ผู้นำจะปรับตัวและบริหารองค์กรให้เติบโตได้อย่างไร ในโลกยุค Next Normal
เพียงแค่เริ่มปี 2021 สังคมโลกก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ยากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่จนตามแทบไม่ทัน ความไม่แน่นอนที่เกิดจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิกฤตไวรัสโควิด หรือมลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่
ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และวิถีชีวิตของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรียกว่านี่คือยุค ‘Next Normal’ ซึ่งความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว
=====
ในฐานะผู้นำหรือผู้บริหารในองค์กร การบริหารธุรกิจให้ไปต่อและเติบโตท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะเมื่อหลายปัญหาถาโถมรวมกันก็อาจทำให้เราจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างไร แม้แต่วิธีที่เคยได้ผลดีในอดีตก็ไม่อาจการันตีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป
ผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรในยุคนี้จึงต้องมองให้ไกลกว่าภาพในปัจจุบันเท่านั้นไม่ใช่แค่สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ แต่ควรมีหลักคิดและแนวทางในการเตรียมองค์กรเพื่อที่จะปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำควรที่จะมีความสามารถในการออกแบบอนาคตขององค์กรให้เป็นตามที่ต้องการ ไม่ใช่ทำงานแค่พออยู่รอดไปแต่ละวัน หรือนั่งรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
เพราะเมื่อบางสิ่งได้เกิดขึ้นไปแล้ว มันอาจสายเกินไปที่จะแก้ไข คุณคงได้เห็นข่าวการปิดตัวของธุรกิจใหญ่ๆในช่วงนี้แทบจะทุกวัน ไม่นับธุรกิจเล็กๆที่ไม่เป็นข่าว ซึ่งคงเยอะกว่าเป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว
=====
เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้นำ ผู้บริหารองค์กร และผู้ประกอบการในประเทศไทยให้อยู่รอดและเติบโต ผมจึงศึกษางานวิจัยหลายชิ้นในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะจากองค์กรที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เช่น Mckinsey & Company , PwC, Freeman ซึ่งผมได้นำมาเรียบเรียงและตกผลึกอยู่ในบทความนี้ เพื่อตอบคำถามสำคัญ ที่ได้จั่วหัวไว้ในบรรทัดแรกนั่นเอง
ผมขอเสนอหลักการ “4Ps of the future” ซึ่งคุณสามารถใช้เป็นหลักคิดในการพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต หลักการนี้ประกอบไปด้วย 4P ได้แก่ Purpose, People, Planet และ Profit
=====
1.Purpose
“จุดมุ่งหมายของธุรกิจ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่เป็นหัวใจของวิธีคิดและการตัดสินใจขององค์กร”
Purpose นั้นอธิบายว่า เราเป็นใคร ทำไมเราถึงทำสิ่งที่ทำอยู่นี้ ธุรกิจของเรามีเป้าหมายอย่างไร การที่ผมยก Purpose ขึ้นมาเป็นข้อแรก เพราะมีประเด็นสำคัญอยู่ 2 ประการ ยิ่งองค์กรมี Purpose ชัดเท่าไหร่ก็จะได้รับความร่วมมือจากพนักงานในองค์กร และได้รับการสนับสนุนจากลูกค้ามากเท่านั้น
ประการแรก Purpose กำหนดแก่นแท้ของคนในองค์กร
เมื่อองค์กรมี Purpose ชัดก็จะดึงดูด Talent และคนเก่งๆที่มีเป้าหมายเดียวกันกับองค์กรเข้ามาเพื่อร่วมกันทำให้ภารกิจนั้นกลายเป็นจริง คนที่มีความสามารถสูงไม่ได้เลือกงานที่ได้เงินดีอย่างเดียว เขาอยากทำงานที่มีความหมายและได้เรียนรู้พัฒนาตนเองไปด้วย
