเองก็จะสนใจเฉพาะสิ่งที่ตัวเองรู้และเข้าใจแล้วเท่านั้น

องค์กรต้องการผู้จัดการที่รู้จักคิดใหม่ทำใหม่ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่บริษัทกำลังจะเจ๊ง แต่ในช่วงที่บริษัทกำลังประสบความสำเร็จมาก ๆ ก็ต้องการเช่นกัน
====

4. เลิกแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว

ผู้จัดการส่วนใหญ่สารภาพว่างานหลักของพวกเขาคือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งนั่นไม่ควรเป็นหน้าที่หลักเลยสักนิด

ผู้จัดการควรใช้เวลาในการค้นหาวิธีบริหารจัดการใหม่ ๆ ที่ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดปัญหาให้น้อยที่สุด ตลอดจนสนับสนุนให้ลูกน้องมีส่วนร่วมในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทายด้วย
====

5. คิดให้เหมือนเจ้าของบริษัท

หลายคนมองว่าการทำงานบริษัทก็คือการเป็นลูกจ้างเท่านั้น และนั่นก็ทำให้ผู้จัดการหลายคนโฟกัสกับการเอาใจหัวหน้าเพื่อความอยู่รอดจนไม่สนใจอะไรอื่นเลย

ความคิดของผู้จัดการกลุ่มนี้จึงมักจะวนเวียนอยู่แต่กับความต้องการของหัวหน้าและติดอยู่ในกรอบ การคิดให้เหมือนเจ้าของบริษัทจะช่วยให้ผู้จัดการมองภาพต่าง ๆ ได้กว้างมากขึ้นและและลงมือทำอะไรได้มากขึ้น ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นภายในตัวเองและในตัวลูกน้องด้วย

เราเชื่อว่าไอเดียทั้งห้านี้จะทำให้ภาพของผู้จัดการไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แน่นอนว่าเมื่อผู้จัดการเปลี่ยน องค์กรก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเหมือนจรวดเลยทีเดียว

ถ้าคุณคือผู้จัดการมือใหม่ เราขอแนะนำให้อ่าน ก้าวแรกสู่การเป็นผู้จัดการ เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะของผู้จัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่นี่
====

หนึ่งในบทบาทสำคัญของผู้จัดการที่ต้องเปลี่ยนไปก็คือ ผู้จัดการที่เป็นโค้ช คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการโค้ชและให้ feedback ได้ในหลักสูตร High Impact Coaching and Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “The Role of a Manager Has to Change in 5 Key Ways” โดย Joseph Pistrui and Dimo Dimov จาก Harvard Business Review 26 ตุลาคม 2018

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

4 ขั้นตอนการให้ Feedback ที่ช่วยให้ลูกน้องพัฒนาและรักเรามากขึ้น

4 ขั้นตอนการให้ Feedback ที่ช่วยให้ลูกน้องพัฒนาและรักเรามากขึ้น

“อาจารย์คะ ดิฉันให้ Feedback เพราะอยากให้ลูกน้องปรับปรุงตัวเอง แต่กลายเป็นว่าเขาไม่พอใจและยิ่งไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองใหญ่เลย ทำอย่างไรดีคะ”

        นี่คือหนึ่งในคำถามยอดฮิตที่ผมได้รับจากบรรดาหัวหน้างาน ผู้จัดการที่ต้องดูแลคนในทีมให้ทำผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

        และเพราะอยากปรับปรุง พัฒนาผลงาน รวมทั้งพัฒนาบุคคลให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนี่เอง การ Feedback จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ

===

        Feedback ถ้าจะแปลความหมายแบบตรงตัวก็คือ ‘การให้ข้อมูลป้อนกลับ’ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาการทำงานในครั้งต่อไปได้

        แต่การให้ Feedback ไม่ใช่สิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้โดยปกติวิสัย เพราะนี่คือศาสตร์และศิลป์รูปแบบหนึ่งที่ประกอบไปด้วยทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ การสร้างความไว้วางใจ การทำให้คนเปิดใจรับฟัง ฯลฯ

        เพราะถ้า Feedback ไม่ดี หรือ ไม่มีคุณภาพนั้น เพียงแค่พูดออกไปไม่กี่คำ คนฟังก็อาจจะเกิดอาการ ‘หูดับ’ ไม่รับฟังสิ่งที่เราต้องการสื่อ เขาอาจจะคิดแก้ตัวอยู่ในใจหรือถึงขั้นพูดสวนออกมาเลยด้วยซ้ำ

===

        จากการทำงานเป็นผู้จัดการและหัวหน้าฝ่าย HR ที่ต้องดูแลลูกน้องจำนวนมากมานานหลายปี ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาเรื่องการให้ Feedback ที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้เสียทั้งงาน เสียทั้งเวลา และเสียทั้งความสัมพันธ์

        แต่หลังจากที่ผมตั้งใจเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการให้ Feedback นำไปใช้จริงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำเอาประสบการณ์ทั้งหมดไปแลกเปลี่ยนกับบรรดาหัวหน้าและผู้จัดการของบริษัทใหญ่ ๆ ในตอนที่จัดอบรมหลักสูตร Coaching and Feedback ทำให้ผมพบเทคนิคในการให้ Feedback อย่างมีประสิทธิภาพที่จะช่วยปรับปรุงวิธีการให้ Feedback ของคุณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างแน่นอน

===

        ต่อไปนี้คือ 4 ขั้นตอนในการให้ Feedback อย่างมีประสิทธิภาพที่ช่วยให้ลูกน้องพัฒนาตัวเองด้วยความเต็มใจ นอกจากนั้นพวกเขายังจะยิ่งรักคุณมากขึ้นอีกด้วย

1. เริ่มด้วยจุดแข็ง หรือ จุดดี

ต่อให้เป็นคนที่ทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ได้เรื่องอย่างไรก็ต้องมีบางสิ่งที่เขาทำได้ดี แต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มักมองข้ามสิ่งดีดีแล้วไปโฟกัสที่จุดแย่หรือสิ่งที่เขาทำไม่ดีเท่านั้น

ซึ่งการเปิดบทสนทนาด้วยเรื่องที่เขาทำผิดหรือทำไม่ดีจะยิ่งทำให้เขาไม่อยากรับฟังต่อ ฉะนั้นครั้งต่อไปที่จะ Feedback ให้ถามตัวเองว่าคน ๆ นี้ทำอะไรที่เป็นข้อดีหรือมีอะไรที่เป็นจุดแข็งสำหรับเรื่องนี้บ้าง

อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เขาละเอียด รอบคอบ เขามีความคิดสร้างสรรค์ หรือ มีความพยายาม เป็นต้น เชื่อเถอะว่าถ้าตั้งใจมองดูดีดีคุณจะพบสิ่งดีดีได้แน่นอน

===

2. เน้นที่ความคิด

ขั้นต่อมาคือการที่เราจะพาเขามาสู่เรื่องที่เราอยากให้เขาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือ พัฒนา ซึ่งจะต้องระมัดระวังการพุ่งโจมตีไปที่ ‘ตัวตน’ ของเขา เช่น คุณนี่เป็นคนที่ไม่มีหัวคิดเอาเสียเลยนะ” หรือ “เพราะเธอเป็นคนแบบนี้ไง งานจึงออกมาแบบนี้” ประโยคเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าอยากให้เขาปรับตรงไหนแถมยังโจมตีไปที่ตัวตนของเขาอีกด้วย

วิธีแก้ง่าย ๆ คือ ให้พูดถึงวิธีคิด หรือ พฤติกรรมที่เขาทำให้เฉพาะเจาะจงไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของเขา เช่น “ไอเดียนี้อาจจะยังไม่เหมาะกับสถานการณ์นี้ ขอให้คุณกลับไปคิดมาใหม่อีกครั้งได้ไหมครับ”

===

3. สะกิดให้พัฒนา

ขั้นที่สามคือการใช้คำถามที่มีพลังเพื่อช่วยให้เขาใช้ศักยภาพของเขาในการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งที่ทำ คุณสามารถใช้คำถามในการสะกิดหรือกระตุกเขาซึ่งอาจจะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับบริบทนั้น ๆ ด้วย เช่น “งานที่เธอทำมาดูน่าสนใจเลยทีเดียว ทีนี้ถ้าจะทำให้มันดีขึ้นกว่านี้อีก เธอจะปรับอะไร ตรงไหนบ้าง”

นี่คือคำถามที่ลูกน้องหลายคนของเราต้องการ โดยเฉพาะคนเก่ง ๆ เพราะเขาอยากพัฒนาการทำงานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  การที่หัวหน้าบรรจงมอบคำถามที่ทรงพลังให้แก่เขาในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือหัวเชื้ออย่างดีของการพัฒนา

===

4.ให้เวลารับฟัง

ขั้นตอนสุดท้ายคือสิ่งที่หัวหน้าหลายคนละเลย นั่นคือการให้เวลาคุณภาพในการรับฟังสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกน้องต้องการพูด ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถามที่เราถามไป หรือการถามคำถามบางอย่างกลับมา

คุณสามารถช่วยให้ลูกน้องพูดมากขึ้นด้วยการถามคำถามง่าย ๆ เช่น “มีอะไรอยากบอกกับพี่บ้างไหม” หรือ “เธอคิดเห็นอย่างไรกับสิ่งที่พี่ Feedback ไป” จากนั้นให้ใส่ใจรับฟังเขาอย่างเต็มที่โดยไม่พูดแทรก พูดขัด จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกน้องพัฒนาขึ้นไปอีกระดับอย่างแน่นอน

การให้ Feedback คือ ทักษะที่ควรทำควบคู่ไปกับการ Coaching ศึกษาวิธีการ โค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่ คลิก ที่นี่

===

        การ Feedback คือ ทักษะสำคัญที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้ ถ้าสนใจเรียนรู้และฝึกฝนทักษะนี้แบบลงลึก ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching & Positive Feedback  ที่จะช่วยติดอาวุธให้กับการเป็นหัวหน้างานและผู้จัดการของคุณด้วยทักษะการโค้ชและให้ Feedback คลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่

บทความโดย

อ.อรรณพ นิยมเดชา

วิทยากร และนักจิตวิทยาองค์กรผู้ใช้แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อปลุกศักยภาพคนทำงานให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนและสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

โค้ชอย่างไรที่จะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่

โค้ชอย่างไรถึงจะเพิ่มศักยภาพได้อย่างเต็มที่

หลายคนอาจจะคิดว่า การโค้ชเพื่อให้เกิดศักยภาพสูงสุด หมายถึงการโค้ชคนที่มีทักษะความสามารถที่สูงอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด

การโค้ชเพื่อศักยภาพระดับสูงอาจทำกับคนที่มีทักษะระดับสูงอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน เราสามารถโค้ชทุกคนเพื่อที่จะบรรลุศักยภาพระดับสูงของตัวเขาเองได้ นั่นหมายถึงเราสามารถโค้ชใครก็ได้ในองค์กร ทั้งหัวหน้า ผู้จัดการ หรือลูกน้อง เพื่อรีดศักยภาพของเขาให้ทำผลงานออกมาเต็มศักยภาพ

ทักษะการโค้ชนี้หยิบยืมมาจากวงการกีฬาและการทหาร ซึ่งมุ่งมั่นผลักดันศักยภาพของคนในทีมให้ไปสู่ระดับสูงสุด โดยการโค้ชจะเริ่มจากการหาจุดตั้งต้น เช่น วิสัยทัศน์ หรือความปรารถนาในชีวิตก่อน แล้วค่อยหาทิศทางที่จะพาคนนั้นไปสู่เป้าหมายดังกล่าวให้ได้

===

ใช้การโค้ชเมื่อไหร่ดี?

วิธีการ High-Performance Coaching จะช่วยให้คนสำรวจแรงกระตุ้นภายในตัวเอง และเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ การโค้ชแบบนี้จึงเป็นทั้งการสนับสนุนและความท้าทายในเวลาเดียวกัน ซึ่งมักจะใช้กับเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้…

การวางแผนในระยะยาวตลอดอาชีพ / ชีวิต

บางคนอาจจะไม่ชอบวางแผนชีวิต แต่แท้จริงแล้วมีหลักฐานว่าคนที่วางแผนชีวิตนั้นจะประสบความสำเร็จในระยะยาวมากกว่าคนที่ไม่ได้วางแผน

การนำทางไปสู่จุดเปลี่ยนในอาชีพ

เช่น หาทางก้าวจากคนทำงานระดับธรรมดาไปสู่ระดับผู้จัดการ หรือระดับผู้จัดการไปสู่ผู้นำองค์กร โค้ชที่เก่งจะนำเสนอหนทางที่ชัดเจนและแรงบันดาลใจที่ดี เพื่อนำทางให้คนเดินไปสู่จุดเปลี่ยนของเขาได้สำเร็จ

การสร้างการเปลี่ยนแปลงในการทำงานหรือสร้างพฤติกรรมแห่งความสำเร็จ

เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือฉุดรั้งความสำเร็จ ให้กลายเป็นการสร้างทักษะที่ดีอันเป็นพื้นฐานสำคัญสู่เป้าหมายระยะยาว

การเยียวยาปัญหาชีวิต

โค้ชที่รีดเค้นศักยภาพสูงสุดจะช่วยซ่อมแซมธุรกิจหรือปัญหาชีวิตแก่ผู้คน ทำให้ชีวิตกลับสู่ความสมดุล หรือเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ เช่น ภาวะหมดพลังในการทำงาน ได้ดีขึ้น
===

เครื่องมือและทักษะที่คนที่ต้องการโค้ชควรจะมี ได้แก่

  • เคารพผู้รับการโค้ชในฐานะคนคนหนึ่ง
  • เคารพทักษะของผู้รับการโค้ชและเป้าหมายในชีวิต
  • จริงใจในการให้ feedback ที่มีระบบและท้าทายมากพอ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ผู้รับการโค้ชต้องการ
  • ระวัง Ego ของตัวเอง ไม่สร้างประเด็นที่มีวาระแฝงซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของผู้รับการโค้ช
  • เลือกใช้เครื่องมือที่ตัวเองถนัด เพื่อให้ผู้รับการโค้ชได้พบตัวตน อาจจะลองใช้ GROW Model (โมเดลการโค้ชแบบสากล) มาช่วยได้
  • สิ่งที่ต้องระวังคือ Emotional Interference หรือการแทรกแซงทางอารมณ์ของตัวเราเอง

===

หลักการนี้ มาจากสูตรที่เรียบง่ายคือ

Performance = Potential – Interference

ผลงานที่ดีจะมาจากศักยภาพที่ถูกรบกวนน้อยที่สุด แน่นอนว่ามนุษย์มักจะถูกรบกวนแทรกแซงทางอารมณ์เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความกลัว ความรู้สึกผิด และความกังวล

ความกลัว ถือเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุด การกลัวบางเรื่องมาจากข้อเท็จจริงเบื้องหน้า แต่บางครั้งเป็นสิ่งที่คิดไปเอง จิตใจคนเราจะสร้างแง่มุมลบขึ้นมาเพื่อทำให้ชีวิตปลอดภัย แต่ข้อเสียคือ มันจะทำให้เราไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ และขัดขวางไม่ให้เราเติมเต็มในชีวิต(Fulfillment)

การค้นหาและขจัดความกลัวอาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่มีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะเราอาจจะพบจุดอ่อนสำคัญที่รั้งชีวิตมาโดยตลอด

ความรู้สึกผิด อารมณ์ที่ทำให้สมดุลของชีวิตและการงานเสียไป คนที่ทำงานหนักกว่าคนอื่นอาจจะมีที่มาจากการรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสำเร็จมากพอ จนเขาเลือกเพิ่มชั่วโมงการทำงาน แต่ผลลัพธ์คือการทำลายสมดุลของชีวิตไป

ความกังวล บางคนกังวลกับทุกสิ่ง รวมไปถึงกังวลว่าตนเองจะกังวล สิ่งนี้จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจตามมา เช่น นอนไม่เต็มอิ่ม เกิดพฤติกรรมการกินที่บ่อนทำลาย ไปจนถึงรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงาน

การบริหารจัดการอารมณ์ด้วยตัวเองคือหนึ่งสิ่งที่ควรทำควบคู่กับการได้รับการโค้ช เรียนรู้และฝึกฝนเรื่อง Emotion Intelligence คลิก ที่นี่ 

โค้ชจะช่วยให้คนในองค์กรเห็นว่าศักยภาพของตนเองมีอยู่ในระดับไหน และช่วยลบอุปสรรคทางอารมณ์ที่จะมาขัดขวาง โดยมีเคล็ดลับ เช่น ในส่วนของงาน โค้ชจะมองผู้รับการโค้ชเหมือนนักกีฬาที่จะก้าวสู่เกมอีกระดับ เขาจะรับฟังและเข้าถึงแรงจูงใจ และยอมรับว่ามีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ขณะที่งานอีกส่วนคือการขยายศักยภาพ สำรวจทักษะที่จะต้องเพิ่มหรือพัฒนาเพื่อไปให้ถึงขีดสุด

===

การโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพสูงสุดนั้นควรจะทำให้เกิดความสนุกสนาน และต้องมองประเด็นนั้น ๆ ว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยให้คนก้าวไปสู่ศักยภาพสูงสุดของเขาเองได้

และถ้าหากคุณต้องการเรียนรู้ทักษะการโค้ชเพื่อเพิ่มศักยภาพทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Impact Coaching & Positive Feedback คลิกดูได้ที่นี่ครับ 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

3 เทคนิคในการยอมรับและชื่นชมลูกน้อง

ถ้าลองไปถามลูกทีมหรือลูกน้องในองค์กรต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงยังคงทำงานอยู่ที่นั่น คำตอบส่วนใหญ่ที่ออกจากปากพวกเขาก็คือ

“ผม / ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าและมีตัวตน”

ความรู้สึกนี้สอดคล้องกับหลักการบริหารคนที่เรียกว่า “ต้องแสดงการยอมรับและยกย่องชื่นชม” (Recognition and Appreciation)

