ทำอย่างไรให้คนในทีมระเบิดความสร้างสรรค์ออกมา

ทำอย่างไรให้คนในทีมระเบิดความสร้างสรรค์ออกมา


หนึ่งในสิ่งที่คนทำงานมืออาชีพบอกต่อกันมาแบบผิดๆ ก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล”

คำกล่าวนี้ต้องการจะบอกว่าใครที่มีก็มี ส่วนใครไม่มีก็จะไม่มีไปตลอดกาล


แต่ในความเป็นจริงมีการทำวิจัยไม่รู้กี่ครั้งในหลายสิบปีก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าใครจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าใครตั้งแต่กำเนิด!
===

ความจริงก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์นั้นสร้างได้” ใครๆ ก็มีได้ ขอเพียงให้มีโอกาสที่เหมาะและบริบทแวดล้อมที่ถูกต้องเท่านั้นเอง

ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเป็นทีมนั้นจึงต้อง ‘สร้าง’ ร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทุกคนล้วนถูกปลดล็อคให้ไอเดียบรรเจิดได้ทั้งนั้น และนี่คือขั้นตอนในการระเบิดความคิดสร้างสรรค์ของทีม
===

บ่มเพาะความชำนาญเฉพาะด้าน

ก่อนจะไปสร้างสรรค์อะไรให้โลกตะลึงเราควรจะมีความชำนาญเฉพาะด้านเสียก่อน

 

ถ้าอยากจะเป็นนักสร้างสรรค์ระดับท็อปของงานโฆษณา ก็ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของโฆษณาอย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับก่อนที่คุณจะเป็นนักประดิษฐ์ด้านเครื่องกล คุณก็ต้องเข้าใจหลักกลศาสตร์ให้ปรุโปร่งก่อนนั่นเอง

 

ฉะนั้น ถ้าอยากให้ทีมของคุณเป็นทีมแห่งความสร้างสรรค์ ก็ลองระบุว่าคนในทีมจะต้องมีทักษะอะไรบ้าง ช่วยโค้ชและให้กำลังใจทีมงาน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นภาระที่ยิ่งใหญ่กว่าการสอนงานเบื้องต้น

ลองให้ทีมของคุณทำบันทึกการทำงานส่งแล้วคุณ Feedback กลับไปว่าอะไรดีไม่ดีอย่างละเอียด สิ่งนี้ช่วยยกระดับทีมงานของคุณได้
===

สนับสนุนให้สำรวจหาสิ่งใหม่ๆ

การมีเพียงความชำนาญเฉพาะในสิ่งนั้น ๆ อาจจะไม่เพียงพอ หากคุณรู้ทุกอย่างในกระบวนการโฆษณาซึ่งไม่ต่างจากการ ‘รู้แน่น’ ในการโฆษณาตามแบบฉบับขององค์กร ซึ่งเท่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปไกลจากคนอื่นเลย

ลองไปสำรวจเรียนรู้สิ่งอื่นนอกเหนือจากแวดวงตัวเอง เช่น เรียนรู้การปลูกพืชออร์แกนิก ซึ่งอาจจะช่วยเปิดโลกและปลดล็อคการคิดสร้างสรรค์ในงานโฆษณาก็เป็นได้

องค์กรใหญ่หลายแห่งเริ่มมีนโยบายให้พนักงานแบ่งเวลาส่วนหนึ่งเพื่อไปค้นคว้าหาสิ่งแปลกใหม่ เพื่อจะมีไอเดียกลับมาทำให้การทำงานในทีมนั้นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์แล้ว
===

เสริมพลังในทีมด้วยเทคโนโลยี

เพราะเทคโนโลยีมีบทบาทในการช่วยให้มนุษย์ก้าวกระโดดจากจุดเดิม การใช้เทคโนโลยีจะเพิ่มความชำนาญไปจนถึงร่นระยะเวลาการทำงานเดิม ๆ จนมีเวลาไปสร้างอะไรแปลกใหม่ได้

ตัวอย่าง บริษัทพิกซาร์ที่ทำแอนิเมชั่นจนได้รางวัลออสการ์นั้นจะมีการลองใช้ซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ มาทดลองทำหนังสั้น ซึ่งถือเป็นการเล่าเรื่องเชิงทดลองด้วย

สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาได้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการทำภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ และกลายเป็นเบอร์หนึ่งของวงการในที่สุด
===

อดทดรอผลลัพธ์

อย่าลืมว่าความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการทดลอง หากเร่งรัดรีบร้อนก็คงจะล้มเหลวทั้งวงการ

สิ่งที่ควรจะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรคือการเกื้อหนุนให้สามารถทดลองความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ และให้เวลามากพอที่จะพัฒนาและอดทนรอดอกผลให้งอกเงย

แม้กระทั่งหากผลลัพธ์ไม่ออกมาอย่างที่หวัง ก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องปกติ และให้หันไปหาไอเดียใหม่ๆ มาลองทำอีกโดยไม่ต้องมองว่าสูญเปล่าหรือสิ้นเปลือง

บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากให้ค่ากับการสร้างสรรค์ โดยให้เวลาอย่างมากมาย อดทนรอคอยโดยไม่หวาดหวั่นกับต้นทุนจนเกินไป

เพราะเมื่อคุณค้นพบความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ ‘เวิร์ค’ ผลผลิตดี ๆ จะตามมา ช่วยให้เวลาและทรัพยากรที่ทุ่มทุนไปนั้น พลิกกลับมาเป็นผลประกอบการอันยอดเยี่ยมอย่างรวดเร็วและมหาศาลได้อย่างแน่นอน
===

เรียบเรียงจาก “Set the Conditions for Anyone on Your Team to Be Creative” โดย Greg Satell จาก Harvard Business Review เดือน ธันวาคม 2018

 

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

10 วิธีสร้างความไว้วางใจให้ทีมของคุณ

10 วิธีสร้างความไว้วางใจให้ทีมของคุณ

หากคุณกำลังก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ รู้มั้ยว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างความไว้วางใจจากทีมของคุณ 

แน่นอนว่า ทีมย่อมต้องการผู้นำ ที่มีวินัย ความรับผิดชอบ และกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเดิม

เป็นคนที่ตระหนักเป็นอย่างดีว่า ‘ความไว้วางใจ(Trust)’ คือหัวใจสำคัญของการสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งมันจะทำให้ทีมของคุณเวิร์คมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มผลกำไรและประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงความสุขในชีวิตอีกด้วย

====

ต่อไปนี้คือ 5 แนวทางในการสร้างความไว้วางใจ ที่ผมสกัดออกมาจากบทความ Ten Ways To Build Trust On Your Team ที่เขียนโดย Liz Ryan
ในนิตยสาร Forbes

1. กล้าที่จะแบ่งปันความเปราะบางของคุณ

เปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยถึงความกลัวและพูดถึงปัจจัยที่คุณคิดว่าจะทำให้เกิด Trust เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในธุรกิจของคุณ 

===

2. หยุดสร้างวัฒนธรรมแห่งการตำหนิ ติโทษ และการทำให้คนในทีมอับอายจากความผิดพลาดของเขา

เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความผิดพลาด การรับผิดชอบที่จะลงมือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไปแทน

===

3. ทบทวนกฎ ระเบียบ ที่ล้าสมัย

โดยเฉพาะข้อที่เกี่ยวกับการบังคับ สั่งการ และทำโทษ ตัดกฎที่รกรุงรังออกไปให้เยอะที่สุด การมีกฎลักษณะนั้นรังแต่จะทำให้ทีมงานของคุณรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเด็กที่ยังไม่โต 

===

4. สร้างระบบที่ให้คนในทีมพบเจอหัวหน้าทีมบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

เป็นการพบเจอทั้งในส่วนของงานและในเรื่องทั่ว ๆไป อย่ารอให้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยมาพบเพื่อปะทะกันเมื่อที่ผ่านมา

===

5. ให้ความสำคัญกับทีมงานของคุณในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

ทีมแต่ละคน ก็มีความเฉพาะตัวและแตกต่างหลากหลาย อย่ามองพวกเขาว่าเป็นเพียงคนทำงานให้คุณ ช่วยเปิดพื้นที่ในการรับรู้สารทุกข์สุกดิบ ความชอบ ความถนัด เป้าหมายในชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปของทีมงานแต่ละคนบ้าง

===

ทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบบางส่วนในการสร้าง Trust ที่เมื่อคุณนำไปปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแล้ว คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ของทีมเวิร์คที่มีความไว้วางใจเต็มเปี่ยมอย่างแน่นอน
===

ที่มา https://www.forbes.com/sites/lizryan/2018/03/17/ten-ways-to-build-trust-on-your-team/#7c7aa41a2445

เรียบเรียงโดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำและทีมเวิร์ค (Leadership &Teamwork Expert)

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

10 เคล็ดลับที่ทำให้ทีมเวิร์คประสบความสำเร็จ

10 เคล็ดลับที่ทำให้ทีมเวิร์คประสบความสำเร็จ

มีสองเหตุผลที่องค์กรและทีมที่ประสบความสำเร็จไม่ได้บอกเคล็ดลับซึ่งทำให้ทีมของเขาเป็นสุดยอดทีมเวิร์คแก่คุณ

เหตุผลแรกคือพวกเขากลัวว่าทีมของคุณจะกลายมาเป็นคู่แข่งของเขาในอนาคต ส่วนเหตุผลที่สองซึ่งสำคัญกว่าก็คือ…

พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนั้น

แต่ผมรู้ครับ! จากการศึกษาทีมเวิร์คและองค์กรที่ประสบความสำเร็จทั่วโลกเกือบร้อยแห่ง ผมพบว่าหัวใจสำคัญของการเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จประกอบไปด้วยเคล็ดลับที่จำแนกออกมาได้ทั้งหมด 10 ข้อ  ดังนี้

=====

1. สมาชิกในทีมรู้และเข้าใจเป้าหมายร่วมกัน

การที่สมาชิกในทีมไม่รู้ว่าทีมที่เขาสังกัดมีเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง หรือเป้าหมายใหญ่ที่สุดเป็นอะไรก็ไม่ต่างกับการออกเดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน สมาชิกแต่ละคนจะเคว้งคว้าง ผิดทิศ และมักเดินกันไปคนละทาง

ลองใช้เวลาประชุมเพื่อถามทุกคนในทีมเกี่ยวกับเป้าหมายของทีม ถ้าพวกเขาตอบไม่ได้หรือตอบไปคนละทางก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องพูดคุยเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกันก่อน
====

2. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความจริงใจ

พื้นที่ปลอดภัย (safe space) คือพื้นที่ทางจิตใจที่ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวเอง ทุกคนสามารถสื่อสารความคิด ความรู้สึก มุมมองที่แตกต่าง เผยความเปราะบางให้กันและกันรับรู้ได้ และสมาชิกในทีมเต็มไปด้วยความรู้สึกไว้วางใจกันและกัน

สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญในการสร้างทีมที่ประสบความสำเร็จซึ่งต้องมีองค์ประกอบในข้อถัดไป

รู้ไหม ความไว้วางใจนั้นสร้างได้ ซึ่งความไว้วางใจนี่แหล่ะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและจริงใจ คลิกอ่านวิธีการที่นี่
====

3.มีการสื่อสารที่เปิดกว้าง เปิดใจ ซื่อสัตย์ จริงใจ และเต็มไปด้วยความเคารพ

การสื่อสารนี่แหล่ะคือแก่นหลักในการเป็นทีม เป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมจะประสบความสำเร็จได้หากปราศจากการสื่อสารที่มีคุณภาพ

ซึ่งการสื่อสารที่มีคุณภาพคือการสื่อสารที่เปิดกว้าง รับฟังกันและกัน สื่อสารด้วยความสัตย์จริงทั้งต่อหน้าและลับหลัง และที่สำคัญคือต้องสื่อสารด้วยความเคารพกันและกันเสมอ
====

4. ทุกคนในทีมมีจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของทีมหรือองค์กรนี้ร่วมกัน (sense of belonging)

หากคนในบ้านไม่รู้สึกว่าตัวเองคือเจ้าของบ้านเขาจะใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องดูแลหรือรับผิดชอบอะไรในบ้านหลังนั้นเลย

ทีมก็เช่นกัน การปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของทีมทำได้โดยการเปิดโอกาสให้เขาได้นำทีมเป็นระยะและรับรู้ถึงไอเดีย มุมมอง ความรู้สึกของเขาที่มีต่อทีม ต่องานแต่ละโปรเจคเสมอ
====

5. สมาชิกในทีมรับรู้ถึงความมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันทั้งของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม

การรู้ว่าตัวเองคือใคร มีจุดแข็ง จุดอ่อนอะไร มีพรสวรรค์หรือความถนัดด้านไหน และมองเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในตัวเพื่อนร่วมทีมซึ่งแตกต่างไปจากตัวเราเอง

สิ่งนี้ทำให้ทุกคนในทีมเกิดความเข้าใจและยอมรับกันและกันได้ง่ายขึ้น ต่อยอดไปสู่การผลัดกันขึ้นมานำในแต่ละจังหวะเวลาได้อีกด้วย
====

6. ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และมุมมองที่แตกต่างกันจะต้องได้รับการมองเห็นและสนับสนุนเสมอ

ทีมที่ประสบความสำเร็จจะไม่มีความคิดเห็นหรือมุมมองของใครเป็นความคิดโง่ๆ ความคิดไม่ได้เรื่อง หรือเป็นแม้กระทั่งไม่ได้รับการมองเห็น

ทุกไอเดียที่แตกต่างสามารถต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมได้เสมอ การรับรู้และสนับสนุนความคิดที่แตกต่างกันนี่แหล่ะที่ช่วยให้คนในทีมรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมกัน
====

7. มีการสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบทีมและตรวจสอบตัวเองได้ตลอดเวลา

อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยหาวิธีแก้ การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสำคัญกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้โดยการสร้างระบบตรวจสอบตัวเองที่รัดกุมขึ้นมา และให้สมาชิกในทีมเข้าสู่ระบบนี้โดยอาจทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

และควรสร้างระบบไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครเพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบคนอื่นและถูกตรวจสอบได้นั่นเอง

====

8. สมาชิกทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการกำหนดข้อตกลงในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่างๆ

จิตสำนึกในการเป็นเจ้าของจะเกิดขึ้นเมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องสำคัญๆ เช่น การกำหนดข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการระบุปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนวิธีแก้ไขปัญหานั้นๆ

เมื่อพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ พวกเขาก็จะรับผิดชอบต่อความคิดตัวเองมากกว่าการถูกป้อนคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียว
====

9. ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำของการประชุม รวมถึงเป็นผู้นำในแต่ละโปรเจคด้วย

บทบาทที่สำคัญคือการเป็นผู้นำ แม้ทุกทีมจะมีตำแหน่งระบุว่าใครคือหัวหน้า แต่เมื่อถึงเวลาทำงานจริง ทีมที่ประสบความสำเร็จคือทีมที่ทุกคนคือผู้นำ

ลองกำหนดว่าทุกคนจะได้ขึ้นมานำประชุมในแต่ละครั้งแล้วหมุนเวียนกันไป รวมถึงโปรเจคซึ่งควรเปิดโอกาสให้คนในทีมขึ้นมานำในส่วนที่เขาถนัดด้วย
====

10. สมาชิกทุกคนในทีมจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ร่วมกัน

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อถึงเวลาที่มีเรื่องสำคัญๆ นอกจากที่สมาชิกในทีมต้องรับรู้แล้ว พวกเขาจะต้องมีสิทธิในการตัดสินใจด้วย

โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวเขาโดยตรง เช่น การรับโปรเจคใหญ่ๆ การรับลูกค้าใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ

ถึงตรงนี้คุณน่าจะพอมองเห็นแล้วว่าองค์ประกอบที่สำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จก็คือ พื้นที่ปลอดภัย การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของร่วมนั่นเอง

====

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและการสร้างความร่วมมือร่วมใจในทีมคือสองเรื่องที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration คลิกที่นี่

เขียน โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้าน Collaboration  (Team Collaboration Facilitator) 

 Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 ทักษะที่สำคัญของทีมเวิร์ค

5 ทักษะที่สำคัญของทีมเวิร์ค

ทีมงานหนึ่งทีมก็เหมือนมนุษย์หนึ่งคน สมาชิกในทีมที่เปรียบเสมือนอวัยวะต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่และสอดประสานกันได้อย่างลงตัว ทีมจึงจะมีสุขภาพดีและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ถ้ามองในมุมของมนุษย์หนึ่งคน คน ๆ นั้นจะต้องมีทักษะที่สำคัญในการดูแลสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ และการทำงาน

 

ในทีมก็จะต้องมีทักษะเพื่อดูแลสุขภาพและการทำงานของทีมเช่นกัน

 

และต่อไปนี้คือทักษะที่สำคัญที่สุด 5 ประการที่ทีมซึ่งอยากมีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมี
===


1. ทักษะการสื่อสาร (communication skill)

สมาชิกต้องมีความสามารถในการสื่อสารความคิด ความรู้สึก และความต้องการทุกระดับของตัวเองไปสู่ผู้อื่นได้ในทุกช่องทาง

 

ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบตัวหนังสือผ่านอีเมล ไลน์ ข้อความต่างๆ การโทรศัพท์ ตลอดจนการสนทนาเมื่อพบปะเจอตัวกันจริงๆ ด้วย

สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของคุณ เพราะต่อให้คุณพูดหรือพิมพ์ถ้อยคำที่เป็นบวกแต่ภายในใจยังคิดลบ ต่อต้าน หรือตัดสินอีกฝ่าย สิ่งที่คุณคิดจะถูกสื่อสารออกมาทางอวัจนะภาษาและพลังงานที่คุณส่งไปหาเขาโดยไม่รู้ตัว

 

หัวใจสำคัญคือการสื่อสารกับตัวเองให้เข้าใจตัวเองเสียก่อนที่จะไปสื่อสารกับผู้อื่นนั่นเอง
===

 

2. ทักษะการฟัง (Listening skill)

 

ในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์นับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมที่ผ่านมานั้นให้ความสำคัญกับการพูดมากกว่าการฟัง

 

ทั้ง ๆ ที่ในความจริงแล้วสองทักษะนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

และเมื่อสังคมให้ความสำคัญกับการฟังน้อยลงเรื่อยๆ ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงฟังไม่เป็น

 

เมื่อฟังไม่เป็นก็จะไม่เข้าใจอีกฝ่าย ไม่สามารถอำนวยให้อีกฝ่ายเข้าไปสัมผัสรับรู้ความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง

 

และสุดท้ายทั้งทีมก็จะพังไม่เป็นท่าเพราะต่างฝ่ายต่างอยู่ท่ามกลางความไม่เข้าใจ
===

 

3. ทักษะการเชื่อใจ (Reliability skill)

 

ความเชื่อใจ ความไว้วางใจคือหัวใจสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ และนี่คือทักษะที่ทุกคนฝึกฝนได้ไม่ว่าพื้นฐานของแต่ละคนจะมีมากน้อยขนาดไหนก็ตาม

 

ความไว้วางใจและการเชื่อใจผู้อื่นเกิดจากการสะสมการพูดและทำทุกสิ่งตามที่ได้รับปากไว้ การไม่โกหกหลอกลวงกันและกัน การซื่อสัตย์ต่อตัวเอง การตรงต่อเวลา การไม่นินทาลับหลัง การเป็นคนตรงไปตรงมาโดยไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มต้นฝึกได้โดยการยอมรับความคิด ความรู้สึกของตัวเองอย่างแท้จริง
===

 

4. ทักษะการเคารพ (Respectfulness skill)

 

ความรู้สึกที่สำคัญเป็นอันดับสองรองจากความเชื่อใจก็คือความเคารพ การเคารพที่ดีจะไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขภายนอก เช่น เขาต้องทำงานเก่ง เขาต้องมั่งคั่งร่ำรวย ฯลฯ

 

เพราะการเคารพเพราะเงื่อนไขก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้เคารพที่ความเป็นมนุษย์หรือตัวตนของเขาจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องการ

ฝึกการเคารพโดยการให้เกียรติ ไม่ต่อว่านินทาเขาทั้งต่อหน้าและลับหลัง

 

รับฟังความคิดเห็นของเขาอย่างใส่ใจ ยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน และชื่นชมในความคิด ความสามารถ จุดยืน และตัวตนของเขาแม้ว่ามันจะแตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
===

 

5. ทักษะบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)

 

ทีมที่ไม่เคยมีความขัดแย้งเลยอาจจะย่ำแย่กว่าทีมที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เสียอีก เพราะในความเป็นจริง คนทุกคนมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอนแม้ว่าจะมีอะไรคล้ายกันขนาดไหนก็ตาม

 

ซึ่งความแตกต่างที่ได้รับการเผยแสดงออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัยเพียงพอและมีการบริหารจัดการที่ดีนี่เองจะนำไปสู่การพัฒนาสิ่งต่างๆ และเสริมสร้างความเชื่อใจและความเคารพซึ่งกันและกันด้วย

 

ส่วนทีมที่ไม่เคยมีความขัดแย้งเลย มีความเป็นไปได้ว่าบางคนในทีมที่คิดเห็นแตกต่างอาจไม่เคยสื่อสารออกมาเพราะไม่รู้สึกว่าพื้นที่นั้นปลอดภัยเพียงพอ

 

และการเก็บงำความคิดที่แตกต่างโดยสะสมไว้กับตัวเรื่อยๆ อาจนำไปสู่การแตกหักเข้าสักวัน
ทางออกที่ดีที่สุดคือเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพิ่มพูนความเชื่อใจและความเคารพ ผ่านการสื่อสารและรับฟังอย่างแท้จริง

 

เพื่อมีพื้นที่สำหรับความคิดเห็น ประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างกันซึ่งจะไม่นำไปสู่การทะเลาะวิวาทจนแตกหักในที่สุด

===

เมื่อเราใช้คำว่า ทักษะ (skill) นั่นแปลว่ามันคือสิ่งที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนจนมีติดตัวได้ ถ้าอยากประสบความสำเร็จในการทำงานภายใต้การเป็นทีมที่เวิร์คอย่างแท้จริง ก็จงให้เวลากับการฝึกฝนทักษะทั้งห้านี้อย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ
=====


บทความ โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค

 

Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
……………………..

สุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม 6 วิธีต่อไปนี้ช่วยได้!

เพราะสุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม 6 วิธีต่อไปนี้ช่วยได้!

พอล ซานตากาต้า หัวเรือใหญ่ของ Google กล่าวไว้ว่า “หากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ ย่อมไม่เกิดการทำงานเป็นทีม”

พอลรู้ซึ้งในความหมายของประโยคดังกล่าวจากการร่วมงานกับคนในทีมของเขาตลอดระยะเวลา 2 ปี

 

สิ่งที่เขาค้นพบว่าช่วยทำให้ทีมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด คือการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง

 

โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในทีมมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะไม่ถูกลงโทษหากทำอะไรผิดพลาด

 

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า การมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงช่วยให้สามารถพูดในสิ่งที่คิดได้อย่างเต็มที่  มีความคิดสร้างสรรค์ และทำให้กล้าลงมือทำอะไรสักอย่างโดยไม่กลัวล้มเหลว

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการประสบความสำเร็จทั้งสิ้น

 

แล้วสมาชิกในทีมจะมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงได้อย่างไร? คำตอบอยู่ที่ 6 ปัจจัยที่พอลนำมาใช้กับทีมงานแล้วเวิร์คสุด ๆ
====

1.จัดการกับปัญหาเพื่อผลลัพธ์ที่ทุกคนพอใจ

มนุษย์ส่วนใหญ่จะเกลียดความพ่ายแพ้มากกว่าอยากชนะเสียอีก แม้กระทั่งการทำงานในทีมเดียวกันก็ตาม

พอลรู้ดีว่าการจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้น ทุกฝ่ายจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ win – win(ไม่มีใครแพ้) ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เขาจะหาทางแก้ปัญหาโดยการตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไรถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ”
====

2. อย่าลืมว่าทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา

มนุษย์แต่ละคนย่อมต้องการความเคารพนับถือ ต้องการให้มีคนยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และต้องการอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง 

พอลจะหมั่นเตือนคนในทีมว่า เวลาคุยงานหรือต้องเจรจาเรื่องงานกับผู้อื่น ให้คิดเสมอว่าอีกฝ่ายก็เหมือนกับตัวเราที่อยากจบการสนทนานี้อย่างมีความสุข

 

เพราะพวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราที่มีความเชื่อ มีมุมมอง และมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความหวัง มีความกังวล มีความเปราะบางเป็นของตัวเอง ทุกคนมีเพื่อน มีครอบครัว และบางทีอาจมีลูกที่รักเหมือน ๆ กับเราด้วย

 

และที่สำคัญที่สุดเราต่างปรารถนาความสงบ ความสุข และความรื่นเริงเหมือนกัน
====

3. คาดการณ์และวางแผนรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า

นอกจากคิดว่าต้องทำอย่างไรให้หน้าที่การงานประสบความสำเร็จแล้ว เราต้องตั้งคำถามล่วงหน้าเผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น “ถ้าฉันตัดสินใจทำเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีวิธีรับมือได้อย่างไร” การตอบคำถามเหล่านี้อาจต้องลองเปลี่ยนมุมมองจากตัวเราให้กลายเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งเฝ้ามองเหตุการณ์นี้อยู่ห่างๆ จึงจะมองเห็นอย่างชัดเจนว่า “ปัญหาคืออะไร” “อะไรคือช่องโหว่ของการตัดสินใจดังกล่าว” เมื่อเรามองเห็นแล้ว หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง เราจึงจะสามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรัดกุมและมีสติมากขึ้น
====

4. เปลี่ยนการตำหนิให้เป็นบวก

ถ้าเกิดคนในทีมสัมผัสได้ว่าคุณกำลังจะตำหนิเขา สายตาที่พวกเขามองและนึกถึงคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที

 

งานวิจัยพบว่าการตำหนิและการวิจารณ์จะทำให้ความบาดหมางบานปลายจนนำไปสู่การปิดตัวเองและในที่สุดก็ตัดขาดออกจากทุกสิ่งอย่างได้

การตำหนิไม่ใช่ด้านบวกแต่ก็มีวิธีที่จะทำให้มันอ่อนโยนขึ้น

เริ่มจากการพูดถึงปัญหาหรือผลลัพธ์ผ่านการสังเกตโดยใช้ภาษาที่เป็นกลางแล้วใช้ข้อเท็จจริงมาอธิบายประกอบ

จากนั้นจึงร่วมสำรวจถึงปัญหานั้นไปด้วยกัน ปิดท้ายด้วยการถามอีกฝ่ายถึงความคิดเห็นว่าจะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นได้อย่างไร โดยที่เราต้องให้บุคคลนั้นเป็นผู้คิดและเสนอทางแก้ไขเหล่านั้นด้วยตัวเอง

เพราะเขาคือผู้กุมกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนานี้ได้
====


5. เป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับบ้าง

การเป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับไปยังเพื่อนร่วมทีม ถือเป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทีมเวิร์คได้

เพราะคนในทีมจะรู้ว่าการสื่อสารระหว่างกันนั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนั้นจะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นจุดบอดในการสื่อสาร เพื่อนำมาแก้ไขในอนาคต ทั้งหมดทั้งมวลจะช่วยให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้นำมากขึ้น

 

การจบบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า “อะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผลบ้างจากการสื่อสารของเรา?”

 

, “รู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินข้อความนี้?”

และ “ฉันจะนำเสนอมันให้ออกมาได้ผลมากขึ้นได้อย่างไร?” อย่าเป็นฝ่ายออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว เราต้องเป็นฝ่ายรับ feedback บ้างเช่นกัน
====

6. หมั่นตรวจวัดระดับสุขภาพจิต

พอลมักจะถามลูกทีมเสมอว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างในการทำงาน รู้สึกดีกับการทำงานเป็นทีมหรือไม่ แล้วอะไรจะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง

โดยเขามักจะให้ทีมทำแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย เพราะเขามองว่านั่นคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

 


ถ้าคุณเริ่มหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและเพื่อนร่วมทีมตั้งแต่ตอนนี้ มั่นใจได้เลยว่าศักยภาพในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
====

เรียบเรียงจากบทความ “High-Performing Teams Need Psychological Safety. Here’s How to Create It” โดย Laura Delizonna ตีพิมพ์เมื่อ 24 สิงหาคม 2017 ใน Harvard Business Review


เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

เคลียร์ให้ชัดในสามนาที! คุณมี ‘ทีมเวิร์ค’ จริงๆ หรือเปล่า

เคลียร์ให้ชัดในสามนาที! คุณมี 'ทีมเวิร์ค' จริงๆ หรือเปล่า

ทีมเวิร์ค (Teamwork) เป็นคำที่ถูกนำมาใช้จนเกร่อ แต่มีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่กลุ่มคนซึ่งทำงานร่วมกันจะเป็นทีมเวิร์คที่แท้จริง!



เพราะลำพังแค่การมีคนมากกว่าหนึ่งมาทำงานร่วมกันไม่ได้หมายความว่านั่นคือทีมเวิร์คเสมอไป



จะบอกว่า ‘ทีม’ ที่คุณอยู่ ‘เวิร์ค’ ได้อย่างไร ในเมื่อต่างคนต่างอยู่ แทบไม่มีการสื่อสารกันเลย แล้วผลงานที่ออกมาก็ทั้งล่าช้าทั้งไม่มีคุณภาพ พอมีปัญหาก็โทษกันไปมา บรรยากาศโดยรวมไม่ได้เอื้อให้มีความสุขในการทำงานแม้แต่น้อย



เพื่อให้เราเห็นภาพชัดขึ้น คำถามที่สำคัญก็คือ อะไรเป็นปัจจัยที่แยกแยะทีมเวิร์คกับทีมไม่เวิร์คออกจากกัน


ลองจินตนาการถึงทีมฟุตบอลที่ทุกคนต่างวิ่งไปหาลูกบอลโดยไม่สนใจว่าตัวเองอยู่ตำแหน่งไหน ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมทีมอยู่ตำแหน่งไหน ไม่รับรู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ต่างคนต้องการจะเป็นคนเตะลูกเข้าประตูเพื่อเอาหน้า



แค่คิดก็ปวดหัวแล้วใช่ไหมครับ และคุณคงเห็นภาพชัดว่าทีมฟุตบอลทีมนี้ไม่เวิร์คอย่างแน่นอน



แล้วมีเกณฑ์อะไรที่จะบอกได้ว่ากลุ่มคนที่เรากำลังทำงานด้วยคือทีมเวิร์ค หรือเป็นเพียงแค่กลุ่มงาน (working group) เท่านั้น


นี่คือ 4 ปัจจัยที่จะบอกความแตกต่างระหว่างกลุ่มงานกับทีมเวิร์ค เพื่อให้คุณสามารถแยกแยะและมีความตระหนักรู้ว่าทีมที่อยู่นี้เวิร์ค หรือ ไม่เวิร์ค กันแน่

 

กลุ่มงาน – ผู้นำเดี่ยวที่เข้มแข็ง

กลุ่มงานไม่สนใจหรอกว่าทุกคนคือใคร มีจุดแข็งด้านไหน มีความรู้ มีประสบการณ์ หรือความถนัดอะไร
ขอแค่ทุกคนเชื่อฟังคำสั่งจากผู้นำคนเดียวก็พอ

 

ทีมเวิร์ค – ผู้นำร่วมที่ผลัดกันนำ

ทีมเวิร์คจะรู้ว่าทุกคนคือผู้นำ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหร่ก็ตาม ทุกคนจึงผลัดกันนำตามจุดแข็ง ความถนัด ประสบการณ์ ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความตระหนักชัดถึงความแตกต่างของทุกคนในทีม มีความเคารพกันอย่างเต็มเปี่ยม หลักการพื้นฐานคือทุกคนในทีมเวิร์คจะต้องรู้จุดแข็งและความถนัดของตัวเองและของเพื่อนร่วมทีมเป็นอย่างดี

 

กลุ่มงาน – อยู่รอด

คำนึงถึงการอยู่รอดและเป้าหมายส่วนตัวของตัวเองเท่านั้น คติของกลุ่มงานคือ “ขอแค่ตัวชั้นรอดก็พอ” ทำให้ต่างคนต่างทำงาน ต่างคนต่างอยู่ ทุกคนต่างอยู่ในโหมดเอาตัวรอด (survivor mode) และนั่นก็ทำให้กลุ่มงานไม่สามารถเชื่อมประสานจนกลายเป็นทีมได้

 

ทีมเวิร์ค – อยู่ร่วม

ทุกคนในทีมมีทั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายของทีมหรือเป้าหมายร่วม ซึ่งทั้งสองมักเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทำให้แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันจึงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ไม่ยาก เพราะเป้าหมายร่วมนี่แหล่ะคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกคนเชื่อมประสานกันจนกลายเป็นทีม แน่นอนว่าเป้าหมายส่วนตัวของทุกคนยังมีอยู่ แต่การที่ทุกคนยึดเป้าหมายร่วมนี่แหล่ะที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสุดท้ายก็ช่วยให้เป้าหมายส่วนตัวสำเร็จด้วยเช่นกัน

 

กลุ่มงาน – แยกส่วนกันทำงาน

ไม่มีทีมไหนที่ต่างคนทำงานแบบแยกส่วน และปล่อยให้แต่ละคนแก้ปัญหาของตัวเอง ถ้าทุกคนในทีมมองเห็นเป้าหมายเดียวกันและมองเห็นการทำงานที่สอดประสานเชื่อมโยงกันจนเป็นหนึ่งเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการแยกส่วนกันทำงานก็คือเมื่อเกิดปัญหาต่างฝ่ายจะโทษกันไปมาแทนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหานั้น กลุ่มงานจึงเป็นกลุ่มคนที่ถนัดในการหาคนผิดมากกว่าที่จะแก้ไขความผิดพลาดร่วมกัน

 

ทีมเวิร์ค – มีทั้งงานส่วนตัวและงานที่ต้องทำร่วมกัน

ต่างคนต่างรับผิดชอบงานของตัวเอง แต่ก็ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันในจุดที่ต้องส่งงาน รับงาน เชื่อมประสาน สื่อสารกันและกัน การมองเห็นเป้าหมายร่วม การรับรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองและเพื่อนร่วมทีม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความไว้วางใจสูงสุดทั้งหมดนี้คือหัวใจสำคัญของทีมเวิร์ค

 

กลุ่มงาน – ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายนอกเป็นหลัก

เงินเดือน โบนัส การได้ลาพักร้อน ฯลฯ แรงจูงใจภายนอกเหล่านี้มักไม่ทรงพลังและไม่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันได้ เพราะมันคือเรื่องของแต่ละคน

เมื่อยึดถึอแรงจูงใจภายนอกมากๆ ก็ยิ่งทำให้แต่ละคนยึดถือผลประโยชน์ส่วนตัวจนเกิดสภาวะแบ่งแยกมากขึ้น และท้ายที่สุดก็ไม่สามารถหลอมรวมเป็นทีมเดียวกันอย่างแท้จริง

 

ทีมเวิร์ค – ขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจภายในเป็นหลัก

ความรักความหลงใหลในสิ่งที่ทำ การเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ เห็นคุณค่าในตัวเอง อิสระในการคิดและทำ ฯลฯ แรงจูงใจภายในเหล่านี้นี่แหล่ะคือสิ่งสำคัญที่เชื่อมประสานทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน เพราะเป็นความปรารถนาอันเป็นสากลที่ทุกคนมีเหมือนกัน เมื่อมุ่งเน้นที่แรงจูงใจภายในจะทำให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายร่วมอย่างเดียวกัน และสภาวะนั้นก็ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะจับมือเดินหน้าไปด้วยกันได้มากยิ่งขึ้นนั่นเอง

มาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้แล้วว่าทีมที่ตัวเองอยู่นั้นเวิร์คหรือไม่เวิร์ค เมื่อพบว่าทีมที่อยู่เป็นแค่กลุ่มงาน และถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงให้เป็นทีมเวิร์คทำได้โดยการค้นหาจุดแข็ง พรสวรรค์ ความถนัดทั้งของตัวเองและของเพื่อนร่วมทีม ให้เวลาในการค้นหาเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ฝึกที่จะไว้วางใจตัวเองและไว้วางใจผู้อื่น และฝึกฝนทักษะการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนทีม เพียงเท่านี้ทีมของคุณก็จะเวิร์คสมชื่อแล้วล่ะครับ

 

บทความ โดย อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน
ผู้เชี่ยวชาญด้านทีมเวิร์ค
[ ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 02645

โน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล

โน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล

หนึ่งในคำถามที่มีคนถามมากที่สุด เมื่อผมได้รับเชิญไปจัดอบรมเรื่องทักษะการสื่อสารให้กับองค์กรต่าง ๆ คือ “จะโน้มน้าวใจทีมงานยังไง ให้ได้ผล”

ผู้คนส่วนใหญ่อยากรู้ว่า มีเทคนิควิธีการอะไร ที่จะโน้มน้าวใจคนอื่นให้คล้อยตามเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ทีมงาน หรือกระทั่งคนในครอบครัว

ผมอาศัยหลัก Persuasion Mastery ครับ.. หากคุณอยากจะมีพลังในการโน้มน้าวผู้คน นี่คือ 3 สิ่งที่ควรโฟกัส และฝึกทำให้ได้ครับ..


1. POWER – มีพลังงานสูง


คุณไม่อาจโน้มน้าวใจใครได้ ถ้าเขาสนใจบ้างไม่สนใจบ้าง ดังนั้น คนที่มีพลังงานต่ำ ทำตัวน่าเบื่อ น้ำเสียงท่าทางซังกะตาย ไม่อาจโน้มน้าวใครได้อย่างแน่นอน

การมีพลังงานสูง ไม่ใช่ต้องเสียงดัง ทำตัวไฮเปอร์ตลอดเวลา เทคนิคง่าย ๆ คือ “การดำรงอยู่กับสถานการณ์และคนตรงหน้าอย่างเต็มเปี่ยม ให้พลังในตัวเราโฟกัสกับคน ๆ นั้น และสิ่ง ๆ นั้น เต็มที่”

นั่นก็คือการรับฟัง ให้ความใส่ใจ ให้ความสำคัญ สบตา และกระตือรือร้นที่จะสนทนากับคนตรงหน้าอย่างแท้จริง


2. UNDERSTANDING – มีความเข้าใจที่แท้จริง


การสนทนากับใครให้เกิดผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าว เจรจาต่อรอง นอกจากการมีพลังงานสูงแล้ว คุณต้องมีความเข้าใจในตัวเองอย่างชัดเจน ว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร สิ่งใดทำได้ สิ่งใดไม่สามารถทำได้

ความชัดเจนในตัวเอง ทำให้คุณมีจุดยืนในการเจรจาต่อรอง และสามารถเปิดเผยความรู้สึกและความจริงในใจได้

แต่การรู้ตัวเองก็เป็นเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือคือการรับฟัง การทำความเข้าใจ ว่าจุดยืนของอีกฝ่ายเป็นอย่างไร เขาต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร อะไรที่เขาสามารถทำได้และไม่ได้

เมื่อมีความเข้าใจที่แท้จริงจากทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีจะเกิดขึ้น คุณจะเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ร่วมกัน ไม่ใช่เพียงประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างเดียว และนั่นจะเปิดพื้นที่ตรงกลางในการสนทนาและสื่อสาร ให้มุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้น ความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้ผู้คนไว้วางใจและคล้อยตามในที่สุด


3. POSSIBILITY – มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ


การตั้งธงไว้ก่อน มีคำตอบล่วงหน้า ย่อมทำให้เกิดการถกเถียงกันได้ง่าย เกิดความเครียด และอาจทำให้บางฝ่ายรู้สึกเสียโอกาส

การพยายามประนีประนอม ก็ยังเป็นการเจรจาต่อรองที่ไม่ได้ผลนัก เพราะต้องยอม ต้องลดสิ่งที่ต้องการ แต่ละฝ่ายอาจรู้สึกว่าต้องยอมแลก หรือต้องสูญเสียบางอย่าง

หากคุณมีความเข้าใจในความต้องการของตัวเองและอีกฝ่ายอย่างชัดเจน คุณพูดคุยอย่างเท่าเทียมไปสักพัก จะตกผลึกจนเจอพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ซึ่งบางครั้งไม่ได้มีในตัวเลือกเดิม และอาจเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายคิดไม่ถึงมาก่อน

ความเป็นไปได้ใหม่นี้ จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้มากขึ้น เป็น Win-Win Situation เป็นไปในทิศทางที่ทั้งคู่ต้องการ

เมื่อสามารถเปลี่ยนจากการต่อรอง เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งใหม่ ทำให้สองฝ่ายได้มากกว่าเดิม คุณย่อมจะได้รับความร่วมมือและความเต็มใจกว่าการต่อรองหลายเท่า

กล่าวโดยสรุป การโน้มน้าวใจให้ได้ผล ไม่ได้มาจากว่า ต้องพูดยังไง หรือตั้งธงแค่จะเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว.. คุณควรต้องมี Mindset ที่พร้อมจะรับฟัง ทำความเข้าใจ เปิดรับโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการสนทนากับอีกฝ่าย นั่นเอง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ เชื่อว่าคุณจะได้รับโอกาสดี ๆ และมีคนเต็มใจร่วมมือกับคุณ แน่นอนครับ

บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand

 เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

บุคลิกพนักงานน้องใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างหลงรัก

บุคลิกพนักงานน้องใหม่ ที่ใคร ๆ ต่างหลงรัก

          สำหรับน้อง ๆ นักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งก้าวเท้าเข้าสู่สังคมคนทำงาน หลายคนอาจพบเจอแววตาของพี่ ๆ ในออฟฟิศ ซึ่งมองว่าเป็นเด็กกะโปโล ความรู้ความสามารถยังด้อยเมื่อเทียบกับรุ่นพี่ และอาจมีบางคนสบประมาท ว่าคงทำอะไรไม่เป็น…

เหตุการณ์เช่นนี้ช่างทรมานใจยิ่งนัก เพราะมันทำให้น้อง ๆ รู้สึกประหม่า จนไม่สามารถนำเสนอผลงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น เมื่อมีอายุงานมากขึ้น… เรามีเทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว มานำเสนอให้อ่านกันค่ะ…

1. แต่งกายให้เข้ากับบุคลิก

หากน้อง ๆ ต้องการดูเป็นมืออาชีพ ก็ต้องแต่งตัวอย่างมืออาชีพ.. เริ่มแรกอาจต้องมองซ้ายแลขวาไปยังรุ่นพี่ในบริษัท คนที่น้อง ๆ เห็นตั้งแต่แวบแรกว่าเขาหรือเธอเป็นคนเก่ง แล้วลองประยุกต์การแต่งกายของพวกเขาให้เข้ากับบุคลิกของน้อง ๆ

นอกจากนี้ อาจต้องลองปรับเปลี่ยนสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยทำให้น้อง ๆ ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น… สำหรับผู้หญิง อาจทำทรงผมรวบตึงที่ช่วยให้ดูมีบุคลิกภาพทะมัดมะแมง เลือกใส่รองเท้าส้นสูง และทาลิปสติกสีสุภาพ… สำหรับผู้ชาย ควรตัดผมสะอาดสะอ้าน สวมเสื้อผ้าโทนสีสุภาพ และไม่สวมนาฬิกาหรือเครื่องประดับแฟชั่นให้ดูเว่อร์เกิน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องวางตัวเป็นทางการ หรือดูโตเกินกว่าวัย ทางที่ดีที่สุดคือ เลือกปรับบางสิ่งบางอย่างโดยไม่หลุดความเป็นตัวเองค่ะ

2. เรียนรู้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

หนทางก้าวไปสู่โลกของมืออาชีพ ย่อมเต็มไปด้วยขวากหนาม ยิ่งเมื่อได้พบเจอคนที่มีชั่วโมงบินสูงกว่า แน่นอนว่าน้อง ๆ อาจรู้สึกกลัว ประหม่า หรือไม่มั่นใจในตนเอง ทางเดียวที่จะเอาชนะปัญหานี้ได้ คือการเรียนรู้จากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสื่อสาร

หากน้อง ๆ ไม่รู้ว่าจะพูดโต้ตอบคู่สนทนา หรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ กับผู้ใหญ่กว่า อย่างไร? ให้ลองใช้บทสนทนาสมมุติ สิ่งนี้คล้าย ๆ กับการฝึกท่องจำบทสนทนาต้นแบบในหนังสือเรียน และสุดท้ายก็จะยึดถือเป็นต้นแบบในชีวิตจริง.. การทำเช่นนี้จะทำให้มีความกล้าและมั่นใจมากยิ่งขึ้น

3. เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง

จุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้น้อง ๆ สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงานได้ ก็คือความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง น้อง ๆ อาจลองจินตนาการสร้างภาพ ว่าตนเองเป็นบุคคลที่ทุกคนยอมรับและไว้วางใจ เมื่อมีความเชื่อมั่นในตนเองแล้ว ก็จะมีพลังในการสร้างสรรค์ และเมื่อน้อง ๆ สามารถนำเสนอผลงานให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนรอบข้าง เมื่อนั้น จะเป็นการเปิดประตูให้ผู้อื่นมองเห็นทักษะความสามารถที่แท้จริงในตัวน้อง ๆ แล้วรุ่นพี่ในที่ทำงานก็จะลืมเรื่องอายุงานไปเลย

4. สังเกตวิธีการซักถาม

ผู้ที่มีความเป็นผู้ใหญ่และเป็นมืออาชีพ คือคนที่รู้จักการตั้งคำถาม การตั้งคำถามไม่เพียงแต่ช่วยให้ดูเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ แต่ยังเป็นการแสดงความสนใจต่อคู่สนทนา นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่น้อง ๆ จะได้รับข้อมูลอย่างละเอียดอีกด้วย

แต่จงจำไว้ว่า การตั้งคำถามเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง น้อง ๆ ต้องรู้จักตั้งคำถามอย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการทราบข้อมูลบางอย่างจากหัวหน้างาน ให้ดูจังหวะที่หัวหน้าไม่ยุ่งมากจนเกินไป และควรเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การซักถามราบรื่น และไม่ทำให้หัวหน้ารู้สึกเสียเวลา

5. บริหารจัดการเวลาอย่างชาญฉลาด

หนึ่งในเทคนิคสำคัญที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับพนักงานน้องใหม่ ก็คือ การบริหารจัดการเวลาในที่ทำงาน หากมีงานชิ้นหนึ่งที่หัวหน้ามอบหมายให้คุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ทำเหมือน ๆ กัน แต่เมื่อถึงกำหนดส่ง ต่างคนก็ต่างส่งงานนั้น ๆ ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน หากเป็นเช่นนี้ หัวหน้าก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

ในทางกลับกัน หากใช้เวลาทำงานชิ้นนั้นรวดเร็วกว่าคนอื่น หรือทำงานชิ้นนั้นได้ดีและละเอียดกว่าคนอื่น นั่นแสดงว่าน้อง ๆ สามารถใช้เวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ คุณอาจต้องทุ่มเททำงานให้หนักขึ้น หากจะทำให้ส่งงานได้เร็วขึ้น หรืออาจเตรียมตัวก่อนการประชุมสักเล็กน้อย เพื่อให้การประชุมราบรื่น หรืออาจทำงานอย่างกระตือรือร้นโดยโต้ตอบอีเมล หรือรับโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

พฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ สามารถทำให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของน้อง ๆ ยอมรับในการทำงานแบบมืออาชีพ และนั่นจะทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือจากคนรอบข้างได้ไม่ยาก

6. ใช้ความอ่อนเยาว์ให้เป็นประโยชน์

น้อง ๆ รู้หรือไม่ว่า การที่มีอายุน้อยนั้นเป็นข้อดี เพราะน้อง ๆ จะมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีไอเดียแปลกใหม่กว่าคนที่ทำงานมานาน ดังนั้น เมื่อกล้าเสนอความคิดใหม่ ๆ ที่เพิ่งเรียนรู้มาจากรั้วมหาวิทยาลัย หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานก็จะเห็นคุณค่าในตัวน้อง ๆ และสิ่งนี้ส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมาก เพราะบริษัทต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น อย่ารอช้าที่จะเสนอไอเดียเจ๋ง ๆ ให้กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน รับรองว่าพวกเขาจะไม่สนใจอายุของคุณอีกเลย

ความเป็นมืออาชีพในขณะที่อายุยังน้อยนั้น เป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก และถ้าน้อง ๆ สามารถผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปได้ มันจะกลายเป็นสิ่งล้ำค่า… ในช่วงแรกอาจเป็นเรื่องยากลำบาก แต่จงจำให้ขึ้นใจว่า แม้ตอนนี้เรายังเด็ก แต่สักวันหนึ่ง เราจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนบริษัทได้อย่างแน่นอน!

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

เทคนิครับมือเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

เทคนิครับมือเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา

          ในชีวิตคนเราต้องพบเจอผู้คนมากมายหลายประเภท บางคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุนให้เราทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม บางคนคอยกลั่นแกล้ง ขัดขวาง เอาเปรียบ ใส่ร้ายป้ายสี มองโลกในแง่ลบ และทำให้เราหมดกำลังใจที่จะไล่ตามความฝัน ซึ่งเราให้คำนิยามกับคนประเภทนี้ว่าเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” 

มนุษย์เจ้าปัญหา คือพวกที่มักทำให้คนรอบข้างเกิดความยุ่งยาก หงุดหงิด รำคาญใจ และบางทีอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย พวกเขาอาจเป็นได้ทั้งหัวหน้า ลูกน้อง ลูกค้า เพื่อน หรือคนในครอบครัวของคุณเอง

แน่ล่ะ วิธีการที่ง่ายที่สุดเมื่อเจอกับคนเหล่านี้ ก็คือการเดินหนี หรือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะหลายครั้งคุณมักตกอยู่ในสถานการณ์ไม่อาจวิ่งหนีปัญหาได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งคุณจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านี้… เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเรียนรู้วิธีการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา อย่างมีประสิทธิภาพ 

1. อย่าเกลียดชัง แต่จงขอบคุณมนุษย์เจ้าปัญหา

เมื่อคุณเจอมนุษย์เจ้าปัญหา คุณอาจรู้สึกโกรธ เกลียดชัง หรือท้อแท้สิ้นหวัง ความรู้สึกในแง่ลบเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรก้าวข้ามและผ่านมันไปให้ได้ เพราะมันเป็นตัวบ่อนทำลายความสุขของคุณ

วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ คุณควรเปลี่ยนทัศนคติ โดยคิดว่าพวกเขาเป็นสิ่งท้าทายในชีวิต กล่าวคือ คุณควรคิดว่าการใช้ชีวิตหรือการทำงานกับคนเจ้าปัญหา เป็นบททดสอบ ซึ่งจะทำให้คุณกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรขอบคุณพวกเขา ที่ทำให้คุณรู้จักความอดทนอดกลั้น และได้พัฒนาตนเอง วิธีการนี้ดูเหมือนเป็นวิธีการที่ยาก แต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากคุณสามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ คุณก็จะสามารถรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหาได้เช่นกัน 

2. ใช้มนุษย์เจ้าปัญหาเป็นตัวกระตุ้นสิ่งดี ๆ ในตัวคุณ

อีกหนึ่งวิธีในการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา ก็คือการใช้สิ่งเลวร้ายที่พวกเขาทำเป็นแรงผลักดันให้คุณก้าวไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่คุณกำลังนั่งทำงานอย่างหนัก เพื่อนร่วมงานของคุณได้นั่งจับกลุ่มนินทาและพูดคุยเรื่องไร้สาระทั้งวัน

แน่นอนว่า หากคุณเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ คุณคงอารมณ์เสีย หงุดหงิด และไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรปล่อยให้ตัวเองจมกับความคิดด้านลบเหล่านั้น สิ่งที่คุณควรทำก็คือ การเปลี่ยนความรู้สึกแย่ ๆ ให้กลายเป็นพลังเชิงบวก ให้คุณคิดซะว่า มันไม่ใช่เรื่องของคุณ!

คุณจึงไม่ควรเสียเวลาหรือใส่ใจกับการกระทำของคนเหล่านั้น และจงปล่อยให้พวกเขาทำต่อไป เพราะคุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ สำหรับตัวคุณเอง ก็แค่มุ่งมั่นตั้งใจ สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ พัฒนาตนเอง และใช้อุปสรรคทั้งหลายเป็นตัวกระตุ้นไฟในตัวคุณ  

3. ใช้เวลากับพวกเขาให้มากขึ้น

แทนที่คุณจะวิ่งหนีปัญหา ให้คุณลองเปลี่ยนแนวทางดูบ้าง กล่าวคือ คุณอาจลองเข้ากลุ่ม หรือใช้เวลากับพวกมนุษย์เจ้าปัญหาให้มากขึ้น แม้วิธีการนี้อาจทำให้คุณรู้สึกว่ากำลังบีบบังคับจิตใจตนเองก็ตาม แต่การคลุกคลีและร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับคนเหล่านี้ จะทำให้พวกเขาเปิดใจและยอมรับคุณมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็จะทำให้คุณรู้จักและเข้าใจพวกเขามากขึ้นกว่าเดิม

วิธีนี้อาจทำให้คุณทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมในการสร้างปัญหา หรือก่อความวุ่นวายให้กับคนรอบข้างตลอดเวลา ทั้งนี้ เมื่อคุณเข้าใจพวกเขามากขึ้น คุณอาจได้ปรับมุมมองหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อพวกเขา และคุณก็จะสามารถควบคุมอารมณ์และจิตใจตนเองได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์เจ้าปัญหาได้อย่างเข้าใจ และราบรื่น

4. ตั้งเป้าหมายของตัวคุณเอง

การตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับคนเจ้าปัญหา พร้อม ๆ กับการพัฒนาตนเอง กล่าวคือ ให้คุณลองตั้งเป้าหมายของตนเองเกี่ยวกับการรับมือกับมนุษย์เจ้าปัญหา เช่น หากฉันเจอคนขี้บ่น ก้าวร้าว ซุบซิบนินทา ฉันจะต้องไม่รู้สึกแย่ หงุดหงิด หรือหมดกำลังใจ นอกจากนี้ ฉันจะพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนเจ้าปัญหาให้ได้ เป็นต้น 

คุณอาจตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ก่อน และค่อย ๆ ขยับเป้าหมายให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ วิธีการนี้จะทำให้คุณรู้สึกท้าทาย และมองการรับมือกับคนเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก ทั้งยังช่วยให้คุณมีโอกาสในการพัฒนาตนเองอีกด้วย กล่าวคือ หากคุณอดทนกับคนเจ้าปัญหาและยังสามารถทำงานร่วมกับเขาได้ ก็จะทำให้คุณเป็นคนใจเย็นขึ้น ใจกว้างขึ้น และอดทนมากขึ้น นั่นเอง

5. พยายามทำความเข้าใจและช่วยเหลือมนุษย์เจ้าปัญหา

พวกเขาอาจเป็นมนุษย์เจ้าปัญหาด้วยเหตุผลบางประการ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเผชิญกับสิ่งเลวร้ายในชีวิต หรือมีปัญหาทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสิ่งเลวร้ายเหล่านั้นได้ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของพวกเขา จนทำให้เป็นมนุษย์เจ้าปัญหาในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการช่วยให้พวกเขามีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น คุณควรปฏิบัติต่อเขาอย่างที่คุณต้องการให้เขาปฏิบัติต่อคุณ อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องทำใจยอมรับว่า เขาอาจปฏิบัติต่อคุณได้ไม่ดีเท่าที่คุณปฏิบัติต่อเขา นั่นเป็นเพราะปมปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น คุณควรให้เวลากับพวกเขา พยายามทำความเข้าใจ และช่วยเหลือพวกเขาเมื่อมีโอกาส

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

การทำงานในทุกๆ ที่ มักเกิด “ปัญหาขัดแย้ง” ไม่มากก็น้อย… “ความคิดเห็นไม่ตรงกัน” คือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในที่ประชุม โดยเฉพาะที่ทำงานซึ่งมีพนักงานจำนวนมาก…

แน่ล่ะ ไม่มีทางที่ “ทุกคน” จะชอบไอเดียของคุณได้หรอกนะ แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น คุณไม่ควรกลัว หรือหลีกเลี่ยง แต่ควรเผชิญหน้าอย่างชาญฉลาด และถ้าคุณสามารถจัดการข้อขัดแย้งในแต่ละครั้งได้ จะทำให้คุณแข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม

บ่อยครั้งที่คุณอยากจะให้ปัญหานี้จบๆ ไป… ปล่อยผ่าน… ไม่อยากเข้าไปยุ่ง หรือมีเรื่องกับใครเพิ่ม… โดยเฉพาะออฟฟิศในองค์กรแบบไทยๆ ที่มักแบ่งฝักแบ่งฝ่ายชัดเจน ถ้าใครไม่ได้อยู่พวกนี้ ก็หมายความว่าเป็นศัตรูกับพวกนั้น การอยู่เฉย แน่นอนว่าเป็นการไม่หาเรื่องเข้าตัว แต่ก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน ในทางตรงข้าม มันหมายความว่า คุณจะไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือมีอะไรโดดเด่นที่ทำให้เจ้านายและผู้บริหารระดับสูงมองเห็นศักยภาพในตัวคุณ…

ทางที่ดี ถ้าปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ มาถึง พยายามมอง “เป็นโจทย์ และความท้าทายใหม่ๆ” เป็นเวทีที่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพของตัวเองในการแก้ไขปัญหานั้นๆ และที่สำคัญ เมื่อคุณแก้ไขปัญหาได้ คุณอาจได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เป็นหัวหน้าแผนก เพราะคุณได้แสดงให้เห็นว่า คุณจัดการปัญหานั้นได้ดี ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าอย่างแท้จริง

เริ่มต้นจากหาสาเหตุความขัดแย้ง

เริ่มแรก คุณควรเข้าใจและเข้าถึงปัญหาเสียก่อน พยายามเปิดใจให้เป็นกลาง ไม่มีอคติใดๆ คุณจึงจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุรอบ 360 องศา กว้างมากขึ้น และเข้าถึงต้นตอของปัญหาได้มากขึ้น ว่ามาจาก...

1. อารมณ์

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกคนกำลังมีอารมณ์ และพร้อมระเบิดมันออกมา ทางที่ดีที่สุดคือเดินออกมาจากห้องนั้น หรือ ณ ตรงนั้น เพื่อสงบสติอารมณ์… อย่าใช้อารมณ์ในการโต้แย้ง แต่จงใช้ความจริง สถิติ หลักฐานในอีเมล์ พยาน ลูกค้า และทางที่ดี พยายามหาข้อเท็จจริงที่มาจากต้นตอของปัญหา

อย่าคิดไปเอง อย่าคาดว่าสิ่งโน้นสิ่งนี้จะเกิด เลิกโทษอดีต เช่น ถ้าอย่างงั้น ทำไมพี่ไม่ทำล่ะ… ถ้ารู้อย่างงี้ ทำไมเธอไม่รับผิดชอบ… มันไม่มีประโยชน์ที่จะอ้างถึงอดีตที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรเอาเรื่องไม่สร้างสรรค์และวนในอ่างมาพูดถึง แต่ควรพยายามหาทางที่เป็นทางออกเชิงสร้างสรรค์ เช่น แล้วคุณจะเอายังไง? คุณมีแผนสำรองอย่างไร? คุณได้ลองติดต่อทางโน้นแล้วหรือยัง? นั่นคือประโยคเชิงบวกที่ดีและสร้างสรรค์กว่าการนั่งถกเถียง และเกี่ยงกัน…

2. การสื่อสาร

คุณกำลังใช้ภาษาหยาบคาย หรือถ้อยคำประชดประชัน ในการตอบคำถาม โต้แย้ง หรือปะทะคารม ให้อีกฝ่ายมีอารมณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือเปล่า? และถ้าคุณต้องเป็นกรรมการในการห้ามมวยคู่นั้น คุณควรพูดอย่างเป็นกลาง พยายามตัดจบเรื่องราว ณ ตอนนั้น เช่น เรื่องนี้ยังไม่ตกผลึก ให้ทุกคนไปหาข้อมูลมาเพิ่มเพื่อใช้ประชุมในครั้งหน้า และข้อมูลที่นำมาเสนอ ควรเป็นเรื่องที่ชัดเจน แม่นยำ เชื่อถือได้ และไม่เก่าจนเกินไป


4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งในที่ทำงาน

1. หาจุดร่วมของทีม

สร้างโมเดล หรือกฎกติกาในการตัดสินใจร่วมกัน หรือหาความเห็นตรงกัน “การสร้างจุดร่วม” อาจเกิดจากการถามความเห็นและสนับสนุนสิ่งที่ทำให้เกิดทีมเวิร์ค โดยคุณอาจจะกำหนดคนที่เป็น Team Player คนที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติ Influencer สร้างเฟรมเวิร์คที่มาจากความเห็นของพวกเขา และใช้สิ่งนี้เป็นรากฐาน เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ

2. หาปมขัดแย้ง

พยายามหาปมขัดแย้งให้เร็วที่สุด ทุกอย่างมีโอกาสเป็นปมขัดแย้งได้หมด แม้ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องไร้สาระหรือมีสาระ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ… ทางที่ดี คุณและทีมควรเปิดใจให้กว้าง เป็นกลาง และอย่ากลัวที่ต้องเผชิญความจริง คุณต้องย้ำกับเพื่อนร่วมงานหรือทีมเสมอๆ ว่าไม่มีใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ เราลงเรือเดียวกันแล้ว ทุกอย่างเรารับผิดชอบร่วมกัน แสดงสปิริตที่จะทำให้คนกล้าพูดความจริง เพื่อที่จะหาต้นตอของปัญหาที่ถูก และใช่ ในเวลาจำกัด…

3. หาแรงจูงใจ

การเล็งไปที่แรงจูงใจของสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นขึ้นมา จะทำให้คุณได้ความคิดและมุมมองอีกแบบหนึ่ง ใครได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้ ใครเสียผลประโยชน์สูงสุด ปัญหาและปมขัดแย้งนี้มีที่มาจากคนแบบไหน และเขาต้องการอะไร เพื่อความสะใจ เพื่อทำลายใคร เพื่อจุดมุ่งหมายแบบไหน บางที เราไม่ควรมองที่การกระทำ แต่ควรใส่ใจที่เจตนาด้วย…

4. หาปัจจัยแวดล้อม

หลังจากเราหาเหตุเจอแล้ว มาถึงคราวที่เราจะต้องหาปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดปมขัดแย้ง อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปมขัดแย้งในที่ทำงานปะทุขึ้นมากกว่าเดิม ใครมีส่วนร่วมบ้าง และเหตุการณ์นั้นเป็นอย่างไร… พยายามพูดคุยเปิดใจกัน และมองภาพใหญ่ให้ออก ว่าใครเป็นคนสนับสนุนปัจจัยสำคัญเหล่านั้น… พยายามเชื่อมโยงและทำให้พวกเขาเห็นภาพในสิ่งที่พวกเขาควรทำ หรือไม่ควรทำ…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save