Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

Mindset 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร

คุณเคยเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวไหม  ถ้าไม่เคย คุณและทีมของคุณอาจจะอยู่ห่างไกลจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพราะหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใหม่ก็คือ…การไม่กลัวความล้มเหลว

       เพราะการไม่กลัวความล้มเหลวจะนำไปสู่การเปิดพื้นที่ในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หรือ การสร้างนวัตกรรม (Innovation) เพราะการสร้างนวัตกรรมคือทางออกของการทำงานในโลกที่ทุกอย่างผันผวน เปลี่ยนแปลง และไม่แน่นอนเช่นนี้

====

       คนส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป การแผ่ขยายพลังอำนาจของ Internet of Things(IoT) ที่ทุกอย่างในชีวิตสามารถเชื่อมโยงกันและส่งข้อมูลหากันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต

       ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากสร้างนวัตกรรม และอยากพัฒนานวัตกร (Innovator) ขึ้นในทีมหรือในองค์กรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จสักที อาจจะเป็นเพราะว่าคุณยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือยังไม่นำทัศนคติทั้ง 3 ข้อในการสร้างนวัตกรรมไปปรับใช้อย่างต่อเนื่อง

====

ทัศนคติ 3 ข้อเพื่อการสร้างนวัตกรรมในองค์กร มีดังนี้

1.ทัศนคติแห่งการเติบโต (Growth Mindset)

“จงโฟกัสที่การเรียนรู้ (Learning) ไม่ใช่องค์ความรู้ (Knowledge)”

       คนทำงานยุคเก่าจะมุ่งเน้นว่า “ฉันรู้อะไรมาบ้าง” ซึ่งการมีแนวคิดเช่นนี้มักจะไม่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ การจะเกิดนวัตกรรมได้องค์กรจำเป็นจะต้องมี Growth Mindset หรือ ทัศนคติของการเรียนรู้และเติบโตซึ่งจะต่อยอดไปสู่การมีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้และเติบโตในที่สุด

       วิธีการสำคัญที่จะช่วยปลูกฝัง Growth Mindset ก็คือการใช้คำถาม “สิ่งที่เพิ่งทำไป / เรื่องที่เพิ่งผ่านไป ฉันได้เรียนรู้อะไรบ้าง” และ “ฉันจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปปรับใช้อย่างไรบ้าง”

       นอกจากนี้ให้คนในทีม Feedback กันเองเพื่อให้เกิดการขยายมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเปิดพื้นที่ให้แต่ละคนพูด Feedback กันเองภายใต้สองหัวข้อนี้ คือ คนนี้ทำอะไรได้ดีบ้าง และ คนนี้สามารถพัฒนาและปรับปรุงเรื่องอะไรเพื่อให้ดียิ่งขึ้นได้บ้าง

====

 

2.ทัศนคติที่เริ่มจากการเข้าใจคนอื่นก่อน (Outward Mindset)

“จงเริ่มต้นที่ความต้องการของผู้อื่นก่อนความต้องการของตัวเอง”

       หัวใจของนวัตกรรมอยู่ที่การคำนึงถึงผู้อื่น ซึ่งก็คือคนที่นวัตกรต้องการจะแก้ปัญหาให้นั่นเอง หากคนสร้างนวัตกรรมยังโฟกัสอยู่ที่ตัวเอง(ฉันรู้อะไร ฉันสามารถทำอะไรได้ ฉันอยากทำอะไร) นวัตกรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

       แนวทางปลูกฝัง Outward Mindset อยู่ที่การเข้าไปพูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เราจะสร้างนวัตกรรมนั้นขึ้นมาช่วยเหลือเขา หรือ เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา

       เพราะนวัตกรรมของเราจะไม่มีทางเป็นนวัตกรรมที่ดีได้เลยหากมันไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ลองถามหรือค้นหาให้เจอว่าเขาต้องการอะไรบ้าง และกลับมาถามตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

 ====

 

3.ทัศนคติของการล้มแล้วลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง (Resilience Mindset)

“จงลุกขึ้นใหม่ทุกครั้งที่ล้มลงไป”

       ถ้าคนในทีมของคุณยังไม่สามารถเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลวของการทดลองทำบางสิ่งได้ ทีมของคุณก็ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่า นวัตกรรมที่ดี เพราะทีมที่กลัวความล้มเหลวจะไม่กล้าคิดและลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ทำอะไรที่นอกกรอบภายในเวลาที่รวดเร็วเพียงพอ

       การยินดีที่ยังไม่สำเร็จต้องมาคู่กับการลุกขึ้นใหม่อีกครั้งเสมอ นี่คือ Resilience Mindset หรือ ทัศนคติที่บอกว่าไม่ว่าเราจะพบเจอปัญหา อุปสรรค ความผิดพลาดล้มเหลวกี่ครั้งแต่เราก็จะลุกขึ้นสู้ใหม่เสมอ

       หลังจากเฉลิมฉลองให้กับความล้มเหลว(สิ่งที่ทำยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามเป้าแต่เราฉลองให้กับการกล้าคิดกล้าลงมือทำสิ่งใหม่) แล้ว ให้คนในทีมพูดคุยกันว่าสิ่งที่เพิ่งผ่านไปนั้นมีจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดตรงไหน แล้วถ้าจะทำครั้งต่อไป(ลุกขึ้นสู้ใหม่) พวกเราจะปรับ เปลี่ยน หรือทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อให้เข้าใกล้ผลลัพธ์ในแบบที่เราต้องการบ้าง 

ยังมีวิธีปลูกฝังและฝึก Resilience Mindset ที่ทำได้อย่างเป็นรูปธรรม อ่าน สองวิธีฝึกทักษะล้มแล้วลุกที่ทำได้จริง คลิกที่นี่

====

       จะเห็นว่านวัตกรรมที่ดีต้องมีรากฐานมาจากทัศนคติ หรือ Mindset ที่ถูกต้องเสียก่อน และ Mindset ที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ก็ต้องเป็น Mindset ของนวัตกร (Innovator) ซึ่งประกอบไปด้วย มุ่งเน้นที่การเรียนรู้และเติบโต(Growth Mindset) มุ่งเน้นที่การทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน (Outward Mindset) และมุ่งเน้นที่การลุกขึ้นสู้ใหม่ไม่ว่าจะล้มลงไปกี่ครั้งก็ตาม (Resilience Mindset)

       ถ้ามีแนวคิดหรือทัศนคติที่ถูกต้อง การลงมือทำก็มักจะถูกต้องตามมา และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างนวัตกรรมในองค์กรที่หลายทีม หลายองค์กรทำผิดพลาดเพราะไปมุ่งเน้นที่การใช้เงิน ดึงดูดตัวบุคคล หรืออะไรที่เป็นเรื่องภายนอกแต่ไม่สนใจสิ่งที่อยู่ภายใน(หัว) ของคนที่ต้องสร้างนวัตกรรมเลย

====

หากต้องการสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นกับคนในทีมและในองค์กรของคุณ ขอแนะนำหลักสูตร Growth Mindset for Effective Work ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

เขียนโดย อ.เวย์  เวสารัช โทณผลิน 

Productivity Coach & Team Collaboration Facilitator 

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลของผู้นำและการบริหารทีม 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้คุณได้คือ FLOW Model อ่าน ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

‘ต้นทุนจม’ อคติความคิดที่ทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด

คุณไปทำอย่างอื่นก่อนก็ได้นะครับ แล้วปล่อยบทความนี้ผ่านไป แต่ผมคิดว่าคุณอาจจะเสียใจในภายหลัง

ผมมีเรื่องของ ‘แดเนียล คานีแมน’ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเชื้อสายอิสราเอลเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปี ค.ศ. 2002 มาเล่าให้ฟัง

คานีแมนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม (Behavioral Economics) และการตัดสินใจ (Decision Making) เจ้าของหนังสือชื่อดังอย่าง Thinking Fast and Slow ที่หลายท่านอาจจะเคยได้ยิน

===

คานีแมนบอกเราว่า “เมื่อมีเรื่องให้ตัดสินใจ สมองของคนเรามีการทำงาน 2 ระบบ ระบบแรก เป็นระบบที่รวดเร็ว ตอบสนองตามสัญชาติญานและอารมณ์ ส่วนระบบที่สองเป็นระบบที่ช้า ตอบสนองโดยใช้เหตุผล”

ระบบแรกใช้พลังงานน้อยกว่าระบบที่สองมาก ซึ่งปกติแล้วมนุษย์เรามักจะใช้ระบบแรกในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ฟังเผินๆ ก็น่าจะดีที่เราใช้พลังงานน้อยเพราะสมองเป็นอวัยวะที่กินพลังงานสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของมัน แต่ข้อเสียของการใช้ระบบแรกในการคิดก็คือมันมักทำให้เราตัดสินใจผิด!

===

การตัดสินใจผิดเกิดจากการที่เราทำตามอารมณ์ (การใช้ระบบแรก) โดยขาดเหตุผล (การใช้ระบบที่สอง) ปรากฏการณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า ‘อคติทางความคิด’ (Cognitive Bias) นั่นเอง

อคติทางความคิดเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นต้นมา จาก Influencer สายพัฒนาตัวเองหลายท่าน วันนี้ผมจะยกตัวอย่างให้ดูสัก 2 อคติทางความคิดเพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้น

===

เรื่องแรก ลองนึกภาพตัวคุณซื้อตั๋วดูฟุตบอลคู่หยุดโลก (จริงๆ โลกก็ยังหมุนแหละ แต่ผมพูดให้ดูยิ่งใหญ่) Manchester United ปะทะ Liverpool ที่จะแข่งที่ประเทศไทยกลางปี 2565 ที่จะถึงนี้

ปรากฎว่าในวันที่ฟุตบอลคู่นี้แข่งขันคุณเกิดท้องเสียอย่างหนักในตอนเช้า ในใจลึก ๆ คุณอยากนอนอยู่บ้าน หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือด้วยซ้ำ แต่กลับเกิดความคิดในหัวของคุณว่า ‘เสียค่าตั๋วไปแล้วราคาแพงมากด้วย’ คุณเลยพยายามที่จะลากสังขารตัวเองไปให้ได้ แม้จะต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปด้วยคุณก็ยอม

ถ้าคุณตัดสินใจจะเลือกทางนี้ด้วยเหตุผลนี้ นั่นแปลว่าคุณกำลังเกิดอคติทางความคิดแล้วครับ

===

อคติทางความคิดรูปแบบนี้คือ Sunk-Cost Fallacy ครับ หรือปรากฎการณ์ที่เราเอาต้นทุนจมซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกคืนไม่ได้แล้วมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ถ้าคุณสามารถเอาบัตรไปคืนผู้จัดได้โดยบอกว่าคุณท้องเสีย ขอเงินคืนเต็มจำนวน หรือบางส่วนได้ แบบนี้จะไม่เรียกต้นทุนจม แต่ถ้าคุณทำเช่นนั้นไม่ได้ค่าตั๋วนี้ก็คือต้นทุนจมครับ

ในทางกลับกันถ้าอาการของคุณไม่ได้รุนแรงมากนัก แล้วคุณตัดสินใจโดยมองว่าการไปดูจะได้ความสุขและสนุกมากกว่าการนอนเฉยๆ แบบนี้เป็นเหตุผลที่พอจะฟังขึ้นอยู่บ้าง หรือสุดท้ายแล้วคุณป่วยหนักจริงๆ แล้วคุณเลือกที่จะไม่ไปโดยขายตั๋วให้คนที่อยากดู (ผมคิดว่ามีเยอะ) ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยครับ

===

Sunk-Cost Fallacy เกิดขึ้นได้แม้ในเรื่องของความสัมพันธ์ สามี-ภรรยาบางคู่อยู่กันมานาน คบกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี มีลูกด้วยกัน พอถึงวันนึงความรู้สึกที่มีต่อกันไม่เหมือนเดิมแต่ก็ไม่ยอมพูดคุยกันเพื่อตัดสินใจว่าจะอยู่ด้วยกันต่อไป หรือจะแยกทางจากกัน เพราะต่างคิดว่าคบกันมานานขนาดนี้แล้วก็ควรจะคบต่อไป

ถ้าคิดแบบนี้เรียกว่าเอาต้นทุนจมมาคิด (การคบกันมานานในอดีต) หรือ เจอ Sunk-Cost Fallacy อีกแล้วครับ

แต่ถ้าพิจารณาว่าจะอยู่ด้วยกัน เพราะมองว่าการแยกกันจะเกิดผลเสียต่อลูก ต่อตนเอง ตลอดจนทั้งคู่พูดคุยกันว่าสามารถปรับตัวเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ในอนาคต โดยต่อยอดจากการที่เคยรู้จักกันในอดีตและปัจจุบัน แบบนี้เรียกว่าตัดสินใจด้วยเหตุผล ไม่ถือว่าติดกับดัก Sunk-Cost Fallacy

===

สรุปสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทความนี้ทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้

  1. สมองมีการทำงานสองระบบ แบบเร็ว และแบบช้า
  1. เราสามารถเกิดอคติทางความคิดได้ง่ายมาก เมื่อใช้ระบบแบบเร็วมาใช้ในการตัดสินใจ
  1. รู้จัก Sunk-Cost Fallacy หรือต้นทุนจมที่เรามักเอามาใช้ในการตัดสินใจด้วย
  1. อคติทางความคิดอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้จากการตัดสินใจที่เหมือนกัน (เช่น ไปดูฟุตบอลแม้ป่วย) ขึ้นกับเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องนั้นด้วย (ถ้าเอาต้นทุนจมมาเป็นปัจจัยคุณกำลังติดอคติทางความคิดแล้ว)
  1. ขอให้กลับไปพิจารณาบทความนี้ในช่วงต้นอีกครั้ง ผมบอกว่าจะแนะนำให้รู้จักอคติทางความคิด 2 อย่างใช่ไหมครับ สังเกตเห็นไหมครับว่าใกล้จะจบบทความอยู่แล้วแต่ผมพูดถึงแค่ Sunk-Cost Fallacy เท่านั้นเอง

ที่จริง ผมแสดงให้คุณเห็นสิ่งที่เรียกว่า FOMO หรือ Fear of Missing Out ซึ่งเป็นความกลัวที่จะพลาดอะไรบางอย่างตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของบทความแล้ว (ทั้งทั้งหัวข้อ และประโยคแรกที่ผมบอกคุณอาจจะเสียใจ)

ไม่แน่ใจว่าที่คุณอ่านบทความถึงตรงนี้ เป็นเพราะหัวข้อ หรือการเกริ่นนำต้นบทความมากแค่ไหน แต่คุณน่าจะได้เห็นการทำงานของอคติทางความคิดที่ชื่อ FOMO กันไปบ้างแล้ว…แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ

ถ้าอยากตัดสินใจให้ดียิ่งขึ้น อ่าน วิธีสร้างทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เพื่อนำไปปรับใช้กับโจทย์ของคุณ คลิกที่นี่

===

การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเป็นทักษะที่คุณสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เราขอแนะนำหลักสูตร Problem Solving & Decision Making คลิกดูรายละเอียดที่นี่ 

บทความโดย

อ.ป้อบ มาติก ตั้งตรงจิตร, CFA, FRM

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการโน้มน้าวและการเจรจาต่อรอง

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เพิ่ม Productivity ในการทำงานด้วยหลักการ Agile

เพิ่ม Productivity ในการทำงานด้วยหลักการ Agile

อ่านชื่อบทความนี้แล้วคุณอาจจะตั้งคำถามกับผมตั้งแต่ต้นเลยว่า Agile คือ แนวคิดในการทำงานเพื่อสร้าง Software หรือ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของบริษัท Start up แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการสร้าง Productivity ในการทำงานเฉพาะบุคคลด้วย

       ซึ่งผมก็ขอบอกตรงนี้เลยว่า ถ้าคุณเข้าใจแนวคิดที่เป็นแก่นแท้ของ Agile แล้วนำแนวคิดนั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของคุณแล้วล่ะก็ คุณจะมี Productivity เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนโดยไม่สำคัญเลยว่างานของคุณคือการสร้าง Software หรือเปล่า

===

       Agile คือ การทำงานเป็นรอบสั้น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาแนวทางหรือผลิตภัณฑ์ที่ work จริง ๆ สำหรับลูกค้าหรือคนที่เราส่งมอบงานนั้นให้แก่เขา

       หัวใจของ Agile คือ การโฟกัสที่หัวใจของสิ่งที่เราทำ โดยยังไม่ต้องสนใจรายละเอียดปลีกย่อย เรียกว่า ขอแค่สิ่งนั้นสามารถตอบสนองความต้องการหลักของผู้ที่เราส่งมอบ (เช่น ลูกค้า หัวหน้า ลูกน้อง คู่ค้า ) ได้ก็พอ เพื่อที่เราจะนำ Feedback จากคนเหล่านั้นมาปรับปรุงสิ่งที่ทำให้ work (หรือ ตอบโจทย์พวกเขาที่สุด) ก็พอ

       และเมื่อเราเข้าถึงแก่นแท้ของ Agile แล้ว ขั้นต่อมาก็คือการนำแก่นแท้เหล่านั้นมาปรับใช้ในการทำงานในแต่ละวันของเรานั่นเอง

===

       เมื่อถอดรหัสจากแก่นแท้ของ Agile จะพบว่ามีหัวใจหลักอยู่ 3 ข้อ นั่นคือ

  1. ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
  2. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ(ไม่ใช่แค่ปริมาณ)
  3. รู้เร็ว ล้มเร็ว ลุกเร็ว

ทั้งสามแนวคิดนี้คือแก่นแท้ของคำว่า Agile ที่ผมแนะนำให้คุณปลูกฝังลงไปเป็น Mindset หลักในการทำงานของคุณ จากนั้นก็นำมาปรับใช้ในการทำงานรายเดือน รายสัปดาห์ และการทำงานในแต่ละวัน ดังนี้

===

1.ร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ลองเขียนแผนผังงานของคุณโดยระบุคนที่จะส่งมอบงาน(หรือจ่ายงาน)ให้คุณ และคนที่คุณต้องส่งมอบงานให้ออกมาอย่างชัดเจน คุณจะเห็นว่ากระบวนการทำงานของคุณมีใครที่เกี่ยวข้องบ้าง คนเหล่านั้นแหล่ะที่คุณจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจกับพวกเขามากเป็นพิเศษ

       จะดีกว่านั้นถ้าคุณคำนึงถึงลูกค้า คู่ค้า และคนต่างแผนกที่อาจจะไม่ใช่คนที่สั่งงานคุณหรือคุณต้องส่งมอบงานให้โดยตรง แต่พวกเขาเหล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานนี้ ลองให้ความสำคัญกับพวกเขาโดยการมอบสิ่งที่คน ๆ นั้นต้องการ

 ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบสำหรับคนที่ให้คุณค่าเรื่องความสัมพันธ์ การระบุขั้นตอนของงานออกมาให้ชัดเจนและส่งมอบงานได้ภายในเวลาที่ตกลงสำหรับคนที่ให้คุณค่าเรื่องประสิทธิภาพของงาน การมีข้อมูลที่เพียงพอและใส่ใจรายละเอียดสำหรับคนที่ให้คุณค่าเรื่องข้อมูลและความเป๊ะ และการฉายภาพวิสัยทัศน์ในการทำสิ่งนั้นให้เขารู้สึกมีพลังที่ได้ลงมือทำสำหรับคนที่ให้คุณค่าเรื่องจินตนาการ

===

2.สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ(ที่ไม่ใช่แค่ปริมาณ)

สำหรับการสื่อสารในการทำงานร่วมกัน คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ วิธีตรวจสอบประสิทธิภาพในการสื่อสารที่ดีคือ การดูว่างานที่ออกมามีคุณภาพตามาตรฐานและส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดหรือไม่ รวมไปถึงหลังการสื่อสารพูดคุยความสัมพันธ์ระหว่างเรากับอีกฝ่ายพัฒนาดีขึ้นหรือไม่ด้วย

       วิธีที่ดีที่สุดในการสื่อสารเรื่องสำคัญก็คือการพบปะเจอหน้ากันจริง ๆ เพราะทุกคนจะได้สามารถสื่อสารทุกสิ่งออกมาได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าเขาจะพูดเยอะหรือพูดน้อยแต่สีหน้า แววตา ท่าทางของเขาจะเป็นสิ่งที่สื่อสารออกมาได้เสมอ

       แต่ถ้าไม่สามารถมาพบเจอกันได้จริง ๆ ในการทำงานยุคนี้ ให้ใช้วิธีวีดีโอคอลโดยคุยกันแบบเปิดกล้อง และการสื่อสารรูปแบบสุดท้ายที่แนะนำก็คือการโทรศัพท์เพื่อฟังน้ำเสียงและจังหวะการพูดซึ่งเป็นอีกหนึ่งการสื่อสารที่สำคัญมากกว่าแค่ถ้อยคำนั่นเอง

===

3.รู้เร็ว ล้มเร็ว ลุกเร็ว

จงลืมคำว่าสมบูรณ์แบบภายในครั้งแรกที่ทำไปได้เลยสำหรับโลกการทำงานยุคนี้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือการรู้เร็ว ล้มเร็ว และลุกให้เร็วโดยการได้รับ Feedback จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั่นเอง

เมื่อส่งมอบงานใดใดไปแล้วให้ขอ Feedback จากผู้ที่คุณส่งมอบทันที โดยให้พวกเขาระบุว่ารู้สึกอย่างไร ชอบตรงไหน และไม่ชอบจุดใด(จุดที่ต้องปรับปรุง) ขอให้ทำความเข้าใจให้ดีว่าการที่ขาบอกว่ายังไม่ใช่ ยังไม่โดน หรือยังต้องปรับปรุงเรื่องใดเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำงานโดยเฉพาะการทำสิ่งใหม่นั่นเอง

เมื่อเรารู้ว่ามีจุดไหนที่ต้องปรับปรุงก็ขอแค่เรากลับมาปรับ มาพัฒนา มาแก้ไขเพื่อทำให้สิ่งนั้นดียิ่งขึ้นไปในการส่งมอบครั้งต่อไปเท่านั้นเอง

หนึ่งวิธีทำงานแบบ Agile คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีมของคุณ อ่าน 4 เทคนิคสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีม คลิกที่นี่

และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการนำทัศนคติแบบ Agile ไปปรับใช้จริงในการทำงาน เพื่อให้งานของคุณมีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ๆ ตลอดไป

===

ถ้าคุณสนใจ Mindset และทักษะแบบ Agile ของคนทำงานยุคใหม่  ขอแนะนำหลักสูตร Corporate Entrepreneurship Program เพื่อพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กรซึ่งจะนำความสำเร็จมาสู่ตัวคุณและองค์กรของคุณ  คลิกที่นี่ 

เขียนโดย

อ. เวย์ เวสารัช โทณผลิน

ผู้เชี่ยวชาญด้าน Productivity  (Personal Productivity Facilitator) 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

ปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิผลสูงด้วย Agile Mindset

คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า Agile หรือ Agility เพราะมันเป็นคำสุดฮอตในโลกการทำงานยุคนี้

คำ ๆ นี้ฮิตสุด ๆ ในบริษัท Start Up ที่ต้องทำงานด้าน Software หรือต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แถมมีความซับซ้อนไม่น้อยอีกด้วย

ความหมายตามพจนานุกรมของคำว่า Agile หมายถึง คล่องตัว ปราดเปรียว

แต่คำว่า Agile ในแง่ของการนำไปใช้ในหน่วยงานหรือองค์กรนั้น หมายถึง แนวคิดในการทำงานที่เน้นผลลัพธ์มากกว่าขั้นตอน และมุ่งเน้นที่การสื่อสารผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างสม่ำเสมอและปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานจริง 

===

เมื่อพิจารณา Agile กันอย่างแท้จริง จะเห็นว่ามันไม่ใช่ How to ไม่ใช่สูตรสำเร็จ และไม่มีวิธีการที่ระบุแบบเฉพาะเจาะจงว่าคุณต้องทำอะไร  1-2-3-4

เพราะถ้าพูดกันอย่างถึงที่สุดแล้วหัวใจของคำว่า  Agile อยู่ที่ Mindset หรือ วิธีคิดนั่นเอง

 

ก่อนจะพาไปทำความรู้จัก Agile Mindset ให้มากขึ้นเพื่อให้คุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างแท้จริง ขอพูดถึง Mindset ที่ดีและมีประโยชน์ไม่แพ้กัน

เพียงแต่ว่า Mindset นี้วางตัวอยู่คนละขั้วกับ Agile Mindset เลยทีเดียว

===


ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในทางจิตใต้สำนึกหรือความต้องการของมนุษย์ เมื่อต้องการจะสร้างสรรค์อะไรสักอย่างเราก็มักจะคิดว่า “จะสร้างมันขึ้นมาอย่างไรให้คงทนถาวร หรือให้สิ่งนั้นคงอยู่ไปจนชั่วลูกชั่วหลานให้ได้”

และนั่นก็ทำให้คำว่า ‘ความยั่งยืน’ หรือ ‘Sustainability’ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘Build-to-Last’ ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น Mindset หรือกรอบความคิดรูปแบบหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้สิ่งที่คิดหรือรังสรรค์ออกมานั้นสามารถสร้างประโยชน์ได้นานที่สุดโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุง เข้าทำนองสร้างขึ้นหนึ่งครั้งคงอยู่ไปจนชั่วนิรันดร์ได้ยิ่งดี

ดูเผิน ๆ วิธีคิดเช่นนี้ก็น่าจะดีไม่น้อย แต่…เหรียญทุกเหรียญมักจะมี 2 ด้านเสมอ

===

พลิกดูอีกด้านหนึ่งของ Mindset แบบ Build-to-Last จะเห็นว่ามันคือการหลงคิดไปว่าทุกอย่างจะอยู่ยั้งยืนยง หรืออยู่ไปชั่วนิรันดร์ จนไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

แต่โลกใบนี้ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวร ทุกสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การคิดแบบนี้จึงค่อนข้างอันตราย

การยึดติดในความคิดแบบ Build-to-Last จะยิ่งทวีความอันตรายในโลกยุคที่ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง ผันผวน ไม่แน่นอน และคาดเดาไม่ได้เช่นนี้

===

Agile Mindset นั้นคือแนวคิดที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของ Build-to-Last Mindset  มันเป็นกรอบความคิดที่มุ่งเน้นสู่การเปลี่ยนแปลงที่… Work จริงๆ

ถึงตอนนี้คุณอาจมีเสียงในหัวดังขึ้นมาว่า “อะไรนะ การเปลี่ยนแปลงที่ Work จริงๆ น่ะเหรอ”

“นี่มันไม่ใช่ Concept ของการทำงาน Project เหรอ”

ใช่แล้ว แนวคิดการทำงาน Project กับ แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้สิ่งที่ Work จริง ๆ คือเรื่องเดียวกัน

ทำความเข้าใจแนวคิดต่อไปนี้ให้ดี แล้วคุณจะพบว่าการนำแนวคิดแบบ Agile ไปใช้จริงเพื่อให้ Project ประสบผลสำเร็จเป็นเรื่องที่คุณทำได้จริง 

===

Project Management หรือ การบริหารงานโครงการเป็นงานประเภทหนึ่งในหน่วยงานที่มีลักษณะของการรวมตัวกันของคนทำงานเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อทดลอง / สร้าง / พัฒนา / แก้ปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่เคยทำได้มาก่อน

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การบริหารงานโครงการเป็นงานที่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นในองค์กรนั่นเอง

===
มีคนทำงานจำนวนไม่น้อยที่เป็นคนซึ่งเก่งมากในองค์กร แต่พอถึงเวลาที่ต้องทำงาน Project กลับไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คิด

เพราะโดยทั่วไปแล้วคนที่เก่งในองค์กรมักจะเก่งงานตาม Process ขององค์กร ซึ่งงานเหล่านั้นมีเป้าหมายก็คือทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แน่นอนและควบคุมได้

และงานรูปนั้นนั่นเองที่จำเป็นต้องมี Build-to-Last Mindset

===

แต่งาน Project นั้นต่างออกไป มันมีรูปแบบที่ตรงกันข้ามกับงาน Routine หรือ งานประจำวันของพนักงานแบบคนละขั้ว เป้าหมายหนึ่งของงาน Project ก็คือการทำทุกอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่… Work จริงๆ

 ด้วยแนวคิดนี้เราจึงอาจจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการไปเรื่อยๆ ทดลองอะไรที่อาจจะ Fail แล้ว Fail อีก แต่สุดท้ายคือกระบวนการทั้งหมดนั้นต้องคล่องตัว มีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วว่องไว เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มัน Work อย่างแท้จริง (ไม่ใช่ยั่งยืนอย่างแท้จริง)

ฉะนั้นหากคุณจำเป็นต้องกระโดดมาจับงาน Project จริงๆ สิ่งแรกที่คุณต้องคิดอาจไม่ใช่การหาวิธีที่จะทำให้ Project นั้น Complete

แท้จริงแล้ว คุณจำเป็นต้องยอมทิ้งกรอบความคิดแบบ Build-to-Last แล้วหันมาลองปลูกฝังกรอบความคิดแบบ Agile  แล้วหลังจากนั้น How to ในการทำ Project ของคุณก็จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

หนึ่งวิธีทำงานแบบ Agile คือการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีมของคุณ อ่าน 4 เทคนิคสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ภายในทีม คลิกที่นี่

===

ถ้าคุณสนใจ Mindset และทักษะแบบ Agile ของคนทำงานยุคใหม่  ขอแนะนำหลักสูตร Corporate Entrepreneurship Program เพื่อพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กรซึ่งจะนำความสำเร็จมาสู่ตัวคุณและองค์กรของคุณ  คลิกที่นี่ 

บทความโดย

ครูตู่สุชาดา แพรเมือง

ที่ปรึกษาและวิทยากรด้าน Organization Development

Learning Hub Thailand

 เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

3 คำถามที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำสิ่งสำคัญ

3 คำถามที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำสิ่งสำคัญ

ถ้าก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด 19 คุณเป็นคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ได้เข้านอนเร็วและหลับอย่างมีคุณภาพ

ไม่ได้อ่านหนังสือ ไม่ได้พัฒนาตัวเอง หรือไม่ได้บริหารการเงินแล้วล่ะก็

ในช่วงสถานการณ์วิกฤต เช่น โควิด 19 ก็คงจะเป็นเรื่องยากมากที่คุณจะทำสิ่งเหล่านั้น

แต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ๆ ที่คุณจะนำเอาโควิด 19 หรือ วิกฤตต่าง ๆ มาเป็น…ข้ออ้าง

====

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าอุปนิสัยเหล่านั้นดีต่อชีวิต
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะลุกขึ้นมาลงมือทำ
หรือทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในชีวิต 

เรามักพ่ายแพ้ให้แก่ธรรมชาติที่โหยหาการประหยัดพลังงาน(ร่างกายและสมอง)
ปรารถนาสิ่งที่ให้รางวัล(ความสุข สนุกสนาน เพลิดเพลิน พึงพอใจที่รวดเร็ว)
และขาดการทบทวนเป้าหมายหรืออนาคตของตัวเอง(ทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน)

====

ถ้าให้จินตนาการถึงตัวคุณเองที่ประสบความสำเร็จสูงสุด
มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย มีหุ่นที่ดีที่สุด มีสุขภาพแข็งแรงสุด ๆ
มีความฉลาดปราดเปรื่อง สามารถคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ได้ดี

และมีสติที่ยอดเยี่ยมจนสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างดี

====

คุณคิดว่าพฤติกรรมที่คุณทำอยู่ในแต่ละวันจะนำพาคุณไปสู่ตัวคุณในจินตนาการคนนั้นหรือเปล่า
ถ้าคำตอบของคุณคือ “ไม่”
คุณก็คงจะรู้อยู่ลึก ๆ แก่ใจแล้วล่ะว่าถึงเวลาที่คุณจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองเสียที

หนึ่งในปัญหาคลาสสิคเรื่อง Productivity ของคนทำงานอยู่ที่คำว่า … แรงจูงใจ

ซึ่งจะว่าไปคำนี้มีทั้งส่วนที่จริงและส่วนที่ลวง(ทำให้เราหลงเชื่อแบบผิด ๆ)
ส่วนที่จริงก็คือ เราทุกคนต้องใช้แรงจูงใจในการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ไม่อยากทำ

ส่วนที่ลวงก็คือเราทุกคนสามารถลงมือทำสิ่งที่รู้สึกไม่อยากทำ
โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีแรงจูงใจเต็มเปี่ยมเลยก็ได้
ขอแค่มีแผนการที่ชัดเจนและมีการตระหนักรู้ในตัวเอง(Self – Awareness) ก็พอ

====

ถ้าคุณมีแผนการในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ที่ชัดเจนแล้ว นี่คือ 3 คำถามสำคัญที่ผมแนะนำให้คุณนำมาถามตัวเอง เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง

โดยคุณสามารถใช้วิธีเขียนคำตอบของตัวเองลงกระดาษโดยละเอียดเพื่อใคร่ครวญและทบทวนความคิดของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

1. เป้าหมายที่ชัดเจนของฉันมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วมันคุ้มค่าพอที่ฉันจะลงมือทำให้กลายเป็นจริงไหม อย่างไร ?2. ถ้าฉันทำตามเป้าหมายนั้นได้สำเร็จ ใครจะได้รับประโยชน์บ้าง อย่างไร ?
3. สิ่งที่ฉันทำในแต่ละวันช่วยให้เป้าหมายนั้นกลายเป็นจริงได้หรือไม่ อย่างไร ถ้าไม่ฉันจะเปลี่ยนแปลงอะไรเพื่อให้เป้าหมายนั้นกลายเป็นจริง ?   

คุณควรใช้เวลาในการตอบคำถามแต่ละข้อให้นานพอเพื่อที่จะได้สำรวจตัวเอง
เมื่อเขียนคำตอบทั้งสามข้อออกมาอย่างชัดเจนแล้ว
ให้คุณติดกระดาษแผ่นนั้นไว้ในที่ที่คุณมองเห็นเป็นประจำ

เพื่อจะได้ย้ำเตือนตัวเองว่าไม่ว่าแรงจูงใจภายในตัวคุณจะเหลือน้อยแค่ไหนก็ตาม
ถ้าเป้าหมายของคุณสำคัญและมีคุณค่ามากพอ

ถ้าพฤติกรรมนั้นช่วยทำให้เป้าหมายที่สำคัญและมีคุณค่ากลายเป็นจริงได้
คุณจะลงมือทำพฤติกรรมนั้นอย่างแน่นอน ต่อให้ต้องเผชิญพายุรุนแรงหรือมีกำแพงสูงขวางกั้นอยู่…ก็ตาม

เรียนรู้วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ คลิกที่นี่

====

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

บทความโดย 

อ.เวย์ เวสารัช โทณผลิน

Personal Productivity Facilitator

วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลส่วนบุคคลให้แก่คนทำงาน 

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาน้อย

5 เทคนิคขั้นสูงในการทำงานได้เยอะด้วยเวลาที่น้อยลง

คุณเป็นอีกคนที่เคยเจอสถานการณ์งานกองท่วมหัวแต่มีเวลาแค่น้อยนิดใช่ไหม คุณอาจจะเคยใช้เทคนิคจัดลำดับความสำคัญหรือเคยตัดงานไม่สำคัญออกแล้วเลือกโฟกัสเน้น ๆ ไปแล้วด้วยซ้ำ

แต่มันก็ยังไม่ได้ผลใช่ไหม

ต่อไปนี้คือเทคนิค ‘ขั้นกว่า’ ที่ให้คุณลองหยิบไปใช้ ซึ่งเป็นเคล็ดวิชาการทำงานให้ได้เยอะ คุณภาพดี ภายในเวลาที่น้อยนิด
====

ระบุความคาดหวังให้ชัด

ต้องไม่ลืมว่าในงานหนึ่งชิ้นจะมีส่วนที่ลูกค้าหรือคนที่เกี่ยวข้องอยากได้เป็นพิเศษ และส่วนที่คิดว่าแค่ขอให้มีไปงั้น ๆ ฉะนั้นลองพูดคุยกันให้เคลียร์ไปเลยจริง ๆ ว่าคุณจำเป็นต้อง ‘จัดหนัก’ ตรงไหนกันแน่

และถ้ารู้แล้ว คุณจะได้เน้นไปยังส่วนสำคัญโดยเน้นส่วนนั้น โดยไม่ต้องเสียเวลากับสิ่งที่คิดว่าไม่มีความจำเป็นมากเกินไปตั้งแต่แรก

====

เอาของเก่ามาปรับใช้ใหม่

นี่คือโลกแห่งยุครีไซเคิล ดังนั้นการเอาของที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ หรือนำมาประยุกต์แบบหมุนเวียนถือเป็นการประหยัดเวลาและทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมด้วย

ลองลิสต์ออกมาดูว่าบรรดาสไลด์ต่าง ๆ เนื้อหาข้อความ ร่างโปรเจ็กต์ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่คุณเคยทำเอาไว้ มีอะไรที่นำมาปรับใช้ใหม่ได้บ้าง
====

สร้าง Template และ Check List

เมื่องานเร่ง เวลาก็น้อยจะมีอะไรที่ดีไปกว่าการมีร่างเอาไว้ แล้วใช้เวลาที่มีอยู่น้อยนั้นมาปรับให้กลายเป็นงานชิ้นใหม่ การทำ Template ว่าจะต้องใส่ข้อความอะไร เพิ่มหรือปรับตรงไหนจากร่างที่มีอยู่จะช่วยทำให้คุณเปลี่ยนจากการทำข้อสอบเขียนบรรยายสองหน้าอันยืดยาว เป็นการเติมคำอย่างง่าย

และหากคุณมี Check List เพื่อเช็คงานตัวเองทีละข้อ ๆ จนครบถ้วน จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกเยอะ คุณจะได้ไม่ต้องกังวล และสับสนว่าทำอะไรไปหรือยัง แล้วยังขาดอะไรอยู่อีกบ้าง
====

เรียกคุยเลยดีกว่า

ในบางครั้ง การมัวแต่นั่งเขียนบันทึก หาคำเป็นทางการ หรือทำสื่อนำเสนอที่แสนวุ่นวายอาจเป็นการเสียเวลาโดยไม่จำเป็น แถมยังเปลืองทรัพยากรอีกต่างหาก

ในบางกรณี หนทางอย่างการเรียกมาพูดคุยกัน สนทนาตอบโต้เพื่อหาข้อสรุป จะช่วยทำให้ทุกอย่างจบลงอย่างง่ายดายและเคลียร์ที่สุด
====

สร้างตารางเวลา

การมีตารางเวลาแบบละเอียด จะทำให้คุณกลายเป็นสุดยอดแห่งการบริหารเวลา งานแต่ละชิ้นจะถูกกำหนดชัดเจนว่าสำคัญมาก – น้อย ต้องให้เวลาแค่ไหน และเมื่อไหร่ที่ถือว่าหมดเวลาแล้วควรผละไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า

ถ้ามีเครื่องมือนี้แม้จะไม่ได้การันตีว่าจะทำงานได้เสร็จอย่างยอดเยี่ยม แต่อย่างน้อยมันจะทำให้คุณรู้ว่า คุณกำลังทำงานอะไร สำคัญแค่ไหน จะทำได้ถึงเมื่อไหร่ โดยไม่ต้องนั่งพะว้าพะวงกับงานชิ้นอื่นจนเสียสมาธิโดยใช่เหตุ

ทั้งหมดนี้คือเคล็ดที่จะทำให้คุณทั้งทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในเวลาอันน้อยนิด และงานนั้นอาจกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้อีกด้วย

ถ้าคุณสามารถตั้งเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขอแนะนำให้คุณฝึกฝนเทคนิค ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 


====

เรียบเรียงจาก “5 Strategies for Getting More Work Done in Less Time” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 7 มกราคม 2019

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

เคล็ดลับเปลี่ยนทุกเป้าหมายในชีวิต ให้กลายเป็นจริง

“ปัญหาของการไม่มีเป้าหมายชีวิต เปรียบได้กับการที่คุณสามารถใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการวิ่งขึ้นวิ่งลงไปทั่วสนาม แต่ทำคะแนนไม่ได้แม้แต่แต้มเดียว” บิลล์ โคปแลนด์

====

คุณเคยรู้สึกไหมว่า ตัวเองทำงานหนักมากแต่กลับย่ำอยู่กับที่  บางครั้งคุณพบว่า ตัวเองมีพัฒนาการขึ้นเล็กน้อยในทักษะฝีมือ หรือในด้านความสำเร็จเมื่อเทียบกับตัวเองเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน หรือบางที คุณต้องดิ้นรนเพื่อให้รู้สึกว่า สามารถตอบสนองความทะเยอทะยานของตัวเองได้

ผู้คนจำนวนมากใช้ชีวิตไปกับการทำงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง หรือวิ่งวุ่นไปทั่วเพื่อทำอะไรให้สำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีสิ่งที่ทำสำเร็จจริง ๆ ได้เล็กน้อยเท่านั้น

การตั้ง “เป้าหมายที่ชาญฉลาด หรือ SMART Goals หมายความว่า คุณสามารถเข้าใจความคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจน โฟกัสไปที่ความพยายาม ใช้เวลาและทรัพยากรที่ตัวเองมีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในชีวิต

บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ SMART Goals  และดูว่าคุณจะสามารถใช้มันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของตัวเองได้อย่างไร?

==== 

SMART หมายถึงอะไร?

SMART คืออักษรย่อที่คุณสามารถใช้เป็นแนวทางการตั้งเป้าหมายได้

หลักเกณฑ์ทั่วไปนำมาจากแนวคิด ‘หลักการบริหารจัดการของปีเตอร์ ดรักเกอร์’ ซึ่งเป็นที่รู้จักครั้งแรกในนิตยสาร Management Review ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1981 โดย จอร์จ ที. โดแรน จากนั้น ศาสตราจารย์โรเบิร์ต เอส. รูบิน (มหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์)

ทั้งสองได้เขียนเกี่ยวกับ SMART Goals ในบทความสำหรับสมาคมจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร เขาเริ่มใช้คำว่า SMART เพื่อนิยามถึงสิ่งที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล…

เพื่อให้มั่นใจว่าเป้าหมายของคุณชัดเจนและสัมผัสได้ แต่ละเป้าหมายควรจะเป็นดังนี้

SPECIFIC – มีความเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย สมเหตุสมผล เป็นเป้าหมายที่สำคัญ
MEASURABLE – วัดผลได้ มีความหมาย มีแรงจูงใจ
ACHIEVABLE – ลงมือทำได้จริง สามารถทำได้สำเร็จ
RELEVANT – มีความเกี่ยวเนื่องกัน  มีทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนฐานผลลัพธ์ที่เป็นไปได้
TIME BOUND – กำหนดเวลาเอาไว้ 

อย่างไรก็ตาม นักคิดบางคนได้ขยายแนวคิดนี้เพื่อโฟกัสด้านอื่นเพิ่มเติม เช่น SMARTER โดยรวมเอาการประเมินผล (EVALUATED) และการทบทวน (REVIEWED) เข้าไปด้วย

====

วิธีการใช้แนวคิด SMART

นักธุรกิจชื่อ พอล เจ. เมเยอร์ นักเขียนและผู้ค้นพบแนวคิด ‘แรงจูงใจในความสำเร็จระดับสากล’ อธิบายลักษณะเฉพาะของ SMART Goals ในหนังสือของเขา ชื่อว่า “Attitude Is Everything: If You Want to Succeed Above and Beyond.”  ดังนี้…


1. มีความเฉพาะเจาะจง (Specific)

เป้าหมายของคุณควรชัดเจนและมีความเฉพาะเจาะจง มิฉะนั้นแล้ว คุณจะไม่สามารถรวบรวมความตั้งใจ หรือรู้สึกถึงแรงจูงใจที่แท้จริงในการประสบความสำเร็จได้ เมื่อทำการร่างเป้าหมาย จึงควรตอบคำถาม 5 W นี้ให้ได้

  • WHAT – คุณต้องการประสบความสำเร็จเรื่อง อะไร?
  • WHY – ทำไม เป้าหมายนี้จึงมีความสำคัญ?
  • WHO – ใคร มีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง?
  • WHERE – สถานที่ในการดำเนินการตั้งอยู่ ที่ไหน?
  • WHICH – ทรัพยากรหรือข้อจำกัด อะไรที่เกี่ยวข้อง?


ตัวอย่าง

ลองจินตนาการว่า คุณทำงานเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด และต้องการขึ้นเป็นหัวหน้าฝ่าย เป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงอาจเป็น “ฉันต้องการทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นในการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กร เพราะฉะนั้น ฉันต้องสร้างหน้าที่การงานและทีมที่ประสบความสำเร็จ”

====

2. วัดผลได้ (Measurable)

การมีเป้าหมายที่วัดผลได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคุณจะสามารถติดตามความคืบหน้าและยังคงมีแรงจูงใจต่อไปได้ การประเมินความคืบหน้าจะช่วยให้คุณสามารถโฟกัสที่เป้าหมาย เผชิญกับกำหนดเวลา รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสำเร็จ

เป้าหมายที่วัดผลได้อาจเริ่มจากคำถามเหล่านี้…

  • มีค่าใช้จ่ายเท่าไร?
  • มีปริมาณมากแค่ไหน?
  • จะรู้ได้อย่างไรว่าประสบความสำเร็จ?


ตัวอย่าง

คุณอาจวัดเป้าหมายในการได้รับทักษะสำหรับการเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาด จากการเข้าร่วมการอบรมที่จำเป็นจนเสร็จสิ้น หรือได้รับประสบการณ์จากงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาห้าปี

====


3. ลงมือทำได้จริง (Achievable)

เป้าหมายของคุณต้องมีความสมจริง สามารถทำให้สำเร็จได้ หรืออีกนัยหนึ่ง เป้าหมายควรท้าทายความสามารถของคุณ แต่ก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้.. เมื่อคุณตั้งเป้าหมาย คุณอาจมองไปถึงโอกาส หรือทรัพยากรที่ต้องใช้เพื่อทำให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จในอนาคต

เป้าหมายที่ลงมือทำได้จริงมักจะเริ่มด้วยคำถาม เช่น
            – ฉันจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?
            – เป้าหมายนี้ตั้งบนฐานความเป็นจริงมากแค่ไหน เช่น ดูจากปัจจัยทางการเงิน เป็นต้น


ตัวอย่าง

คุณอาจต้องถามตัวเองว่า การพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดนั้น อยู่บนพื้นฐานความจริงหรือไม่ อาจมองจากคุณสมบัติ หรือประสบการณ์เดิมที่คุณมี เช่น

– คุณมีเวลามากพอจะเข้าอบรมจนเสร็จสิ้นไหม?
– มีทรัพยากรที่จำเป็นหรือไม่?
– คุณสามารถที่จะทำมันได้หรือไม่?

====

4.มีความเกี่ยวเนื่องกัน (Relevant)

สำหรับขั้นตอนนี้ เป็นการทำให้แน่ใจว่า เป้าหมายนั้นเหมาะสมกับคุณและมีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย… อันเนื่องมาจากพวกเราทุกคนต่างต้องการการสนับสนุน ต้องการความช่วยเหลือในการทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ต้องสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้

ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าแผนของคุณจะผลักดันคนอื่น ๆ ไปข้างหน้า และคุณก็ต้องรับผิดชอบความสำเร็จของเป้าหมายของตัวเองด้วยเช่นกัน…

การหาว่าเป้าหมายนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ คุณต้องตอบ “ใช่” จากคำถามต่อไปนี้…

  • มันดูคุ้มค่าหรือไม่?
  • ถูกช่วงเวลาแล้วใช่ไหม?
  • มันตรงกับความต้องการอื่น ๆ หรือไม่?
  • ฉันคือคนที่จะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ใช่ไหม?
  • เป้าหมายนี้สามารถเป็นไปได้ในสภาพเศรษฐกิจหรือสังคมปัจจุบันหรือไม่?


ตัวอย่าง

คุณอาจต้องการเพิ่มพูนทักษะเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดในองค์กรของคุณ แต่นี่คือเวลาสำหรับการเข้าร่วมอบรมหรือยัง? หรือจะเลือกเพิ่มเติมคุณสมบัติที่จำเป็นก่อน? คุณแน่ใจแล้วใช่ไหมว่า ตัวเองเหมาะกับบทบาทหัวหน้าฝ่ายการตลาด? คุณพิจารณาเป้าหมายของคู่สมรสบ้างหรือไม่?

====

5. ผูกพันกับเวลา (Time-bound)

ทุก ๆ เป้าหมายต้องการกำหนดเวลา ดังนั้น คุณต้องตั้งเส้นตายในการทำเป้าหมายต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองโฟกัสในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ก้าวหน้า หัวข้อนี้ของ SMART Goals จะช่วยให้สามารถจัดลำดับความสำคัญสำหรับเป้าหมายระยะยาวได้

การกำหนดเวลามักถามด้วยคำถามเหล่านี้…

  • เมื่อไหร่?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกเดือนต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในหกสัปดาห์ต่อจากนี้?
  • ฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ในวันนี้?


ตัวอย่าง

การเพิ่มพูนทักษะสำหรับเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดอาจต้องการการฝึกฝนหรือประสบการณ์ ตามที่เรากล่าวไปก่อนหน้านี้ คุณต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนรู้ทักษะเหล่านั้น?

หากคุณต้องการเข้าอบรม คุณก็ต้องทดสอบว่าตัวเองมีคุณสมบัติหรือไม่ มันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องให้กรอบเวลาตามความเป็นจริงสำหรับทำเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ ๆ ต่อไป

====

ข้อดีและข้อเสีย

SMART นั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้คุณมองเห็นเป้าหมายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน สามารถโฟกัสกับจุดมุ่งหมายและมีแรงจูงใจเพื่อทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จได้

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความสามารถ เพิ่มแรงใจในการกำหนดวัตถุประสงค์ต่าง ๆ และกำหนดวันที่ต้องการให้สำเร็จอีกด้วย… ทุกคนสามารถนำหลัก SMART Goals ไปปฏิบัติตามได้ง่ายในทุกที่ โดยไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษ หรือการฝึกฝนใด ๆ มาก่อน

แต่การตีความได้หลากหลายของ SMART อาจทำให้สูญเสียประสิทธิภาพ หรือเกิดการเข้าใจผิดในความหมายที่แท้จริงได้ อีกทั้งบางคนก็มีความเชื่อว่า SMART ไม่เหมาะกับเป้าหมายระยะยาว เพราะขาดความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์

====

เคล็ดลับ

SMART เป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการวางแผน หรือการตั้งเป้าหมาย ในขณะที่มีการตีความเรื่องอักษรย่อที่หลากหลาย ทั้งความเฉพาะเจาะจง การวัดผลได้ ทำให้สำเร็จได้ มีความเกี่ยวเนื่องกัน และเรื่องความผูกพันกับเวลา

เมื่อคุณใช้แนวคิด SMART คุณสามารถสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถทำได้จริง และมีความหมายขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาแรงจูงใจ แนวทางปฏิบัติ และการสนับสนุนที่ต้องการเพื่อทำให้สำเร็จได้

การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

บางครั้งคุณอาจฝันบ่อย ๆ ว่าอยากไปเที่ยวรอบโลก แต่กลับไม่เคยเกิดขึ้นจริง คุณอาจบอกตัวเองว่า เป็นเพราะคุณไม่มีเวลา หรือเงิน และบางทีอาจผลัดไปเป็นปีหน้า

ลองตั้งเป้าหมายแบบ SMART Goals เพื่อช่วยให้เป้าหมายการท่องเที่ยวของคุณมีความเจาะจงมากขึ้น สามารถวัดผลได้ ทำได้จริง มีความเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายอื่น ๆ และผูกพันกับกำหนดเวลา

คุณอาจพบเหตุผลที่แท้จริง ว่าทำไมคุณถึงไม่เคยได้ออกเดินทาง… นั่นอาจเพราะแผนการของคุณไม่ชัดเจน หรือเกินจริงมากไป ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ให้เข้ากับแนวคิด SMART Goals และนี่คือ ตัวช่วยที่จะทำให้ความฝันของคุณเป็นจริง…

ถ้าคุณสามารถตั้งเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ขอแนะนำให้คุณฝึกฝนเทคนิค ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

====

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองทำงานที่รู้สึกไม่อยากทำ

คุณเคยมีประสบการณ์ต้องกล้ำกลืนฝนทน ทำงานให้เสร็จแบบขอไปทีไหม ที่คุณเป็นแบบนั้นเพราะรู้สึกว่างานน่าเบื่อ ทำไปก็ไร้ประโยชน์ เสียเวลา และยิ่งทำก็ยิ่งรำคาญใช่หรือเปล่า

ท่ามกลางกิจวัตรประจำวันที่เราต้องทำมากมาย ถ้าเลือกได้ เราย่อมเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ในโลกของการทำงาน บ่อยครั้งเราจำเป็นต้องทำงานที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
====

ในเมื่อเราหลีกหนีไม่ได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถปรับมุมมอง หาวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งที่เราไม่อยากทำขึ้นมา

อย่าลืมว่า ถึงเราจะไม่มีแรงฮึดในการทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็สามารถหาเหตุผลมาใช้เป็นแรงบันดาลใจได้ ด้วยการมองถึงผลลัพธ์

เพราะแรงบันดาลใจไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องสนุกหรือเบิกบานใจเพียงอย่างเดียว แรงบันดาลใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล

ไม่ว่าจะเพราะทำแล้วเกิดผลประโยชน์ต่อคนที่คุณห่วงใย ทำแล้วก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น ทำแล้วรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และทำแล้วได้เคลียร์หัวสมองจนโล่ง เป็นต้น
====

หากคุณต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำอีก ลองเปลี่ยนมุมมอง เลือกเหตุผลเหล่านี้มาปรับใช้ดู…

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้วจะมีรายรับมากขึ้น ทำแล้วไม่รู้สึกว่าตัดสินใจผิด

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำจนเสร็จล่ะก็ หัวหน้าจะพอใจมาก และความตึงเครียดระหว่างเราจะลดน้อยลง

ฉันไม่อยากทำ…เลย แต่ถ้าทำแล้ว ฉันจะหายเครียดไปอีกหลายอาทิตย์เลย และมีเวลามาเตรียมความพร้อมในการทำสิ่งที่ชอบต่อไป
====

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจแล้ว เรายังต้องบริหารจัดการเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอ นั่นคือ

วางแผนทำงานแต่ละอย่างให้เป็นกิจวัตร

กำหนดไว้เลยว่าจะทำอะไรในแต่ละช่วงของวัน แล้วทำให้เป็นนิสัย เช่น ตอนเช้าเคลียร์อีเมลให้เสร็จ ก่อนกลับจะเตรียมแฟ้มงานพรุ่งนี้
====

กำหนดเวลาที่แน่นอน

ว่าจะทำงานนี้ให้เสร็จภายในระยะเวลาเท่าไหร่ และจะไม่หยุดจนกว่าจะเสร็จ เช่น ตอบอีเมลชุดนี้ให้จบในเวลา 2 ชั่วโมง เป็นต้น
====

ตั้งเป้าหมายที่ไม่สูงเกินไป

ค่อยๆ ทำไปทีละนิด เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าหนักหนาเกินไป และจะรู้สึกดีเมื่อเห็นงานมีความคืบหน้าในแต่ละวัน

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจและความสุขในการทำงานให้คุณได้คือ FLOW Model อ่าน ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลินด้วย FLOW Model คลิกที่นี่

วิธีการเหล่านี้อาจไม่สมบูรณ์แบบหรือทำให้คุณทำงานได้เร็วที่สุด แต่มันจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าคุณได้นำไปปรับใช้จริง กว่าจะรู้ตัวคุณก็น่าจะทำงานที่ไม่อยากทำเสร็จเรียบร้อย แล้วจะมีเวลาอีกมากมายไปทำในสิ่งอื่นที่อยากทำ ที่ทำแล้วเกิดความสุข สนุกเพลิดเพลินนั่นเอง

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 
====

เรียบเรียงจาก “How to Motivate Yourself to Do Things You Don’t Want to Do” โดย Elizabeth Grace Saunders จาก Harvard Business Review 21 ธันวาคม 2018

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

ทำงานที่ยากและเยอะอย่างเพลิดเพลิน ด้วย Flow Model

คุณเคยทำงานจนลืมเวลา ลืมสถานที่ไปเลยไหม

ห้วงอารมณ์ที่ทำงานตรงหน้าอย่างเปี่ยมสมาธิจนเหมือนกับว่าไม่รับรู้อะไรต่อมิอะไรรอบข้าง ไม่ว่าจะเสียงโทรศัพท์ เสียงเพื่อนร่วมงาน ทุกอย่างเหมือนอันตรธานหายไปหมด

ในห้วงเวลาเช่นนี้เองที่คุณจะทำงานเพลินด้วยความรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยพลังงาน ทำต่อไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุดหย่อน

เกือบทุกคนล้วนเคยสัมผัสประสบการณ์เช่นนี้  ประสบการณ์ที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “สภาวะลื่นไหล” (Flow) เป็นสภาวะที่สัญชาตญานในการทำงานนำหน้าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต จนกระทั่งมีคนนำไปใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างทฤษฎีการทำงานที่เรียกว่า Flow Model ขึ้นมา 

====

  Mihaly Csíkszentmihályi นักจิตวิทยาเชิงบวก นำเสนอแนวคิดซึ่งทำให้เห็นว่า เมื่อคนเราพยายามจะทำงานให้สำเร็จ ส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของคนนั้นได้หลายแบบ ซึ่งจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับความท้าทายของงานและทักษะที่เราคิดว่าเรามีด้วย

Mihaly อธิบายว่า ถ้างานไม่ท้าทายและไม่ต้องการทักษะสูงนัก เราจะรู้สึกเบื่อ เซ็งเพราะไม่ถูกกระตุ้นให้ทำ แต่เมื่องานมีความท้าทายมาก แต่เราไม่ได้มีทักษะเพียงพอ ผลลัพธ์คือความตึงเครียดและวิตกกังวล นั่นหมายความว่าไม่ว่าทางไหนก็ดูแย่ไปหมด

====

ภาวะสมดุลที่ดีที่สุดในการทำงาน คือการที่เราต้องการความท้าทายและความน่าสนใจในตัวงาน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถพัฒนาทักษะได้มากเพียงพอที่จะมั่นใจว่าเราสามารถพิชิตความท้าทายนั้นได้ 

ถ้า 2 ปัจจัยนี้เดินไปด้วยกัน  เราจะทำงานได้อย่างลื่นไหล ลองดูตัวอย่างจากบรรดานักธุรกิจ ศิลปิน หรือนักกีฬา เวลาที่พวกเขาทำสิ่งที่ชำนาญจนดูเหมือนง่ายและทำต่อได้เรื่อย ๆ ไม่มีหยุด

เมื่อเข้าสู่สภาวะ Flow  แล้วจะมีองค์ประกอบอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง  ต่อไปนี้คือคำตอบ

  1. เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าสิ่งที่อยากจะบรรลุคืออะไร
  2. สามารถเพ่งสมาธิให้แน่วแน่ได้อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
  3. ไม่ถูกรบกวนด้วยโสตประสาท หรือหลงลืมความรู้สึกไปได้ชั่วขณะ
  4.  พบว่าเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว
  5. ได้รับ Feedback โดยตรงและทันที
  6. รู้สึกถึงความสมดุลระหว่างความสามารถของเรากับความท้าทายของงาน
  7. รู้สึกควบคุมตัวเองได้เหนือสถานการณ์รอบข้าง
  8. รู้สึกว่าทำงานแล้วได้รับรางวัลจากเบื้องลึกภายใน
  9. ไม่รู้สึกว่าร่างกายต้องการอะไรระหว่างทำงาน
  10. ถูกดึงดูดเข้าไปอยู่ในกิจกรรมที่ทำอย่างสมบูรณ์แบบ

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกข้อหรือพร้อมกัน แต่คุณจะรู้สึกว่าเมื่อคุณอยู่ในสภาวะลื่นไหลแล้วจะมีองค์ประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 องค์ประกอบ 

====

Mihaly บอกว่ามีเงื่อนไข 3 อย่างที่จะทำให้ทำงานแล้วเกิดสภาวะลื่นไหลขึ้นได้ นั่นคือ

1.Purpose / Goals (เป้าหมาย)  

 คุณต้องมีเป้าหมายชัดเจน เป้าหมายจะทำให้เกิดแรงจูงใจ และมีโครงสร้างขั้นตอนว่าเราจะไปถึงได้อย่างไร 

2.Balance (สมดุล)

จำเป็นต้องมีสมดุลระหว่างทักษะที่คุณมีกับความท้าทายในตัวงาน ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือน้อยกว่ากันมากจนเกินไป จะทำให้ทำงานไม่ลื่นไหล เช่น รู้สึกไม่ท้าทายเลยทำบ้างไม่ทำบ้าง หรือรู้สึกว่ายากเกินความสามารถ เลยเครียดจนอยากเลิก ไปทำอย่างอื่น

3.Feedback (การได้รับข้อมูลสะท้อนกลับ)

การได้ Feedback ที่ชัดเจนและทันเวลา จะทำให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น และยังผลให้ทำงานได้ไหลลื่นมากกว่าเดิม

จากปัจจัยทั้งสามนี้ เรามีคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมีสภาวะลื่นไหลในการทำงาน ดังนี้  

เริ่มจากการสร้างเป้าหมายให้ชัดเจนก่อน 

ใช้สมาธิในการทำงาน ตัดสิ่งต่างๆ ออกไป ไม่ยอมให้อะไรมาทำให้วอกแวก 

ซึ่งการฝึกออกจากความคิดที่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยได้ดี คลิกที่นี่เพื่อดูวิธีการฝึก 

จากนั้นให้ฝึกมั่นใจในทักษะความสามารถของตัวเอง จะทำให้สิ่งที่ดูเหมือนยากนั้นง่ายลงทันตาเห็น (ถ้าไม่มั่นใจก็ฝึกฝนทักษะนั้นเพิ่ม) 

ระหว่างทำงานถ้าได้ feedback ที่ดีจะทำให้คุณปรับปรุงทันที เพิ่มความกระหายอยากทำงานเพิ่มขึ้นได้ ยิ่งถ้าคุณทำให้งานตรงหน้าท้าทายได้มากกว่าเดิม ก็ยิ่งสร้างความพึงพอใจต่อการทำงานได้มากขึ้น  

หากต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการทำงานให้ Flow ด้วยเครื่องมืออื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง คลิกที่นี่ 

====

เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 093 925 4962

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save