หลักพื้นฐาน 3 ประการ ของไดอะล็อค

“Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา” คือ กระบวนการสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง ใคร่ครวญ และไม่ด่วนตัดสิน

หลายท่านคนที่เคยไปเข้าวงไดอะล็อค จะรู้สึกว่า มันก็คือการตั้งวงสนทนาแบบนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้ว่าการไดอะล็อคส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมกันเป็นวงกลมในการพูดคุย ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ภายนอกเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับความพิเศษของกระบวนการไดอะล็อคอยู่มากทีเดียว

การที่เราจะเริ่มฝึกสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องสามารถ “แยกแยะ” ความแตกต่างระหว่างการไดอะล็อค กับการสนทนารูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน

Deep Listening – การฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน

บทสนทนาทั่วไป แม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ และถ้าเกิดมีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็วจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ “ค้นหาจุดอ่อน” ที่เราจะเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที

ในขณะที่การฟังในวงไดอะล็อคจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจและโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังเค้าต่อจนจบ ทักษะนี้เรียกว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งต้องอาศัย “สติ” และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะสามารถใส่ใจรับฟัง “สิ่งที่เค้าไม่ได้พูด” อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังแบบนี้ จึงไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ “รับรู้” ผู้พูดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นอกเห็นใจเค้าจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเค้า โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเราเข้าไปเป็นมาตรฐาน

การพูดคุยแบบอื่นนั้น มักจะลงเอยที่มี “ผู้แพ้ และผู้ชนะ” “มีคนถูก คนผิด” แต่สำหรับไดอะล็อคแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา “ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆกัน”

เนื่องจากในวงไดอะล็อค ให้ความสำคัญกับ “การค้นหาความเข้าใจร่วม” ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูกผิด หรือการให้ความสำคัญของความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวง และจะทำให้ไม่เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

Respect & Equalityความเท่าเทียม โดยปราศจากอิทธิพลใดๆครอบงำ

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อค ต่างมีข้อตกลงว่า ภายใต้การล้อมวงนั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากก็ตาม

สภาวะแห่งความเท่าเทียมกัน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโสหรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อคได้

Unfolding Assumptions – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อคกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อค พร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนขึ้นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าจะรู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก “ตัดสิน” จากคนอื่น แต่จะกลายเป็นการสร้าง “พื้นที่แห่งความจริง (moment of truth)” ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้และพร้อมเปิดใจของตนเองเช่นกัน

ในวงไดอะล็อค ไม่ได้จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความสุนทรียะ หรือให้รู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกจะทำให้เราได้เคลียร์ความในใจต่อกัน และไม่ต้องเดาหรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิดหรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่า ในบางครั้งการเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูมีอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่นและทำให้บางคนมีอารมณ์ที่ขึ้นสูงได้ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำร้ายกัน  นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากเรายังไม่รู้สึกไว้วางใจเต็มที่ ก็สามารถค่อยๆเปิดเผยความคิดของเราไปทีละชั้นๆได้ วงไดอะล็อคก็จะค่อยๆเติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กันและกัน ด้วยความเคารพให้ความเท่าเทียมกัน มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสินกัน  ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราก็สามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ


หากจะตอบคำถามในบรรทัดแรก ไม่ว่ารูปแบบการนั่งสนทนาจะนั่งพื้นเป็นวงกลมหรือไม่ สมาชิกจะพูดคุยกันอย่างออกรสเพียงใด หากองค์ประกอบ 3 ข้อตามที่กล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการไดอะล็อค

อย่างไรก็ตาม ในทุกบทสนทนา โดยไม่ทันรู้ตัว ก็อาจจะกลายเป็นการไดอะล็อคได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ หากผู้ร่วมวงสามารถเปิดใจรับฟังกันและกัน เคารพในความคิดของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม และเปิดใจจนเกิดการสนทนาที่ลึกซึ้งได้

ผลลัพธ์ของการพูดคุยครั้งนั้น จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สานสายสัมพันธ์ของผู้คน และประสานพลังความคิดให้เห็นมิติใหม่ๆ เกิดเป็นความเข้าใจร่วมที่สอดคล้องกันได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

หากต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และมีประสบการณ์เข้าร่วมวงไดอะล็อคอย่างแท้จริง ขอแนะนำหลักสูตร Dialogue & Deep Listening โดย อ.เรือรบ

5 ความผิดพลาด ที่คนสำเร็จเค้าไม่ทำกัน

ไม่ว่าคุณจะอยากประสบความสำเร็จในด้านใดก็ตาม จะเป็นการงานอาชีพ งานอดิเรก การใช้ชีวิตส่วนตัว ในเมื่อมีกฎสากลอยู่แล้วในการที่จะประสบความสำเร็จ มันก็มีบางสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ต่อไปนี้เป็น ความผิดพลาด 5 ประการ ที่ต้องระวัง มาลองดูกันว่าคุณตกหลุมพรางเหล่านี้ไปบ้างแล้วรึยัง

1.การเลี่ยงความรับผิดชอบ

“ราคาของความยิ่งใหญ่ ก็คือความรับผิดชอบ”

Winston Churchill

อย่างแรกที่คนสำเร็จเค้าไม่ทำกันคือ “การโทษคนอื่น หรือหาคนรับผิด” แม้กระทั่งในความคิดก็เถอะ เมื่อบางอย่างผิดพลาดไป อะไรคือปฏิกิริยาแรกของคุณ? สำหรับคนสำเร็จ เค้าเลือกที่รับความผิดนั้นไว้กับตน แทนที่จะโทษคนอื่นหรือโทษโชคชะตา นั่นจึงทำให้เขาได้ “เรียนรู้” จากความผิดพลาดนั้น แล้วก็ไม่ผิดซ้ำอีก

2.การผัดวันประกันพรุ่ง

“การผัดวันประกันพรุ่ง คือพฤติกรรมแย่ๆที่เลื่อนไปถึงวันมะรืน ในขณะที่ควรทำตั้งแต่เมื่อวานซืน”

Napoleon Hill

คนสำเร็จนั้นเน้น “กระทำทันที” โดยไม่สนว่าเป็น “เวลาที่เหมาะสม” หรือไม่ พวกเขาทำงานหนักและไม่เคยยอมแพ้ โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมว่าต้องเอื้ออำนวย ความลับของความสำเร็จนั้นมาจาก “การสะสมความสำเร็จเล็กๆ” ด้วยการทำซ้ำ เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ใช่รอท่าให้เกิดความสำเร็จใหญ่ครั้งเดียว

3.การตามกระแส

“ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้สำเร็จจากการที่ทำตามแนวโน้มหรือกระแสนิยมของคนทั่วไป”

Jack Kerouac

ในแต่ละวัน คนเราผลิตข้อมูลมากมายมหาศาลจนล้นทะลัก มันจึงง่ายที่เราจะกระโดดเข้าไปสนใจในสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เหมือนเป็นโรค “กลัวตกเทรนด์” การทำเช่นนี้ ทำให้เราไม่เหลือเวลาสำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่ตนทำอยู่ คนสำเร็จใช้พลังงานไปกับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับเป้าหมายของตนเอง โดยไม่สนใจเรื่องอื่น ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการสำเร็จในด้านการขายและการตลาด คุณอาจจะเลือกที่จะศึกษาลงลึกไปในด้านจิตวิทยามนุษย์ ไม่ใช่การมองหาวิธีโปรโมทแคมเปญใหม่ๆบนโซเชียลมีเดีย

4.ศิลปินเดี่ยว

“ ชีวิตไม่ใช่การแสดงคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันอย่างยิ่งใหญ่ และเราจำเป็นต้องรวบรวมคนรอบๆตัวที่เค้าใส่ใจและสนับสนุนเรา”

Tim Gunn

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่คนสำเร็จทำ นั่นก็คือแวดล้อมไปด้วยคนสำเร็จรอบๆตัว เขาจะไม่อยู่เพียงลำพัง จะมีเครือข่ายและกลุ่มมืออาชีพ อยู่ท่ามกลางคนฉลาด ที่สามารถทำเรื่องแตกต่างได้ นี่คือความจริง ไม่ว่าคุณจะอยากสำเร็จในเรื่องยิ่งใหญ่เพียงใด หรือแม้กระทั่งอยากลดน้ำหนักให้สำเร็จ มีการศึกษาวิจัยว่า เราจะลดน้ำหนักได้มากกว่าถ้าทำด้วยกันเป็นกลุ่ม

5.ขาดศรัทธา

เชื่อในตนเอง มีศรัทธากับความสามารถของตน หากไม่มีความถ่อมตนและมั่นใจอย่างมีเหตุผลในพลังของตัวเองแล้วล่ะก็ คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เลย”

Norma Vincent Peale

เรื่องนี้ไม่ใช่การคิดบวกหรือจินตนาการเข้าข้างตัวเอง “การมั่นใจอย่างมีเหตุผล” จะทำให้คุณสำเร็จในสิ่งที่คุณวางเป้าหมายไว้ หากคุณไม่คิดแม้แต่ว่าจะทำได้สำเร็จแล้วล่ะก็ คุณจะไม่ลองทำด้วยซ้ำ ดังนั้นคุณต้องเพาะบ่มความเชื่อและศรัทธาในตนเองให้เกิดขึ้น แม้ว่าชีวิตกำลังถอยหลังและยากลำบากอยู่ก็ตาม

 

การหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ จะช่วยให้คุณบรรลุความสำเร็จในการงานและเป้าหมายส่วนตัวได้ แต่ถ้าอยากพบกับ “ความสำเร็จที่แท้จริง” แล้วล่ะก็ คุณต้องมีความสุขกับชีวิตเสียก่อน แถมท้ายกับความผิดพลาดข้อ 6. “ความไม่สมดุล” คนเรามักจะล้มเหลวเพราะไม่มีความสมดุลระหว่าง การงาน ครอบครัว เพื่อน และสุขภาพของตน การที่เราสำเร็จด้านเดียว แต่แล้วก็ล้มเหลวด้านอื่น ก็ไม่อาจทำให้เรารู้สึกเต็มเต็มชีวิตได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ความสำเร็จที่แท้จริง คือ “ความสุขและความสมดุล” หากคุณสามารถสร้างสมดุลให้ทุกพื้นที่ของชีวิตได้ คุณก็จะมีความสุขและกำลังใจเต็มเปี่ยม เรื่องอื่นจะไปยากอะไร จริงมั้ยครับ

บทความโดย เรือรบ

 

3 สิ่งที่คนมักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “ความสุข” ?

What-makes-a-good-relationship

ความสุขคืออะไร ? คนเราต่างพูดถึงมันมาเป็นร้อยๆปี จนถึงวันนี้ มีผลวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามารองรับ แต่ก่อนที่จะไปถึงข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ เราน่าจะเริ่มจากคำถามง่ายๆเช่นว่า อะไรบ้างที่ไม่ใช่ความสุข ?

ความสุข ไม่ใช่การมีความรู้สึกดีตลอดเวลา

หากเป็นเช่นนั้นแล้ว คนขี้สงสัยคงถามว่า คนที่เสพโคเคน กัญชา ก็จะต้องเป็นคนที่มีความสุขมากๆใช่มั้ย? ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์แบบธรรมดาๆ ในทุกๆวันนั้น ดูจะเป็นผลดีต่อจิตใจมากกว่า อารมณ์แบบมีความสุขสุดๆ สำเร็จสุดๆ เพราะในที่สุดแล้ว อะไรก็ตามที่ขึ้นไปสูง ก็ย่อมตกลงมาเป็นธรรมดา

นอกจากนั้น หากคุณถามคนทั่วไปว่า อะไรคือสิ่งที่คุ้มค่ากับการมีชีวิตอยู่ พวกเค้าจะไม่พูดเรื่องอารมณ์หรอก พวกเขาจะพูดถึงอะไรที่มีความหมาย เช่น ความสัมพันธ์ ความดีที่ทำไว้ ซึ่งงานวิจัยก็ระบุว่า หากคุณเพ่งความสนใจไปที่ความพยายามที่จะรู้สึกดีตลอดเวลามากเกินไป คุณก็จะรู้สึกไม่พอใจสักที หรือพูดอีกนัยหนึ่ง จะไม่มีความรู้สึกดีอันใด ที่จะทำให้คุณรู้สึกพอใจนั่นเอง เพราะสิ่งที่คุณคาดหวัง มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้จริงสำหรับคนส่วนใหญ่

ความสุข ไม่ใช่ความร่ำรวย หรือสามารถซื้อทุกสิ่งที่อยากได้

แน่นอนว่าความเป็นอยู่ที่อดอยากขาดแคลน นั้นยากที่จะทำให้รู้สึกมีความสุข แต่เงินก็ไม่ใช่สิ่งที่จะซื้อความสุขได้เสมอไป ลองจินตนาการสิว่า อยู่ๆคุณก็ได้ขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ 1 แสน คุณก็จะตื่นเต้นมากๆในระยะสั้นๆ เวลาผ่านไปไม่นานความคาดหวังและการใช้จ่ายของคุณก็จะเปลี่ยนไปตามรายได้ใหม่ของคุณ ก่อนที่คุณจะทันรู้ตัว คุณก็จะมีความรู้สึกเหมือนๆกับก่อนหน้าที่จะได้เงินก้อนนี้มา เพราะเงินนี้ก็เอาไปใช้ซื้อบ้านใหม่ รถใหม่ สิ่งของเครื่องใช้หรูหราใหม่ๆ ที่ใครๆก็ต่างอยากมีกัน พอคุณได้มาแล้ว ความสุขก็ไม่ได้มากขึ้นเลย

มีข้อยกเว้นเดียวก็คือ หากคุณใช้เงินไปเพื่อซื้อประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น การจ่ายเงินเพื่อไปพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวกับครอบครัว จัดทริปเที่ยวสนุกผจญภัยกับเพื่อนๆ พาเพื่อนร่วมงานไปทำบุญบ้านพักคนชรา หรือเลี้ยงดูเด็กพิการ แบบนี้จะทำให้คุณมีความสุขมากกว่า เพราะคุณได้รับความสัมพันธ์ที่ดีและประสบการณ์ร่วมที่หาซื้อไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามนั่นมักไม่ใช่วิธีที่คนใช้จ่ายเมื่อได้เงินมา

ความสุข ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

มีความเชื่อเรื่อง “เป้าหมายของชีวิต” นั่นทำให้คนคิดถึงเรื่องความสุข ทำให้คนเราต่างทำงานหนัก เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่วันหนึ่งเราจะ “เดินทางไปถึง” ความสุขในบั้นปลาย ซึ่งในทางตรงกันข้าม อาจมีน้อยคนมากๆที่จะเข้าถึงความสุขแบบยั่งยืนหรือทำให้ตัวเองมีความสุขได้อย่างสม่ำเสมอ

โดยมากในชีวิต สิ่งที่จะสร้างความสุขให้เรานั้นจะเป็นเหตุการณ์แบบครั้งเดียวและระยะสั้น เช่น การเรียนจบ ได้เลื่อนตำแหน่ง และการแต่งงาน ซึ่งนั่นจะเป็นความสุขที่ค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆหลังจากที่เราปรับตัวรับรู้สิ่งนั้นๆแล้ว
นั่นจึงเป็นเหตุให้หลายๆคน พยายามค้นคว้าหาเทคนิควิธีการที่จะทำให้มีความสุขขึ้น เช่น การเขียนบันทึกแห่งการขอบคุณ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เป็นพฤติกรรมสร้างสุข เพราะมันไม่ใช่แค่เหตุการณ์ครั้งเดียว

ถ้าอย่างนั้น ความสุขคืออะไรกันแน่ ?

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความสุขเป็น ผลรวมของ 2 สิ่งคือ
ความพึงพอใจของคุณเกี่ยวกับชีวิต ตัวอย่างเช่น เมื่อได้ทำงานที่รัก หรือทำสิ่งที่มีความหมายต่อผู้อื่น
และ ความรู้สึกดี ที่คุณได้รับในแต่ละวัน

ทั้งสองสิ่งนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่ในเมื่อชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงตลอด และเรามีอารมณ์ขึ้นลงตลอดเวลา นั่นทำให้ความสุขเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

ข่าวดีก็คือ หากเรามีความพยายามอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องน้ำหนักตัวของเรา หากเรา หากเรากินตามใจและออกแรงตามใจ น้ำหนักก็จะอยู่ในระดับหนึ่ง เมื่อเรากินน้อยลงแต่ออกกำลังมากขึ้น น้ำหนักตัวจะปรับลดลง จนถึงจุดหนึ่งถ้าเราปฏิบัติให้เป็นนิสัย เราก็จะยังรักษาน้ำหนักในระดับนี้ต่อไปได้

แต่ถ้าเรากลับมากินและออกแรงเหมือนอย่างเคย น้ำหนักก็จะกลับไปเท่าเดิมในที่สุด
เช่นเดียวกับเรื่องของความสุข ถ้าคุณมีความสามารถที่จะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ คุณจะสามารถกำหนดรูปแบบของพฤติกรรม ที่จะสร้างความพึงพอใจและเติมเต็มในชีวิตได้ในระยะยาว
…………………………

แปลและเรียบเรียงโดย เรือรบ

เครดิตบทความ  What is Happiness, Anyway? By Acadia Parks, PhD
เครดิตภาพ Copyright: alexandralexey / 123RF Stock Photo

 

5 ทักษะ ที่เพิ่มระดับความสุขของคุณ

5skillofhappiness

ความสุข หากแบ่งจากที่มาของมัน จะเห็นว่ามีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก ความสุขภายนอก คือการได้รับสิ่งที่พอใจ และหลุดพ้นจากสิ่งที่ไม่ชอบใจ การได้ มี หรือเป็น ในสิ่งที่เราปรารถนาหรือคาดหวังไว้

ความสุขประเภทที่สอง ความสุขภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องพึ่งพิงวัตถุ ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องผิดหวัง และเราสามารถสร้างมันได้ด้วยตัวของเราเองทุกเมื่อที่ต้องการ

ความสุขจากภายในนี้ เป็น “ทักษะ” ที่ต้องอาศัยการฝึกและปฏิบัติให้เป็นนิสัย ต่อไปนี้เป็น “5 ทักษะ ที่จะเพิ่มระดับความสุขของคุณ”

1. ความดื่มด่ำ

ความดื่มด่ำนั้นเป็นวิธีที่ง่ายและเร็ว ในการเพิ่มอารมณ์ด้านบวก ลดความเครียดและอารมณ์ทางด้านลบ การฝึกที่จะสังเกตและรับรู้สิ่งดีๆรอบๆตัว และใช้เวลามากขึ้นที่จะอยู่กับมัน สุขใจเต็มเปี่ยมกับชั่วขณะนั้นๆ ทำให้ประสบการณ์ของความพึงพอใจนั้นยาวนานขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ ดังนั้นการฝึกก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมมื้ออาหาร การชื่นชมดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพูดคุยสนุกสนานกับเพื่อนๆ ในทุกกิจกรรมเราก็แค่ อยู่ตรงนั้น ดื่มด่ำกับมัน ในที่สุดเราก็จะทำได้จนเป็นนิสัย

งานวิจัยของ ดร.เฟรด ไบรอัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้แสดงว่า ผู้ที่รู้จักใช้ความดื่มด่ำเป็นประจำและอย่างสม่ำเสมอ จะมีความสุขมากขึ้น มีมุมมองด้านบวก พึงพอใจกับชีวิต ซึ่งความดื่มด่ำนั้นแบ่งได้เป็น 3 ห้วงขณะ นั่นคือ เราสามารถดื่มด่ำกับอดีตด้วยความคิดคำนึง ดื่มด่ำกับอนาคตด้วยจินตนาการด้านบวก ดื่มด่ำกับปัจจุบันด้วยการเจริญสตินั่นเอง


2. การขอบคุณ

การกระทำพื้นๆอย่าง การมองเห็นและชื่นชมในสิ่งที่ผู้อื่นทำให้แก่เรา นั้นเหมือนยาขนานเอก มันทำให้ราเติมเต็มไปด้วยอารมณ์บวกและความมั่นใจ เมื่อรู้ว่าคนเหล่านั้นอยู่เพื่อเรา และสนับสนุนในสิ่งที่เราต้องการ และมันทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เมื่อเราได้แสดงความขอบคุณไปสู่ใคร เราก็จะได้ความรู้สึกดีและคำขอบคุณตอบกลับมา การศึกษาโดย ดร.มาร์ติน เซลิคแมน ระบุว่าผู้ที่ได้เขียนจดหมายระลึกคุณไปให้คนที่เค้าไม่เคยมีโอกาสได้กล่าวคำขอบคุณมาก่อน จะทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้นในทันที และลดอาการของความซึมเศร้าลงได้

ดร. บ็อบ เอ็มมอน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องของการระลึกคุณ และแนะนำว่า ทุกๆคนควรที่จะฝึกที่จะระลึกคุณ เพราะจะได้ประโยชน์มหาศาล ประการแรก เพิ่มระดับความสุขขึ้นทันที 25% ประการที่สอง มันไม่ยากเลยที่จะทำ เช่น การเขียนบันทึกเพื่อระลึกคุณไปสัก 3 สัปดาห์ ก็จะสร้างผลกระทบทางบวกไปได้ยาวถึง 6 เดือนเลยทีเดียว ประการที่ 3 การเพาะบ่มจิตใจแห่งการระลึกคุณ จะทำให้สุขภาพดีขึ้น เช่น สามารถนอนหลับได้ยาวขึ้นและหลับได้ลึกขึ้น


3. ความมุ่งมั่น

ความมุ่งมั่น ก็คือความรู้สึกมีหวัง มีเป้าหมาย มีมุมมองด้านบวกกับตนเอง ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างแพร่หลายว่า ผู้ที่สร้างสิ่งที่มีความหายในชีวิตจะมีความสุขกว่า และมีความพึงพอใจมากกว่ากับชีวิต คุณก็สามารถที่จะรู้สึกอยากฟันฝ่าไปสู่อนาคตด้วยศักยภาพที่มี ใครบ้างจะไม่อยากรู้สึกเช่นนี้ การมีมุมมองด้านบวกนั้นก็สำคัญ มันจะทำให้เป้าหมายของคุณเป็นไปได้และความท้าทายทั้งหลายก็ดูจะง่ายขึ้นที่จะก้าวผ่านไป ด้วยเหตุนี้ คุณจะไม่เพียงรู้สึกถึงความสำเร็จ แต่คุณจะสำเร็จได้มากขึ้นแน่นอน

ระดับของความหวัง จะแปรผันทำให้ความสามารถในการทำงานดีขึ้น การใช้จุดแข็งในชีวิตประจำวัน จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และมีความกระตือรือร้น หากเชื่อว่าเป้าหมายนั้นไปถึงได้แน่นอน นั่นย่อมจะทำให้รู้สึกถึง จุดมุ่งหมาย และความหมายของชีวิต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของความสุข


4. การให้

การให้อะไรก็ตามนั้นง่ายสุดๆ และเห็นได้ชัดว่า เมื่อเราให้บางอย่างกับใคร เรากำลังทำให้เค้ามีความสุข แต่สิ่งที่คุณอาจไม่รู้ก็คือ ผู้ที่ให้ ไม่ใช่ผู้ที่รับ จะได้ประโยชน์มากกว่าอีก มีการศึกษาวิจัยมากมาย ที่แสดงว่า การเป็นผู้ให้นั้น ไม่เพียงจะทำให้เราลดความเครียด รู้สึกโดดเดี่ยว หรือความโกรธ แต่ยังทำให้เรารู้สึกได้ถึงความสุขที่มากขึ้น ได้เชื่อมกับโลก และรู้สึกเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่โด่งดังของ Dr. Sonja Lyubomirsky ที่ให้นักศึกษา สัญญาที่จะทำดีกับผู้อื่น สัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้ทำ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ทำดีกับผู้อื่นนั้นมีความสุขเพิ่มขึ้นถึง 42% งานวิจัยของ Dr. Stephen Post ก็ได้ผลว่า เมื่อเราได้ให้ออกไป จะมีผลกระทบอย่างสูงกับทุกๆเรื่องในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความพึงพอใจ ความตระหนักรู้ในตนเอง สุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


5. ความเห็นอกเห็นใจ

ความเห็นอกเห็นใจ เป็นความสามารถในการใส่ใจกับผู้อื่น เป็นความคิดความเข้าใจ ในพฤติกรรมและไอเดียของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่แม้จะแตกต่างจากเราก็ตาม เมื่อเราใส่ใจกับเรื่องความสัมพันธ์ในชีวิต การมีทักษะในความเห็นอกเห็นใจนั้นสำคัญมากๆ เมื่อเราเห็นใจผู้อื่น เราจะลดการตัดสิน ลดความหงุดหงิด ความโกรธ หรือความผิดหวัง และเราจะมีความอดทนมากขึ้น เราจะเพิ่มพันธะผูกพัน ความสนิทสนมมากขึ้น และเมื่อเรานั้นได้ตั้งใจฟังจริงๆ ในมุมมองของผู้อื่น ก็จะพบว่าพวกเขาก็จะตั้งใจฟังเรามากขึ้นเช่นกัน ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นสำคัญต่อความสุขของคนเรา ดังนั้นการฝึกที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงสำคัญมาก

อันนี้ก็รวมไปถึงเรื่องความเมตตาที่มีให้กับตนเอง งานวิจัยของ Dr. Kristin Neff ได้ชี้ว่า คนที่มีความเมตตาต่อตนเองนั้นจะมีสุขภาพที่ดีกว่า มีผลลัพธ์ในชีวิตมากกว่าคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง


ที่มา www.happify.com – The 5 Skills That Will Increase Your Happiness

แปลและเรียบเรียงโดย เรือรบ

 

ด้วยแรงบันดาลใจและความเชื่อว่า ความสุข เป็น “ทักษะที่สร้างได้ และส่งต่อได้” เรือรบ จึงได้เขียนหนังสือ “ Happiness Recipe: 10 สูตรผสมความสุข” ที่จะทำให้ท่านได้แนวคิดและแรงบันดาลใจ เพื่อออกแบบความสุขในฉบับของตนเอง

รายละเอียดหนังสือ คลิก

 

5 วิธีที่ทำให้ชีวิต “ช้าลง”

slowlife

เคยเป็นไหม ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบเพื่อให้ทำอะไรเสร็จเร็วๆ แต่หลายๆครั้งกลับผิดพลาด หลงลืมอย่างไม่น่าให้อภัย

เรามักบอกตัวเองว่าไม่มีเวลา จึงดูเหมือนว่าจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆก็ยากไปเสียหมด แต่เรากลับมีเวลาผลาญเล่นไปกับเกม ยูทูป และโซเชียลมีเดีย

เชื่อหรือไม่ หากเราช้าลงกว่าปกติสักนิด กลับเราจะทำสิ่งต่างๆได้เร็วขึ้น เพราะมีความผิดพลาดน้อยลง ไม่ต้องเสียเวลาในการแก้ไข หรือกลับมาทำใหม่

หากเราช้าลงอีกสักหน่อย เราจะเห็นว่า เราจัดสรรเวลาได้ เวลามีเหลือเฟือสำหรับสิ่งที่สำคัญกับเรา

การใช้ชีวิตให้ช้าลง ไม่ได้หมายถึง เรื่อยเปื่อยเนิบนาบเป็นเต่าคลาน แต่หมายถึง ช้าพอที่เราจะสามารถผ่อนคลายและดื่มด่ำกับชีวิตได้

หากวันนี้เราคิดว่าความเร็วเป็นสิ่งที่จำเป็น มันอาจทำให้เรารีบจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

จริงๆแล้วเราสามารถทำหลายๆสิ่งให้ช้าลงได้ในจังหวะที่ตัวเองรู้สึกโอเค แต่กลับทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่เรียกว่า ช้าเพื่อเร็ว นั่นเอง

 

5 สัญญาณบ่งบอกว่า เราใช้ชีวิตเร็วเกินไป

  1. คุณพบว่า มันยากขึ้น ที่จะโฟกัสกับสิ่งตรงหน้าในปัจจุบันขณะ คุณต้องคอยหาอะไรทำตลอดเวลา 2. คุณใช้ชีวิตไปเหมือนเดิม เรื่อยๆ “อย่างเป็นอัตโนมัติ” โดยไม่ได้ตระหนักว่า คุณกำลังทำมันอยู่ด้วยซ้ำ 3. คุณรีบเร่งไปกับกิจกรรมต่างๆในแต่ละวัน โดยไม่ได้ใส่ใจกับมันนัก รีบทำให้เสร็จเพื่อไปทำอย่างอื่นต่อ 4. คุณกำลังมุ่งมั่นกับเป้าหมายบางอย่างอยู่ จนคุณไม่ได้ใส่ใจว่าตอนนี้ตัวเองและคนรอบข้างกำลังทำอะไรอยู่บ้าง 5. คุณพบว่าในสมอง เต็มไปด้วยความคิดเกี่ยวกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง หรือความคำนึงอยู่กับอดีตที่ผ่านมาแล้ว

 


 

ชีวิตที่ช้า คือชีวิตที่ยืนยาว

คนเรายอมเสียเงินนับแสน เพื่อซื้อยาต้านความแก่ วิตามินชะลอความชรา ทำทุกอย่างเพื่อยืดอายุตัวเองออกไป ให้ได้อีกสัก 1-2 ปีก็ยังดี พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเป็นอัตโนมัติและหลับใหล ทำตามระบบไปอย่างไม่รู้วันคืน แต่พวกเขากลับไม่พยายาม “ตื่นขึ้นมา” เพื่อใช้ชีวิตของตัวเอง ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องอายุยืนจนแก่หง่อม จึงจะเรียกว่า “ใช้ชีวิตคุ้ม” คุณสามารถใช้ชีวิตที่มีคุณภาพและยืนยาวได้ โดยเพิ่มเวลาการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ขึ้นสัก 2 เท่าในทุกๆวัน นั่นเท่ากับว่าคุณมีอายุยืนขึ้นในด้านคุณภาพ เหมือนคุณอายุ 60 ปี แต่ได้ใช้ชีวิตเท่ากับคนที่มีอายุยืนยาว 120 ปี

แล้วถ้าคุณเพิ่มเวลาได้ถึง 3-4 เท่าล่ะ ? มันจะดีแค่ไหน

ในเรื่องการใช้ชีวิต ปริมาณของเวลาไม่มีความหมายเท่ากับคุณภาพ

หากแม้คุณอายุยืนขึ้นเพราะเทคโนโลยีการแพทย์ แต่ไม่มีความสุข

ไม่ได้ใช้ชีวิตที่ตนเองรัก เพราะถูกบังคับ มีแต่ข้อจำกัด นั่นอาจเป็นความทรมานอย่างร้ายแรง

ดังนั้นสิ่งที่ต้องกลับมาคิดใคร่ครวญก็คือ จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตได้อย่างไร ?

ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีง่ายๆที่จะยืดชีวิตให้ยาว ปลุกเราให้ตื่นจากความหลับใหล ด้วยการทำชีวิตให้ “ช้าลง”

5 วิธี ที่ทำให้ชีวิต “ช้าลง”

 1. กลับมาอยู่กับลมหายใจ

เมื่อใดก็ตามที่คุณรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ หงุดหงิด เครียดหรือกังวล ลองใช้เวลาสัก 3 นาที นำจิตที่ว้าวุ่น กลับมาอยู่กับลมหายใจ…. สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ให้ลึกยาว จนรู้สึกว่าท้องพองออก ผ่อนลมหายใจออกเบาๆผ่อนคลาย จนรู้สึกว่าท้องยุบลง ทำแบบนี้ต่อเนื่องกัน โดยนำจิตรับรู้ อยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น มันจะเป็นสะพานเชื่อมร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเข้าด้วยกัน เพียงเท่านี้คุณก็จะเกิดสมดุลทางอารมณ์ขึ้นมา การกลับมาสู่ปัจจุบันขณะจะทำให้สติของคุณเต็มเปี่ยม

 การกลับมาอยู่กับลมหายใจสักครู่หนึ่ง จะช่วยให้คุณจะพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

2. ออกไปเดินเล่น

นี่เป็นวิธีออกกำลังที่ง่ายที่สุด ช่วยปลดปล่อยความเครียด และช่วยผ่อนคลายอารมณ์ การเดินจะช่วยให้คุณกลับมาอยู่กับปัจจุบัน สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆรอบตัว สัมผัสกับธรรมชาติและกิจกรรมต่างๆของผู้คน คุณอาจเปลี่ยนจากการขึ้นรถเมล์ ขึ้นมอเตอร์ไซด์ ขึ้นลิฟท์ เป็นการเดินแทน แถมยังช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย แต่ถ้าอยากสดชื่นกว่านั้น ออกไปเดินตอนฝนตกปรอยๆ หรือเดินในสวนตอนเช้าๆอย่างไม่รีบเร่ง

 แค่ได้อยู่กับการเดิน เชื่อมั้ยว่าคุณจะรู้สึกดีสุดๆไปเลย

 

 3. ดื่มด่ำไปกับกิจกรรมต่างๆ

ความสุข คือการมองเห็นสิ่งๆเดิม ในมุมมองที่เปลี่ยนไป ในเมื่อชีวิตนั้นเกิดขึ้นที่นี่และเดี๋ยวนี้ วันวานและวันพรุ่งนี้มีอยู่เพียงแต่ในความคิด ดังนั้นไม่เป็นการดีกว่าหรือ ที่เราจะสัมผัสรับรู้กับปัจจุบันขณะที่กำลังเป็นอยู่ ฝึกที่จะสังเกตและรับรู้สิ่งดีๆรอบๆตัว และใช้เวลามากขึ้นที่จะอยู่กับชั่วขณะนั้น มันจะทำให้ประสบการณ์ของความพึงพอใจนั้นยาวนานขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าครัวเตรียมมื้ออาหาร การนั่งเล่นชื่นชมดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การพูดคุยสนุกๆกับครอบครัว ในทุกๆกิจกรรม เราก็แค่ “อยู่ตรงนั้นอย่างเต็มเปี่ยม และดื่มด่ำกับมัน”

 แค่รู้จักดื่มด่ำกับสิ่งรอบตัว  เราจะสัมผัสความสุขได้ง่ายๆและบ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ

 4. อยู่กับความเงียบ

หลายคนคิดว่าความสุข คือความสนุกสนานร่าเริง และมีกิจกรรมต่างๆทำให้เพลิดเพลินใน แต่เราหารู้ไม่ว่า ชีวิตที่ถูกครอบครองด้วยกิจกรรมตลอดเวลา ลึกๆแล้วจะเรียกร้องหา “เวลาสำหรับตัวเอง” แม้แต่คอมพิวเตอร์ยังต้องการ Defragment และ มี Sleeping Mode มนุษย์เราก็ต้องการ “ชั่วขณะแห่งความเงียบ” ให้ตัวเองเหมือนกัน ในทุกๆวัน เราน่าจะกำหนดเวลาสัก 5-10 นาที เพื่ออยู่กับตัวเองลำพังในความเงียบ ลองใช้คำถามเหล่านี้กับตนเอง และอาจจะเขียนมันลงไปเพื่อให้หลายๆสิ่งชัดเจนขึ้น ร่างกายเรากำลังรู้สึกสัมผัสกับอะไรบ้างในขณะนี้ ? จิตใจและอารมณ์ในขณะนี้ของเราเป็นอย่างไร ? เรากำลังคิดถึงเรื่องอะไรอยู่ มีความกังวลหรือไม่สบายใจอะไรบ้าง ? เมื่อทบทวนชีวิตในวันนี้ มีอะไรที่เราได้เรียนรู้ มีอะไรที่เราจะทำได้ดีขึ้นในวันพรุ่งนี้ ? เมื่อเรากลับมาสนใจ รับรู้ ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเองได้สักพัก เราจะพบกับความสงบใจอย่างน่าประหลาด

 ท่ามกลางที่ว่างนี้ ดูเหมือนจะเกิดความสุขได้ง่ายขึ้น เราจะตอบคำถามบางอย่างในใจตนเองได้ และรู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อไป

 

5. ไม่ด่วนตัดสิน

ความน่ากลัวอย่างหนึ่งที่คนเรามักมองข้ามไปก็คือ “เราจะได้ยิน เฉพาะสิ่งที่เราอยากฟังเท่านั้น” เมื่อใดก็ตามที่เรา “ด่วนตัดสิน” กับคนบางคน กับเรื่องบางเรื่องไปแล้ว แม้เค้าพูดไม่ทันจบประโยค เราจะปิดการฟังไป เปลี่ยนเป็นการแทรกสอด คำถาม หรือไม่สนใจ นั่นทำให้เกิดการเข้าใจผิด เกิดความขัดแย้งขึ้นในความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   ฝึกที่จะรับฟังผู้คนจนจบ โดยยังไม่ด่วนตัดสิน ตีความไปก่อน นั่นทำให้การสื่อสารนั้นเข้าถึงเราได้อย่างเต็มเปี่ยม เราจะได้ยินในสิ่งที่เค้าไม่ได้พูดออกมา ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ แล้วจะประหลาดใจว่า เราสามารถเข้าใจเค้าได้ง่ายขึ้น

หนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราใช้ชีวิตช้าลงได้และไม่ด่วนตัดสิน ได้แก่ “การฝึกไดอะล็อค” พัฒนาทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง

ซึ่งผมพัฒนาเป็นหลักสูตรอบรม 1 วัน   “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง” 

การช้าลง ไม่ด่วนตัดสิน จะทำให้การสนทนาที่ดูจะยากลำบากครั้งนั้น กลับราบรื่นไปได้ด้วยดี

เป็นอย่างไรบ้างครับ กับ 5 วิธีการทำให้ชีวิตช้าลง หากเรานำวิธีเหล่านี้ไปใช้ เชื่อว่าจะมีความสุขขึ้นมากๆและบ่อยครั้งด้วย

หากคุณมีวิธีอื่นๆในการใช้ชีวิตให้ช้าลงและมีความสุขขึ้น กรุณาแชร์ในคอมเม้นท์ด้านล่างได้เลยนะครับ

บทความโดย เรือรบ

 

Deep listening การฟังอย่างลึกซึ้งคืออะไร?

201003-omag-oprah-thich-nhat-hanh-600x250

ถอดความและเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ หลวงปู่ ติช นัท ฮันน์ ในรายการของ โอปรา วินฟรีย์

การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์จากใจของผู้อื่นได้ หรือจะเรียกว่า การฟังด้วยความเมตตาก็ได้ เธอจะฟังด้วยวัตถุประสงค์เดียวก็คือ ช่วยให้พวกเขา ได้ปลดปล่อยทุกสิ่งจากหัวใจจนหมดสิ้น ด้วยเธอตระหนักว่ากำลังช่วยเขาเหล่านั้นให้คลายความทุกข์ลง

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพูดหรือคิดในมุมมองที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด หรือด้วยความระทมขมขื่นก็ตาม เธอก็ยังสามารถรับฟังต่อไปด้วยจิตแห่งความเมตตาได้ เพราะเธอรู้ว่า การฟังแบบนี้ ด้วยจิตแห่งความเมตตา เธอกำลังมอบโอกาสให้พวกเขา บรรเทาความทุกข์ลงได้

หากเธอต้องการที่จะช่วยแก้ไขมุมมองความคิดของพวกเขา ให้เธอรอในโอกาสต่อไป แต่ในช่วงเวลาขณะนี้ เธอเพียงมอบการฟังอย่างลึกซึ้ง และช่วยให้เขาบรรเทาทุกข์ลง เพียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยา

ความกลัว ความโกรธ และความสิ้นหวัง บังเกิดจากพื้นฐานมุมมองที่เห็นผิด พวกเราล้วนต่างมีมุมมองที่เห็นผิด ในการคำนึงถึงแต่ตนเอง และไม่สนอีกฝ่ายหนึ่ง และนี่เป็นรากฐานของความขัดแย้ง สงคราม และความรุนแรงทั้งมวล

ผู้คนควรจะเริ่มพูดต่อกันอย่างนี้ “เพื่อนรัก ฉันรู้ว่าคุณมีความทุกข์อย่างมาก ฉันไม่อาจทำความเข้าใจได้เพียงพอถึงความยากลำบากและความทุกข์ที่คุณมี มันไม่ใช่ความตั้งใจของฉันที่จะทำให้คุณทุกข์มากขึ้น มันตรงกันข้ามเลย ดังนั้นขอให้คุคุณกรุณาเล่าให้ฉันฟัง ถึงความทุกข์ที่คุณมี ความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ฉันต้องการที่จะรับรู้และเข้าใจมัน”

บทสนทนาต้องเริ่มจากสิ่งนี้ ด้วยคำพูดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรัก และถ้าเธอมีความจริงแท้และซื่อตรงในใจ พวกเขาจะเปิดหัวใจออกและบอกกับเธอ

และเมื่อเราฝึกที่จะมอบความเมตตาด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ในท่ามกลางกระบวนการแห่งการฟังนั้น เราจะได้เรียนรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับมุมมองของเราเองและมุมมองของพวกเขาด้วย

และนี่คือหนทางที่ดีที่สุด เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความขัดแย้งทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากระหว่างตัวเธอกับครอบครัว ลูกกับพ่อ เจ้านายกับลูกน้อง แม้กระทั่งสงครามและการก่อการร้าย หลักการเดียวกันนี้ ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ว่ากับระดับความขัดแย้งรูปแบบใดก็ตาม…


 

การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

โสคราติส

“The Triple Filter Test of Socrates” การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

มีเรื่องเล่ากล่าวขาน ที่ได้รับการสืบต่อกันมาจากยุคสมัยที่อาณาจักรกรีกยังรุ่งเรือง เป็นเรื่องราวของนักปราชญ์คนสำคัญนามว่า “โสคราติส” ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง ได้เตือนสติผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของการพูดและการฟังไว้ได้ดีมาก

วันหนึ่ง มีคนรู้จักบังเอิญได้พบกับ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จึงพูดขึ้นว่า..”คุณรู้อะไรมั้ย? ผมเพิ่งได้ยินเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนของคุณมา”

“ช้าก่อน…” โสคราติสตอบ “ก่อนที่ท่านจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนของข้า มันอาจเป็นความคิดที่ดี ถ้าจะใช้เวลาสักครู่ กลั่นกรอบเรื่องที่ท่านกำลังจะพูด ซึ่งข้าจะเรียกมันว่า “การทดสอบกลั่นกรองสามชั้น”

“กลั่นกรองสามชั้น?”

“ถูกต้องแล้ว” โสคราติสกล่าวต่อไป ตัวกลั่นกรองแรก คือ “ความจริง”

ท่านแน่ใจจริงๆหรือว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะบอกข้า นั้นเป็นเรื่องจริง?”

“เปล่าหรอก…” ชายผู้นั้นตอบ “อันที่จริง ข้าก็แค่ได้ยิน เรื่องนี้มาเท่านั้นเอง แล้วก็…”

“เอาเถอะ เอาเถอะ ” โสคราติสกล่าว “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่รู้ว่า เรื่องที่ท่านรู้มาจริง หรือเท็จ
คราวนี้มาลองทดสอบ ตัวกลั่นกรองตัวที่สองกันดู

ตัวกลั่นกรองที่สอง คือ “ความดี”

เรื่องที่ท่านกำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้าพเจ้า เป็นเรื่องดีหรือไม่?”

” อืม ก็ไม่นะ ที่จริงมันเป็นเรื่องตรงกันข้าม…”

“ถ้าเช่นนั้น” โสคราติส กล่าวต่อ “ท่านต้องการบอกข้า เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีของเขา แต่ท่านไม่แน่ใจว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่…
ไม่เป็นไร ยังไงเสียท่านอาจจะ ผ่านการทดสอบนี้ก็ได้ เพราะยังเหลือตัวกลั่นกรองอีกหนึ่ง :

ตัวกลั่นกรองสุดท้ายนี้คือ “ความมีประโยชน์”

ท่านคิดว่าเรื่องที่ท่าน กำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้านั้น จะเป็นประโยชน์อะไรกับข้าหรือไม่?”

“จริงๆ มันก็ไม่เกี่ยวกับท่านนักหรอก”

“อืม…” โสคราติสสรุป “ถ้าเรื่องที่ท่านจะบอกข้านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องดี และ ไม่มีประโยชน์ เหตุใดท่านจึงอยากบอกข้าเล่า?”
……………..
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้โสคราติสเป็นมหาปราชญ์ และได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงนับตั้งแต่อดีต มาจนบัดนี้…
สรุปว่าตัวกลั่นกรอง 3 ชั้น ที่ควรรับฟัง ก็คือ 1 ความจริง 2 ความดี 3 ความมีประโยชน์

ก่อนที่จะพูดหรือกระจายข่าวเรื่องอันใด หากเราได้ทบทวน ใช้ตัวกลั่นกรองทั้ง 3 นี้ ก็จะทำให้เรารู้ว่า สิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด และหากเราเป็นผู้รับฟัง สามารถใช้เป็นเครื่องพิจารณาว่า ถ้าขาดทั้ง 3 สิ่งนี้ไป เราก็ไม่ควรจะปักใจเชื่อในทันที และลองมองอีกด้านว่าคนผู้นั้น อาจไม่ใช่คนที่หวังดีกับเราอย่างแท้จริงก็เป็นได้


 

5 สัญญาณอันตรายว่าคนนี้อาจไม่ใช่

หากคุณคบใครสักคนแต่แทนที่จะรู้สึกสุขใจ คุณกลับรู้สึกไม่ดี รู้สึกรีบเร่ง เครียดอึดอัด ร้อนรนทุรนทุราย คุณต้องการเขาทุกลมหายใจเข้าออก ไม่เป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าความสัมพันธ์แขวนอยู่บนเส้นด้ายและไม่มั่นใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขาคืออะไร เป็นความรู้สึกขึ้นๆลงๆ บางครั้งก็สุขบางครั้งก็ทุกข์ คอยวิตกกังวลว่าคุณจะอาจสูญเสียเขาไปได้ทุกนาที คุณต้องการจะครอบครองเขาเพื่อจะให้รู้สึกว่าเขารักคุณ คุณจะนั่งครุ่นคิดในทุกรายละเอียดของปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขา อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆนั่งคิดว่าเขารู้สึกยังไง ความสัมพันธ์นี้จะเป็นยังไงต่อ การยอมรับของเขาทำให้เกิดความอิ่มอกอิ่มใจ แต่การไม่ได้รับการยอมรับทำให้เกิดความทุกข์ใจ หากคุณมีอาการอย่างที่ว่ามาข้างต้น ให้คุณลองประเมินว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับความสัมพันธ์ที่คุณมีอยู่ หากคุณรู้สึกแย่อยู่บ่อยๆแปลว่าคุณมาผิดทางสัญญาณอันตราย 5 ข้อได้แก่

1. คุณไม่เชื่อใจเขา

ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ ในความสัมพันธ์ที่ดี คุณจะรู้สึกผ่อนคลาย มั่นคง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้น ถ้าหากคุณไม่เชื่อในสิ่งที่เขาบอกและมีคำถามอยู่ในใจเสมอ หรือระแวงตลอดเวลา คุณไม่ควรจะเสียเวลาหาความผิดปกติเหล่านั้น เพราะมันน่าเหนื่อยมาก ถ้าหากคุณเคยโดนเขาหักหลังหรือโกหก หากคิดจะกลับมาดีกันใหม่ก็ต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่นอกใจอีก มันจะแย่มากหากคุณยังต้องรู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอด ความสัมพันธ์ควรจะแสดงตัวตนที่ดีที่สุดของคุณ ไม่ใช่ตัวตนที่แย่ที่สุด

2. ไม่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงที่ลึกซึ้ง

ความรู้สึกถูกตาต้องใจนั้นสำคัญ แต่เฉพาะสิ่งนี้ไม่ช่วยให้ความสัมพันธ์ยืนยาว คุณควรรู้ว่าเขาคิดอะไร เขาต้องการอะไรในชีวิต ความหวัง ความฝัน ความกลัวของเขาคืออะไร แต่ถ้าคุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย ก็แปลว่า คุณก็ไม่ได้รู้จักเขาดีพอ ข้อนี้สามารถแก้ไขได้หากคุณพยายามจะเรียนรู้เขา แต่หากเขาไม่ร่วมมือ อาจหมายถึงเขาไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคุณมากพอ ซึ่งก็หมายถึงเขาไม่ได้ต้องการจะจริงจังในความสัมพันธ์ หรือคุณสองคนอาจจะไม่เหมาะสมกัน

3. เขาทำให้คุณแสดงตัวตนที่แย่ที่สุด

ถามตัวเองว่า คุณชอบตัวเองเมื่ออยู่กับเขาไหม ผู้หญิงหลายคนถูกพันธนาการไว้กับความสัมพันธ์แย่ๆที่ทำให้คุณกลายเป็นคนที่แย่ที่สุด คุณกลายเป็นคนที่ไม่ชอบตัวเองเมื่ออยู่ใกล้ๆเขา จากที่เคยเป็นคนมีความสุข มั่นใจ มองโลกในแง่ดีกลับกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไม่มั่นคง ตื่นตระหนก หวาดระแวง วิตกกังวล อึดอัด หมดพลัง แต่ด้วยความรู้สึกรัก ทำให้ยังทนอยู่ในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่ดีควรจะผลักดันให้คุณกลายเป็นคนที่ดีที่สุดที่คุณสามารถจะเป็นได้ไม่ใช่ดึงคุณให้ถอยหลัง ดังนั้นให้เรามีความกล้าหาญที่จะถามตัวเองว่าเรามีความสุขในความสัมพันธ์นี้ไหม อย่ามัวแต่เสียเวลา เสียพลังงาน กับคนที่ไม่ใช่

4. ไม่มีค่านิยมร่วมกัน

ค่านิยมพื้นฐานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณทั้งสองคนมีค่านิยมไปคนละทิศคนละทาง เช่น คุณชอบหาความรู้เพิ่มเติมและหมั่นพัฒนาความสามารถใหม่ๆอยู่เสมอ แต่อีกฝ่ายชอบความสบายและอยากทำงานเที่ยวเล่นไปวันๆ หรือฝ่ายหนึ่งมีความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่เชื่อในสถาบันครอบครัว การขาดค่านิยมร่วมกันทำให้ความสัมพันธ์ระยะยาวเป็นไปได้ยาก

5. การขาดการเคารพซึ่งกันและกัน

เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ ผู้ชายต้องการรู้สึกว่าเป็นผู้ชาย และต้องการที่จะได้รับการเคารพและชื่นชมจากผู้หญิง ผู้ชายบางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอหากผู้หญิงช่วยเหลือทำให้ทุกอย่างจนเขาไม่เหลือความภาคภูมิใจในตัวเอง  ผู้หญิงเองก็ต้องการการเคารพจากคนที่รัก เคารพในค่านิยม ทัศนคติ ความเป็นตัวตนของเธอหากคู่ของคุณชอบต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์คุณแสดงว่าเขาไม่ได้เคารพคุณและไม่ยอมรับในแบบที่คุณเป็นค่ะ หรือหากคุณต้องยอมกดหรือปิดบังความรู้สึกตัวเองไว้เพราะไม่ต้องการให้เขารู้สึกไม่ดี ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าความสัมพันธ์นี้อาจไม่ใช่

ค้นพบรักที่ใช่ และใช้ชีวิตที่รัก ในหนังสือ “รักดีดี มีอยู่จริง”

หนังสือเล่มนี้ เป็นคู่มือที่จะพาคุณไปพบรักแท้จากจิตใต้สำนึกที่ยิ่งใหญ่ของคุณเองรักดีดีมีอยู่จริงเป็นผลงานที่ถ่ายทอดทั้งหลักการของกูรูความรักจากทั่วโลกหลอมรวมกับประสบการณ์ตรงและแนวคิดคำคมที่อบอุ่นหัวใจพร้อมภาพวาดน่ารักๆ 4 สีสะท้อนความรักในแง่มุมที่งดงามทำให้หนังสือเล่มนี้ได้ทั้งความรู้และความรู้สึกดีๆให้เข้าใจว่าแก่นแท้ของความรักคืออะไรและเราควรจะเริ่มต้นจากจุดใดจึงจะพบรักแท้ที่รอคอย…

เขียนโดย พิชชารัศมิ์ นักสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จจากจิตใต้สำนึก

หนังสือเล่มนี้เพื่อมอบรายได้ 50% จากการจำหน่าย ให้กับสถาบันโรคหัวใจแห่งประเทศไทย

 

Categories EQ

10 สุดยอดเทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

LHT template update 26 12 2016

คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหนคะ?

จากการทำงานภายใต้องค์กรหนึ่งชื่อว่า gullup organization พบว่าคนที่มีเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรที่ดี 7 เท่าได้มาจากการทำงาน

บทความนี้เราจะโฟกัสไปที่คุณจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราจะมาดูกันว่าทำไมการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจึงมีความสำคัญและยังโฟกัสไปถึงการกระชับความสัมพันธ์ของคุณกับคนที่ไม่ค่อยลงรอยกับคุณให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

 

ทำไมจึงต้องมีความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดีในการทำงาน?

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราโหยหามิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีเสมือนโหยหาน้ำและอาหาร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ยิ่งเรามีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสุขและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

ข้อดีในการมีความสัมพันธ์ในการทำงานนั้นมีมากมาย เช่น คุณจะเพลิดเพลินในการทำงานขึ้นมาทันทีเมื่อคุณถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งคนเหล่านั้นมีแนวโน้มในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีทำให้เรากลายเป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดียังให้อิสระต่อเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับความสัมพันธ์แย่ๆ เราสามารถโฟกัสไปที่โอกาสต่างๆที่เข้ามาได้มากขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากถ้าคุณต้องการจะพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของคุณเอง พูดง่ายๆคือหากเจ้านายคุณไม่ไว้ใจคุณแล้วละก็ สิทธิในการได้รับเลื่อนตำแหน่งในโอกาสต่างๆของคุณก็หมดไปแน่นอนเพราะเราเองก็คงไม่อยากร่วมงานกับคนที่ไม่ลงรอยกับเราเท่าไหร่นัก

นอกจากเจ้านายของคุณแล้ว คุณยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆอีกด้วยในที่นี้คือ ลูกค้า ผู้ผลิต และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการประสบความสำเร็จของคุณ ดังนั้นมันจึงจำเป็นอย่างมากในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนเหล่านี้ไว้

 

แล้วอะไรล่ะที่เรียกว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน?

ลักษณะที่ดีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน ได้แก่

ความไว้เนื้อเชื่อใจ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกๆความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่คุณเชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ นั่นหมายถึงคุณได้เชื่อมสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คุณทำงานและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะความเชื่อใจจะทำให้คุณคิดและทำทุกอย่างอย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย และไม่ต้องมาคอยกังวลหรือเสียเวลากับการคอยระมัดระวังการกระทำของคุณ

ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อไหร่ที่คุณเคารพเพื่อนร่วมงานของคุณ เช่น เคารพการทำงานหรือความคิด คุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาเช่นกัน

การเอาใจใส่ ในที่นี้หมายถึงการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและคำพูด คนที่เอาใจใส่ผู้อื่นจะระมัดระวังและใส่ใจสิ่งที่เขาพูดไปและจะไม่ยอมให้คำพูดหรืออารมณ์ในด้านลบของตนเองต้องไปกระทบกับคนใกล้ตัว

การยอมรับซึ่งความหลากหลาย ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงแต่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดหรือระหว่างตัวบุคคลเท่านั้นแต่ใส่ใจสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เช่น เมื่อไหร่ที่เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอไอเดียที่แตกต่างออกไปจากคุณ คุณให้เวลากับตัวเองในการพิจารณาไอเดียเหล่านั้น เจาะลึกไปในแต่ละจุดและนำสิ่งเหล่านั้นไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

การสื่อสาร คนเราสื่อสารกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล์ การส่งข้อความต่างๆหรือแม้แต่การประชุม ยิ่งคุณมีการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพกับผู้คนรอบๆตัวคุณมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

 

เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้กับใครล่ะ?

แม้ว่าเราควรพยายามที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกๆคน แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์หรือคนบางกลุ่มที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น คุณจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาความสัมพันธ์จากผู้ที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์ในองค์กรของคุณ

คนเหล่านี้คือผู้ที่ชี้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงาน การสานสัมพันธ์กับคนเหล่านี้จะช่วยให้งานหรือโปรเจคใหญ่ๆของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

การที่เราจะรู้ว่าผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นเป็นใครบ้าง คุณควรทำรายการวิเคราะห์ขึ้นมา เมื่อคุณทำรายการวิเคราะห์แล้วใครที่มีความสนใจในงานหรือโปรเจคของคุณ คุณก็เริ่มใช้เวลาในการสานสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้เลย

ส่วนลูกค้าหรือผู้รับบริการที่สมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ให้คุณลองนึกว่าเมื่อไหร่คือครั้งสุดท้ายที่คุณได้มีโอกาสจัดการกับลูกค้านิสัยแย่ๆ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แม้ว่าเราจะไม่สามารถรักษาความพึงพอใจของลูกค้าทุกคนได้  100 เปอร์เซ็นต์

แต่การรักษาไว้ซึ่งความน่าไว้วางใจ ความซื่อสัตย์กับลูกค้าจะสามารถช่วยทำให้คุณแน่ใจว่าเมื่อไหร่ที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาด ผลกระทบก็อาจจะมีไม่มาเท่าไหร่นัก นอกจากนี้การสานสัมพันธ์ที่ดีกบลูกค้าสามารถทำให้คุณเพิ่มยอดขาย คำติชมหรือรางวัลความสำเร็จในชีวิต

 

นี่คือ 10 สุดยอดเทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

1.พัฒนาทักษะการทำงานกับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากการมีทักษะเรื่องการทำงานที่ดีกับคน เช่น การร่วมมือกันทำงาน การสื่อสารและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

2.แยกแยะความสัมพันธ์กับคนที่คุณต้องการจะพัฒนา

โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ที่คุณต้องการ คุณรู้รึเปล่าว่าคุณต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น? แล้วพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไรจากคุณ? การเข้าใจถึงความต้องการเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำคัญที่ดีขึ้นได้

3.รู้จักจัดตารางเวลา

สละเวลาของคุณเพียงเล็กน้อยในแต่ละวันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานเพียงแค่ 5 นาทีหรือ 20 นาที เช่น เข้าไปถามไถ่เพื่อนร่วมงานช่วงพักกลางวัน ตอบข้อความในทวิตเตอร์หรือชวนกันไปนั่งดื่มกาแฟ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะการพูดคุยหรือทำอะไรต่อหน้ากัน

4.ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์

ใช้เวลาในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณรับรู้ความรู้สึกของคุณเองและเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพยายามที่จะบอกคุณ ดังนั้นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

5.ยกย่องผู้อื่น

แสดงความขอบคุณเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนช่วยคุณ ทุกคนในที่นี้คือตั้งแต่เจ้านายของคุณไปจนถึงแม่บ้านทุกคนต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในงานที่ทำ ดังนั้นการที่เราชื่นชมยกย่องผู้คนรอบตัวคุณด้วยความจริงใจ นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดประตูในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคุณกับคนเหล่านั้น

6.คิดบวก

การคิดบวกเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและสามารถส่งต่อไปยังคนรอบข้างได้และมันจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานแข็งแรงขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบตลอดเวลา

7.จัดการกับขอบเขตของคุณ

คุณต้องแน่ใจว่าคุณจัดการขอบเขตของคุณอย่างเรียบร้อย ทุกคนต้องการมีเพื่อนในที่ทำงานแต่บางครั้งมิตรภาพก็ส่งผลกระทบต่องานของคุณ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานของคุณเริ่มอยากจะใช้เวลากับคุณมากขึ้น

เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่มันจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องบริหารเวลาของคุณให้ดีว่าคุณมีเวลาเข้าสังคม พบปะสังสรรค์มากน้อยเพียงใดในระหว่างการทำงานแต่ละวัน

8.หลีกเลี่ยงการนินทา

การแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงานและการนินทาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำร้ายความสัมพันธ์ของคุณ ถ้าคุณมีประสบการณ์การมีปัญหาความขัดแย้งกับใครบางคนในกลุ่มให้คุยกันแบบเปิดเผยถึงปัญหา

เพราะการนินทาเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่จะเพิ่มความรุนแรงแต่ยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงและความเกลียดชังอีกด้วย

9.ฟังอย่างตั้งใจ

เมื่อไหร่ที่คุณพูดคุณกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน คนเหล่านั้นจะตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้ฟังตั้งใจฟังว่าพวกเขาพูดอะไร โฟกัสการฟังมากกว่าการพูดแล้วคุณจะกลายเป็นคนที่น่าไว้ใจได้ภายในพริบตา

10.จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก

บางครั้งคุณอาจจะต้องทำงานกับคนที่คุณไม่ชอบหรือบางคนที่ทำงานไม่เข้าขากันบ้างแต่ยังไงก็ตามมันก็จำเป็นอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ให้มีความเป็นมืออาชีพกับคนเหล่านั้น เมื่อไหร่ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพยายามเรียนรู้คนคนนั้น

ช่วงแรกๆมันอาจจะดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ดังนั้นเราควรเริ่มต้นบทสนทนาที่เป็นกันเอง จริงใจ เช่นอาจจะชวนไปทานอาหารเที่ยง เป็นต้น ระหว่างบทสนทนาเพื่อให้เป็นกันเองมากขึ้นอาจจะถามถึงสิ่งที่เขาสนใจหรือสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต แทนที่คุณจะมองหาความแตกต่างระหว่างกัน คุณควรมองหาสิ่งที่คล้ายคลึงระหว่างเขาและคุณมากกว่า

สุดท้ายนี้ให้คุณระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่เราพยายามจะออกมาเวิร์คแต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่

แปลและเรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand Team

ที่มาบทความ

https://www.mindtools.com/pages/article/good-relationships.htm

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save