ทำอย่างไร ให้ทีม “อึด ถึก ทน” สู้งานหนักได้เหมือนเรา ?
หลายครั้งที่ผมได้พบกับผู้บริหารในองค์กรต่าง ๆ ได้เล่าสู่กันฟังถึงสิ่งที่เป็นปัญหาหนักใจในการทำงาน สิ่งที่มักได้ยินอยู่เสมอก็คือ น้อง ๆ ที่ทำงาน ไม่อึด ไม่ถึก ไม่ทน ท้อถอยง่าย ลาออกบ่อย ทำให้ต้องหาคนมาแทน และสอนงานใหม่อยู่เสมอ
พอสอนงานได้ที่ เริ่มทำงานเป็นแล้ว สักพักก็ลาออกอีก วนลูปแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่เป็นปัญหาที่ผู้บริหารในองค์กรไหน ๆ ก็ต้องเจอในช่วงนี้
หากมองผิวเผิน หลายคนอาจจะคิดว่าปัญหานี้มาจากสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ Gen Y – Gen Z นั้น ถูกเลี้ยงดูมาอย่างสบาย จึงไม่ค่อยอดทน หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือ เกิดจากปัญหาความแตกต่างของช่วงวัย Gen Gap ทำให้เข้ากับหัวหน้าไม่ได้ เลยต้องลาออกไปในที่สุด
ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นการโยนความผิดไปให้คนรุ่นใหม่ เป็นความคิดที่ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาใด ๆ ได้เลย ผมจึงอยากชวนให้มองลงลึกไปกว่านั้นว่า ในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร เราทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง
===
“ผลลัพธ์และพฤติกรรมของแต่ละคน สะท้อนออกมาจาก Mindset หรือ ทัศนคติ”
หากคุณเชื่อเหมือนกับผมเช่นนี้ เราอาจตั้งสมมติฐานได้ว่า “Mindset” น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คน ๆ หนึ่ง ทำงานไม่อึด ไม่อดทน และไม่สู้งานหนัก
ดังนั้น หากจะแก้ปัญหานี้ จึงควรแก้และเปลี่ยนที่ “Mindset” ของคน ๆ นั้นนั่นเอง
ความสงสัยที่ตามมาทันที คือ Mindset ดูเป็นเรื่องนามธรรม จับต้องได้ยาก และการเปลี่ยน Mindset ของคน ที่ฝังติดตัวอยู่กับเขามานาน ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย
ใช่ครับ ผมเห็นด้วย แต่ปัญหานี้เกิดจาก “เราคิดจะเปลี่ยนเขา” แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถช่วยให้ “เขาเต็มใจเปลี่ยนตัวเอง”
มันคงง่ายขึ้นเยอะเลย ใช่ไหมครับ ดังนั้น ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า Mindset แบบไหน ที่เราต้องการ ?
===
“ความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้มาจากพรสวรรค์ แต่มาจากความทรหด”
คุณคิดว่าประโยคนี้เป็นจริงไหม ลองนึกภาพง่าย ๆ ว่า คน 2 คน อายุเท่ากัน ความเก่งและฉลาดพอ ๆ กัน เริ่มทำงานพร้อมกัน ในที่ทำงานเดียวกัน ได้รับโอกาสเหมือน ๆ กัน เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จได้เท่ากัน
จะเห็นว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ที่เราสามารถควบคุมได้” ซึ่งทำให้เรามีความแตกต่างจากคนอื่น ๆ มีเพียงเรื่องเดียวคือ “ความทรหด”
มากไปกว่านั้น โลกในปัจจุบันเป็นยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน และคาดการณ์ไม่ได้ วิกฤตต่าง ๆ ทำให้เราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด
แม้ว่าทำดีแล้วแต่อาจจะไม่ดีพอ เราต้องเจอกับผิดพลาดและความผิดหวังอยู่เสมอ ใครที่ท้อถอย ยอมแพ้ ล้มเลิกไปก่อน ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
ดังนั้น “ความทรหด” จึงเป็น Mindset สำคัญที่คนในยุคนี้ไม่อาจมองข้ามได้
===
“ความทรหด คืออะไร”
อ้างอิงจากหนังสือ “Grit” เขียนโดย ดร. แอนเจลา ดัคเวิร์ธ ซึ่งเขียนหนังสือเล่มนี้จากผลงานวิจัยมากมายตลอดหลายสิบปี จนเธอได้รับรางวัลแมคอาเธอร์ เฟลโลว์ชิพ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับอัจฉริยะที่มีผลงานสำคัญและสร้างสรรค์ระดับโลก (คุณสามารถฟังเธอพูดเรื่องนี้ได้จาก Ted Talk ใน YouTube )
จากการศึกษาของเธอ ความทรหดนั้น เป็นพลังจากภายในที่เกิดจาก “Passion ความหลงใหล และ Perseverance ความอุตสาหะ”
ก่อนอื่นคุณต้องเชื่อก่อนว่า คนทุกคนต่างมีความทรหดอยู่ในตัว เพียงแต่มากน้อยไม่เท่ากัน แต่เราจะไม่ด่วนตัดสินว่า คน Gen Y Gen Z นั้นมีความทรหดน้อยกว่าคน Gen X
แน่นอนว่า สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การเรียนรู้ และประสบการณ์ในยุคที่เติบโตมาต่างกัน ส่งผลต่อทัศนคติ ความเชื่อ และการให้ความสำคัญกับคุณค่าในชีวิตที่ต่างกันไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คนรุ่นใหม่นั้นจะไม่มีความทรหด
อย่าลืมว่า คนรุ่นใหม่หลายคน มีความสามารถ มีความทรหด มุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จในการงานได้อย่างรวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรเป็นมากมายนัก เราเห็นตัวอย่างนี้อยู่ในสื่อทั้งหลายก็มีไม่น้อยเลย
ที่เราเห็นว่าคนรุ่นใหม่บางคน ใจร้อน อยากประสบความสำเร็จเร็ว แต่ไม่อดทน เปลี่ยนใจง่าย เปลี่ยนงานบ่อย ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเขาไม่เคยได้ถูกพัฒนาทัศนคติแห่งความทรหดขึ้นในตนเอง
ดังนั้นหากมองอย่างเป็นกลาง คน Gen ไหน ๆ ต่างก็มีปัญหาเรื่องความทรหดเหมือน ๆ กัน ไม่เกี่ยวกับช่วงอายุ หรือ Gen เลยแม้แต่น้อย
มีปัจจัยทางจิตวิทยาที่จะช่วยสร้างความทรหด มีอยู่ 4 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่ Interest ความสนใจที่มากพอ, Purpose เป้าหมายที่ชัดเจน, Deliberate Practice การฝึกฝนอย่างจดจ่อ, Hope ความหวังที่เต็มเปี่ยม
===
คุณจะพัฒนาทัศนคติแห่ง “ความทรหด” ให้ทีมงานได้อย่างไร ?
ผมมีคำแนะนำ 4 ข้อ ซึ่งคุณสามารถนำไปปรับใช้ทีมงานได้เลย ดังนี้
- Interest – ชวนคุยจนรู้ว่าทีมงานมีความสนใจ และถนัดในเรื่องอะไรมากที่สุด สนับสนุนให้เขาทำสิ่งนั้นมากขึ้น ลดในสิ่งที่เขาไม่ชอบหรือไม่ถนัดให้น้อยลง
ข้อนี้จะทำให้ทีมงานรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจจากหัวหน้า ไม่ใช่แค่สั่งให้ทำงานไปวัน ๆ เมื่อคุณเข้าใจเขาและรู้จักจิตใจเบื้องลึกของเขา ความสัมพันธ์และความเชื่อใจระหว่างกันจะมีมากขึ้น เขาจะเริ่มเปิดใจกับคุณ โดยเข้าหาและปรึกษาคุณมากขึ้น
- Purpose – เมื่อทีมงานเริ่มเปิดใจกับคุณแล้ว ชวนให้เขาตั้งเป้าหมายส่วนตัว ช่วยเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร
ข้อนี้จะช่วยให้เขาเห็นว่า ยิ่งเขาตั้งใจทำงาน และทำงานสำเร็จ เป้าหมายส่วนตัวของเขาก็จะสำเร็จไปพร้อมกันด้วย เขาจะมีกำลังใจและกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น
- Deliberate Practice – สนับสนุนให้ทีมงานทำสิ่งในที่ชอบและถนัด และคอยให้ Feedback เพื่อช่วยให้เขาฝึกฝนตัวเองและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง
ข้อนี้เขาจะรู้สึกว่าการได้ทำงานกับคุณ มีทั้งความท้าทายและการเติบโต ไม่ซ้ำซากจำเจและน่าเบื่อ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และเก่งมากขึ้น และเมื่อเขาเก่งแล้วก็เพิ่มระดับโจทย์ที่ยากขึ้นไปอีก (แต่ต้องไม่ยากเกินไป) เขาจะสนุกที่ได้ท้าทายตัวเอง
- Hope –ให้รางวัลเมื่อเขาทำได้ตามเป้าหมายในแต่ละขั้นตอน รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นของมีค่ามาก แม้แต่คำชื่นชมให้กำลังใจในความพยายามเมื่อเห็นเขาทำได้ดีขึ้น หรือขนมอร่อยๆสักชิ้น ก็ทำให้เขาประทับใจไม่รู้ลืมแล้ว
ข้อนี้จะทำให้เขารู้สึกไม่โดดเดี่ยว มีกำลังใจ เพราะมีคนสนับสนุน ทำให้เขามีความหวังที่จะฟันฝ่าสิ่งที่ยากลำบากได้มากขึ้น คุณต้องทำให้เขารู้เลยว่า ไม่ว่าอย่างไรคุณจะอยู่เคียงข้างเขาเสมอ
===
ส่งท้าย “ผู้คนจะไม่เชื่อในสิ่งที่คุณพูด แต่เขาจะดูจากสิ่งที่คุณเป็น”
ถึงตอนนี้ เชื่อว่าคุณได้แนวทางในการพัฒนาทีมงาน “ให้อึด ถึก ทน” มากขึ้นแล้ว และคุณก็สามารถปรับใช้แนวทางนี้กับตัวเองได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากคุณมีความทรหดในตัวน้อย คุณก็จะไม่สามารถพัฒนาความทรหดให้กับใครได้เลย
บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962
===
ถ้าอยากรู้ว่า ผู้นำจะปรับตัวและบริหารองค์กรให้เติบโตได้อย่างไรในยุค Next Normal หรือความปกติถัดไปที่กำลังรอพวกเราอยู่ อ่านที่นี่
ปล. หากคุณเป็นผู้บริหารหรือผู้นำองค์กร และต้องการพัฒนาทัศนคติของผู้นำในยุคดิจิทัล ที่จะนำพาทีมและองค์กร ให้อยู่รอดและเติบโตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต ผมกำลังจะเปิดหลักสูตร “The Digital Leadership Skills” ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ซึ่งคุณจะได้เรียนรู้ Mindset และ Skillset ที่สำคัญของผู้นำยุคใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ความทรหดเพียงอย่างเดียว ดูรายละเอียด คลิกที่นี่ครับ
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน