5 ตัวช่วย ที่ทำให้การประชุมไม่เป็นเรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

5-way-never-boring-meeting

          ใครเบื่อการประชุมบ้างคะ Learning Hub เชื่อว่าคงมีหลายคนยกมือขึ้นสุดแขนเลยทีเดียว แต่ยังไงชีวิตการทำงานเราคงหนีไม่พ้นต้องประชุมใช่ไหมคะ คงไม่ดีแน่ถ้าเรานั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดอยู่ในห้องประชุมครึ่งค่อนวันอย่างไม่มีความสุข เพราะเท่ากับว่าเราปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าหมอง

          ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราย่ำแย่ลงเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องกลุ้มใจไปค่ะ วันนี้ Learning Hub มีเทคนิคดีๆ ที่จะทำให้การประชุมไม่น่าเบื่ออีกต่อไปมาฝากกันค่ะ

1) ประเด็นต้องชัดเจน

“การกำหนดวาระประชุมที่แน่นอนทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่หลงทาง”

          คุณเคยเข้าประชุมแล้วออกมาแบบงงๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นบ้างไหมคะ พอรู้ตัวอีกทีเวลาก็หมดไปกับการนั่งเหม่อลอยมองคนปิ้งสไลด์ อ่านพรีเซนต์ ฟังคนเถียงกันในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุม หากใครเคยประสบพบเจอปัญหาดังกล่าวแสดงว่าการประชุมไม่ได้ผล และเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์

          แต่ปัญหานี้มีทางแก้ค่ะ เพียงแค่คุณตอบคำถามให้ได้ว่า “ทำไมจึงมีการจัดประชุมขึ้น” “เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์การประชุมคืออะไร” ถ้าคุณตอบได้ การประชุมของคุณจะกระชับ ตรงประเด็น และได้ผลจริงค่ะ

          แต่หากคุณเอะอะก็นัดประชุมทุกเรื่องโดยไม่คัดกรองหัวข้อให้ดี ไม่วางแผนอย่างเป็นลำดับขั้น การประชุมก็จะเต็มไปด้วยความสับสนและนั่นทำให้คุณเสียเวลาประชุม แถมยังต้องกลับไปนั่งทำงานแบบไร้ทิศทางด้วย

2) ผู้เข้าร่วมประชุมต้องแชร์

“การแชร์ความเห็นทำให้การประชุมมีสีสัน และเกิดคุณค่า”

          คุณอาจเคยชินกับบรรยากาศการเข้าประชุมที่มีแต่คนหน้าเดิมๆ พูดออกความคิดเห็น ส่วนที่เหลือก็นั่งก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์บ้าง แสร้งทำเป็นจดบันทึกการประชุมบ้าง ฟังหูซ้ายทะลุหูขวาบ้าง

ภาพแบบนี้ทำให้การประชุมไร้ชีวิตชีวาและผิดวัตถุประสงค์ของการประชุมค่ะ เพราะความสำคัญของการประชุมคือ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจแผนงานและปฏิบัติงานอย่างมีเป้าหมายเดียวกัน

          ดังนั้นการประชุมที่ดีต้องมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ประธานควรดำเนินการประชุมอย่างกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่พูดระบายอารมณ์ของตนเองในที่ประชุม และควรเปิดใจรับฟังผู้เข้าร่วมประชุมโดยปราศจากอคติ

          ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมก็ไม่ควรนั่งฟังเฉยๆ โดยไม่แสดงความคิดเห็น ไม่แชร์ไอเดีย หรือไม่ร่วมกิจกรรมใดๆ จงคิดว่าการได้เข้าประชุมคือ โอกาสดีที่ได้นั่งคุยกับเพื่อน ได้เห็นความคืบหน้าของงาน เพื่อที่ทีมจะได้มองเห็นภาพความสำเร็จร่วมกัน และช่วยกันสร้างสรรค์งานให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

3) การนำเสนอต้องน่าสนใจ

“การนำเสนอที่น่าสนใจช่วยให้การประชุมสัมฤทธิ์ผล”

          เมื่อคุณลองหลับตาและนึกถึงภาพ Presentation ของการประชุมที่บริษัท เชื่อแน่ว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นภาพ Presentation ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือที่ชวนให้ง่วงนอน มิหนำซ้ำผู้พูดก็ยังนำเสนอข้อมูลด้วยน้ำเสียงโมโนโทน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะสัปหงก และเผลอหลับคาห้องประชุมบ่อยๆ

          แต่รู้ไหมว่าตอนนี้หมดยุคที่ผู้คนจะสื่อสารกันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ แล้วค่ะ โลกหมุนเร็วกว่าที่คิด การใช้ข้อมูลจากตัวหนังสือประกอบการนำเสนอเป็นสิ่งที่แสนน่าเบื่อและทำให้หัวใจห่อเหี่ยว

          ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่คุณต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ทันสมัย และดึงดูดความสนใจให้มากขึ้น เช่น ใช้ Infographic, Video Clip หรือ Multimedia เริ่ดๆ มาประกอบการนำเสนอในที่ประชุมลองทำดูนะคะ แล้วการประชุมของคุณจะ Work สุดๆ ไปเลยค่ะ

4) ความถี่ประชุมต้องเหมาะสม

“การปรับความถี่ในการประชุมมีผลต่อประสิทธิภาพของผู้ร่วมประชุม”

          ปัญหาที่หนุ่มสาวออฟฟิศต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันก็คือ ประชุมทั้งวันจนแทบไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น บางคนพูดติดตลกว่า “มีอาชีพรับจ้างประชุม” อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่าการประชุมที่ดีต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจน ไม่ใช่นึกอยากจะเรียกประชุมเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะหากประชุมพร่ำเพรื่อ ผู้เข้าร่วมจะไม่เห็นความสำคัญและพาลไม่อยากเข้าประชุมได้

          นอกจากนี้ ควรมีคนคอยควบคุมเวลาไม่ให้การประชุมยืดยาวเกินไป เพราะสมาธิของคนเรามีจำกัด การประชุมเลยเวลาอาจทำให้ผู้เข้าประชุมไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากเหนื่อยล้าและมึนงงกับชั่วโมงประชุมที่ยาวนาน

5) ประชุมเสร็จต้องสรุปและติดตามผล

“การจดรายงานการประชุมช่วยเตือนความจำ และช่วยผลักดันงานให้สำเร็จ”

          เทคนิคอีก 1 ข้อที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ต้องสรุปและติดตามผลการประชุมค่ะ เพราะการเขียนสรุปการประชุมจะทำให้ผู้เข้าร่วมทราบว่า ผลของการประชุมคืออะไร ใครต้องรับผิดชอบดำเนินการเรื่องใดต่อ

          ลองคิดดูนะคะว่าหากมีประเด็นถกเถียง โต้แย้ง หรือแชร์ไอเดียที่เป็นประโยชน์ในที่ประชุม แต่ไม่มีใครจดบันทึกเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็จะลืม และไม่ได้นำสิ่งที่ประชุมมาปฏิบัติต่อให้เป็นรูปธรรม ผลคือ การประชุมทั้งหมดสูญเปล่า

ในทางกลับกันหากมีการจดบันทึกข้อคิดเห็นสำคัญหรือมติที่ประชุมไว้ ทุกคนก็จะมีหลักฐานอ้างอิง สามารถยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานต่อไปได้ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้การทำงานราบรื่น และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

          เป็นยังไงกันบ้างคะสำหรับเทคนิคการจัดประชุมที่ Learning Hub นำมาเสนอในวันนี้ หวังว่าคงจะถูกใจกันนะคะแต่ถูกใจอย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องนำไปปฏิบัติด้วยเพื่อให้การประชุมเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงค่ะ

เรียบเรียงโดย Nadda – Learning Hub Team

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

1) http://www.nuttaputch.com/5-unproductive-meeting/

2) http://incquity.com/articles/make-meetings-fun

3) http://th.jobsdb.com/th-th/articles

5 เคล็ดลับการทำงานฟรีแลนซ์ให้ประสบความสำเร็จ

5-tips-being-successful-freelance

หลายคนคงเบื่อหน่ายกับงานออฟฟิศที่ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานทุกวัน เลิกงานมืดค่ำ พอจะปลีกตัวหาวันลาพักร้อนสัก 1-2 วันก็ยากเย็นแสนเข็ญมิหนำซ้ำยังต้องรับมือกับเพื่อนร่วมงานจอมป่วน และปัญหาอีกสารพัดในที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และก้าวเข้าสู่การทำงานฟรีแลนซ์นอกจากนี้ ในปัจจุบันตลาดงานอิ่มตัวมากขึ้นทำให้ผู้คนเสาะแสวงหาช่องทางใหม่ในการหารายได้ และงานฟรีแลนซ์ก็เป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยม เนื่องจากความยืดหยุ่นของลักษณะงานที่เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

โรเบิร์ต กูเธร์กล่าวว่า “ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ที่ทำงานอิสระเพิ่มมากขึ้นถึง 53 ล้านคน ซึ่งส่งผลให้อาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย งานฝีมือ และงานประจำลดน้อยลงอย่างมาก”

งานฟรีแลนซ์มีข้อดีมากมาย เช่น คุณสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่องเวลาและสถานที่ในการทำงาน คุณสามารถตัดสินในสิ่งต่างๆได้เองโดยไม่ต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ คุณจะพักผ่อนเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่คุณต้องการ พูดง่ายๆก็คือ คุณจะได้เป็นเจ้านายของตัวเองในทุกๆเรื่อง อย่างไรก็ตาม การทำงานฟรีแลนซ์ไม่ได้ง่ายและสบายอย่างที่คุณคิด เพราะรายได้ของงานไม่มั่นคง คุณต้องบริหารจัดการทุกอย่างเองรวมทั้งรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว จึงไม่น่าแปลกใจว่าหลายคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ต้องล้มเลิกอาชีพนี้ไปในที่สุด เพื่อเป็นแนวทางให้กับคนที่กำลังทำงานฟรีแลนซ์และผู้ที่คิดจะเริ่มต้นอาชีพนี้ บทความนี้แนะนำเคล็ดลับ 5 ข้อที่ควรรู้เพื่อให้การทำงานฟรีแลนซ์ประสบความสำเร็จ

1) รู้จักจุดเด่นของตัวเอง และพุ่งตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย

ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นอาชีพฟรีแลนซ์ คุณต้องหาตัวเองให้เจอก่อนว่าจริงๆแล้วตัวคุณชอบทำอะไร ถนัดหรือเก่งอะไร คุณควรจดความสามารถนั้นๆออกมาเพื่อให้คุณมองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น คุณเป็นคนชอบเจรจา ชอบทำงานฝีมือ ชอบท่องเที่ยว ชอบเขียนหนังสือ เป็นต้น เมื่อคุณทราบแล้วว่าสิ่งใดคือจุดเด่นของคุณ ขั้นตอนถัดไปก็คือ การคิดหาวิธีการนำเสนอและเฟ้นหาลูกค้าตัวจริงของคุณซึ่งพวกเขาต้องเป็นคนที่ใช่ และเหมาะสมกับความสามารถและทักษะที่คุณมี ยกตัวอย่างเช่น หากคุณชอบพูดคุยเจรจา คุณก็ควรทำงานฟรีแลนซ์ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารหรือพบปะผู้คน

ทั้งนี้ การไม่รู้ว่าตนเองมีความสามารถ ทักษะ หรือข้อดีอย่างไรจะทำให้คุณเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ การนำเสนอความคิด สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายก็ทำให้คุณหลงทาง และไม่พบกับจุดหมายที่ต้องการเช่นกัน

2) ใฝ่รู้ และค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอ

หากคุณคิดว่างานฟรีแลนซ์เป็นงานสบาย ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้นิ้วสั่งให้ทำนู่นทำนี่ แสดงว่าคุณกำลังมองเหรียญเพียงด้านเดียว เพราะงานฟรีแลนซ์มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด คุณต้องเก่งและแกร่งพอที่จะยืนหยัดอยู่กับมัน กล่าวคือ เมื่อคุณค้นหาจุดเด่นของตนเองรวมทั้งลูกค้าของคุณเจอแล้ว คุณต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนงานให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า อีกทั้ง สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้คุณไม่สามารถนั่งทำงานในแบบเดิมๆหรือย่ำอยู่กับที่ได้ เพราะหากคุณหยุดนิ่ง ฟรีแลนซ์คนอื่นๆจะก้าวนำหน้าคุณทันที ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานฟรีแลนซ์เกี่ยวกับงานด้านวิชาการ ต้องค้นหาข้อมูลที่ทันสมัย อัพเดตต่อสถานการณ์ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังต้องแสวงหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ทั้งในหนังสือ อินเตอร์เน็ต การทำวิจัย และการสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น

3) รู้ในสิ่งที่คุณควรจะได้

หากคุณใช้ความสามารถของตนเองในการทำงานฟรีแลนซ์ คุณก็ควรจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมันจะดียิ่งขึ้น หากคุณรู้ว่าจะเพิ่มมูลค่าของความสามารถของคุณอย่างไรบ้าง สมมุติว่าคุณทำงานฟรีแลนซ์เกี่ยวกับการเขียนและการพิสูจน์อักษร คุณก็ควรเช็คอัตราค่าจ้างว่าราคาตลาดเป็นอย่างไรบ้าง นักเขียนท่านอื่นๆได้รับค่าแรงเท่าไหร่ และผลตอบแทนที่คุณได้รับมากหรือน้อยไปหรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้ปรับปรุงและพัฒนางานของคุณให้ดียิ่งๆขึ้นไป

สำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ การสืบหาราคากลางของตลาดเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณเสนอราคาที่เป็นธรรมแก่ลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้คุณไม่ถูกหลอก หรือโดนโกงค่าแรงอีกด้วย เพราะคุณต้องใช้แรงกาย แรงใจ ความสามารถ เวลา และทรัพยากรต่างๆเป็นจำนวนมากกว่าที่งานแต่ละชิ้นจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ความทุ่มเทนั้นสูญเปล่า คุณควรเช็คราคาตลาดให้ดี อย่าประเมินความสามารถของตนเองต่ำหรือสูงจนเกินไป เพราะหากคุณได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถแล้ว คุณจะสามารถใช้อาชีพนี้หาเลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง

4) แบ่งเวลาระหว่างงานหลักและงานอดิเรกอย่างเหมาะสม

การช่วยเหลืองานการกุศล หรือการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้คุณรู้จักการให้ การเสียสละ และเป็นการปลูกฝังความดีงามในตัวคุณ กล่าวคือ หากคุณได้รับเชิญให้ไปช่วยงานการกุศลต่างๆ คุณก็สามารถเข้าร่วมได้ แต่คุณต้องรู้จักความพอดี จงแบ่งเวลาให้กับงานหลักนั่นก็คืองานฟรีแลนซ์ด้วย เพราะคุณต้องใช้เงินในการดำรงชีวิต และส่วนใหญ่งานการกุศลเหล่านี้คุณไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

สิ่งที่คนทำฟรีแลนซ์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ ความรู้ ความสามารถ ทักษะ เวลา เครื่องมือ และทรัพยากรต่างๆที่ใช้ทำงานเป็นสิ่งมีค่า ดังนั้น คุณก็ควรได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรหักโหมทำงานอย่างบ้าคลั่ง คุณควรจัดตารางชีวิตของตนเองให้เหมาะสมคือ ทำทั้งงานหลัก และงานอดิเรกอย่างลงตัว

5) รู้จักข้อจำกัดของตนเอง กำหนดขอบเขตการรับงานให้เหมาะสม

ผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์มักมีตารางเวลาสวนทางกับคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่คุณกำลังเล่นโยคะที่บ้าน เพื่อนของคุณกำลังท่องเที่ยวในต่างจังหวัด หรือในขณะที่คุณกำลังนั่งปั่นงานต้นฉบับอยู่ คนในครอบครัวของคุณได้นอนหลับไปนานแล้ว ชีวิตของคนทำงานฟรีแลนซ์มักมีงานเร่งด่วนเข้ามาตลอดเวลา แต่หากคุณไม่รู้จักการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ชีวิตคุณยุ่งเหยิง และสับสนไปหมด คุณจะกินในขณะที่คนอื่นนอน คุณจะนอนในขณะที่คนอื่นทำงาน หรือคุณจะมีตารางที่ผิดแปลกจากมนุษย์ทั่วไปนั่นเอง

ข้อแนะนำคือ คุณควรรู้จักข้อจำกัดของตนเอง กำหนดขอบเขตการรับงานให้เหมาะสม ไม่โลภมากรับงานจนเกินกำลังความสามารถ เพราะหากคุณคิดแต่จะหาเงินเยอะๆ โดยไม่พักผ่อน หรือพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวบ้าง สุดท้ายคุณจะพบว่าสิ่งดีๆในชีวิตขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/318838/5-tips-ive-learned-about-being-successful-freelancer)

8 สัญญาณยืนยันว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่

8-signs-youve-chosen-the-right-job

คนเราต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งหากเราทำงานอย่างเบื่อหน่าย เครียด หรือไม่มีความสุขแล้ว สิ่งนี้ก็จะบั่นทอนสุขภาพจิต และสุขภาพร่างกายของเรา ในทางตรงกันข้าม หากเราอยากไปทำงานในทุกๆเช้า มีความสุขกับงานที่ทำ เราก็จะสามารถทำงานออกมาได้ดี และมีประสิทธิภาพ

คุณเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า“คุณมีความสุขในการทำงานหรือเปล่า” แต่หากคุณยังสับสนและคิดไม่ออก ให้คุณลองอ่านบทความนี้ หากคุณมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ8 ตัวอย่างเหล่านี้ แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่ และเหมาะสม

1) คุณคิดว่างานที่ทำมีคุณค่า

หลายคนทำงานแบบเช้าชามเย็นชามหรือทำงานตามหน้าที่เท่านั้นไม่ได้ทำงานเพราะรู้สึกสนุกสนานและมีความสุข ในทางกลับกัน คนที่มีความสุขในการทำงานมักเชื่อว่างานที่ตนเองทำมีความสำคัญ และมีคุณค่า สำหรับพวกเขาเงินอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของชีวิต แต่งานที่ได้ทำ คือ ความสุขและความท้าทายดังนั้น ทุกครั้งที่ได้เห็นผลลัพธ์จากการทำงาน พวกเขาจะมีความสุขเสมอ

2) คุณรู้สึกมีแรงจูงใจที่จะตื่นขึ้นมาในตอนเช้า

เมื่อเสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้นในตอนเช้า หัวของคุณคิดถึงอะไร หากคุณงัวเงีย ไม่อยากลุกจากที่นอน และเลื่อนเวลาของนาฬิกาปลุกไปเรื่อยๆ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณไม่อยากมาทำงาน ในทางตรงกันข้าม หากคุณตื่นขึ้นมาอย่างสดใส พร้อมที่จะเริ่มต้นวันใหม่ รู้สึกกระตือรือร้น และมีกำลังใจในการทำงาน แสดงว่าคุณกำลังทำงานที่ใช่และมีความสุข

3) คุณไม่เกลียดเย็นวันอาทิตย์ และไม่กลัวเช้าวันจันทร์

เย็นวันอาทิตย์และเช้าวันจันทร์ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและทรมานใจของคนทำงานหลายๆคน เพราะมีอีกตั้ง5 วันที่ต้องทำงานจนกว่าจะถึงวันหยุดอีกครั้งอย่างไรก็ตาม หากคุณไม่รู้สึกเกลียดหรือกลัวช่วงเวลานี้แสดงว่าคุณมีความสุขกับงานที่รับผิดชอบ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจคุณก็คือ ไม่ว่าจะเป็นวันไหนของสัปดาห์ คุณก็มีความสุขเพราะได้ทำในสิ่งที่คุณรัก

4) คุณไม่ได้ทำงานแบบเอาตัวรอดไปวัน ๆ

หลายคนคิดว่าการทำงานคือการต่อสู้ หรือการพยายามเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นปัญหาในแต่ละวัน กล่าวคือ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างใจจดใจจ่อ คุณกลับทำงานแบบเอาตัวรอดไปวันๆ หรือทำงานแต่ละชิ้นให้จบๆไปโดยไม่คำนึงว่างานจะมีคุณภาพดีหรือไม่ หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่าคุณกำลังมีความทุกข์กับการทำงาน ในทางกลับกัน หากคุณรู้สึกสนใจในเนื้องานทุ่มเททำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ และมักสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยม นั่นแสดงว่าคุณรักในงานที่ทำ จึงพยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุด

5) คุณไม่สามารถหยุดเล่าเรื่องงานของคุณให้คนอื่นฟังได้

คุณเคยเล่าเรื่องงานของคุณให้เพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวฟังบ้างไหม อาจเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่ของบริษัท ความท้าทายของงาน หรือความน่ารักของเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น หากคุณเคยทำเช่นนั้น ทั้งๆที่ในขณะที่คุณเล่าเรื่องงานให้คนอื่นฟัง พวกเขาแทบจะไม่ใส่ใจคุณเลย แต่คุณก็ยังคงเล่าต่อไป หากคุณมีพฤติกรรมเช่นนี้ แสดงว่าคุณรู้สึกสนุกและมีความสุขกับงานที่ทำ

6) คุณแทบจะไม่ได้มองนาฬิกาเลย

ในที่ทำงานมีพนักงาน 2 ประเภท ประเภทแรกคือ พวกที่จ้องมองนาฬิกาตลอดเวลาคนประเภทนี้มักรู้สึกว่าเวลาทำงานแต่ละวันช่างยาวนานเหลือเกิน และพวกเขาจะรอคอยให้ถึงเวลาเลิกงานอย่างใจจดใจจ่อ อีกประเภทหนึ่งคือ พวกที่แทบจะไม่มองนาฬิกาในเวลาทำงานเลย และเมื่อพวกเขาเงยหน้าดูนาฬิกาอีกทีก็จะพบว่าเป็นเวลาเลิกงานแล้ว คนกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าในแต่ละวันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว หากคุณมีพฤติกรรมคล้ายกับคนกลุ่มที่สองแสดงว่าคุณรักและพึงพอใจกับงาน

7) คุณใช้เวลากับเพื่อนร่วมงานของคุณอย่างมีความสุข

บางคนรู้สึกไม่อยากทำงาน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนร่วมงาน หรือมีความรู้สึกด้านลบต่อเพื่อนร่วมงาน สิ่งนี้เป็นตัวบั่นทอนกำลังใจ และความสุขในการทำงาน ดังนั้น เราไม่ควรปล่อยให้ตนเองเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ทางที่ดีคุณควรมองเพื่อนร่วมงานในแง่บวก และอาจใช้เวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับพวกเขาให้มากขึ้น ทั้งนี้ หากคุณส่งข้อความไปหาเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน หรือใช้เวลาในวันหยุดเพื่อไปรับประทานอาหาร ท่องเที่ยว หรือซื้อของด้วยกัน แสดงว่าคุณรู้สึกดี และต้องการการมีส่วนร่วมกับทีม สิ่งนี้แปลว่าคุณกำลังมีความสุขกับงานและเพื่อนร่วมงานของคุณ

8) คุณไม่เข้าใจว่าทำไมมีคนถึงเกลียดงานของตัวเอง

ผลสำรวจชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าผู้คนจำนวนมากถึง 80% เกลียดงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของลักษณะงาน เพื่อนร่วมงาน ผลตอบแทน หรือสิ่งอื่นๆ กล่าวคือ คนจำนวน 4 ใน 5 คนที่ไปทำงานทุกวันรู้สึกไม่พึงพอใจในงานที่ตนทำอยู่ ซึ่งหากคุณไม่เข้าใจว่าทำไมผู้คนถึงเกลียดงานของตัวเอง นั่นอาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่างานที่คุณทำอยู่เหมาะสมกับคุณ

เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง และพบว่าตนเองมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับตัวอย่างใน 8 ข้อข้างต้น ขอแสดงความยินดีด้วย ถือว่าคุณเป็นคนโชคดีมาก เพราะคุณได้ทำงานที่รักและเหมาะสมกับคุณ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/309681/8-signs-youve-chosen-the-right-job)

8 หนทางสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน

ในที่ทำงานทุกคนล้วนต้องการเป็นคนสำคัญ โดดเด่น และได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น เพราะสิ่งนี้จะนำไปสู่หนทางแห่งความสำเร็จ แต่กว่าที่คุณจะได้รับความไว้วางใจจากเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง คุณจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก กล่าวคือ คุณต้องอุทิศตนในการทำงาน และวางตัวให้เหมาะสมในทุกสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความตั้งใจจริง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 8 ข้อในบทความนี้ คุณจะได้รับความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือในที่ทำงานแน่นอน

1) มีความมั่นใจในตัวเอง และแสดงความเป็นผู้นำ

หากคุณต้องการให้คนอื่นเคารพนับถือคุณ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคุณต้องเคารพตัวเองก่อน คุณควรเชื่อมั่นในทุกการกระทำของตนเอง มีความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และไม่กลัวกับปัญหาอุปสรรคใดๆ เพราะหากคุณสามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ และสามารถผ่านพ้นจากปัญหาต่างๆไปได้ ก็จะทำให้ผู้คนเกิดความศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวคุณ และสิ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นความเคารพนับถือในท้ายที่สุด

2) บริหารเวลาให้เป็น

หนึ่งในพฤติกรรมที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณก็คือ การบริหารเวลา หากคุณลองเปรียบเทียบพนักงาน 2 คน ระหว่างพนักงานคนแรกที่เข้าประชุมตรงเวลาและส่งงานตามกำหนดทุกครั้งกับพนักงานคนที่ 2 ที่มักเข้าประชุมสายและไม่เคยส่งงานทันเวลา แน่นอนว่าเมื่อคุณจะมอบหมายงานหนึ่งชิ้น คุณจะมอบหมายให้พนักงานคนแรกทำ เพราะคุณไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าเขาจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง ทั้งนี้ ในระหว่างทำงาน คุณควรทุ่มเทกำลังความสามารถในการทำงานอย่างเต็มที่ ทำงานให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลากับกิจกรรมที่ไร้สาระ เพื่อที่งานจะได้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนร่วมงาน

3) อ่อนน้อมถ่อมตน

แม้ว่าคุณจะรู้ว่าตนเองสามารถทำงานได้ดี รวดเร็ว หรือมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน จงอย่าคุยโวโอ้อวด แต่จงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบซึ่งคุณต้องทำอยู่แล้วนอกจากนี้ เมื่อได้รับการยกย่องชมเชย คุณไม่ควรหลงระเริงไปกับคำพูดเยินยอของคนอื่น ในทางกลับกัน คุณควรคิดว่าแต่ละคนเป็นเพียงหน่วยหนึ่งที่ประกอบเข้าด้วยกันเพื่อทำให้งานสำเร็จและบรรลุเป้าหมายขององค์กร การอ่อนน้อมถ่อมตนจะทำให้คุณไม่หยุดนิ่ง และรู้จักการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

4) ให้ความเคารพเพื่อนร่วมงาน

เพื่อนร่วมงานบางคนอาจทำงานอย่างเฉื่อยชา และไร้ประสิทธิภาพ พวกเขาอาจไม่มีแรงบันดาลใจเหมือนเช่นคุณ หรือพวกเขาอาจมีปัญหาส่วนตัวบางอย่างทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถดูถูกพวกเขาได้ คุณควรปฏิบัติต่อพวกเขาเฉกเช่นมนุษย์ด้วยกัน จงให้เกียรติพวกเขา และไม่ก้าวล้ำเส้นของกันและกัน กล่าวคือ คุณไม่ควรมองพวกเขาว่าเป็นเพียงเพื่อนร่วมงาน แต่ให้มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ เพราะวิธีการนี้จะทำให้คุณเข้าใจจิตใจของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และคุณจะได้รับความไว้วางใจ รวมทั้งความเคารพนับถือเป็นการตอบแทน

5) ชื่นชมและให้กำลังใจเพื่อนร่วมงาน

คุณควรหาโอกาสชื่นชมเพื่อนร่วมงานบ้าง ยกตัวอย่างเช่น หากเพื่อนร่วมงานของคุณทำงานชิ้นหนึ่งได้อย่างยอดเยี่ยมและส่งผลดีต่อบริษัท คุณก็ควรแสดงชื่นชมในความรู้ความสามารถ และความมุ่งมั่นตั้งใจที่เขาทุ่มเทจนทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมายคำชื่นชมเหล่านี้จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจและกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ในทางกลับกัน หากเพื่อนร่วมงานของคุณล้มเหลวแทนที่คุณจะคอยซ้ำเติมและตอกย้ำความผิดพลาดนั้น คุณควรให้อภัยและให้กำลังใจต่อกัน เพราะการต่อว่าหรือแสดงพฤติกรรมด้านลบนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้เกิดประโยชน์ใดๆ ยังทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดทัศนคติในแง่ลบต่อคุณอีกด้วย

6) ช่วยเหลือทีม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน

มันอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะต่อว่าหรือโจมตีเพื่อนร่วมงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อตัวคุณและบริษัท ทางที่ดีคือ คุณควรช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จไปพร้อมๆกัน ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทีมจะทำให้การทำงานมีความราบรื่นเพราะเมื่อคุณต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใดก็จะมีคนสนับสนุน และผลักดันคุณด้วยความเต็มใจ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

7) ไม่ซุบซิบนินทา

การซุบซิบนินทาในที่ทำงานเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณเสียเวลาในการทำงานแล้ว คงไม่มีใครเคารพนับถือคนที่ปล่อยข่าวลือ และพูดจาให้ร้ายผู้อื่น กล่าวคือ หากคุณไม่ให้ความเคารพนับถือผู้อื่น คุณก็จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณจึงไม่ควรจับกลุ่มซุบซิบนินทาในที่ทำงาน เพราะสิ่งนี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ในตัวคุณ

8) ไม่บังคับหรือควบคุมคนอื่น

การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้เกิดจากความสามารถแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ หากคุณได้งานแต่ไม่ได้ใจคน คุณก็ไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายได้ การทำงานที่ดี คือ การคิดถึงเรื่องงานพร้อมๆกับจิตใจของผู้ร่วมงาน ในทางกลับกัน หากคุณใช้วิธีการบังคับเพื่อนร่วมงานให้ทำอย่างที่ใจคุณต้องการ คุณก็จะไม่ได้รับความร่วมมือใดอย่างเต็มที่ ดังนั้น คุณไม่ควรบังคับหรือควบคุมคนอื่น ให้ยึดหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มอบหมายงานให้คนในทีมอย่างเหมาะสม และเมื่อเพื่อนร่วมงานมีปัญหา คุณก็ควรช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถ

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(Source: http://www.lifehack.org/300087/8-indispensable-ways-respected-your-job)

หลักสูตร “Communication Skill for Leadership: ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้นำยุคใหม่” โดย “เรือรบ”   

เน้น Workshop การปฏิบัติจริง เพื่อฝึกทักษะผู้นำที่สำคัญสำหรับผู้นำยุคใหม่ทั้ง 4 ด้าน ให้สามารถนำไปใช้ได้ทันที

27 ก.พ.นี้ หลักสูตร 1 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป คลิกที่นี่

หลักสูตร In House 2 วัน สำหรับองค์กร คลิกที่นี่

10 คำตอบสัมภาษณ์อย่างไร ให้ได้งาน!

typical-job-interview-questions-answers

การสัมภาษณ์งานต้องเกิดขึ้นกับทุกคนอยู่แล้วไม่ช้าก็เร็ว และการสัมภาษณ์งานก็เป็น First Impression ที่ทำให้คุณกับนายจ้างได้ทำความรู้จักกัน ทั้งในแง่ของทักษะการทำงาน ทัศนคติและบุคลิกของคุณ ถ้าคุณมีคุณสมบัติครบตามที่บริษัทต้องการคุณแต่ทัศนคติและการตอบคำถามสัมภาษณ์ของคุณไม่ผ่าน นั่นก็หมายความว่าโอกาสที่คุณจะได้งานนั้นน้อยลง เรามาดูกันว่าคำถามสัมภาษณ์งานทั่ว ๆ ไป ที่คุณควรตอบคำถามนั้นเพื่อให้ประทับใจนายจ้างมีอะไรบ้าง

1. แนะนำตัวเอง

คำถามนี้ควรตอบประมาณ 2-3 นาที เปรียบเสมือนเป็น Elevator Pitch ที่คุณต้องพูดให้โดนใจ ในเวลาอันสั้น คุณควรให้บรีฟแก่นายจ้างว่าคุณเป็นใคร จบอะไรมา ทำงานอะไรมาบ้าง อย่าเริ่มที่เรื่องราวส่วนตัวของคุณ เช่นว่าคุณเกิดจากที่ไหน มีพี่น้องกี่คน แต่คุณต้องโฟกัสและพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่คุณกำลังสมัครอยู่ที่นี่

2. ข้อดีและข้อเสียของคุณ

เลือกพูดจุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้น ถ้าคุณกำลังสมัครงานบริษัทเล็กๆที่ Start-up คุณควรบอกว่าจุดแข็งของคุณนั้นคือสามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน และคุณมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในโปรเจ็คต่างๆเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องจุดอ่อนของคุณนั้น อย่าให้คำตอบแนวว่าคุณเป็นคนเพอร์เฟคชั่นนิสมากต้องการที่จะทำอะไรทุกอย่างให้เพอร์เฟค  แต่คุณควรจะพูดความจริงเกี่ยวกับตัวคุณออกไป และมองว่าจุดอ่อนหรือข้อเสียคุณนั้นเป็นส่วนที่สามารถแก้ไขและพัฒนาในอนาคตได้ เช่น ข้อเสียของคุณคือการบริหารเวลา และคุณก็เล่ากรณีที่คุณบริหารเวลาแย่อย่างไร ไม่สามารมี Work life balance ได้ แต่คุณก็เรียนรู้และพัฒนาปรับปรุงมันอย่างไร จนกระทั่งตอนนี้สามารถทำให้ตารางชีวิตดีขึ้นแล้ว

3. เงินเดือนที่คุณคาดหวัง

คุณไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้ทันทีในขณะที่คุณกำลังสัมภาษณ์งานอยู่ คุณสามารถบอกว่าจะตอบได้หลังจากที่คุณได้งานนี้แล้ว คุณควรบอกผู้สัมภาษณ์ของคุณไปว่า ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องเงินเดือนก่อนจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายแน่ใจว่างานนี้เหมาะกับคุณแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้คุณเตรียมตัวทำการบ้านในการต่อรองเงินเดือน และมีเวลาปรึกษาคนอื่นๆด้วย

4. ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่

คุณควรทำการบ้านโดยการศึกษาประวัติของบริษัท วัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ ข่าว บทความ ประวัติของผู้ก่อตั้ง รวมถึงประวัติการทำงานของคนที่สัมภาษณ์คุณ คุณสามารถหาข้อมูลได้จาก Linkedin เพื่อนของเพื่อน และเมื่อคุณทำการบ้านของคุณเสร็จแล้วก็อย่าลืมที่จะคิดคำตอบคร่าว ๆ ในหัวโดยการโยงตำแหน่งหน้าที่การงาน และ Career path ของคุณในอนาคตว่า บริษัทนี้ตอบโจทย์ชีวิตคุณอย่างไร

5. อีก 3-4 ในอนาคตคุณเห็นตัวเองเป็นอย่างไร

คุณต้องคิดว่าถ้าคุณได้ตำแหน่งนี้ที่นี่แล้วชีวิตการทำงานของคุณจะก้าวไปอย่างไร ทิศทางไหน พยายามที่จะมองความจริง และพยายามซื่อสัตย์กับตัวเองในการตอบ และจงตอบคำถามให้เป็นผู้สมัครที่น่าสนใจ ไม่ใช่บอกว่าจะมองเห็นตัวเองไปทำงานบริษัทคู่แข่งด้วยการซื้อตัว หรือการเป็นแม่บ้านของผู้ชายในฝัน พยายามโฟกัสกับการตอบคำถามเรื่องการงานอย่างเป็นมืออาชีพ

6. คุณมีไปสัมภาษณ์งานที่อื่นอีกหรือไม่

พยายามอย่าใช้เวลาในการตอบคำถามนี้มาก อย่าให้ยืดเยื้อหรือให้ถูกถามต่อยอดจากคำตอบ พยายามตัดจบให้เร็วที่สุด คุณควรเบี่ยงประเด็นว่างานที่นี่คือตัวเลือกอันดับแรกของคุณ และอย่าโกหกว่าคุณไม่ได้ไปสัมภาษณ์กับคู่แข่งของบริษัทนี้ ทั้ง ๆ ที่คุณไป เพราะฉะนั้นจงตอบแบบกลางๆเพื่อป้องกันตัวเองไว้ก่อน

7. คุณจะทำอะไรให้บริษัทได้บ้าง

คำถามนี้สามารถถามได้หลากหลายรูปแบบเช่น ถ้าคุณได้ตำแหน่งงานนี้คุณจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าคุณถูกถามคำถามนี้ จงคิดทบทวนเตรียมคำตอบล่วงหน้าไว้ให้ดีว่าคุณจะมีโปรเจ็คทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้บ้าง คุณอาจลองทำแผนธุรกิจ หรือ แผนการตลาดเสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์กับบริษัท เป็นการโชว์ถึงไอเดีย ศักยภาพ กระบวนการคิดของคุณ ซึ่งทำให้เจ้านายใหม่ของคุณรู้สึกประทับใจในการทำการบ้านของคุณครั้งนี้

8. ทำไมถึงออกจากที่เก่า

บริษัทใหม่ของคุณอาจเข้าใจได้ว่านี่คือช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี จึงมีการปรับลดพนักงานออก คุณไม่ควรแฉด้านมืดของบริษัทคุณ แต่คุณควรให้เหตุผลที่เป็นความจริงว่าบริษัทเก่าสามารถเก็บคนเก่าไว้ได้ไม่กี่คน หรือบริษัทเก่าได้ outsource ไปจ้างประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงถูกกว่า แต่ถ้าคุณลาออกด้วยสถานการณ์ที่ต่างกัน คุณไม่ควรนินทา ให้ร้ายกับเจ้านายเก่าหรือบริษัทเก่า เพราะมันเป็นการบ่งบอกถึงนิสัยของคุณด้วย คุณควรบอกว่าคุณไม่ได้เรียนรู้อะไรจากบริษัทเก่าแล้ว และต้องการ Challenge ใหม่ๆในชีวิต

9. มีคำถามอะไรเพิ่มเติมไหม

นี่คือช่วงจังหวะที่ดีในการแสดงความคิดและโชว์ศักยภาพในตัวคุณ พยายามถามคำถามที่ไม่จำกัดคำตอบแค่ ใช่ กับ ไม่ใช่ อย่าถามคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องของผลประโยชน์ในตัวคุณ เช่น เงินเดือน โบนัส สวัสดิการ หรือ การถูกเลื่อนขั้น แต่จงถามคำถามว่าบริษัทคาดหวังอะไรจากคุณ และจะได้เรียนรู้อะไรจากบริษัทนี้บ้าง ลองใช้สัญชาติญานของคุณในการถามคำถามปลายเปิดในช่วงท้าย และไม่ควรที่จะถามมากเกินไป จงดูความเหมาะสมของเวลาด้วย

10. ให้อธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเคยทำและประสบความสำเร็จ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพูดถึง เป้าหมายที่คุณทำมันสำเร็จ คุณควรเตรียมคำตอบนั้นให้ดี ที่มา ความคิด ปัญหาที่เกิดขึ้น คุณแก้ปัญหานั้นอย่างไร และคุณไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างไร เขียนและจดสามข้อที่บริษัทใหม่คุณอยากได้คำตอบ และควรตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และบทบาทในตำแหน่งงานใหม่ พยายามตอบให้ละเอียดเป็นตัวเลข เปอร์เซนต์ เพื่อที่จะได้เพิ่มความเชื่อถือ และแสดงความเป็นมืออาชีพของคุณ

ถ้าคุณสมบัติคุณและประสบการณ์ทำงานของคุณตรงกับสิ่งที่บริษัทหรือองค์กรกำลังมองหา และคุณเตรียมสัมภาษณ์ไปอย่างมืออาชีพ คุณก็สามารถได้งานใหม่นั้นได้ไม่ยาก

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(ที่มา: http://www.popsugar.com/smart-living/Typical-Job-Interview-Questions-Answers-20280663#photo-20280972)

6 กลยุทธ์หางานใหม่ ให้ได้งานที่ชอบ เงินเดือนที่ใช่

6-strategies-for-a-new-job-to-get-a-like-jobs-and-like-salary

ถ้าคุณกำลังเบื่องานและอยากหางานใหม่แต่ไม่อยากให้ใครรู้ โลกออนไลน์คืออีกโลกที่คุณไม่ควรมองข้าม โดยการหางานใหม่ในโลกออนไลน์นั้นอาจดูเหมือนเป็นไปได้ยาก แต่จริง ๆ แล้วถ้าคุณแค่รู้หลักก็สามารถเป็นหนึ่งใน Candidate คือคนที่ถูกเรียกสัมภาษณ์ได้ไม่ยาก เพราะในแต่ละวันนั้นมีคนสมัครงานใหม่จำนวนมาก ในวัน ๆ หนึ่ง ฝ่ายบุคคลก็ตรวจเรซูเม่เป็นร้อย ๆ คนเช่นกัน ดังนั้น การหางานใหม่อย่างมีประสิทธิภาพต้องทำอย่างมีแบบแผน โดยมี 6 กลยุทธ์ดังนี้

1. เข้าใจในกฎและเกณฑ์การคัดเลือก

คุณต้องเข้าใจตัวเองก่อน รวมถึงเข้าใจถึงคุณสมบัติและเกณฑ์การคัดเลือกต่าง ๆ ของบริษัทนั้น ๆ โดยคุณควรเขียนรายการสิ่งที่คุณให้อันดับความสำคัญใน 5 ข้อแรก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร ตำแหน่งงาน ถ้าคุณเข้าใจถึงประเด็นที่ว่าอะไรคือแรงจูงใจให้คุณไปทำงานในตำแหน่งนั้น ในบริษัทนั้น คุณมีความสามารถหรือทักษะอะไรที่ตรงกับความต้องการของบริษัทนั้นบ้าง และนั่นก็จะทำให้คุณหางานที่ใช่สำหรับคุณได้มากขึ้น นอกจากนี้งานในฝันที่คุณชอบ หรือคุณอยากทำนั้น อาจไม่ใช่อยู่ในบริษัทอันดับหนึ่งที่คุณใฝ่ฝัน เช่น คุณอยากทำงานด้านการแพทย์ คุณก็ไม่ควรไปสมัครงานบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านไอที เพราะตำแหน่งงานที่คุณชอบกับอุตสาหกรรมนั้น อาจไม่สอดคล้องและทำให้คุณไม่มีความก้าวหน้า ให้เลือกบริษัทที่คุณชอบในเนื้องานมากกว่าชื่อเสียงของบริษัท

2. สร้างลิสรายละเอียดของงานที่เข้ากับเกณฑ์ในใจของคุณ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้แล้วว่าคุณอยากได้งานหรือหางานแบบไหน ให้คุณสร้างไฟล์ Excel เพื่อที่จะจดบันทึกและข้อมูลต่าง ๆ ในการหางานของคุณ และเพื่อที่คุณจะได้ตามได้ว่าสถานการณ์หางานของคุณไปถึงไหนแล้ว คุณส่งเรื่องไปวันไหน บริษัทติดต่อกลับมาวันไหน ต้องติดต่อใครบ้าง ต้องเตรียมตัวสัมภาษณ์อย่างไร และตอนนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาหรืออย่างไร ในกรณีที่คุณสมัครหลายบริษัทจะช่วยให้คุณไม่สับสนและทำตามแผนที่วางไว้ได้ง่ายขึ้น

3. อ่านขอบข่ายและความรับผิดชอบของงานอย่างถี่ถ้วน

มันอาจใช้เวลานานในช่วงแรกๆแต่การอ่านขอบข่ายและความรับผิดชอบต่อตำแหน่งนั้น ๆ อย่างละเอียดรอบคอบจะทำให้คุณประหยัดเวลาในระยะยาว คุณคงไม่อยากสมัครงานผิดตำแหน่งและมีความคาดหวังผิด ๆ กับตำแหน่งงานของคุณ ตามปกติแล้วแต่ละบริษัทจะมีข้อบังคับพื้นฐานเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ เช่น ต้องจบปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้อง มีประสบการณ์การทำงานด้านไหนมาบ้าง แต่ถ้าคุณมีประสบการณที่ไม่ถึง และไม่ตรง แต่คุณอยากจะสมัครตำแหน่งนี้ คุณไม่ควรจะปิดกั้นตัวเอง แต่คุณควรหาคำตอบดี ๆ ในการสัมภาษณ์ว่าคุณมีความสามารถและความตั้งใจกับการทำงานในตำแหน่งนี้มากแค่ไหน ทำไมบริษัทถึงต้องเลือกคุณเข้าทำงาน

4. ปรับเรซูเม่และ Cover Letter ให้เข้าแต่ละบริษัท

ถ้าคุณเจอตำแหน่งงานที่ชอบและเข้ากับประสบการณ์ ความสามารถของคุณ คุณควรปรับเรซูเม่ใหม่ รวมถึง Cover Letter เพื่อให้เข้ากับกฎเกณฑ์ วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเหล่านั้น คุณควรมีเรซูเม่หลายเวอร์ชั่นในการสมัครงานที่ต่างอุตสาหกรรมกัน รวมถึงบทบาทและหน้าที่รับผิดชอบที่คุณเคยทำในอดีต อาจเน้นโปรเจ็คที่เคยทำและมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นเป็นหลัก หลังจากที่คุณสมัครออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หางานทั้งหลาย อย่าลืมที่จะส่งอีเมล์ไปโดยตรงแก่บริษัทที่คุณสมัครงานนั้นๆ

5. คอนเนคชั่น คือ สิ่งสำคัญ

หลาย ๆ ตำแหน่งที่เปิดอยู่ไม่ได้ประกาศลงเว็บไซต์สาธารณะ แต่เปิดรับสมัครและให้พนักงานแนะนำกันต่อเฉพาะในองค์กรเท่านั้น การที่คุณหมั่นเข้าร่วมการประชุมและได้พบปะสังสรรค์กับผู้คนก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่คุณสามารถได้งานได้ง่ายขึ้น ลองไปงานคืนสู่เหย้าที่โรงเรียนเก่า หรือ ไปเจอวงเพื่อนใหม่ ๆ บอกให้พวกเขารู้ถึงหน้าที่ตำแหน่งการงานของคุณ เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอกับสังคมใหม่ ๆ การแลกนามบัตร แชร์ประสบการณ์ และการคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อาจทำให้คุณได้สัมภาษณ์งานเร็วกว่าที่คิด

6. ติดตามผล

ถ้าคุณส่งเรซูเม่และใบสมัครไปแล้วแต่ยังไม่มีใครตอบกลับมาเลย คุณควรส่งอีเมล์ไปอีกรอบเพื่อแน่ใจว่า ฝ่ายบุคคลได้รับอีเมล์และพิจารณาเรซูเม่ของคุณแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ในอีเมล์ขยะและคุณก็รอต่อไปด้วยความหวัง อีเมล์ฉบับที่สองของคุณควรเป็นอะไรที่สั้น ๆ ไม่ทำให้คนอ่านเสียเวลามาก แต่เข้าใจประเด็นและจุดประสงค์ของการสมัครงานครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี และจะดีอย่างมากถ้าคุณบรรยายว่าคุณสามารถพัฒนาองค์กรของเขาให้ดีขึ้นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่เขาควรติดต่อคุณกลับทันที ทำให้เขาอยากได้คุณ ในข้อความที่สั้น กระชับและจริงใจ การโทรกลับทันทีหลังวันสัมภาษณ์ไม่ใช่เป็นการเสียมารยาท แต่ทำให้ฝ่ายบุคคลจดจำชื่อของคุณและเรื่องของคุณได้มากขึ้น

ไม่มีมนตร์วิเศษใดๆ ที่ทำให้คุณได้งานอย่างที่คุณชอบและใช่ เพียงแต่ว่าคุณต้องรู้จักการหางานและการสัมภาษณ์งานอย่างมีกลยุทธ์ ใส่ใจในคุณภาพของตำแหน่งงานที่หา มากกว่าปริมาณ แล้วคุณก็จะพบงานที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

(ที่มา: http://www.entrepreneur.com/article/248750)

7 วิธีลาออกอย่างไรให้เจ้านายเสียดายสุดๆ

7-ways-to-impress-upon-resignation-2

เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในวัยทำงานต้องเคยพบเจอกับสถานการณ์อันน่าลำบากใจนี้ นั่นก็คือ การลาออก แต่การบอกลาเจ้านาย และการลาออกอย่างมืออาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมองค์กร และ ความกดดันต่างๆ อาจทำให้คุณลืมคิด หรือ ลืมในสิ่งที่ควรทำก่อนลาออกได้

และเพื่อไม่ให้การลาออกครั้งนี้ของคุณเป็นเรื่องแย่ๆ ลองมาดูวิธีการลาออกอย่างมืออาชีพที่ทำให้เจ้านายและบริษัทของคุณจะต้องรู้สึกเสียดายที่คุณต้องย้ายงานครั้งนี้กัน

1. สร้างผลงานให้เกินเป้าหมายที่ได้รับ

คุณควรบอกลาเจ้านายและบริษัทเก่าอย่างสง่างาม ด้วยการปิดตัวเลข หรือ ทำยอดที่เกินเป้า นอกจากเป็นการแสดงว่าคุณ Top perform แล้ว ยังทำให้บริษัทใหม่เข้าใจว่าคุณเป็นคนมีความสามารถอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำผลงานแย่และมีแนวโน้มโดนปลดจนถึงต้องหาบริษัทใหม่ซบ

การทำผลงานให้โดดเด่น เป็นการทิ้งท้ายสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และเจ้านาย และบางทีคุณอาจได้แพ็กเกจใหม่ จากบริษัทเก่าในการดึงตัวคุณไว้

2. ช่วยงานของเจ้านายอย่างเต็มที่

ถ้าคุณอยู่ในบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่ การทำรายงานส่งเบื้องบน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่ต้องทำประจำทุกเดือน ทุกไตรมาส และทุกๆสิ้นปี และเจ้านายคุณจะต้องเป็นปลื้มถ้าคุณได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึก ไว้อย่างละเอียด และเรียบร้อยก่อนที่คุณจะลาออก

ยิ่งอยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูงเท่าไหร่ การทำรายงานและคุยเคลียร์ตัวเลข เพื่อตัดสินใจในการวางกลยุทธ์ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และการที่จะได้ข้อมูลเหล่านั้นก็คือมาจากลูกน้อง หรือ ผู้ช่วยมือฉมังอย่างคุณนั่นเอง

3. เคลียร์งานของตัวเองให้เสร็จ

คุณควรลิสงานและโปรเจ็คที่คุณรับผิดชอบทั้งหมด ทั้งที่ทำอยู่ เคยทำ และในอนาคต เพื่อที่จะให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานได้สานต่ออย่างราบรื่น โดยเฉพาะโปรเจ็คที่คุณกำลังทำอยู่ หรือ โปรเจ็คใหม่ที่คุณเพิ่งไปนำเสนอมา ถ้าโปรเจ็คใหม่ผ่าน ไอเดียที่คุณนำเสนอเข้าตากรรมการ ลูกค้าชอบใจ และต้องการให้คุณทำต่อ

คุณต้องรีบบอกลูกค้า ถึงแผนการลาออกของคุณ และหาคนรับผิดชอบต่อจากคุณ และที่สำคัญอย่าคุณควรแชร์ปัญหาที่ค้างคาต่างๆ ไม่หมกเม็ด ไม่ทำให้คนอื่น หรือ ทีมเดือดร้อน และไม่เป็นภาระใครต่อ เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาหลังคุณไม่อยู่ ทุกคนจะมองว่าคุณในแง่ไม่ดี และอาจส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานของคุณในอนาคตได้

4. ถ่ายโอนงานตัวเองให้เสร็จ

การถ่ายโอนงานให้กับเพื่อนร่วมงาน หรือ เจ้านาย ลูกน้อง เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คุณอาจจัดประชุมและชี้แจงงานที่คุณต้องทำ และงานที่คุณต้องดีลต่อเนื่อง รวมถึงให้รายชื่อการติดต่อ Cross function หรือ third party ที่แผนกคุณ หรือ คุณติดต่อเป็นประจำ การถ่ายโอนงานทำให้บริษัทได้รับผลกระทบน้อย และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานของคุณ

5. วางแผนล่วงหน้า

คุณควรบอกล่วงหน้า บอกตรงไปตรงมา และบอกอย่างจริงใจ ว่าคุณจะลาออก แต่คุณควรบอกหลังจากที่คุณได้เซ็นสัญญาบริษัทใหม่แล้วเท่านั้น ซึ่งแต่ละบริษัทมีระบุชัดเจนว่าให้พนักงานแจ้งลาออกล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน และคุณไม่ควรลาออกในช่วงพีคของบริษัท

เช่น ถ้าเป็นบริษัทบัญชี ไม่ควรลาออกช่วง year end เพราะว่าไม่สามารถหาคนมาทำงานแทนคุณในช่วงเวลาที่ทุกคนงานหนัก และยุ่งมากได้

6. ใช้วันลาอย่างฉลาด

อย่าใช้วันหยุดของทั้งปีมาหยุดช่วงที่คุณจะลาออก แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้โอนถ่ายงาน หรือ มีการลาพักครึ่งวันบ้าง เพื่อใช้แพ็กเกจตรวจสุขภาพของบริษัท ในบางบริษัทคุณสามารถเปลี่ยนวันลาหยุดเป็นเงินเดือนได้อีกด้วย คุณลองเช็ควันลาและสวัสดิการต่างๆ ของบริษัทให้ดี และบริหารจัดการอย่างชาญฉลาด

อย่าใช้วันหยุดทั้งหมดลาเกือบทั้งเดือนและหายไปจากบริษัทก่อนถึงวันลาออกจริงๆ เพราะคุณอาจพลาดช่วงเวลาที่เพื่อนร่วมงานของคุณนัด Farewell หรือจัดกิจกรรมเลี้ยงส่งคุณอีกด้วย

7. บอกสาเหตุการลาออกอย่างมีเหตุผล

จงเป็นมืออาชีพ บอกสาเหตุการลาออกให้กับเจ้านายอย่างมีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ในการตัดสินใจครั้งนี้ เช่น ไม่ควรบอกว่าลาออกเพราะเบื่อเจ้านาย เบื่อเพื่อนร่วมงาน แต่ให้เหตุผลการลาออกว่าต้องการพัฒนาตัวเอง โดยการไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และไม่ควรทิ้งระเบิดให้ร้ายเพื่อนร่วมงานก่อนลาออกอีกด้วย

จงจำไว้ว่าถ้าคุณทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ชื่อเสียของคุณอาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานของคุณภายในอนาคต จงอย่าสร้างศัตรูที่ทำร้ายตัวเอง และนี่คือ 7 ข้อดีๆ ที่คุณควรพิจารณาและลองปฎิบัติตาม เพื่อให้การลาออกของคุณเป็นไปอย่างน่าประทับใจและเต็มไปด้วยความอวยพรยินดีกับหน้าที่การงานใหม่ของคุณ

เรียบเรียงโดย ทีม Learning Hub Thailand

9 วิธี ลางานแบบมีชั้นเชิง

Startup Stock Photos

ไม่ว่าคุณจะลากิจ ลาป่วย ลาคลอด หรือลาไปสัมภาษณ์งานใหม่ คุณไม่ควรที่จะหายไปเฉยๆ แต่คุณควรมีแผนรองรับในกรณีต่างๆ ที่เจ้านายคุณ ลูกน้องคุณ หรือลูกค้าคุณ  ต้องการตัวคุณและติดต่อสอบถามคุณในเรื่องงานอย่างเร่งด่วน   โดยเฉพาะถ้าการลางานของคุณไม่ใช่แค่วันสองวัน

1.วางแผนงานล่วงหน้า

คุณควรวางแผนงานล่วงหน้า ในช่วงที่คุณไม่อยู่ ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ไม่ใช่การพรีเซ้นโปรเจค ไม่ใช่ช่วงที่ต้องส่งมอบงานให้ลูกค้า และไม่ใช่ช่วงเปิดตัวสินค้าของบริษัท ควรเป็นช่วงที่งานของคุณไม่พีค และไม่กระทบกับบริษัทมากนัด และคุณควรตั้งตารางวันหยุดไว้ล่วงหน้า ที่ทำให้คนทั้งบริษัทเห็นว่าห้ามนัดประชุมคุณช่วงนี้ เพราะว่าคุณไม่อยู่ นอกจากนี้คุณควรใส่ช่วงเวลาที่คุณหยุดใน Signature หรือคำลงท้ายของคุณตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะทำให้คนที่ติดต่องานคุณประจำรับรู้ถึงวันลาคุณ

 

2.ฝากงานไว้ที่คนอื่น

ถ้าลูกค้าหรือเจ้านายคุณตามงานที่ค้างไว้ หรือ มีงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณ  คุณควรบอกเจ้านายและลูกค้าของคุณให้ชัดเจนว่าสามารถตามเรื่องได้ที่ใครบ้าง เช่น ถ้าเรื่องการวางบิลให้ไปตามกับคนนี้ที่แผนกนั้น  เรื่องเกี่ยวกับการเซอร์วิสลูกค้าหลังบ้านให้ติดต่อคนที่ชื่ออะไร แผนกไหน  ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณอาจมีการประชุมย่อยภายในทีม เพื่อให้คนในทีมได้รับรู้ หรือ แจกจ่ายความรับผิดชอบให้คนในทีมช่วยกันดูแล

 

3.กำหนดขอบข่ายให้ชัดเจน

บอกลูกค้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงานจนถึงเจ้านายอย่างชัดเจนว่าคุณจะไม่อยู่วันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ หน้าที่งานที่คุณรับผิดชอบคืออะไร และสามารถติดต่อคุณได้เวลาไหนบ้าง ช่องทางไหนบ้าง  เพื่อทำให้วันลาของคุณ เป็นการลางานจริงๆ ไม่ใช่การทำงานนอกสถานที่

 

4.ตั้งค่าอีเมล์ล่วงหน้า

ทุกครั้งที่มีอีเมล์เข้ามา ให้คุณตั้งต่าอีเมล์ตอบกลับอัตโนมัติว่าคุณอยู่ในช่วงลางานกี่วัน และคุณพร้อมจะกลับมาทำงานเมื่อไหร่ ถ้ามีเรื่องเร่งด่วนจริงๆ ก็ให้สามารถติดต่อได้ที่ใคร วิธีนี้จะทำให้คนส่งอีเมล์มาหาคุณรับรู้ว่าคุณไม่อยู่รับเรื่อง

 

5.สอนงานคนอื่น

คุณควรถ่ายงาน หรือ สอนงานคนอื่นในส่วนที่คุณรับผิดชอบโดยตรง เพื่อเวลาที่คุณไม่อยู่คนอื่นจะได้ทำงานแทนคุณได้ เป็นการไม่เสียเวลา และไม่กระทบงานโดยตรง โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ที่ต้องใช้เครื่องมือ และโปรแกรมเฉพาะต่างๆในการทำงาน  คนอื่นๆที่ไม่ได้ทำงานตรงนี้ทุกวันอาจทำไม่เป็น หรือ ขาดตกบกพร่องอะไรไป ทางที่ดีคุณควรหาเวลาสอนเพื่อนร่วมงานไว้บ้าง

 

6.จัดเรียงเก็บไฟล์งาน และเอกสารที่สำคัญ

เอกสารที่ต้องใช้บ่อยๆ เช่น ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ และเอกสารสำคัญประเภทต่างๆ ควรเก็บไว้ในไฟล์ Desktop อย่างเป็นระเบียบหาได้ง่าย และไม่ต้องใช้พาสเวิร์ดในการเปิดเข้าไป  และคุณควรจัดเรียงเอกสารสำคัญอ้างอิงต่างๆ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการค้นหา ทั้งไฟล์เอกสารในเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะของคุณเอง

 

7.สร้างรายชื่อ เบอร์ติดต่อ และอีเมล์สำคัญ

สร้างรายชื่อ Reference และ Contact person ทั้ง Vendor และ ลูกค้า ให้ชัดเจน โดยคุณอาจทำใส่ตาราง Excel และยิงอีเมล์นี้ออกไปในวันสุดท้ายก่อนคุณลางาน

 

8.หยุดอัพเดท Social Media

การลางานต่างๆ ไม่ว่าจะลาคลอด ลาป่วย หรือ ลากิจ  ก็ตาม คุณไม่ควรทำตัวลั้ลลาจนเกินงาม ในระหว่างที่คุณมีความสุขไม่สนใจรับโทรศัพท์จากลูกค้า หรือ เพื่อนร่วมงาน ทำตัวติดต่อไม่ได้ แต่คุณดันอัพโหลดรูปต่างๆ เช็คอินลงใน Social Media นั่นทำให้คุณดูแย่ในสายตาเพื่อนร่วมงานไปทันที

 

9.ของฝากเล็กๆน้อย ๆ

อันนี้ถือว่าเป็นน้ำใจเล็กๆน้อยๆ ที่คุณควรมีของฝาก ของกิน ให้กับเพื่อนร่วมงาน หรือ คนที่คอยช่วยเหลือเรื่องงานของคุณระหว่างคุณลา การแสดงน้ำใจและคิดถึงทีม ทำให้คุณแลดูเป็นคนน่ารัก และทำให้เพื่อนร่วมงานอยากช่วยเหลือคุณอีกในอนาคต

 

ในมุมมองขององค์กร หรือ บริษัทใหญ่  ถ้าพนักงานลางานยาว เช่น ลาคลอด หรือ ลาพักร้อนมากกว่าสองอาทิตย์ องค์กรควรมีระบบ Succession Planning หรือ การวางแผนหาผู้สืบทอดตำแหน่ง เป็นการจัดเตรียมคนในการทดแทนตำแหน่งงานใดงานหนึ่งไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารสูงๆในองค์กร  หรือตำแหน่งที่เป็นตำแหน่งหลัก  ถ้าขาดตำแหน่งนี้ไปอาจทำให้องค์กรสะดุดล้ม และเดินไปได้ช้า

นอกจากนี้ภายในองค์กรควรมีการจัดการมองหา Talent หรือพนักงานที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาบุคคลเหล่านั้น ให้พร้อมกับการเลื่อนตำแหน่ง เมื่อตำแหน่งนั้นว่าง วิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้องค์กรและบริษัทเสียค่าใช้จ่าย และค่าเสียโอกาสต่างๆน้อยลง

เรียบเรียงโดย ทีม Learning Hub Thailand

8 ประโยคโดนใจ พูดเมื่อไหร่ได้งานเมื่อนั้น

bestinterview

ทุกคนล้วนแต่อยากทำงานที่ใช่ งานที่ใฝ่ฝัน หรือทำงานในบริษัทชั้นนำ แต่กว่าที่คุณจะประสบความสำเร็จในการสมัครงาน และได้รับการว่าจ้างอย่างสมบูรณ์ คุณต้องผ่านกระบวนการสรรหาคัดเลือกที่ใช้เวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ ขั้นตอนการกรอกใบสมัคร ไปจนถึงการสอบสัมภาษณ์

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการสัมภาษณ์งาน และไม่ใส่ใจกับขั้นตอนนี้มากนัก ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณพลาดโอกาสได้งานไปอย่างน่าเสียดาย แต่เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบลง การสัมภาษณ์งานของคุณจะเปลี่ยนไป เพราะคุณจะมั่นใจ และมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น บทความนี้แนะนำคำถามปิดท้าย 8 ประโยคที่จะทำให้คุณสามารถพิชิตใจกรรมการสัมภาษณ์ได้ไม่ยาก

1.กระบวนการหรือขั้นตอนถัดไป คืออะไร

หากการสัมภาษณ์สิ้นสุดลง และกรรมการเอ่ยถามว่าคุณต้องการถามคำถามอะไรอีกไหม คุณควรคว้าโอกาสนั้นไว้ คุณไม่ควรเดินออกจากห้องสัมภาษณ์โดยไม่ถามอะไรเลย เพราะนั่นแสดงว่าคุณไม่สนใจว่าจะได้ทำงานนี้หรือไม่ คุณควรตั้งคำถามเพื่อแสดงให้กรรมการเห็นว่า คุณกระตือรือร้นที่จะทราบผลการสัมภาษณ์ และอยากที่จะเข้าสู่กระบวนการสรรหาว่าจ้างถัดไป

คุณอาจจะลองถามกรรมการว่า ยังมีผู้สมัครที่ยังรอการสัมภาษณ์ในตำแหน่งเดียวกันอีกหรือไม่ หรือหากคุณเป็นผู้สมัครคนสุดท้ายที่ถูกสัมภาษณ์ คุณควรถามว่า เมื่อไหร่ที่คุณจะทราบผลการสัมภาษณ์ หรือเมื่อไหร่ที่กรรมการจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสม การถามคำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณเตรียมตัว เตรียมใจ และทราบถึงระยะเวลาในการรอผลสัมภาษณ์

2. เมื่อไหร่ที่จะทราบผลการสัมภาษณ์

การตั้งคำถามปิดท้ายเช่นนี้ เป็นการช่วยให้กรรมการรู้สึกว่าคุณสนใจและรอคอยที่จะทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างใจจดใจจ่อ อีกทั้งยังเป็นการแสดงความพร้อม และการเตรียมตัวสำหรับกระบวนการถัดไปที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการย้ำเตือนกรรมการเกี่ยวกับวันเวลาในการตัดสินใจที่จะคัดเลือกผู้สมัครอีกด้วย

3. ยังมีอะไรที่อยากให้ฉันช่วยหรือทำอีกไหม

หากหัวข้อในการสัมภาษณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องรายละเอียดงาน การพูดปิดท้ายด้วยประโยคแบบนี้ ทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณกำลังให้คำมั่นสัญญากับทีมและต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของบริษัท นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณมีน้ำใจ กระตือรือร้น และพร้อมที่จะเรียนรู้ลักษณะงานในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้คุณได้คะแนนเพิ่มจากกรรมการ

4. คุณมีความกังวลใจ หรือมีข้อสงสัยอื่นใดหรือไม่

ระหว่างการสัมภาษณ์ คุณคงอยากจะรู้ว่ากรรมการมีความสงสัยหรือกังวลใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตัวคุณหรือไม่ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความคลุมเครือซึ่งอาจส่งผลต่อกระบวนการสัมภาษณ์ของคุณ การตั้งคำถามเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้คุณได้ชี้แจงและอธิบายสิ่งต่างๆให้กรรมการได้ฟังในทันที ซึ่งจะทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ซื่อตรงและมีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น

5. ฉันมีคุณสมบัติและความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณกำลังมองหาบ้างหรือไม่

การถามคำถามเช่นนี้ ทำให้คุณทราบถึงทัศนคติและความคิดเห็นโดยรวมของกรรมการที่มีต่อตัวคุณ เพราะพวกเขาจะแสดงความสนอกสนใจและความพึงพอในประวัติการศึกษา ภูมิหลัง ทักษะความสามารถ และประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณ ผ่านการตอบคำถามนี้ และบางทีคุณอาจจะทราบแนวโน้มของผลการสัมภาษณ์ครั้งนี้ก็ได้

6. ไม่ทราบว่า ใครเคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน

หากคุณสอบถามถึงบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งนี้มาก่อน จะทำให้กรรมการรู้สึกว่าคุณเป็นคนละเอียดรอบคอบ เพราะคุณสนใจเหตุผลที่บริษัทว่าจ้างคุณ นอกจากนี้ ขณะที่กรรมการกำลังอธิบายที่มาที่ไปของการสรรหาคัดเลือกครั้งนี้ คุณจะได้ทราบถึงรายละเอียดเพิ่มเติมของตำแหน่งงาน บทบาทหน้าที่ รวมทั้งความรับผิดชอบที่คุณต้องทำในบริษัทอีกด้วย

7. คุณคิดว่าวัฒนธรรมในองค์กรของคุณเป็นอย่างไร

คุณควรตั้งคำถามนี้ หากคุณต้องการทราบและทำความเข้าใจกับสิ่งที่บริษัทคาดหวังต่อพนักงานและตัวคุณ ในระหว่างที่กรรมการบรรยายถึงวัฒนธรรมของบริษัท คุณจะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาว่าตัวคุณเองมีคุณสมบัติที่ตรงและเหมาะสมกับตำแหน่งงาน และองค์กรหรือไม่ นอกจากนี้ คำถามดังกล่าวยังช่วยให้คุณมองเห็นภาพจำลองการเป็นพนักงานในบริษัท และเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับงานในอนาคตของคุณอีกด้วย

8. ทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งงานนี้ และมันมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างไร

ทักษะเป็นเรื่องที่กรรมการสัมภาษณ์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าระหว่างการสัมภาษณ์กรรมการจะพยายามค้นหาทักษะที่จำเป็นในตัวผู้สมัครแต่ละคน พนักงานที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่แตกต่างกันจะมีทักษะต่างกัน เช่น นักบัญชีมีทักษะในการคิดคำนวณ และมีความละเอียดรอบคอบ เลขานุการมีทักษะในการจัดการและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

ดังนั้น การตั้งคำถามเช่นนี้ จะทำให้คุณสามารถประเมินตนเองได้ว่าตนเป็นคนที่ใช่และเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่ และหากคุณอยากได้คะแนนเพิ่มจากกรรมการ ให้คุณลองเล่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือทักษะดังกล่าว แล้วคุณก็จะกลายเป็นคนที่กรรมการตามหา หรือสามารถพิชิตใจกรรมการได้นั่นเอง

เชื่อว่า หากคุณนำ 8 ประโยคเหล่านี้ไปใช้ในการสัมภาษณ์งาน การหางานจะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และคุณคงจะได้รับข่าวดีในไม่ช้า

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand

Source: http://www.lifehack.org/285407/8-things-outstanding-interviewees-say-the-end-interview

 

3 เคล็ดวิชา สะสมความเก๋า สำหรับฟรีแลนซ์มือใหม่

ในยุคนี้ กระแสของการเป็น Freelance หรือการทำงานอิสระ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ไฟแรงเมื่อเรียนจบมา มักอยากเป็นนายตนเอง อยากเป็นเจ้าของธุรกิจโดยเร็ว เพราะเห็นว่างานไม่ประจำทำเงินกว่า พอเห็นเทรนด์อะไรน่าทำก็กระโจนเข้าใส่ตามๆกัน เพราะคิดว่าเรียนมาเยอะ ความรู้ระดับปริญญาคงเป็นอาวุธที่ดีได้ แต่หากทำไปด้วยความคิดว่าจะได้อย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินเก็บของตัวเองทั้งหมดใน 3-5 ปีแรก

