กำจัดความเชื่อผิดๆ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต

31 03 2017

คุณรู้สึกว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้คุ้นๆ ไหม? ขณะนั่งดูทีวี ภรรยาของคุณเรียกให้ช่วยเข้าไปหยิบเกลือในห้องครัวให้หน่อย? คุณตอบไปว่า “ผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน” เธอบอกกลับมาว่า “ลองหาดูสิ! มันอยู่แถวนั้นแหละ”

คุณลุกขึ้นอย่างลังเล เดินเข้าไปในครัว บ่นพึมพำกับตัวเองว่า “ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วจะหาเจอได้ยังไง?” คุณเดินดูรอบๆ แต่ก็ไม่พบเกลือ จึงตะโกนกลับไปว่า “หาไม่เจอ”

เธอย้ำกลับมาว่า “ลองดูดีๆ สิ! อยู่แถวๆ นั้นแหละ” คุณมองขึ้นมองลง ยังไงก็หาไม่เจอ… ในที่สุด ภรรยาของคุณทนไม่ไหว เดินเข้ามาในครัว หยิบเกลือจาก “ตรงหน้าคุณ” นั่นแหละ พร้อมกับพูดว่า “นี่ไง… มองไม่เห็นได้ไงนะ…”

 

อาการจิตมองไม่เห็น.. เกิดได้อย่างไร?

 

ในทางจิตวิทยา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อาการจิตมองไม่เห็น” (Schetoma) หรือ “จุดบอดทางความเข้าใจ” (Perceptual Blind Spot) ตัวอย่างข้างต้นเกิดขึ้นได้บ่อยมาก ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า “ความเชื่อ” สามารถลบสิ่งที่คิดและเข้าใจได้… เมื่อคุณทำให้ตัวเองเชื่อว่า “ไม่สามารถหาเกลือเจอ” สมองของคุณก็จะ “ลบภาพเกลือ” ที่มีอยู่ออกไป… แม้ว่าตาของคุณจะ “มองเห็น” มันก็ตาม

เช่นเดียวกัน ในเวลาย่ำแย่ ถ้าคุณเชื่อว่า “ไม่มีโอกาสสำหรับคุณ” คุณก็จะลบทุกสิ่งทุกอย่างที่สนับสนุนโอกาสดังกล่าว และพานพบแต่เรื่องแย่ๆ อย่างที่คุณเชื่อนั่นแหละ!

 

ความเชื่อที่เรามีอยู่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ความเชื่อส่วนใหญ่มาจากการถอดแบบบุคคลสำคัญที่อยู่รอบตัว เช่น พ่อ-แม่ ครู เพื่อน… เรามีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อคล้ายกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ถ้าพ่อแม่ของคุณเชื่อว่า “พวกเขาไม่มีทางที่จะร่ำรวยได้” คุณก็มีแนวโน้มที่จะ “เชื่อ” แบบนั้น

ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีใครเรียนจบ คุณย่อมมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อว่า “การศึกษาเป็นเรื่องยาก หรือไม่สำคัญ” นอกจากนี้ ความเชื่อส่วนใหญ่ยังมาจาก “ประสบการณ์ในอดีต” ด้วย

โดยปกติ “ความเชื่อที่เรามี” จะมาจากความเข้าใจ หรือการตีความประสบการณ์ในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ก็จะกลายเป็น “คำสั่งฝังอยู่ในสมอง” และกำหนดวิธีการดำเนินชีวิต… เราจะลืมไปว่ามันเป็นเพียงความเข้าใจไปเอง และเริ่มยอมรับว่า “มันเป็นความจริง”

ขณะที่ความเชื่อบางอย่าง ให้พลังกับเราอย่างแท้จริง แต่ก็มีความเชื่อหลายอย่าง สร้างข้อจำกัดให้เรา ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า ฉันไม่เก่งเลข, ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า, ฉันเข้ากับคนอื่นไม่ได้, ฉันขี้เกียจ หรือ ฉันอายุน้อยเกินไปหรือแก่เกินไปที่จะประสบความสำเร็จ…

 

เราสร้างความเชื่อขึ้นมาได้อย่างไร?

 

“ความเชื่อ” เริ่มต้นจากความคิดที่มีคนบางคนให้กับเรา หรือเราให้กับตัวเอง เมื่อมีประสบการณ์ในอดีตสนับสนุนความคิดดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดก็จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จนในที่สุดก็กลายเป็น… ความเชื่อ

และเมื่อกลายเป็น “ความเชื่อ” เราก็จะไม่สงสัยอะไรอีกเลย มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบภายในร่างกาย เป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจและพฤติกรรมทุกอย่างของเรา

ในหนังสือ “พลังไร้ขีดจำกัด” (Unlimited Power) ของ แอนโธนี ร็อบบินส์ ได้อธิบายเรื่องความเชื่อในเชิงอุปมาอุปไมยว่า…

“เมื่อเรามีความคิดใดความคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเป็น ‘ครั้งแรก’ ยกตัวอย่างเช่น ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า มันยังคงเป็นแค่ความคิดที่ไม่มีอำนาจเหนือเรามากนัก ซึ่งก็เหมือนกับโต๊ะที่ไม่มีขารองรับสักอัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้พบกับเหตุการณ์ที่มาสนับสนุนความคิดนี้ ก็เหมือนกับเราได้เพิ่มขาให้กับโต๊ะตัวนี้ ทีละขาๆ แล้วไม่นาน เมื่อขา (เหตุการณ์) ถูกเพิ่มจำนวนมากพอ เราก็จะได้โต๊ะที่แข็งแรงในที่สุด (ความเชื่อที่ทรงพลัง)”

 

เราจะเปลี่ยนความเชื่อ ได้อย่างไร?

 

ถ้าคุณมีความเชื่อแย่ๆ ฝังหัว ที่อยากจะเปลี่ยน… นักจิตวิทยาแนะนำ 5 ขั้นตอน เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่คุณต้องการเปลี่ยน ดังนี้…

 

1. หาเหตุผลให้มากพอที่จะเปลี่ยนความเชื่อ

 

ขั้นแรกในการเปลี่ยนความเชื่อ คือการหาเหตุผลที่สำคัญมากพอที่จะทำให้เราเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนความเชื่อ เพราะคิดว่า แม้จะเป็นสถานการณ์ที่เรารู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่มันก็ไม่ได้เจ็บปวดมากถึงขนาดต้องเปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องสร้างเหตุผลให้มากพอที่จะทำให้เรา… ต้องเปลี่ยน!

วิธีที่สร้างพลังได้อย่างมากก็คือ ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองนี้ จะส่ง “ผลเสีย” ต่อชีวิตเรามากแค่ไหน? และยังจะส่งผลเสียต่อไปในอนาคตอย่างไร?

ขอให้ระลึกเสมอว่า เราถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล คุณอาจมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากมาย ว่าทำไมต้องเปลี่ยน แต่คุณจะไม่เปลี่ยน จนกว่าจะได้สร้างภาพในใจ และรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากพอ จนทำให้คุณต้องการเปลี่ยน

ถัดจากความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองในแต่ละอย่างแล้ว นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิด และเขียนออกมา ถึงสิ่งที่คุณได้สูญเสียไปจากการยึดติดกับความเชื่อนั้นๆ

ในอดีต ความเชื่อเหล่านี้สร้างความเสียหายให้แก่คุณอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความเชื่อว่า คุณ “ไม่มีประสบการณ์มากพอ” มันจะปิดกั้นคุณจากการเข้าไปเสี่ยง ปิดกั้นคุณจากการได้เลื่อนตำแหน่ง ปิดกั้นคุณจากโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ในธุรกิจ

นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิดต่อด้วยว่า “ถ้าฉันยังคงยึดติดกับความเชื่อเหล่านี้ มันจะจำกัดตัวฉันในอนาคตอย่างไรบ้าง? มันจะปิดกั้นฉันไม่ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง?”

เขียนเหตุผลทั้งหมด ว่าทำไมคุณต้องเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ จนกว่าคุณจะถึงจุดแตกหักในใจ และเมื่อนั้น “คุณจะเกิดอารมณ์ร่วมมากพอ ที่จะทำให้คุณต้องเปลี่ยน!”

2. ท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุนความเชื่อนี้

 

ต่อมา เราจะเริ่มวิเคราะห์ “ความเชื่อซึ่งเป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” และเริ่มท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุน จำไว้ว่า เราจำเป็นต้องเอาขาโต๊ะที่สนับสนุนความเชื่อแย่ๆ ออกไป แล้วในที่สุดคุณก็จะพบว่า หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า “ความเห็นทั่วๆ ไป และการตีความแบบผิดๆ ที่คุณได้รับจากประสบการณ์ในอดีต”

ก่อนอื่น คุณต้องหาหลักฐานที่จะมาหักล้างความเชื่อของคุณ ด้วยการถามคำถามเหล่านี้ 1) ฉันสร้างความเชื่อนี้ขึ้นมาได้อย่างไร? 2) อะไรทำให้ฉันเชื่อว่ามันเป็นความจริง?

ต่อมา ให้ท้าทายหลักฐานทั้งหลายด้วยการถามว่า 1) สิ่งนี้มีความหมายอะไรนอกเหนือจากนี้อีกไหม? 2) มีตัวอย่างที่ค้านกับหลักฐานนี้ไหม? 3) บุคคลที่ให้ความเชื่อนี้กับฉัน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน?

ยกตัวอย่างเช่น ผมพบว่าความเชื่อ “ผมแย่มากในวิชาเลข” ซึ่งมาจากหลักฐาน 3 อย่าง 1) การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ 2) เคยสอบตกวิชาเลข และ 3) แม่บอกว่าเป็นกรรมพันธุ์

จากการวิเคราะห์ “หลักฐาน” ผมเริ่มเปลี่ยนความหมายของประสบการณ์เหล่านี้… “การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ” สามารถตีความอย่างง่ายๆ ได้ว่า ผมไม่ได้ถูกสอนวิธีที่จะทำให้ผมเข้าใจได้ แทนที่จะตีความว่า ผมเรียนรู้ไม่ได้… “การสอบตกวิชาเลข” สามารถตีความได้ว่า ผมไม่ตั้งใจเรียนในห้อง และไม่ได้พยายามเรียนรู้มันเลย…

ที่ผมเรียนเลขแย่ ไม่ใช่เพราะกรรมพันธุ์ และแม่ของผมก็ไม่ได้น่าเชื่อถือพอที่จะยืนยันว่า ผมไม่มีความสามารถในวิชาเลข เพราะเธอเกลียดวิชาเลข อีกทั้งผมยังพบตัวอย่างมากมายที่ค้านเรื่องกรรมพันธุ์ นั่นคือ เพื่อนของผมหลายคนที่พ่อแม่ที่ไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องการศึกษา แต่พวกเขากลับฉลาดปราดเปรื่อง…

มาเริ่มลงมือหา “หลักฐาน” ว่าอะไรทำให้เกิด “ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดในตัวคุณ” กันเถอะ

 

3. สร้างความเชื่อใหม่ที่ให้พลัง

 

เมื่อคุณได้เขย่าฐานรากของความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองแล้ว คุณต้องสร้าง “ความเชื่อใหม่” ที่ให้พลัง เข้ามาแทนที่ความเชื่อเก่า ความเชื่ออะไรบ้างที่จะช่วยเสริมสร้างพลังให้คุณลงมือทำ…

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความเชื่ออันเก่าคือ “ผมยังเด็กเกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ความเชื่ออันใหม่ก็อาจจะเป็น “อายุน้อย หมายถึงการมีความเฉียบแหลม และพลังงานจำนวนมากในการทำธุรกิจ” หรือ “คนอายุน้อยเป็นนักธุรกิจที่ดีกว่า เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นและเปิดใจรับความคิดใหม่ๆ ได้มากกว่า”

ถ้าความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองคือ “ผมแก่เกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ลองมองหาตัวอย่างของคนที่เปลี่ยนอาชีพตอนอายุ 40 หรือแม้แต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และสามารถสร้างความสำเร็จจนมีชื่อเสียงได้

เอาล่ะ! มาเขียนความเชื่อใหม่ที่ให้พลังกัน เดี๋ยวนี้เลย…

 

4. สร้างหลักฐานใหม่ เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่

 

เมื่อคุณได้สร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมาแล้ว ให้หา “หลักฐาน” เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่นี้ด้วยว่า มีกี่ครั้งในอดีต ที่ความเชื่อใหม่นี้เป็นความจริง? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเอาความเชื่อที่ว่า “ฉันเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว” มาใช้ เคยมีบ้างไหมในอดีต ที่คุณเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้รวดเร็วมาก? มีตัวอย่างที่คุณเคยเห็นจากคนอื่นๆ หรือเปล่า?

มีงานวิจัยของนักจิตวิทยา ยืนยันว่า ทุกความเชื่อที่คุณต้องการ สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้ โดยหาอ่านจากหนังสือ หรือค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมต้องการติดตั้งความเชื่อที่ว่า “คนอายุน้อยๆ ก็เริ่มทำธุรกิจได้ และประสบความสำเร็จด้วย” ผมพยายามค้นคว้าและหาข้อมูลอย่างมาก จนพบว่ามีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ที่เริ่มต้นตอนอายุน้อยๆ และเริ่มต้นตอนไม่มีเงินทุน

ถ้าคุณหาหลักฐานไม่ได้เลย จงสร้างมันขึ้นมา อย่าลืมว่า จิตใจไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริง กับสิ่งที่จินตนาการได้ นี่เป็นเรื่องจริง! และเป็นสิ่งที่ โรเจอร์ บานิสเตอร์ ทำ ตอนที่เขาตั้งเป้าทำลายสถิติโลกในการวิ่งระยะไกล…

จงหา และเขียนหลักฐานที่จะมาสนับสนุนความเชื่ออันใหม่นี้ ให้มากที่สุดเท่าที่คุณหาได้…

 

5. จินตนาการภาพสิ่งดีๆ ในอนาคต จากความเชื่อใหม่

 

ข้อสุดท้าย นักจิตวิทยาต้องการให้คุณใช้เวลา และใช้พลังที่ได้จากการสร้างภาพในใจ ติดตั้งความเชื่อใหม่ที่ให้พลังเหล่านี้… ซึ่งวิธีการง่าย ๆ ก็คือ…ให้คุณปิดตาและนำตัวเองไปในอนาคต!

ลองนึกภาพดูสิว่า หากคุณนำความเชื่อใหม่ที่ให้พลังไปใช้ 1 ปีจากนี้ 2 ปีจากนี้ 5 ปีจากนี้ หรือ 10 ปีจากนี้ คุณจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร? คุณจะทำอะไรที่ในอดีตคุณไม่ได้ทำบ้าง? คุณจะตัดสินใจอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมบ้างไหม? คุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากความเชื่อใหม่นี้?

จงเขียนประโยชน์ด้านต่างๆ ที่คุณจะได้รับ… จากการมีความเชื่อใหม่ที่ให้พลังด้านบวก…

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการเปลี่ยน “ความเชื่อที่เป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” หรือช่วยใครบางคน “ปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระ” ลองทำตาม “5 วิธีกำจัดความเชื่อแย่ๆ” ข้างต้น… เราเชื่อมั่นว่า อนาคตใหม่ที่ดีกว่า กำลังรอคุณอยู่…

 

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND 

7 หลุมพรางทางความคิด… ควรระวัง!

15 03 2017

เรามักจะมีความคิด-ความเชื่อว่า “สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล” แต่ความจริงแล้ว “การใช้เหตุผลของเรา มักผิดพลาดบ่อยๆ”

นั่นหมายความว่า เราอาจกำลัง “ติดกับดับความเชื่อ” หรือกำลัง “ตกหลุมพรางทางความคิด” ซึ่งเราไม่อาจหลบหนีปีนป่ายออกมาได้… เรามาทำความรู้จักหลุมพรางทางความคิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง?

 

หลุมพรางที่ 1 : การปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยง

คือการที่คุณไม่ลงมือจัดการกับข้อเท็จจริงซึ่งไม่น่าพอใจ… เพราะ “ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา” หรือเพราะกำลัง “หลีกเลี่ยงกับปัญหาเหล่านั้น”

ตัวอย่าง คุณกำลังมีหนี้ท่วมตัว แต่กลับปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา ไม่ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ทั้งยังเลี่ยงไม่ยอมจัดการกับเรื่องการเงินของคุณ

วิธีปีนออกจากหลุม เมื่อใดที่ต้องเผชิญหน้า หรือเกี่ยวข้องกับความจริงที่ทำให้คุณหวาดกลัว คุณจะรู้สึกอยากปฏิเสธ อยากหลีกเลี่ยง… การปีนป่ายออกจากหลุมพรางทางความคิดนี้ คุณแค่ต้องเตือนตัวเองว่า.. “ไม่ว่าจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน กับการต้องเผชิญความจริง แต่พึงระลึกไว้ว่า การปฏิเสธและหลีกเลี่ยง จะทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่า”

 

หลุมพรางที่ 2 : ก็ได้นะ แต่ว่า…

เป็นการหาเหตุผลหลอกๆ มากมาย เพื่ออธิบายว่า ทำไมความคิดใหม่ๆ จึงไม่ได้ผล แทนที่จะสำรวจความเป็นไปได้ของความคิดนั้น

ตัวอย่าง เพื่อนชวนไปเล่นสกีในวันหยุด ซึ่งคุณรู้ว่าต้องสนุกแน่ แต่ใจคุณกลับมีข้อโต้แย้งขึ้นมากมาย ใครจะเลี้ยงแมวของฉันล่ะ, ถ้าฉันเผลอทำอะไรโง่ๆ บนเนินเขานั่นล่ะ,…

วิธีปีนออกจากหลุม เราแนะนำให้ใช้วิธีการ P.I.N. ก่อนอื่น เขียนรายการด้านบวก (Positive) เกี่ยวกับแนวความคิดนั้น แล้วหาว่าความคิดนั้นมีอะไรไหมที่น่าสนใจ (Interesting) แม้จะไม่เป็นด้านบวกสักเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายให้พิจารณาผลที่จะตามมาซึ่งเป็นด้านลบ (Negative)

วิธีการ P.I.N. นี้ จะช่วยให้คุณเน้นแง่มุมที่เป็นบวก และขจัดหรือทำให้ด้านลบเหลือน้อยที่สุด ลองนำด้านลบแต่ละข้อมาทดสอบ โดยถามตัวคุณเอง ว่ามันเป็นแบบนั้น “จริงหรือ?” ฉันมีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้บ้าง!?

 

หลุมพรางที่ 3 : การคิดตามกันเป็นกลุ่ม

ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น โดยไม่คิดอะไรเลย… คนอื่นในที่นี้ คือสังคม เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่า ไอเดียของพวกเขาถูกหรือไม่?

ตัวอย่าง ข้อความเกือบทุกประโยค มักขึ้นต้นด้วยคำทำนองว่า “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า…”, “ผู้มีหลักการล้วนเห็นพ้องกันว่า…”, “เป็นที่ทราบกันว่า…”

วิธีปีนออกจากหลุม อย่ารีบเชื่ออะไรทั้งนั้น… พยายามตั้งข้อสงสัยทุกเรื่อง… ลองถามตัวเองดูว่า “แล้วเรารู้ได้อย่างไร?” แทนที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่ลังเล ลองพิจารณาหลักฐานที่อยู่ตรงหน้าก่อนจะเชื่อความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อตรวจสอบอย่างถ่องแท้ว่า “จริงๆ แล้วเรื่องนั้นเป็นอย่างไรกันแน่…”

 

หลุมพรางที่ 4 : การเลือกพิจารณา

พยายามทำให้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ตรงหน้า เป็นไปตามข้อสรุปที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ

ตัวอย่าง เมื่อคุณมองคนที่คุณรักหรือชื่นชม โดยมองแต่ด้านดีเท่านั้น… จะส่งผลให้เห็นเพียงแค่พวกเขาทำอะไรล้วนถูกต้องไปหมด มุมมองคับแคบแบบนี้ อาจเกิดขึ้นกับวัตถุหรือองค์กรก็ได้ เช่น คนขายของเก่าที่เชื่อว่าตนเองพบของเก่าแก่หายาก, หัวหน้าอาจมองไม่เห็นลักษณะพิรุธใดๆ ของเลขาหน้าห้อง หรือผู้ถือหุ้นอาจไม่สงสัยการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียง,…

วิธีปีนออกจากหลุม การจะตัดสินใจสรุปความเห็นใดๆ ให้พยายามมองหาแง่มุมที่ขัดแย้งต่อความคิดที่คุณเชื่ออยู่! จำไว้ว่า “การเลือกพิจารณา” มีได้ทั้งสองทาง คือนอกจากจะมองแต่ข้อดีแล้ว ยังเป็นการมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดได้ด้วย… ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน หรือสิ่งของก็ตาม!

 

หลุมพรางที่ 5 : การคิดไปทางเดียว

บ่อยครั้งที่เราไม่ยอมรับว่าตนเองจำเป็นต้องมีการคิดรูปแบบใหม่ๆ เพราะเรามักคิดไปว่า การเปลี่ยนใจใหม่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เป็นเรื่องยากลำบาก… เป็นเรื่องยากที่จะต้องหยุดทำอะไรกลางคัน ทั้งที่รู้ดีว่าเรื่องนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด!

ตัวอย่าง ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า คนอเมริกันไม่ชอบซื้อรถขนาดเล็ก

วิธีปีนออกจากหลุม ต้องหมั่นนำข้อสันนิษฐานสำคัญๆ ของคุณมาพิจารณาใหม่อยู่เสมอ อย่ามองอะไรผิวเผิน กลยุทธ์ที่ดีประการหนึ่งคือ “ให้ลองขัดแย้งกับตัวเอง” คุณพอจะหาจุดอ่อนได้ก่อนคนอื่นหรือไม่? แล้วคุณจะจัดการกับจุดอ่อนนั้นอย่างไรบ้าง? หากจำเป็น ต้องเต็มใจเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัว…

 

หลุมพรางที่ 6 : ทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนมากเกินไป

การไม่ใส่ใจคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่กลับยอมรับคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากโดยไม่จำเป็น…

ตัวอย่าง คุณหาของชิ้นหนึ่งในบ้านไม่เจอ คุณทึกทักเอาว่า มีผู้ร้ายย่องเบามาขโมย แทนที่จะพิจารณาว่า คุณแค่วางผิดที่ผิดทางหรือเปล่า!?

วิธีปีนออกจากหลุม ใช้หลักการของ Occam’s Razor ซึ่งกฎข้อนี้บอกว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเท่าเทียมกัน ฉะนั้นทางออกที่เรียบง่ายที่สุด ก็ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”


หลุมพรางที่ 7 : ไม่ใช่ความคิดของฉัน!

เป็นการมองข้ามความคิดใดความหนึ่งไป เพียงเพราะคนอื่นเป็นคนคิด!

ตัวอย่าง ลูกๆ คุณไม่ยอมทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคุณเป็นคนบอกให้ทำ! ทั้งที่ปกติเขาไม่รังเกียจจะทำสิ่งนั้นเลย!

วิธีปีนออกจากหลุม ลองใช้วิธีทำให้คนอื่น “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นคนคิดเรื่องนั้น… หรือบอกว่า ข้อแนะนำนั้นเป็นของเขาเอง… หากกลับกัน คุณเป็นคนที่อึดอัดใจเมื่อใช้ความคิดเห็นของคนอื่น ให้เตือนตัวเองว่า ทางปฏิบัติที่ฉลาดคือ “ให้ดูความดีหรือข้อดีที่พวกเขาทำ ไม่ใช่ดูว่าใครคิดเรื่องนั้น” หรือคุณอาจลองปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นสักหน่อย ลองใส่ความคิดของคุณเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้รู้สึกว่าเป็นความคิดของคุณมากขึ้น…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save