8 เรื่องเล็กๆ ที่หัวหน้าไม่ควรมองข้าม

23 03 2017

หลายคนชอบคิดไปว่า “การเป็นหัวหน้า” เป็นเรื่องง่าย แค่ชี้นิ้วสั่งให้ลูกน้องทำงาน ทั้งยังมีอำนาจสามารถทำตามใจต้องการได้ทุกเรื่อง… แต่ความเป็นจริงแล้ว “หัวหน้าคือคนที่ทำงานหนัก แบกความรับผิดชอบไว้มากมาย อีกทั้งยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และครองใจลูกน้องได้ด้วย”

บทความนี้จะนำเสนอ “8 คำแนะนำ” ซึ่งคนเป็นหัวหน้าควรอ่าน เพราะเมื่อคุณอ่านจบและทำตามคำแนะนำ คุณจะพบว่า “ชีวิตการเป็นหัวหน้าของคุณดีขึ้น” คุณสามารถทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ลูกน้องก็จะรักคุณมากขึ้นด้วย…

 

1. เอ่ยคำ “ขอบคุณ” อย่างจริงใจ

 

หากคุณเป็นหัวหน้า คุณย่อมรู้ดีว่า ในแต่ละวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีภารกิจที่ต้องทำมากมาย ต้องประชุม ทำงานร่วมกับทีม แก้ไขปัญหาต่างๆ แม้กระทั่งการตอบอีเมล์… และต้องไม่ลืมว่า ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ คุณต้องเดินผ่านบันไดไปทีละขั้นๆ และข้างทางยังต้องอาศัยคนคอยช่วยเหลือตลอดเวลา

นั่นหมายความว่า “การที่คุณจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน คุณไม่สามารถทำงานคนเดียว” แต่ทุกคนที่แวดล้อมคุณมีส่วนผลักดันและคอยสนับสนุนคุณอยู่เสมอ ดังนั้น คุณควรกล่าว “ขอบคุณ” พวกเขาเป็นการตอบแทนบ้าง แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำให้คุณ อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม

หลายองค์กรคิดว่าการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงานในรูปแบบตัวเงิน โบนัส และสวัสดิการ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว… แต่คุณลองคิดดูว่า หากคุณทำสิ่งดีๆ ให้ใครสักคน แล้วเขารู้สึกได้ถึงความตั้งใจดีของคุณ เขาซาบซึ้งใจและกล่าวขอบคุณ สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกดี โดยไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือรางวัลใดๆ เป็นการตอบแทน… หัวหน้างานก็เช่นกัน หากลูกน้องทำสิ่งต่างๆ ให้ คุณควรกล่าวขอบคุณพวกเขาอย่างจริงใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารับรู้ว่า “คุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาทำ” และพวกเขาก็จะประทับใจในตัวคุณ

 

2. ใช้เวลาพูดคุยกับทีมอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

 

ไม่ว่าคุณจะยุ่งสักแค่ไหน คุณควรจัดสรรเวลาสัก 5-10 นาทีต่อวัน ในการพูดคุยเรื่องต่างๆ กับทีมงาน คุณควรสอบถามความก้าวหน้าของงานเป็นระยะๆ เพื่อให้รู้ว่าพวกเขาประสบปัญหาหรือติดขัดเรื่องอะไรหรือไม่…

วิธีการนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่า “คุณดูแลเอาใจใส่ ไม่ทิ้งให้พวกเขาอยู่ลำพัง” และคุณจะได้ช่วยเหลือพวกเขาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ หากคุณมีเวลาว่างมากกว่านั้น คุณอาจถามถึงเรื่องสารทุกข์สุกดิบอื่นๆ เช่น เรื่องท่องเที่ยว, ชีวิตครอบครัว, งานอดิเรก, ข่าวสารบ้านเมือง… หากคุณให้ความเป็นกันเอง พยายามพูดคุยสื่อสาร และเข้าหาพนักงาน จะทำให้ช่องว่างระหว่างคุณกับพนักงานลดลง ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้พวกเขาไม่เครียด ไม่อึดอัด และสามารถทำงานกับคุณได้อย่างสบายใจ

 

3. มอบหมายงานให้ลูกน้องอย่างเหมาะสม

 

คุณเป็นหัวหน้าแบบไหน? ระหว่างหัวหน้าที่ทำงานด้วยตัวเองทั้งหมด หรือหัวหน้าที่กระจายงานบางส่วนให้กับลูกน้อง…

หากคุณเป็นประเภทแรก คุณจะทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับบ้านดึกดื่น และบางครั้ง คุณอาจส่งงานไม่ทันตามกำหนดเวลา ในทางกลับกัน หากคุณเป็นหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำ โดยคุณจะเป็นผู้ติดตาม ตรวจทาน และเสนอแนะวิธีแก้ไขให้กับลูกน้อง

หัวหน้างานที่ดี คือหัวหน้างานประเภทที่สอง คุณควรสอนให้พวกเขาทำงานเป็น เพราะหากไม่มีคุณ ลูกน้องก็ยังสามารถสานต่อและรับผิดชอบงานแทนได้… วิธีนี้คล้ายกับสุภาษิตจีนที่ว่า “ถ้าให้ปลาเขา เขาจะมีกินแค่วันนี้ แต่ถ้าคุณสอนเขาตกปลา เขาจะมีปลากินไปชั่วชีวิต”

นอกจากนี้ การมอบหมายงานยังทำให้คุณรู้จักการบริหารจัดการเวลา และมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณมอบหมายงานให้ลูกน้องแล้ว คุณก็ควรเป็นผู้ฝึกสอน คอยให้คำปรึกษาในยามที่พวกเขาพบเจอกับอุปสรรคในการทำงานด้วย

 

4. เลิกงานตรงเวลา

 

Work-Life Balance เป็นกระแสที่มาแรงมากในปัจจุบัน กล่าวคือ พนักงานจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วย ดังนั้น คุณไม่ควรโหมทำงานหนักจนเกินไป คุณควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนหรือดูแลตัวเองบ้าง เพราะหากคุณมัวแต่หมกมุ่นกับการทำงาน สุขภาพของคุณก็จะแย่ และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา

นอกจากนี้ การที่คุณซึ่งเป็นหัวหน้างาน กลับบ้านดึก เพราะเอาแต่ทำงาน ถือเป็นการกดดันลูกน้องทางอ้อม ให้กลับบ้านดึกเหมือนคุณ เพราะลูกน้องจะรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องกลับบ้านก่อนหัวหน้า ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานตึงเครียด อึดอัด ไม่มีชีวิตชีวา… ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเป็น Role Model ให้กับลูกน้อง โดยการเลิกงานให้ตรงเวลา และบริหารจัดการงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ

 

5. ตรวจเช็คอีเมล์ก่อนส่งทุกครั้ง

 

จะเกิดอะไรขึ้นหากคุณรีบร้อนส่งอีเมล์ออกไปโดยไม่ตรวจทาน แน่นอนว่าคุณต้องพบกับความผิดพลาดด้านเนื้อหา หรือการใช้ภาษาผิด คุณอาจคิดว่าความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของคุณ แต่จริงๆ แล้ว มันทำให้ “ภาพลักษณ์ของคุณ” กลายเป็นคนที่ไม่ละเอียดรอบคอบ เลินเล่อ สะเพร่า และไม่มีความเป็นมืออาชีพ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะส่งอีเมล์ทุกครั้ง ควรตรวจทานให้ดี

 

6. สื่อสารซึ่งกันและกัน

 

“เป้าหมาย” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำงานเป็นทีม เพราะหากทุกคนมองไม่เห็นเป้าหมายเดียวกัน ก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ยกตัวอย่าง หัวหน้ามีเป้าหมายในการทำกำไรให้บริษัท แต่ลูกน้องมีเป้าหมายในการหาเลี้ยงครอบครัว…

ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนบรรลุเป้าหมาย และสามารถทำตามความต้องการของตน คุณจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้สื่อสารบ้าง กล่าวคือ หัวหน้าที่ดีต้องใช้การสื่อสารแบบ Two-Way Communication ในทางตรงกันข้าม หัวหน้าที่ไม่ดีจะใช้การสื่อสารแบบ One-Way Communication เพราะฉะนั้น หากคุณต้องการให้ลูกน้องเข้าใจคุณ คุณต้องพยายามทำความเข้าใจลูกน้องก่อน และทั้งสองฝ่ายจะทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข

 

7. ปฏิเสธอย่างมีศิลปะ

 

คุณไม่จำเป็นต้องตอบรับความต้องการ หรือแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ลูกน้อง เพราะหากคุณทำเช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างจะถาโถมเข้าหาคุณ ดังนั้น หากมีสิ่งที่เกินกำลัง หรือคุณไม่สามารถทำได้ คุณควรปฏิเสธ ดีกว่าจะรับทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธของหัวหน้า ควรเป็นการปฏิเสธที่มีศิลปะ คุณควรอธิบายเหตุผลให้ชัดเจน และอย่าลืมรักษาน้ำใจคนฟังด้วย

 

8. มีสติ และให้เกียรติลูกน้อง

 

หากคุณเผชิญอุปสรรคในที่ทำงาน ทำให้คุณหัวเสีย โมโห หรือส่งผลให้อารมณ์ไม่ดี จงจำให้ขึ้นใจว่า การใช้ความรุนแรงไม่เกิดประโยชน์อันใด และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่าเดิม วิธีที่ถูกต้องเมื่อคุณรู้สึกไม่พอใจผลงานของลูกน้อง หรือสิ่งต่างๆ คุณต้องตั้งสติ พยายามระงับความเดือดดาลภายในใจ และปฏิบัติต่อคนรอบข้างอย่างให้เกียรติ… อย่าแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ตะโกน หรือตะคอกใส่ผู้อื่น เพราะไม่มีใครชอบพฤติกรรมเช่นนี้ แม้กระทั่งตัวคุณเอง

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

10 สัญญาณความล้มเหลวของการเป็นผู้นำ

15 02 2017

ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนมีหัวหน้างาน-ลูกน้อง มีผู้บริหาร-พนักงาน แต่ในกลุ่มผู้เป็นหัวหน้า หรือกลุ่มผู้บริหาร กลับมีหลายคนที่กำลังประสบความล้มเหลวในการเป็น “ผู้นำ”

นโปเลียน ฮิลล์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ Think & Grow Rich หนังสือแนวพัฒนาตนเองที่ผู้ประสบความสำเร็จทั่วโลกล้วนเคยอ่าน ว่า “ภาวะการเป็นผู้นำ มีด้วยกัน 2 แบบ หนึ่ง ผู้นำที่ได้รับการยินยอมและความเห็นชอบจากผู้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการนำทีมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สอง การนำทีมด้วยการสั่งงาน การบังคับ เป็นการนำโดยไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจใดๆ จากผู้ปฏิบัติตาม”

นโปเลียน ฮิลล์ ย้ำว่า “จากหน้าประวัติศาสตร์ เราจะเห็นชัดว่า ผู้นำที่ใช้การออกคำสั่งบังคับให้ทำตาม จะดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน มีบันทึกถึงกลุ่มผู้นำที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต แต่กลับสูญเสียอำนาจลงอย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ยินยอมพร้อมใจเดินตามผู้นำที่นำด้วยการบังคับตลอดไป”

ในฐานะหัวหน้า หรือผู้บริหารองค์กร ย่อมไม่อยากประสบความล้มเหลวในการเป็นผู้นำ… นโปเลียน ฮิลล์ ได้แนะวิธีสังเกต “10 สัญญาณอันตราย” ไว้ดังนี้…

 

1. ไม่สามารถจัดการงานลงรายละเอียด

บุคลิกสำคัญของการเป็น “ผู้นำที่มีประสิทธิภาพ” จะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ มองทะลุทุกปัญหา สามารถจัดการกับรายละเอียดงานต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน 

ที่สำคัญ ไม่มีผู้นำคนใดที่จะ “ยุ่งเกิน” จนไม่สามารถตัดสินใจในฐานะผู้นำภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำรู้ทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงาน ย่อมมองออกว่า งานใดควรเร่งทำ งานใดควรลงมือทำเอง และงานใดควรมอบหมายให้ผู้ช่วยที่สามารถรับงานต่อได้

 

2. ไม่ยุ่งเกี่ยวกับงานเล็กๆ น้อยๆ
 
ในทุกการทำงานย่อมมีงานใหญ่ งานรอง งานสำคัญ งานเร่งด่วน และงานที่รอก่อนได้ แต่บางครั้ง กับผู้นำบางคน เมื่อเห็นเป็น “งานเล็กๆ น้อยๆ” แม้จะสามารถช่วยเหลือทีมได้ แต่กลับเพิกเฉย ปล่อยให้ลูกทีมลงมือทำกันเอง

“ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในหมู่พวกท่าน จะเป็นผู้รับใช้ท่าน” นโปเลียน ฮิลล์ ยกคำกล่าวอ้างอิงมาจาก “พระคัมภีร์ มัทธิว 23 :11” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงจะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งปกติได้มอบให้ผู้อื่นทำ แต่ถ้าสามารถช่วยแล้วงานเสร็จเร็วขึ้น ผู้นำควรเข้าไปร่วมทำด้วย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมา คือผู้นำคนนั้นจะได้รับความร่วมแรงร่วมใจ และการนับถือจากผู้ปฏิบัติตาม

 

3. คาดหวังค่าตอบแทนจาก “สิ่งที่รู้”

ไม่แปลกที่คนเป็นหัวหน้า คนเป็นผู้บริหาร จะมีความรู้ในตำแหน่งหน้าที่เป็นอย่างดี แต่บางคนเมื่อ “รู้” แล้ว คาดหวังค่าตอบแทนจากความรู้ที่อยู่ในหัว เรียกร้องรายได้จากวุฒิการศึกษา ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ค่าตอบแทนจะขึ้นอยู่กับ “การกระทำ”

หัวหน้า หรือผู้บริหาร จะเป็นผู้นำที่ดีไม่ได้เลย หากหวังรายได้จากความรู้ที่มี โดยไม่ได้แปรความรู้เหล่านั้นเป็นการกระทำ และในฐานะผู้ปฏิบัติตาม ก็จะไม่เข้าใจความรู้ (ที่อยู่ในหัวของพวกเขา) หากไม่ได้เห็นภาพการกระทำที่ชัดเจน และทำตามได้ทันที

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “โลกนี้ไม่จ่ายเงินสำหรับ ‘ความรู้ของใคร’ แต่จะจ่ายให้กับ… สิ่งที่พวกเขาทำ หรือสิ่งที่โน้มน้าวให้ผู้อื่นทำ”

 

4. กลัวการแข่งขันจากผู้ปฏิบัติตาม

เราสามารถเห็นได้ทั่วไปในสังคม ว่ามีผู้นำที่หวาดกลัวผู้ปฏิบัติตามคนใดคนหนึ่งจะมาแย่งตำแหน่ง ยิ่งคุณกลัวมากเท่าไหร่ สิ่งที่กลัวก็จะเป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น

ผู้นำที่ดีควรสอนงาน มอบหมายงาน ทำทุกวิถีทางให้พนักงานรู้ทุกรายละเอียดงานในตำแหน่งของเขาด้วยความเต็มใจ วิธีนี้จะทำให้ผู้นำสามารถปลีกตัวจากหน้าที่เดิม มีเวลาพัฒนาตนเอง และก้าวไปสร้างสรรค์สิ่งที่สำคัญยิ่งขึ้นในหน่วยงานของตน

นโปเลียน ฮิลล์ ยืนยันจากการเก็บข้อมูลบุคคลผู้ประสบความสำเร็จนับร้อยคน ว่า “การมอบหมายงานให้ผู้อื่น จะทำให้ได้รับผลตอบแทนมากกว่าการพยายามทำทั้งหมดคนเดียว”

 

5. ไม่มีภาพจินตนาการล่วงหน้า

หากคุณตีความคำว่า “จินตนาการ” เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เรื่องเหนือจริง คุณย่อมไม่เห็นค่า ว่าผู้นำควรจะมีจินตนาการไปเพื่ออะไร?

คำว่า “จินตนาการ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่นั้น แต่ยังหมายถึง “การคิดภาพล่วงหน้าถึงสิ่งที่ ‘อาจจะ’ เกิดขึ้น” ผู้นำที่ดีควรต้องคิดภาพ คาดการณ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย เพื่อเตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉิน ทั้งยังต้องคิดแผนสำรองสำหรับให้พนักงานปฏิบัติ มิเช่นนั้น เวลาเกิดเหตุสุดวิสัย เมื่อขาดจินตนาการภาพเหตุการณ์ล่วงหน้า ทีมจะเกิดภาวะระส่ำระสาย

 

6. รับความดีความชอบเพียงอย่างเดียว

หัวหน้าหรือผู้บริหารที่ชอบออกหน้า รับเอาความดีความชอบทั้งหมดของผู้ใต้บังคับบัญชา ว่า “เป็นผลงานของตน” มักเผชิญกับความรู้สึกไม่พอใจ แต่น่าแปลกที่บางทีพวกเขาไม่รู้ตัว และคิดว่าสิ่งที่พนักงานทำ เป็นสิ่งที่เขาทำ!

จากการวิเคราะห์ของนโปเลียน ฮิลล์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่แทบทุกคนจะไม่ขอรับความดีความชอบใดๆ และยินดีที่จะบอกให้ทุกคนรู้ ว่าความดีความชอบเหล่านั้นเป็นของทีม เพราะผู้นำที่ดี รู้ว่าผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่จะทำงานหนักขึ้น หากได้รับการยกย่องชมเชย เป็นผลดีมากกว่าแค่ได้รับผลตอบแทนเป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว

 

7. ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

หัวหน้างานที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสรรพสิ่ง มักเผยท่าทีให้เห็นว่า “อยากทำอะไรก็ทำ” ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานต้องรับมือกับการมีหัวหน้างานประเภทนี้ พวกเขาจะรู้สึกเหนื่อยหน่าย แถมยังจะเอาไปนินทาว่าร้ายลับหลัง และแม้จะทำงานให้ตามสั่ง แต่ก็จะคอยระวังตัวตลอดเวลา ว่าคำสั่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบหรือเปล่า?

นโปเลียน ฮิลล์ กล่าวว่า “ผู้ตามจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่ไม่ยับยั้งชั่งใจ หรือยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง”

 

8. ไม่จริงใจต่อทีม
 
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเจอ คนที่ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อง/พนักงานจับได้ว่าโดนหลอก โดนหักหลัง โดยเฉพาะจากคนที่เป็นหัวหน้า/เป็นผู้บริหาร พวกเขาจะแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อต้านขึ้นมาทันที และไม่ว่าต่อไปจะมีงานใดมอบหมายให้ทำ ก็จะทำแบบขอไปที ทำด้วยความระแวง ว่าจะโดนอะไรอีก!?

ผู้นำที่ดีจะต้อง ‘จริงใจ’ ทั้งต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อผู้ที่เหนือกว่าและผู้ที่ต่ำกว่า คุณจะไม่สามารถคงความเป็นผู้นำของตนไว้ได้นาน หากไร้ซึ่งความจริงใจ

นโปเลียน ฮิลล์ เปรียบ “ผู้นำที่ไม่จริงใจ” ว่าต่ำกว่าผงธุลีดิน สมควรถูกเหยียดหยาม และ “ความไม่จริงใจต่อกัน คือสาเหตุหลักของความล้มเหลวในทุกด้านของชีวิต”

 

9. ไม่พยายามโน้มน้าวให้เชื่อ

ผู้นำที่ดีจะนำทีมด้วยการพยายามโน้มน้าวให้เชื่อ ให้คิด และทำตาม ไม่ใช่การทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา “หวาดกลัว” แต่ก็มีผู้นำที่ไม่สามารถทำให้พนักงานเชื่อและยินดีทำตามด้วยความเต็มใจได้ โดยจะพยายามทำให้ผู้ปฏิบัติตาม รู้สึกถึง ‘อำนาจ’ นั่นหมายความว่า พวกเขาจะเป็นผู้นำประเภทที่จะคอยข่มขู่ บังคับ และออกคำสั่ง

คุณจะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมรับในความคิด ยอมรับไปถึงบุคลิกที่ไม่เบียดเบียน หรือเอารัดเอาเปรียบ เมื่อพนักงานยอมรับความคิดและการกระทำของผู้นำ นั่นหมายถึงว่า พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ และความยุติธรรม ที่จะได้รับในทุกการปฏิบัติงาน

 

10. ชอบออกงาน ชอบคุยโว อวดตำแหน่ง
 
เรามักจะเห็นหัวหน้า/ผู้บริหารบางคน ชอบออกงาน คุยโวอวดตัว ว่าตนมีหน้าที่การงานดี มีตำแหน่งใหญ่โต เพื่อให้คนนับถือใน “ตำแหน่ง” ที่ตนได้รับ

เป็นความจริง ว่าพวกเขาจะได้รับการนับถือจากตำแหน่งที่ได้รับ แต่กลับไม่ได้รับการนับถือจากพนักงาน ในฐานะที่เป็นผู้นำที่ดี เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่า ผู้นำของเขากำลังให้ความสำคัญกับตำแหน่งมากเกินพอดี

นโปเลียน ฮิลล์ เขียนแซวคนที่ชอบคุยโวอวดตำแหน่ง ในหนังสือ Think & Grow Rich ว่า “พวกเขาเป็นผู้ไม่มีความสำคัญอื่นให้คนทั่วไปเห็น นอกจาก ‘ตำแหน่ง’ ที่ได้มา จึงพยายามวางตัวหรูหรา เจ้ายศเจ้าอย่าง อวดโอ้เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นความสำคัญ”

 

 

บทความโดย LEARNING HUB TEAM

ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0

06 02 2017

องค์กร “ยุค 4.0” เป็นโครงสร้างธุรกิจแบบ Value-Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นอกจากองค์กรจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “คุณภาพของคน” ที่จะเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี หรือสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

ดังนั้น ความท้าทายที่ผู้บริหารต้องเผชิญ อาจไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี หรือระบบงาน แต่เป็น “การสื่อสารระหว่างบุคคล” เพราะสิ่งที่พบคือ เมื่อคนเก่ง ทำงานกับคนเก่ง แทนที่จะสร้างผลลัพธ์ยกกำลังสอง กลับกลายเป็นติดลบ

หากเรามองปัญหานี้ให้ลึกลงไป จะพบว่า ที่มาของปัญหาเรื่องคน ล้วนมาจาก “การขาดทักษะการฟังและการสื่อสารที่ดี” นั่นเอง

 

5 ปัญหาการสื่อสาร ที่พบบ่อยในการทำงาน มีอะไรบ้าง ?

1) ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำงานผิดพลาด

2) ทีมงานไม่ค่อยพูด ไม่กล้าเสนอความคิดเห็นในที่ประชุม

3) ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พอทำงานออกมา ไม่เหมือนที่สื่อสารไป

4) วิธีการสื่อสารของคนเก่ง ใช้ได้กับบางคน แต่อาจถูกต่อต้านจากบางคน

5) ปัญหาการสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือกับหัวหน้างาน

เป็นปัญหาหลักส่งผลให้สูญเสียบุคลากรผู้มีความสามารถ

และเป็นปัจจัยสำคัญทำให้พนักงานดีๆ ลาออก

 

สาเหตุที่เกิดปัญหาการสื่อสาร เพราะเมื่อเข้า “ยุค 4.0” ระบบสังคมซับซ้อนมากขึ้น ผู้คนแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

และเราจะพบอีกว่า มีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

 

ผู้บริหารที่สื่อสารด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเป็นผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Style) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่า ลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยไม่รู้ตัว เขามักใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน

นั่นคือ

บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
โบ้ย หากตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิด จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

 

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ ด้วยกลัวความผิด ซึ่งอาจทำให้ปัญหาเล็กน้อย ลุกลามไปจนยากจะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะนิ่งเฉย องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงาน และส่งผลเสียมากมาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้ “ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0” และนำไปปรับใช้ในการทำงาน


ผู้บริหารที่สื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุค 4.0 จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กร “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นควรต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย” หรือ Boss ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ มาเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง” หรือ Mentor ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการฟังและการสื่อสาร ของผู้บริหารยุค 4.0 ที่สำคัญ
ควรมี 5 ทักษะ ต่อไปนี้

1) การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)
ฟังอย่างไรให้พวกเขาเปิดใจพูด ฟังอย่างไม่ด่วนตัดสิน ฟังให้ลึกลงไปกว่าคำพูดของคนตรงหน้า
2) การฟังเสียงภายใน (Inner Voice Listening)
ฟังเพื่อเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจผู้อื่นได้มากขึ้น
3) การฟังสร้างสัมพันธ์ (Relationship Listening)
ฟังคนใกล้ตัว คู่ชีวิต สมาชิกในครอบครัว
เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจอีกฝ่าย สานสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

4) การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)
ฟังจับประเด็นได้ เข้าใจตรงกัน เมื่อมีเวลาจำกัด และอยู่ในช่วงเร่งรีบ
5) การสื่อสารเพื่อสร้างทีม 4 แบบ (4 Leadership Styles)
เมื่อเราเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล เราจะสื่อสารได้ตรงใจผู้ฟังมากขึ้น

 

ผู้บริหารที่ดีจะมีสติตระหนักรู้ ว่าคำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเอง และไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

แต่สำหรับ ผู้บริหารยุค 4.0 จะเลือกใช้คำพูดที่ถ่ายทอดความรู้สึกและความต้องการ ว่า “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างไหม”

 

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ ทำสิ่งดีๆ ให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก” แบบนี้ ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป

“ผู้บริหารยุค 4.0” นอกจากจะต้องมีทักษะด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว ควรต้องมีทักษะด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการฟังและการสื่อสารเพื่อบริหารคน” (Listening & Communication Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุค 4.0 ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในยุค 4.0 ได้ต่อไป


บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

 

ขอแนะนำ หลักสูตร “Executive Communication 4.0: ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุค 4.0” โดย “เรือรบ” เน้น Workshop เพื่อฝึกทักษะการฟังและสื่อสารขั้นสูง และเพิ่มศักยภาพความเป็นผู้นำ ให้สามารถนำไปใช้ได้ทันที

กำหนดการอบรมในปี 2560 (จัดปีละ 2 ครั้งเท่านั้น)
รุ่นที่ 6 วันที่ 14-15 ก.พ. 60 (รับจำกัดรุ่นละ 30 ท่าน)
สถานที่  Jasmin City Hotel (BTS อโศก)
ราคา 12,000 บาท ราคารวม International Buffet  เอกสาร และอาหารเบรค 2 มื้อ ตลอดการอบรม
พิเศษ โปรโมชั่น Early Bird เหลือ 8,900 บาท เมื่อสมัครภายใน 7 ก.พ.60 (ราคาไม่รวม VAT)

คลิกดูรายละเอียด ที่นี่

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save