“เพียงพอ ก็พอเพียง” 5 หลักดำเนินชีวิต ที่พ่อทิ้งไว้

s__4203102

ในปี พ.ศ ๒๕๔๙ เป็นปีที่ฉันให้กำเนิดลูกสาวคนเดียวของฉัน ก่อนคลอด…ฉันคิดตั้งชื่อลูกไว้ไม่กี่ชื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ…อยากให้มีชื่อที่เรียบง่าย เข้าใจได้เลย ไม่ต้องเปิดตำราหาคำแปล เพราะฉันอยากให้ลูกมีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนชื่อ

แต่ก็ยังไม่ฟันธงว่าจะใช้ชื่อใด เพราะแม่ของฉันค่อนข้างให้ความสำคัญกับการใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ที่ถูกต้องตรงตามตำราอันเป็นมงคลกับชีวิตตามวันเกิด ดังนั้นจึงต้องรอให้ทราบวันคลอดที่แน่ชัดก่อน จึงจะเลือกได้ว่าควรจะใช้ชื่อใด

หนึ่งในชื่อไม่กี่ชื่อ และเป็นลำดับต้นๆ ที่ฉันคิดขึ้นมาได้เลยคือ คำว่า “เพียงพอ” ฉันชอบคำนี้ตั้งแต่แรกคิด และแอบลุ้นอยู่ลึกๆ ว่าอยากให้ลูกเกิด ในวันที่ชื่อนี้เป็นมงคลสอดคล้องต้องตามตำราดังแม่ว่า

ว่ากันง่ายๆ คืออยาก “เกิดตามชื่อ” ไม่ใช่ “เกิดก่อนแล้วชื่อตามมา” คงไม่ต้องเดาว่าทำไมฉันถึงคิดคำนี้ขึ้นมาได้ ตลอดชีวิตของฉัน ฉันมักจะได้ยินเรื่องราว “การทำงานของในหลวง” อยู่อย่างสม่ำเสมอ

ไม่มาจากทางข่าวสารบ้านเมือง สารคดี ก็เป็นการเคลื่อนไหวต่างๆ ในชุมชน ข่าวในพระราชสำนัก ฉันได้ยินคำว่า “แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ฉันได้ยินคำว่า “โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ฉันได้ยินคำว่า “โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙” และอีกมากมายที่มีคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

สิ่งที่ฉันคิดต่อยอดมาจากคำๆ นั้นคือ “เพียงรู้จักพอ…ก็พอเพียง” และฉันก็ได้ให้กำเนิดลูกในวันที่แม่ของฉันบอกฉันว่า…ทุกพยัญชนะ ทุกสระในคำว่า “เพียงพอ” เป็นมงคลเหลือเกินสำหรับชีวิตลูก เป็นบุญแท้! ไม่มีตัวอักษรหรือสระใดไม่ควรใช้ และเมื่อรวมกันเป็นตัวเลขตามตำราปฏิทิน 100 ปี ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีที่สุด มีความสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีชื่อใดดีเท่านี้อีกแล้ว

นั่นคงพอบอกเป็นนัยๆ ว่า…ชื่อของลูก จะแทนคำมั่นสัญญาที่ฉันมีต่อแผ่นดิน จะคอยเตือนตัวเองและลูกให้รำลึกถึงการใช้ชีวิตดำเนินตามรอยพระราชดำริ เพื่อความสุขอันยั่งยืนของชีวิต และใช้เป็นรากฐานดำเนินชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปอนาคต

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เป็นแนวพระราชดำริที่พระราชทานมานานกว่า 30 ปี เป็นแนวทางการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง อยู่ในความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร”. เป็นที่ตั้ง แล้วจะนำพาชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงที่แท้จริง

ในครั้งแรกฉันยังไม่เข้าใจความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” มากนัก หลายคนคิดเพียงว่าหมายถึง “ความประหยัด” เพียงอย่างเดียว แต่โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว ประกอบไปด้วยคุณสมบัติเหล่านี้คือ

1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากจนเกินไป โดยไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ใช่หมายถึงกระเบียดกระเสียรจนเกินพอดี แต่สามารถฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและผู้อื่น

2. ความมีเหตุผล หมายถึง ระดับความพอเพียงของเรา จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องรอบด้าน รวมไปถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ต้องผ่านการตัดสินใจอย่างรอบคอบเสมอ

3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต พูดง่ายๆ ว่า “การเตรียมรับมือกับผลที่เกิดขึ้น” โดยยึดหลักเงื่อนไขของการตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ 2 ประการดังนี้

เงื่อนไขความรู้  นั่นคือ เราต้องมีความรู้ในด้านนั้นๆ และมีความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน เพื่อจะได้ระมัดระวังในการปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม นั่นคือ ความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร เพื่อใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

นั่นยิ่งทำให้ฉันเห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชดำริของพระองค์มิใช่เกิดจากสายพระเนตรเพียงด้านเดียว แต่ครอบคลุมกันเป็นวงกลม ซึ่งเราสามารถนำไปปรับใช้ได้หมดตั้งแต่ในครอบครัว ไปจนถึงองค์กรใหญ่ระดับประเทศ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่แฝงไปด้วยหลักธรรมาภิบาล เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมตามหลักศาสนาพุทธ

ฉันขอไม่กล่าวถึงการนำไปใช้ในองค์กรอื่นๆ แต่ฉันจะกล่าวถึงสิ่งที่ฉันจับต้องได้ และสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันของตัวฉันเอง

การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้ทุกครอบครัว ทุกฐานะ ทำได้เลย และทำได้ง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องอาศัยองค์ความรู้ใดๆ มากมาย สิ่งเดียวที่เราทุกคนต้องมีคือ “จิตสำนึก” พระองค์สอนให้เราทำ “เพื่อตัวเราเอง” ทำ “เพื่อสร้างความเจริญให้ชีวิตเราเอง” หลักการง่ายๆ ก็คือ

1. ยึดหลักความประหยัด

ตัดทอนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต แต่ละครอบครัว ล้วนมีความจำเป็นแตกต่างกันไป ควรพิจารณาให้รอบคอบ และใช้ให้เหมาะสม

2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง  ดำรงชีพด้วยความสุจริต

3. ละเลิกในการแก่งแย่งผลประโยชน์ 

และการแข่งขันในทางการค้า หลีกเลี่ยงความรุนแรง เพื่อให้ได้ซึ่งความสำเร็จจากความเห็นแก่ตัว

4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางนำพาชีวิตให้พ้นจากความทุกข์ยาก

ด้วยการขวนขวายหาความรู้และเพิ่มพูนรายได้ จนไปถึงซึ่งคำว่า “พอเพียง”

5. ปฏิบัติตนในทางที่ดี

ลดละสิ่งชั่ว ดำรงตนตามหลักคำสอนของศาสนา

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จึงเป็นหลักพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง เป็นแนวทางที่ให้เราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ดำเนินตามวิถีแห่งการดำรงชีพอย่างสันติสุข โดยมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งก็คือ วิถีชีวิตไทย ที่ยึดทางสายกลางของความพอดี เมื่อเกิดความพอดีขึ้นในบ้าน

และหากนำไปปฏิบัติใช้ในทุกองค์กร ในสังคม ก็ย่อมเกิดความพอดีในทุกๆ เรื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ เทคโนโลยี ต่อให้พัฒนาไปไกลแค่ไหน ก็เกิดความสมดุลและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

ที่สำคัญ! เป็นภูมิคุ้มกันให้เราทุกคน  สร้างความพอดีให้จิตใจ ผ่านทุกๆ ปัญหาไปได้ด้วยดี และยังสามารถดำรงอยู่ซึ่งสังคมวัฒนธรรมไทยได้โดยไม่เสื่อมถอย

ฉันรู้สึกว่าตัวเองและครอบครัว มีบุญเหลือเกินที่ได้เกิดอยู่ภายใต้ร่มพระบารมี มิเพียงแค่ชื่อ “เพียงพอ” ที่ฉันตั้งให้ลูก แต่เพราะชื่อนี้…ทำให้ฉันศึกษาและเข้าใจความหมายของการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อ อย่างถ่องแท้ยิ่งขึ้น

ฉันสอนลูกเสมอว่า “แม้ลูกจะเติบโตมา และพลาดโอกาสที่จะได้เห็นพระจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีมากมายหลายพันโครงการ มิเพียงพระราชดำริ ยังรวมถึงพระราชดำรัส และภาพของการพระราชดำเนินไปดูแลไพร่ฟ้าประชาชนในทั่วทุกสารทิศ ที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังไปไม่ถึง แทบทุกตารางนิ้วของผืนแผ่นดินไทย ล้วนผ่านสายพระเนตรของพระองค์มาแล้วทั้งสิ้น ลูกไม่มีโอกาสได้เห็น แต่ลูกก็รับรู้ได้จากสารคดี จากคำบอกเล่าของพ่อแม่ และซึมซับความจงรักภักดีโดยไม่มีเงื่อนไขใด”

อย่างน้อยๆ สิ่งที่ยังอยู่เสมอ มิใช่แค่ในความทรงจำของลูก คือ “ชื่อของลูก” ชื่อที่จะติดตัวลูกไปตราบเท่าชีวิตของลูกเอง เพื่อตอกย้ำให้ลูกระลึกอยู่เสมอว่า “คำสอนของพ่อ จะอยู่กับลูกเสมอ” มงคลชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วันที่ลูกเกิดมา คือ “การได้เกิดมาเป็นข้ารองบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙”

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวนและครอบครัว ด.ญ. เพียงพอ ศุภมาตย์

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก  www.raiporjai.com

3 หลักคิด ในการพัฒนาตนเองของพ่อหลวง

s__4203195

การพัฒนาตนเอง (Self Development) คือ กุญแจดอกแรกที่จะปลดล็อคความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ของมนุษย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเอง คือ การมีหลักคิดที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ

ตลอดระยะเวลาที่พวกเราชาวไทยได้ใช้ชีวิตบนแผ่นดินไทย คงปฏิเสธไม่ได้ พ่อหลวง คือผู้ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมให้มีความเจริญและความสุข

วันนี้ Learning Hub Thailand ขอน้อมนำหลักคิด 3 ข้อ ที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากการศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน  เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชีวิตตนเองให้พบกับความสำเร็จในทุกด้าน

1.จงเป็นนักลงมือทำ

ไม่ว่าเหตุภัยพิบัติหรือความเดือดร้อนของประชาชนจะเกิดขึ้นที่ใด พระองค์ท่านจะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่านเสมอ…

ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงหลักคิดในการลงมือทำทันที

ปัญหาหลายปัญหาในชีวิตคน ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความยุ่งยากโดยสภาพ แต่เกิดขึ้นมาจากการที่เราเอาแต่คิด เอาแต่กังวล โดยไม่ริเริ่มที่จะลงมือทำแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง การมีนิสัยเป็นนักลงมือทำจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาทุกเรื่องๆ

2.จงเป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ

ในการทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน  พระองค์ท่านจะทรงให้กำลังใจและชักจูงใจให้ทั้งข้าราชการผู้ปฎิบัติงานและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน มีกำลังใจและเป้าหมายที่จะเอาชนะปัญหาอยู่เสมอ

ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงหลักคิดในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเองและเพื่อนร่วมงาน

ในการทำงานทุกอย่าง สิ่งที่จะทำให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล ไม่ได้มีแค่การทุ่มเทแรงงาน ทุ่มเทเวลา หรือ ทุ่มเทกำลังทรัพย์ แต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างพลังจากภายใน (Inner. Power) ให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งวิธีการสร้างพลังจากภายในที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการสร้างความรักและกำลังใจให้เกิดขึ้นในทุกสภาพแวดล้อมของการทำงาน

3.จงเป็นผู้ปิดทองหลังพระ

ทุกพระราชกรณียกิจของพระองค์ล้วนแต่ต้องพบกับความยากลำบาก และไม่มีพระราชกรณียกิจใดที่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ   หรือ อาจเรียกได้ว่าแทบทุกพระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นการ  “ปิดทองหลังพระ”…

ตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นถึงหลักคิดในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยไม่หวังผลลัพธ์

การทำงานโดยหวังเพียงให้ผลงานของตนเองมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้คนมากที่สุด ย่อมสร้างพลังในการปลดปล่อยศักยภาพในตัวเองได้มากกว่าการทำงานเพียงเพื่อหวังและรอผลตอบแทนในรูปตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์

ทั้ง 3 หลักคิด หากพสกนิกรชาวไทยคนใดได้น้อมนำไปใช้ในการพัฒนาตนเอง

เชื่อได้ว่า ผู้นั้นจะมีชีวิตที่มีความสุขกายสุขใจ มีหน้าที่การงานที่ประสบความสำเร็จ และที่สำคัญที่สุดคือ สังคมและประเทศก็จะได้รับประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น

เรียบเรียงโดย

จิตเกษม น้อยไร่ภูมิ (แมงปอ)

แรงบันดาลใจจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาประเทศ” โดย มูลนิธิชัยพัฒนา

http://www.chaipat.or.th/site_content/39-18/336-102.html

๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก (ตอนที่ ๑)

1

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตลอด ๗๐ ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ มีมากมายนับไม่ถ้วน ทุกพระราชดำรัส ทุกถ้อยคำ ทุกประโยค ล้วนทำได้จริง ทำได้เลย และทำแล้วดีต่อชีวิต  เป็นประโยชน์ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเอง หากทำได้ ฉันถือว่าเป็นมงคลหนึ่งที่พระองค์พระราชทานให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เพียงอยากให้สังคมไทยอุดมไปด้วยคนที่คิดดี ทำดี นั่นย่อมนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

ฉันอยากจะยกตัวอย่างพระบรมราโชวาทที่พระองค์พระราชทานให้ในโอกาสต่างๆ และขอขยายความในสิ่งที่พระองค์ตรัส ตามความเข้าใจที่อาจไม่แตกฉานนักของฉันเอง เพียงหวังให้เราทุกคน ซึมซับ รับรู้ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตการทำงาน เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ

๙ พระบรมราโชวาทที่ฉันยกมานี้ ถือว่าเป็นหลักคิดที่ดีงามในการนำไปใช้ในการทำงาน ฉันเชื่อแน่ว่า…ไม่ว่าเป็นนายจ้าง หรือลูกจ้าง ทุกข้อ หากนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดผลดีกับชีวิต และสร้างความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพการงานได้อย่างมั่นคง วันนี้ฉันจะขอยกพระบรมราโชวาทในเรื่องของ “ความดี” มากล่าวถึงก่อนเป็นอันดับแรก

1.คนดี

“ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)

เรารู้ว่าสังคมเราทุกวันนี้ ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครเลวร้ายร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน

แต่องค์กรจะขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ก็ต้องอาศัยคนดี มีคุณธรรม ไม่มีองค์กรใด เจริญเติบโตได้ หากนายจ้างมีเพียงอำนาจ แต่ขาดคุณธรรม ในฐานะลูกจ้างก็เช่นกัน การปรับเปลี่ยน เลื่อนตำแหน่ง ต่อให้เรามองว่าในระบบงานของเรายังคงมีเรื่องของเส้นสายมาเกี่ยวข้อง เรื่องของการ “เลียแข้งเลียขา”

จงศรัทธาในความดี ไม่มีใครเติบโต และประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างมั่นคง ด้วยการเหยียบหัวผู้อื่นเพื่อไปยืนอยู่บนที่สูง ความสำเร็จในองค์กร ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว และไม่สามารถรักษาไว้ได้ด้วยอำนาจ ความมั่นคงในอาชีพการงาน…การยึดมั่นในความดีต่างหาก ที่จะเป็นเหมือนเสาเข็มปักลงไปให้แข็งแรงทนทาน เราอาจต้องพิสูจน์ความดีกันเกือบทั้งชีวิต

ในขณะที่บางคนก้าวไปยังปลายทางได้เลยด้วยแรงผลักดันจากพรรคพวก แต่จงเชื่อเถอะว่า…ไม่มีใครอยู่ในอำนาจได้นาน คุณธรรมความดีนั้นยั่งยืนกว่า ฉันมิได้เชื่อที่ผลกรรมอย่างเดียว แต่ฉันเชื่อว่า…ทุกองค์กรล้วนต้องการคนเก่ง คนมีความสามารถ คนฉลาด ต่อให้ก้าวมาด้วยวิธีใด ผลประกอบการ ผลงานก็คือตัวกำหนดทิศทาง หรือต่อให้ผลงานโดดเด่น สร้างความสำเร็จให้องค์กรเพียงใด

สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือ “การสร้างพลังความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน” นายจ้างต้องทำให้ลูกจ้างรักและศรัทธา การทำงานเป็นทีม ก็ต้องทำให้เพื่อนร่วมทีมเชื่อ…ในความสามารถ และพร้อมจะลุยไปด้วยกัน หรือแม้จะเป็นลูกจ้างด้วยกัน การมีคุณธรรมความดีในหัวใจ สิ่งที่เราปฏิบัติกับผู้อื่น ปฏิบัติกับองค์กร ก็จะนำพาแต่สิ่งดีๆ มาสู่เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผลตอบแทนมิได้มีเพียงแค่ “เงินเดือน” “ค่าจ้าง” แต่มันคือ “ความรักในงานที่ทำ ความสุขในงานที่ทำ รอยยิ้มที่มีต่อกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน และการมีหัวหน้าที่ดีมีคุณธรรม” 

มองง่ายๆ เลยว่า “หากเราอยากให้หัวหน้างานเราเป็นแบบใด ก็จงทำตัวให้เป็นแบบนั้น”

อีกแง่มุมหนึ่งก็คือ…การเลือก หรือส่งเสริมให้คนดีๆ ได้มีบทบาทในการแสดงความสามารถในด้านที่เขาถนัด และเปิดโอกาสให้คนดี เข้ามามีบทบาทในการควบคุมคนไม่ดี หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “คนเก่งน่ะหายากก็จริง แต่คนดีหายากยิ่งกว่า” ต่อให้คนเก่ง เก่งกว่า ก็ไม่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

หากไม่สามารถสร้างแรงศรัทธา พูดง่ายๆ หากไม่สามารถทำให้ “ลูกน้องยอมตายถวายชีวิต เพื่อนายจ้าง” ได้ ความสำเร็จก็คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะทุกองค์กรล้วนต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งฉันคงไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ “การเห็นแก่สินจ้างรางวัล” บางคนรู้ แยกแยะได้ว่าใครดี ใครไม่ดี โดยเฉพาะคนที่ให้สินจ้างรางวัลเพื่อผลักดันตัวเองไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า มีไม่น้อยที่ได้รับการสนับสนุน มิใช่มาจากคำว่า “ศรัทธา” แต่มาจากคำว่า “ค่าตอบแทน” หรือ “เงินใต้โต๊ะ” ดังพระบรมราโชวาทของในหลวง ตรงพระดำรัสที่ว่า “ควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล พระองค์มองผลที่เกิดขึ้นในระยะยาว  การยกย่อง เชิดชูคนไม่ดี ให้เข้ามามีอำนาจ บทบาทในองค์กร เพียงเพราะได้รับ “ค่าตอบแทน” พวกเขาหารู้ไม่ว่า…พวกเขากำลังนำพาความเดือดร้อนมิใช่เกิดกับองค์กรรวม แต่ความเดือดร้อนจะเกิดกับเราทุกคน “อำนาจที่ได้มาด้วยการแลกด้วยเงิน”

คุณค่าของเราทุกคนก็จะถูกตีราคาด้วยเงินเช่นกัน เราน่าจะนึกออกได้ว่า “หากเราทำงานกับนายจ้าง หรือหัวหน้า ที่ใช้เพียงอำนาจเงิน  โดยไร้ซึ่งคุณธรรม เราต้องเจอกับอะไรบ้าง?”  แล้วเราจะโทษใคร ในเมื่อเราเองที่เป็นคนเลือกเขาเหล่านั้น

นี่ฉันกำลังกล่าวถึงเรื่องการทำงานนะ แต่ดูเหมือนเส้นทางกำลังจะหันไปทางการเมือง เอาเป็นว่า…จงใช้สติ และสำนึกแห่งความดีงาม ตามคำสอนของพ่อ เลือก…คนที่ต้องมาทำงานกับเรา คนที่มาดูแลเรา คนที่เราจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกนาน คนที่จะอดทน ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเรา คนที่เราจะยิ้มให้กันทุกวันในที่ทำงาน เพราะความสุข ความสำเร็จในชีวิตการทำงานของเรา มิได้หมายถึง “เราได้ทำงานกับคนดี”

แต่หมายถึง “เราได้เพิ่มกัลยาณมิตรเข้ามาในชีวิต” กัลยาณมิตรที่รายล้อมรอบตัวเรา เมื่อเราก้าวเท้าออกจากบ้าน ทีนี้…เรารู้หรือยังว่า…บุคคลเหล่านี้สำคัญแค่ไหนกับชีวิตเรา?  เพราะนอกจากเวลาที่เราทุ่มเทให้กับครอบครัวแล้ว พวกเขาเหล่านี้…คือเวลาที่เหลือเกือบทั้งหมดของชีวิตเรา เวลาของการทำงาน!

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า…พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรอย่างเดียว แต่สิ่งที่พระองค์ห่วงใยมากกว่านั้น…คือเราทุกคนในชาติ!

พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand

(ติดตาม  “๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก” ตอนที่ ๒ ตามลำดับถัดไป)

๙ พระบรมราโชวาท…เพื่องานอันเป็นที่รัก (ตอนที่ ๒)

1

พระบรมราโชวาทในตอนที่ ๒ นี้ฉันขอยก ๓ พระบรมราโชวาทที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองให้กับตัวเราเอง

1. การทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข

“เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆนั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และ ความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา 8 กรกฎาคม 2530)

ฉันยังคงเชื่ออยู่เสมอว่า “มนุษย์สามารถทำได้ทุกอย่างที่อยากทำ หากมีความตั้งใจจริง” ในชีวิตการทำงาน ต่อให้เป็นงานอันเป็นที่รัก ก็ย่อมต้องเจออุปสรรค เจอปัญหา และเจอกับภาวะฝืน เพราะไม่ว่างานอันใด ไม่มีความสำเร็จใดได้มาโดยง่ายดาย มีทั้งอุปสรรคที่คาดไม่ถึง

อุปสรรคที่มาจากเงื่อนไขของเราเอง หรืออุปสรรคที่เกิดจากบุคคลรอบข้างและส่งผลหรือมีอิทธิพลกับงานของเรา พระบรมราโชวาทนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเล็งเห็นถึงสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ และต้องเกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน พระองค์ท่านอยากให้เราเริ่มป้องกัน เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการ “เลิกตั้งข้อแม้ และลดเงื่อนไข”

เพียงเท่านี้ก็สามารถลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อันใด ต่อให้เราต้องเจอกับงานที่ไม่เป็นไปดังที่เราตั้งใจ เราก็จะสามารถทำและผ่านมันไปได้ด้วยใจที่ยอมรับ ไม่ฝืน ไม่อึดอัด เพราะเราไม่ได้สร้างเงื่อนไขใดๆ ไว้ตั้งแต่แรก

และจงเชื่ออยู่เสมอว่า… “คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ” ต่อให้เราไม่ได้สวมบทบาทของนายจ้าง เราเป็นเพียงแค่ลูกจ้าง ยิ่งภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราอาจจำเป็นต้องทำงานหลายอย่างที่เรารู้สึกว่า “ไม่ใช่หน้าที่” “เกินหน้าที่” ของเรา ก็จงตระหนักไว้เสมอว่า “ไม่ว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ก็จงทำให้เต็มความสามารถ

ต่อให้เป็นงานที่เราไม่เคยมีประสบการณ์หรือไม่เคยทำมาก่อน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราทำไม่ได้ เพียงแค่เรายังไม่เคยทำ” หลายอย่างในชีวิตฉัน เข้ามาพัฒนางานเขียนของฉันให้เติบโตขึ้น หนึ่งในนั้นคือสภาวะ “ฝืน” สภาวะ “เรียนรู้” จากสิ่งที่เคยบอกว่า “ไม่ชอบ” “ไม่เคยทำ”

อย่าด่วนสรุปว่าเรากำลังทำในสิ่งที่เรา “ไม่ชอบ” หากเรายังไม่เคยทำสิ่งนั้นมาก่อนเลย ทุกการเรียนรู้มีการเติบโต ฉันเชื่อว่า…พระองค์ทรงอยากให้เราทุกคนเรียนรู้ พัฒนางานตัวเอง มิใช่มาจาก “ความชอบ” เพียงอย่างเดียว แต่ “ความจำเป็น” ก็สร้างการเรียนรู้ และพัฒนาได้เช่นกัน

2.การตั้งมั่นในความเพียร

“ความเพียรที่ถูกต้องเป็นธรรม และพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่ อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงาม ให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป อย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็นอุปการะอย่างสำคัญ ต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน

ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ในความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อม ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม”

(พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ ครบ 50 ปี พ.ศ.2539)

ตามความเข้าใจของฉัน “ความเพียร” ในความหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ได้กำหนดความเพียรไว้ 2 ประการคือ

1. “ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อมให้หมดไป และระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่” หากมองในแง่ของการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฉันขอเรียกว่า “เป็นหูเป็นตา” คือ การดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์ และร่วมกันตั้งมั่นอยู่ในความดีงามและศีลธรรม ช่วยกันสอดส่องดูแล ให้องค์กรมีความก้าวหน้าอย่างขาวสะอาด ไม่สนับสนุนคนพาล ไม่เล่นพรรคเล่นพวก

ไม่เห็นแก่สินจ้างรางวัล ร่วมมือกันผลักดันให้งานเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม หากมีใครหรือมีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่ถูกต้อง เหมาะสม ก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหา และกำจัดคนพาลอย่าให้เข้ามามีบทบาทในองค์กร รวมถึงการไม่ปล่อยให้คนพาลเข้ามามีอิทธิพลในองค์กรอีก

2. “ความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดีงามให้บังเกิดขึ้น และระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไป” นอกจากการเป็นหูเป็นตาให้องค์กรแล้ว ก็ต้องมีความตั้งมั่นที่จะประพฤติตนเป็นคนดี มีความเพียร ความตั้งใจในการทำงาน อดทน มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรค หลายครั้งในชีวิตการทำงาน

ปัญหาบางอย่างอาจแก้ไขง่ายดายถ้าเพียงเราละเลยคำว่า “ศีลธรรม ความดีงาม” แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น ไม่สามารถสร้างความสำเร็จและความสุขที่ยั่งยืนให้แก่เราได้ หากมันจะยากขึ้น หากมันจะต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ ก็จงเชื่อมั่นใน “คุณธรรม” ว่าสุดท้ายแล้ว ความดีงามจะทำให้เราผ่านทุกอุปสรรคไปได้ “ช้า” แต่ “ยั่งยืน”

และที่สำคัญ! ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะสร้างความภาคภูมิใจ มิใช่แค่ตัวเราเอง แต่ยังรวมไปถึงการสร้างการยอมรับในสังคม และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลของเราเช่นกัน

3. การแก้ปัญหาด้วยปัญญา

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไมมีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างสมบูรณ์

การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่างๆมิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนการได้กระจ่างชัด ทุกขั้นตอน”

(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 สิงหาคม 2539)

ในทุกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ล้วนแฝงไปด้วยหลักธรรมคำสั่งสอน ต่อให้พระองค์ตรัสถึงสติปัญญา ก็ยังคงเป็นสติปัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้สติ มิใช่การใช้เฉพาะแค่ “ปัญญา” “สติปัญญา” มิใช่แค่ความฉลาด หลักแหลมในการแก้ปัญหาอย่างเดียว

ไม่ใช่การแก้เฉพาะโจทย์ปัญหา แต่เป็นการตระหนักย้อนไปยังเหตุ เพื่อนำมาสู่ผล หาที่มา และมองไปข้างหน้าถึงผลที่จะได้รับ เป็นการคิดรอบด้าน คิดเป็นกระบวนการ ซึ่งนั่นย่อมนำไปสู่การป้องกันมิให้เกิดปัญหา มิใช่การรอให้ “ปัญหา” เกิดและคอยแก้เพียงอย่างเดียว เป็น “การใช้สติปัญญา” ตั้งแต่เริ่มต้น

มีการดำรงสติรู้ตัวอยู่เสมอในทุกขณะของการทำงาน เพื่อดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท  และเตรียมรับมือกับปัญหาด้วยสติปัญญา ที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม เมื่อมีศีลธรรมเป็นตัวตั้ง ความยุติธรรมและสติปัญญาเป็นตัวตาม ปัญหาต่างๆ ก็จะถูกแก้ไขอย่างถูกต้อง แก้ได้ที่ต้นเหตุ มิใช่แก้ที่ปลายเหตุเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ปัญหาต่างๆ หมดไป ไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก

ทั้ง ๓ พระบรมราโชวาทที่ฉันนำมาขยายความ หากเราน้อมนำมาใช้ในการทำงาน ทุกๆ อาชีพ ทุกๆ บทบาท ตำแหน่ง นอกจากจะสร้างความสำเร็จให้เกิดกับตัวเองแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร นำไปสู่การพัฒนา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ฉันคิดว่าพระองค์ก็คงอยากจะตรัสว่า “อย่าเกียจคร้าน มีงานก็ทำไป ขอเพียงขยัน ตั้งใจ อดทน และจงใช้ทั้งสติและปัญญาในการแก้ไขปัญหา แล้วชีวิตเราทุกคนก็จะเดินไปข้างหน้า นำพาประเทศเราให้อยู่รอดปลอดภัย”

แค่เราทุกคนทำได้ ไม่ต้องรอเป็นคนสำคัญระดับชาติ เราทำ ทุกคนทำ ประชาชนคนไทยทำ ประเทศชาติก็เจริญรุ่งเรือง สำหรับในหลวง…ฉันเชื่อว่า…เราทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย…คือคนสำคัญของพระองค์!

ในฐานะคนสำคัญของพระราชา…เราควรทำสิ่งใด? เราน่าจะรู้ดี!

น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า…ว.แหวน และ Learning Hub Thailand

 

10 หลักคิด เกี่ยวกับความพยายามและความสำเร็จ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1-3

1. ความพยายามคือหัวใจของความสำเร็จ 

คือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แต่ละคน มีชีวิตที่แตกต่างกัน 

2.ความพยายาม คือความจดจ่อกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ถ้าจดจ่อได้เป็นระยะเวลานาน เป็นเดือน เป็นปี นั่นเรียกว่าความพยายาม ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ทำแล้วกัดไม่ปล่อย ไม่มีถอยไม่มีเลิก ดังนั้น อีกชื่อหนึ่งของความพยายามก็คือ “สมาธิ” ความพยายามและสมาธิคือสิ่งเดียวกัน โดยสมาธิคือเหตุที่ทำให้เกิดความพยายาม 

3.ถ้าสมาธิดี ความพยายามจะสูง ถ้าสมาธิต่ำ ความพยายามจะน้อย 

โอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในชีวิต ขึ้นอยู่กับปริมาณของความพยายามหรือสมาธิ 

4.ความพยายามสร้างได้

เมื่อความพยายามคือสมาธิ นั่นย่อมหมายความว่า ความพยายามนั้นเป็นนามธรรมที่สร้างได้ วิธีสร้างความพยายามมีสองวิธี หนึ่ง รวบรวมกำลังใจแล้วลงมือทำ

วิธีนี้มักได้ผลกับคนที่มีสมาธิดีเป็นพื้นฐาน แต่ไม่ค่อยได้ผลกับคนที่พื้นฐานสมาธิต่ำ อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความพยายามได้คือ ลงมือฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิจะช่วยให้คนเกียจคร้านเป็นคนมีความพยายามขึ้นมาได้

5.ความพยายามไม่ใช่สิ่งคงที่

บางวันเพิ่ม บางวันลด หมายความว่าในคนๆ หนึ่ง ย่อมมีทั้งช่วงเวลาที่มีความพยายามสูง และช่วงเวลาที่มีความพยายามต่ำ วิธีรักษาความพยายามเอาไว้ คือฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เพราะสมาธิคือเหตุที่ทำให้จิตใจตั้งมั่น และจิตใจตั้งมั่น ทำให้เกิดความพยายาม 

6. ถ้าคุณมีความพยายามแล้ว ความเฉลียวฉลาดย่อมตามมา

ไม่รู้สิ่งใด ก็จะรู้ได้ ทำสิ่งใดไม่ได้ ก็จะทำได้ ความพยายามจึงมีคุณค่ากว่าความเฉลียวฉลาด เพราะผู้ที่มีความพยายามแม้เป็นคนโง่เขล่าในช่วงแรก ก็จะโง่อยู่ไม่นาน ความพยายามจะผลักดันให้บุคคลผู้นั้นกลายเป็นผู้รอบรู้ได้อยู่ดี ดังนั้น คนโง่จึงไม่มีจริง แต่คนไม่พยายามนั่นมีอยู่จริง!!!

7.ความพยายามก็มีข้อเสีย

ความพยายามมีข้อดีเป็นส่วนใหญ่ แต่ความพยายามก็มีข้อเสียอยู่ เมื่อใครคนหนึ่งพยายามกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ จิตจะเกิดการยึดติด ทำให้เกิดความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ ความพยายามจึงควรมีสติกำกับ สตินี้เองจะเป็นตัวปรับให้ความพยายามกลับมาสู่จุดสมดุล 

8.ผู้มีความพยายามสูง แต่สติต่ำ จะพัฒนาตนเองไปเป็นทาสกิเลส

คือยิ่งพยายามเท่าไหร่ สำเร็จเท่าไหร่ ยึดเป็นคนยึดในอัตตาตัวตนมากเท่านั้น และอัตตาตัวตนนี้เองที่เป็นบ่อเกิดและความชั่ว และการเบียดเบียนผู้อื่น ตรงนี้แก้ได้ด้วยการพัฒนาสติขึ้นมากำกับ ให้สติอยู่เหนือความพยายาม

อย่าให้ความพยายามอยู่เหนือสติ ถ้าทำได้อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นผู้มีทั้งความสำเร็จทางโลก และทางธรรมไปพร้อมกัน

9.ความเมตตา ความพยายาม และสติ สามสิ่งนี้ต้องมาพร้อมกันเสมอ

จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปไม่ได้เด็ดขาด เมตตาทำให้เรามีความเป็นมนุษย์ผู้มีความดี ความพยายามทำให้เราสำเร็จ สติทำให้เราดำรงไว้ซึ่งความดีและความสำเร็จ เมื่อเรามีทั้งความดีและความสำเร็จ เราย่อมกลายเป็นผู้มีความสุขไปโดยปริยาย

10.ทุกความพยายาม อาจไม่ได้นำมาซึ่งความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จ จะต้องมีความพยายามเป็นส่วนประกอบ 

อย่าถามหาความสำเร็จใดๆในอนาคต แต่จงถามหาความพยายาม และทำให้มันปรากฏในทันที ความเพียรนี่เองที่จะทำให้เราทั้งหลายอยู่กับปัจจุบันได้ เป็นฉันทะ มิใช่ตัณหา เป็นความจริง มิใช่ความฝัน 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น เพราะความพยายามคือตัวตนของความสำเร็จ “จงพยายามให้เกิดความพยายาม” แล้วความพยายามจะทำให้ท่านสมปรารถนาทุกประการ 

บทความโดย

พศิน อินทรวงค์ https://www.facebook.com/talktopasin2013 

 

10 ความแตกต่างระหว่างปัญญาและความฉลาด

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1-2

คุณกำลังแสวงหาสิ่งใดกันแน่ ระหว่าง ปัญญาและความฉลาด ?

1.ความรู้ไม่ใช่ปัญญา

แต่ความรู้เป็นสะพานข้ามไปสู่ปัญญา ปัญญาจะเกิดต่อเมื่อข้ามสะพานแห่งความรู้ไปแล้วเท่านั้น ปัญญาคือการตอบสนองไร้รูปแบบ ส่วนความรู้เต็มไปด้วยกฏตายตัว ความรู้จึงมีสภาพไม่ต่างไปจากกรงขัง

ขณะที่ปัญญาคือโลกกว้างใหญ่ที่มีพื้นที่โล่งแจ้ง ความรู้เรียกอีกชื่อว่าความฉลาด ส่วนปัญญาเรียกอีกชื่อว่าความรู้แจ้ง

2.ความฉลาดและปัญญาคล้ายกัน แต่แท้จริงคือฟ้ากับเหว

ความฉลาดคือความรอบรู้โลกภายนอกเพื่อบีบคั้นโลกภายใน ส่วนปัญญาคือความรอบรู้โลกภายในเพื่อเปิดพื้นที่ให้โลกภายนอก ความฉลาดเป็นทางไปสู่ความโง่เขลา ตีบตัน และความทุกข์ทน ส่วนปัญญาเป็นทางไปสู่ความผลิบานและตื่นรู้ของชีวิต

3. ความฉลาดต้องการความมั่นคง แต่ปัญญาต้องการเสรีภาพ

แก่นแท้ของความฉลาดคือความกลัว แต่แก่นแท้ของปัญญาคือความเป็นหนึ่งเดียว ความกลัวทำให้เกิดการแบ่งแยก ส่วนความเป็นหนึ่งเดียวทำให้เกิดปรากฏการณ์หลอมรวมเป็นเอกภาพ

4.ความฉลาดนั้นมองง่าย ส่วนปัญญานั้นมองยาก

เราบอกได้ไม่ยากเมื่อพบคนฉลาด แต่บอกได้ยากนักว่าใครคือผู้มีปัญญา ผู้มีปัญญานั้นนิ่งเงียบ เป็นผู้เฝ้ามอง ขณะที่ผู้มีความฉลาดนั้นเสียงดัง ผู้มีปัญญาจึงคงอยู่ในความธรรมดาแตกต่างกับผู้มีความฉลาด

บางครั้งเราได้พบผู้มีปัญญาโดยไม่รู้ เหมือนได้สัมผัสสายลมเย็น รู้สึกได้ แต่ไม่อาจบรรยายออกมาเป็นภาพ

5.ความฉลาดทำลายโลกให้ย่อยยับ ส่วนปัญญาโอบอุ่มโลกอย่างเงียบๆ

คนฉลาดพันคนทำลายโลก ต้องใช้ผู้มีปัญญาถึงสิบคนจึงรับมืออยู่ นานๆครั้งผู้มีปัญญาจึงถือกำเนิด ส่วนคนฉลาดกำลังล้นทะลักโลกอยู่ขณะนี้

6.ความรู้คือเครื่องมือ คนฉลาดใช้ความรู้สร้างอัตตาตัวตน ส่วนผู้มีปัญญาใช้ความรู้ทำลายอัตตาตัวตน

คนฉลาดสะสมความรู้เพื่อโอ้อวด สร้างประโยชน์ ส่วนผู้มีปัญญาไม่สะสมความรู้ แต่มีความรู้เพื่อใช้ช่วยเพื่อนมนุษย์ ต่อเมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจก็ทิ้งความรู้ไว้ตรงหน้า มิได้แบกหามความรู้ใดๆติดตามไปด้วย คนฉลาดจึงเป็นน้ำเต็มแก้ว ส่วนผู้มีปัญญารักษาความว่างเปล่าไว้เสมอ

7.ความฉลาดออกคำสั่ง แต่ปัญญาให้โลก แต่ปัญญาแสวงหาหนทางพ้นโลก

ความฉลาดมักออกคำสั่งให้โลกเป็นอย่างใจ ให้ดีอย่างใจ ให้ได้อย่างใจ คนฉลาดมุ่งมั่นเปลี่ยนโลก ส่วนผู้มีปัญญาแสวงหาหนทางพ้นโลก ความฉลาดมุ่งหน้าเอาชนะ ส่วนปัญญาโอนอ่อนผ่อนตาม ความฉลาดจึงมีแต่สงครามเพื่อให้โลกถูกต้องอย่างใจตน ขณะที่ปัญญามีแต่งานเลี้ยงเต้นรำ

8.ความฉลาดมุ่งหาความสำเร็จ ส่วนปัญญาเปิดรับทั้งความล้มเหลวและสำเร็จโดยเท่าเทียม

ความฉลาดจึงจมกองทุกข์ ส่วนปัญญาเป็นนักโต้คลื่น รู้ลม รู้ฟ้า รู้ทางหนีทีไล่พร้อมรับเผชิญทุกสิ่ง

9.ความฉลาดแสวงหาความพิเศษ มักเมินหน้าหลีกหนีความธรรมดา ส่วนปัญญาเพียงตระหนักรู้ในทุกสิ่ง

ไม่มีทั้งความพิเศษและความธรรมดา ปัญญาอยู่ด้วยตนเอง ไม่ขึ้นกับสิ่งใดๆ ปัญญาไม่มีสีสัน และไม่มีสิ่งใดๆแปดเปื้อนให้เกิดสีสันได้ สิ่งภายนอกทั้งความพิเศษและความธรรมดาจึงไม่มีผลใดๆ ต่อความตระหนักรู้ของปัญญาเลย

10.ท่านทั้งหลายจงมุ่งแสวงหาปัญญา อย่าได้ติดกับดักของความฉลาด

แม้ติดกับดักของความฉลาดแล้ว ชีวิตของท่านย่อมถูกลวงตาให้แสวงหาความปลอดภัย ท่านจะไม่มีวันพบ เพราะชีวิตไม่เคยให้ความปลอดภัยและความมั่นคงแก่ผู้ใด ด้วยเนื้อแท้ของชีวิตนั้นคือความโลดโผนโจนทะยาน

มีเพียงปัญญาเท่านั้นที่ทำให้เกิดความสงบนิ่งกลางพายุ เพราะปัญญาไม่เคยปฏิเสธสิ่งใด และปัญญาไม่เคยให้ค่าสิ่งใด ปัญญาเพียงตระหนักรู้ และโอบรับสิ่งต่างๆไว้เท่านั้น เมื่อท่านมีสติปัญญา สติปัญญาจะนำพาท่านสู่แสงสว่าง ไม่ใช่แสงสว่างที่มาจากภายนอก

แต่เป็นแสงสว่างที่มาจากภายใน ชีวิตท่านย่อมไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ท่านจะกลับคืนสู่ความเป็นอมตะ ไม่มีมืด ไม่มีสว่าง ไม่มีกว้าง ไม่มีแคบ ไม่มีเกิด ไม่มีดับ เป็นภาวะที่เป็นเพียงภาวะ และนั่นคือบ้านที่แท้จริงของท่านทั้งหลาย

บทความโดย พศิน อินทรวงค์

ติดต่องานบรรยาย(วิทยากร) /พูดคุย/ฝากคำถาม
ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

Categories EQ

5 ขั้นตอน ทลายกำแพงในตัวคุณ

breaking-through-the-wall

Comfort Zone เป็นขอบเขตที่คนเรากำหนดขึ้น คนส่วนใหญ่มักปฏิเสธที่จะก้าวออกมาจากพื้นที่แห่งนี้เพราะเราจะรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัยแต่คุณรู้หรือไม่ว่าการที่เราอยู่ในที่ที่ปลอดภัยนานๆ จะทำให้เราเกิดความเคยชิน ย่ำอยู่กับที่ ไม่ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่หรือไม่เกิดการพัฒนานั่นเอง 

การก้าวออกมาจากที่ที่เราคุ้นเคยอาจดูเป็นเรื่องที่เสี่ยง แต่การหยุดนิ่งโดยไม่ทำอะไรเลยเป็นเรื่องที่อันตรายมากกว่า ดังนั้นหากชีวิตของคุณมีแต่ความซ้ำซากจำเจ เช่น ทำงานในที่เดิมๆ สังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มเดิมๆ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมเป็นเวลานานนั่นเป็นสัญญาณที่แสดงว่าคุณกำลังตกอยู่ในหลุมพรางของComfort Zone ซึ่งเป็นกำแพงที่คุณสร้างขึ้นมา  

นีลโดนัลด์วอล์ช กล่าวไว้ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อเราทลายกำแพงของตัวเอง” ขอแสดงความยินดีด้วยหากคุณกำลังพยายามทลายกำแพงนี้

แต่หากคุณไม่รู้วิธีที่จะก้าวออกมาจากพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว บทความนี้ช่วยให้คุณทลายกำแพงที่ปิดกั้นความเจริญก้าวหน้าด้วย 5 ขั้นตอนต่อไปนี้  

1) อยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ 

จิม รอนกล่าวว่า “คุณจะเป็นค่าเฉลี่ยของคนจำนวน 5 คนที่คุณใช้เวลาด้วย” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่รายล้อมรอบตัวคุณมีอิทธิพลอย่างมาก

ผู้คนเหล่านั้นส่งผลต่อการดำเนินชีวิต นิสัย ทัศนคติ และมุมมองของคุณ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณคบเพื่อนที่ชอบออกกำลังกาย พวกเขาก็จะชวนคุณไปร่วมออกกำลังกายด้วย  

เมื่อคุณทราบเช่นนี้แล้ว จงใช้เวลาอยู่กับคนที่จะทำให้ชีวิตของคุณเจริญก้าวหน้า เพราะพวกเขาจะเป็นแรงผลักดันให้คุณทำในสิ่งต่างๆได้สำเร็จ คุณอาจเข้าร่วมสมาคมหรือชมรมที่คุณสนใจนอกจากนี้

ในปัจจุบันมีเครือข่ายออนไลน์ที่คุณสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เช่น Linked-in หรือกรุ๊ปต่างๆใน Facebook แต่หากคุณไม่ถนัดใช้เทคโนโลยีมากนัก คุณอาจเพิ่มแรงบันดาลใจให้กับตนเอง

โดยการอ่านหนังสือประเภทชีวประวัติหรือเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต วิธีการเหล่านี้จะทำให้คุณเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และพร้อมที่จะก้าวออกมาจากสิ่งเดิมๆ  

2) ท้าทาย และเอาชนะร่างกายของคุณ 

การท้าทายและเอาชนะร่างกายของคุณเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้คุณก้าวออกมาจากกำแพงที่คุณสร้างขึ้น การตั้งเป้าหมายกับร่างกายของคุณเอง เช่น การลดน้ำหนัก หรือการออกกำลังกาย

เป็นสิ่งง่ายๆที่คุณสามารถทำได้ และเมื่อคุณทำสำเร็จ คุณจะเกิดความมั่นใจ และสามารถนำไปต่อยอดกับความสำเร็จด้านอื่นๆในชีวิตได้  

การพิชิตเป้าหมายด้านร่างกายของตนเองสอนให้คุณมีระเบียบวินัยกับตนเอง ลดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง และช่วยให้คุณรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้นคุณอาจท้าทายและเอาชนะร่างกายของตนเองด้วยการออกกำลังกายมันมีประโยชน์

เพราะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา สุขภาพของคุณจะแข็งแรงและสิ่งนี้ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้คุณก้าวออกมาจากพื้นที่เขตปลอดภัยของคุณ  

3) เริ่มทีละเล็กทีละน้อย 

การก้าวออกมาจาก Comfort Zone หรือการทลายกำแพงในตัวคุณไม่จำเป็นต้องรีบเร่งหรือเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทางที่ดีก็คือ คุณควรปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลา

ดังนั้น จงเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละเล็กทีละน้อย และค่อยๆก้าวออกมาจากความยึดติด ความซ้ำซากจำเจที่คุณสร้างขึ้น 

4) ทำความเข้าใจ และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น 

หากคุณมีความกังวลใจเรื่องภาพลักษณ์ เช่น รู้สึกกลัวว่าคนอื่นๆจะมองคุณอย่างไร คุณควรจะพูด ทำ หรือแสดงออกอย่างไรดี นั่นแสดงว่าคุณไม่เข้าใจการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ที่แท้จริง

สิ่งที่ถูกต้อง ก็คือ ในทุกๆ บทสนทนาคุณควรสนใจว่าผู้อื่นกำลังพูดอะไร และต้องการสื่อสารสิ่งใด วิธีการนี้จะทำให้คุณเป็นนักสื่อสารที่ดี เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น 

การทำความเข้าใจกับความคิดของผู้อื่น และการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีต่อกันจะทำให้คุณสามารถก้าวออกมาจาก Comfort Zone และเข้าใกล้ความฝันของคุณมากยิ่งขึ้น