ผู้นำที่อยากให้ลูกน้องที่เก่งและดีทำงานด้วยกันต่อหรืออยากให้ลูกน้องพัฒนาผลงานด้วยความเต็มใจ ไม่ควรละเลยหลักการนี้เป็นอันขาด เพราะสองหลักการนี้นำมาซึ่งความรู้สึกภาคภูมิใจ

เมื่อคนทำงานได้รับความภาคภูมิใจ พวกเขาจะร่วมผลักดันผลงานอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการคิดสร้างสรรค์ การอดทนทำงาน การซื่อสัตย์ หรือการรีดเค้นผลงานที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา
====

การยอมรับ (Recognition) ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงออกว่าจดจำตัวเขาและผลงานที่เขาทำได้ แต่ยังรวมถึงการให้ Feedback เชิงบวก ว่าลูกน้องได้ทำอะไรดี ๆ มาบ้าง บางครั้งอาจอยู่ในรูปของการให้รางวัล ให้โบนัส เลื่อนขั้น หรือบางทีเพียงแค่การพูดว่าขอบคุณหรือเขียนโน้ตเป็นลายมือก็ถือว่ามีคุณค่ามากพอแล้ว

แต่การยอมรับต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะวิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกคน ที่สำคัญมันเป็นการให้คุณให้โทษที่ขึ้นอยู่กับผลงานที่เกิดขึ้นจึงต้องทำเป็นวาระโอกาสและเป็นวาระที่มักจะมาจากเจ้านายไปสู่ลูกน้องเป็นหลักด้วย
====

การยกย่องชื่นชม (Appreciation) มีเพื่อเสริมส่วนที่การยอมรับ (Recognition) ขาดหายไป เพราะวิธีนี้ไม่ใช่แค่การรอให้เขาทำผลงานดีออกมาก่อนเท่านั้น แต่การยกย่องชื่นชมสามารถทำได้เรื่อย ๆ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่เห็นว่าอีกฝ่ายทำงานดี

====

การชื่นชมว่าอีกฝ่ายมีคุณค่านั้น ทำได้หลายวาระกว่า เช่นเทคนิคดังต่อไปนี้

รับฟัง

การฟังอีกฝ่ายพูดเป็นแสดงถึงการให้ความสำคัญ หากมีคนมาคุยด้วยตอนเรากำลังเล่นมือถือหรือจ้องหน้าคอมพิวเตอร์อยู่แล้วเราต้องการให้ความสำคัญกับเขา ให้หยุดกิจกรรมนั้นแล้วหันมาสบตาผู้พูดและตั้งใจฟังดีกว่า

หนึ่งในทักษะการฟังที่มีประสิทธิภาพสูง ก็คือ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม ศึกษาและฝึกฝนได้คลิกที่นี่
====

บอกคนอื่นๆ ว่าคนที่เราชื่นชมเจ๋งอย่างไร

การประกาศให้คนอื่นรู้นั้นไม่ต่างจากการให้ของขวัญที่ล้ำค่า เพราะนอกจากจะทำให้เจ้าตัวปลื้มแล้ว ยังเป็นการสร้างสถานะที่ดีของคนที่ถูกชมต่อหน้าสาธารณะชนอีกด้วย
====

แสดงออกไปเลย

บอกคนที่เราชื่นชมไปเลย ว่าสิ่งที่เป็นตัวเขานั้นดีเยี่ยมเพียงไร อาจจะถามเขาด้วยว่าเขาทำมันได้อย่างไรเพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เขาทำว่ามันมีมากจนเราสนใจ และแสดงความสนใจว่ามันจะดำเนินไปอย่างไรต่อ

ผลการสำรวจของพนักงานในองค์กรต่างๆ ผลที่ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งพบว่า คำชื่นชมจากเจ้านายทำให้พวกเขามีแรงใจที่จะอยู่ที่เดิมต่อไป และแม้ว่าเจ้านายจะชื่นชมบ้างแต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็ยังจะอยากได้มันต่อไปอีกเรื่อย ๆ

แล้วคุณล่ะ วันนี้ได้ให้ยอมรับหรือชื่นชมคนอื่นอย่างจริงใจแล้วหรือยัง

====

หนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ลูกน้องได้คือการ Coaching และให้ Feedback  ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้จากหลักสูตร High Impact Coaching and Positive Feedback คลิกที่นี่

เรียบเรียงจาก “Why Employees Need Both Recognition and Appreciation” โดย Mike Robbins จาก Harvard Business Review 12 พฤศจิกายน 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 


ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save