5 ขั้นตอน ของการตัดสินใจ

การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นเพียงการหยุดคิดเพื่อไตร่ตรอง… การตัดสินใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ… ไปจนกระทั่งเรื่องใหญ่ๆ เรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบอย่างมาก…

ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในชีวิต คุณจำเป็นต้องตัดสินใจ ก่อนที่จะเริ่มได้รับผลจากการกระทำของคุณจริงๆ

หลายคนอาจบอกว่า เขาได้ตัดสินใจที่จะทำแล้ว แต่ไม่เห็นมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นเลย เช่น ตัดสินใจที่จะมีร่างกายที่ฟิตมากขึ้นในปีนี้ อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากขึ้น ขอขึ้นเงินเดือน แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง… นั่นเป็นเพราะ “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ลงมือปฏิบัติในทันที”

อย่าลืมว่า หลังการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในความคิด ต้องลงมือปฏิบัติจริงด้วย… เรามาดู “5 ขั้นตอนสำคัญในการตัดสินใจ” ว่ามีอะไรบ้าง…

 

ขั้นตอนที่ 1

ขั้นตอนของ “การรับรู้” การรับรู้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจ… เราสามารถรับรู้ได้จากปฏิกิริยาโต้ตอบที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นแบบตรงไปตรงมา เช่น พนักงานขายรายงานยอดขายที่กำลังตกลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน หรือรายงานซึ่งแสดงว่าการแก้ปัญหาของคุณยังเข้าไม่ถึงลูกค้า

เพื่อนอาจจะบอกว่า หน้าตาของคุณดูไม่ดีเลยช่วงนี้ แต่ปฏิกิริยาบางอย่างอาจไม่ชัดเจนนัก เช่น คุณรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ถูกต้อง จงอย่าละเลยความรู้สึกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคุณเป็นคนที่มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ลางสังหรณ์จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คุณค้นพบและเกิดความคิดในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้จริง

ดังนั้น “จงตัดสินใจที่จะตัดสินใจ” สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ และปฏิกิริยาของคนรอบข้าง เพื่อรับรู้ว่าคุณจำเป็นจะต้องตัดสินใจแล้วหรือยัง? อย่าละเลยขั้นตอนนี้ ยิ่งคุณตัดสินใจต่อปฏิกิริยาต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกของคุณได้เร็วเพียงใด… ก็จะยิ่งจัดการ หรือหาทางออกให้กับสิ่งนั้น ได้ง่ายขึ้นเพียงนั้น

 

ขั้นตอนที่ 2

เป็นขั้นตอน “เราจะตัดสินใจอย่างไร” การดึงองค์ประกอบต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือส่วนของการรวบรวมข้อมูล กับส่วนของการประเมินน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น แล้วนำมาพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย

วิธีที่ง่ายที่สุดในการทำขั้นตอนนี้คือ เขียนข้อดี-ข้อเสียลงบนกระดาษ โดยแบ่งเป็นช่องข้อดีและข้อเสีย แล้วใส่รายละเอียดให้ได้มากที่สุด ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาพิจารณาใหม่

ไม่ว่าคุณจะทำด้วยวิธีใด ขั้นตอนนี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้น เป็นขั้นตอนของการใช้เชาวน์ในการไตร่ตรอง ซึ่งสนับสนุนเชาวน์ปัญญาในด้านการเรียนรู้และประสบการณ์… “เชาวน์ในการไตร่ตรอง” จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราหยุดทำสิ่งอื่นๆ ซึ่งในโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในปัจจุบัน ทำให้เราใช้เชาวน์ด้านนี้กันน้อยลง


ขั้นตอนที่
3

ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดว่า “เมื่อใดที่เราเรียกว่าเป็นการตัดสินใจจริงๆ” คนโดยทั่วไปเมื่อได้ตัดสินใจแล้ว (เช่น ฉันจะเริ่มออม, ฉันจะหยุดสูบบุหรี่) มักจะรู้สึกโล่งอก เพราะคิดว่าตนเองพบทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย!!!

เราจึงควรให้คำนิยามคำว่า “ตัดสินใจ” ว่าเป็น “การเริ่มลงมือทำจริงๆ อย่างที่เราคิดไว้” เช่น เมื่อเราได้ออมเงินครั้งแรก หรือเมื่อเราได้โยนบุหรี่ทิ้ง จึงจะเรียกว่า “เป็นการตัดสินใจจริงๆ

ดังนั้น “การตัดสินใจจะยังไม่ใช่การตัดสินใจจริงๆ จนกระทั่งได้มีการทำให้สิ่งที่คิด ให้เกิดเป็นรูปธรรม” ซึ่งการกระทำที่ว่านี้ ประกอบด้วยลักษณะ 3 อย่าง ดังนี้

อย่างแรก การกระทำนั้นต้องวัดได้ เพื่อให้คุณรู้เมื่อได้มันมา เช่น ออมเงินให้ได้มากขึ้น ไม่สามารถวัดได้ แต่ถ้าเป็นออมเงินวันละ 100 บาท ทุกเดือน สามารถวัดได้

อย่างที่สอง กำหนดวัน-เวลาที่จะกระทำให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ฉันจะออมเงิน วันละ 100 บาท ทุกเดือน

อย่างที่สาม เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งง่ายต่อการปฏิบัติจริง

 

อันที่จริง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่มีเหตุผลและถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำกัน เหตุผลหลักที่ทำให้เรามักไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนลงไป ก็เพราะเรากลัวที่จะพบกับความล้มเหลว เช่น ถ้าเราพูดว่า เราจะวิ่งสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ แล้วเราทำไม่ได้ ก็จะคิดว่าเราล้มเหลว ถ้าไม่กำหนดวัน เราจะไม่ล้มเหลว…

ซึ่งก็จริง ว่าเราจะรู้สึกแบบนั้นได้ แต่คุณอย่าลืมว่า เราก็จะไม่พัฒนา เช่นกัน… ลองคิดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องสำเร็จหรือล้มเหลว เฝ้าดูความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น และคิดด้วยความเชื่อที่ว่า “ไม่มีคำว่าล้มเหลว จะมีก็แต่ผลลัพธ์ที่คุณสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้”

 

ขั้นตอนที่ 4

เป็นขั้นตอนทางเลือก ซึ่งคุณอาจทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่อย่าคิดว่าไม่สำคัญ เมื่อคุณได้ตัดสินใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันจะนำไปสู่การตัดสินใจและทำเรื่องต่อๆ ไป เช่น การเริ่มทำธุรกิจ หรือการปรับปรุงตัวเอง อาจมีส่วนคาบเกี่ยว หรือต่อเนื่องกับสิ่งที่คุณจะทำ

คุณควรวางแผนสิ่งที่คุณต้องทำอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึง “เมื่อเรารู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ก็ควรกำหนดว่าต้องทำมันเมื่อใด ใครจะเป็นคนทำ และสิ่งนี้จะมีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ หรือไม่” พิจารณาว่าเรื่องใดเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งหากยังไม่ได้ทำ จะมีผลทำให้ไม่สามารถทำสิ่งอื่นๆ ได้ คุณอาจต้องเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์สำหรับการจัดการโครงการ เพื่อช่วยวิเคราะห์สิ่งสำคัญที่คุณควรทำก่อนหลังได้ดีขึ้น

 

ขั้นตอนที่ 5

“ควรบอกการตัดสินใจของคุณกับผู้อื่นหรือไม่?” เช่น คุณตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจใหม่ตามลำพัง หรือคุณตัดสินใจที่จะลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูก จงจำไว้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ” คำแนะนำก็คือ “บอกเป้าหมายของคุณกับคนที่ช่วยสนับสนุนคุณเท่านั้น” อย่าบอกสิ่งนี้กับคนที่จะทำให้คุณหมดกำลังใจ…

           

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

4 วิธีง่ายๆ สู่ความสำเร็จ

14 03 2017

เราทุกคนล้วนมี “ความฝัน” และอยาก “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ด้วยกันทั้งนั้น… หลายคนพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ล้มลุกคลุกคลาน ลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน แต่จนแล้วจนรอด หลายคนก็ยัง “ยืนอยู่ที่เดิม” ไม่เข้าใกล้ความสำเร็จสักที!

บทความนี้จะนำเสนอเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ เพียงแค่คุณปฏิบัติตาม 4 วิธีเหล่านี้… “ประตูแห่งความสำเร็จ” เปิดกว้าง รอต้อนรับคุณแล้วล่ะครับ…

 

1. คบเพื่อนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคุณ

 

คุณอาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ประสบความสำเร็จด้วยทีมที่ดี” ประโยคนี้เป็นคำกล่าวของ ศาสตราจารย์เดวิด แมคเคิลแลนด์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ท่านอุทิศตนศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของคนที่ประสบความสำเร็จ และเขาพบว่า “ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของคนเรา ก็คือ กลุ่มคนที่รายล้อมรอบตัว” เดวิดยืนยันว่า “เพื่อนรอบข้างมีความสำคัญมากกว่าความพยายามของเจ้าตัวเสียอีก”

จริงๆ แล้วแนวคิดนี้คล้ายกับสุภาษิตของไทยที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักได้ยินคำสอนของผู้ใหญ่ที่ว่า ให้เลือกคบเพื่อนดีๆ เพราะเพื่อนที่ดีจะนำพาให้ชีวิตไปในทางที่ดี ทางที่เจริญก้าวหน้า และประสบความสำเร็จในที่สุด

ให้คุณลองนึกถึงสถานการณ์ที่เห็นเพื่อนได้ดิบได้ดี เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง หรือได้ทำงานดีๆ แน่นอนว่าคุณต้องเกิดความรู้สึกอยากเป็นเหมือนเพื่อนบ้าง ความรู้สึกนี้จะเป็น “แรงผลักดัน” ให้คุณพยายามและประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ดังนั้น “คุณควรอยู่ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนที่ประสบความสำเร็จ” เพราะนั่นจะทำให้คุณเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ…

 

2. เติมความรู้สึก… ไม่ชอบความพ่ายแพ้

 

ดอน เยเจอร์ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “16 ลักษณะเฉพาะของแชมป์ตัวจริง” เขาระบุว่า หนึ่งในลักษณะหลายๆ อย่างที่แชมป์มีเหมือนกัน ก็คือ “พวกเขาเกลียดชังความพ่ายแพ้”

ดอนกล่าวว่า นักกีฬาเก่งๆ อย่าง ไมเคิล จอร์แดน หรือโค้ชมือหนึ่งอย่าง จอห์น วูเดน ไม่ได้ต้องการเอาชนะ หรือเป็นที่หนึ่ง แต่พวกเขาเพียงแค่ “ไม่ชอบความพ่ายแพ้” ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามผลักดันตัวเอง และทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ตนเองพ่ายแพ้ จนสามารถเอาชนะ และประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ลองประยุกต์วิธีคิดนี้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคุณดู โดยอาจเริ่มจากเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การเล่นเกม การเล่นกีฬา หรือการเรียน หากคุณรู้สึก… “ไม่อยากเป็นคนแพ้ หรือเกลียดสถานการณ์ที่ตนเองผิดพลาด แสดงว่าคุณมีแรงกระตุ้นที่ดี ที่จะช่วยให้ตนเองประสบความสำเร็จในเรื่องที่ยิ่งใหญ่ต่อไป” จงใช้สิ่งนี้เป็นพลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในชีวิต…

 

3. มีนิสัยรักการอ่าน


งานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า เด็กที่อ่านหนังสือมาก จะเรียนหนังสือได้ดี และสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่าน… และแน่นอนว่า ทักษะนี้จะติดตัวไปด้วยเมื่อพวกเขาก้าวออกจากโรงเรียน

คนที่ใฝ่หาความรู้ กระตือรือร้น และศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ จะเป็นคนที่มีความคิดกว้างไกล พวกเขาจะมีมุมมองแปลกใหม่ และมักแสวงหาโอกาสให้กับตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่า “ผู้มีนิสัยรักการอ่าน จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ”

ประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน เคยกล่าวไว้ว่า “นักอ่านทุกคนไม่ใช่ผู้นำ แต่ผู้นำทุกคนเป็นนักอ่าน” สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า “การอ่านเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเรากลายเป็นผู้นำ”

ยิ่งอ่านมาก ก็ยิ่งรู้มาก และยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งทำอะไรได้มาก… การอ่านเปรียบเสมือนการเปิดประตูสู่โลกกว้าง ทำให้เรารอบรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น เกิดความคิดที่หลากหลาย กว้างไกล และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้… “ความรู้จากการอ่าน เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คนเรามีต้นทุนในการพัฒนาตนเอง และกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในที่สุด”

 

4. ไม่กลัวความล้มเหลว

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า “ความล้มเหลวเป็นกระบวนการของความสำเร็จ” คนที่กลัวความล้มเหลว คือคนที่พยายามปกป้องตัวเองให้ปลอดภัย พวกเขาจะไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะกลัวความผิดพลาด…

หากคุณสามารถเอาชนะ “ความรู้สึกกลัวความล้มเหลว” กล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วหากเกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้น คุณจะได้เรียนรู้ว่าต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างไร ใช้ความล้มเหลวเป็นบทเรียน และเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้า สุดท้ายแล้วคุณก็จะพบกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

หนังสือขายดีที่ชื่อ “เหตุใดความสำเร็จมักเริ่มต้นที่ความล้มเหลว” มีใจความสำคัญว่า “ความล้มเหลวเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ เพราะสิ่งนี้ทำให้คุณรู้จักการเปลี่ยนแปลง ทำให้คุณรู้ว่าทำสิ่งใดแล้วไม่ได้ผล คุณจะเกิดการเรียนรู้ อีกทั้ง มันยังสร้างให้คุณเข้มแข็ง และแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย”

ดาร์เรน ฮาร์ดี้ เปรียบเทียบว่า… ความล้มเหลวกับความสำเร็จ เหมือนกับนาฬิกาลูกตุ้ม หากลูกตุ้มแกว่งไปด้านหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือนด้านของความสำเร็จ การเติบโต และชัยชนะ แต่หากลูกตุ้มแกว่งไปอีกด้านหนึ่งซึ่งเปรียบเหมือนด้านของความล้มเหลว การปฏิเสธ และความเจ็บปวด… เมื่อคุณแกว่งลูกตุ้มไปด้านใดด้านหนึ่ง มันก็จะย้อนกลับมาอีกด้านหนึ่ง เช่นกัน!

นั่นเท่ากับว่า ยิ่งคุณล้มเหลวมากเท่าไหร่ คุณก็จะได้เรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น และย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากตามไปด้วย… ดังนั้น อย่ากลัวที่จะล้ม เพราะคุณสามารถลุกขึ้นยืนได้ และจงจำไว้ว่า การลุกขึ้นยืนหลังจากการล้มลง เป็นการยืนที่มั่นคง แข็งแรง และนำพาไปสู่ความสำเร็จ

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save