เมื่อเกิดปัญหาในการทำงานไม่ว่าจะเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก พนักงานจะมั่นใจที่จะตัดสินใจได้โดยไม่รีรอ หากพวกเขาเข้าใจว่า Purpose ขององค์กรคืออะไร โดยพวกเขาจะตัดสินใจเพื่อตอบเป้าหมายเดียวกันนั่นเอง
เมื่อต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หรือทำสิ่งใหม่ๆ ผู้คนในองค์กรจะไม่หลงทางหรือเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่ เพราะเขารู้ว่า Purpose ขององค์กรคืออะไร เขาจะมุ่งตรงไปยังทิศทางเดียวกัน
=====
ประการที่สอง Purpose ช่วยสร้างการสนับสนุนจากลูกค้า
ในอนาคตอันใกล้ องค์กรที่จะเติบโตและได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าเป็นอย่างดีจะไม่ใช่องค์กรที่เน้นเป้าหมายในการทำกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่เป็นองค์กรที่ทำ ‘ประโยชน์สูงสุด’ ให้กับโลกและสังคมในวงกว้าง
แบรนด์ที่จะอยู่ในใจของผู้บริโภคได้ ท่ามกลางแบรนด์คู่แข่งนับร้อยย่อมจะต้องแตกต่าง จดจำง่าย เข้าถึงได้ และแสดงความเป็นตัวตนที่ชัดเจน
เมื่อมี Purpose ที่ชัดเจนแล้วต้องประกาศอย่างชัดเจนให้ลูกค้ารู้ถึงเหตุผลของการมีอยู่ขององค์กรผ่านการสื่อสารและการเล่าเรื่องในทุกช่องทาง รวมถึงการดำเนินกิจการที่สอดคล้องกับ Purpose นั้น
เพียงไม่นาน ผู้บริโภคหรือลูกค้าจะรับรู้ได้ว่าเหตุใดเขาถึงควรจะสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์องค์กรนี้ไม่ใช่องค์กรคู่แข่งที่พยายาม ลด แลก แจก แถม เพียงเพราะอยากได้ยอดขายมากขึ้น
=====
กรณีศึกษาของบริษัท Learning Hub Thailand
บริษัทของผม เริ่มก่อตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ด้วยเป้าประสงค์ (Purpose) ในการพัฒนาคนด้าน Soft Skills เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้คนทำงานอย่างมีความสุข
ด้วยเป้าประสงค์นี้ นับตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มธุรกิจ นอกจากการจัดอบรมพัฒนาคนในองค์กรเอกชนและมหาชนแล้ว ในวันหยุดเรายังจัดคอร์ส Soft Skills ให้กับคนทั่วไปเป็นประจำทุกเดือน ในราคาเพียง 500 บาท แล้วนำเงินที่ได้ไปบริจาคตามองค์กรการกุศลต่างๆ
เมื่อปีที่แล้วในช่วงโควิด รัฐบาลมีมาตรการให้ Lockdown เราจึงจัดอบรมแบบปกติไม่ได้ รายได้เริ่มหดหาย ผมจึงริเริ่มจัดอบรมผ่าน Zoom โดยตั้งชื่อว่า ‘Live Training’ โดยเชิญวิทยาการหลายท่านมาสอนฟรี เพียงเวลาไม่นาน ลูกค้าก็ติดต่อมาให้จัดอบรมออนไลน์ ทำให้เรามีรายได้แทบไม่ต่างจากปีก่อนหน้าที่ไม่ได้เกิดโควิดเลย
(ปัจจุบัน Live Training จัดมา 42 ครั้งแล้ว ในปีนี้เราก็ยังจัดอบรมคอร์สใหม่ๆ ทุกเดือน มีสมาชิกอยู่ในกลุ่มไลน์กว่า 1,200 คน ซึ่งคุณสามารถเข้าร่วมเรียนได้ฟรี โดยคลิกสมัครที่นี่ https://bit.ly/Livetraining-Free)
=====
ส่วนปีนี้เราก็ริเริ่มโครงการใหม่โดยตั้งใจจะนำกำไร 10% ที่ได้ไปจัดกิจกรรมพัฒนา Mindset ให้แก่น้องๆ นักเรียนในชนบทห่างไกลเป็นประจำทุกเดือนด้วย
ยิ่งธุรกิจของเราเติบโตในแต่ละปี เราก็ยิ่งสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมได้มากขึ้น และเมื่อลูกค้ารับรู้เช่นนั้นเขาก็ยิ่งยินดีที่จะสนับสนุนธุรกิจของเรา เพราะรู้ว่าการจ่ายเงินของเขามีส่วนช่วยสังคมไปพร้อมกัน
ไม่ต้องเล่าต่อคุณก็คงเดาได้ว่า เราได้รับการสนับสนุนจากคนที่มี Purpose เดียวกันเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมทีม วิทยากรเก่งๆ ที่มีจิตใจแห่งการให้ และลูกค้าน่ารักๆ ที่สนับสนุนเราอย่างต่อเนื่องมายาวนาน
เมื่อมีสถานการณ์วิกฤตหรือไม่ปกติ ผมจะไม่ลดราคาเพื่อความอยู่รอด แต่จะสร้างคุณค่าให้ลูกค้าเห็นมากขึ้น ปรับ Business Model ให้ตอบโจทย์ Purpose อย่างชัดเจนขึ้น และนั่นก็ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตรวดเร็วกว่าเดิมเมื่อวิกฤตผ่านไป
=====
2.People
“คน ไม่ใช่ฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร แต่เป็นหัวใจของการเติบโตที่ยั่งยืน”
องค์กรจะเติบโตได้นั้นสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสก็คือ ‘คน’ เพราะไม่ว่ากระบวนการทำงานจะเป็นระบบ มีมาตรฐาน มีเทคโนโลยีหรือโปรแกรมที่ล้ำสมัยเพียงใด หากคนไม่มีคุณภาพ คนไม่เรียนรู้ คนไม่ร่วมมือ การลงทุนด้านระบบและโครงสร้างทั้งหมดก็สูญเปล่า
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ผู้นำที่อยากให้องค์กรเติบโตอาจจะพยายามลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ อยากทำ Digital Transformation พยายามผลักดันให้คนปรับตัวเป็นการทำงานแบบ Agile และต้องสามารถ Remote Working ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่คนไม่ใช่เครื่องจักรที่สั่งงานได้ทันที เราอาจต้องใช้เวลา และใช้ทักษะหลายอย่างในการผลักดันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง คำถามคือเราจะพัฒนาเรื่องคนอย่างไร
=====
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ทำงานเรื่องการพัฒนาคนให้กับองค์กรมหาชนมากว่า 7 ปี คือหลักการสำคัญทั้งหมด 3 ข้อ
- รู้ว่าใคร คือคนที่ใช่
- รู้ว่าจะช่วยให้คนที่ใช่ ทำงานได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้อย่างไร
- รู้ว่าจะพัฒนาคนที่ใช่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร
คนที่ใช่ 1 คน สามารถทำงานได้มากกว่าคนทั่วไป 3 คน ฉะนั้นการเลือกคนที่ใช่ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุด หากพยายามเคี่ยวเข็ญคนที่ไม่ใช่ คนที่ไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้น นอกจากจะเป็นภาระและสร้างปัญหาให้กับองค์กรแล้ว เรายังเสียโอกาสในการที่จะได้คนที่ใช่มาทำงานด้วย เท่ากับเสียหาย 2 ต่อเลยทีเดียว
กระบวนการคัดเลือกคน บางครั้งเราก็ทำอย่างเร่งรีบจนเกินไป สัมภาษณ์เพียงผิวเผินเกินไป หากคุณสามารถวัด Level of Mindset ของคนทำงานได้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาได้มากมาย
ระดับของ Mindset จะบ่งบอกว่าคนๆ นี้ควรจะทำงานในตำแหน่งไหน ระดับใด หากคุณให้คนที่มี Mindset มองแค่ตัวเองแบบวันต่อวันไปคุมทีม ทีมย่อมพังอย่างแน่นอน
=====
หากเป็นคนที่มี Mindset ระดับทีมก็จะมองสิ่งต่าง ๆ ระดับเดือนต่อเดือน การจะให้เขาไปทำงานบริหารขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคตด้วยการทำงานเชิงกลยุทธ์นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้
ทักษะเรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่ผู้นำต้องเรียนรู้และสะสมให้มากพอ ถ้าคุณอยากให้องค์กรเติบโต ก็บอกได้เลยว่า Soft Skills สำคัญกว่า Hard Skills อย่างแน่นอน
(ผมได้รวบรวม 24 ทักษะ Soft Skills ที่สำคัญสำหรับคนทำงาน ไว้ใน eBook เล่มใหม่ “24 Future Soft Skills” คุณสามารถดาวน์โหลดอ่านได้ฟรี คลิกที่นี่ https://bit.ly/24SoftSkills)
หากต้องการปรึกษาเรื่องการวางระบบในการคัดสรร ประเมินผล และพัฒนาคนในองค์กร โดยใช้หลัก Level of Mindset สามารถส่งอีเมลมาหาผู้ช่วยผมได้ที่ assist@learninghub.1stcraft.com
=====
3.Planet
“ธุรกิจที่จะเติบโตได้ในวันนี้และอนาคต คือธุรกิจที่ทำเพื่อโลก”
กระแสรักษ์โลก อาจเป็นแคมเปญทางการตลาดเมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค เมื่อลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและโลกอย่างจริงจัง พวกเขาย่อมคิดมากขึ้นว่าตัวเองกำลังสนับสนุนบริษัทแบบไหนอยู่
ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิคกำลังเป็นเทรนด์ คนมีรายได้สูงหันมาบริโภคสินค้าออร์แกนิคมากขึ้นเพราะปลอดภัยจากสารพิษและช่วยโลกให้ดีขึ้น ในต่างประเทศกระแสการกินแบบ Vegan เติบโตอย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่ต่างเลิกบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทำให้ Plant Based Food เป็นธุรกิจที่มาแรงในหลายประเทศ
=====
การที่สินค้ามีราคาสูงไม่ใช่ปัญหาของคนที่รักและห่วงใยโลก เพราะเขารู้ว่าหากโลกอยู่ไม่ได้ เราทุกคนก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน แบรนด์ที่ใส่ใจโลกสามารถขายสินค้าราคาแพงกว่าแบรนด์คู่แข่งแถมยังเติบโตได้ดีกว่าอีกด้วย
ในขณะที่ธุรกิจยุคเก่า ยิ่งเติบโตก็ยิ่งเผาผลาญทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษสู่อากาศและทะเลมากขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างหันมาเริ่มธุรกิจและสร้างอุตสาหกรรมจากพลังงานสะอาดที่ช่วยฟื้นฟูโลกในทุกแง่มุม เพราะพวกเขาเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนรุ่นเก่าทิ้งไว้ให้มากมาย
ลองดูกรณีของ Tesla ที่มียอดจองรถยนต์ทะลุเป้า จนมีมูลค่าบริษัทเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ ทั้งๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาไม่นาน
อย่าเข้าใจผิดว่า การ Disruption ที่ทำให้ธุรกิจเก่าๆล้มหายตายไป เกิดจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว อันที่จริงแล้วมันเกิดจากการมองเห็นปัญหาหรือ Pain Point ที่ธุรกิจเก่าๆตอบโจทย์ผู้บริโภคไม่ได้ต่างหาก (เช่น น้ำมันราคาสูง และทำลายสิ่งแวดล้อม)
=====
ผู้นำจึงต้องคิดค้น Business Model และเฟ้นหากลยุทธ์ในการนำพาธุรกิจของตนเองให้เติบโตได้ในระยะยาว บางครั้งต้องมองไกลไปกว่าชั่วอายุของตัวเองด้วยซ้ำ มิใช่คิดแต่จะหาเงินในระยะสั้น เพราะนั่นเท่ากับว่า เราเริ่มธุรกิจที่มีวันหมดอายุระบุตั้งแต่เริ่มแล้ว
หากธุรกิจของคุณมีส่วนช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด รับรองได้ว่าคุณจะมีความสุขในทุกๆวันที่ทำงาน และความเจริญรุ่งเรืองจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติ คุณสามารถพิสูจน์แนวคิดนี้โดยการไปดูองค์กรที่อยู่ยั่งยืนมากกว่า 100 ปีเพราะพวกเขาล้วนใช้หลักการนี้ทั้งนั้น
=====
4.Profit
“ผลกำไร ไม่ใช่เพียงตัวเลขทางการเงิน แต่เป็นผลกระทบทางบวกที่ธุรกิจได้สร้างไว้ด้วย”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจคือผลกำไร แต่คงจะเป็นการมองที่แคบไปหากวัดกันที่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว เราสามารถวัดผลกำไรของธุรกิจได้ในหลายมิติ โดยวัดจากผลกระทบทางบวกที่ธุรกิจนั้น ๆ ได้สร้างไว้ เช่น
- มิติทางเศรษฐกิจ ธุรกิจได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้นมากเพียงใด ธุรกิจของเรามีส่วนช่วยให้ลูกค้ามีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร
- มิติทางสังคม ธุรกิจได้ช่วยพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้นในรูปแบบไหนบ้าง เช่น สินค้าของเราลดปัญหาทางสังคมได้หรือไม่ บริการของเราช่วยให้คนบางกลุ่มมีชีวิตที่ดีขึ้นมากเพียงใด
- มิติทางการพัฒนา ธุรกิจได้สร้างแนวคิด หรือสร้างอิทธิพลให้ผู้คนหันมาปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้นมากแค่ไหน มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ มีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วส่งเสียงสะท้อนกลับมาบอกเรามากเพียงใด
=====
คุณสามารถสร้างตัวชี้วัดเหล่านี้ได้อีกมากมายหลายรูปแบบ ทั้งมิติที่วัดจากภายนอกและมิติที่วัดจากภายในองค์กรเอง
ผลกำไรที่วัดจากภายใน เช่น ความสุข คุณภาพชีวิตของพนักงาน การเรียนรู้พัฒนาตัวเองของพนักงาน
การที่คุณสามารถวัดผลกระทบทางบวกในการดำเนินธุรกิจของคุณได้ ผมมั่นใจว่าจะสร้างความสุขและกำลังใจให้กับทีมงานทั่วทั้งองค์กร มากกว่าตัวเลขผลกำไรอย่างแน่นอน
เพราะตัวเลขผลกำไรจะรับรู้ได้ปีละครั้ง แต่ผลกระทบทางบวกสามารถรับรู้ได้ทุกๆวันที่ทำงาน และเรื่องราวทางบวกนั้นจับต้องได้มากกว่าตัวเลขในบัญชีเสียอีก
ยังไม่นับเรื่องเล่าดีๆ ที่จะกระจายออกไปสู่สังคม โดยพนักงานของพวกเราเองหรือครอบครัวของพวกเขา ไม่ต้องเสียเงินจ้าง Youtuber หรือ Influencer มาโปรโมทองค์กรของคุณเลย
=====
บทสรุป
บทความนี้นำเสนอหลักการ 4Ps of Future: Purpose, People, Planet และ Profit เพื่อช่วยให้คุณในฐานะผู้นำและผู้บริหารองค์กร นำไปใช้ออกแบบอนาคตของธุรกิจในยุคหลังโควิด หรือยุค Next Normal ให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน
ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้คุยกับนักธุรกิจท่านหนึ่งที่ทำงานด้านสื่อ เขาถามว่า ผมมีหลักช่วยเหลือ SME ในยุคโควิดอย่างไร ผมก็ได้แนะนำหลักการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจไป
เขาตอบกลับมาว่า “เรื่องความยั่งยืนไม่สนใจหรอก เอาหลักการที่ว่า ทำยังไงให้พรุ่งนี้รอดก็พอแล้ว ทำยังไงให้พนักงานทำงานมากขึ้น ขยันขึ้น เก่งขึ้น รวดเร็วขึ้น ทั้งที่่มีรายได้น้อยลง มีมั้ย”
เมื่อจากมา ผมก็ได้แต่คิดในใจว่า คนที่คิดเอาตัวรอดแค่วันต่อวัน มองแต่ตัวเลขอย่างเดียว จะสร้างอนาคตระยะยาวให้ธุรกิจได้อย่างไร และเมื่อผู้นำมองสั้น ก็ทำให้ธุรกิจของเขาอายุสั้นไปด้วย…
ผู้นำหลายคนโฟกัสที่ Profit หรือผลกำไรทางการเงิน โดยไม่ได้สร้าง P อีก 3 ตัวที่สำคัญก่อนหน้าเลย แล้วจะหวังผลให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไร เหมือนเราติดกระดุมผิดเม็ดแต่แรก ไม่มีทางที่จะสำเร็จเลย
=====
หากคุณอ่านบทความนี้จบแล้วก็ผ่านเลยไปโดยไม่นำไปคิดปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไร ในที่สุดธุรกิจของคุณก็จะถูกเปลี่ยนอยู่ดี
แทนที่จะเจอการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องการ ไม่ตั้งใจ และไม่ได้ตั้งตัว จะดีกว่าไหมถ้าเรามาออกแบบอนาคตเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการ
สุดท้าย ผมขอยืนยันอีกหนึ่งเสียงว่าหลักการ 4Ps นี้ ‘ทำได้จริง’ ไม่ใช่แค่แนวคิดสวยหรู เพราะได้ใช้มาตั้งแต่เริ่มโดยไม่ตั้งใจ และไม่ว่าจะเป็น SME หรือ บริษัทมหาชนก็ใช้หลักการนี้ได้ ลองนำไปปรึกษากันในทีมผู้บริหาร และเริ่มออกแบบอนาคตของธุรกิจกันดูนะครับ
=====
ถ้าคุณต้องการฝึก Mindset และ Skill ในการเป็นผู้นำในโลกยุคใหม่ เราขอแนะนำหลักสูตร The New Leadership Skill คลิกดูรายละเอียดที่นี่
เขียนโดย CEO เรือรบ ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand
Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน