การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง… การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ… ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก…
ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ
หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง… นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”
อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย… เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้าง…
ขั้นตอนที่ 1
ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ… เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า
เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง
ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใด… ก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น
ขั้นตอนที่ 2
เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย
วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่
ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์… “เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง
ขั้นตอนที่ 3
ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ” คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!!!
เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ”
ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้
อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้
อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน
อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง
อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว…
ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน… ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”
ขั้นตอนที่ 4
เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ
คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่” พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น
ขั้นตอนที่ 5
“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ” คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ…
เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND