communicatewithcoworker

วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานขี้วีน ให้ง่ายเหมือนปอกกล้วย

          สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ที่ทำงานเป็นสถานที่น่าอยู่ ชวนตื่นขึ้นมายามเช้าและกระตือรือร้นอยากไปทำงาน ก็คือบรรยากาศในการทำงาน และเพื่อนร่วมงานก็เป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างบรรยากาศเหล่านั้น

แต่ข่าวร้ายก็คือเราไม่สามารถเนรมิตเพื่อนร่วมงานน่ารักๆ พูดคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจ รักใคร่ชอบพอเหมือนเพื่อนสนิทขึ้นมาได้ ใครมีบุญวาสนาได้พบพานกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมดีก็ย่อมสุขใจ แต่หากเราพบเจอเข้ากับเพื่อนร่วมงานประเภท “ขี้วีนขี้เหวี่ยง”  “พูดจาขวานผ่าซาก” หรือ “วาจายิ่งกว่ามีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ที่พร้อมจะเชือดเฉือนให้เราแหว่งวิ่นทุกครั้งที่เข้าใกล้แล้วล่ะก็ ที่ทำงานอันเป็นสถานที่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวันก็เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจได้ง่ายๆ

อ๊ะๆ แต่อย่าเพิ่งท้อแท้นะคะ วันนี้เรามีวิธีการดีๆ ที่จะช่วยให้คุณสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น มาฝากกันค่ะ

1.น้ำขุ่นอยู่ในน้ำใสอยู่นอก

ใครก็ย่อมไม่อยากดีด้วยกับคนที่ไม่ดีกับเรา อันนี้เข้าใจค่ะ แต่ทว่าการทำกิริยาแบบ “แรงมาก็แรงตอบ” ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นแต่อย่างใด หากแต่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงานดิ่งลงเหวมากกว่าเดิม

หากคุณต้องการให้การสื่อสารราบรื่น มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วล่ะก็ ควรเริ่มจากตัวเราก่อน สูดหายใจเข้าลึกๆ ลืมเรื่องขุ่นข้องหมองใสเสียให้หมด ยิ้มกว้างๆ เข้าไว้ และพูดคุยด้วยอารมณ์ที่สดใส อย่าให้อีกฝ่ายจับได้เด็ดขาดว่าแท้ที่จริงคุณก็ไม่อยากพูดคุยกับเขาหรือเธอคนนั้นมากสักเท่าไหร่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่สำหรับคนเก่งอย่างคุณ เรื่องแค่นี้ทำได้สบายอยู่แล้วค่ะ

2.ปลดปล่อยความรู้สึกแย่ให้ถูกจังหวะ

อึดอัดใช่ไหมล่ะคะ กับการต้องฝืนทำดีกับคนที่มีนิสัยขี้วีนเหวี่ยง การปลดปล่อยความรู้สึกด้านลบออกมาเป็นสิ่งที่ดีในสถานการณ์แบบนี้ เนื่องจากทำให้คุณมีสภาวะจิตใจที่ดีขึ้น แต่การระบายความรู้สึกออกมานั้นควรเลือกกระทำให้ถูกที่ ถูกคน และถูกจังหวะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแย่ๆ ตามมา

มองหาเพื่อนที่คุณไว้วางใจได้สักคน เป็นเพื่อนที่คุณสนิทสนมด้วยมานานพอที่จะระบายความในใจให้ฟังได้อย่างไม่เคอะเขิน และมีทัศนคติด้านดีมากพอที่จะมองโลกด้วยใจเป็นกลาง เพื่อที่เธอคนนั้นจะได้ช่วยมองในมุมของคนนอกและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อคุณในสถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ได้ เรียกได้ว่าได้ประโยชน์ถึงสองต่อเลยนะคะ

3.เปลี่ยนมุมมองใหม่ เข้าใจมากขึ้น

การมองจากมุมมองของคุณเพียงมุมเดียวไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ลองเปลี่ยนไปมองจากมุมมองของอีกฝ่ายหนึ่งว่า “เกิดอะไรขึ้นในชีวิตเขากันนะ” จึงทำให้เขาเป็นคนแบบที่เป็นอยู่นี้ อาจทำให้คุณเข้าใจได้ว่านิสัยวีนเหวี่ยงที่เพื่อนร่วมงานของคุณเป็น เกิดได้จากสภาพกดดันจากปัญหาครอบครัว ปัญหาทางการเงิน หรือแม้กระทั่งปัญหาสุขภาพที่เขาประสบอยู่ จนทำให้เขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ขี้วีนขี้เหวี่ยงที่เกิดขึ้นได้

เมื่อคุณเข้าใจปัญหาจากมุมมองของเขาแล้ว ย่อมทำให้คุณเกิดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมงานของคุณได้มากขึ้น เมื่อใดที่เขาทำนิสัยไม่น่ารักเหล่านั้นกับคุณ คุณก็เพียงคิดเสียว่า “โลกช่างโหดร้ายกับเขาเสียเหลือเกิน” แล้วก็ยิ้มด้วยความเห็นอกเห็นใจเขาเสียด้วยนะคะ

4.สร้างมิตรด้วยกิจกรรม

เมื่อคุณได้เรียนรู้และเปิดใจยอมรับ “นิสัยไม่น่ารัก” ของเพื่อนร่วมงานได้บ้างแล้ว ขั้นตอนถัดมาซึ่งอาจจะยากขึ้นมาอีกหน่อยก็คือ ให้หาโอกาสพูดคุยสร้างความสนิทสนมกันให้มากขึ้น หรือหากเป็นไปได้ให้ชวนเขาไปทำกิจกรรมหลังเลิกงานร่วมกัน เลือกกิจกรรมที่คุณสองคนชอบหมือนๆ กัน เช่น การหาของกินอร่อยๆ ดูหนังด้วยกันสักเรื่อง หรือเข้าฟิตเนสด้วยกัน

เมื่อมีโอกาสทำกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานร่วมกัน จะทำให้คุณสองคนรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกดีต่อกันมากขึ้น เทคนิคนี้จะทำให้การสื่อสารระหว่างทั้งสองเป็นไปได้ด้วยดีมากขึ้นเมื่อต้องทำงานร่วมกันในโอกาสต่อไป เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคการ “สร้างมิตรด้วยกิจกรรม” นั่นเองค่ะ

5.อยู่ห่างๆ หากยังไม่พร้อม

เทคนิคต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานบางคนดีขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็ย่อมมีเหมือนกันที่สำหรับ “คนบางคน” จะยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงแม้ว่าเราจะลองครบทุกวิธีแล้วก็ตาม

หากเป็นแบบนั้นก็คงต้องใช้เทคนิคข้อสุดท้ายก็คือ “อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” กล่าวคือ เมื่อยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งเกิดการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน  เกิดรอยร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ให้พยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อกันไปก่อน ระหว่างนี้ใช้วิธีการสื่อสารผ่านคนกลางที่พูดคุยได้ทั้งสองฝ่าย หรือพยายามติดต่อกันเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น จนกว่าเขาคนนั้นพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับคุณ

การเปลี่ยนแปลงบุคคลอื่นให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการนั้นทำได้ยาก เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็คือตัวของเขาเอง สำหรับตัวคุณเองก็เช่นเดียวกัน คุณสามารถเลือกที่จะ “รู้สึกมีความสุข” ได้ แม้ว่าจะมีเพื่อนร่วมงานขี้วีนขี้เหวี่ยงอยู่ใกล้ๆ ในทุกวันก็ตามทีค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรามีความยินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save