เมื่ออาวุธเดิมที่มีใช้ไม่ได้ผล จึงเกิดกระแสที่สอง คือ การเข้าสัมมนาฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ทันสมัยต่อยอด และอาจได้แถมเคล็ดลับดีๆมาช่วยเร่งผลลัพธ์ให้ความสำเร็จนั้นง่ายขึ้น จึงเกิดการตื่นตัวเห็นคนรุ่นใหม่นิยมไปเข้าสัมมนาอบรม บางคนก็หมดเงินไปมากมาย แลกกับสิ่งที่ได้มาคือความรู้ที่ท่วมท้นไปหมด แต่กลับไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ในชีวิตได้อย่างที่ต้องการ  นั่นเป็นเพราะอะไร ?

learning pyramid

เครดิตภาพจาก https://dribbble.com/shots/1442129-Learning-Pyramid-Infographic

 

จากภาพ “ปิรามิดแห่งการเรียนรู้” ทำให้เห็นว่าการเรียนในห้องเรียน จะไม่สามารถทำให้ความรู้ถูกจดจำหรือคงอยู่ได้นาน ไม่ว่าจะเป็นการฟังบรรยาย การอ่าน การดูคลิป ดูการสาธิต เพราะการเรียนรู้เหล่านั้นเป็นเพียง “ความรู้มือสอง” เท่านั้น

ในชีวิตจริง ความรู้กว่า 90% ที่เรียนมา อาจจะไม่ถูกนำไปใช้เลย ไม่นานเราจึงลืมไปหมด จากแผนภาพนี้ เมื่อได้เรียนอะไรมาก็ตาม สิ่งแรกที่ควรทำคือ การนำไปฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และนำไปสอนผู้อื่นต่อ เพื่อให้ความรู้นั้นฝังลงไปในตัวเราอย่างแท้จริง

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องการ เพื่อที่จะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตก็คือ “ทักษะ” ซึ่งจะเป็น “ความรู้มือหนึ่ง” ที่มาจากตัวเรานั่นเอง

คำถามต่อมา ในบรรดาความรู้และทักษะอันมากมาย อะไรคือทักษะสำคัญ ที่เราต้องการในการทำงานและทำธุรกิจ ?

 

“ความเก๋า” คือ ทักษะขั้นเทพ ที่จะสร้างความสำเร็จให้กับการงานและธุรกิจ

แม้เราจะฉลาดแค่ไหน มีความรู้ระดับอัจฉริยะ กวาดปริญญามาไม่ว่ากี่ใบ ก็ไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิต เพราะความรู้ในระบบการศึกษา อาจให้ในเรื่องของ เทคนิค วิธีการในการทำงาน แต่สิ่งที่ไม่มีโรงเรียนใดที่สอนได้คือ “ความเก๋า”

“ความเก๋า” นั้นมาจากประสบการณ์เชิงลึก เป็นองค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดและสั่งสมมาอย่างยาวนาน เฉพาะคนที่คร่ำหวอดในวงการทำงานนั้นๆเท่านั้น ที่เรียกว่า Tacit Knowledge หรือความรู้ฝังลึก และคงจะไม่สามารถถ่ายทอดออกเป็นเสต็ปขั้นตอนได้ง่ายๆ หรือเล่าให้ใครฟังได้ในวันสองวัน

ในฐานะมือใหม่ เราควรที่จะเรียนรู้กับ “คนเก๋า” ที่เป็นนักปฏิบัติจริงด้วย ไม่ใช่เชื่อถือแต่ “นักคิด” หรือคนที่มีหลักการดีทางทฤษฎีอย่างเดียว

คนที่เก๋าไม่ใช่คนอัจริยะ ไม่ใช่ว่าผิดไม่เป็น แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจผิดพลาด แม้จะถึงขั้นต้องล้มลงไป ด้วยเวลาเพียงไม่นาน กลับมายืนหยัดได้ใหม่เสมอ และเค้าพร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะไม่ผิดซ้ำสอง และการยืนขึ้นมาครั้งใหม่ก็จะแกร่งกว่าเดิม เป็นเพราะเค้าไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิมๆ แต่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวมากกว่า ดังนั้น “คนเก่าแก่” ก็อาจไม่ใช่คนเก๋าเสมอไป จากนิยามนี้

อาจเป็นการยากสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่จะสะสมประสบการณ์และความเก๋าด้วยเวลาอันสั้น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสำหรับใครก็ตาม ที่อยากจะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในธุรกิจหรืองานที่ตนเองสนใจ

ก่อนจะออกท่องยุทธภพ ลองใช้  3 เคล็ดวิชาต่อไปนี้เพื่อ “สะสมความเก๋า” ด้วยความรวดเร็ว มันอาจย่นย่อระยะเวลาการเรียนรู้ ลดความผิดพลาด และป้องกันความล้มเหลวและความสูญเสียสำหรับมือใหม่ได้เป็นอย่างดี

1. หาโอกาส ไม่ใช่หางาน

สำหรับคนที่กำลังอยู่ในวัยค้นหาตนเอง อย่าเพิ่งไปตกหลุมกับงานที่ให้รายได้ดีๆ ให้ลองตรวจสอบความรักและความถนัดของตัวเองก่อน เมื่อเรารู้ว่าเราอยากทำงานอะไรในชีวิตข้างหน้า แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ ไม่มีทุน แต่เมื่อเรามองหา เราจะมองเห็นโอกาสแน่นอน

หลายคนที่ทำอะไรตามกระแส เห็นเค้าทำแล้วรวย ก็อยากรวยบ้าง จะไม่สามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของวงจรธุรกิจไปได้ เมื่อเลิกล้ม ก็คือความล้มเหลว

การที่เราเลือกทำสิ่งที่รักและถนัด จะทำให้เราอยู่กับงานนั้นได้นาน แม้ว่าอาจจะยังมองไม่เห็นความสำเร็จอันใกล้ เราก็จะไม่ท้อแท้หรือเลิกไปซะก่อน นั่นแหละจุดเริ่มแห่งความสำเร็จ

2. ถ้าหาโอกาสไม่ได้ ก็สร้างมันซะ

หลายๆครั้ง โอกาสก็ไม่ได้หาง่ายๆ แต่เราอาจจะ “สร้างโอกาส” ขึ้นได้ด้วยตัวเอง ลองเสนอตัว “ทำฟรี” ดูบ้าง ของฟรีใครก็ชอบ ปฏิเสธยากเพราะมีแต่ได้ไม่มีเสีย ดังนั้นหากเราเอาแรงและเอาเวลาบางส่วนเข้าแลก เราจะได้โอกาสนั้นโดยไม่ยาก

นักธุรกิจระดับโลกหลายคน เริ่มต้นชีวิตด้วยการเข้าไปของานค่าตัวถูกๆทำ เพื่อเรียนรู้กลยุทธ์ธุรกิจแบบอินไซด์จากมือเก๋า แล้วเขาก็จะขยันและตั้งใจทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถ เพื่อเรียนรู้ให้มากที่สุด

เมื่ออยู่ในธุรกิจนั้นแล้ว ถึงจะเริ่มมองเห็นจุดแข็งจุดอ่อน ซึ่งก่อนนี้มองไม่เห็น แล้วจึงค่อยออกมาเริ่มธุรกิจของตนเอง ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว การที่เราเข้าไปสัมผัสธุรกิจนั้นจริงๆ ก็อาจจะบอกได้ว่า จริงๆแล้วเราไม่ได้ชอบ หรือไม่ได้สนใจมันจริงๆก็เป็นได้ แบบนี้ถ้าจะเลิกหรือถอยออกมาก็ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะเรายังไม่ได้ลงทุนอะไรไป

อยากประสบความสำเร็จในธุรกิจอะไร อย่าเพียงวิเคราะห์จากภาพภายนอกที่เห็น แล้วรีบทุ่มเทเงินลงทุนกระโจนไปเพียงเพื่อลองทำ

แต่จงแอบเข้าไปทำก่อน เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และจากคนที่อยู่ในธุรกิจนั้นๆ นั่นจึงเป็นการสะสม “ความรู้มือหนึ่ง” อย่างแท้จริง

3.เรียนรู้จากยอดฝีมือเท่านั้น

ความเก๋าที่เราต้องการ คงไม่ใช่มาจากใครก็ได้ หากจะย่นย่อความสำเร็จ จาก 20 ปีให้เหลือสัก 5 ปี ดังนั้น จงใช้เวลาในการค้นหาอาจารย์ และต้องเลือกเฟ้นหายอดฝีมือในตำนานคนนั้นให้เจอ เมื่อเจอแล้วให้คิดอุทิศตัวสัก 3 ปี ไปฝากตัวเป็นศิษย์ก้นกุฏิ สะสมเคล็ดวิชาความเก๋าระดับเทพเข้ามาไว้ในตนเอง

การที่เป็นศิษย์มีครู หากขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มักจะได้รับโอกาสดีๆจากครูเสมอ ทั้งคอนเนคชั่นและสายสัมพันธ์ที่อาจารย์ได้สั่งสมมา จะเป็นฐานต่อยอดงานของเราได้อย่างดี แล้วโอกาสใหญ่ๆ ก็จะเข้ามาโดยไม่คาดหมาย เผลอๆจะได้แจ้งเกิดเป็นเจ้าสำนักคนต่อไปโดยไม่ได้ตั้งตัว

อย่าคิดว่าการเรียนรู้ คือการอ่านหนังสือ หรือไปอบรมอย่างเดียว แต่การเข้าไปขลุกหรือคลุกคลีกับคนเก่งในธุรกิจ เราจะได้รับการถ่ายทอดสิ่งที่ไม่ได้บอกไว้ในตำรา

จนกระทั่งเราได้ประสบการณ์ที่ตกผลึกมาเอง และนี่ต่างหากที่เรียกว่า “เคล็ดลับ” ที่แท้จริง

 บทความโดย เรือรบ 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save