วิธีทำให้คนที่ไม่ถูกกันร่วมงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าขากันได้ดี หรือปลาบปลื้มชื่นชมเพื่อนร่วมงานหรอกนะ แต่ขณะเดียวกัน ถ้าใครสักคนทำตัวเป็น “มนุษย์เจ้าปัญหา” มีพฤติกรรมน่ารำคาญ ก็อาจทำให้เขาสร้างปัญหากับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ ส่งผลให้ทีมเจอะเจออุปสรรคปัญหาในการทำงานได้…

ถ้าคุณเป็น “หัวหน้างาน” เราขอแนะนำคุณ ดังต่อไปนี้…

====

1. หาสาเหตุที่ถูกต้อง

ว่าทำไมลูกน้องของคุณคนนี้ ถึงไม่สามารถเข้ากับคนอื่นๆ ได้? โดยพุ่งเป้าความสนใจไปที่ “พฤติกรรมของเขา” ไม่ใช่ที่ “บุคลิกลักษณะของเขา”

ดูว่าเขาทำตัวหยาบคาย หรือชอบพูดจาจิกกัดคนอื่นๆ มีอาการหงุดหงิดฉุนเฉียวเวลาที่คนอื่นไม่ทำตามความต้องการของเขาไหม? มักปฏิเสธความช่วยเหลือผู้ร่วมงานในเรื่องการทำงาน หรือการแก้ปัญหาใดๆ หรือไม่

====

2. เรียกลูกน้องคนนั้นเข้ามาคุยกับคุณ

“เป็นการส่วนตัว” อย่าตักเตือนลงโทษเขาอย่างเป็นทางการ แต่ทำให้เขาเข้าใจอย่างชัดเจน ว่านี่เป็นประเด็นปัญหาเรื่องการทำงานที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะมันมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน/องค์กร

====

3. บอกให้เขารู้ว่าปัญหาคืออะไร?

อย่าบอกเขาว่า “คุณเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ” หรืออะไรก็ตามที่เป็นการตราหน้า ว่าเขาเป็นคนไม่ดี! ให้พูดถึงแต่พฤติกรรมของเขา

เช่น “เวลาที่คุณตำหนิหรือกล่าวโทษคนอื่นรุนแรงเกินไปนั้น ทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ร่วมงานของคุณอยู่นะ” พร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นให้เห็นภาพ

====

4. อย่าทำให้เขารู้สึกว่ากำลังโดนกดดัน หรือถูกบีบคั้น

 คุณไม่จำเป็นต้องบอกเขาว่า “ทุกคนในแผนกบ่นเรื่องคุณกันทั้งนั้น”

====

5. ให้ตระหนักไว้ว่า คนส่วนใหญ่ทำบางสิ่งบางอย่างจนติดเป็นนิสัย

จนกระทั่งพวกเขาอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่า คนอื่นๆ มองเขาเป็นคนอย่างไร? เขาอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่า เขาได้ทำตัวหยาบคาย เที่ยวจิกกัดชาวบ้านเป็นประจำ

คุณควรพูดเตือนเขาดีๆ และอย่าไปทำลายความมั่นใจในตัวเองของเขา เพียงแต่ทำให้เขารู้ว่า “จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง”

====

แล้วถ้ามีพนักงาน/ลูกน้อง ไม่ชอบขี้หน้ากันอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ทั้งทีมมีปัญหาการทำงานได้ คุณในฐานะหัวหน้า/ผู้บริหาร ต้องเป็นคนเข้าไปไกล่เกลี่ย แก้ไขความไม่ลงรอยกันระหว่างลูกน้องทันที ถ้า…

– หลายคนมองเห็นว่า กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้น!
– ความขัดแย้งนั้นมีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงาน
– ความขัดแย้งนั้นทำให้พนักงานไม่สื่อสารกัน/ไม่ร่วมมือกัน
– พนักงานคนอื่นๆ มีการเข้าข้างผู้ขัดแย้งแต่ละฝ่าย
– ทั้งทีม/หน่วยงาน กำลังรู้สึกแย่ กับการขัดแย้งครั้งนี้
– ความขัดแย้งส่งผลกระทบในทางลบต่อลูกค้า
– ความขัดแย้งทำให้คุณไม่สามารถทุ่มเทความสนใจให้กับงานที่มีความสำคัญๆ ได้ เนื่องจากคุณต้องคอยจับตาดูคู่กรณี
– ที่สำคัญ ณ ตอนนี้ คุณยังไม่ได้เข้าข้างใคร ยังมีความเป็นกลาง
– คู่กรณีทั้งสองฝ่าย ให้ความไว้วางใจ/เชื่อถือคุณ

====

ทั้งนี้ คุณจะต้องเรียก “คู่กรณี” เข้ามาคุยพร้อมกัน ไม่ควรเรียกเข้ามาคุยทีละคน เพราะจะทำให้แต่ละคนสงสัย ว่าคุณพูดอะไรกับอีกคนหนึ่ง? หรืออีกคนหนึ่งบอกอะไรกับคุณบ้าง? และพวกเขาก็อาจให้ข้อมูลผิดๆ แก่คุณได้ด้วย ซึ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม และอาจทำให้คุณขัดแย้งกับพวกเขาไปด้วยโดยไม่ตั้งใจ

ถ้าคุณมีคู่กรณี หรือ คนที่รู้สึกไม่ชอบหน้าเสียเอง คุณสามารถเรียนรู้และลงมือแก้ไขปัญหานี้ได้ อ่าน เราจะทำงานกับคนที่ไม่ชอบหน้าได้อย่างไร คลิกที่นี่

====

ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหานั้น คุณจะต้อง…

1. สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่ทำให้ดูจริงจังเป็นทางการ เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่าย รวมทั้งตัวคุณเอง สัมผัสได้ถึงความตึงเครียด

2. บอกให้ทั้งคู่เข้าใจอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มการพูดคุย ว่าหน้าที่ของคุณ คือทำให้ทีมร่วมกันทำงานมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายของแผนก/องค์กร อย่างมีประสิทธิผลที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ความขัดแย้งของพวกเขากำลังเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการดังกล่าว และคุณต้องการแก้ปัญหานี้เพื่อหน่วยงาน

3. อธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า คุณไม่ได้ต้องการตำหนิ หรือกล่าวโทษใคร คุณเพียงแต่ต้องการแก้ปัญหานี้

4. ขอให้พวกเขายอมรับคุณในฐานะที่เป็นคนกลาง ซึ่งคุณเชื่อว่า การพูดคุยปัญหานี้อย่างเปิดอก จะช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ขอให้ทั้งคู่ยอมรับด้วยว่า ถ้ามีประเด็นใดที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขได้ พวกเขาจะยอมรับการตัดสินใจของคุณในประเด็นนั้น ซึ่งพวกเขาสามารถนำประเด็นเหล่านี้กลับมาพิจารณาในภายหลังได้เสมอ ถ้าปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่

5. กำหนดแนวทางในการพูดคุยปรึกษา เช่น แต่ละฝ่ายจะยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งพูดเรื่องที่เขาต้องการพูดจนจบก่อน โดยจะไม่พูดแทรก หรือขัดจังหวะ… ให้มุ่งไปที่ตัวปัญหา ไม่ใช่ที่บุคลิกลักษณะส่วนตัวของอีกฝ่าย… ให้แต่ละฝ่ายพูดถึงความรู้สึกและปฏิกิริยาของตนที่มีต่อปัญหานั้น ไม่ใช่พูดถึงแต่การกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง…

6. เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดให้มากที่สุด ส่วนคุณมีหน้าที่คอยเตือน เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้ และเริ่มมีแนวโน้มว่าจะทะเลาะกัน

7. คุณจะต้องคอยระวังตัวเองอย่างเต็มที่ ว่าจะไม่แสดงท่าทีใดๆ ก็ตาม ที่จะเป็นการบ่งบอกว่าคุณลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าคุณคิดว่าฝ่ายหนึ่งไม่มีเหตุผล หรือทำตัวมีปัญหามากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ก็อย่าแสดงท่าทีอะไรให้ทั้งสองฝ่ายรู้ เพราะคุณเป็นเพียงคนกลาง ฉะนั้น อย่าแสดงความคิดเห็นใดๆ ที่คุณมีต่อคู่กรณี

8. อย่ายอมให้การพูดคุยกันจบลง โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีการตกลงกัน ว่าพวกเขาจะแก้ไขพฤติกรรมในอนาคตของตน แต่คุณต้องทำให้เกิดการตกลงด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย เพราะถ้ามีฝ่ายใดถูกบังคับให้ต้องตกลง เขาก็มักจะไม่ทำตามที่ตกลงนั้น คุณต้องทำให้แน่ใจว่าทั้งคู่ได้พูดคุย และได้หาวิธีแก้ปัญหาที่ทั้งคู่ยอมรับได้

9. ในฐานะที่เป็นหัวหน้า ให้พยายามทำทุกวิธีที่คุณสามารถทำได้ เพื่อช่วยพวกเขาแก้ปัญหา เช่น พวกเขาอาจขอให้คุณจัดแบ่งงานบางอย่างใหม่ หรือจัดที่นั่งทำงานของพวกเขาใหม่ เพื่อให้ที่นั่งทำงานของพวกเขาเข้ามาใกล้กันมากขึ้น หรือไม่ก็แยกให้ห่างกันออกไป… คุณจะต้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาของพวกเขา เมื่อมีการนำวิธีแก้ปัญหานั้นไปปฏิบัติจริง เพื่อให้วิธีแก้ปัญหานั้นประสบผลสำเร็จ

10. กำหนดวันที่จะให้พวกเขามาพูดคุยถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหานั้นอีกครั้ง เช่น อาจจะเป็นหนึ่งสัปดาห์ หลังจากวันที่พูดคุยกันครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่ไม่รู้สึกว่า พวกเขาต้องทำตามข้อตกลงที่พวกเขาอาจไม่พอใจลึกๆ ก็เป็นได้ และถ้าการทำตามข้อตกลงนั้นช่วยแก้ปัญหาได้เพียงนิดหน่อย พวกเขาก็จะได้ใช้โอกาสนี้เจรจาปรึกษากัน ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป…

11. เมื่อสิ้นสุดการประชุม คุณต้องขอบคุณทั้งคู่ ที่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และในการประชุมครั้งต่อไป คุณก็ควรขอบคุณพวกเขาอีกครั้ง สำหรับสิ่งที่พวกเขาได้ทำ เพื่อให้ปัญหานั้นๆ คลี่คลาย และบอกว่าการที่ทั้งคู่พยายามทำให้สถานการณ์ดีขึ้นนั้น ได้ส่งผลดีต่อทีมด้วย

อย่างไรก็ดี ถ้าความขัดแย้งนั้นไม่มีแนวโน้มว่าจะประนีประนอมกันได้ คุณก็ควรจะ…

– อย่าให้พวกเขาเผชิญหน้ากัน ถ้าคุณเชื่อว่าการนำเรื่องของพวกเขาขึ้นมาพูดนั้น มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
– แยกพวกเขาออกจากกัน โดยการมอบหมายงาน การเลื่อนขั้น ย้ายแผนก หรืออาจต้องให้คนใดคนหนึ่งออกจากงาน (ถ้าจำเป็น)
– ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกันชนระหว่างทั้งคู่ เป็นผู้ประสานงานระหว่างคู่กรณีที่ขัดแย้งกัน
– วางกฎ ยืนกรานในเรื่องการร่วมมือกันทำงาน ถ้าใครไม่ทำตามกฎ จะถูกลงโทษ

====
TIP วิธีป้องกันความขัดแย้งระหว่างพนักงาน

ในกรณีที่คุณไม่ต้องการปวดหัวกับ “ปัญหาความขัดแย้งระหว่างลูกน้อง” คุณอาจป้องกันปัญหานี้ได้ โดย…

1. ให้ลูกน้องเข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องวิธีทำงานกับคนที่มีภูมิหลัง บุคลิกลักษณะ และทัศนคติที่แตกต่างกัน
2. อย่าปล่อยให้ลูกน้องทะเลาะ แย่งชิงทรัพยากรกัน ให้จัดสรรสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ในการทำงาน แก่พวกเขา อย่างพอเพียง
3. อย่าส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันระหว่างลูกน้อง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่าทำให้มันเป็นการแข่งขันในทางทำลายล้าง
4. เมื่อใดที่ลูกน้องเริ่มมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันอย่างมาก ให้เข้าไปไกล่เกลี่ย หรือหาทางยุติทันที ก่อนที่จะกลายเป็นการทะเลาะวิวาท
5. บอกวิสัยทัศน์ของแผนก/องค์กร ที่คุณอยากให้ลูกน้องร่วมมือกันทำงาน เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์นั้น ให้พวกเขาเข้าใจอย่างชัดเจน
6. จัดทำข้อมูลอธิบายลักษณะงานที่ชัดเจน และมีลักษณะประสานสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดการเกี่ยง (หรือแย่งงานบางอย่าง) กันทำ
====

ถ้าคุณอยากเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการสร้างทีมและทำงานเป็นทีมโดยใช้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ขอแนะนำหลักสูตร Team Communication & Collaboration ดูรายละเอียดคลิกที่นี่
บทความโดย

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

 

7 หลุมพรางทางความคิด… ควรระวัง!

15 03 2017

เรามักจะมีความคิด-ความเชื่อว่า “สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล” แต่ความจริงแล้ว “การใช้เหตุผลของเรา มักผิดพลาดบ่อยๆ”

นั่นหมายความว่า เราอาจกำลัง “ติดกับดับความเชื่อ” หรือกำลัง “ตกหลุมพรางทางความคิด” ซึ่งเราไม่อาจหลบหนีปีนป่ายออกมาได้… เรามาทำความรู้จักหลุมพรางทางความคิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง?

 

หลุมพรางที่ 1 : การปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยง

คือการที่คุณไม่ลงมือจัดการกับข้อเท็จจริงซึ่งไม่น่าพอใจ… เพราะ “ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา” หรือเพราะกำลัง “หลีกเลี่ยงกับปัญหาเหล่านั้น”

ตัวอย่าง คุณกำลังมีหนี้ท่วมตัว แต่กลับปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา ไม่ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ทั้งยังเลี่ยงไม่ยอมจัดการกับเรื่องการเงินของคุณ

วิธีปีนออกจากหลุม เมื่อใดที่ต้องเผชิญหน้า หรือเกี่ยวข้องกับความจริงที่ทำให้คุณหวาดกลัว คุณจะรู้สึกอยากปฏิเสธ อยากหลีกเลี่ยง… การปีนป่ายออกจากหลุมพรางทางความคิดนี้ คุณแค่ต้องเตือนตัวเองว่า.. “ไม่ว่าจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน กับการต้องเผชิญความจริง แต่พึงระลึกไว้ว่า การปฏิเสธและหลีกเลี่ยง จะทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่า”

 

หลุมพรางที่ 2 : ก็ได้นะ แต่ว่า…

เป็นการหาเหตุผลหลอกๆ มากมาย เพื่ออธิบายว่า ทำไมความคิดใหม่ๆ จึงไม่ได้ผล แทนที่จะสำรวจความเป็นไปได้ของความคิดนั้น

ตัวอย่าง เพื่อนชวนไปเล่นสกีในวันหยุด ซึ่งคุณรู้ว่าต้องสนุกแน่ แต่ใจคุณกลับมีข้อโต้แย้งขึ้นมากมาย ใครจะเลี้ยงแมวของฉันล่ะ, ถ้าฉันเผลอทำอะไรโง่ๆ บนเนินเขานั่นล่ะ,…

วิธีปีนออกจากหลุม เราแนะนำให้ใช้วิธีการ P.I.N. ก่อนอื่น เขียนรายการด้านบวก (Positive) เกี่ยวกับแนวความคิดนั้น แล้วหาว่าความคิดนั้นมีอะไรไหมที่น่าสนใจ (Interesting) แม้จะไม่เป็นด้านบวกสักเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายให้พิจารณาผลที่จะตามมาซึ่งเป็นด้านลบ (Negative)

วิธีการ P.I.N. นี้ จะช่วยให้คุณเน้นแง่มุมที่เป็นบวก และขจัดหรือทำให้ด้านลบเหลือน้อยที่สุด ลองนำด้านลบแต่ละข้อมาทดสอบ โดยถามตัวคุณเอง ว่ามันเป็นแบบนั้น “จริงหรือ?” ฉันมีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้บ้าง!?

 

หลุมพรางที่ 3 : การคิดตามกันเป็นกลุ่ม

ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น โดยไม่คิดอะไรเลย… คนอื่นในที่นี้ คือสังคม เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่า ไอเดียของพวกเขาถูกหรือไม่?

ตัวอย่าง ข้อความเกือบทุกประโยค มักขึ้นต้นด้วยคำทำนองว่า “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า…”, “ผู้มีหลักการล้วนเห็นพ้องกันว่า…”, “เป็นที่ทราบกันว่า…”

วิธีปีนออกจากหลุม อย่ารีบเชื่ออะไรทั้งนั้น… พยายามตั้งข้อสงสัยทุกเรื่อง… ลองถามตัวเองดูว่า “แล้วเรารู้ได้อย่างไร?” แทนที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่ลังเล ลองพิจารณาหลักฐานที่อยู่ตรงหน้าก่อนจะเชื่อความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อตรวจสอบอย่างถ่องแท้ว่า “จริงๆ แล้วเรื่องนั้นเป็นอย่างไรกันแน่…”

 

หลุมพรางที่ 4 : การเลือกพิจารณา

พยายามทำให้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ตรงหน้า เป็นไปตามข้อสรุปที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ

ตัวอย่าง เมื่อคุณมองคนที่คุณรักหรือชื่นชม โดยมองแต่ด้านดีเท่านั้น… จะส่งผลให้เห็นเพียงแค่พวกเขาทำอะไรล้วนถูกต้องไปหมด มุมมองคับแคบแบบนี้ อาจเกิดขึ้นกับวัตถุหรือองค์กรก็ได้ เช่น คนขายของเก่าที่เชื่อว่าตนเองพบของเก่าแก่หายาก, หัวหน้าอาจมองไม่เห็นลักษณะพิรุธใดๆ ของเลขาหน้าห้อง หรือผู้ถือหุ้นอาจไม่สงสัยการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียง,…

วิธีปีนออกจากหลุม การจะตัดสินใจสรุปความเห็นใดๆ ให้พยายามมองหาแง่มุมที่ขัดแย้งต่อความคิดที่คุณเชื่ออยู่! จำไว้ว่า “การเลือกพิจารณา” มีได้ทั้งสองทาง คือนอกจากจะมองแต่ข้อดีแล้ว ยังเป็นการมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดได้ด้วย… ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน หรือสิ่งของก็ตาม!

 

หลุมพรางที่ 5 : การคิดไปทางเดียว

บ่อยครั้งที่เราไม่ยอมรับว่าตนเองจำเป็นต้องมีการคิดรูปแบบใหม่ๆ เพราะเรามักคิดไปว่า การเปลี่ยนใจใหม่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เป็นเรื่องยากลำบาก… เป็นเรื่องยากที่จะต้องหยุดทำอะไรกลางคัน ทั้งที่รู้ดีว่าเรื่องนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด!

ตัวอย่าง ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า คนอเมริกันไม่ชอบซื้อรถขนาดเล็ก

วิธีปีนออกจากหลุม ต้องหมั่นนำข้อสันนิษฐานสำคัญๆ ของคุณมาพิจารณาใหม่อยู่เสมอ อย่ามองอะไรผิวเผิน กลยุทธ์ที่ดีประการหนึ่งคือ “ให้ลองขัดแย้งกับตัวเอง” คุณพอจะหาจุดอ่อนได้ก่อนคนอื่นหรือไม่? แล้วคุณจะจัดการกับจุดอ่อนนั้นอย่างไรบ้าง? หากจำเป็น ต้องเต็มใจเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัว…

 

หลุมพรางที่ 6 : ทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนมากเกินไป

การไม่ใส่ใจคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่กลับยอมรับคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากโดยไม่จำเป็น…

ตัวอย่าง คุณหาของชิ้นหนึ่งในบ้านไม่เจอ คุณทึกทักเอาว่า มีผู้ร้ายย่องเบามาขโมย แทนที่จะพิจารณาว่า คุณแค่วางผิดที่ผิดทางหรือเปล่า!?

วิธีปีนออกจากหลุม ใช้หลักการของ Occam’s Razor ซึ่งกฎข้อนี้บอกว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเท่าเทียมกัน ฉะนั้นทางออกที่เรียบง่ายที่สุด ก็ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”


หลุมพรางที่ 7 : ไม่ใช่ความคิดของฉัน!

เป็นการมองข้ามความคิดใดความหนึ่งไป เพียงเพราะคนอื่นเป็นคนคิด!

ตัวอย่าง ลูกๆ คุณไม่ยอมทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคุณเป็นคนบอกให้ทำ! ทั้งที่ปกติเขาไม่รังเกียจจะทำสิ่งนั้นเลย!

วิธีปีนออกจากหลุม ลองใช้วิธีทำให้คนอื่น “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นคนคิดเรื่องนั้น… หรือบอกว่า ข้อแนะนำนั้นเป็นของเขาเอง… หากกลับกัน คุณเป็นคนที่อึดอัดใจเมื่อใช้ความคิดเห็นของคนอื่น ให้เตือนตัวเองว่า ทางปฏิบัติที่ฉลาดคือ “ให้ดูความดีหรือข้อดีที่พวกเขาทำ ไม่ใช่ดูว่าใครคิดเรื่องนั้น” หรือคุณอาจลองปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นสักหน่อย ลองใส่ความคิดของคุณเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้รู้สึกว่าเป็นความคิดของคุณมากขึ้น…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save