กล่าวคือ คุณจะสามารถทลายกำแพงในใจและคิดว่า “ฉันมีความคิดที่ดี และฉันต้องทำให้มันสำเร็จ เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นต่อไป” ในทางกลับกัน หากคุณไม่ให้ความสำคัญกับผู้อื่น ก็จะไม่มีคนช่วยเหลือและสนับสนุนคุณ

ดังนั้น เมื่อคุณจะทำอะไรก็ตาม คุณจะรู้สึกประหม่า ไม่มั่นใจ และกลัวว่าคนอื่นๆจะมองว่าคุณงี่เง่า ท้ายที่สุดคุณก็จะไม่กล้าก้าวออกมาจาก Comfort Zone  

5) เสแสร้งจนคุณกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ 

เอมี่ คัดดี้กล่าวไว้ว่า “จงเสแสร้งจนคุณกลายเป็นแบบนั้นจริงๆ” งานวิจัยของเธอค้นพบว่าการเสแสร้งประหนึ่งว่าคุณเป็นคนแบบใดแบบหนึ่งนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนของคุณได้

การสวมบทบาทหรือแสดงละครเพียง 2 นาทีส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งเชื่อมโยงกับความมั่นใจของคนๆนั้น แม้ว่าอาจดูเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ แต่ผลการทดลองระบุว่าวิธีการนี้สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้  

หากคุณยังไม่เชื่อ ให้ลองสวมบทบาทและคิดว่าตนเองเป็นคนที่มั่นใจ สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ และก้าวออกมาจาก Comfort Zone สิ่งสำคัญก็คือ อย่าลืมว่า การแสดงเพียงเล็กน้อยก็จะให้ผลลัพธ์ที่เล็กน้อย ดังนั้น หากคุณต้องการผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และชัดเจน จงแสดงละครให้สมจริงสมจังที่สุด 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand 

Source: http://www.lifehack.org/326380/5-steps-you-should-take-you-longer-want-stay-your-comfort-zone 

วิธีก้าวข้าม ความทุกข์ใจที่เคยชิน

1

ถาม…

บางครั้งการที่เราคิดในเรื่องบางเรื่องอยู่คนเดียว คิดซ้ำไปซ้ำมา จนละอายแก่ใจที่เพ้อบ้าๆบอๆ ยิ่งไม่อยากคิดภาพก็ยิ่งโถมเข้ามา อยากจะลืมแต่มันทำไม่ได้

ทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีความสุขเลย สิ่งดีๆ คงไม่หวนกลับมาอีกแล้วเข้าใจค่ะ แต่ความรู้สึกดีๆที่เกิดขึ้นมาก็จะยังคงอยู่ตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ…..

ตอบ…

ไม่มีความรู้สึกสุขหรือทุกข์ใดที่จะอยู่กับเราตลอดไปหรอกครับ ต่อให้เราอยากจะกอดเก็บมันเอาไว้แค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้

ถึงจะทุกข์แค่ไหน แต่เรายังมีหน้าที่ที่ต้องทำ และเพื่อให้ช่วงเวลาเลวร้ายผ่านพ้นไปได้เร็วยิ่งขึ้น
ผมขอแนะนำให้คุณลองปฏิบัติห้าข้อต่อไปนี้ดูนะครับ!!!

1.ทำสิ่งที่ควรทำ

มีหน้าที่อะไร รับผิดชอบอะไรอยู่ก็ทำให้ดีที่สุด อย่าปล่อยตัวปล่อยใจให้เลื่อนลอย อย่าทิ้งหน้าที่ของตนเอง ยิ่งทุกข์มากเท่าไหร่ ยิ่งต้องตั้งใจทำงานให้ดี ขยันสุดๆ พัฒนาตัวเองสุดๆ เอาจิตใจจดจ่ออยู่กับการงานของเราไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

2. พยายามทำตนให้เป็นคนดี

เมตตาให้มากๆ เห็นแก่ตัวให้น้อยๆ คิดถึงคนอื่นมากๆ คิดถึงตัวเองน้อยๆ เมื่อคิดถึงคนอื่นมาก เราจะโกรธเกลียดน้อยลง อภัยได้ง่ายขึ้น เข้าใจเหตุผลของผู้อื่นง่ายขึ้น จิตใจก็จะเบาขึ้น

3. พูดแต่สิ่งดี

อย่าพูดสิ่งทำลายความหวัง อย่าทำสิ่งที่ทำให้ชีวิตของตนหดหู่ อย่าคิดว่าตัวเองไม่มีค่า อย่าย้ำคิดย้ำทำ อย่าโทษคนอื่น อย่าโทษตัวเอง อย่าโทษฟ้าโทษดิน

แต่ให้ยอมรับว่าสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ทำความเข้าใจ ให้อภัย และวางแผนชีวิตเพื่อจะก้าวเดินต่อไป

4. ฝึกมองด้านดีๆ ของชีวิต

เมื่อความทุกข์มาเยือน เราก็ต้องสร้างแสงสว่างให้เกิดขึ้น จงมองโลกให้มันสว่างไสว มองข้อดีของตนเอง มองข้อดีผู้อื่น พูดให้กำลังใจคนอื่น

พูดให้กำลังใจตนเอง ดีใจกับคนอื่น ใจดีกับตนเอง มองอะไรในด้านที่บวก เก็บเกี่ยวกำลังใจที่ผ่านเข้ามา และ สนุกกับชีวิต ทำสุขภาพจิตให้เบิกบานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

5.ท่องไว้เสมอ ท่องซ้ำๆ ให้ขึ้นใจ

ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นผู้คน สิ่งของ ชื่อเสียง หรืออำนาจ วาสนา เราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ ที่เกิดมา เป็นแค่คนที่อยู่บนโลกเพียงชั่วคราว อย่าไปเอาเป็นเอาตายอะไรกับชีวิตมากมาย

คนเรามีผิดได้ พลาดได้ ล้มได้ก็ลุกได้ ลุยให้เต็มที ทำให้สุดแรง แต่พอจบแล้วก็เรียนรู้ที่จะปล่อยวางสิ่งนั้นลง ทั้งเรื่องเงิน เรื่องงาน เรื่องความรัก หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่

ทุกเรื่องราวก็ใช้หลักการเดียวกันคือ สร้างเหตุให้เต็มที่ แล้วปล่อยวางในผลลัพธ์ หมายความว่า ถึงเวลาทำก็ทำให้ถึงที่สุด เมื่อทำดีที่สุดแล้ว แม้อะไรจะเกิดขึ้น ก็ยอมรับด้วยความเข้าใจว่าเราได้ทำเต็มทีแล้ว และไม่ควรเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ความทุกข์ เสียใจ หรือความผิดหวังในชีวิตเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเหลี่ยง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าถ้าเราพยายามสร้างกำลังใจให้ตัวเอง พยายามรักษาฐานที่ตั้งของชีวิต ทำสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าชีวิตของเราจะเกิดปัญหาอะไร อุปสรรคจะยิ่งใหญ่แค่ไหน
ผมคิดว่ามันย่อมผ่านพ้นไปได้ในที่สุด

“ถ้าอยากมีชีวิตใหม่ ก็ต้องกัดฟันลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่” มันอาจไม่ง่ายนัก แต่เราก็ต้องฝืนใจทำ อย่าปล่อยให้ชีวิตจมอยู่ในมุมอับเฉานานเกินไป เพราะความสุขนั้นใกล้แค่เอื้อมมือคว้า เพียงแต่เราต้องรู้จักเปิดโอกาสให้ตัวเองบ้างเท่านั้นเอง…

บทความโดย

 “พศิน อินทรวงค์”
ติดตามผลงานหนังสือหรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

แนะนำหนังสือใหม่ “อินเดีย มีอะไรจะบอก”

คนไทยอยู่ภายใต้วัฒนธรรม เขาบอกว่า.. ได้ยินมาว่า.. มาแต่ไหนแต่ไร อินเดียก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้ มะปรางก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้ ศิษย์เก่าจากประเทศอินเดียคนอื่นๆ ก็ตกเป็นเหยื่อวัฒนธรรมนี้

ปัจจุบัน ยังคงมีความเข้าใจและตั้งคำถามผิดๆ เกี่ยวกับประเทศอินเดีย อาทิ

อินเดียไม่ได้มีแต่พระไปเรียนเหรอ?

คนอินเดียยังขี้ข้างทางอยู่หรือเปล่า?

อินเดียมีห้องน้ำหรือยัง?

ไปอินเดียแล้วเหม็นไหม?

ถ้าอินเดียมันเลวร้ายขนาดนั้น 10 คนไทยที่มะปรางได้สรรหาคัดเลือก มาจากหลากหลายสาขาอาชีพคงไม่อยู่รอดปลอดภัย กลับมานั่งคุยให้สัมภาษณ์กับมะปรางถึงชีวิตในอินเดียอย่างมีความสุข

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือยกยอปอปั้นประเทศอินเดีย แต่เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเท็จจริงจากปากของคนไทย ที่เคยไปใช้ชีวิตและสัมผัสความเป็นอินเดียมา ถ้าอินเดียเลวร้ายอย่างที่เขาบอกมา  ทำไมคนไทยเหล่านี้กลับมาบ้านด้วยความภาคภูมิใจ? ทำไมเขากลับมาบ้านด้วยความสำเร็จในหน้าที่การงาน?

           เชื่อมะปราง .. มันต้องมีเหตุผลว่าทำไมต้องอินเดีย

ตัวอย่างเนื้อหาบางส่วน

ก่อนไปอินเดีย…           

“เรียนจบปีหนึ่งแล้ว ทำไมลาออกไปเรียนอินเดียล่ะ มะปราง?”

          นั่นสิ ทำไม?
          หนึ่ง ถ้ายังเรียนต่อที่เมืองไทย พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แน่ๆ แล้วพอเรียนจบ จะได้งานดีๆ ทำเหรอ?

          สอง ทุนฟรีไม่มีข้อผูกมัด จ่ายแค่ค่าตั๋วเครื่องบินเอง คุ้มจะตาย

          สาม อยากไปเที่ยวอินเดีย .. ข้อนี้ สำคัญที่สุด

เรื่องของเรื่องคือ มันเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจของนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปีหนึ่งคนหนึ่งที่ชื่อ “มะปราง” มันเกิดอาการเบื่อ ไม่มีอะไรทำช่วงปิดเทอมขึ้นปี 2 อยากหาที่ทดสอบภาษาอังกฤษตัวเอง แต่ TOEIC ก็เสียเงินเยอะ IELTS นี้ยิ่งไปใหญ่

แทบจะขายบ้าน ขายรถ ขายหมา หาเงินไปสมัครสอบ .. งั้นไม่เป็นไร ไม่สอบก็ได้ ไปเดินงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์แก้เซ็งแทน

นั่นแหละ .. จุดเริ่มต้นของการได้ไปเรียนต่ออินเดีย

มะปรางกวาดสายตาไปเห็นหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “ทุนเรียนฟรี มีทั่วโลก” วางโชว์พร้อมป้าย Sales 70% (ลดราคาอีกนิดก็เกือบจะแจกฟรีแล้วพี่เอ๋ย..) มะปรางควักเงินซื้อทันที

หลังเดินงานหนังสือเสร็จ มะปรางก็ออกไปเดินสูดอากาศสดชื่นที่สวนเบญจกิติด้านข้างของศูนย์ประชุมฯ ต่อ มีบางอย่างสะกิดให้มะปรางควักหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน หน้าแรกที่เปิดเจอ คือ ทุนรัฐบาลอินเดีย ICCR มะปรางอ่านหน้าแรก จนอ่านไปอีก 2-3 หน้า ..

            อ๊าว กำลังเปิดรับสมัครอยู่นี่ ไปลองสอบเล่นๆ หน่อยละกัน

มะปรางหาข้อมูลเอง เตรียมเอกสารเอง  ติดต่อสถานทูตด้วยตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่ามะปรางจะไปสอบ แม้แต่พ่อกับแม่ก็ไม่รู้ ไม่รู้จะบอกทำไม เพราะมะปรางแค่อยากสอบวัดระดับภาษาอังกฤษตัวเองเล่นเฉยๆ

เล่นๆ จริงๆ  สอบผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนอยู่เมืองไมซอร์ (Mysore) ทางอินเดียตอนใต้ เป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ.2554-2557) เรียนจบกลับมาบ้านพร้อมใบปริญญาตรี และใบคะแนนที่มีคำว่า First Class ระบุไว้ .. สงสัยจะเล่นมากไปหน่อย

 

เมื่อถึงอินเดียแล้ว….

แค่ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมอย่าง “ห้องเรียน” มะปรางก็เจอวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม หนึ่งในวัฒนธรรมใหม่นั้น คือ บรรยากาศ Debate

มันไม่ใช่ Deabte เถียงกันไปมาธรรมดา

เคยเห็นพี่แขกทะเลาะกันไหม? นั่นแหละ มันดุเดือดแบบนั้นแหละ ..

เสียงดังโวยวาย มือไม้ออก หน้าตาเอาเรื่อง บางที ไม่เห็นด้วยกับคนที่คิดต่าง ก็ส่งเสียงแสดงความไม่พอใจออกมาให้ได้ยินซึ่งๆ หน้าเลย! ใครเคยอยู่อินเดียมาก่อน หรือมีเพื่อนเป็นคนอินเดีย คงจะพอนึกออกว่าเป็นเสียงแบบไหน

เสียงมันประมาณนี้ เฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮ! ลากยาวมากและดังมาก พร้อมแบมือใส่หน้าคู่ปรับ อารมณ์ประมาณว่า อะไรของมึงเนี่ยยยยยยยย?!

ครั้งแรกที่เห็นการ Debate ในห้องเรียน มะปรางตกใจมาก นึกว่าเพื่อนมันจะชกกัน! มะปรางเก็บของใส่กระเป๋าเตรียมตัวที่จะวิ่งออกจากห้องได้ทุกเมื่อ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อออดพักกลางวันของมหาวิทยาลัยดังขึ้น คือ เพื่อนแขกเดินเข้ามาหากัน หัวเราะ ตบไหล่ของอีกฝ่าย แล้วเดินออกจากห้องเรียนไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน!

เออะ ..

ที่นี้ ในห้องเรียน เขาแย่งกันพูด แย่งกันแสดงความคิดเห็น เขาสงสัยอะไร เขาจะยกมือถาม เขากล้าติติง มันสอนให้มะปรางรู้ว่า การคิดต่างไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย และการโต้แย้งก็ไม่ใช่เรื่องผิด

สิ่งที่มะปรางประทับใจที่สุด คือ หลังจบการ Debate ไม่เคยมีการโกรธ ไม่เคยมีการไม่พอใจ ไม่เคยมีการปะปนเรื่องในห้องเรียนกับเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวเข้าด้วยกัน

ทุกย่างก้าวในอินเดีย มีบทเรียนให้เสมอ ขนาดมะปรางถูกตำรวจจับ มะปรางยังได้มองเห็นชีวิตในอีกแง่มุมหนึ่ง ใช่ค่ะ อ่านถูกแล้ว มะปรางถูกตำรวจจราจรจับ ด้วยสารพัดเหตุผลที่พี่ตำรวจบอกมา

หนึ่ง ใบขับขี่ไม่มี

สอง คู่มือจดทะเบียนรถก็ไม่มี

สาม หมวกกันน็อคไม่ใส่

สี่ ขี่รถมาด้วยความเร็วสูง

สูงมากกกก .. จำได้ว่าไม่น่าเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

พี่ตำรวจคิดค่าปรับเป็นเงินสดมูลค่า 3,500 รูปี (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,800 กว่าบาท) ช็อคหัวใจเหลือเกิน แม้กระทั่งค่าปรับ ยังมีราคาต่างชาติ มะปรางพกเงินติดตัวไม่ถึง 200 รูปี ไม่รู้จะทำยังไง มืดแปดด้าน กุญแจรถก็ตกอยู่ในมือพี่ตำรวจเรียบร้อย

ครั้งแรกในชีวิต มะปรางต้องวิ่งตามตื้อผู้ชายอินเดีย

Please Sir. Please. Discount.   ต่อรองกันเหมือนซื้อของตามร้านค้า

อยู่ในอินเดีย ต้อง “สตรอง” และ “สตอ” มะปรางต้องทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ได้มอเตอร์ไซค์คืนมาให้ได้ มะปรางชวนพี่ตำรวจคุย เริ่มจากการเล่าให้ฟังว่ามะปรางเป็นใคร มาจากประเทศอะไร สอบชิงทุนมาเรียนอินเดียได้ยังไง เรียนที่ไหน เรียนสาขาอะไร

ทำไมเลือกมาอินเดีย มีเพื่อนอินเดียเยอะไหม ชอบอาหารอินเดียหรือเปล่า ไปเที่ยวไหนในอินเดียมาแล้วบ้าง ฯลฯ

ผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่า คุยกันถูกคอ ค่าปรับลดจาก 3,500 รูปี เหลือ 100 รูปีในทันที

ฟังดูตลก แต่มันคือเรื่องจริง คนอินเดียหลายคนอาจจะดูดุ ดูเหมือนคนเห็นแก่ตัว แต่ถ้าเรารู้จักเข้าหาคนอินเดีย เราจะรู้ว่าลึกๆ เขามีจิตใจที่ผ่อนปรนให้แก่กันและกัน ผ่อนหนัก ผ่อนเบา เขามีจิตใจที่ไม่ถือสาหาความ

ถ้าใครมีโอกาสมาอินเดีย “ถนน” คือห้องเรียนที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน รถชนกันรุนแรงขนาดไหน มะปรางยังไม่เคยได้ยินข่าวคนอินเดียหยิบปืนออกมายิงกัน หรือปล่อยหมัดชกกันจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต อย่างมากก็แค่ตะโกนด่าเสียงดังๆ แล้วบีบแตร่ใส่หน้ารถมันซักที จบ!

เออออ ชีวิตที่นี้ ไม่เหมือนที่ไหนดี มันส์

3 ปี ในอินเดีย ทำให้มะปรางตอบกับตัวเองได้ว่า “ทำไมต้องเป็นอินเดีย?”

และมะปรางไม่อยากเป็นคนเดียวที่ตอบคำถามนี้ เพราะมันอาจจะแคบและน้อยไป มะปรางเลยชักชวน 10 คนไทย จากหลากหลายที่และสาขาอาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์อินเดีย ให้ทุกคนที่หยิบจับหนังสือเล่มนี้ได้อ่านกัน คำตอบมันจะได้ชัดเจนและเข้มข้นขึ้นว่า แล้วทำไมต้องไม่ใช่อินเดีย?

อ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว หลายคนอาจจะเห็นด้วย หลายคนอาจจะไม่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นคือ คุณจะถูกหนังสือเล่มนี้กระตุกให้คิด ให้มองอินเดียในมุมที่คุณไม่เคยสนใจ มองอินเดียในมุมที่คุณเคยมองข้ามไป อ่านเสร็จแล้ว คุณอาจจะเปลี่ยนใจจากที่เคยคิดจะตีแขกก่อนเจองูมาเป็น “ตีหัวตัวเองก่อนเจอแขก” ก็ได้

………………………………………………………………………………………………………………………………………………

10 คนไทยที่มะปรางคัดเลือกจากหลากหลายสาขาอาชีพที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้

1.พี่แพ็ต ธนิษฐา แดนศิลป์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ภารตะ                                                                       

2.น้องอดัม ซาหดัม แวยูโซ๊ะ นักสิทธิมนุษยชนเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้                                               

3.พี่แอน จริยา มิตรชัย ราชินีลิเกในวงการหนังบอลลีวูด                                                                              

4.คุณพ่อชาร์ม สัจเดว – พี่ศิเวก สัจเดจ  กรรมการผู้จัดการบริษัท IFS และกรรมการผู้จัดการบริษัท OMG Experience                    

5.ครูเก๋ วรารักษ์ สู่โนนทอง ทูตโยคะหัวเราะประจำประเทศไทย                                                                       

6.อาจารย์ปุ๊ก ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง ผู้เชี่ยวชาญผ้าอินเดีย                                                                                

7.อาจารย์เอลี่ วุฒิพงศ์ ถวิลสมบัติ อาจารย์สอนภาษาฮินดี มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เคยใช้ชีวิตนักเรียนเพศที่สามในอินเดีย               

8.พี่ขิง วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ บูติคโฮเต็ล กูรูของเมืองไทยและเจ้าของบริษัท Supergreen Studio                                               

9.อาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร                                              

10. บทสัมภาษณ์พิเศษ :  อดีตเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย หรรษ วรรธน ศฤงคลา   

 

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ:                 อินเดียมีอะไรจะบอก

ผู้เขียน :                     ปรางทอง จิตรเจริญกุล (มะปราง)

ขนาด:                       14 x 21.5 cm.

จำนวนหน้า :              272 หน้า พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม

สำนักพิมพ์ :               Learning hub

เดือนที่ออก :             มิถุนายน 2559

ประเภท :                   แนะแนวการศึกษา

จัดจำหน่าย :              se-ed books

หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจ ลูกสาวคนเดียวก็เรียนจบอินเดียได้ตามลิงค์นี้่ค่ะ

https://www.facebook.com/onlychildcansurviveinIndia/?fref=ts

 

12439270_436227879919865_887632379503323382_n

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปรางทอง จิตรเจริญกุล

ชื่อเล่น : มะปราง แต่เพื่อนๆ ที่อินเดียเรียก “พีเจ” (PJ) เพราะออกเสียงชื่อภาษาไทยไม่ได้ ออกเสียงทีไรเป็น แปร๊งตอง ไม่ก็ มาแปรง ตลอด ได้ยินแล้วไม่เคยรู้ว่าเพื่อนเรียกมะปรางอยู่ นึกว่าเรียกคนอื่น

การศึกษา : เรียนจบระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี หลังเรียนจบ ม. 6 มะปรางเข้าเรียนคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ลาออกตอนอยู่ปี 2 เทอม 1 เพื่อไปเรียนต่ออินเดีย

มะปรางสอบชิงทุนรัฐบาลอินเดีย ICCR ได้ในปี พ.ศ.2554 ไปเรียนต่อ Bachelor of Arts (B.A.) วิชาเอก History-Economics-Sociology (ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์) ที่ SBRR Mahajana First Grade College ภายใต้สังกัด University of Mysore

อาชีพ : หลังเรียนจบกลับมาไทยได้หนึ่งเดือน มะปรางเริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสายข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์ Bangkok Post  ทำจนถึงตอนนี้ (ตอนที่กำลังพิมพ์ข้อความนี้อยู่)

 

Categories EQ

12 ขั้นตอน “ให้อภัย” คนที่คุณไม่อยากให้อภัย

copy-of-%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%97%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1-1

1. อย่าไปสนใจเรื่องการอโหสิกรรมมากเกินไป

ถ้ายังไม่พร้อมก็ให้ละไว้ อย่าไปย้ำคิดย้ำทำ หยุดพูดสิ่งไม่ดี หยุดทำสิ่งไม่ดี เมื่อใจยังให้อภัยไม่ได้ ก็ขอให้แขวนทุกอย่างเอาไว้ก่อน

2.ที่อโหสิกรรมไม่ได้ เพราะจิตใจยังไม่ปล่อยวาง

เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง พูดง่ายๆ ว่า ยังจับสิ่งที่ผ่านไปแล้วมาคิดปรุงแต่งซ้ำๆ อภัยวันนี้ พรุ่งนี้คิดอีกก็โกรธอีก พอโกรธแล้วนึกได้ ก็ให้อภัยแล้วก็โกรธอีก เพราะแท้จริงแล้วใจยังยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง

3.ยอมรับ

ให้เรายอมรับกับใจของเราไปตามจริงว่า แท้จริงลึกๆ เราจะโกรธ ยังรู้สึกไม่ดีกับเขาอยู่ ให้รู้ว่า นี่คืออาการปกติของคนเรา ไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนก็เป็นแบบนี้มากบ้างน้อยบ้าง เราไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว และอย่าไปถามหาเหตุผล ขอให้จำไว้ว่า เมื่อคิดจะให้อภัยใครแล้ว ก็อย่าไปถามหาเหตุผลถูกผิด

4. ทำใจสบายๆ 

 มองฟ้า มองดิน มองสิ่งต่างๆ ด้วยใจเบิกบาน ทำความเข้าใจ ตระหนักให้ชัดเจนว่า สิ่งต่างๆ ได้เป็นอดีต และมันได้ผ่านพ้นไปแล้ว

5. มองเขา

มองผู้อื่นเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มองทุกคนด้วยความรัก มองว่า เขาก็มีเลือดมีเนื้อ มีเจ็บช้ำน้ำใจ ดีใจเสียใจเหมือนเรา

6. มองตัวเองว่า เราเองก็เคยทำผิดพลาดมาก่อน

เราเองก็ไม่ได้ดีไปทั้งหมด และเราก็เคยทำให้คนอื่นเสียใจเหมือนกัน

7. มองความดีของผู้ที่เราโกรธ

มองในมุมที่เป็นข้อดีของเขา มองอย่างเปิดใจ จนสามารถยอมรับ และชื่นชมในความดีของเขาได้

8. ฝึกเมตตาต่อผู้อื่น

คน สัตว์ สิ่งต่างๆ รอบตัว พยายามมองโลกนี้ด้วยใจที่อ่อนโยน อยู่กับโลกนี้ ทำกับโลกนี้เหมือนโลกนี้เป็นดอกไม้ที่บอบบางควรค่าแก่การทะนุถนอม

9. ลองทำดีกับผู้อื่น

เหมือนทำดีกับตนเอง เก็บของดีๆ ไว้ให้คนอื่นกิน ของไม่ดีเก็บไว้กินเอง เข้าร้านหนังสือ ซื้อเล่มเก่าๆ มาอ่าน เล่มดีๆ ปล่อยไว้ที่ร้านให้คนอื่นซื้อ ทำอะไรอย่าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตนเอง แต่เก็บสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้คนอื่น

10. เมื่อเจอใครก็ตาม ลองมองหาข้อดีของเขาให้เป็นนิสัย

มองไปที่หัวใจของเขาจนเห็นความงดงามภายในใจของเขา

11. เมื่อโกรธลองฝึกรู้ตัว

ไม่จำเป็นต้องหายโกรธทันที แต่ให้รู้จักหยุดนิ่ง แล้วมองมาที่ใจตนเอง

มองให้เห็นความชั่วร้าย น่าเกลียดของตนเอง ปล่อยวาง แล้วค่อยๆ แก้ไขปรับปรุง แต่อย่าไปรู้สึกอึดอัดกับความไม่ดีของตนเอง ให้เข้าใจว่า ทุกคนมีข้อดีข้อเสีย และเรากำลังฝึกมองตนเองอยู่

โดยเฉพาะเวลาโกรธ ขอให้ตระหนักว่า เป็นเวลาที่ดีที่สุดในการมองตนเอง

12. ให้อภัยผู้อื่น

การให้อภัยเป็นการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราเอง เราคือผู้รับประโยชน์ทางตรง ส่วนคนที่เราอภัยคือผู้รับประโยชน์ทางอ้อม ในทางกลับกัน ถ้าเรากักเก็บความโกรธแค้นไว้

คนที่เสียประโยชน์คนแรกก็คือเรา เพราะเราคือผู้จุดไฟเผาบ้านแห่งความสันติภาพของตนเอง จงมองโลกอย่างผู้ตื่น มองด้วยสติปัญญาอย่ามองด้วยอัตตา เราจะเห็นความธรรมดาของตนเอง และเห็นความธรรมดาของผู้อื่น เราจะเห็นความจริงที่ว่า เรามาอยู่โลกนี้เพียงชั่วคราว และไม่ใช่ใครยิ่งใหญ่ที่ไหน

แต่เป็นแค่คนธรรมดา สุขทุกข์ของเรา ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือแตกต่างไปจากใคร แต่เป็นแค่เรื่องธรรมดา มองตนเองให้เล็กเข้าไว้ อย่าให้ความสำคัญกับตนเองมากนัก อยู่อย่างคนธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดมาบนโลก

อยู่อย่างอ่อนน้อมถ่อมตนต่อโลก สุขบ้าง ทุกข์บ้างก็เข้าใจและเรียนรู้ไป แม้มีคนอื่นทำเราเสียใจ ก็ไม่แปลก โลกนี้มีคนเสียใจทุกวัน แค่บังเอิญวันนี้มันเกิดขึ้นกับเราเท่านั้นเอง

ขอให้ทำเช่นนี้ซ้ำๆ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป
เราก็จะสามารถให้อภัย คนที่เราไม่อยากอภัยได้แน่นอน!!!

บทความโดย “พศิน อินทรวงค์”
ติดต่องานบรรยาย (วิทยากร) / ติดตามผลงานหนังสือ
หรือติดตามอ่านบทความดีๆ ก็สามารถเข้ามาได้ที่
เพจ พศิน อินทรวงค์ (กรุณาพิมพ์เป็นภาษาไทยนะครับ)
https://www.facebook.com/talktopasin2013

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save