เพราะสุขภาพจิตที่ดีสำคัญต่อการทำงานเป็นทีม 6 วิธีต่อไปนี้ช่วยได้!
พอล ซานตากาต้า หัวเรือใหญ่ของ Google กล่าวไว้ว่า “หากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ ย่อมไม่เกิดการทำงานเป็นทีม”
พอลรู้ซึ้งในความหมายของประโยคดังกล่าวจากการร่วมงานกับคนในทีมของเขาตลอดระยะเวลา 2 ปี
สิ่งที่เขาค้นพบว่าช่วยทำให้ทีมทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด คือการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง
โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนในทีมมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองจะไม่ถูกลงโทษหากทำอะไรผิดพลาด
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า การมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงช่วยให้สามารถพูดในสิ่งที่คิดได้อย่างเต็มที่ มีความคิดสร้างสรรค์ และทำให้กล้าลงมือทำอะไรสักอย่างโดยไม่กลัวล้มเหลว
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการประสบความสำเร็จทั้งสิ้น
แล้วสมาชิกในทีมจะมีสุขภาพจิตที่แข็งแรงได้อย่างไร? คำตอบอยู่ที่ 6 ปัจจัยที่พอลนำมาใช้กับทีมงานแล้วเวิร์คสุด ๆ
====
1.จัดการกับปัญหาเพื่อผลลัพธ์ที่ทุกคนพอใจ
มนุษย์ส่วนใหญ่จะเกลียดความพ่ายแพ้มากกว่าอยากชนะเสียอีก แม้กระทั่งการทำงานในทีมเดียวกันก็ตาม
พอลรู้ดีว่าการจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้น ทุกฝ่ายจะต้องได้ผลลัพธ์ที่ win – win(ไม่มีใครแพ้) ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เขาจะหาทางแก้ปัญหาโดยการตั้งคำถามว่า “จะทำอย่างไรถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ”
====
2. อย่าลืมว่าทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา
มนุษย์แต่ละคนย่อมต้องการความเคารพนับถือ ต้องการให้มีคนยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และต้องการอิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
พอลจะหมั่นเตือนคนในทีมว่า เวลาคุยงานหรือต้องเจรจาเรื่องงานกับผู้อื่น ให้คิดเสมอว่าอีกฝ่ายก็เหมือนกับตัวเราที่อยากจบการสนทนานี้อย่างมีความสุข
เพราะพวกเขาต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเราที่มีความเชื่อ มีมุมมอง และมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนมีความหวัง มีความกังวล มีความเปราะบางเป็นของตัวเอง ทุกคนมีเพื่อน มีครอบครัว และบางทีอาจมีลูกที่รักเหมือน ๆ กับเราด้วย
และที่สำคัญที่สุดเราต่างปรารถนาความสงบ ความสุข และความรื่นเริงเหมือนกัน
====
3. คาดการณ์และวางแผนรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้า
นอกจากคิดว่าต้องทำอย่างไรให้หน้าที่การงานประสบความสำเร็จแล้ว เราต้องตั้งคำถามล่วงหน้าเผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เช่น “ถ้าฉันตัดสินใจทำเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะมีวิธีรับมือได้อย่างไร” การตอบคำถามเหล่านี้อาจต้องลองเปลี่ยนมุมมองจากตัวเราให้กลายเป็นบุคคลที่ 3 ซึ่งเฝ้ามองเหตุการณ์นี้อยู่ห่างๆ จึงจะมองเห็นอย่างชัดเจนว่า “ปัญหาคืออะไร” “อะไรคือช่องโหว่ของการตัดสินใจดังกล่าว” เมื่อเรามองเห็นแล้ว หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นจริง เราจึงจะสามารถนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ได้อย่างรัดกุมและมีสติมากขึ้น
====
4. เปลี่ยนการตำหนิให้เป็นบวก
ถ้าเกิดคนในทีมสัมผัสได้ว่าคุณกำลังจะตำหนิเขา สายตาที่พวกเขามองและนึกถึงคุณก็จะเปลี่ยนไปทันที
งานวิจัยพบว่าการตำหนิและการวิจารณ์จะทำให้ความบาดหมางบานปลายจนนำไปสู่การปิดตัวเองและในที่สุดก็ตัดขาดออกจากทุกสิ่งอย่างได้
การตำหนิไม่ใช่ด้านบวกแต่ก็มีวิธีที่จะทำให้มันอ่อนโยนขึ้น
เริ่มจากการพูดถึงปัญหาหรือผลลัพธ์ผ่านการสังเกตโดยใช้ภาษาที่เป็นกลางแล้วใช้ข้อเท็จจริงมาอธิบายประกอบ
จากนั้นจึงร่วมสำรวจถึงปัญหานั้นไปด้วยกัน ปิดท้ายด้วยการถามอีกฝ่ายถึงความคิดเห็นว่าจะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นได้อย่างไร โดยที่เราต้องให้บุคคลนั้นเป็นผู้คิดและเสนอทางแก้ไขเหล่านั้นด้วยตัวเอง
เพราะเขาคือผู้กุมกุญแจสำคัญที่จะไขปริศนานี้ได้
====
5. เป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับบ้าง
การเป็นฝ่ายถามหาคำติชมกลับไปยังเพื่อนร่วมทีม ถือเป็นวิธีหนึ่งในการพัฒนาทีมเวิร์คได้
เพราะคนในทีมจะรู้ว่าการสื่อสารระหว่างกันนั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง
นอกจากนั้นจะช่วยให้ทุกคนรู้ว่าอะไรเป็นจุดบอดในการสื่อสาร เพื่อนำมาแก้ไขในอนาคต ทั้งหมดทั้งมวลจะช่วยให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้นำมากขึ้น
การจบบทสนทนาด้วยคำถามที่ว่า “อะไรที่ได้ผลและไม่ได้ผลบ้างจากการสื่อสารของเรา?”
, “รู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินข้อความนี้?”
และ “ฉันจะนำเสนอมันให้ออกมาได้ผลมากขึ้นได้อย่างไร?” อย่าเป็นฝ่ายออกคำสั่งแต่เพียงฝ่ายเดียว เราต้องเป็นฝ่ายรับ feedback บ้างเช่นกัน
====
6. หมั่นตรวจวัดระดับสุขภาพจิต
พอลมักจะถามลูกทีมเสมอว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรบ้างในการทำงาน รู้สึกดีกับการทำงานเป็นทีมหรือไม่ แล้วอะไรจะช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง
โดยเขามักจะให้ทีมทำแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย เพราะเขามองว่านั่นคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ
ถ้าคุณเริ่มหันมาดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและเพื่อนร่วมทีมตั้งแต่ตอนนี้ มั่นใจได้เลยว่าศักยภาพในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการแก้ไขปัญหา ความสามารถเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น และมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
====
เรียบเรียงจากบทความ “High-Performing Teams Need Psychological Safety. Here’s How to Create It” โดย Laura Delizonna ตีพิมพ์เมื่อ 24 สิงหาคม 2017 ใน Harvard Business Review
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน