บริหารเวลาให้ดีขึ้นด้วยการจัดการเรื่องสำคัญที่ไม่เร่งด่วน
คุณคงจะเคยเห็นบรรดาคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่สามารถทำงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
พวกเขาทำธุรกิจหลัก ธุรกิจรอง ธุรกิจเสริม จนมีรายได้เข้ามาหลายช่องทาง คนเหล่านี้ยังมีเวลาไปออกกำลังกาย ดูแลครอบครัว อ่านหนังสือ และทำงานช่วยเหลือสังคมอีกด้วย
ดู ๆ ไปแล้วเหมือนคนเหล่านี้จะมีเวลาในหนึ่งวันที่มากกว่าเรา ก็ขนาดเราทำอะไรน้อยกว่าพวกเขาหลายเท่า แต่ทำไมยังทำไม่ทันเลย พวกเขามีเคล็ดลับอะไรที่เราไม่เคยรู้เช่นนั้นหรือ
====
ทบทวนกิจกรรมในชีวิตทั้ง 4 ประเภท
คุณน่าจะรู้จัก Eisenhower matrix หรือ ตารางสำคัญ – เร่งด่วน ที่ใช้ในการบริหารเวลากันมาบ้างแล้ว เพราะทุกโรงเรียนที่สอนการบริหารจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมเองก็ใช้ตารางนี้ในการบริหารเวลามานานหลายปีเพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือบริหารเวลาที่ทรงพลังที่สุด
ขอทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตารางนี้เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันก่อน ตารางนี้เกิดจากแกนหลักสองแกนคือ แกนตั้งซึ่งเป็นแกนของกิจกรรมที่สำคัญ – ไม่สำคัญ และแกนนอนซึ่งเป็นแกนของกิจกรรมที่เร่งด่วน – ไม่เร่งด่วน
เมื่อนำแกนทั้งสองมาตั้งฉากแล้วลากเส้นแบ่งให้เป็นสี่ช่อง ก็จะได้ช่องในการนำกิจกรรมทั้งหมดในชีวิตมาจัดกลุ่มทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
- กิจกรรมสำคัญและเร่งด่วน คือ งานที่ต้องส่งภายในวันนี้ ชั่วโมงนี้ ตอนนี้ งานแทรก หรือ งานดับไฟทั้งหลาย
- กิจกรรมสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน คือ งานที่มีความสำคัญในชีวิตแต่ไม่มีกำหนดการส่งมอบที่แน่นอน เช่น การวางแผน การพัฒนาทักษะในการทำงาน การออกกำลังกาย การพัฒนาความสัมพันธ์ การบริหารเงิน เป็นต้น
- กิจกรรมไม่สำคัญแต่เร่งด่วน คือ งานที่ไม่ใช่สิ่งที่เป็นคุณค่าหลักของเรา (คนอื่นทำแทนได้) และ งานที่แทรกเข้ามาแต่ไม่ได้สำคัญอะไร เช่น การตอบแชทคนที่ทักพูดคุยเรื่องทั่วไป เป็นต้น
- กิจกรรมไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน คือ สิ่งที่ไร้สาระสำหรับชีวิตของเรา ไม่ทำก็ไม่ตาย เช่น เล่นมือถือนานๆ เป็นต้น
====
แล้วเราควรทำอย่างไรกับงานหรือกิจกรรมในแต่ละช่อง
ความเข้าใจต่องานหรือกิจกรรมในแต่ละช่องว่าสำคัญแล้ว แต่การจัดการกับกิจกรรมแต่ละช่องก็สำคัญไม่แพ้กัน เมื่อคุณสามารถวิเคราะห์และนำกิจกรรมต่าง ๆ จัดลงช่องใดช่องหนึ่งใน 4 ช่องด้านบนได้แล้ว คุณก็ต้องเรียนรู้วิธีในการจัดการกับกิจกรรมทั้ง 4 ด้วย
- เรื่องสำคัญและเร่งด่วน เราต้องลงมือทำทันที ต้องสะสางให้จบทุกวัน และอย่าปล่อยให้มันเพิ่มขึ้นมา
- เรื่องสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เราต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตกับกิจกรรมในกลุ่มนี้ โดยการวางแผน ลงตารางว่าจะทำสิ่งนั้นเมื่อใด เวลาไหน
- เรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน เราต้องจ่ายงานให้คนอื่นทำแทน หรือ สร้างระบบให้ทำโดยอัตโนมัติ และ / หรือ ย้ายไปไว้ในช่อง 2 โดยการกำหนดช่วงเวลาในการลงมือทำ
- ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เราต้องลดปริมาณลงและ / หรือกำจัดทิ้งโดยการกำหนดช่วงเวลาในการทำ (ย้ายไปไว้ในช่อง 2 )
====
เทคนิคบริหารเวลาขั้นสุดยอด
ถ้าถามว่าในบรรดากิจกรรมทั้ง 4 ช่อง กิจกรรมช่องไหนที่มีคุณค่า มีความสำคัญมากที่สุด ตอบได้ทันทีเลยว่า กิจกรรมในช่องที่ 2 เพราะถ้าเราไม่ลงมือทำ มันจะเคลื่อนย้ายมาเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเร่งด่วน(ช่อง 1) ในอนาคตอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ (ช่อง 2) คุณก็อาจเจ็บป่วยจนทำงานไม่ไหว (ช่อง 1)
ถ้าคุณไม่เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่สำคัญ (ช่อง 2) คุณก็อาจจะไม่มีทักษะในการทำงานจนต้องถูกสั่งให้ไปเรียนเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด (ช่อง 1) หรือ อาจต้องหางานใหม่ (ช่อง 1 )
ถ้าคุณไม่ให้เวลาคุณภาพกับครอบครัว (ช่อง 2) คุณก็อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ลูกไม่เชื่อฟัง ไปคบเพื่อนไม่ดีจนทำผิดกฏหมายทำให้คุณต้องไปประกันตัวเขาที่สถานีตำรวจ(ช่อง 1)
====
แล้วกิจกรรมในช่องไหนที่อันตรายที่สุด
ตอบจากประสบการณ์ในการนำมาใช้จริงมากกว่าสิบปี และทำงานเป็นโค้ชด้าน Productivity มายาวนาน ก็ต้องบอกว่า….กิจกรรมที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (ช่อง 3)
เรียนรู้วิธีจัดการเรื่องไม่สำคัญแต่เร่งด่วน
คงไม่ใช่เรื่องยากที่จะมองเห็นกิจกรรมที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน(ช่อง 4) เพราะมันคือเรื่อง ‘ไร้สาระ’ ในชีวิตของคุณ(แต่คุณอาจจะใช้เวลาอยู่กับมันทั้งวันเลยก็ได้) นั่นเอง
สิ่งที่ยากกว่าคือการรู้ว่ากิจกรรมไหนคือเรื่องที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน
ในที่นี้ผมจะแบ่งกิจกรรมในช่องนี้ออกเป็น 2 ประเภท คือ
- กิจกรรมที่ไม่ใช่คุณค่าหลักของคุณ หมายความว่ามีคนที่ทำได้ดีกว่าคุณอยู่
- กิจกรรมที่ดูเหมือนด่วนและแทรกเข้ามาทันที แต่จริง ๆ มันเป็นเรื่องที่รอได้ เช่น มีข้อความแชทเด้งขึ้นมา
====
เมื่อคุณเข้าใจและเริ่มมองเห็นกิจกรรมช่อง 3 นี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณจะต้องใช้กลวิธีในการจัดการมันให้หมดไปเสียที ซึ่งวิธีจัดการมีดังนี้
- Delegate คือ การจ่ายงานนั้นให้คนอื่นทำแทน เช่น ลูกน้อง หรือ การจ้าง Outsource เช่น การทำบัญชี การทำความสะอาดห้อง การล้างรถ การทำอาหาร เป็นต้น
- Swap คือ การแลกงานกันทำ วิธีนี้อยู่ในสมมติฐานที่ว่าแต่ละคนมีความถนัดชำนาญที่แตกต่างกัน และเราจะทำสิ่งที่เราถนัดได้ดีโดยใช้เวลาที่น้อยกว่าคนที่ไม่ถนัดเสมอ ถ้าคุณมีงานที่ถนัดและเชี่ยวชาญ ลองเสนอที่จะแลกกันทำกับคนในทีมดู
- Re – Process คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน จากเดิมที่ต้องมีขั้นตอน 1-2-3-4 เราอาจจะลดบางขั้นตอนให้เหลือ 1-3-4 หรือ 1-2—4 เพื่อลดการใช้เวลากับกิจกรรมนั้นลง
ทั้งหมดนี้คือวิธีการสำคัญในการทวงคืนเวลาที่มีคุณค่าของคุณกลับคืนมา
====
คำถามสุดท้ายก็คือ…แล้วเราจะเอาเวลาที่ได้คืนมาจากการลดกิจกรรมในช่องที่ 3 ไปทำอะไรล่ะ
ถ้าคุณเอาไปใช้ในการทำกิจกรรมในช่องที่ 4 เช่น นั่ง ๆ นอน ๆ เล่นมือถือไปเรื่อยเปื่อย หรือ นอนดูซีรี่ย์แบบมาราธอน ก็ถือว่าคุณได้ทำลายเวลาที่เพิ่งได้คืนมาไปอย่างป่นปี้
วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับเวลาที่ได้คืนมาก็คือ นำมันไปลงทุนกับการทำกิจกรรมในช่องที่ 2 ไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ รับฟังคนในครอบครัว ใช้เวลาคุณภาพกับคนที่รัก อ่านหนังสือ เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ฯลฯ
อีกหนึ่งเทคนิคในการบริหารเวลาที่ดีมากๆ คือ เทคนิค Time Boxing เพื่อทำให้งานเสร็จอย่างยอดเยี่ยม คลิก ที่นี่
และทั้งหมดนี้คือ แก่นแท้ของการบริหารเวลาอย่างแท้จริงครับ
====
สนใจเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการบริหารเวลาอย่างเป็นรูปธรรมและนำไปใช้ได้ทันทีที่เรียนจบ แนะนำหลักสูตร Effective Time Management คลิกดูรายละเอียดที่นี่
บทความโดย
อ.เวย์ เวสารัช โทณผลิน
Productivity Coach and Team Collaboration Facilitator
วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างประสิทธิผลและการบริหารทีมของผู้นำ
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน