9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับคนทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง

listenatwork

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่กระหายในความสำเร็จของชีวิต เพราะเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะแรกสุดที่ธรรมชาติให้มา นั่นคือการฟังนั่นเอง ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจ (Start Up) ด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากการฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด ปัญหาจะเกิดกับธุรกิจทันที

ดังนั้นเพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณ มีพัฒนาการที่ดีด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณได้ด้วย

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

3.ทวนความเป็นช่วงๆ ช่วยคุณได้

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

4.ฝึกสมาธิของคุณเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงสิ

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

6. การอบรมเรื่องการฟัง ช่วยได้มาก

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

หลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร เช่น “Communication for AEC Leadership: ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้บริหารยุค AEC”

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

บทความโดย Learning Hub Thailand

พัฒนาทักษะการฟัง อย่างก้าวกระโดดใน 1 วัน ด้วยหลักสูตร “Dialogue & Deep Listening : ศิลปะการสื่อสารและการฟัง” โดย เรือรบ ดูรายละเอียดคลิก

5 วิธีจับ “ไอเดียปิ๊งแว้บ” ให้อยู่หมัด

คนที่ทำงานครีเอทีฟ คงรู้ว่าชั่วขณะแห่งการ “ปิ๊งแว้บ” หรือ “AHA moment” ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ และที่สำคัญถ้าจับไว้ไม่ทัน มันก็จะหายไปอย่างไร้ร่องรอ

ต่อไปนี้เป็น 5 วิธีที่จะทำให้คุณสามารถผลิตไอเดียสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ และยังคว้าชั่วขณะแห่งการ ”ปิ๊งแว้บ ไว้ได้อยู่หมัดด้วย

1. อยากรู้อยากเห็น

ความอยากรู้อยากเห็น เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสภาวะปิ๊งแว้บ แม้แต่สิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันที่พบเจออยู่ทั่วไป เราจะสามารถมองเห็นรายละเอียดและสร้างไอเดียใหม่ขึ้นมาได้ ในขณะที่คนทั่วๆไปจะมองไม่เห็น เพราะพวกเขาเคยชินกับมันไปแล้ว จึงไม่สังเกต ไม่ตั้งคำถาม หรือไม่มีสงสัยเกี่ยวกับมัน

 

2. ปล่อยใจให้ล่องลอย

การวิจัยทางประสาทวิทยาพบว่า คนที่ชอบฝันกลางวัน นั้นใช้สมองในส่วนของจินตนาการเป็นอย่างมาก นี่เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่อธิบายว่า การปล่อยใจให้ล่องลอย อันที่จริงเป็นปล่อยให้สมองได้ทำงานในการค้นพบไอเดียดีๆที่แอบซ่อนอยู่ เป็นการประมวลผลข้อมูลเก่าๆที่จะมาตอบโจทย์ด้วยวิธีการใหม่ๆที่สร้างสรรค์กว่า ดังนั้นในยามว่าง อย่าฆ่าเวลาเล่นด้วยการทำให้สมองยุ่ง แต่จงปล่อยให้สมองมีพื้นที่เงียบๆว่างๆ และปล่อยใจให้ล่องลอยบ้าง เพื่อไอเดียจะผุดบังเกิด

 

3. ไม่มีความบังเอิญในโลก

ในทุกๆสถานการณ์มักจะมีสิ่งผิดปกติอยู่เสมอ กระตือรือร้นที่จะมองหาสิ่งแปลกปลอมให้เจอ อย่าพยายามรีบอธิบายปรากฏการณ์ตรงหน้าว่าเป็นแค่เรื่องบังเอิญ และมองผ่านไป เพราะความบังเอิญนี่แหละจะเป็นเงื่อนงำนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ขอเพียงเราจดจ่อ มองหาความหมาย หรือความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้น นั่นจะเป็นวิธีที่จะสร้างไอเดียแปลกใหม่ให้เกิดขึ้น

 

4. มองให้ชัด เมื่อเจอสิ่งขัดแย้ง

ไอเดียโดนใจ มักเกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญกับสิ่งที่ดูขัดแย้งและดูไม่สมเหตุสมผลสำหรับเรา การตั้งคำถามเมื่อเจอสิ่งที่ดูขัดแย้งนั้น จะนำไปสู่เส้นทางการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในขณะที่ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เราแปลกใจ ความขัดแย้งนั้นจะทำให้เราเกิดความสงสัยและตั้งคำถาม นี่เป็นอีกวิธีที่จะเข้าถึงปัญญาญาณของเรา

 

5. ทำทันที เมื่อมีเสียงภายใน

บางครั้งในความกดดัน มันจะรีดเร้นศักยภาพของเราออกมา ความคิดดีๆมักผุดขึ้นมาในสภาวะอันคับขันและเร่งด่วน ดังนั้นยิ่งรีบเร่ง เรายิ่งควรจะไว้วางใจในตัวเอง อย่าตระหนกตกใจ ตีโพยตีพาย แต่ให้สงบใจไว้ ตั้งสติ แล้วเผชิญหน้ากับมัน ลองมองว่าอะไรบ้างที่เรามองข้ามไปในภาวะปกติ เมื่อเกิดประกายความคิด หรือความรู้สึกอยากทำอะไรบางอย่าง ให้รีบลงมือกระทำในทันที โดยไม่ต้องสงสัยหรือกังวลใจ จำไว้ว่าในภาวะคับขัน เซ้นส์ของเรามักจะถูกต้องเสมอ

บทความโดย เรือรบ
………………

การสร้างสภาวะแห่งการปิ๊งแว้บ หรือการเข้าถึงปัญญาญาณของเรา เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ ขอแนะนำหลักสูตรการเข้าถึงปัญญาญาณและผลิตความคิดสร้างสรรค์ ผ่านเวิร์คช้อปการเขียน ในหลักสูตร “Intuitive Writing: ปลดล็อคศักยภาพการเขียนในตัวคุณ” โดย อ.เรือรบ ซึ่งจะทำให้การเขียนของคุณ ไม่ติดขัดอีกต่อไป รายละเอียดหลักสูตร

4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

deeplistening

“โลกออนไลน์ ทำให้เราพูดได้มากขึ้น แต่กลับฟังกันได้น้อยลง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สังเกตปฏิกริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง

2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา 

3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มึคุณภาพ

 4. เคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น 

แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า จะคุยกับเราอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆกันด้วย

เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากสนใจฝึก การฟังอย่างลึกซึ้ง ขอแนะนำหลักสูตร “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

วันที่ 11 มิ.ย.59 นี้ ครั้งสุดท้ายของปี อบรมโดย “เรือรบ” ดูรายละเอียดที่นี่

10 สุดยอดเทคนิค พิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

LHT template update 26 12 2016

คุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหนคะ?

จากการทำงานภายใต้องค์กรหนึ่งชื่อว่า gullup organization พบว่าคนที่มีเพื่อนสนิทหรือกัลยาณมิตรที่ดี 7 เท่าได้มาจากการทำงาน

บทความนี้เราจะโฟกัสไปที่คุณจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราจะมาดูกันว่าทำไมการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจึงมีความสำคัญและยังโฟกัสไปถึงการกระชับความสัมพันธ์ของคุณกับคนที่ไม่ค่อยลงรอยกับคุณให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

 

ทำไมจึงต้องมีความสัมพันธ์หรือมิตรภาพที่ดีในการทำงาน?

ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม เราโหยหามิตรภาพความสัมพันธ์ที่ดีเสมือนโหยหาน้ำและอาหาร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ยิ่งเรามีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีความสุขและสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

ข้อดีในการมีความสัมพันธ์ในการทำงานนั้นมีมากมาย เช่น คุณจะเพลิดเพลินในการทำงานขึ้นมาทันทีเมื่อคุณถูกรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่ดี ทั้งคนเหล่านั้นมีแนวโน้มในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ดีทำให้เรากลายเป็นคนที่มีไอเดียใหม่ๆ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

นอกเหนือจากนี้ ความสัมพันธ์ที่ดียังให้อิสระต่อเราด้วย ยกตัวอย่างเช่น แทนที่เราจะใช้เวลาหมดไปกับการแก้ปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับความสัมพันธ์แย่ๆ เราสามารถโฟกัสไปที่โอกาสต่างๆที่เข้ามาได้มากขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ดียังเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากถ้าคุณต้องการจะพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของคุณเอง พูดง่ายๆคือหากเจ้านายคุณไม่ไว้ใจคุณแล้วละก็ สิทธิในการได้รับเลื่อนตำแหน่งในโอกาสต่างๆของคุณก็หมดไปแน่นอนเพราะเราเองก็คงไม่อยากร่วมงานกับคนที่ไม่ลงรอยกับเราเท่าไหร่นัก

นอกจากเจ้านายของคุณแล้ว คุณยังต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆอีกด้วยในที่นี้คือ ลูกค้า ผู้ผลิต และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการประสบความสำเร็จของคุณ ดังนั้นมันจึงจำเป็นอย่างมากในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนเหล่านี้ไว้

 

แล้วอะไรล่ะที่เรียกว่าการมีความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน?

ลักษณะที่ดีในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน ได้แก่

ความไว้เนื้อเชื่อใจ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกๆความสัมพันธ์ เมื่อไหร่ที่คุณเชื่อใจ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานหรือเพื่อนร่วมงานของคุณ นั่นหมายถึงคุณได้เชื่อมสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้คุณทำงานและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะความเชื่อใจจะทำให้คุณคิดและทำทุกอย่างอย่างซื่อสัตย์ เปิดเผย และไม่ต้องมาคอยกังวลหรือเสียเวลากับการคอยระมัดระวังการกระทำของคุณ

ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อไหร่ที่คุณเคารพเพื่อนร่วมงานของคุณ เช่น เคารพการทำงานหรือความคิด คุณก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมาเช่นกัน

การเอาใจใส่ ในที่นี้หมายถึงการมีความรับผิดชอบต่อการกระทำและคำพูด คนที่เอาใจใส่ผู้อื่นจะระมัดระวังและใส่ใจสิ่งที่เขาพูดไปและจะไม่ยอมให้คำพูดหรืออารมณ์ในด้านลบของตนเองต้องไปกระทบกับคนใกล้ตัว

การยอมรับซึ่งความหลากหลาย ผู้คนที่มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงแต่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดหรือระหว่างตัวบุคคลเท่านั้นแต่ใส่ใจสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เช่น เมื่อไหร่ที่เพื่อนร่วมงานของคุณเสนอไอเดียที่แตกต่างออกไปจากคุณ คุณให้เวลากับตัวเองในการพิจารณาไอเดียเหล่านั้น เจาะลึกไปในแต่ละจุดและนำสิ่งเหล่านั้นไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

การสื่อสาร คนเราสื่อสารกันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล์ การส่งข้อความต่างๆหรือแม้แต่การประชุม ยิ่งคุณมีการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพกับผู้คนรอบๆตัวคุณมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับการสื่อสารที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา

 

เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้กับใครล่ะ?

แม้ว่าเราควรพยายามที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกๆคน แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์หรือคนบางกลุ่มที่เราต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น คุณจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาความสัมพันธ์จากผู้ที่มีส่วนได้รับผลประโยชน์ในองค์กรของคุณ

คนเหล่านี้คือผู้ที่ชี้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงาน การสานสัมพันธ์กับคนเหล่านี้จะช่วยให้งานหรือโปรเจคใหญ่ๆของคุณดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

การที่เราจะรู้ว่าผู้มีส่วนได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นเป็นใครบ้าง คุณควรทำรายการวิเคราะห์ขึ้นมา เมื่อคุณทำรายการวิเคราะห์แล้วใครที่มีความสนใจในงานหรือโปรเจคของคุณ คุณก็เริ่มใช้เวลาในการสานสัมพันธ์กับคนเหล่านั้นได้เลย

ส่วนลูกค้าหรือผู้รับบริการที่สมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ให้คุณลองนึกว่าเมื่อไหร่คือครั้งสุดท้ายที่คุณได้มีโอกาสจัดการกับลูกค้านิสัยแย่ๆ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แม้ว่าเราจะไม่สามารถรักษาความพึงพอใจของลูกค้าทุกคนได้  100 เปอร์เซ็นต์

แต่การรักษาไว้ซึ่งความน่าไว้วางใจ ความซื่อสัตย์กับลูกค้าจะสามารถช่วยทำให้คุณแน่ใจว่าเมื่อไหร่ที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาด ผลกระทบก็อาจจะมีไม่มาเท่าไหร่นัก นอกจากนี้การสานสัมพันธ์ที่ดีกบลูกค้าสามารถทำให้คุณเพิ่มยอดขาย คำติชมหรือรางวัลความสำเร็จในชีวิต

 

นี่คือ 10 สุดยอดเทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและพิชิตใจเพื่อนร่วมงาน

1.พัฒนาทักษะการทำงานกับผู้อื่น

ความสัมพันธ์ที่ดีเริ่มจากการมีทักษะเรื่องการทำงานที่ดีกับคน เช่น การร่วมมือกันทำงาน การสื่อสารและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

2.แยกแยะความสัมพันธ์กับคนที่คุณต้องการจะพัฒนา

โฟกัสไปที่ความสัมพันธ์ที่คุณต้องการ คุณรู้รึเปล่าว่าคุณต้องการอะไรจากคนเหล่านั้น? แล้วพวกเขาเหล่านั้นต้องการอะไรจากคุณ? การเข้าใจถึงความต้องการเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องมือในการสร้างความสำคัญที่ดีขึ้นได้

3.รู้จักจัดตารางเวลา

สละเวลาของคุณเพียงเล็กน้อยในแต่ละวันในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานเพียงแค่ 5 นาทีหรือ 20 นาที เช่น เข้าไปถามไถ่เพื่อนร่วมงานช่วงพักกลางวัน ตอบข้อความในทวิตเตอร์หรือชวนกันไปนั่งดื่มกาแฟ สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีโดยเฉพาะการพูดคุยหรือทำอะไรต่อหน้ากัน

4.ให้ความสำคัญกับความฉลาดทางอารมณ์

ใช้เวลาในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้คุณรับรู้ความรู้สึกของคุณเองและเข้าใจสิ่งที่คนอื่นพยายามที่จะบอกคุณ ดังนั้นผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะสามารถเข้าใจอารมณ์และความต้องการของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

5.ยกย่องผู้อื่น

แสดงความขอบคุณเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนช่วยคุณ ทุกคนในที่นี้คือตั้งแต่เจ้านายของคุณไปจนถึงแม่บ้านทุกคนต้องการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในงานที่ทำ ดังนั้นการที่เราชื่นชมยกย่องผู้คนรอบตัวคุณด้วยความจริงใจ นั้นจะเป็นสิ่งที่ช่วยเปิดประตูในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคุณกับคนเหล่านั้น

6.คิดบวก

การคิดบวกเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดและสามารถส่งต่อไปยังคนรอบข้างได้และมันจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเพื่อนร่วมงานแข็งแรงขึ้น ไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่ท่ามกลางคนที่คิดลบตลอดเวลา

7.จัดการกับขอบเขตของคุณ

คุณต้องแน่ใจว่าคุณจัดการขอบเขตของคุณอย่างเรียบร้อย ทุกคนต้องการมีเพื่อนในที่ทำงานแต่บางครั้งมิตรภาพก็ส่งผลกระทบต่องานของคุณ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ก็ตามที่เพื่อนร่วมงานของคุณเริ่มอยากจะใช้เวลากับคุณมากขึ้น

เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่มันจำเป็นอย่างมากที่คุณจะต้องบริหารเวลาของคุณให้ดีว่าคุณมีเวลาเข้าสังคม พบปะสังสรรค์มากน้อยเพียงใดในระหว่างการทำงานแต่ละวัน

8.หลีกเลี่ยงการนินทา

การแบ่งพรรคแบ่งพวกในที่ทำงานและการนินทาเป็นปัจจัยหลักที่จะทำร้ายความสัมพันธ์ของคุณ ถ้าคุณมีประสบการณ์การมีปัญหาความขัดแย้งกับใครบางคนในกลุ่มให้คุยกันแบบเปิดเผยถึงปัญหา

เพราะการนินทาเพื่อนร่วมงานไม่เพียงแต่จะเพิ่มความรุนแรงแต่ยังก่อให้เกิดความหวาดระแวงและความเกลียดชังอีกด้วย

9.ฟังอย่างตั้งใจ

เมื่อไหร่ที่คุณพูดคุณกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงาน คนเหล่านั้นจะตอบสนองต่อสิ่งที่ผู้ฟังตั้งใจฟังว่าพวกเขาพูดอะไร โฟกัสการฟังมากกว่าการพูดแล้วคุณจะกลายเป็นคนที่น่าไว้ใจได้ภายในพริบตา

10.จัดการกับความสัมพันธ์ที่ยากลำบาก

บางครั้งคุณอาจจะต้องทำงานกับคนที่คุณไม่ชอบหรือบางคนที่ทำงานไม่เข้าขากันบ้างแต่ยังไงก็ตามมันก็จำเป็นอย่างมากในการรักษาความสัมพันธ์ให้มีความเป็นมืออาชีพกับคนเหล่านั้น เมื่อไหร่ที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพยายามเรียนรู้คนคนนั้น

ช่วงแรกๆมันอาจจะดูเหมือนว่าเราไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ ดังนั้นเราควรเริ่มต้นบทสนทนาที่เป็นกันเอง จริงใจ เช่นอาจจะชวนไปทานอาหารเที่ยง เป็นต้น ระหว่างบทสนทนาเพื่อให้เป็นกันเองมากขึ้นอาจจะถามถึงสิ่งที่เขาสนใจหรือสิ่งที่ประสบความสำเร็จในอดีต แทนที่คุณจะมองหาความแตกต่างระหว่างกัน คุณควรมองหาสิ่งที่คล้ายคลึงระหว่างเขาและคุณมากกว่า

สุดท้ายนี้ให้คุณระลึกเอาไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์ที่เราพยายามจะออกมาเวิร์คแต่อย่างน้อยเราก็ได้พยายามอย่างเต็มที่

แปลและเรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand Team

ที่มาบทความ

https://www.mindtools.com/pages/article/good-relationships.htm

หลักพื้นฐาน 3 ประการ ของไดอะล็อค

“Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา” คือ กระบวนการสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง ใคร่ครวญ และไม่ด่วนตัดสิน

หลายท่านคนที่เคยไปเข้าวงไดอะล็อค จะรู้สึกว่า มันก็คือการตั้งวงสนทนาแบบนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้ว่าการไดอะล็อคส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมกันเป็นวงกลมในการพูดคุย ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ภายนอกเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับความพิเศษของกระบวนการไดอะล็อคอยู่มากทีเดียว

การที่เราจะเริ่มฝึกสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องสามารถ “แยกแยะ” ความแตกต่างระหว่างการไดอะล็อค กับการสนทนารูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน

Deep Listening – การฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน

บทสนทนาทั่วไป แม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ และถ้าเกิดมีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็วจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ “ค้นหาจุดอ่อน” ที่เราจะเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที

ในขณะที่การฟังในวงไดอะล็อคจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจและโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังเค้าต่อจนจบ ทักษะนี้เรียกว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งต้องอาศัย “สติ” และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะสามารถใส่ใจรับฟัง “สิ่งที่เค้าไม่ได้พูด” อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังแบบนี้ จึงไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ “รับรู้” ผู้พูดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นอกเห็นใจเค้าจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเค้า โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเราเข้าไปเป็นมาตรฐาน

การพูดคุยแบบอื่นนั้น มักจะลงเอยที่มี “ผู้แพ้ และผู้ชนะ” “มีคนถูก คนผิด” แต่สำหรับไดอะล็อคแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา “ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆกัน”

เนื่องจากในวงไดอะล็อค ให้ความสำคัญกับ “การค้นหาความเข้าใจร่วม” ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูกผิด หรือการให้ความสำคัญของความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวง และจะทำให้ไม่เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

Respect & Equalityความเท่าเทียม โดยปราศจากอิทธิพลใดๆครอบงำ

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อค ต่างมีข้อตกลงว่า ภายใต้การล้อมวงนั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากก็ตาม

สภาวะแห่งความเท่าเทียมกัน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโสหรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อคได้

Unfolding Assumptions – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อคกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อค พร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนขึ้นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าจะรู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก “ตัดสิน” จากคนอื่น แต่จะกลายเป็นการสร้าง “พื้นที่แห่งความจริง (moment of truth)” ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้และพร้อมเปิดใจของตนเองเช่นกัน

ในวงไดอะล็อค ไม่ได้จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความสุนทรียะ หรือให้รู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกจะทำให้เราได้เคลียร์ความในใจต่อกัน และไม่ต้องเดาหรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิดหรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่า ในบางครั้งการเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูมีอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่นและทำให้บางคนมีอารมณ์ที่ขึ้นสูงได้ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำร้ายกัน  นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากเรายังไม่รู้สึกไว้วางใจเต็มที่ ก็สามารถค่อยๆเปิดเผยความคิดของเราไปทีละชั้นๆได้ วงไดอะล็อคก็จะค่อยๆเติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กันและกัน ด้วยความเคารพให้ความเท่าเทียมกัน มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสินกัน  ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราก็สามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ


หากจะตอบคำถามในบรรทัดแรก ไม่ว่ารูปแบบการนั่งสนทนาจะนั่งพื้นเป็นวงกลมหรือไม่ สมาชิกจะพูดคุยกันอย่างออกรสเพียงใด หากองค์ประกอบ 3 ข้อตามที่กล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการไดอะล็อค

อย่างไรก็ตาม ในทุกบทสนทนา โดยไม่ทันรู้ตัว ก็อาจจะกลายเป็นการไดอะล็อคได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ หากผู้ร่วมวงสามารถเปิดใจรับฟังกันและกัน เคารพในความคิดของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม และเปิดใจจนเกิดการสนทนาที่ลึกซึ้งได้

ผลลัพธ์ของการพูดคุยครั้งนั้น จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สานสายสัมพันธ์ของผู้คน และประสานพลังความคิดให้เห็นมิติใหม่ๆ เกิดเป็นความเข้าใจร่วมที่สอดคล้องกันได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

หากต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และมีประสบการณ์เข้าร่วมวงไดอะล็อคอย่างแท้จริง ขอแนะนำหลักสูตร Dialogue & Deep Listening โดย อ.เรือรบ

5 ความผิดพลาด ที่คนสำเร็จเค้าไม่ทำกัน

ไม่ว่าคุณจะอยากประสบความสำเร็จในด้านใดก็ตาม จะเป็นการงานอาชีพ งานอดิเรก การใช้ชีวิตส่วนตัว ในเมื่อมีกฎสากลอยู่แล้วในการที่จะประสบความสำเร็จ มันก็มีบางสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ต่อไปนี้เป็น ความผิดพลาด 5 ประการ ที่ต้องระวัง มาลองดูกันว่าคุณตกหลุมพรางเหล่านี้ไปบ้างแล้วรึยัง

1.การเลี่ยงความรับผิดชอบ

“ราคาของความยิ่งใหญ่ ก็คือความรับผิดชอบ”

Winston Churchill

อย่างแรกที่คนสำเร็จเค้าไม่ทำกันคือ “การโทษคนอื่น หรือหาคนรับผิด” แม้กระทั่งในความคิดก็เถอะ เมื่อบางอย่างผิดพลาดไป อะไรคือปฏิกิริยาแรกของคุณ? สำหรับคนสำเร็จ เค้าเลือกที่รับความผิดนั้นไว้กับตน แทนที่จะโทษคนอื่นหรือโทษโชคชะตา นั่นจึงทำให้เขาได้ “เรียนรู้” จากความผิดพลาดนั้น แล้วก็ไม่ผิดซ้ำอีก

2.การผัดวันประกันพรุ่ง

“การผัดวันประกันพรุ่ง คือพฤติกรรมแย่ๆที่เลื่อนไปถึงวันมะรืน ในขณะที่ควรทำตั้งแต่เมื่อวานซืน”

Napoleon Hill

คนสำเร็จนั้นเน้น “กระทำทันที” โดยไม่สนว่าเป็น “เวลาที่เหมาะสม” หรือไม่ พวกเขาทำงานหนักและไม่เคยยอมแพ้ โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมว่าต้องเอื้ออำนวย ความลับของความสำเร็จนั้นมาจาก “การสะสมความสำเร็จเล็กๆ” ด้วยการทำซ้ำ เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ใช่รอท่าให้เกิดความสำเร็จใหญ่ครั้งเดียว

3.การตามกระแส

“ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้สำเร็จจากการที่ทำตามแนวโน้มหรือกระแสนิยมของคนทั่วไป”

Jack Kerouac

ในแต่ละวัน คนเราผลิตข้อมูลมากมายมหาศาลจนล้นทะลัก มันจึงง่ายที่เราจะกระโดดเข้าไปสนใจในสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เหมือนเป็นโรค “กลัวตกเทรนด์” การทำเช่นนี้ ทำให้เราไม่เหลือเวลาสำหรับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่ตนทำอยู่ คนสำเร็จใช้พลังงานไปกับการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับเป้าหมายของตนเอง โดยไม่สนใจเรื่องอื่น ตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการสำเร็จในด้านการขายและการตลาด คุณอาจจะเลือกที่จะศึกษาลงลึกไปในด้านจิตวิทยามนุษย์ ไม่ใช่การมองหาวิธีโปรโมทแคมเปญใหม่ๆบนโซเชียลมีเดีย

4.ศิลปินเดี่ยว

“ ชีวิตไม่ใช่การแสดงคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันอย่างยิ่งใหญ่ และเราจำเป็นต้องรวบรวมคนรอบๆตัวที่เค้าใส่ใจและสนับสนุนเรา”

Tim Gunn

สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่คนสำเร็จทำ นั่นก็คือแวดล้อมไปด้วยคนสำเร็จรอบๆตัว เขาจะไม่อยู่เพียงลำพัง จะมีเครือข่ายและกลุ่มมืออาชีพ อยู่ท่ามกลางคนฉลาด ที่สามารถทำเรื่องแตกต่างได้ นี่คือความจริง ไม่ว่าคุณจะอยากสำเร็จในเรื่องยิ่งใหญ่เพียงใด หรือแม้กระทั่งอยากลดน้ำหนักให้สำเร็จ มีการศึกษาวิจัยว่า เราจะลดน้ำหนักได้มากกว่าถ้าทำด้วยกันเป็นกลุ่ม

5.ขาดศรัทธา

เชื่อในตนเอง มีศรัทธากับความสามารถของตน หากไม่มีความถ่อมตนและมั่นใจอย่างมีเหตุผลในพลังของตัวเองแล้วล่ะก็ คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จและมีความสุขได้เลย”

Norma Vincent Peale

เรื่องนี้ไม่ใช่การคิดบวกหรือจินตนาการเข้าข้างตัวเอง “การมั่นใจอย่างมีเหตุผล” จะทำให้คุณสำเร็จในสิ่งที่คุณวางเป้าหมายไว้ หากคุณไม่คิดแม้แต่ว่าจะทำได้สำเร็จแล้วล่ะก็ คุณจะไม่ลองทำด้วยซ้ำ ดังนั้นคุณต้องเพาะบ่มความเชื่อและศรัทธาในตนเองให้เกิดขึ้น แม้ว่าชีวิตกำลังถอยหลังและยากลำบากอยู่ก็ตาม

 

การหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ จะช่วยให้คุณบรรลุความสำเร็จในการงานและเป้าหมายส่วนตัวได้ แต่ถ้าอยากพบกับ “ความสำเร็จที่แท้จริง” แล้วล่ะก็ คุณต้องมีความสุขกับชีวิตเสียก่อน แถมท้ายกับความผิดพลาดข้อ 6. “ความไม่สมดุล” คนเรามักจะล้มเหลวเพราะไม่มีความสมดุลระหว่าง การงาน ครอบครัว เพื่อน และสุขภาพของตน การที่เราสำเร็จด้านเดียว แต่แล้วก็ล้มเหลวด้านอื่น ก็ไม่อาจทำให้เรารู้สึกเต็มเต็มชีวิตได้อย่างแท้จริง

ดังนั้น ความสำเร็จที่แท้จริง คือ “ความสุขและความสมดุล” หากคุณสามารถสร้างสมดุลให้ทุกพื้นที่ของชีวิตได้ คุณก็จะมีความสุขและกำลังใจเต็มเปี่ยม เรื่องอื่นจะไปยากอะไร จริงมั้ยครับ

บทความโดย เรือรบ

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save