ในตอนนี้ เราจะมาดูรูปแบบในการทำไดอะล็อคในหน่วยงานหรือองค์กร ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลองนำไปใช้
เพื่อให้พอเห็นภาพจะบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ พึงระลึกไว้ว่า การนำไปฝึกฝนและปฏิบัติเท่านั้น จึงจะทำให้เราสัมผัสไดอะล็อคได้อย่างแท้จริง แม้การอ่านอย่างตั้งใจ และมีความเข้าใจในทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเพียง 10% ของประสบการณ์จริงเท่านั้น
การจัดสถานที่ ควรเลือกให้อยู่ในพื้นที่สงบปราศจากเสียงรบกวนและมีความสบายเพียงพอ โดยมากหากจะได้ผล จะจัดให้นั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยไม่มีโต๊ะหรือสิ่งขวางกั้นอยู่กลางวง หากเป็นไปได้ให้นั่งกับพื้นหรือบนเบาะรองนั่งเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม โดยที่ไม่มีประธานของกลุ่ม
เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เริ่มใหม่ อาจตั้งผู้มีประสบการณ์ในการทำไดอะล็อคคอยเป็นผู้อำนวยวงหรือเรียกสั้นๆว่า “ฟา (Facilitator) ” เพื่ออธิบาย คอยดูแลกติกาของกลุ่ม และจับประเด็นในการพูดคุย สมาชิกในการพูดคุยอาจเริ่มจาก 4-5 คน ไปจนถึง 20 คน
ระยะเวลาที่ใช้ ควรมีเวลาอย่างต่ำราว 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม
โดยมากชั่วโมงแรกบรรยากาศจะยังอึดอัดและไม่คุ้นชิน (Stress) การสนทนาในวงจะเริ่มเลื่อนไหล (Flow) ในชั่วโมงที่สอง เมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่สาม จะเกิดการใคร่ครวญภายในตน และเริ่มดำดิ่งลงลึกในการค้นหาคำตอบของตัวเอง (Deep Inquiry) และโดยมากจะรู้สึกอิ่มเอมและผ่อนคลาย (Relax) ในตอนจบ โดยไม่จำเป็นต้องตกตะกอนความคิดได้ในทุกครั้งที่ทำ
การเปิดวงไดอะล็อค รอบแรกนิยมเริ่มด้วยการเช็คอิน (Check in)
นั่นคือการพูดแสดงความรู้สึกสดๆในขณะนั้นทีละคน เพื่อเป็นการให้กลับมาสัมผัส รับรู้และมีสติอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดถึงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวลในขณะนั้นก็ได้ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถละวางเรื่องราวภาระหน้าที่ต่างๆไว้นอกวงได้ชั่วคราว ให้รู้สึกว่าตนได้วางตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิวัยวุฒิ ยศฐาหรือฐานะลงไว้ก่อน รู้สึกเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมวง รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยในรอบต่อไป
รอบที่สอง พูดตามใจโดยไม่มีหัวข้อ หรือ Free Talk
หลังจากเช็คอินครบทุกคนแล้ว ให้เริ่มผลัดกันพูดทีละคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ใครจะสมัครใจพูดก่อนก็ได้ รอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอาจยกมือพอให้เป็นสัญญาณว่าเราขอเป็นคนพูดต่อไป โดยอยากจะพูดหัวข้อใดก็ได้ตามใจ ไม่จำเป็นต้องพูดหัวข้อเดียวกัน อยากจะเปลี่ยนหัวข้อ ข้ามหัวข้อ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะความตั้งใจในการคุย เราไม่ได้มาฝึกพูด แต่เรามาฝึกที่จะ “ฟัง”
ใครไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนที่เหลือก็เป็นผู้ฟังที่ดี ระหว่างที่ฟังนั้น ให้สังเกตอารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตน สังเกตสิ่งที่ได้ยินและสิ่งที่เราตีความ การตัดสินถูกผิด ความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย
ยิ่งเราอึดอัดขัดข้อง อยากพูดค้านมากเท่าใด แสดงว่าเราสามารถจับการตัดสินของตนเองได้แล้ว ให้โอกาสตนเองได้ห้อยแขวนคำตัดสินนั้นไว้ก่อน แล้วฟังต่อจนจบ
การสนทนาแบบใหม่เช่นนี้ อาจทำให้อึดอัดและรู้สึกฝืนในช่วงแรก
แต่หากเราทำได้ จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเสมอกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่เท่าเทียมและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นวงสนทนาเพื่อทำการจัดการความรู้ (KM) ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถค่อยๆลำเลียงองค์ความรู้ภายในออกมาได้ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะจะปิดกั้นความรู้สึกอยากแบ่งปันออกไป
ยิ่งการหาไอเดียใหม่ๆด้วยระดมความคิด (Brain Storming) โดยใช้วิธีนี้ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะความเห็นเพียงเล็กๆกับเรื่องง่ายๆหรือเรื่องธรรมดาๆ ก็อาจเปิดช่องให้สร้างโอกาสหรือความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราด่วนทำการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใดๆ อาจทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก และไม่อยากเสนอความคิดอื่นๆอีกเลยก็เป็นได้
การดำเนินการพูดคุยในวง ก็จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ วนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา โดยในตอนหน้า จะอธิบายถึงตอนจบและประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อไป
………………..
(ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)