ทำยังไงดี.. เมื่อต้องรับมือกับงานหลายอย่าง พร้อมกัน..

18 04 2017

หลังวันหยุดยาว หลายคนกลับมาใช้ชีวิตทำงานปกติ… แล้วต้องพบว่า “มีงานหลายอย่างที่ต้องทำพร้อมกัน” ซึ่งการทำงานได้หลายอย่างพร้อมกันเป็นทักษะส่วนตัวที่มีประโยชน์ แต่เราก็จำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่า เมื่อใดที่เราพยายามทำงานหลายๆ อย่างมากเกินไป ย่อมส่งผลให้เรา… ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

 

ปัญหาเกิด เมื่อต้องใช้พื้นที่สมองพร้อมกัน

 

การต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน นอกจากจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต้องอาศัยความเอาใจใส่มากกว่าปกติ ยังอาจส่งผลด้านลบต่อผลงาน… และความพยายามจะทำงานหลายอย่างพร้อมกัน หรือทำให้เกิดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จะทำให้ความตั้งใจน้อยลง ขาดสมาธิ มีแนวโน้มที่จะผิดพลาดได้

เหตุผลสำคัญของความล้มเหลวเหล่านี้ มีสาเหตุมาจาก.. การทำงานหลากหลาย จะแบ่งพลังประมวลผลของสมอง และยังลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่องานมากมายเหล่านี้ต้องทุ่มเทมากพอๆ กัน

สมองส่วนต่างๆ มีความชำนาญในกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น การฟัง การดู การเคลื่อนไหว รวมถึงเรื่องการใช้ภาษา ดังนั้น การทำงานหลายอย่างพร้อมกันจึงเป็นเรื่องยากลำบาก และเป็นสาเหตุของปัญหามากมายตามมา

โดยเฉพาะเมื่องานสองอย่าง (หรือมากกว่านั้น) ต้องใช้รูปแบบการคิดที่เหมือนกันและอยู่ในพื้นที่เดียวกันของสมอง ตัวอย่างเช่น คุณพยายามฟังการสนทนาที่ต่างกันสองเรื่องในเวลาเดียวกัน (งานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน), พูดคุยโทรศัพท์ขณะอ่านหนังสือ (งานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน) หรือกระทั่ง คุณลองลูบท้องพร้อมกับตบหัวตัวเองไปด้วยสิ! (งานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกัน) ดูฝืนๆ ไปหมดเลยเนอะ…

 

การทำงานหลายอย่างให้มีประสิทธิภาพ

 

ข้อแนะนำต่อไปนี้ หากนำไปปฏิบัติจะช่วยให้ทำกิจกรรมสองอย่าง (หรือมากกว่า) ได้พร้อมกัน และยังคงรักษาคุณภาพการคิดของคุณในการทำงานแต่ละอย่างได้…

1) อย่าปะปนงานที่ต้องใช้ทักษะเหมือนๆ กัน (เช่น การกดเบอร์โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ทั้งสองอย่างเป็นงานด้าน “การเคลื่อนไหว”) คุณควรนำงานที่ใช้ทักษะต่างกันมาทำพร้อมกัน จะทำให้เกิดปัญหาน้อยกว่า (เช่น การฟังดนตรีขณะขับรถ ซึ่งเป็นงานด้าน “การฟัง” บวกกับงานด้าน “การเคลื่อนไหว”)

2) หากคุณอยากฟังดนตรี ขณะอ่านหรือเขียนหนังสือ ลองฟังเพลงที่มีแต่ทำนองดนตรี โดยไม่มีเนื้อร้อง (ซึ่งคุณต้องใช้การประมวลทางภาษาในสมอง) หรือลองฟังเพลงต่างภาษา ซึ่งเนื้อเพลงและการพูดต่างภาษาจะเบนความสนใจได้น้อยกว่า

3) เมื่อคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้มี “เวลาพัก” ระหว่างงานสองงานนั้น เพื่อทำให้ความคิดคุณปลอดโปร่งเสียก่อน หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ลองหากิจกรรมประจำวันที่ไม่ต้องการความเอาใจใส่มากนัก-เพื่อมาทำ หลังจากทำงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ

 

บ่อยครั้ง ก็ควรจัดลำดับความสำคัญ

 

การจะทำงานให้สำเร็จ เราจำเป็นต้องกำหนดพลังใจและพลังงาน เพื่อจดจ่อกับเรื่องต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ… วิธีที่ดีที่สุดในการจดจ่อกับงานที่สำคัญมากๆ และหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนเบนความสนใจ คือ… “ให้จัดลำดับความสำคัญ” ไม่ใช่ตอบสนองกับทุกเรื่องที่เข้ามาโดยทันที

 

เรื่องงาน ครอบครัว การพักผ่อน และการเล่นสนุกสนาน

 

ก่อนเริ่มทำกิจกรรมใด ลองเริ่มจากการเตือนตัวเอง ว่าเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตมีอะไรบ้าง… การค้นพบวิธีแก้ปัญหาที่นำไปปฏิบัติได้จริงๆ หรือเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ จะมีประโยชน์อะไร หากทางแก้เหล่านั้นไปคนละทางกับความคิด-ความเชื่อของคุณ

เพราะเรื่องทุกอย่างที่เราทำหรือพยายามจะทำนั้นล้วนจัดอยู่ในหนึ่งในสี่ประเภทต่อไปนี้ 1. เรื่องงาน (รวมถึงงานการกุศล และงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน) 2. เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่น และเรื่องครอบครัว 3. งานอดิเรก และเวลาพักผ่อนจากงาน (รวมถึงการศึกษาหาความรู้เพื่อความเพลิดเพลิน) 4. เรื่องสุขภาพ (รวมถึงการฝึกฝนจิตใจ เช่น การฝึกสมาธิหรือโยคะ)

คุณควรพิจารณาว่า เรื่องเหล่านี้มีเรื่องไหน “สำคัญที่สุดสำหรับคุณตอนนี้” อะไรคือความสำคัญอันดับต้นๆ โดยรวมในชีวิตคุณ? คุณทุ่มเทเวลาให้แต่ละเรื่องนานกี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์? แล้วคุณอาจประหลาดใจที่พบว่า ตัวเองกำลังใช้เวลามากมายกับ “เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเป้าหมายสำคัญๆ ในชีวิตเลย”

 

ค้นหาว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด?

 

หลายต่อหลายครั้ง “การจัดลำดับความสำคัญ” มักถูกกำหนดจากเรื่องไหนต้องให้ความสนใจอย่างรีบด่วนที่สุด อาทิ งานเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำประจำวัน การจ่ายเงินตามบิลเรียกเก็บ รวมทั้งการทำตามที่คนอื่นขอร้อง…

คุณกลายเป็นฝ่ายตั้งรับมากเกินไป เหมือนคนที่ยืนหน้าเครื่องยิงลูกเทนนิส คอยตีลูกบอลที่พุ่งเข้ามาอย่างลนลาน แต่ไม่เคยมีเวลา “หยุดพัก” เพื่อขยับไปทำเรื่องอื่นเลย… ในขณะที่ชีวิตยิงงานที่ “เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ” มาที่คุณ ทว่าระหว่างนั้น กลับมีกิจกรรมที่ “ไม่ด่วน แต่อาจทำให้ชีวิตคุณมีคุณภาพขึ้น” ถูกละเลยไว้เบื้องหลัง หรือไม่ก็ถูกมองข้าม!!!

 

ควรจัดลำดับความสำคัญให้กับ “เรื่องที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น”

 

เราขอแนะนำให้คุณพิจารณากิจกรรมที่คุณทำ ว่าเข้าหมวดใดในรูปแบบงาน 4 ประเภท ต่อไปนี้… 1) งานด่วน และทำให้ชีวิตดีขึ้น 2) งานด่วน แต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น 3) งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่ไม่รีบด่วน 4) งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น

ค่อยๆ เติมงานหรือกิจกรรมของคุณจัดเข้าหมวดหมู่ข้างต้น พยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การทำกิจกรรม-ทำงานนี้ เป็นการทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเราหรือไม่?”

 

ถ้าคุณต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เลือกทำ “งานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เป็นลำดับแรก เมื่อกิจกรรม/งานนั้นลุล่วงลงแล้ว คุณค่อยทำ ข้อ 2) ข้อ 3) ส่วน “งานที่ไม่ด่วน และไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น” เราอยากถามคุณว่า “เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ดีไหม?”

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

8 เรื่องเล็กๆ ที่หัวหน้าไม่ควรมองข้าม

23 03 2017

หลายคนชอบคิดไปว่า “การเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องง่าย แค่ชี้นิ้วสั่งให้ลูกน้องทำงาน ทั้งยังมีอำนาจสามารถทำตามใจต้องการได้ทุกเรื่อง… แต่ความเป็นจริงแล้ว “หัวหน้าคือคนที่ทำงานหนัก แบกความรับผิดชอบไว้มากมาย อีกทั้งยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และครองใจลูกน้องได้ด้วย”

บทความนี้จะนำเสนอ “8 คำแนะนำ” ซึ่งคนเป็นหัวหน้าควรอ่าน เพราะเมื่อคุณอ่านจบและทำตามคำแนะนำ คุณจะพบว่า “ชีวิตการเป็นหัวหน้าของคุณดีขึ้น” คุณสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ลูกน้องก็จะรักคุณมากขึ้นด้วย…

 

1. เอ่ยคำ “ขอบคุณ” อย่างจริงใจ

 

หากคุณเป็นหัวหน้า คุณย่อมรู้ดีว่า ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีภารกิจที่ต้องทำมากมาย ต้องประชุม ทำงานร่วมกับทีม แก้ไขปัญหาต่างๆ แม้กระทั่งการตอบอีเมล์… และต้องไม่ลืมว่า ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องเดินผ่านบันไดไปทีละขั้นๆ และข้างทางยังต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า “การที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คุณไม่สามารถทำงานคนเดียว” แต่ทุกคนที่แวดล้อมคุณมีส่วนผลักดันและคอยสนับสนุนคุณอยู่เสมอ ดังนั้น คุณควรกล่าว “ขอบคุณ” พวกเขาเป็นการตอบแทนบ้าง แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำให้คุณ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

หลายองค์กรคิดว่าการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานในรูปแบบตัวเงิน โบนัส และสวัสดิการ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว… แต่คุณลองคิดดูว่า หากคุณทำสิ่งดีๆ ให้ใครสักคน แล้วเขารู้สึกได้ถึงความตั้งใจดีของคุณ เขาซาบซึ้งใจและกล่าวขอบคุณ สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือรางวัลใดๆ เป็นการตอบแทน… หัวหน้างานก็เช่นกัน หากลูกน้องทำสิ่งต่างๆ ให้ คุณควรกล่าวขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารับรู้ว่า “คุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ” และพวกเขาก็จะประทับใจในตัวคุณ

 

2. ใช้เวลาพูดคุยกับทีมอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

 

ไม่ว่าคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณควรจัดสรรเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ในการพูดคุยเรื่องต่างๆ กับทีมงาน คุณควรสอบถามความก้าวหน้าของงานเป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาประสบปัญหาหรือติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่…

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า “คุณดูแลเอาใจใส่ ไม่ทิ้งให้พวกเขาอยู่ลำพัง” และคุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากคุณมีเวลาว่างมากกว่านั้น คุณอาจถามถึงเรื่องสารทุกข์สุกดิบอื่นๆ เช่น เรื่องท่องเที่ยว, ชีวิตครอบครัว, งานอดิเรก, ข่าวสารบ้านเมือง… หากคุณให้ความเป็นกันเอง พยายามพูดคุยสื่อสาร และเข้าหาพนักงาน จะทำให้ช่องว่างระหว่างคุณกับพนักงานลดลง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาไม่เครียด ไม่อึดอัด และสามารถทำงานกับคุณได้อย่างสบายใจ

 

3. มอบหมายงานให้ลูกน้องอย่างเหมาะสม

 

คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน? ระหว่างหัวหน้าที่ทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด หรือหัวหน้าที่กระจายงานบางส่วนให้กับลูกน้อง…

หากคุณเป็นประเภทแรก คุณจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่น และบางครั้ง คุณอาจส่งงานไม่ทันตามกำหนดเวลา ในทางกลับกัน หากคุณเป็นหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำ โดยคุณจะเป็นผู้ติดตาม ตรวจทาน และเสนอแนะวิธีแก้ไขให้กับลูกน้อง

หัวหน้างานที่ดี คือหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณควรสอนให้พวกเขาทำงานเป็น เพราะหากไม่มีคุณ ลูกน้องก็ยังสามารถสานต่อและรับผิดชอบงานแทนได้… วิธีนี้คล้ายกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าให้ปลาเขา เขาจะมีกินแค่วันนี้ แต่ถ้าคุณสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลากินไปชั่วชีวิต”

นอกจากนี้ การมอบหมายงานยังทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลา และมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว คุณก็ควรเป็นผู้ฝึกสอน คอยให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาพบเจอกับอุปสรรคในการทำงานด้วย

 

4. เลิกงานตรงเวลา

 

Work-Life Balance เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน กล่าวคือ พนักงานจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย ดังนั้น คุณไม่ควรโหมทำงานหนักจนเกินไป คุณควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนหรือดูแลตัวเองบ้าง เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นกับการทำงาน สุขภาพของคุณก็จะแย่ และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา

นอกจากนี้ การที่คุณซึ่งเป็นหัวหน้างาน กลับบ้านดึก เพราะเอาแต่ทำงาน ถือเป็นการกดดันลูกน้องทางอ้อม ให้กลับบ้านดึกเหมือนคุณ เพราะลูกน้องจะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องกลับบ้านก่อนหัวหน้า ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานตึงเครียด อึดอัด ไม่มีชีวิตชีวา… ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเป็น Role Model ให้กับลูกน้อง โดยการเลิกงานให้ตรงเวลา และบริหารจัดการงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ

 

5. ตรวจเช็คอีเมล์ก่อนส่งทุกครั้ง

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณรีบร้อนส่งอีเมล์ออกไปโดยไม่ตรวจทาน แน่นอนว่าคุณต้องพบกับความผิดพลาดด้านเนื้อหา หรือการใช้ภาษาผิด คุณอาจคิดว่าความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ แต่จริงๆ แล้ว มันทำให้ “ภาพลักษณ์ของคุณ” กลายเป็นคนที่ไม่ละเอียดรอบคอบ เลินเล่อ สะเพร่า และไม่มีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งอีเมล์ทุกครั้ง ควรตรวจทานให้ดี

 

6. สื่อสารซึ่งกันและกัน

 

“เป้าหมาย” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานเป็นทีม เพราะหากทุกคนมองไม่เห็นเป้าหมายเดียวกัน ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง หัวหน้ามีเป้าหมายในการทำกำไรให้บริษัท แต่ลูกน้องมีเป้าหมายในการหาเลี้ยงครอบครัว…

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย และสามารถทำตามความต้องการของตน คุณจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้สื่อสารบ้าง กล่าวคือ หัวหน้าที่ดีต้องใช้การสื่อสารแบบ Two-Way Communication ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ไม่ดีจะใช้การสื่อสารแบบ One-Way Communication เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการให้ลูกน้องเข้าใจคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจลูกน้องก่อน และทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

 

7. ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

 

คุณไม่จำเป็นต้องตอบรับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลูกน้อง เพราะหากคุณทำเช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะถาโถมเข้าหาคุณ ดังนั้น หากมีสิ่งที่เกินกำลัง หรือคุณไม่สามารถทำได้ คุณควรปฏิเสธ ดีกว่าจะรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของหัวหน้า ควรเป็นการปฏิเสธที่มีศิลปะ คุณควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และอย่าลืมรักษาน้ำใจคนฟังด้วย

 

8. มีสติ และให้เกียรติลูกน้อง

 

หากคุณเผชิญอุปสรรคในที่ทำงาน ทำให้คุณหัวเสีย โมโห หรือส่งผลให้อารมณ์ไม่ดี จงจำให้ขึ้นใจว่า การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์อันใด และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม วิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจผลงานของลูกน้อง หรือสิ่งต่างๆ คุณต้องตั้งสติ พยายามระงับความเดือดดาลภายในใจ และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างให้เกียรติ… อย่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ตะโกน หรือตะคอกใส่ผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบพฤติกรรมเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

แค่วางแผนชีวิต ก็เป็นการคิดเชิงกลยุทธ์

19 04 2017

เคยรู้สึกไหมว่า… คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยว วางแผนพักร้อน มากกว่า “วางแผนชีวิตของตัวเอง”

แต่ก็มีบางคน มุ่งมั่นตั้งใจวางแผนชีวิตของตัวเอง “วันละครั้ง” พวกเขาก่อนนอนจะทำรายการสิ่งที่ต้องทำ แล้วพอตื่นนอน ก็ลงมือลุยตามนั้น… และก็มีบางคน ที่วางแผนชีวิต “สัปดาห์ละครั้ง” กลุ่มนี้จะทบทวนสิ่งต่างๆ ในสัปดาห์นั้น ตรวจสอบการนัดหมาย พิจารณาเป้าหมาย แล้วลงมือทำ…

คุณรู้ไหม… โดยทั่วไป คนกลุ่มหลังจะทำงานได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงานที่วางแผนวันต่อวัน!

และก็มีบางคน พอเริ่มต้นเดือนใหม่ จะใช้เวลาครึ่งวัน “วางแผนสำหรับ 40 วันข้างหน้า” ที่ต้องเป็น 40 วัน เพราะมันได้ผลดีมากกว่าทำไว้แค่ 30 วัน… พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการทบทวนกิจกรรมต่างๆ วางแผนสิ่งที่จะทำกับครอบครัว จากนั้นจะพิจารณาต่อว่า โครงการ บทเรียน และเป้าหมายอื่นๆ มีอะไรบ้างที่อยากทำให้ลุล่วงในช่วง 4-5 สัปดาห์ข้างหน้า…

ถัดไป เป็นการจัดตารางวัน-เวลา สำหรับการคิด การเขียน การทำงาน การประชุม ฯลฯ ตามด้วยการจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูโชว์ ดูกีฬา หรือออกกำลังกาย นอกจากนั้น ยังแบ่งช่วงเวลาเล็กน้อยไว้ชดเชยสำหรับเรื่องที่เหนือความคาดหมาย… เมื่อทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะสามารถบอกตัวเองและคนรอบข้างได้แทบจะทุกเรื่องที่จะทำในช่วงเดือนหน้า บางคนบอกได้ละเอียดเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงด้วยซ้ำ…

สิ่งนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic Thinking) ซึ่งช่วยให้ใครหลายคนทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

เวลาที่ได้ยินคำว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” คุณนึกถึงอะไร? ภาพแผนธุรกิจใหญ่โต การประชุมวางแผนงานเพื่อกอบกู้บริษัท หรือนึกถึงภาพเหตุการณ์ตอนที่ฝ่ายพันธมิตรวางแผนยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!!! ทั้งที่จริง “การคิดเชิงกลยุทธ์” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปฏิบัติการทางทหารหรือธุรกิจ เราสามารถนำการคิดเชิงกลยุทธ์ มาปรับใช้ให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตของเราได้…

 

ทำไม “การคิดเชิงกลยุทธ์” จึงสำคัญ?

 

เพราะ “การคิดเชิงกลยุทธ์” ช่วยในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง และหาเส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม… ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงกลยุทธ์ มีมากมายนับไม่ถ้วน… ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางส่วนที่สนับสนุนว่า “เราควรใช้ ‘การคิดเชิงกลยุทธ์’ เป็นเครื่องมือหนึ่งในชีวิต”

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

 

นักเขียนชาวสเปน มิเกล เดอ เซอร์วานเตส เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่เตรียมตัวพร้อม เท่ากับมีชัยในสนามรบไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการนำปัญหาที่ซับซ้อนและเป้าหมายระยะยาวที่ยากเกินกว่าอธิบายได้ มาย่อยให้เหลือขนาดที่สามารถจัดการได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้ามีแผนการ!

การคิดเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้การบริหารชีวิตประจำวันง่ายขึ้นด้วย… จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักพูดและนักเขียน เป็นหนึ่งในคนที่ทำระบบแฟ้มข้อมูลได้เยี่ยมยอด การเขียนสุนทรพจน์และบทเรียนที่ใช้ในการสอน เป็นงานที่ยาก แต่เพราะเขาจัดทำแฟ้มคำคม เรื่องเล่า กรณีศึกษา และบทความไว้อย่างเป็นระบบ เวลาที่ต้องการใช้อะไรเพื่ออธิบายประเด็นให้ชัดเจน เขาก็แค่ไปดูแฟ้มหนึ่งแฟ้ม จาก 1,200 แฟ้มที่จัดเก็บไว้ แล้วหาวัตถุดิบดีๆ ที่ใช้งานได้ มาใช้กับงานที่กำลังเขียนอยู่

เห็นไหมครับ… ว่างานยากกลับกลายเป็นง่ายนิดเดียว ถ้าเราใช้การคิดเชิงกลยุทธ์...

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามที่เหมาะสม

 

คุณอยากแยกประเด็นหรือปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ออกเป็นส่วนเล็กๆ หรือไม่? ถ้าต้องการ ก็ต้องตั้งคำถาม การคิดเชิงกลยุทธ์… ลองดูคำถามข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นของ บ๊อบบ์ บีห์ล ผู้เขียนหนังสือ Masterplanning

ทิศทาง เราควรทำอะไรต่อไป เพราะเหตุใด? องค์กร ใครรับผิดชอบอะไร ใครรับผิดชอบใคร เรามีคนที่เหมาะสมในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเปล่า? เงินสด รายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิที่วางแผนไว้แล้ว เป็นอย่างไร เรายอมรับได้หรือไม่ เราจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย? การติดตามผล เรามาถูกทางหรือเปล่า? การประเมินภาพรวม เราทำได้คุณภาพตามที่เราคาดหวังและต้องการหรือเปล่า? การปรับปรุง เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้อย่างไร?

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเพื่อเริ่มการวางแผนกลยุทธ์ และเป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วย…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยปรับแต่งแผนให้เหมาะกับสถานการณ์

 

นายพลจอร์จ เอส. แพตตัน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “นายพลที่ประสบความสำเร็จจะปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ไม่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เข้ากับแผน”

นักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่ง ล้วนแม่นยำและละเอียดในการใช้ความคิด พวกเขาจะพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัญหา เพราะกลยุทธ์ไม่ใช่แผนครอบจักรวาล ประเภทแผนเดียวใช้ได้กับทุกปัญหา

การคิดแบบกว้างๆ หรือคิดแบบลวกๆ เป็นศัตรูของความสำเร็จ ความตั้งใจที่จะปรับการคิดเชิงกลยุทธ์ จะบีบคนคนนั้นให้คิดไปไกลกว่าไอเดียที่คลุมเครือ เราควรต้องหาเส้นทางเฉพาะเจาะจงที่เข้าถึงภารกิจหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่คุณเป็นอยู่ กับสิ่งที่คุณอยากจะเป็น มันให้ทิศทางกับความน่าเชื่อถือในวันนี้ และเพิ่มศักยภาพสำหรับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ซึ่งก็คล้ายกับการสวมอานให้แก่ความฝันของคุณ ก่อนที่คุณจะควบมันทะยานออกไปข้างหน้า…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยลดความผิดพลาด

 

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอะไรอย่างฉับพลัน หรือทำอย่างเฉื่อยชาไร้ความรู้สึก โดยไม่ได้กำหนดแนวคิดไว้ก่อน… “ขอบเขตของความผิดพลาด” ย่อมเพิ่มขึ้น!!! ซึ่งก็เหมือนกับนักกอล์ฟที่ก้าวเข้าหาลูกกอล์ฟ แล้วตีลูกโดยไม่ได้จัดแนวการยืน หรือเล็งเป้าหมายให้ดีเสียก่อน ลูกกอล์ฟที่พุ่งออกจากหน้าไม้ในทิศทางที่เบี่ยงเบนจากแนวเป้าหมายไม่กี่องศา จะลอยไปตกห่างจากเป้าหมายเป็นสิบเป็นร้อยหลา

การคิดเชิงกลยุทธ์จะช่วยลด “ขอบเขตของความผิดพลาด” ได้เยอะ เพราะการคิดลักษณะนี้จะปรับการกระทำของคุณให้ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดแนวลำตัวและท่ายืนในการตีกอล์ฟ ที่ช่วยให้ลูกไปตกใกล้หลุม… ยิ่งคุณจัดให้อยู่ในแนวเดียวกับเป้าหมายมากเท่าใด คุณก็จะเดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ทำให้คุณมีอิทธิพลเหนือคนอื่น

 

ผู้บริหารคนหนึ่งเผยความลับให้ผู้บริหารอีกคนหนึ่งฟังว่า “บริษัทของเรามีแผนระยะสั้นกับแผนระยะยาว แผนระยะสั้นจะคงอยู่อย่างนั้นนานพอที่จะเป็นแผนระยะยาว” แบบนี้ไม่เรียกว่า “กลยุทธ์” แล้ว แต่เป็นการสร้างปัญหา และไม่ใช่ปัญหาเดียวด้วย!

การไม่สนใจ “วิธีคิดเชิงกลยุทธ์” ในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว แต่ยังเสียความน่าเชื่อถือจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น

“คนที่มีแผนการ คือคนที่มีอำนาจ” ไม่สำคัญว่างานที่คุณทำอยู่จะเป็นอะไร? พนักงานบริษัทอยากเดินตามเจ้าของธุรกิจที่มีแผนธุรกิจที่ดี… อาสาสมัครอยากร่วมงานกับผู้นำโครงการที่มีแผนการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่น่าสนใจ… เด็กอยากอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีแผนการช่วงปิดเทอมที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี…

เพียงแค่คุณใช้ “การคิดเชิงกลยุทธ์” คนอื่นจะฟังและอยากทำตาม… ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำในองค์กร “การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้”


เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

7 หลุมพรางทางความคิด… ควรระวัง!

15 03 2017

เรามักจะมีความคิด-ความเชื่อว่า “สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล” แต่ความจริงแล้ว “การใช้เหตุผลของเรา มักผิดพลาดบ่อยๆ”

นั่นหมายความว่า เราอาจกำลัง “ติดกับดับความเชื่อ” หรือกำลัง “ตกหลุมพรางทางความคิด” ซึ่งเราไม่อาจหลบหนีปีนป่ายออกมาได้… เรามาทำความรู้จักหลุมพรางทางความคิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง?

 

หลุมพรางที่ 1 : การปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยง

คือการที่คุณไม่ลงมือจัดการกับข้อเท็จจริงซึ่งไม่น่าพอใจ… เพราะ “ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา” หรือเพราะกำลัง “หลีกเลี่ยงกับปัญหาเหล่านั้น”

ตัวอย่าง คุณกำลังมีหนี้ท่วมตัว แต่กลับปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา ไม่ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ทั้งยังเลี่ยงไม่ยอมจัดการกับเรื่องการเงินของคุณ

วิธีปีนออกจากหลุม เมื่อใดที่ต้องเผชิญหน้า หรือเกี่ยวข้องกับความจริงที่ทำให้คุณหวาดกลัว คุณจะรู้สึกอยากปฏิเสธ อยากหลีกเลี่ยง… การปีนป่ายออกจากหลุมพรางทางความคิดนี้ คุณแค่ต้องเตือนตัวเองว่า.. “ไม่ว่าจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน กับการต้องเผชิญความจริง แต่พึงระลึกไว้ว่า การปฏิเสธและหลีกเลี่ยง จะทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่า”

 

หลุมพรางที่ 2 : ก็ได้นะ แต่ว่า…

เป็นการหาเหตุผลหลอกๆ มากมาย เพื่ออธิบายว่า ทำไมความคิดใหม่ๆ จึงไม่ได้ผล แทนที่จะสำรวจความเป็นไปได้ของความคิดนั้น

ตัวอย่าง เพื่อนชวนไปเล่นสกีในวันหยุด ซึ่งคุณรู้ว่าต้องสนุกแน่ แต่ใจคุณกลับมีข้อโต้แย้งขึ้นมากมาย ใครจะเลี้ยงแมวของฉันล่ะ, ถ้าฉันเผลอทำอะไรโง่ๆ บนเนินเขานั่นล่ะ,…

วิธีปีนออกจากหลุม เราแนะนำให้ใช้วิธีการ P.I.N. ก่อนอื่น เขียนรายการด้านบวก (Positive) เกี่ยวกับแนวความคิดนั้น แล้วหาว่าความคิดนั้นมีอะไรไหมที่น่าสนใจ (Interesting) แม้จะไม่เป็นด้านบวกสักเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายให้พิจารณาผลที่จะตามมาซึ่งเป็นด้านลบ (Negative)

วิธีการ P.I.N. นี้ จะช่วยให้คุณเน้นแง่มุมที่เป็นบวก และขจัดหรือทำให้ด้านลบเหลือน้อยที่สุด ลองนำด้านลบแต่ละข้อมาทดสอบ โดยถามตัวคุณเอง ว่ามันเป็นแบบนั้น “จริงหรือ?” ฉันมีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้บ้าง!?

 

หลุมพรางที่ 3 : การคิดตามกันเป็นกลุ่ม

ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น โดยไม่คิดอะไรเลย… คนอื่นในที่นี้ คือสังคม เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่า ไอเดียของพวกเขาถูกหรือไม่?

ตัวอย่าง ข้อความเกือบทุกประโยค มักขึ้นต้นด้วยคำทำนองว่า “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า…”, “ผู้มีหลักการล้วนเห็นพ้องกันว่า…”, “เป็นที่ทราบกันว่า…”

วิธีปีนออกจากหลุม อย่ารีบเชื่ออะไรทั้งนั้น… พยายามตั้งข้อสงสัยทุกเรื่อง… ลองถามตัวเองดูว่า “แล้วเรารู้ได้อย่างไร?” แทนที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่ลังเล ลองพิจารณาหลักฐานที่อยู่ตรงหน้าก่อนจะเชื่อความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อตรวจสอบอย่างถ่องแท้ว่า “จริงๆ แล้วเรื่องนั้นเป็นอย่างไรกันแน่…”

 

หลุมพรางที่ 4 : การเลือกพิจารณา

พยายามทำให้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ตรงหน้า เป็นไปตามข้อสรุปที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ

ตัวอย่าง เมื่อคุณมองคนที่คุณรักหรือชื่นชม โดยมองแต่ด้านดีเท่านั้น… จะส่งผลให้เห็นเพียงแค่พวกเขาทำอะไรล้วนถูกต้องไปหมด มุมมองคับแคบแบบนี้ อาจเกิดขึ้นกับวัตถุหรือองค์กรก็ได้ เช่น คนขายของเก่าที่เชื่อว่าตนเองพบของเก่าแก่หายาก, หัวหน้าอาจมองไม่เห็นลักษณะพิรุธใดๆ ของเลขาหน้าห้อง หรือผู้ถือหุ้นอาจไม่สงสัยการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียง,…

วิธีปีนออกจากหลุม การจะตัดสินใจสรุปความเห็นใดๆ ให้พยายามมองหาแง่มุมที่ขัดแย้งต่อความคิดที่คุณเชื่ออยู่! จำไว้ว่า “การเลือกพิจารณา” มีได้ทั้งสองทาง คือนอกจากจะมองแต่ข้อดีแล้ว ยังเป็นการมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดได้ด้วย… ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน หรือสิ่งของก็ตาม!

 

หลุมพรางที่ 5 : การคิดไปทางเดียว

บ่อยครั้งที่เราไม่ยอมรับว่าตนเองจำเป็นต้องมีการคิดรูปแบบใหม่ๆ เพราะเรามักคิดไปว่า การเปลี่ยนใจใหม่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เป็นเรื่องยากลำบาก… เป็นเรื่องยากที่จะต้องหยุดทำอะไรกลางคัน ทั้งที่รู้ดีว่าเรื่องนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด!

ตัวอย่าง ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า คนอเมริกันไม่ชอบซื้อรถขนาดเล็ก

วิธีปีนออกจากหลุม ต้องหมั่นนำข้อสันนิษฐานสำคัญๆ ของคุณมาพิจารณาใหม่อยู่เสมอ อย่ามองอะไรผิวเผิน กลยุทธ์ที่ดีประการหนึ่งคือ “ให้ลองขัดแย้งกับตัวเอง” คุณพอจะหาจุดอ่อนได้ก่อนคนอื่นหรือไม่? แล้วคุณจะจัดการกับจุดอ่อนนั้นอย่างไรบ้าง? หากจำเป็น ต้องเต็มใจเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัว…

 

หลุมพรางที่ 6 : ทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนมากเกินไป

การไม่ใส่ใจคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่กลับยอมรับคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากโดยไม่จำเป็น…

ตัวอย่าง คุณหาของชิ้นหนึ่งในบ้านไม่เจอ คุณทึกทักเอาว่า มีผู้ร้ายย่องเบามาขโมย แทนที่จะพิจารณาว่า คุณแค่วางผิดที่ผิดทางหรือเปล่า!?

วิธีปีนออกจากหลุม ใช้หลักการของ Occam’s Razor ซึ่งกฎข้อนี้บอกว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเท่าเทียมกัน ฉะนั้นทางออกที่เรียบง่ายที่สุด ก็ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”


หลุมพรางที่ 7 : ไม่ใช่ความคิดของฉัน!

เป็นการมองข้ามความคิดใดความหนึ่งไป เพียงเพราะคนอื่นเป็นคนคิด!

ตัวอย่าง ลูกๆ คุณไม่ยอมทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคุณเป็นคนบอกให้ทำ! ทั้งที่ปกติเขาไม่รังเกียจจะทำสิ่งนั้นเลย!

วิธีปีนออกจากหลุม ลองใช้วิธีทำให้คนอื่น “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นคนคิดเรื่องนั้น… หรือบอกว่า ข้อแนะนำนั้นเป็นของเขาเอง… หากกลับกัน คุณเป็นคนที่อึดอัดใจเมื่อใช้ความคิดเห็นของคนอื่น ให้เตือนตัวเองว่า ทางปฏิบัติที่ฉลาดคือ “ให้ดูความดีหรือข้อดีที่พวกเขาทำ ไม่ใช่ดูว่าใครคิดเรื่องนั้น” หรือคุณอาจลองปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นสักหน่อย ลองใส่ความคิดของคุณเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้รู้สึกว่าเป็นความคิดของคุณมากขึ้น…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save