5 วิธีฟื้นคืน จากวิกฤตชีวิต

5lifechanging

ยากเหลือเกินที่จะยิ้มได้และใช้ชีวิตอย่างปกติ หากต้องเผชิญกับความท้อแท้สิ้นหวัง

ไม่ว่าจะเป็นการเจอวิกฤตด้านการเงิน ตกงานกะทันหัน ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและอารมณ์ ความสัมพันธ์ที่ไปไม่รอด

การสูญเสียคนรักหรือเพื่อนอย่างกะทันหัน อีกทั้งความเจ็บป่วยเรื้อรังของญาติผู้ใหญ่

นี่คือสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่ใช่หรือเปล่า ?

ซ้ำร้ายกว่านั้น ในยามที่ชีวิตเป็นขาลง ดูเหมือนอะไรๆก็เข้ามาตามซ้ำเติม

ปัญหาหนึ่งก่อตัวขึ้นยังไม่จบ ปัญหาใหม่ๆก็เข้ามาทับถม และส่งผลกระทบถึงเรื่องต่อๆไป

คุณทำอย่างไร เมื่อชีวิตอยู่ในช่วงวิกฤต?

ในช่วงเวลาแบบนี้คุณจะพบว่า ในใจมีแต่ความกลัวและความเจ็บปวด เพราะความหวังพังทลาย

รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ

รู้สึกไร้คุณค่าและไม่ดีพอ

รู้สึกสิ้นหวังและไม่มีกำลังใจจะก้าวเดินต่อ

สิ่งที่เกิดขึ้น อาจทำให้คุณจมอยู่ความรู้สึกย่ำแย่ และเศร้าโศกเนิ่นนาน จนกลายเป็นความซึมเศร้า ขาดกำลังใจที่จะใช้ชีวิต

คุณไม่รู้ว่าจะลุกขึ้นมาอีกครั้งได้ยังไง ไม่ว่าใครจะมาพูดปลอบโยนเท่าไหร่ ก็ไม่อาจช่วยให้คุณดีขึ้นมาเลย…

 

ตามกฎของจักรวาล “ทุกสิ่งไม่เที่ยงและจะเปลี่ยนแปลงไปเสมอ”

ดังนั้นโชคร้ายก็จะไม่อยู่กับคุณตลอดไป ในเมื่อชีวิตมีขาลงก็ย่อมมีขาขึ้น

ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ ข่าวดีก็จะมาเยือน แล้วคุณจะลุกขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

แต่หากคุณมีวิธีที่จะทำตัวเองให้ดีขึ้นได้ในเร็ววันจะไม่ดีกว่าหรือ

ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีที่จะช่วยคุณได้

 

1. ยอมรับและเผชิญหน้ากับความเป็นจริง

มีความทุกข์อยู่ 2 อย่าง คือ ทุกข์ที่ทำให้คุณเจ็บปวด และทุกข์ที่ทำให้คุณเปลี่ยนแปลง

คุณจะเจ็บปวดก็ต่อเมื่อคุณต่อต้านมัน หากคุณยอมรับและพร้อมที่จะเดินไปต่อกับมันได้ นั่นจะนำมาซึ่งการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง

อย่างแรกที่คุณจะทำก็คือ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าคุณไม่ชอบมันเลย การดิ้นรนต่อสู้กับมัน หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น ก็ยิ่งจะเสียพลังงานและเวลาไปเปล่าๆ

 

การยอมรับจะทำให้คุณกลับมาพบความสงบในใจ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อในทิศทางใหม่ๆ

การปล่อยวางจะง่ายยิ่งขึ้น หากคุณ“ให้อภัย” ไม่ว่าจะเป็นกับตัวคุณเอง กับใครบางคน หรือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้

การให้อภัยจะปลดปล่อยตัวคุณจากความเครียด ความกดดัน ความกังวล ความยึดติดกับอดีตและอนาคตทั้งหลาย

การยอมรับและการอภัย จะช่วยให้ใจของคุณรู้สึกเบาสบายขึ้น เป็นอิสระจากสิ่งที่คุณยืดถือและคาดหวังว่าจะต้องเป็น แม้ว่าสิ่งภายนอกจะยังเหมือนเดิมก็ตาม

 

2. โอบกอดตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

หากคุณหมดความมั่นใจ หมดความเชื่อและศรัทธาในตนเอง แสดงว่าคุณกำลังอยากจะเป็นใครอีกคนที่ไม่ใช่คุณ

ลองถามตัวเองว่า กำลังคาดหวังความสมบูรณ์แบบในชีวิตอยู่หรือเปล่า ลองมองอดีตที่ผ่านมาสิ คุณก็มีความสำเร็จในชีวิตเกิดขึ้นตั้งมากมาย

สิ่งที่คุณต้องการในตอนนี้คือ การโอบกอดและยอมรับตัวเอง ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง

 

หยุดเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น มองให้เห็นความสวยงามในตัวเอง

ถึงแม้จะไม่เหลือสิ่งภายนอกใดๆเลยก็ตาม คุณก็ยังเป็นมนุษย์ที่สวยงามในแบบที่คุณเป็น และมันดีที่สุดแล้ว

คุณคือคนธรรมดาที่สามารถทำผิดพลาดได้ มีความกังวลบ้าง กลัวบ้างเป็นธรรมชาติ

คุณไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ ก็สามารถยอมรับและรักตัวเองได้

 

3. เตือนตัวเองว่า ทุกสิ่งเป็นของชั่วคราว

การก้าวข้ามที่สำคัญในชีวิต เกิดขึ้นเมื่อคุณตระหนักว่าสิ่งเลวร้ายต่างๆในชีวิต ทั้งที่เป็นข้อจำกัด ความล้มเหลว ความผิดพลาด ความสูญเสีย โชคร้ายและความเสื่อมถอย เป็นเพียงของชั่วคราวเท่านั้น

และหลายครั้งมันผ่านไปแล้ว แต่คุณยังทำให้มันคงอยู่ ด้วยความคิดของคุณนั่นเอง

ความทุกข์และความไม่แน่นอน ก็เป็นของชั่วคราว มันไม่มีทางจะยาวนานไปตลอดกาล

เวลาจะช่วยเยียวยาคุณได้ แม้ว่าจะต้องใช้เวลานับเดือนนับปี แต่แล้วมันก็จะผ่านไป

ชีวิตจะหมุนต่อไปไม่หยุด ดังนั้นอย่าให้ความทุกข์มาเปลี่ยนตัวคุณที่แท้จริงไป

คนที่เข้มแข็งคือคนที่ร้องไห้ได้อย่างเปิดเผย แล้วก็พร้อมก้าวต่อไปเมื่อหยาดน้ำตาเหือดแห้งลง

 

4. มองหาสิ่งที่ขอบคุณได้ ในช่วงเวลานี้

การขอบคุณ คือการเยียวยาตัวเองที่เรียบง่าย และมันช่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในภาวะที่กำลังจมอยู่กับตัวเองและความทุกข์ ลองหาเหตุผลที่จะขอบคุณกับอะไรก็ได้รอบๆตัว

แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งเล็กน้อยและธรรมดาแค่ไหน ขอบคุณที่ยังมีลมหายใจ ขอบคุณความรักจากคนรอบตัว ขอบคุณสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากเรื่องนี้

หากคุณเลิกมองสิ่งที่ขาดหาย และหันมาขอบคุณกับสิ่งที่เหลืออยู่ ด้วยความรู้สึกสำนึกคุณ จะพบว่าหลายๆครั้งได้มองข้ามอะไรไปบ้าง

สิ่งที่สูญเสียไป คงเอากลับมาไม่ได้ แต่มันดีแค่ไหน ที่คุณได้ค้นพบสิ่งที่มีค่าที่ยังคงมี กับชีวิตที่เหลืออยู่

 

5. ยื่นมือออกไป ช่วยใครสักคน

ความท้อแท้ในชีวิต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะคุณรู้สึกสมเพชตัวเอง แม้มันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ แต่คุณก็ทำอยู่เสมอๆโดยไม่รู้ตัว

ถ้าคุณสามารถจับความคิดได้ว่า เริ่มดูถูกและต่อว่าตัวเอง ให้หยุดสนใจที่ตัวเองแล้วมองไปที่ผู้คนรอบๆตัว

ลองหาทางที่จะช่วยเหลือใครสักคน แม้แต่จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆน้อยๆ เชื่อมั้ยว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นในทันที

 

เมื่อไหร่ที่คุณอยากได้รับการใส่ใจ ให้คุณใส่ใจผู้อื่น ดูแลเขาให้เหมือนกับที่คุณต้องการ ด้วยจิตที่เมตตา และหัวใจอ่อนโยน

หากคุณทำเช่นนี้ ไม่มีอะไรที่จะทำให้คุณรู้สึกแย่กับตัวเองได้อีก มันจะทำให้คุณตระหนักถึงคุณค่าแห่งการมีชีวิต

การได้ช่วยเหลือใครสักคน จะทำให้คุณตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ที่ขังคุณไว้ในจิตใจอันโดดเดี่ยวของตัวเอง

 

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังท้อแท้สิ้นหวังในชีวิต ขอให้รู้ว่า คุณไม่ได้เผชิญกับมันเพียงลำพังผู้เดียว

คนรอบตัวที่เค้ารักคุณ ต่างรู้สึกและได้รับผลกระทบกับความเศร้าจากคุณอยู่เช่นกัน

ยิ่งคุณทำร้ายตัวเอง ก็จะยิ่งทำให้พวกเค้าเจ็บปวดไปด้วย

ถ้านั่นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการ ลองใช้หลักการ 5 ข้อนี้ นำพาตัวเอง ให้ฟื้นคืนขึ้นมาจากฝันร้าย

นั่นเท่ากับว่าคุณกำลังช่วยให้ชีวิตคุณและพวกเขาดีขึ้นในคราวเดียวกัน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เขียนหนังสือ “Happiness Recipe: 10 สูตรผสมความสุข”
…………….

4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

deeplistening

“โลกออนไลน์ ทำให้เราพูดได้มากขึ้น แต่กลับฟังกันได้น้อยลง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สังเกตปฏิกริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง

2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา 

3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มึคุณภาพ

 4. เคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น 

แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า จะคุยกับเราอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆกันด้วย

เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากสนใจฝึก การฟังอย่างลึกซึ้ง ขอแนะนำหลักสูตร “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

วันที่ 11 มิ.ย.59 นี้ ครั้งสุดท้ายของปี อบรมโดย “เรือรบ” ดูรายละเอียดที่นี่

หลักพื้นฐาน 3 ประการ ของไดอะล็อค

“Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา” คือ กระบวนการสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง ใคร่ครวญ และไม่ด่วนตัดสิน

หลายท่านคนที่เคยไปเข้าวงไดอะล็อค จะรู้สึกว่า มันก็คือการตั้งวงสนทนาแบบนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้ว่าการไดอะล็อคส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมกันเป็นวงกลมในการพูดคุย ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ภายนอกเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับความพิเศษของกระบวนการไดอะล็อคอยู่มากทีเดียว

การที่เราจะเริ่มฝึกสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องสามารถ “แยกแยะ” ความแตกต่างระหว่างการไดอะล็อค กับการสนทนารูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน

Deep Listening – การฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน

บทสนทนาทั่วไป แม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ และถ้าเกิดมีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็วจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ “ค้นหาจุดอ่อน” ที่เราจะเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที

ในขณะที่การฟังในวงไดอะล็อคจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจและโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังเค้าต่อจนจบ ทักษะนี้เรียกว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งต้องอาศัย “สติ” และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะสามารถใส่ใจรับฟัง “สิ่งที่เค้าไม่ได้พูด” อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังแบบนี้ จึงไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ “รับรู้” ผู้พูดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นอกเห็นใจเค้าจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเค้า โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเราเข้าไปเป็นมาตรฐาน

การพูดคุยแบบอื่นนั้น มักจะลงเอยที่มี “ผู้แพ้ และผู้ชนะ” “มีคนถูก คนผิด” แต่สำหรับไดอะล็อคแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา “ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆกัน”

เนื่องจากในวงไดอะล็อค ให้ความสำคัญกับ “การค้นหาความเข้าใจร่วม” ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูกผิด หรือการให้ความสำคัญของความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวง และจะทำให้ไม่เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

Respect & Equalityความเท่าเทียม โดยปราศจากอิทธิพลใดๆครอบงำ

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อค ต่างมีข้อตกลงว่า ภายใต้การล้อมวงนั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากก็ตาม

สภาวะแห่งความเท่าเทียมกัน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโสหรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อคได้

Unfolding Assumptions – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อคกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อค พร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนขึ้นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าจะรู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก “ตัดสิน” จากคนอื่น แต่จะกลายเป็นการสร้าง “พื้นที่แห่งความจริง (moment of truth)” ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้และพร้อมเปิดใจของตนเองเช่นกัน

ในวงไดอะล็อค ไม่ได้จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความสุนทรียะ หรือให้รู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกจะทำให้เราได้เคลียร์ความในใจต่อกัน และไม่ต้องเดาหรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิดหรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่า ในบางครั้งการเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูมีอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่นและทำให้บางคนมีอารมณ์ที่ขึ้นสูงได้ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำร้ายกัน  นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากเรายังไม่รู้สึกไว้วางใจเต็มที่ ก็สามารถค่อยๆเปิดเผยความคิดของเราไปทีละชั้นๆได้ วงไดอะล็อคก็จะค่อยๆเติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กันและกัน ด้วยความเคารพให้ความเท่าเทียมกัน มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสินกัน  ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราก็สามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ


หากจะตอบคำถามในบรรทัดแรก ไม่ว่ารูปแบบการนั่งสนทนาจะนั่งพื้นเป็นวงกลมหรือไม่ สมาชิกจะพูดคุยกันอย่างออกรสเพียงใด หากองค์ประกอบ 3 ข้อตามที่กล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการไดอะล็อค

อย่างไรก็ตาม ในทุกบทสนทนา โดยไม่ทันรู้ตัว ก็อาจจะกลายเป็นการไดอะล็อคได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ หากผู้ร่วมวงสามารถเปิดใจรับฟังกันและกัน เคารพในความคิดของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม และเปิดใจจนเกิดการสนทนาที่ลึกซึ้งได้

ผลลัพธ์ของการพูดคุยครั้งนั้น จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สานสายสัมพันธ์ของผู้คน และประสานพลังความคิดให้เห็นมิติใหม่ๆ เกิดเป็นความเข้าใจร่วมที่สอดคล้องกันได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

หากต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และมีประสบการณ์เข้าร่วมวงไดอะล็อคอย่างแท้จริง ขอแนะนำหลักสูตร Dialogue & Deep Listening โดย อ.เรือรบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save