5 ขั้นตอน ของการตัดสินใจ

การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง… การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ… ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก…

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ

หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง… นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”

อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย… เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้าง…

 

ขั้นตอนที่ 1

ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ… เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า

เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใด… ก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น

 

ขั้นตอนที่ 2

เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่

ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์… “เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง


ขั้นตอนที่
3

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ” คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!!!

เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ

ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้

อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน

อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง

 

อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว…

ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน… ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”

 

ขั้นตอนที่ 4

เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ

คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่” พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 5

“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ” คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ…

           

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

กำจัดความเชื่อผิดๆ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต

31 03 2017

คุณรู้สึกว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้คุ้นๆ ไหม? ขณะนั่งดูทีวี ภรรยาของคุณเรียกให้ช่วยเข้าไปหยิบเกลือในห้องครัวให้หน่อย? คุณตอบไปว่า “ผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน” เธอบอกกลับมาว่า “ลองหาดูสิ! มันอยู่แถวนั้นแหละ”

คุณลุกขึ้นอย่างลังเล เดินเข้าไปในครัว บ่นพึมพำกับตัวเองว่า “ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วจะหาเจอได้ยังไง?” คุณเดินดูรอบๆ แต่ก็ไม่พบเกลือ จึงตะโกนกลับไปว่า “หาไม่เจอ”

เธอย้ำกลับมาว่า “ลองดูดีๆ สิ! อยู่แถวๆ นั้นแหละ” คุณมองขึ้นมองลง ยังไงก็หาไม่เจอ… ในที่สุด ภรรยาของคุณทนไม่ไหว เดินเข้ามาในครัว หยิบเกลือจาก “ตรงหน้าคุณ” นั่นแหละ พร้อมกับพูดว่า “นี่ไง… มองไม่เห็นได้ไงนะ…”

 

อาการจิตมองไม่เห็น.. เกิดได้อย่างไร?

 

ในทางจิตวิทยา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อาการจิตมองไม่เห็น” (Schetoma) หรือ “จุดบอดทางความเข้าใจ” (Perceptual Blind Spot) ตัวอย่างข้างต้นเกิดขึ้นได้บ่อยมาก ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า “ความเชื่อ” สามารถลบสิ่งที่คิดและเข้าใจได้… เมื่อคุณทำให้ตัวเองเชื่อว่า “ไม่สามารถหาเกลือเจอ” สมองของคุณก็จะ “ลบภาพเกลือ” ที่มีอยู่ออกไป… แม้ว่าตาของคุณจะ “มองเห็น” มันก็ตาม

เช่นเดียวกัน ในเวลาย่ำแย่ ถ้าคุณเชื่อว่า “ไม่มีโอกาสสำหรับคุณ” คุณก็จะลบทุกสิ่งทุกอย่างที่สนับสนุนโอกาสดังกล่าว และพานพบแต่เรื่องแย่ๆ อย่างที่คุณเชื่อนั่นแหละ!

 

ความเชื่อที่เรามีอยู่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ความเชื่อส่วนใหญ่มาจากการถอดแบบบุคคลสำคัญที่อยู่รอบตัว เช่น พ่อ-แม่ ครู เพื่อน… เรามีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อคล้ายกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ถ้าพ่อแม่ของคุณเชื่อว่า “พวกเขาไม่มีทางที่จะร่ำรวยได้” คุณก็มีแนวโน้มที่จะ “เชื่อ” แบบนั้น

ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีใครเรียนจบ คุณย่อมมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อว่า “การศึกษาเป็นเรื่องยาก หรือไม่สำคัญ” นอกจากนี้ ความเชื่อส่วนใหญ่ยังมาจาก “ประสบการณ์ในอดีต” ด้วย

โดยปกติ “ความเชื่อที่เรามี” จะมาจากความเข้าใจ หรือการตีความประสบการณ์ในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ก็จะกลายเป็น “คำสั่งฝังอยู่ในสมอง” และกำหนดวิธีการดำเนินชีวิต… เราจะลืมไปว่ามันเป็นเพียงความเข้าใจไปเอง และเริ่มยอมรับว่า “มันเป็นความจริง”

ขณะที่ความเชื่อบางอย่าง ให้พลังกับเราอย่างแท้จริง แต่ก็มีความเชื่อหลายอย่าง สร้างข้อจำกัดให้เรา ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า ฉันไม่เก่งเลข, ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า, ฉันเข้ากับคนอื่นไม่ได้, ฉันขี้เกียจ หรือ ฉันอายุน้อยเกินไปหรือแก่เกินไปที่จะประสบความสำเร็จ…

 

เราสร้างความเชื่อขึ้นมาได้อย่างไร?

 

“ความเชื่อ” เริ่มต้นจากความคิดที่มีคนบางคนให้กับเรา หรือเราให้กับตัวเอง เมื่อมีประสบการณ์ในอดีตสนับสนุนความคิดดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดก็จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จนในที่สุดก็กลายเป็น… ความเชื่อ

และเมื่อกลายเป็น “ความเชื่อ” เราก็จะไม่สงสัยอะไรอีกเลย มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบภายในร่างกาย เป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจและพฤติกรรมทุกอย่างของเรา

ในหนังสือ “พลังไร้ขีดจำกัด” (Unlimited Power) ของ แอนโธนี ร็อบบินส์ ได้อธิบายเรื่องความเชื่อในเชิงอุปมาอุปไมยว่า…

“เมื่อเรามีความคิดใดความคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเป็น ‘ครั้งแรก’ ยกตัวอย่างเช่น ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า มันยังคงเป็นแค่ความคิดที่ไม่มีอำนาจเหนือเรามากนัก ซึ่งก็เหมือนกับโต๊ะที่ไม่มีขารองรับสักอัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้พบกับเหตุการณ์ที่มาสนับสนุนความคิดนี้ ก็เหมือนกับเราได้เพิ่มขาให้กับโต๊ะตัวนี้ ทีละขาๆ แล้วไม่นาน เมื่อขา (เหตุการณ์) ถูกเพิ่มจำนวนมากพอ เราก็จะได้โต๊ะที่แข็งแรงในที่สุด (ความเชื่อที่ทรงพลัง)”

 

เราจะเปลี่ยนความเชื่อ ได้อย่างไร?

 

ถ้าคุณมีความเชื่อแย่ๆ ฝังหัว ที่อยากจะเปลี่ยน… นักจิตวิทยาแนะนำ 5 ขั้นตอน เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่คุณต้องการเปลี่ยน ดังนี้…

 

1. หาเหตุผลให้มากพอที่จะเปลี่ยนความเชื่อ

 

ขั้นแรกในการเปลี่ยนความเชื่อ คือการหาเหตุผลที่สำคัญมากพอที่จะทำให้เราเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนความเชื่อ เพราะคิดว่า แม้จะเป็นสถานการณ์ที่เรารู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่มันก็ไม่ได้เจ็บปวดมากถึงขนาดต้องเปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องสร้างเหตุผลให้มากพอที่จะทำให้เรา… ต้องเปลี่ยน!

วิธีที่สร้างพลังได้อย่างมากก็คือ ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองนี้ จะส่ง “ผลเสีย” ต่อชีวิตเรามากแค่ไหน? และยังจะส่งผลเสียต่อไปในอนาคตอย่างไร?

ขอให้ระลึกเสมอว่า เราถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล คุณอาจมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากมาย ว่าทำไมต้องเปลี่ยน แต่คุณจะไม่เปลี่ยน จนกว่าจะได้สร้างภาพในใจ และรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากพอ จนทำให้คุณต้องการเปลี่ยน

ถัดจากความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองในแต่ละอย่างแล้ว นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิด และเขียนออกมา ถึงสิ่งที่คุณได้สูญเสียไปจากการยึดติดกับความเชื่อนั้นๆ

ในอดีต ความเชื่อเหล่านี้สร้างความเสียหายให้แก่คุณอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความเชื่อว่า คุณ “ไม่มีประสบการณ์มากพอ” มันจะปิดกั้นคุณจากการเข้าไปเสี่ยง ปิดกั้นคุณจากการได้เลื่อนตำแหน่ง ปิดกั้นคุณจากโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ในธุรกิจ

นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิดต่อด้วยว่า “ถ้าฉันยังคงยึดติดกับความเชื่อเหล่านี้ มันจะจำกัดตัวฉันในอนาคตอย่างไรบ้าง? มันจะปิดกั้นฉันไม่ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง?”

เขียนเหตุผลทั้งหมด ว่าทำไมคุณต้องเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ จนกว่าคุณจะถึงจุดแตกหักในใจ และเมื่อนั้น “คุณจะเกิดอารมณ์ร่วมมากพอ ที่จะทำให้คุณต้องเปลี่ยน!”

2. ท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุนความเชื่อนี้

 

ต่อมา เราจะเริ่มวิเคราะห์ “ความเชื่อซึ่งเป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” และเริ่มท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุน จำไว้ว่า เราจำเป็นต้องเอาขาโต๊ะที่สนับสนุนความเชื่อแย่ๆ ออกไป แล้วในที่สุดคุณก็จะพบว่า หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า “ความเห็นทั่วๆ ไป และการตีความแบบผิดๆ ที่คุณได้รับจากประสบการณ์ในอดีต”

ก่อนอื่น คุณต้องหาหลักฐานที่จะมาหักล้างความเชื่อของคุณ ด้วยการถามคำถามเหล่านี้ 1) ฉันสร้างความเชื่อนี้ขึ้นมาได้อย่างไร? 2) อะไรทำให้ฉันเชื่อว่ามันเป็นความจริง?

ต่อมา ให้ท้าทายหลักฐานทั้งหลายด้วยการถามว่า 1) สิ่งนี้มีความหมายอะไรนอกเหนือจากนี้อีกไหม? 2) มีตัวอย่างที่ค้านกับหลักฐานนี้ไหม? 3) บุคคลที่ให้ความเชื่อนี้กับฉัน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน?

ยกตัวอย่างเช่น ผมพบว่าความเชื่อ “ผมแย่มากในวิชาเลข” ซึ่งมาจากหลักฐาน 3 อย่าง 1) การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ 2) เคยสอบตกวิชาเลข และ 3) แม่บอกว่าเป็นกรรมพันธุ์

จากการวิเคราะห์ “หลักฐาน” ผมเริ่มเปลี่ยนความหมายของประสบการณ์เหล่านี้… “การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ” สามารถตีความอย่างง่ายๆ ได้ว่า ผมไม่ได้ถูกสอนวิธีที่จะทำให้ผมเข้าใจได้ แทนที่จะตีความว่า ผมเรียนรู้ไม่ได้… “การสอบตกวิชาเลข” สามารถตีความได้ว่า ผมไม่ตั้งใจเรียนในห้อง และไม่ได้พยายามเรียนรู้มันเลย…

ที่ผมเรียนเลขแย่ ไม่ใช่เพราะกรรมพันธุ์ และแม่ของผมก็ไม่ได้น่าเชื่อถือพอที่จะยืนยันว่า ผมไม่มีความสามารถในวิชาเลข เพราะเธอเกลียดวิชาเลข อีกทั้งผมยังพบตัวอย่างมากมายที่ค้านเรื่องกรรมพันธุ์ นั่นคือ เพื่อนของผมหลายคนที่พ่อแม่ที่ไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องการศึกษา แต่พวกเขากลับฉลาดปราดเปรื่อง…

มาเริ่มลงมือหา “หลักฐาน” ว่าอะไรทำให้เกิด “ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดในตัวคุณ” กันเถอะ

 

3. สร้างความเชื่อใหม่ที่ให้พลัง

 

เมื่อคุณได้เขย่าฐานรากของความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองแล้ว คุณต้องสร้าง “ความเชื่อใหม่” ที่ให้พลัง เข้ามาแทนที่ความเชื่อเก่า ความเชื่ออะไรบ้างที่จะช่วยเสริมสร้างพลังให้คุณลงมือทำ…

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความเชื่ออันเก่าคือ “ผมยังเด็กเกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ความเชื่ออันใหม่ก็อาจจะเป็น “อายุน้อย หมายถึงการมีความเฉียบแหลม และพลังงานจำนวนมากในการทำธุรกิจ” หรือ “คนอายุน้อยเป็นนักธุรกิจที่ดีกว่า เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นและเปิดใจรับความคิดใหม่ๆ ได้มากกว่า”

ถ้าความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองคือ “ผมแก่เกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ลองมองหาตัวอย่างของคนที่เปลี่ยนอาชีพตอนอายุ 40 หรือแม้แต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และสามารถสร้างความสำเร็จจนมีชื่อเสียงได้

เอาล่ะ! มาเขียนความเชื่อใหม่ที่ให้พลังกัน เดี๋ยวนี้เลย…

 

4. สร้างหลักฐานใหม่ เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่

 

เมื่อคุณได้สร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมาแล้ว ให้หา “หลักฐาน” เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่นี้ด้วยว่า มีกี่ครั้งในอดีต ที่ความเชื่อใหม่นี้เป็นความจริง? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเอาความเชื่อที่ว่า “ฉันเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว” มาใช้ เคยมีบ้างไหมในอดีต ที่คุณเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้รวดเร็วมาก? มีตัวอย่างที่คุณเคยเห็นจากคนอื่นๆ หรือเปล่า?

มีงานวิจัยของนักจิตวิทยา ยืนยันว่า ทุกความเชื่อที่คุณต้องการ สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้ โดยหาอ่านจากหนังสือ หรือค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมต้องการติดตั้งความเชื่อที่ว่า “คนอายุน้อยๆ ก็เริ่มทำธุรกิจได้ และประสบความสำเร็จด้วย” ผมพยายามค้นคว้าและหาข้อมูลอย่างมาก จนพบว่ามีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ที่เริ่มต้นตอนอายุน้อยๆ และเริ่มต้นตอนไม่มีเงินทุน

ถ้าคุณหาหลักฐานไม่ได้เลย จงสร้างมันขึ้นมา อย่าลืมว่า จิตใจไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริง กับสิ่งที่จินตนาการได้ นี่เป็นเรื่องจริง! และเป็นสิ่งที่ โรเจอร์ บานิสเตอร์ ทำ ตอนที่เขาตั้งเป้าทำลายสถิติโลกในการวิ่งระยะไกล…

จงหา และเขียนหลักฐานที่จะมาสนับสนุนความเชื่ออันใหม่นี้ ให้มากที่สุดเท่าที่คุณหาได้…

 

5. จินตนาการภาพสิ่งดีๆ ในอนาคต จากความเชื่อใหม่

 

ข้อสุดท้าย นักจิตวิทยาต้องการให้คุณใช้เวลา และใช้พลังที่ได้จากการสร้างภาพในใจ ติดตั้งความเชื่อใหม่ที่ให้พลังเหล่านี้… ซึ่งวิธีการง่าย ๆ ก็คือ…ให้คุณปิดตาและนำตัวเองไปในอนาคต!

ลองนึกภาพดูสิว่า หากคุณนำความเชื่อใหม่ที่ให้พลังไปใช้ 1 ปีจากนี้ 2 ปีจากนี้ 5 ปีจากนี้ หรือ 10 ปีจากนี้ คุณจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร? คุณจะทำอะไรที่ในอดีตคุณไม่ได้ทำบ้าง? คุณจะตัดสินใจอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมบ้างไหม? คุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากความเชื่อใหม่นี้?

จงเขียนประโยชน์ด้านต่างๆ ที่คุณจะได้รับ… จากการมีความเชื่อใหม่ที่ให้พลังด้านบวก…

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการเปลี่ยน “ความเชื่อที่เป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” หรือช่วยใครบางคน “ปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระ” ลองทำตาม “5 วิธีกำจัดความเชื่อแย่ๆ” ข้างต้น… เราเชื่อมั่นว่า อนาคตใหม่ที่ดีกว่า กำลังรอคุณอยู่…

 

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND 

แค่วางแผนชีวิต ก็เป็นการคิดเชิงกลยุทธ์

19 04 2017

เคยรู้สึกไหมว่า… คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยว วางแผนพักร้อน มากกว่า “วางแผนชีวิตของตัวเอง”

แต่ก็มีบางคน มุ่งมั่นตั้งใจวางแผนชีวิตของตัวเอง “วันละครั้ง” พวกเขาก่อนนอนจะทำรายการสิ่งที่ต้องทำ แล้วพอตื่นนอน ก็ลงมือลุยตามนั้น… และก็มีบางคน ที่วางแผนชีวิต “สัปดาห์ละครั้ง” กลุ่มนี้จะทบทวนสิ่งต่างๆ ในสัปดาห์นั้น ตรวจสอบการนัดหมาย พิจารณาเป้าหมาย แล้วลงมือทำ…

คุณรู้ไหม… โดยทั่วไป คนกลุ่มหลังจะทำงานได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงานที่วางแผนวันต่อวัน!

และก็มีบางคน พอเริ่มต้นเดือนใหม่ จะใช้เวลาครึ่งวัน “วางแผนสำหรับ 40 วันข้างหน้า” ที่ต้องเป็น 40 วัน เพราะมันได้ผลดีมากกว่าทำไว้แค่ 30 วัน… พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการทบทวนกิจกรรมต่างๆ วางแผนสิ่งที่จะทำกับครอบครัว จากนั้นจะพิจารณาต่อว่า โครงการ บทเรียน และเป้าหมายอื่นๆ มีอะไรบ้างที่อยากทำให้ลุล่วงในช่วง 4-5 สัปดาห์ข้างหน้า…

ถัดไป เป็นการจัดตารางวัน-เวลา สำหรับการคิด การเขียน การทำงาน การประชุม ฯลฯ ตามด้วยการจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูโชว์ ดูกีฬา หรือออกกำลังกาย นอกจากนั้น ยังแบ่งช่วงเวลาเล็กน้อยไว้ชดเชยสำหรับเรื่องที่เหนือความคาดหมาย… เมื่อทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะสามารถบอกตัวเองและคนรอบข้างได้แทบจะทุกเรื่องที่จะทำในช่วงเดือนหน้า บางคนบอกได้ละเอียดเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงด้วยซ้ำ…

สิ่งนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic Thinking) ซึ่งช่วยให้ใครหลายคนทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

เวลาที่ได้ยินคำว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” คุณนึกถึงอะไร? ภาพแผนธุรกิจใหญ่โต การประชุมวางแผนงานเพื่อกอบกู้บริษัท หรือนึกถึงภาพเหตุการณ์ตอนที่ฝ่ายพันธมิตรวางแผนยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!!! ทั้งที่จริง “การคิดเชิงกลยุทธ์” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปฏิบัติการทางทหารหรือธุรกิจ เราสามารถนำการคิดเชิงกลยุทธ์ มาปรับใช้ให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตของเราได้…

 

ทำไม “การคิดเชิงกลยุทธ์” จึงสำคัญ?

 

เพราะ “การคิดเชิงกลยุทธ์” ช่วยในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง และหาเส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม… ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงกลยุทธ์ มีมากมายนับไม่ถ้วน… ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางส่วนที่สนับสนุนว่า “เราควรใช้ ‘การคิดเชิงกลยุทธ์’ เป็นเครื่องมือหนึ่งในชีวิต”

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

 

นักเขียนชาวสเปน มิเกล เดอ เซอร์วานเตส เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่เตรียมตัวพร้อม เท่ากับมีชัยในสนามรบไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการนำปัญหาที่ซับซ้อนและเป้าหมายระยะยาวที่ยากเกินกว่าอธิบายได้ มาย่อยให้เหลือขนาดที่สามารถจัดการได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้ามีแผนการ!

การคิดเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้การบริหารชีวิตประจำวันง่ายขึ้นด้วย… จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักพูดและนักเขียน เป็นหนึ่งในคนที่ทำระบบแฟ้มข้อมูลได้เยี่ยมยอด การเขียนสุนทรพจน์และบทเรียนที่ใช้ในการสอน เป็นงานที่ยาก แต่เพราะเขาจัดทำแฟ้มคำคม เรื่องเล่า กรณีศึกษา และบทความไว้อย่างเป็นระบบ เวลาที่ต้องการใช้อะไรเพื่ออธิบายประเด็นให้ชัดเจน เขาก็แค่ไปดูแฟ้มหนึ่งแฟ้ม จาก 1,200 แฟ้มที่จัดเก็บไว้ แล้วหาวัตถุดิบดีๆ ที่ใช้งานได้ มาใช้กับงานที่กำลังเขียนอยู่

เห็นไหมครับ… ว่างานยากกลับกลายเป็นง่ายนิดเดียว ถ้าเราใช้การคิดเชิงกลยุทธ์...

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามที่เหมาะสม

 

คุณอยากแยกประเด็นหรือปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ออกเป็นส่วนเล็กๆ หรือไม่? ถ้าต้องการ ก็ต้องตั้งคำถาม การคิดเชิงกลยุทธ์… ลองดูคำถามข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นของ บ๊อบบ์ บีห์ล ผู้เขียนหนังสือ Masterplanning

ทิศทาง เราควรทำอะไรต่อไป เพราะเหตุใด? องค์กร ใครรับผิดชอบอะไร ใครรับผิดชอบใคร เรามีคนที่เหมาะสมในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเปล่า? เงินสด รายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิที่วางแผนไว้แล้ว เป็นอย่างไร เรายอมรับได้หรือไม่ เราจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย? การติดตามผล เรามาถูกทางหรือเปล่า? การประเมินภาพรวม เราทำได้คุณภาพตามที่เราคาดหวังและต้องการหรือเปล่า? การปรับปรุง เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้อย่างไร?

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเพื่อเริ่มการวางแผนกลยุทธ์ และเป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วย…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยปรับแต่งแผนให้เหมาะกับสถานการณ์

 

นายพลจอร์จ เอส. แพตตัน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “นายพลที่ประสบความสำเร็จจะปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ไม่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เข้ากับแผน”

นักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่ง ล้วนแม่นยำและละเอียดในการใช้ความคิด พวกเขาจะพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัญหา เพราะกลยุทธ์ไม่ใช่แผนครอบจักรวาล ประเภทแผนเดียวใช้ได้กับทุกปัญหา

การคิดแบบกว้างๆ หรือคิดแบบลวกๆ เป็นศัตรูของความสำเร็จ ความตั้งใจที่จะปรับการคิดเชิงกลยุทธ์ จะบีบคนคนนั้นให้คิดไปไกลกว่าไอเดียที่คลุมเครือ เราควรต้องหาเส้นทางเฉพาะเจาะจงที่เข้าถึงภารกิจหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่คุณเป็นอยู่ กับสิ่งที่คุณอยากจะเป็น มันให้ทิศทางกับความน่าเชื่อถือในวันนี้ และเพิ่มศักยภาพสำหรับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ซึ่งก็คล้ายกับการสวมอานให้แก่ความฝันของคุณ ก่อนที่คุณจะควบมันทะยานออกไปข้างหน้า…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยลดความผิดพลาด

 

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอะไรอย่างฉับพลัน หรือทำอย่างเฉื่อยชาไร้ความรู้สึก โดยไม่ได้กำหนดแนวคิดไว้ก่อน… “ขอบเขตของความผิดพลาด” ย่อมเพิ่มขึ้น!!! ซึ่งก็เหมือนกับนักกอล์ฟที่ก้าวเข้าหาลูกกอล์ฟ แล้วตีลูกโดยไม่ได้จัดแนวการยืน หรือเล็งเป้าหมายให้ดีเสียก่อน ลูกกอล์ฟที่พุ่งออกจากหน้าไม้ในทิศทางที่เบี่ยงเบนจากแนวเป้าหมายไม่กี่องศา จะลอยไปตกห่างจากเป้าหมายเป็นสิบเป็นร้อยหลา

การคิดเชิงกลยุทธ์จะช่วยลด “ขอบเขตของความผิดพลาด” ได้เยอะ เพราะการคิดลักษณะนี้จะปรับการกระทำของคุณให้ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดแนวลำตัวและท่ายืนในการตีกอล์ฟ ที่ช่วยให้ลูกไปตกใกล้หลุม… ยิ่งคุณจัดให้อยู่ในแนวเดียวกับเป้าหมายมากเท่าใด คุณก็จะเดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ทำให้คุณมีอิทธิพลเหนือคนอื่น

 

ผู้บริหารคนหนึ่งเผยความลับให้ผู้บริหารอีกคนหนึ่งฟังว่า “บริษัทของเรามีแผนระยะสั้นกับแผนระยะยาว แผนระยะสั้นจะคงอยู่อย่างนั้นนานพอที่จะเป็นแผนระยะยาว” แบบนี้ไม่เรียกว่า “กลยุทธ์” แล้ว แต่เป็นการสร้างปัญหา และไม่ใช่ปัญหาเดียวด้วย!

การไม่สนใจ “วิธีคิดเชิงกลยุทธ์” ในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว แต่ยังเสียความน่าเชื่อถือจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น

“คนที่มีแผนการ คือคนที่มีอำนาจ” ไม่สำคัญว่างานที่คุณทำอยู่จะเป็นอะไร? พนักงานบริษัทอยากเดินตามเจ้าของธุรกิจที่มีแผนธุรกิจที่ดี… อาสาสมัครอยากร่วมงานกับผู้นำโครงการที่มีแผนการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่น่าสนใจ… เด็กอยากอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีแผนการช่วงปิดเทอมที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี…

เพียงแค่คุณใช้ “การคิดเชิงกลยุทธ์” คนอื่นจะฟังและอยากทำตาม… ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำในองค์กร “การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้”


เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

5 ยุทธวิธีพิชิตความเครียด

17 03 2017

มีคนสองประเภทบนโลกใบนี้ นั่นคือ คนที่เชื่อว่าทุกสิ่งเกิดจาก “ผลของการกระทำ” กับคนที่เชื่อว่าทุกสิ่ง “เป็นไปตามยถากรรม”

คนกลุ่มแรก เชื่อว่าลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต เส้นทางอาชีพ ความรัก ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นคนกำหนดขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่คนอีกประเภทเชื่อว่า ทุกชีวิตล้วนเป็นไปตามโชคชะตา จะประสบพบเจออะไร ล้วนมีบางสิ่งกำหนดไว้แล้ว พวกเขารอที่จะขึ้นรถเมล์ และมีชีวิตขึ้นลงตามที่รถเมล์จอดตามป้ายเท่านั้น แต่ในทางตรงข้าม คนกลุ่มแรกจะขับรถของตัวเองไปในที่ที่ตัวเองอยากไป ตามจุดหมายความฝันของตน!

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริด้า ระบุว่า “คนที่ชอบกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง มักจะมีผลงานโดดเด่นในหน้าที่การงาน มากกว่าคนที่ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามโชคชะตา และคนที่ชอบกำหนดเส้นทางชีวิตตนเอง ย่อมมีความสามารถและผลงานที่โดดเด่นกว่าใครๆ”

คนที่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะไม่ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามโชคชะตาแล้ว เขายังมี “วิธีการรับมือกับความเครียด” และมี “วุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี” ด้วย โดยคนเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถรับแรงกดดันภายนอกจากเจ้านายได้เป็นอย่างดี ทั้งยังไม่เอาความเครียดมาคิดและทำร้ายตัวเอง ซึ่งมีผลเสียต่องานตามมา… โดยภาพรวมแล้ว พวกเขามีวิธี “พิชิตความเครียด” ดังต่อไปนี้…

 

1. พร้อมเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลง

 

ด้วยปัจจัยภายนอกรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือสภาพการทำงาน “สิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้” ไม่มีสิ่งไหนอยู่ตลอดกาล บริษัทของคุณอาจอยู่ในช่วงตกต่ำที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะตกต่ำไปตลอด

คุณควรมีแผนสำรอง เตรียมตัวเตรียมใจยอมรับกับความคาดหวังของตัวเอง หวังได้ แต่อย่าคาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้แต่แรก และไม่ต้องนำมาใส่ใจ หรือเครียดกับมัน ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น…

จงรับมืออย่างมีสติ โดยคุณสามารถทำลิสท์เป็นรายสัปดาห์ ว่าสิ่งสำคัญในชีวิตของคุณมีอะไรบ้าง และอันไหนมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนไป และถ้าลิสท์ของคุณไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นย่อมทำให้คุณเครียดน้อยลง และไม่ต้องกังวลมากกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง…

 

2. ไม่พุ่งความสำคัญไปที่ข้อจำกัด จนไม่กล้าทำอะไร

 

เราทุกคนล้วนมีขีดจำกัดของตัวเอง มีความกลัว มีความกังวลที่โดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการสั่งห้ามทำโน่นทำนี่… ห้ามขี่จักรยานลงถนน เดี๋ยวรถชน… ห้ามเอาแก้วมาเล่น เดี๋ยวแตกบาดมือ… ข้อห้ามเหล่านั้นอาจฝังใจ ทำให้คุณเป็นคนไม่กล้า หรือกังวลมากเกินกว่าเหตุว่าจะเกิดเหตุร้ายๆ กับตัวเองหรือคนรัก

การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ คุณควรจดบันทึกเรื่องที่ทำให้คุณไม่สบายใจ ทำให้คุณกังวล และน่าจะเป็นความเครียดลึกๆ เช่น คุณเครียดว่าจะบอกเจ้านายเพื่อขอลาออกอย่างไรดีในวันพรุ่งนี้ และพอวันถัดไป หลังจากได้คุยกับเจ้านาย คุณกลับมาอ่านข้อความที่คุณจดนั้นอีกครั้ง คุณอาจรู้สึกดีและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น รวมถึงรู้วิธีการบริหารความเครียดของตัวเอง ว่าไม่ควรคิดมากไปก่อนล่วงหน้า


3. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ-ความคิด

 

นี่เป็นวิธีที่ยากที่สุด แต่วิธีเปลี่ยนทัศนคติความเครียดง่ายๆ คือการเขียนออกมาเป็นเหตุการณ์จำลอง อะไรทำให้คุณเครียด อะไรทำให้คุณเชื่อว่าสิ่งร้ายๆ จะเกิดขึ้น และถ้ามันเกิดขึ้นจริง คุณจะตอบสนองกับปัญหานั้นอย่างไร?

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกเครียด กังวลกับปัญหาเหล่านั้น ให้ดึงกระดาษแผ่นนี้ออกมา เพื่อที่ว่าคุณจะได้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และมองว่าปัญหานั้นมีทางออก ไม่ควรกังวลไปก่อน คุณควรค่อยๆ เปลี่ยนความคิดโดยการจดสิ่งที่คุณรู้สึกลงในกระดาษ ณ ตอนนั้นด้วย ว่าคุณโล่งใจไปมากแค่ไหน…


4. หยุดมองโลกในแง่ร้าย


วิธีที่ดีที่สุดในการทำให้คุณ “หายเครียด” คือหยุดมองโลกแง่ร้าย และลดการคิดลบ เพราะความคิดเหล่านั้นทำให้คุณเครียดและกังวล บั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของคุณโดยไม่รู้ตัว… เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังคิดร้าย คิดลบ ให้คุณบอกตัวเองว่า “หยุดเดี๋ยวนี้” และจดมันออกมา ระบายมันออกมาเป็นตัวหนังสือ…

ขณะที่คุณจดมันลงไป คุณจะมีเวลาคิดทบทวนมากขึ้น รู้ทันตัวเองมากขึ้นว่าคุณกำลังคิด-กำลังทำอะไร? เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดมากไปก่อน แล้วมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง… สมองของคุณจะบันทึกไว้ว่า เราไม่ควรคิดมากอีก…

 

5. สนอกสนใจในเรื่องดีๆ

 

การให้เวลากับตัวเองในแต่ละวัน เพื่อคิดทบทวนเรื่องราวดีๆ ที่เข้ามาในชีวิต จะช่วยให้คุณลดความกังวลไปได้มาก… จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า “คนที่ทำงานอย่างอารมณ์ดี มีสิ่งแวดล้อมดี และคิดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่เป็นพลังบวก จะมีความเครียดน้อยกว่าคนอื่นๆ”

 

การบริหารจัดการความเครียด ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับคุณ… เพียงแค่เปลี่ยนมุมมองคิด ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณได้… ขอแค่มีสติรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง ความเครียดก็จะไม่สามารถทำร้ายคุณได้อีกต่อไป…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

ฝึกใช้ประโยชน์จากสัญชาตญาณ กันเถอะ!

21 03 2017

“สัญชาตญาณ” ก็เหมือน “ความคิดสร้างสรรค์” นั่นคือได้รับแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก ซึ่งมักปรากฏขึ้นอย่างลึกลับและเข้าใจได้ยากมากๆ… ทว่าสัญชาตญาณต่างกับความคิดสร้างสรรค์หลายๆ แบบ เพราะสัญชาตญาณจะเกิดขึ้น “ในชั่วแวบเดียว” และให้ข้อมูลแก่คุณแบบฉับพลัน…

 

มันเป็นแค่ความรู้สึกเท่านั้นหรือ?

 

เวลาเริ่มจัดการปัญหา หรือตัดสินใจเป็นครั้งแรก… เป็นธรรมดาที่คุณจะตอบสนองกลับทันทีทันใด นั่นคือการตอบสนองไปตาม “สัญชาตญาณ”

แต่คุณอาจไม่สนใจความรู้สึกนั้น เพราะไม่รู้ว่าความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และหาเหตุผลกับความรู้สึกเหล่านี้ไม่เคยได้เลย? จะเกิดประโยชน์มาก หากคุณหันมาใส่ใจ “ลางสังหรณ์เบื้องต้นเหล่านี้” มากขึ้น เพราะมีผลการวิจัยแนะนำว่า “ความรู้สึกแบบนี้มักชี้นำไปในทางที่ถูกต้อง”

สัญชาตญาณมักเกิดกับเรื่องที่คุณมีประสบการณ์มากอยู่แล้ว เช่น เราล้วนเคยชินกับการพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องนี้เราค่อนข้างมี “ความรู้สึกตามสัญชาตญาณ” อย่างมาก ที่จะชอบหรือไม่ชอบ… ไว้ใจหรือไม่ไว้ใจ… ทำนองเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้มากมายในสาขาใดสาขาหนึ่ง พวกเขามักนำประสบการณ์มาใช้ประเมินเรื่องต่างๆ ได้แม่นยำและรวดเร็ว ตามจิตใต้สำนึก!

 

ควรทำตามสัญชาตญาณดีไหม!?

 

เนื่องจาก “จิตใต้สำนึก” ของคุณ ตอบสนองและรวบรวมข้อมูลได้มากกว่า “จิตสำนึก” ดังนั้น เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องซับซ้อน ขอให้ฟังความรู้สึกตามสัญชาตญาณก่อน… ส่วนเรื่องง่ายๆ ให้ลองหาคำตอบด้วยการใช้เหตุผล

มีกรณีหลักสองกรณีที่คุณควรใช้สัญชาตญาณอย่างระมัดระวัง กรณีแรก คือเมื่อรู้สึกกลัว หรือเกิดความปรารถนาอย่างรุนแรง เพราะความรู้สึกนี้อาจทำให้คุณไม่สามารถตัดสินเรื่องต่างๆ โดยใช้สัญชาตญาณที่แท้จริงได้ และกรณีที่สอง คือเมื่อต้องเจอเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์เลย (หรือมีประสบการณ์น้อยมากๆ) ที่จะนำมาเป็นพื้นฐานในการใช้สัญชาตญาณ


วิธีใช้สัญชาตญาณให้ได้ผลมากที่สุด


ขั้นที่ 1


สังเกตความประทับใจครั้งแรกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความรู้สึกพวกนี้วิ่งไปมาผ่านจิตสำนึกของคุณเหมือนผีเสื้อ ลองฝึกจับความรู้สึกเหล่านี้ โดยใช้ความตั้งใจของคุณนั่นล่ะเป็นตาข่าย! แล้วอย่าลืมจดบันทึกทุกครั้งเวลาคุณมีอารมณ์ตอบสนองต่อสถานการณ์ใดเป็นพิเศษ…

 

ขั้นที่ 2

 

เวลาเกิดความประทับใจในช่วงแรกๆ ลองตั้งคำถามว่า อะไรที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนี้? เหตุผลที่เกิดความประทับใจแบบนี้ น่าจะเป็นเพราะอะไร? ใช่เพราะรายละเอียดบางอย่างหรือเปล่า (ที่คุณรับมาโดยไม่รู้ตัว) ที่สติของคุณเห็นว่าเรื่องนั้นไม่สำคัญ?

 

ขั้นที่ 3

 

ถามตัวเองว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากฉันไว้ใจความรู้สึกนี้ แล้วทำตามความรู้สึกนี้?”

 

ขั้นที่ 4

 

ตรวจสอบสมมติฐานของคุณเอง เพื่อให้แน่ใจว่า การโต้ตอบของคุณไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความเข้าใจผิด เพราะการตอบโต้ไป “เพียงเพราะรู้สึกว่าน่าจะถูกต้อง” บางครั้งก็อาจมาจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องได้นะ…

 

บ่อยครั้งที่เรามัวหา “เหตุผล” ให้กับการกระทำ หรือการตัดสินใจ… เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ยุ่งยาก ลองสงบสติอารมณ์ พยายามไม่ฟุ้งไปกับความคิด แล้วลงมือทำตาม “สัญชาตญาณแรก” ที่ตอบสนอง… บ่อยครั้งเรื่องที่ดูเหมือนซับซ้อน กลับสามารถคลี่คลายได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่คุณเชื่อ “คำตอบแรกที่อยู่ในใจคุณ” นั่นเอง!

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เพราะความลำบาก คือหนทางสู่ความสำเร็จ

27 03 2017

ดอกเตอร์ จอยซ์ บราเธอร์ส อาจารย์ด้านจิตวิทยา เคยกล่าวไว้ว่า “คนประสบความสำเร็จ ต้องเรียนรู้ที่จะมองความล้มเหลวเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ และเป็นส่วนที่เลี่ยงไม่ได้ของกระบวนการก้าวสู่ความสำเร็จ”

เราอาจสรุปได้ว่า “ความลำบากและความล้มเหลว คือส่วนสำคัญของกระบวนการสู่ความสำเร็จ” และข้อดีของความลำบากนั้นมีอยู่มากมาย… เราลองมาดูเหตุผลสำคัญๆ ว่าทำไมถึงต้องยอมรับความลำบาก และต้องพยายามมุ่งมั่นบากบั่นให้เต็มความสามารถ…

 

1. ความลำบาก ทำให้เกิดความยืดหยุ่น

 

ไม่มีอะไรในชีวิตที่ทำให้เกิด “ความยืดหยุ่น” ได้ดีเท่ากับความลำบากและความล้มเหลว… จากการศึกษาวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารไทม์ ช่วงกลางทศวรรษ 1980 ได้ขยายความให้เห็นถึงพลังความยืดหยุ่นที่เหลือเชื่อของกลุ่มคนซึ่งสูญเสียงานของตนจากการปิดโรงงานถึงสามครั้ง!

ตอนแรก นักจิตวิทยาคาดว่าพวกเขาน่าจะท้อใจ แต่พวกเขากลับมองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ความลำบากของพวกเขากลับกลายเป็นความได้เปรียบ เพราะพวกเขาต้องตกงาน และสามารถหางานใหม่ได้อย่างน้อยสองครั้ง นั่นแสดงว่า พวกเขาสามารถจัดการกับความลำบากได้ดีกว่าคนซึ่งทำงานกับบริษัทเพียงแห่งเดียว แล้วตกงาน…

 

2. ความลำบาก ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ความลำบากทำให้คุณดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ปล่อยตัวเองให้ขมขื่นจนเกินไป… อีกทั้งความลำบากยังช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาและความกล้าแกร่ง อีกด้วย… วิลเลียม ซาโรยัน นักประพันธ์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวว่า “คนเราประสบความสำเร็จได้ เพราะเรียนรู้จากความล้มเหลว… ลองนึกดูสิ เราแทบไม่ได้รู้อะไรจากความสำเร็จมากนักหรอก”

ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ ความกล้าแกร่งพร้อมด้วยความยืดหยุ่น จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณสมบัติเหล่านี้ ได้มาจากการฝ่าฟันอุปสรรคความลำบากต่างๆ…

จอห์น คอตเตอร์ ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด บิสสิเนส กล่าวว่า “ผมนึกภาพกลุ่มผู้บริหารเมื่อ 20 ปีก่อน กำลังถกกันเรื่องผู้สมัครในตำแหน่งงานระดับสูงสุดตำแหน่งหนึ่ง และพูดว่า ‘คนๆ นี้เคยประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่ ตอนอายุ 32’ คนอื่นๆ ต่างก็พูดว่า ‘ใช่… ใช่… แบบนี้เป็นลางไม่ดีเลย’ แต่ถ้าพิจารณาด้วยเงื่อนไขเวลาปัจจุบัน เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ทุกคนหมดห่วงคือ ‘คนๆ นี้เคยล้มเหลวมาก่อน’…”

เพราะปัญหาที่เราเผชิญและเอาชนะได้ จะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาในอนาคต

 

3. ความลำบาก ทำให้คุณกล้าเสี่ยง

 

ลอยด์ โอกิลวี่ เล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งเคยเป็นนักแสดงในคณะละคร เล่าประสบการณ์การเรียนรู้วิธีเล่นชิงช้าสูง ดังต่อไปนี้…

เมื่อคุณรู้ว่าเบื้องล่างมีตาข่ายคอยรับคุณอยู่ คุณก็จะไม่วิตกเรื่องการตกจากชิงช้าอีกต่อไป… ตอนนี้คุณเรียนรู้ที่จะตกลงไปอย่างประสบความสำเร็จ ความหมายของมันก็คือ คุณสามารถพุ่งความสนใจไปที่การคว้าชิงช้าที่กำลังเหวี่ยงตัวเข้าหาคุณ ไม่ใช่เรื่องการตกไปข้างล่าง เพราะการตกซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ทำให้คุณมั่นใจว่าตาข่ายมีความแข็งแรงและไว้ใจได้เวลาที่คุณตกลงไปจริงๆ…

ผลของการตกลงไปและได้รับการรองรับด้วยตาข่าย คือความมั่นใจและความกล้าที่จะโหนชิงช้าสูงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คุณจะพลาดน้อยลง และทุกครั้งที่พลาด หรือหล่นลงไป กลับทำให้คุณกล้าเสี่ยงมากขึ้น…

 

4. ความลำบาก ทำให้เห็นโอกาสมากขึ้น

 

“การหลีกหนีปัญหา คือการจำกัดศักยภาพของเรา” ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายคน ต่างก็มีประสบการณ์ หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความลำบาก-ความผิดหวัง ซึ่งกลายเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ มากมาย…

ตัวอย่างเช่น ในปี 1978 เบอร์นี่ มาร์คัส ลูกชายช่างทำตู้ชาวรัสเซียน ในเมืองนวร์ก, นิวเจอร์ซี่ ถูกไล่ออกจากบริษัทแฮนดี้แดน ร้านจำหน่ายเครื่องมือเพื่อการซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง เหตุการณ์นี้กระตุ้นมาร์คัสให้ไปจับมือกับ อาร์เธอร์ แบลงค์ เริ่มต้นธุรกิจของตนด้วยกัน และในปี 1979 ทั้งสองได้เปิดร้านแห่งแรกในเมืองแอตแลนต้า, จอร์เจีย มีชื่อว่า “โฮม ดีโปต์” ปัจจุบัน โฮม ดีโปต์ มีร้านกว่า 760 แห่ง มีพนักงาน 157,000 คน ทั้งสองได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และสามารถทำยอดขาย ปีละกว่า 30 พันล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว

เมื่อมองย้อนกลับไป เบอร์นี่ มาร์คัสคงไม่รู้สึกยินดีกับการถูกไล่ออกจากแฮนดี้แดน สักเท่าไหร่… แต่ถ้าเขาไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ ใครจะไปรู้ว่า เขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้หรือไม่…


5. ความลำบาก กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม


ช่วงต้นศตวรรษ 20 เด็กชายคนหนึ่งซึ่งครอบครัวของเขาอพยพมากจากสวีเดน เพื่อมาตั้งรกรากในอิลลินอยส์ ได้ส่งเงินจำนวน 25 เซ็นต์ เพื่อสั่งซื้อหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่าย จากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่กลับได้รับหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการดัดเสียงพูดแทน…

แล้วเขาทำอย่างไรน่ะเหรอ? เขาก็ปรับตัวและเรียนรู้ศิลปะว่าด้วยการดัดเสียงพูด เด็กคนนี้คือ เอ็ดการ์ เบอร์เกน และตลอดเวลากว่า 40 ปี เขาสร้างความสำราญแก่ผู้ชม พร้อมกับหุ่นไม้ “ชาร์ลี แมคคาร์ธี” กลายเป็นรายการโชว์ชื่อดัง “เอ็ดการ์ เบอร์เกน กับหุ่นไม้ชื่อ ชาร์ลี แมคคาร์ธี ของเขา” 

ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งแปลกใหม่ คือหัวใจของความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ… แจ๊ค แมตสัน แห่งมหาวิทยาลัยฮูสตัน เข้าใจความจริงข้อนี้ และได้พัฒนาหลักสูตรซึ่งนักศึกษาของเขาเรียกชื่อว่า “Failure 101”

ในหลักสูตรดังกล่าว แมตสันจะมอบหมายให้ผู้เรียนสร้างผลิตภัณฑ์จำลองที่ไม่มีใครซื้อ เป้าหมายของเขาคือ ทำให้มองความล้มเหลวเป็นเหมือนนวัตกรรม ไม่ใช่ความพ่ายแพ้… วิธีนี้ช่วยปลดปล่อยพวกเขาให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ “นักศึกษาจะได้เรียนรู้ที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะเล็งเป้าหมายอีกครั้ง” แมตสันกล่าว

ถ้าคุณต้องการความสำเร็จ คุณต้องเรียนรู้ ปรับวิธีการ และลองใหม่ซ้ำอีกครั้ง… เพราะสุดท้ายแล้ว ความลำบากจะช่วยพัฒนาศักยภาพขึ้นมาได้…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

7 หลุมพรางทางความคิด… ควรระวัง!

15 03 2017

เรามักจะมีความคิด-ความเชื่อว่า “สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล” แต่ความจริงแล้ว “การใช้เหตุผลของเรา มักผิดพลาดบ่อยๆ”

นั่นหมายความว่า เราอาจกำลัง “ติดกับดับความเชื่อ” หรือกำลัง “ตกหลุมพรางทางความคิด” ซึ่งเราไม่อาจหลบหนีปีนป่ายออกมาได้… เรามาทำความรู้จักหลุมพรางทางความคิดที่เกิดขึ้นเป็นประจำกันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง?

 

หลุมพรางที่ 1 : การปฏิเสธ หรือหลีกเลี่ยง

คือการที่คุณไม่ลงมือจัดการกับข้อเท็จจริงซึ่งไม่น่าพอใจ… เพราะ “ไม่ยอมรับว่ามีปัญหา” หรือเพราะกำลัง “หลีกเลี่ยงกับปัญหาเหล่านั้น”

ตัวอย่าง คุณกำลังมีหนี้ท่วมตัว แต่กลับปฏิเสธว่าไม่มีปัญหา ไม่ยอมรับว่ากำลังมีปัญหา ทั้งยังเลี่ยงไม่ยอมจัดการกับเรื่องการเงินของคุณ

วิธีปีนออกจากหลุม เมื่อใดที่ต้องเผชิญหน้า หรือเกี่ยวข้องกับความจริงที่ทำให้คุณหวาดกลัว คุณจะรู้สึกอยากปฏิเสธ อยากหลีกเลี่ยง… การปีนป่ายออกจากหลุมพรางทางความคิดนี้ คุณแค่ต้องเตือนตัวเองว่า.. “ไม่ว่าจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน กับการต้องเผชิญความจริง แต่พึงระลึกไว้ว่า การปฏิเสธและหลีกเลี่ยง จะทำให้เจ็บปวดยิ่งกว่า”

 

หลุมพรางที่ 2 : ก็ได้นะ แต่ว่า…

เป็นการหาเหตุผลหลอกๆ มากมาย เพื่ออธิบายว่า ทำไมความคิดใหม่ๆ จึงไม่ได้ผล แทนที่จะสำรวจความเป็นไปได้ของความคิดนั้น

ตัวอย่าง เพื่อนชวนไปเล่นสกีในวันหยุด ซึ่งคุณรู้ว่าต้องสนุกแน่ แต่ใจคุณกลับมีข้อโต้แย้งขึ้นมากมาย ใครจะเลี้ยงแมวของฉันล่ะ, ถ้าฉันเผลอทำอะไรโง่ๆ บนเนินเขานั่นล่ะ,…

วิธีปีนออกจากหลุม เราแนะนำให้ใช้วิธีการ P.I.N. ก่อนอื่น เขียนรายการด้านบวก (Positive) เกี่ยวกับแนวความคิดนั้น แล้วหาว่าความคิดนั้นมีอะไรไหมที่น่าสนใจ (Interesting) แม้จะไม่เป็นด้านบวกสักเท่าไหร่ก็ตาม สุดท้ายให้พิจารณาผลที่จะตามมาซึ่งเป็นด้านลบ (Negative)

วิธีการ P.I.N. นี้ จะช่วยให้คุณเน้นแง่มุมที่เป็นบวก และขจัดหรือทำให้ด้านลบเหลือน้อยที่สุด ลองนำด้านลบแต่ละข้อมาทดสอบ โดยถามตัวคุณเอง ว่ามันเป็นแบบนั้น “จริงหรือ?” ฉันมีหลักฐานอะไรจะพิสูจน์เรื่องนี้ได้บ้าง!?

 

หลุมพรางที่ 3 : การคิดตามกันเป็นกลุ่ม

ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น โดยไม่คิดอะไรเลย… คนอื่นในที่นี้ คือสังคม เพื่อน ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่า ไอเดียของพวกเขาถูกหรือไม่?

ตัวอย่าง ข้อความเกือบทุกประโยค มักขึ้นต้นด้วยคำทำนองว่า “ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า…”, “ผู้มีหลักการล้วนเห็นพ้องกันว่า…”, “เป็นที่ทราบกันว่า…”

วิธีปีนออกจากหลุม อย่ารีบเชื่ออะไรทั้งนั้น… พยายามตั้งข้อสงสัยทุกเรื่อง… ลองถามตัวเองดูว่า “แล้วเรารู้ได้อย่างไร?” แทนที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างไม่ลังเล ลองพิจารณาหลักฐานที่อยู่ตรงหน้าก่อนจะเชื่อความคิดเห็นของคนอื่น เพื่อตรวจสอบอย่างถ่องแท้ว่า “จริงๆ แล้วเรื่องนั้นเป็นอย่างไรกันแน่…”

 

หลุมพรางที่ 4 : การเลือกพิจารณา

พยายามทำให้ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ตรงหน้า เป็นไปตามข้อสรุปที่เคยเกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ

ตัวอย่าง เมื่อคุณมองคนที่คุณรักหรือชื่นชม โดยมองแต่ด้านดีเท่านั้น… จะส่งผลให้เห็นเพียงแค่พวกเขาทำอะไรล้วนถูกต้องไปหมด มุมมองคับแคบแบบนี้ อาจเกิดขึ้นกับวัตถุหรือองค์กรก็ได้ เช่น คนขายของเก่าที่เชื่อว่าตนเองพบของเก่าแก่หายาก, หัวหน้าอาจมองไม่เห็นลักษณะพิรุธใดๆ ของเลขาหน้าห้อง หรือผู้ถือหุ้นอาจไม่สงสัยการทำธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียง,…

วิธีปีนออกจากหลุม การจะตัดสินใจสรุปความเห็นใดๆ ให้พยายามมองหาแง่มุมที่ขัดแย้งต่อความคิดที่คุณเชื่ออยู่! จำไว้ว่า “การเลือกพิจารณา” มีได้ทั้งสองทาง คือนอกจากจะมองแต่ข้อดีแล้ว ยังเป็นการมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดได้ด้วย… ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคน หรือสิ่งของก็ตาม!

 

หลุมพรางที่ 5 : การคิดไปทางเดียว

บ่อยครั้งที่เราไม่ยอมรับว่าตนเองจำเป็นต้องมีการคิดรูปแบบใหม่ๆ เพราะเรามักคิดไปว่า การเปลี่ยนใจใหม่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เป็นเรื่องยากลำบาก… เป็นเรื่องยากที่จะต้องหยุดทำอะไรกลางคัน ทั้งที่รู้ดีว่าเรื่องนั้นเป็นสิ่งผิดพลาด!

ตัวอย่าง ผู้ผลิตรถยนต์ในอเมริกาให้สัมภาษณ์ว่า คนอเมริกันไม่ชอบซื้อรถขนาดเล็ก

วิธีปีนออกจากหลุม ต้องหมั่นนำข้อสันนิษฐานสำคัญๆ ของคุณมาพิจารณาใหม่อยู่เสมอ อย่ามองอะไรผิวเผิน กลยุทธ์ที่ดีประการหนึ่งคือ “ให้ลองขัดแย้งกับตัวเอง” คุณพอจะหาจุดอ่อนได้ก่อนคนอื่นหรือไม่? แล้วคุณจะจัดการกับจุดอ่อนนั้นอย่างไรบ้าง? หากจำเป็น ต้องเต็มใจเปลี่ยนการตัดสินใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องความสามารถในการปรับตัว…

 

หลุมพรางที่ 6 : ทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนมากเกินไป

การไม่ใส่ใจคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด แต่กลับยอมรับคำอธิบาย หรือทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากโดยไม่จำเป็น…

ตัวอย่าง คุณหาของชิ้นหนึ่งในบ้านไม่เจอ คุณทึกทักเอาว่า มีผู้ร้ายย่องเบามาขโมย แทนที่จะพิจารณาว่า คุณแค่วางผิดที่ผิดทางหรือเปล่า!?

วิธีปีนออกจากหลุม ใช้หลักการของ Occam’s Razor ซึ่งกฎข้อนี้บอกว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเท่าเทียมกัน ฉะนั้นทางออกที่เรียบง่ายที่สุด ก็ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”


หลุมพรางที่ 7 : ไม่ใช่ความคิดของฉัน!

เป็นการมองข้ามความคิดใดความหนึ่งไป เพียงเพราะคนอื่นเป็นคนคิด!

ตัวอย่าง ลูกๆ คุณไม่ยอมทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคุณเป็นคนบอกให้ทำ! ทั้งที่ปกติเขาไม่รังเกียจจะทำสิ่งนั้นเลย!

วิธีปีนออกจากหลุม ลองใช้วิธีทำให้คนอื่น “เชื่อ” ว่าพวกเขาเป็นคนคิดเรื่องนั้น… หรือบอกว่า ข้อแนะนำนั้นเป็นของเขาเอง… หากกลับกัน คุณเป็นคนที่อึดอัดใจเมื่อใช้ความคิดเห็นของคนอื่น ให้เตือนตัวเองว่า ทางปฏิบัติที่ฉลาดคือ “ให้ดูความดีหรือข้อดีที่พวกเขาทำ ไม่ใช่ดูว่าใครคิดเรื่องนั้น” หรือคุณอาจลองปรับเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นสักหน่อย ลองใส่ความคิดของคุณเพิ่มเข้าไป เพื่อทำให้รู้สึกว่าเป็นความคิดของคุณมากขึ้น…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

คำถามเปลี่ยนชีวิต ปรับทัศนคติให้เปี่ยมสุข

02 03 2017

คนที่มี “ความสงบสุขในชีวิต” ไม่ใช่เพราะพวกเขามีชีวิตที่ราบเรียบ หรือเจอะเจอแต่สิ่งดีๆ เท่านั้น แต่พวกเขามีชีวิตที่สุขสงบ เพราะสามารถปรับมุมมองให้เข้ากับทุกๆ สถานการณ์…

ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นแม่บ้าน พนักงานประจำ หรือฟรีแลนซ์… แม้คุณจะมีลูกค้าประจำ มีรายได้ต่อเนื่อง มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี หรือมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างรัดกุม แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง บ่อยครั้งกลับไม่เป็นดังใจนึก!

และบางครั้ง ถึงแม้จะทำดีที่สุดแล้ว แต่เรากลับไม่อาจกำหนดโชคชะตาได้  ยังมีปัจจัยภายนอกอีกหลายอย่าง นอกเหนือความคาดหมาย ซึ่งอาจทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไป… แต่คุณรู้หรือไม่? มีสิ่งหนึ่งที่คุณสามารถควบคุมได้ และปรับเปลี่ยนได้ในทุกสถานการณ์ นั่นคือ “มุมมอง-ทัศนคติ”

“การปรับเปลี่ยนความคิด พลิกมุมมอง” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณรับมือกับปัญหาต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์เลวร้าย-ไม่คาดฝันต่างๆ ได้…

ในช่วงที่เจอวิกฤต มีปัญหารุมเร้า ดูเหมือนจะไม่มีทางออก… คุณอาจกำลังคิดว่า คุณไม่มีทางเลือกกับการรับมือปัญหาเหล่านั้น! แต่แท้จริงแล้ว คุณมีทางเลือกหลายอย่าง เพียงแต่คุณไม่รู้ตัว!!!

คุณเลือกได้ว่า จะอารมณ์เสีย จะโมโห หรือจะใช้สติแก้ปัญหา… คุณเลือกได้ว่า จะละทิ้งปัญหา ปล่อยให้มันเป็นไป หรือจะไม่ยอมแพ้ แล้วสู้ขาดใจ…  คุณเลือกได้ว่า คุณจะจบหรือไปต่อ… และคุณก็เลือกที่จะปรับมุมมอง-ความคิด เปลี่ยนวิกฤตหรือปัญหาครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งบททดสอบของชีวิต…

การเปลี่ยนมุมมอง “ตกผลึกทางความคิดจากข้างใน” ทำให้คุณสามารถมีชัยเหนืออุปสรรคทั้งหลาย โดยเฉพาะปัญหาภายนอกที่คุณไม่สามารถควบคุมได้… และนี่คือ “4 คำถามหลัก” ที่จะช่วยให้คุณตระหนัก-รู้ทันอารมณ์ของตัวเอง และเป็นคำถามที่จะ “กระตุกต่อมความคิด ปรับเปลี่ยนมุมมองของคุณ”

1. คุณกำลังกังวลเกินไป หรือเปล่า?

“ความกังวล” ก็แค่ “กังวลล่วงหน้า” เป็นความจริงที่ยังไม่เกิด เป็นศัตรูตัวฉกาจคอยทำลายความสุขของคุณ ณ ปัจจุบัน…  เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มกังวล นอกจากจะทำให้คุณไม่มีความสุขกับชีวิตแล้ว ความกังวลยังทำให้คุณจินตนาการไปไกลในด้านลบ สร้างบรรยากาศแห่งความทุกข์ให้กับตนเองและคนรอบข้างที่อยู่ใกล้คุณด้วย… 

“ความสุขจากภายใน” ไม่ได้หมายความว่า คุณต้องนั่งเล่นรับลมทะเลอยู่ริมหาดทราย หรือนั่งตากแอร์เย็นๆ อยู่บนรถส่วนตัว เพราะไมว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ หรือดีแค่ไหน… ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมาจากความคิดและทัศนคติที่อยู่ภายใน 

“ความสงบสุข หรือความสุขในชีวิต ล้วนอยู่ที่ตัวคุณ ไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก” คุณสามารถเปิดเพลงเสียงดัง ร้องเพลงอย่างสนุกสนานระหว่างรถติดก็เป็นได้… “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณต้องให้คุณค่ากับเวลา ณ ปัจจุบัน หรือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ มากกว่าเหตุการณ์อนาคตที่อาจไม่เกิดขึ้นจริง”

2. คุณกำลังคิดว่ามันแย่จนแก้ไม่ได้ หรือเปล่า?

อาวุธที่ทรงพลานุภาพในการทำลายความเครียด และการคิดลบ คือ “ความสามารถในการเลือกที่จะปรับมุมมองความคิด”

เมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตเจอเรื่องแย่ๆ อย่าคิดว่า “มันแย่” แต่ให้คิดอีกด้าน คิดว่าเป็นโอกาส เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เป็นอีกหนึ่งบทเรียน… พยายามหลุดออกจากวนเวียนความคิดเดิมๆ กล้าคิดต่าง ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจดูไม่มีเหตุผลก็ตาม!

ความรู้สึกสนุกกับเรื่องราวและปัญหาที่คุณกำลังเผชิญ… นอกจากทำให้ร่างกายคุณไม่เครียดแล้ว คุณอาจมองเห็นทางออกได้เร็วขึ้น… มีการวิจัยเกี่ยวกับ “การคิดบวก” ว่า นักเรียนที่มีทัศนคติที่ดีกับชีวิต สามารถทำข้อสอบได้ดีกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน หรือแม้แต่พนักงานขายที่มองโลกในแง่ดี ก็สามารถสร้างยอดขายได้มากถึง 50% เมื่อเทียบกับพนักงานขายที่มองโลกในแง่ร้าย… 

3. คุณกำลังใช้วิธีการเดิมๆ แก้ปัญหา อยู่หรือเปล่า?

ทุกครั้งที่คุณเจอปัญหาเดิมๆ และกำลังแก้ไขปัญหาในแบบเดิมๆ ให้คุณหยุด และคิดอย่างจริงจัง ตัดสินใจใหม่อย่างรอบคอบ ว่าคุณจะกลับไปฉายหนังม้วนเดิมซ้ำ หรือจะเป็นผู้สร้างหนังเรื่องใหม่…

วิธีที่จะทำให้คุณมีสติและควบคุมอารมณ์ได้ดี คือการหายใจเข้า-ออกลึกๆ จะช่วยทำให้คุณฉุกคิด และไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล… ในสถานการณ์เลวร้าย ค่อยๆ คิด ถึงแม้จะดูไม่มีความหวัง หมดหนทาง  และดูเหมือนกำลังจะสูญเสียทุกอย่าง แต่จริงๆ แล้ว คุณกำลังศึกษาบทเรียนชีวิต ได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าที่หาที่ไหนไม่ได้ต่างหาก! 

ในชีวิตจริง ไม่มีใครดึงคุณให้จมดิ่งได้หรอก มีแต่ “ความคิดของคุณ” เท่านั้น ที่ทำร้ายคุณ… ความคิด จะกำหนดความเชื่อ… ความเชื่อ ส่งผลถึงพฤติกรรม… พฤติกรรม สะท้อนการดำเนินชีวิตและภาพรวมทั้งหมดของคุณ… ความคิดมีผลต่อการกระทำและบรรยากาศรอบตัวคุณ…

นี่คือเหตุผลสำคัญที่คุณควรจะคัดกรองและตกผลึกความคิด… คิดในสิ่งดีๆ เพื่อสรรสร้างชีวิตดีๆ ในแบบที่คุณต้องการ…  

4.  คุณกำลังยึดติดกับวิถีเดิมๆ หรือเปล่า?

 
เอาเข้าจริงแล้ว มีหลายอย่างในชีวิต ที่คุณสามารถปล่อยผ่าน หรือให้มันเป็นไป โดยไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียตามมา… สถานการณ์บางอย่างจะทำให้คุณโตขึ้น ก้าวหน้าขึ้น ด้วยการไม่ยึดติดกับความคิด ผลลัพธ์ หรือการกระทำแบบเดิมๆ

บางทีการที่คุณยึดติดกับสิ่งเดิมๆ อาจสร้างความทุกข์ใจให้มากกว่า ถ้าคุณไม่ปล่อยให้เลยตามเลย บ่อยครั้งจะไม่สามารถก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ หรือมีชีวิตที่ดีขึ้น… คุณควรต้องปล่อยวางอดีต ยอมตัดใจกับสิ่งเก่าๆ ที่คุณคุ้นชินลงบ้าง… 

คุณไม่สามารถเจอโลกใบใหม่ได้ ถ้าคุณไม่กล้าออกจากฝั่ง… กุญแจสำคัญของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ คือการให้อภัย… ให้อภัยตัวเอง ให้อภัยคนอื่น ปลดปล่อยเรื่องราวร้ายๆ ที่เคยเกิด หยุดจินตนาการถึงความเลวร้ายของเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว… “การให้อภัยด้วยใจเบิกบาน คือการบำบัดน้ำเสียในจิตใจของคุณ”

ถึงเวลาแล้วที่คุณควรหยุดคาดหวังกับคนรอบตัว กับปัจจัยต่างๆ ที่คุณไม่สามารถควบคุมได้ และแทนที่จะพยายามควบคุม คุณแค่เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติ “เริ่มจากภายในสู่ภายนอก” เพียงแค่นี้ คุณก็จะก้าวผ่านทุกอุปสรรค ในทุกๆ สถานการณ์ของชีวิตได้อย่างเป็นสุขครับ

บทความโดย LEARNING HUB THAILAND

7 วิธีปลุกไอเดียใหม่ๆ ในตัวคุณ

03 03 2017

ในปัจจุบันที่โลกรอบตัวเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารล้นทะลัก… ทุกภาคส่วนล้วนเล็งเห็นตรงกันว่า “ยุคการตลาด 4.0” เราควรให้ความสำคัญกับ “นวัตกรรมและงานออกแบบ” เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หรือบริการ…

แน่ล่ะว่า นวัตกรรมและงานออกแบบสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก “ไอเดีย-ความคิดสร้างสรรค์” โดยมีผลการวิจัยของนักจิตวิทยา ระบุชัดว่า… ไอเดียเจ๋งๆ ไม่ได้มาจากการพยายามเค้นความคิด หรือจินตนาการขึ้นจากความว่างเปล่า แต่จะเกิดขึ้นจากการพาตัวเองไปอยู่ในสภาวะที่เอื้อต่อการสร้างไอเดียเหล่านั้น

แล้ว “สภาวะที่เอื้อต่อการสร้างไอเดีย” มีอะไรบ้างหนอ?

 

1. ฟังดนตรีคลาสสิค

 

วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ต่างยืนยันไปในทางเดียวกันว่า ดนตรีคลาสสิคช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลให้เกิดภาพจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ได้ง่าย นอกจากนี้ ดนตรีคลาสสิคยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกดดัน ทำให้สมองได้พักผ่อน ซึ่งเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเกิดไอเดียใหม่ๆ นั่นเอง

ในประเทศไทย คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับเพลงคลาสสิค บอกว่า “การฟังเพลงคลาสสิคตอนเช้า ก่อนเริ่มทำงาน นอกจากจะช่วยให้เราเพลิดเพลินและผ่อนคลาย ยังช่วยให้สมองแจ่มใส คิดไอเดียดีๆ ออกมาได้ง่าย”

สำหรับคนที่สนใจฟังเพลงคลาสสิค เพื่อให้เกิดไอเดียดีๆ หลั่งไหล… คุณสามารถเริ่มต้นฟังเพลงคลาสสิค ด้วยเพลงที่มีความง่าย ไม่ซับซ้อน อาทิ เพลง “Canon in D Major” ของ Pachelbel และ “Ode to Joy” ของ Beethoven… สองเพลงนี้เป็นเพลงยอดนิยม ที่เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยได้ยินในภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ มาก่อนหน้านี้ ลองค้นหามาฟังกันดูนะครับ

 

2. อยู่กับธรรมชาติ

 

ถ้าคุณเคยนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ มีลมเย็นๆ พัดผ่าน เชื่อว่าคุณจะรู้สึกดี… นั่นเพราะการอยู่กับธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เมื่อร่ายกายผ่อนคลาย สมองก็จะจัดเรียงข้อมูลได้ดีขึ้น การหยิบใช้ข้อมูลในความคิดเราจึงทำได้ง่ายขึ้น และนั่นทำให้ “ไอเดียดีๆ” เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ได้ง่าย

นอกจากคำยืนยันทางวิทยาศาสตร์แล้ว นักธุรกิจหลายท่านก็ใช้วิธีนี้ในการหาไอเดียใหม่ๆ ครับ ตัวอย่างเช่น เกร็ก ไอเซนเบิร์ก ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เขาเคยบอกว่า… ไอเดียดีๆ ของเขา มักเกิดขึ้นตอนอยู่ในที่สงบๆ ท่ามกลางธรรมชาติ เช่น พื้นที่โล่งกว้างในชนบท หรือชายหาดริมทะเล

แต่ถ้ายังไม่มีเวลาเดินทางไปสัมผัสธรรมชาติต่างจังหวัด คุณอาจเพียงแค่เดินเล่นในสวน หรือหาที่นั่งใต้ต้นไม้ในสวนสาธารณะแถวบ้าน ก็ได้นะครับ

 

3. ทำสมาธิ

 

“การทำสมาธิ” จะทำให้เรามีสภาวะจิตที่ปลอดโปร่ง โล่งสบาย ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง… “การทำสมาธิ” เป็นการดึงความคิดที่สะเปะสะปะ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ส่งผลให้เราเห็นความคิดตัวเองชัดขึ้น… และในทางวิทยาศาสตร์ “การทำสมาธิ” จะทำให้คลื่นสมองช้าลง จนถึงความถี่หนึ่งที่เรียกว่า “คลื่นอัลฟ่า” ซึ่ง ณ ความถี่นี้เอง ที่สมองจะมีการจัดระเบียบความคิดได้ดีมาก ไอเดียดีๆ จึงหลั่งไหลได้ง่ายในสภาวะนี้นั่นเอง

วิธีนี้ นักธุรกิจหลายคนชื่นชอบ แม้แต่ สตีฟ จ็อปส์ ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม Apple ก็เป็นคนหนึ่งที่ทำสมาธิเป็นประจำ และพบว่า ไอเดียใหม่ๆ ของเขา มักเกิดขึ้นในช่วงที่จิตใจสงบระหว่างทำสมาธิ…

 

4. อ่านหนังสือ

 

“หนังสือ” ไม่เพียงทำให้เราได้ความรู้ แต่ยังช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของสมอง จากผลการศึกษาของ Emory University บอกว่า “การอ่านหนังสือหลากหลายแนว ทำให้การเชื่อมต่อของสมอง และการทำงานกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดีขึ้น เพราะการอ่าน จะบังคับให้เราต้องจินตนาการภาพตาม ซึ่งก็เป็นที่มาของไอเดียดีๆ นั่นเอง”

ถ้าเราสังเกตดีๆ นักธุรกิจและผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกส่วนใหญ่ ล้วนเป็นนักอ่านครับ และการรับข้อมูลใหม่ๆ ก็จะทำให้เราจินตนาการได้ดีขึ้น… ยิ่งถ้าเราอ่านหนังสือที่หลากหลาย ก็จะยิ่งช่วยให้เรามองเรื่องที่เรา “คิดว่า รู้อยู่แล้ว” ด้วยกรอบความคิดใหม่…

 

5. ท่องเที่ยวไปในที่แปลกใหม่

 

การเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่แปลกใหม่ เป็นการทำลายความซ้ำซากจำเจและความเคยชินเดิมๆ ทั้งยังช่วยให้เราออกจาก comfort zone ของตัวเอง… บ่อยครั้งที่เราจะได้รับประสบการณ์คาดไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้ ได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาครับว่า การเดินทางท่องเที่ยวไปในที่แปลกใหม่ จะช่วยให้เกิดไอเดียเจ๋งๆ และความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ได้ง่ายขึ้น…

คุณลองสังเกตตัวคุณเอง จะเห็นว่า เวลาท่องเที่ยวไปในที่ไม่เคยไปมาก่อน หูตาเราจะเปิดโดยอัตโนมัติแบบไม่ต้องฝืน ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทางความคิด จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ… จัดสรรเวลาไปเที่ยวในที่ที่ไม่เคยไปดูนะครับ นอกจากได้พักผ่อนแล้ว ยังอาจได้ไอเดียดีๆ กลับมาด้วย

 

6. จดจ่อกับเป้าหมาย

 

“การจดจ่อกับเป้าหมาย” สามารถทำให้เราเกิดไอเดียดีๆ ได้อย่างไม่คาดคิด เพราะการที่เรามุ่งมั่น ชัดเจนกับเป้าหมาย ขีดเส้นตายให้ตัวเอง เท่ากับเราได้สร้างข้อจำกัดให้ชีวิต และการสร้างข้อจำกัดบางอย่างนี้นี่เอง ที่บังคับให้เรา “ต้องหาทางออก ด้วยปัจจัยเท่าที่มี” นั่นทำให้เราปลดปล่อยศักยภาพภายใจตัวเองได้มหาศาล และไอเดียดีๆ ก็จะพรั่งพรู เพื่อพาเราไปถึงเป้าหมายนั้นได้ นั่นเอง!

สำหรับ “วิธีการตั้งเป้าหมายเบื้องต้น” เราขอแนะนำหลักการ SMART ครับ ได้แก่ Specific (มีความเฉพาะเจาะจง), Measurable (สามารถวัดผลได้), Attainable (สามารถบรรลุได้), Realistic (อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง) และ Time-Bounded (มีกำหนดเวลาแน่นอน)

 

7. จดบันทึก

 

คุณรู้หรือไม่ว่า “การจดบันทึก” ไม่ได้แค่ช่วยเราจดจำข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระตุ้นให้เกิดไอเดียดีๆ ได้ด้วย… เพราะ “การจดบันทึก” จะช่วยให้เรามองเห็นความคิดตัวเองในอดีต ที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน… ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเมื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น เราก็สามารถทลายข้อจำกัดแบบเดิมๆ ได้ นั่นรวมถึงความกล้าคิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยคิดมาก่อน!

ริชาร์ด แบรนสัน เจ้าของอาณาจักร Virgin เวลาไปไหนก็ตาม เขาจะพกสมุดจดบันทึกเล่มเล็กๆ ติดตัวตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งใดที่น่าสนใจแวบเข้ามาในความคิด เขาจะรีบจดมันลงไป… เขาบอกว่า “ไอเดียที่ก่อให้เกิดอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่รอบตัวเขา มาจากสมุดบันทึกเหล่านี้แหละครับ”

ในส่วนของ “วิธีการจดบันทึก” ก็ไม่ได้มีอะไรตายตัว แต่ควรเขียนด้วยมือ และจดลงไปด้วยมุมมองความคิดของตัวเอง… ที่สำคัญ คุณควรฝึกจดบันทึกสิ่งต่างๆ ให้ติดเป็นนิสัย แล้วคุณจะพบว่า “สมุดบันทึกธรรมดาๆ นี่แหละ สร้างไอเดียไม่ธรรมดาให้เราได้มากมาย”

 

ทั้ง “7 วิธีปลุกไอเดียใหม่ๆ ในตัวคุณ” ในบทความนี้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่เราเอามาแนะนำ… ลองทำดูสิครับ ไม่แน่ว่า หนึ่งในวิธีเหล่านี้ อาจช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เจ๋งๆ ให้กลายมาเป็น “นวัตกรรมสร้างรายได้” สำหรับคุณ ก็เป็นได้!

 

บทความโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save