4 วิธีใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

4 วิธีใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

          เคยไหมคะ บางครั้งเวลาเราพบเจอกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากหรือมีปัญหาเกิดขึ้นในชีวิต แล้วมีบางสิ่งบางอย่างผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของคุณ ชักนำให้คุณอยากจะตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นในทันทีทันใด นั่นเรียกว่าการตอบสนองไปตาม “สัญชาตญาณ”

สัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่ลึกลับและเข้าใจได้ยาก มีส่วนคล้าย “ความคิดสร้างสรรค์” ตรงที่เกิดจากแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก แต่มีความแตกต่างกันตรงที่สัญชาติญาติจะเกิดขึ้นแบบ “ปิ๊งแว้บ” ขึ้นมาอย่างฉับพลันแล้วหายไปอย่างไร้ร่องรอย

ความรู้สึกฉับพลันที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะไม่สนใจและปล่อยผ่าน เนื่องจากเป็นสิ่งที่หาเหตุผลมารองรับไม่ได้ แต่อันที่จริงแล้ว “ลางสังหรณ์ที่เกิดขึ้นฉับพลัน” เหล่านี้ สามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้หากเรารู้จักวิธีที่จะจัดการกับลางสังหรณ์เบื้องต้นเหล่านี้ อย่างเช่นที่มีงานวิจัยกล่าวเอาไว้ว่า ความรู้สึกปิ๊งขึ้นมานี้เป็นความรู้สึกที่ชักนำเราไปในทางที่ถูกต้อง

สัญชาติญาณจะแม่นยำที่สุดเรื่องไหน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเราจะเชื่อสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ วิธีการก็คือให้เราลองสังเกตว่าเรื่องที่เกิดขึ้น เราได้เคยมีประสบการณ์มาแล้วบ่อยครั้งหรือไม่ เช่น หากเราคุ้นเคยกับการสื่อสารกับผู้คนมากหน้าหลายตา ย่อมมีความรู้สึกตามสัญชาตญาณในเรื่องชอบ ไม่ชอบ ไว้ใจ หรือไม่ไว้ใจกับผู้คนที่เราพบเจอกันใหม่ได้อย่างมาก ลักษณะเช่นเดียวกันกับ “นักพยากรณ์ดวงชะตา” ที่จะสามารถนำความชำนาญจากการทำนายดวงชะตาหลายสิบปีมาประเมิน“เจ้าชะตา” ที่เพิ่งพบเจอได้อย่างแม่นยำ และใช้เวลาในทำนายทายทักอย่างรวดเร็วมากกว่านักพยากรณ์ที่ยังมีประสบการณ์น้อย

การใช้สัญชาตญาณถึงมีข้อจำกัดและควรระวังในสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับที่กล่าวมาแล้ว นั่นคือหากเรามีประสบการณ์ในเรื่องนั้นน้อยเกินไป หรือหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณได้อย่างแท้จริง เช่น เมื่อเกิดความกลัว หรือเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่รุนแรงเป็นพิเศษ

สัญชาตญาณมาจาก “จิตใต้สำนึก” ซึ่งตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบได้อย่างรวดเร็วและรวมรวมข้อมูลได้มากกว่า “จิตสำนึก” ดังนั้นหากเป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจมีความซับซ้อน ควรฟัง “สัญชาตญาณ” ก่อน แต่หากเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าให้ใช้เหตุผลในการหาคำตอบ

ขั้นตอนการใช้สัญชาตญาณเพื่อความสำเร็จ

ขั้นตอนที่ 1 หมั่นฝึกจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นครั้งแรก

เมื่อมีความประทับใจแรกเกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มันจะพุ่งผ่านจิตใต้สำนึกของคุณเข้ามาเหมือนลูกดอก ให้คุณใช้ความตั้งใจของคุณเป็นตาข่ายที่จะจับเจ้าความรู้สึกเหล่านั้นให้ทัน และให้หมั่นจดบันทึกเมื่อเกิดความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าปกติเพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

ขั้นตอนที่ 2 ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เมื่อเกิดความประทับใจขึ้นให้ตั้งคำถามต่อตัวเองว่า อะไรที่กระตุ้นให้ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้น สาเหตุที่มันเกิดขึ้นเป็นเพราะอะไรกันแน่ เป็นเพราะรายละเอียดบางอย่างของเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกที่รุนแรงขึ้นมาหรือเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว

ขั้นตอนที่ 3 ตรองดูผลที่จะเกิดขึ้นตามมา

ให้เวลาตัวเองสักนิด นั่งลงเงียบๆ และไต่ตรองดูว่า “จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากเราไว้ใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น และลองทำตามความรู้สึกพวกนี้” บางครั้งการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเราได้กระทำไปแล้วนั้นจะเป็นอย่างไร วิธีนี้จึงช่วยให้คุณประเมินสถานการณ์ได้เหมาะสมขึ้น

ขั้นตอนที่ 4 ตรวจสอบสมมติฐาน

นี่เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะช่วยให้ความสำเร็จเกิดขึ้นจากการใช้สัญชาตญาณ คุณควรจะตรวจสอบสมมติฐานของตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าการโต้ตอบที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดมาจากข้อมูลที่ผิดพลาด หรือใช้ความรู้สึกเพียงอย่างเดียวในการโต้ตอบออกไป วิธีนี้จะช่วยให้เราใช้สัญชาตญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ความสำเร็จในชีวิตเกิดขึ้นมาได้ไม่ยาก หากใช้ “สัญชาตญาณ” ร่วมด้วยในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ อย่างที่ผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตท่านอื่นๆ ได้ใช้มาแล้ว เพียงแค่เราต้องหมั่นฝึกฝนและรู้วิธีที่ถูกต้องในการใช้สัญชาตญาณ คุณอาจจะต้องแปลกใจหากพบว่า สิ่งนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนทำได้ง่ายกว่าการใช้เหตุผลล้วนๆ ในการตัดสินใจเสียอีกค่ะ

บทความโดย Learning Hub Thailand

เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining

ทำความรู้จักกับ “วายร้าย” ทำลายความตั้งใจ

05 04 2017

เฮเลน เคลเลอร์ นักเขียนอเมริกันผู้พิการซ้ำซ้อน (หูหนวกและตาบอด) เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าอยากทำอะไร ก็ทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจกับมันมากพอ”

แต่คุณเคยรู้สึกไหม? ทุกครั้งที่เราตั้งใจแน่วแน่ กำหนดเป้าหมายชีวิตอย่างชัดเจน มักจะมี “3 สิ่ง” ปรากฏขึ้น ขัดขวาง-ฉุดรั้งให้เราพลาดท่า-หลงทาง!!!

 

แจ็ค แคนฟิลด์ ผู้เขียนหนังสือ The Success Principles และ Chicken Soup for the Soul เรียกมันว่า “สามวายร้าย” แต่คุณไม่ต้องไปกลัวพวกมันหรอกนะ… เพียงแค่ทำความรู้จักเจ้าสามวายร้ายนี้ เตรียมพร้อมรับมือทุกครั้งที่มันปรากฏตัว เพียงแค่นี้ เราก็จะไม่พลัดหลงจาก “เส้นทางแห่งความสำเร็จ” ไปได้…

คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าทุกการกระทำจะปลอดโปร่งโล่งสบาย แต่ชีวิตจริงหาได้เป็นเช่นนั้น ระหว่างทางจะมีสารพัดอุปสรรค “คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่สามารถก้าวข้ามเจ้าวายร้ายเหล่านั้น” และ “คนที่ประสบความสำเร็จ ก็จะมองเป้าหมายเป็นเรื่องท้าทาย”

พวกเขารู้ดีว่า ทุกเป้าหมายล้วนมีอุปสรรค… ชีวิตมักเป็นเช่นนี้!

แจ็ค แคนฟิลด์ย้ำว่า “ไม่ต้องตกใจ หรือท้อใจ เวลาเดินสะดุดนิดๆ หน่อยๆ ในช่วงระหว่างทางสู่ความสำเร็จ มันเป็นเพียงบททดสอบ เพื่อให้แน่ใจว่า… คุณอยากได้สิ่งนั้นมากขนาดไหน”

เรามาทำความรู้จัก “เจ้าสามวายร้าย” อุปสรรคขัดขวางความสำเร็จกัน… ว่ามีอะไรบ้าง…

 

1. ความวิตกคิดมาก

 

ถ้าเป็นช่วงวัยเรียน คุณย่อมอยากได้คะแนนดีๆ ได้เกรดเอทุกวิชา และในช่วงเวลานั้น คุณจะเริ่มคิดว่า “ฉันต้องเรียนหนักเป็นสองเท่า”, “ฉันจะไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนเหมือนเมื่อก่อน”, “ถ้าทุ่มเทเวลาให้แล้วยังไม่ได้เกรดเอล่ะ?” ทั้งหมดนี้คือ… ความวิตกคิดมาก

คุณเริ่มมองออกแล้วใช่ไหมว่า ทำไมหลายคนถึงชอบหาข้ออ้างไม่ทำโน่น… ไม่ทำนี่… พวกเขาไม่ได้ไร้ความสามารถ พวกเขาแค่ได้ยิน “คำพูดด้านลบ” ติดต่อกัน ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า จนกลายเป็นการล้างสมองตัวเอง เราทุกคนล้วน “วิตกคิดมาก” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่มีใครมั่นใจเต็มร้อยได้ตลอดเวลาหรอก

แจ็ค แคนฟิลด์แนะนำว่า “ไม่ควรปล่อยให้ ‘ภาวะวิตกคิดมาก’ ฉุดรั้งให้เราไม่ทำอะไรเลย แต่ควรมองเป็นเครื่องมือช่วยให้เราเตรียมพร้อมรับมืออุปสรรคที่อาจรออยู่ข้างหน้า ความวิตกคิดมากมีประโยชน์ ถ้าคุณสามารถเผชิญหน้ากับมัน แล้วก้าวต่อไป เพราะในท้ายที่สุด คุณจะพบว่า สิ่งที่วิตก-หมกมุ่น-ครุ่นคิด ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง แต่อย่างใด”

 

2. ความหวาดกลัว

 

ถึงคุณจะมี “ความกล้า” มากขนาดไหน แต่เราทุกคนล้วนมี “ความหวาดกลัว” ซุกซ่อนอยู่ภายในด้วยกันทั้งสิ้น เพราะภาวะหวาดกลัว คืออารมณ์ที่ทุกคนเคยสัมผัส อาจจะเคยถูกปฏิเสธ เคยล้มเหลว เคยอับอายขายหน้า หรือเคยเจ็บปวดทางร่างกาย เหล่านี้ส่งผลให้เรารู้สึกหวาดกลัวว่าจะเจอแบบนั้นอีก!

“สิ่งที่ควรระลึกไว้เสมอคือ ความหวาดกลัวเป็นเพียงห้วงอารมณ์หนึ่งของชีวิต” แจ็ค แคนฟิลด์ อธิบายเพิ่มเติม “ก็แค่ปล่อยความหวาดกลัวเป็นตัวชี้นำให้เราระมัดระวังสิ่งแปลกปลอม แต่อย่าให้มันเข้ามาบงการชีวิตทั้งหมดของเรา… คนประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่กำจัดความกลัวทิ้งไปจนหมด แต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับเอาบางอย่างจากความรู้สึกหวาดกลัวเหล่านั้น มาปรับใช้”

ความรู้สึกหวาดกลัว คือการพุ่งเป้าไปยังสิ่งที่คุณไม่อยากให้เกิด ฉะนั้น ลองยับยั้งตัวเองและคิดในมุมกลับดูว่า คุณอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างไร? “นึกภาพในใจ ว่าทุกสิ่งเป็นไปอย่างใจต้องการ เห็นมัน รู้สึกถึงมัน และเชื่อมัน” ถ้าทำแบบนี้ได้บ่อยครั้ง คุณจะสร้างความมั่นใจไว้เผชิญหน้ากับความหวาดกลัว ทั้งยังสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญ

 

3. อุปสรรคกีดขวาง

 

เราทุกคนล้วนต้องเจอกับ “อุปสรรคกีดขวาง” ที่โลกส่งมาทดสอบความตั้งใจ เป็นเหตุการณ์ภายนอกที่มักอยู่นอกเหนือการควบคุม และมีเพียงคุณเท่านั้นที่รับมือกับมัน!

แจ็ค แคนฟิลด์ บอกว่า “สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุปสรรคกีดขวาง คือความไม่จีรังยั่งยืน พวกมันอยู่ได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ถ้าคุณเอาจริงเอาจังมากพอ คุณย่อมหาทางจัดการพวกมันให้พ้นเส้นทางได้”

ในบางครั้ง อุปสรรคกีดขวางจะถาโถมมาในหลากรูปแบบ ฝนอาจตกในวันที่คุณตั้งใจไปเที่ยวทะเล, เจอเพื่อนบ้านน่ารำคาญ, ที่ทำงานใหม่ไม่เป็นอย่างที่คิด, คุณทำไม่ได้อย่างที่หัวหน้าต้องการ, ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนแนวคิดที่คุณนำเสนอ ฯลฯ อุปสรรคเหล่านี้เป็นแค่เหตุการณ์ในโลกความจริงที่คุณต้องรับมือ เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า…

หลายอย่างอาจเหนือการควบคุม แต่ไม่ใช่ทางตันไร้ทางแก้ เว้นเสียแต่คุณเลือกที่จะ “ยอมแพ้”

เวลาที่คนส่วนใหญ่เจอ “เจ้าสามวายร้าย” ขัดขวางความสำเร็จ (ความวิตกคิดมาก, ความหวาดกลัว, อุปสรรคกีดขวาง) พวกเขาจะมองเห็นมันเป็น “ป้ายสั่งให้หยุด” แต่ในความเป็นจริง พวกมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบททดสอบ เพื่อให้เราก้าวข้ามไป…

แจ็ค แคนฟิลด์ สรุปได้น่าฟังว่า “ถ้าเส้นทางชีวิตของคุณไม่เจอพวกมันเหล่านี้ นั่นอาจเป็นไปได้ว่า คุณยังตั้งเป้าหมายชีวิตไม่ชัดเจน หรือไม่ใหญ่พอที่จะยืดขยายตัวเอง เพื่อเติบโตเป็นบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ”

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

แค่วางแผนชีวิต ก็เป็นการคิดเชิงกลยุทธ์

19 04 2017

เคยรู้สึกไหมว่า… คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยว วางแผนพักร้อน มากกว่า “วางแผนชีวิตของตัวเอง”

แต่ก็มีบางคน มุ่งมั่นตั้งใจวางแผนชีวิตของตัวเอง “วันละครั้ง” พวกเขาก่อนนอนจะทำรายการสิ่งที่ต้องทำ แล้วพอตื่นนอน ก็ลงมือลุยตามนั้น… และก็มีบางคน ที่วางแผนชีวิต “สัปดาห์ละครั้ง” กลุ่มนี้จะทบทวนสิ่งต่างๆ ในสัปดาห์นั้น ตรวจสอบการนัดหมาย พิจารณาเป้าหมาย แล้วลงมือทำ…

คุณรู้ไหม… โดยทั่วไป คนกลุ่มหลังจะทำงานได้ดีกว่าเพื่อนร่วมงานที่วางแผนวันต่อวัน!

และก็มีบางคน พอเริ่มต้นเดือนใหม่ จะใช้เวลาครึ่งวัน “วางแผนสำหรับ 40 วันข้างหน้า” ที่ต้องเป็น 40 วัน เพราะมันได้ผลดีมากกว่าทำไว้แค่ 30 วัน… พวกเขาจะเริ่มต้นด้วยการทบทวนกิจกรรมต่างๆ วางแผนสิ่งที่จะทำกับครอบครัว จากนั้นจะพิจารณาต่อว่า โครงการ บทเรียน และเป้าหมายอื่นๆ มีอะไรบ้างที่อยากทำให้ลุล่วงในช่วง 4-5 สัปดาห์ข้างหน้า…

ถัดไป เป็นการจัดตารางวัน-เวลา สำหรับการคิด การเขียน การทำงาน การประชุม ฯลฯ ตามด้วยการจัดสรรเวลาสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูโชว์ ดูกีฬา หรือออกกำลังกาย นอกจากนั้น ยังแบ่งช่วงเวลาเล็กน้อยไว้ชดเชยสำหรับเรื่องที่เหนือความคาดหมาย… เมื่อทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะสามารถบอกตัวเองและคนรอบข้างได้แทบจะทุกเรื่องที่จะทำในช่วงเดือนหน้า บางคนบอกได้ละเอียดเป็นชั่วโมงต่อชั่วโมงด้วยซ้ำ…

สิ่งนี้นักจิตวิทยาเรียกว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” (Strategic Thinking) ซึ่งช่วยให้ใครหลายคนทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย

เวลาที่ได้ยินคำว่า “การคิดเชิงกลยุทธ์” คุณนึกถึงอะไร? ภาพแผนธุรกิจใหญ่โต การประชุมวางแผนงานเพื่อกอบกู้บริษัท หรือนึกถึงภาพเหตุการณ์ตอนที่ฝ่ายพันธมิตรวางแผนยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง!!! ทั้งที่จริง “การคิดเชิงกลยุทธ์” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปฏิบัติการทางทหารหรือธุรกิจ เราสามารถนำการคิดเชิงกลยุทธ์ มาปรับใช้ให้เกิดสิ่งดีๆ ในชีวิตของเราได้…

 

ทำไม “การคิดเชิงกลยุทธ์” จึงสำคัญ?

 

เพราะ “การคิดเชิงกลยุทธ์” ช่วยในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความแข็งแกร่ง และหาเส้นทางที่ตรงและสั้นที่สุดในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม… ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงกลยุทธ์ มีมากมายนับไม่ถ้วน… ต่อไปนี้เป็นเหตุผลบางส่วนที่สนับสนุนว่า “เราควรใช้ ‘การคิดเชิงกลยุทธ์’ เป็นเครื่องมือหนึ่งในชีวิต”

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

 

นักเขียนชาวสเปน มิเกล เดอ เซอร์วานเตส เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่เตรียมตัวพร้อม เท่ากับมีชัยในสนามรบไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการนำปัญหาที่ซับซ้อนและเป้าหมายระยะยาวที่ยากเกินกว่าอธิบายได้ มาย่อยให้เหลือขนาดที่สามารถจัดการได้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น ถ้ามีแผนการ!

การคิดเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้การบริหารชีวิตประจำวันง่ายขึ้นด้วย… จอห์น ซี แม็กซ์เวลล์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือในหมู่นักพูดและนักเขียน เป็นหนึ่งในคนที่ทำระบบแฟ้มข้อมูลได้เยี่ยมยอด การเขียนสุนทรพจน์และบทเรียนที่ใช้ในการสอน เป็นงานที่ยาก แต่เพราะเขาจัดทำแฟ้มคำคม เรื่องเล่า กรณีศึกษา และบทความไว้อย่างเป็นระบบ เวลาที่ต้องการใช้อะไรเพื่ออธิบายประเด็นให้ชัดเจน เขาก็แค่ไปดูแฟ้มหนึ่งแฟ้ม จาก 1,200 แฟ้มที่จัดเก็บไว้ แล้วหาวัตถุดิบดีๆ ที่ใช้งานได้ มาใช้กับงานที่กำลังเขียนอยู่

เห็นไหมครับ… ว่างานยากกลับกลายเป็นง่ายนิดเดียว ถ้าเราใช้การคิดเชิงกลยุทธ์...

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยกระตุ้นให้เราตั้งคำถามที่เหมาะสม

 

คุณอยากแยกประเด็นหรือปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ออกเป็นส่วนเล็กๆ หรือไม่? ถ้าต้องการ ก็ต้องตั้งคำถาม การคิดเชิงกลยุทธ์… ลองดูคำถามข้างล่างนี้ ซึ่งเป็นของ บ๊อบบ์ บีห์ล ผู้เขียนหนังสือ Masterplanning

ทิศทาง เราควรทำอะไรต่อไป เพราะเหตุใด? องค์กร ใครรับผิดชอบอะไร ใครรับผิดชอบใคร เรามีคนที่เหมาะสมในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือเปล่า? เงินสด รายได้ รายจ่าย และกำไรสุทธิที่วางแผนไว้แล้ว เป็นอย่างไร เรายอมรับได้หรือไม่ เราจะบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความเสียหาย? การติดตามผล เรามาถูกทางหรือเปล่า? การประเมินภาพรวม เราทำได้คุณภาพตามที่เราคาดหวังและต้องการหรือเปล่า? การปรับปรุง เราจะเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้อย่างไร?

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเพื่อเริ่มการวางแผนกลยุทธ์ และเป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วย…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยปรับแต่งแผนให้เหมาะกับสถานการณ์

 

นายพลจอร์จ เอส. แพตตัน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า “นายพลที่ประสบความสำเร็จจะปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ไม่พยายามสร้างสถานการณ์ให้เข้ากับแผน”

นักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่ง ล้วนแม่นยำและละเอียดในการใช้ความคิด พวกเขาจะพยายามปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับปัญหา เพราะกลยุทธ์ไม่ใช่แผนครอบจักรวาล ประเภทแผนเดียวใช้ได้กับทุกปัญหา

การคิดแบบกว้างๆ หรือคิดแบบลวกๆ เป็นศัตรูของความสำเร็จ ความตั้งใจที่จะปรับการคิดเชิงกลยุทธ์ จะบีบคนคนนั้นให้คิดไปไกลกว่าไอเดียที่คลุมเครือ เราควรต้องหาเส้นทางเฉพาะเจาะจงที่เข้าถึงภารกิจหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสิ่งที่คุณเป็นอยู่ กับสิ่งที่คุณอยากจะเป็น มันให้ทิศทางกับความน่าเชื่อถือในวันนี้ และเพิ่มศักยภาพสำหรับความสำเร็จในวันพรุ่งนี้ ซึ่งก็คล้ายกับการสวมอานให้แก่ความฝันของคุณ ก่อนที่คุณจะควบมันทะยานออกไปข้างหน้า…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ช่วยลดความผิดพลาด

 

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอะไรอย่างฉับพลัน หรือทำอย่างเฉื่อยชาไร้ความรู้สึก โดยไม่ได้กำหนดแนวคิดไว้ก่อน… “ขอบเขตของความผิดพลาด” ย่อมเพิ่มขึ้น!!! ซึ่งก็เหมือนกับนักกอล์ฟที่ก้าวเข้าหาลูกกอล์ฟ แล้วตีลูกโดยไม่ได้จัดแนวการยืน หรือเล็งเป้าหมายให้ดีเสียก่อน ลูกกอล์ฟที่พุ่งออกจากหน้าไม้ในทิศทางที่เบี่ยงเบนจากแนวเป้าหมายไม่กี่องศา จะลอยไปตกห่างจากเป้าหมายเป็นสิบเป็นร้อยหลา

การคิดเชิงกลยุทธ์จะช่วยลด “ขอบเขตของความผิดพลาด” ได้เยอะ เพราะการคิดลักษณะนี้จะปรับการกระทำของคุณให้ไปในแนวทางเดียวกับเป้าหมาย เช่นเดียวกับการจัดแนวลำตัวและท่ายืนในการตีกอล์ฟ ที่ช่วยให้ลูกไปตกใกล้หลุม… ยิ่งคุณจัดให้อยู่ในแนวเดียวกับเป้าหมายมากเท่าใด คุณก็จะเดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น…

 

การคิดเชิงกลยุทธ์ ทำให้คุณมีอิทธิพลเหนือคนอื่น

 

ผู้บริหารคนหนึ่งเผยความลับให้ผู้บริหารอีกคนหนึ่งฟังว่า “บริษัทของเรามีแผนระยะสั้นกับแผนระยะยาว แผนระยะสั้นจะคงอยู่อย่างนั้นนานพอที่จะเป็นแผนระยะยาว” แบบนี้ไม่เรียกว่า “กลยุทธ์” แล้ว แต่เป็นการสร้างปัญหา และไม่ใช่ปัญหาเดียวด้วย!

การไม่สนใจ “วิธีคิดเชิงกลยุทธ์” ในลักษณะนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจล้มเหลว แต่ยังเสียความน่าเชื่อถือจากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น

“คนที่มีแผนการ คือคนที่มีอำนาจ” ไม่สำคัญว่างานที่คุณทำอยู่จะเป็นอะไร? พนักงานบริษัทอยากเดินตามเจ้าของธุรกิจที่มีแผนธุรกิจที่ดี… อาสาสมัครอยากร่วมงานกับผู้นำโครงการที่มีแผนการช่วยเหลือผู้ยากไร้ที่น่าสนใจ… เด็กอยากอยู่กับผู้ใหญ่ที่มีแผนการช่วงปิดเทอมที่ผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดี…

เพียงแค่คุณใช้ “การคิดเชิงกลยุทธ์” คนอื่นจะฟังและอยากทำตาม… ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำในองค์กร “การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นส่วนสำคัญที่จะขาดเสียมิได้”


เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

กำจัดความเชื่อผิดๆ เพิ่มความสำเร็จให้ชีวิต

31 03 2017

คุณรู้สึกว่าเหตุการณ์ต่อไปนี้คุ้นๆ ไหม? ขณะนั่งดูทีวี ภรรยาของคุณเรียกให้ช่วยเข้าไปหยิบเกลือในห้องครัวให้หน่อย? คุณตอบไปว่า “ผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน” เธอบอกกลับมาว่า “ลองหาดูสิ! มันอยู่แถวนั้นแหละ”

คุณลุกขึ้นอย่างลังเล เดินเข้าไปในครัว บ่นพึมพำกับตัวเองว่า “ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วจะหาเจอได้ยังไง?” คุณเดินดูรอบๆ แต่ก็ไม่พบเกลือ จึงตะโกนกลับไปว่า “หาไม่เจอ”

เธอย้ำกลับมาว่า “ลองดูดีๆ สิ! อยู่แถวๆ นั้นแหละ” คุณมองขึ้นมองลง ยังไงก็หาไม่เจอ… ในที่สุด ภรรยาของคุณทนไม่ไหว เดินเข้ามาในครัว หยิบเกลือจาก “ตรงหน้าคุณ” นั่นแหละ พร้อมกับพูดว่า “นี่ไง… มองไม่เห็นได้ไงนะ…”

 

อาการจิตมองไม่เห็น.. เกิดได้อย่างไร?

 

ในทางจิตวิทยา เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “อาการจิตมองไม่เห็น” (Schetoma) หรือ “จุดบอดทางความเข้าใจ” (Perceptual Blind Spot) ตัวอย่างข้างต้นเกิดขึ้นได้บ่อยมาก ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า “ความเชื่อ” สามารถลบสิ่งที่คิดและเข้าใจได้… เมื่อคุณทำให้ตัวเองเชื่อว่า “ไม่สามารถหาเกลือเจอ” สมองของคุณก็จะ “ลบภาพเกลือ” ที่มีอยู่ออกไป… แม้ว่าตาของคุณจะ “มองเห็น” มันก็ตาม

เช่นเดียวกัน ในเวลาย่ำแย่ ถ้าคุณเชื่อว่า “ไม่มีโอกาสสำหรับคุณ” คุณก็จะลบทุกสิ่งทุกอย่างที่สนับสนุนโอกาสดังกล่าว และพานพบแต่เรื่องแย่ๆ อย่างที่คุณเชื่อนั่นแหละ!

 

ความเชื่อที่เรามีอยู่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

 

ความเชื่อส่วนใหญ่มาจากการถอดแบบบุคคลสำคัญที่อยู่รอบตัว เช่น พ่อ-แม่ ครู เพื่อน… เรามีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อคล้ายกับบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ถ้าพ่อแม่ของคุณเชื่อว่า “พวกเขาไม่มีทางที่จะร่ำรวยได้” คุณก็มีแนวโน้มที่จะ “เชื่อ” แบบนั้น

ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีใครเรียนจบ คุณย่อมมีแนวโน้มที่จะมีความเชื่อว่า “การศึกษาเป็นเรื่องยาก หรือไม่สำคัญ” นอกจากนี้ ความเชื่อส่วนใหญ่ยังมาจาก “ประสบการณ์ในอดีต” ด้วย

โดยปกติ “ความเชื่อที่เรามี” จะมาจากความเข้าใจ หรือการตีความประสบการณ์ในอดีต ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ก็จะกลายเป็น “คำสั่งฝังอยู่ในสมอง” และกำหนดวิธีการดำเนินชีวิต… เราจะลืมไปว่ามันเป็นเพียงความเข้าใจไปเอง และเริ่มยอมรับว่า “มันเป็นความจริง”

ขณะที่ความเชื่อบางอย่าง ให้พลังกับเราอย่างแท้จริง แต่ก็มีความเชื่อหลายอย่าง สร้างข้อจำกัดให้เรา ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่า ฉันไม่เก่งเลข, ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า, ฉันเข้ากับคนอื่นไม่ได้, ฉันขี้เกียจ หรือ ฉันอายุน้อยเกินไปหรือแก่เกินไปที่จะประสบความสำเร็จ…

 

เราสร้างความเชื่อขึ้นมาได้อย่างไร?

 

“ความเชื่อ” เริ่มต้นจากความคิดที่มีคนบางคนให้กับเรา หรือเราให้กับตัวเอง เมื่อมีประสบการณ์ในอดีตสนับสนุนความคิดดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ ความคิดก็จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จนในที่สุดก็กลายเป็น… ความเชื่อ

และเมื่อกลายเป็น “ความเชื่อ” เราก็จะไม่สงสัยอะไรอีกเลย มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบภายในร่างกาย เป็นตัวขับเคลื่อนการตัดสินใจและพฤติกรรมทุกอย่างของเรา

ในหนังสือ “พลังไร้ขีดจำกัด” (Unlimited Power) ของ แอนโธนี ร็อบบินส์ ได้อธิบายเรื่องความเชื่อในเชิงอุปมาอุปไมยว่า…

“เมื่อเรามีความคิดใดความคิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องบางเรื่องเป็น ‘ครั้งแรก’ ยกตัวอย่างเช่น ฉันเป็นคนเรียนรู้ช้า มันยังคงเป็นแค่ความคิดที่ไม่มีอำนาจเหนือเรามากนัก ซึ่งก็เหมือนกับโต๊ะที่ไม่มีขารองรับสักอัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราได้พบกับเหตุการณ์ที่มาสนับสนุนความคิดนี้ ก็เหมือนกับเราได้เพิ่มขาให้กับโต๊ะตัวนี้ ทีละขาๆ แล้วไม่นาน เมื่อขา (เหตุการณ์) ถูกเพิ่มจำนวนมากพอ เราก็จะได้โต๊ะที่แข็งแรงในที่สุด (ความเชื่อที่ทรงพลัง)”

 

เราจะเปลี่ยนความเชื่อ ได้อย่างไร?

 

ถ้าคุณมีความเชื่อแย่ๆ ฝังหัว ที่อยากจะเปลี่ยน… นักจิตวิทยาแนะนำ 5 ขั้นตอน เพื่อเปลี่ยนความเชื่อที่คุณต้องการเปลี่ยน ดังนี้…

 

1. หาเหตุผลให้มากพอที่จะเปลี่ยนความเชื่อ

 

ขั้นแรกในการเปลี่ยนความเชื่อ คือการหาเหตุผลที่สำคัญมากพอที่จะทำให้เราเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนความเชื่อ เพราะคิดว่า แม้จะเป็นสถานการณ์ที่เรารู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่มันก็ไม่ได้เจ็บปวดมากถึงขนาดต้องเปลี่ยน ดังนั้นจึงต้องสร้างเหตุผลให้มากพอที่จะทำให้เรา… ต้องเปลี่ยน!

วิธีที่สร้างพลังได้อย่างมากก็คือ ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองนี้ จะส่ง “ผลเสีย” ต่อชีวิตเรามากแค่ไหน? และยังจะส่งผลเสียต่อไปในอนาคตอย่างไร?

ขอให้ระลึกเสมอว่า เราถูกขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ ไม่ใช่เหตุผล คุณอาจมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากมาย ว่าทำไมต้องเปลี่ยน แต่คุณจะไม่เปลี่ยน จนกว่าจะได้สร้างภาพในใจ และรู้สึกมีอารมณ์ร่วมมากพอ จนทำให้คุณต้องการเปลี่ยน

ถัดจากความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองในแต่ละอย่างแล้ว นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิด และเขียนออกมา ถึงสิ่งที่คุณได้สูญเสียไปจากการยึดติดกับความเชื่อนั้นๆ

ในอดีต ความเชื่อเหล่านี้สร้างความเสียหายให้แก่คุณอย่างไร? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความเชื่อว่า คุณ “ไม่มีประสบการณ์มากพอ” มันจะปิดกั้นคุณจากการเข้าไปเสี่ยง ปิดกั้นคุณจากการได้เลื่อนตำแหน่ง ปิดกั้นคุณจากโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ในธุรกิจ

นักจิตวิทยาต้องการให้คุณคิดต่อด้วยว่า “ถ้าฉันยังคงยึดติดกับความเชื่อเหล่านี้ มันจะจำกัดตัวฉันในอนาคตอย่างไรบ้าง? มันจะปิดกั้นฉันไม่ให้ประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง?”

เขียนเหตุผลทั้งหมด ว่าทำไมคุณต้องเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ จนกว่าคุณจะถึงจุดแตกหักในใจ และเมื่อนั้น “คุณจะเกิดอารมณ์ร่วมมากพอ ที่จะทำให้คุณต้องเปลี่ยน!”

2. ท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุนความเชื่อนี้

 

ต่อมา เราจะเริ่มวิเคราะห์ “ความเชื่อซึ่งเป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” และเริ่มท้าทายหลักฐานที่มาสนับสนุน จำไว้ว่า เราจำเป็นต้องเอาขาโต๊ะที่สนับสนุนความเชื่อแย่ๆ ออกไป แล้วในที่สุดคุณก็จะพบว่า หลักฐานเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า “ความเห็นทั่วๆ ไป และการตีความแบบผิดๆ ที่คุณได้รับจากประสบการณ์ในอดีต”

ก่อนอื่น คุณต้องหาหลักฐานที่จะมาหักล้างความเชื่อของคุณ ด้วยการถามคำถามเหล่านี้ 1) ฉันสร้างความเชื่อนี้ขึ้นมาได้อย่างไร? 2) อะไรทำให้ฉันเชื่อว่ามันเป็นความจริง?

ต่อมา ให้ท้าทายหลักฐานทั้งหลายด้วยการถามว่า 1) สิ่งนี้มีความหมายอะไรนอกเหนือจากนี้อีกไหม? 2) มีตัวอย่างที่ค้านกับหลักฐานนี้ไหม? 3) บุคคลที่ให้ความเชื่อนี้กับฉัน มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน?

ยกตัวอย่างเช่น ผมพบว่าความเชื่อ “ผมแย่มากในวิชาเลข” ซึ่งมาจากหลักฐาน 3 อย่าง 1) การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ 2) เคยสอบตกวิชาเลข และ 3) แม่บอกว่าเป็นกรรมพันธุ์

จากการวิเคราะห์ “หลักฐาน” ผมเริ่มเปลี่ยนความหมายของประสบการณ์เหล่านี้… “การไม่เข้าใจเรื่องการคูณ” สามารถตีความอย่างง่ายๆ ได้ว่า ผมไม่ได้ถูกสอนวิธีที่จะทำให้ผมเข้าใจได้ แทนที่จะตีความว่า ผมเรียนรู้ไม่ได้… “การสอบตกวิชาเลข” สามารถตีความได้ว่า ผมไม่ตั้งใจเรียนในห้อง และไม่ได้พยายามเรียนรู้มันเลย…

ที่ผมเรียนเลขแย่ ไม่ใช่เพราะกรรมพันธุ์ และแม่ของผมก็ไม่ได้น่าเชื่อถือพอที่จะยืนยันว่า ผมไม่มีความสามารถในวิชาเลข เพราะเธอเกลียดวิชาเลข อีกทั้งผมยังพบตัวอย่างมากมายที่ค้านเรื่องกรรมพันธุ์ นั่นคือ เพื่อนของผมหลายคนที่พ่อแม่ที่ไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องการศึกษา แต่พวกเขากลับฉลาดปราดเปรื่อง…

มาเริ่มลงมือหา “หลักฐาน” ว่าอะไรทำให้เกิด “ความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดในตัวคุณ” กันเถอะ

 

3. สร้างความเชื่อใหม่ที่ให้พลัง

 

เมื่อคุณได้เขย่าฐานรากของความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองแล้ว คุณต้องสร้าง “ความเชื่อใหม่” ที่ให้พลัง เข้ามาแทนที่ความเชื่อเก่า ความเชื่ออะไรบ้างที่จะช่วยเสริมสร้างพลังให้คุณลงมือทำ…

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความเชื่ออันเก่าคือ “ผมยังเด็กเกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ความเชื่ออันใหม่ก็อาจจะเป็น “อายุน้อย หมายถึงการมีความเฉียบแหลม และพลังงานจำนวนมากในการทำธุรกิจ” หรือ “คนอายุน้อยเป็นนักธุรกิจที่ดีกว่า เพราะพวกเขามีความยืดหยุ่นและเปิดใจรับความคิดใหม่ๆ ได้มากกว่า”

ถ้าความเชื่อที่สร้างข้อจำกัดให้ตัวเองคือ “ผมแก่เกินไปที่จะเริ่มทำธุรกิจ” ลองมองหาตัวอย่างของคนที่เปลี่ยนอาชีพตอนอายุ 40 หรือแม้แต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และสามารถสร้างความสำเร็จจนมีชื่อเสียงได้

เอาล่ะ! มาเขียนความเชื่อใหม่ที่ให้พลังกัน เดี๋ยวนี้เลย…

 

4. สร้างหลักฐานใหม่ เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่

 

เมื่อคุณได้สร้างความเชื่อใหม่ขึ้นมาแล้ว ให้หา “หลักฐาน” เพื่อสนับสนุนความเชื่อใหม่นี้ด้วยว่า มีกี่ครั้งในอดีต ที่ความเชื่อใหม่นี้เป็นความจริง? ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณต้องการเอาความเชื่อที่ว่า “ฉันเป็นคนที่เรียนรู้เร็ว” มาใช้ เคยมีบ้างไหมในอดีต ที่คุณเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้รวดเร็วมาก? มีตัวอย่างที่คุณเคยเห็นจากคนอื่นๆ หรือเปล่า?

มีงานวิจัยของนักจิตวิทยา ยืนยันว่า ทุกความเชื่อที่คุณต้องการ สามารถหาหลักฐานสนับสนุนได้ โดยหาอ่านจากหนังสือ หรือค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผมต้องการติดตั้งความเชื่อที่ว่า “คนอายุน้อยๆ ก็เริ่มทำธุรกิจได้ และประสบความสำเร็จด้วย” ผมพยายามค้นคว้าและหาข้อมูลอย่างมาก จนพบว่ามีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก ที่เริ่มต้นตอนอายุน้อยๆ และเริ่มต้นตอนไม่มีเงินทุน

ถ้าคุณหาหลักฐานไม่ได้เลย จงสร้างมันขึ้นมา อย่าลืมว่า จิตใจไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นจริง กับสิ่งที่จินตนาการได้ นี่เป็นเรื่องจริง! และเป็นสิ่งที่ โรเจอร์ บานิสเตอร์ ทำ ตอนที่เขาตั้งเป้าทำลายสถิติโลกในการวิ่งระยะไกล…

จงหา และเขียนหลักฐานที่จะมาสนับสนุนความเชื่ออันใหม่นี้ ให้มากที่สุดเท่าที่คุณหาได้…

 

5. จินตนาการภาพสิ่งดีๆ ในอนาคต จากความเชื่อใหม่

 

ข้อสุดท้าย นักจิตวิทยาต้องการให้คุณใช้เวลา และใช้พลังที่ได้จากการสร้างภาพในใจ ติดตั้งความเชื่อใหม่ที่ให้พลังเหล่านี้… ซึ่งวิธีการง่าย ๆ ก็คือ…ให้คุณปิดตาและนำตัวเองไปในอนาคต!

ลองนึกภาพดูสิว่า หากคุณนำความเชื่อใหม่ที่ให้พลังไปใช้ 1 ปีจากนี้ 2 ปีจากนี้ 5 ปีจากนี้ หรือ 10 ปีจากนี้ คุณจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร? คุณจะทำอะไรที่ในอดีตคุณไม่ได้ทำบ้าง? คุณจะตัดสินใจอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิมบ้างไหม? คุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากความเชื่อใหม่นี้?

จงเขียนประโยชน์ด้านต่างๆ ที่คุณจะได้รับ… จากการมีความเชื่อใหม่ที่ให้พลังด้านบวก…

 

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการเปลี่ยน “ความเชื่อที่เป็นข้อจำกัดให้ตัวเอง” หรือช่วยใครบางคน “ปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสระ” ลองทำตาม “5 วิธีกำจัดความเชื่อแย่ๆ” ข้างต้น… เราเชื่อมั่นว่า อนาคตใหม่ที่ดีกว่า กำลังรอคุณอยู่…

 

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND 

5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคุณ…ให้ทำทันที!

16 03 2017

คุณเป็นอีกคน ที่ชอบพูดว่า “เดี๋ยวก่อน… เดี๋ยวค่อยทำ…” จนติดปากหรือเปล่า!? แล้วรู้ไหม… ในท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องทำ แต่คุณบอกว่า “เดี๋ยวก่อน” กลับกลายเป็นว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นเลย” เนื่องมาจากการ “เลื่อน” ของคุณไปเรื่อยๆ นั่นเอง

“การผัดวันประกันพรุ่ง” เลื่อนสิ่งที่ต้องทำไปก่อน ไม่ได้กระทบแค่ตัวคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังกระทบคนอื่นโดยคุณอาจไม่รู้ตัวอีกด้วย เช่นเรื่องง่ายๆ อย่างการที่แฟนคุณขอร้องให้พาหมาไปอาบน้ำ แต่คุณผัดผ่อนจนกระทั่งมันสกปรกมากๆ เห็บขึ้นเต็มตัว และกลายเป็นการสร้างงานให้ทั้งคุณและครอบครัวในภายหลัง

นั่นคือตัวอย่างเล็กๆ แต่บางครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องทำในตอนนี้ อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง กระทบทั้งความสัมพันธ์ สุขภาพ และการเงินของคุณในอนาคต ก็เป็นได้… เพื่อไม่ให้ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง เรามี “5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคุณให้ทำทันที” ดังนี้…

 

1. หาเหตุผลของการไม่ทำทันที

 

คุณต้องมองให้ออกว่า ทำไมคุณถึงไม่อยากทำมันตอนนี้… ทำไมถึงอยากเลื่อนมันออกไป… บางอย่างอาจเป็นเพราะความกลัว ความไม่แน่ใจ ความขี้เกียจ หรือการที่คุณยึดติดกับคำว่า “สมบูรณ์แบบ” มากเกินไป

บางคนอาจกลัวความเปลี่ยนแปลง หรือกลัวชีวิตจะเปลี่ยนไป แต่พวกเขากลับลืมไปว่า ถ้าพวกเขาไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ อาจทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การลดความอ้วน คุณมักหลอกตัวเอง ว่ากินแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวค่อยเริ่มลดพรุ่งนี้ก็ได้ สุดท้ายกลับไม่ทันการณ์ คุณตรวจพบไขมันสูง และน้ำตาลในเลือดสูง เสียแล้ว!

เพราะฉะนั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน คุณควรเริ่มจากการถามตัวเอง มีสติ และรู้ทันในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ เช่น ถามตัวเองว่า ถ้าฉันไม่ทำตอนนี้จะมีผลเสียอะไรบ้างในภายหลัง.. ทำไมฉันต้องทำตอนนี้ ไม่ควรเลื่อนออกไป.. พยายามจดมาเป็นข้อๆ เพื่อที่จะได้เห็นภาพของตัวเองได้ชัดขึ้น..

 

2. ขอเวลา 5 นาที ไม่ได้นานเท่าไหร่หรอก

 

หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุด คือ “การเริ่มต้นลงมือทำ” คุณแค่ให้เวลากับตัวเองสักประมาณ 5 นาที เริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง… หลังผ่านจุดเริ่มต้นมาได้ คุณจะรู้สึกว่า “มันไม่ยากที่จะทำที่เหลือจนจบ”

และอย่าลืมว่า ในตอนที่คุณกำลังลงมือทำอยู่นั้น จงมีสมาธิ อย่าให้มีอะไรมาส่งผลให้คุณหยุดทำ! และถ้าวันนี้คุณยังทำมันไม่เสร็จ คุณควรจัดสรรเวลาในวันพรุ่งนี้ เพื่อทำมันต่อทันที อย่าหยุด หรือขาดช่วง และเมื่อคุณเริ่มทำครั้งต่อไป คุณแค่บอกตัวเองว่า ขอเวลา 5 นาทีเพื่อเริ่มต้น สุดท้ายคุณจะพบว่า โครงการที่คุณค้างๆ คาๆ มีความคืบหน้าไปมากกว่าที่คุณคิด…

 

3. จดจ่อกับความรู้สึกดีๆ หลังจากที่คุณทำเสร็จ

 

คุณลองนึกภาพตัวเองว่า “ถ้าคุณทำโครงการนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์” คุณจะรู้สึกอย่างไร? ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร? และถ้าคุณไม่ได้เริ่มทำสักที คุณจะเห็นภาพตัวเองเป็นแบบไหน?

คุณลองจินตนาการภาพเหล่านั้นในหัว รวมถึงความรู้สึกทั้งสองอย่าง… ในแบบที่ว่า ถ้าคุณไม่เริ่มทำตอนนี้ กับตอนที่คุณทำมันเสร็จแล้ว จะมีผลกับคนรอบข้างและชีวิตคุณมากน้อยแค่ไหน?

และเพื่อเพิ่มความสมจริงให้มากขึ้น คุณลองเขียนและจำลองเหตุการณ์สมมติในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในภายภาคหน้า อีก 3-5 ปีข้างหน้า คุณจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจ พอใจ ตื่นเต้น รู้สึกดี ถ้าคุณได้ลงมือทำจนสำเร็จ หรือคุณจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ขายขี้หน้า เป็นไอ้ขี้แพ้ ผิดหวังในตัวเอง เสียดายเวลา ถ้าคุณเลื่อนออกไปเรื่อยๆ และสุดท้ายก็ไม่ได้ลงมือทำ

ถ้าคุณเข้าใจผลการกระทำของคุณแล้ว ย่อมเป็น “ตัวกระตุ้นชั้นดี” ให้คุณจัดสรรเวลาและจัดเรียงอันดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำในชีวิตใหม่ และการ “ทำทันที” ก็จะเริ่มขึ้น!

 

4. มองหาความสนุกจากสิ่งที่ทำ

 

บ่อยครั้ง ด้วยโครงการที่ดูยิ่งใหญ่ และบางโครงการก็ต้องใช้พลังชีวิต ใช้เวลา และความตั้งใจอย่างมาก ส่งผลให้คุณรู้สึกกดดัน จนกลายเป็นว่าทำให้ทุกอย่างช้าลง และนำไปสู่การเลื่อนไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

ถ้าคุณกำลังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทั้งที่รู้ว่าเป็นโครงการที่ดี แต่กลับไม่พร้อมที่เริ่มลงมือสักที คุณควรหาทางทำให้งานชิ้นนี้ของคุณ เป็นงานที่น่าสนใจ สนุก และเพลิดเพลิน… คุณอาจใช้ดนตรีทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น เปลี่ยนบรรยากาศไปร้านกาแฟ ชวนเพื่อนมาร่วมด้วย…

แม้ว่าการมีความสุขและสนุกกับสิ่งที่ทำ อาจไม่ได้ทำให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังดีกว่าที่คุณเลื่อนมันออกไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ลงมือทำมันเลย…


5. บอกให้คนอื่นรู้ ว่าคุณตั้งใจทำอะไร


การที่คุณ “บอกให้คนอื่นรู้” ว่าคุณกำลังทำโครงการอะไรบางอย่าง ไม่ได้เป็นการร้องขอกำลังใจ หรือขอยอดไลค์จากคนอื่น แต่เพื่อเป็นการทำให้มีคนคอย “ย้ำเตือน” ในสิ่งที่คุณอยากทำ และลดข้ออ้างส่วนตัวต่างๆ ที่จะทำให้ไม่ได้ลงมือทำสักที!

และมันไม่จำเป็นที่คุณต้องประกาศให้ทุกคนรู้ คุณอาจบอกเพื่อนสนิทของคุณเพียงคนเดียว เพื่อที่เขาหรือเธอจะได้คอยเตือนสติคุณ ในเวลาที่คุณขี้เกียจและหาข้ออ้างให้ตัวเอง… นอกจากนี้ เพื่อนของคุณอาจมีคำแนะนำดีๆ มีตัวช่วยอื่นๆ ที่ทำให้คุณทำภารกิจสำเร็จเร็วขึ้น เช่น คุณอยากลดความอ้วน แต่กลับเลื่อนแล้วเลื่อนเล่ามาหลายปี เพื่อนของคุณอาจมีเทรนเนอร์ฝืมือดี สามารถรับมือกับนิสัยของคุณได้ หรือบางคนอาจมีโปรโมชั่นฟิตเนสดีๆ มาชวนคุณออกกำลังกาย ก็เป็นได้…

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

ชีวิตสำเร็จได้ แค่เริ่มทำสิ่งที่ชอบ

24 03 2017

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า “ให้พยายามค้นหาและทำสิ่งที่ชอบ แล้วรายได้จะตามมา เพราะถ้าคุณวิ่งไล่ล่าหาเงินตั้งแต่เริ่มต้น สุดท้ายคุณจะไม่มีวันค้นพบสิ่งที่ชอบ”

ในโลกทุนนิยม หลายคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ โดยลืมนึกถึงความสุขของตนเอง พวกเขาทนทำงานที่ไม่ชอบ หรือเกลียด เพียงเพราะต้องการเงินมาซื้อความสุขฉาบฉวย… พวกเขากำลังดำเนินชีวิตผิดกระบวนการ เพราะวิธีที่ถูกต้องคือ “ให้ค้นหาสิ่งที่ชอบ ทำแล้วมีความสุข แล้วเงินจะตามมา”

มนุษย์ทุกคนล้วนมีบุคลิกเฉพาะตัว และมีสิ่งที่ชอบแตกต่างกัน เช่น บางคนชอบร้องเพลง ชอบพูด ชอบเล่นกีฬา ชอบคิดวิเคราะห์ ชอบเขียน ชอบวิจารณ์… คุณเริ่มรู้ตัวหรือยัง ว่าชอบทำอะไร? สิ่งใดที่ทำแล้วมีความสุข? หากคิดไม่ออก ให้ลองย้อนนึกดูว่า กิจกรรมอะไรที่คุณทำแล้วไม่รู้สึกเบื่อ?

หากคุณคิดออก… นั่นแสดงว่าคุณเจอสิ่งที่ชอบแล้วล่ะ! จากนั้นก็แค่ทุ่มเท ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ รับรองเลยว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาจะสวยงามและยั่งยืน…

นั่นหมายความว่า คุณจำเป็นต้องรู้จักตัวเอง ค้นหาสิ่งที่คุณชอบให้เจอ เพื่อที่คุณจะได้อยู่กับมันอย่างมีความสุข และได้ในสิ่งที่คุณต้องการ… บทความนี้จะอธิบายเพิ่มเติม ถึง “5 เหตุผล” ที่คุณควรหาสิ่งที่ชอบให้เจอ โดยเร็วที่สุด…

 

1. คุณจะรู้สึกดีและมีความสุข

 

การได้ทำในสิ่งที่รัก คือการมอบหัวใจและจิตวิญญาณลงไปในชิ้นงาน เมื่อคุณได้ลงมือทำสิ่งนั้น คุณจะรู้สึกดี สบายใจ มองโลกสดใส และแน่นอนว่า ผลงานจะออกมาดี ผลลัพธ์นี้จะทำให้คุณรู้สึกภูมิใจในตัวเอง… ในทางตรงกันข้าม หากคุณทำในสิ่งที่ไม่ชอบ คุณจะเครียด กดดัน รู้สึกต่อต้าน ฝืนใจตนเอง สุดท้ายก็ไม่สามารถทำงานออกมาให้ดีได้…

 

2. คุณจะก้าวเข้าใกล้ความสำเร็จ โดยไม่เหนื่อย

การได้ทำในสิ่งที่รัก จะทำให้คุณมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เพราะความรักเปรียบเสมือนพลัง และทำให้คุณมีแรงต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ หากเปรียบเทียบระหว่างการทำงานที่ชอบ กับการทำงานที่เกลียด คุณจะพบว่า ตนเองสามารถทำงานที่ชอบให้สำเร็จได้โดยง่าย และผลลัพธ์ก็ออกมาดีกว่า นั่นเป็นเพราะคุณมีความสุขที่ได้ทำ แม้จะเกิดปัญหา คุณก็ไม่รู้สึกเหนื่อยที่ต้องแก้ไข

แตกต่างกับการทำงานที่คุณเกลียด กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง คุณต้องใช้ความพยายามอย่างมาก และบ่อยครั้งก็แอบถอดใจนับครั้งไม่ถ้วน… ด้วยเหตุนี้ ความรักในงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ อย่ารีรอที่จะลงมือทำในสิ่งที่คุณรัก เพราะมันจะช่วยสร้างฝันของคุณให้เป็นจริง!

 

3. คุณจะมุ่งมั่นทำต่อเนื่อง ไม่ย่อท้อ

 

ทุกเช้าที่เสียงนาฬิกาปลุกดัง คุณจะลืมตาตื่นขึ้นทันที หรือคุณจะงัวเงีย ล้มตัวลงนอนต่อ… หากเป็นแบบหลัง แสดงว่าคุณกำลังหมดไฟ ไม่อยากทำงานนั้นแล้ว! ทั้งวันของคุณจะเต็มไปด้วยความสุข จากการได้ทำงานที่คุณรัก เพราะมันจะหล่อเลี้ยงและคอยผลักดันให้คุณมีแรงก้าวต่อไป ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง

เราอยากให้คุณลองทำงานที่คุณรัก คุณชอบ แล้วคุณจะสัมผัสได้ถึงพลังที่มากขึ้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญ คุณจะไม่ล้มเลิกความตั้งใจง่ายๆ

 

4. คุณจะเติบโตและก้าวหน้า

 

การได้ทำในสิ่งที่รัก จะส่งผลให้คุณมีไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา คุณจะสร้างสรรค์ผลงานได้มากมาย เป็นการพัฒนาตนเองและทำให้คุณโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ… กลับกัน สำหรับคนที่กล้ำกลืนฝืนทนทำงานที่ตนเองไม่ชอบ คนเหล่านี้จะมีความคิดตื้อตัน คิดอะไรไม่ออก เพราะวันๆ คิดแต่จะทำงานให้เสร็จๆ โดยไม่สนใจผลลัพธ์ของงาน

 

5. คุณจะรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า

 

เราทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย ดังนั้น คุณจึงควรทำตามความฝัน ทำในสิ่งที่รัก ก่อนที่เวลาของคุณจะหมดไป มันไม่มีประโยชน์ที่คุณจะมานั่งทำงานด้วยสีหน้าบึ้งตึง บูดเบี้ยว ขมวดคิ้ว และกลับบ้านไปด้วยอาการไมเกรนกำเริบ นอกจากนี้ คุณไม่ควรทำงานไปวันๆ แบบเช้าชามเย็นชาม เพื่อรอวันเกษียณ

 

เวลา 1 วัน มี 24 ชั่วโมง เราทำงานประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของเวลาทั้งวัน ดังนั้น พยายามหางานที่ตนรัก ทำให้เต็มที่ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของความสุข… ใช้เวลาให้คุ้มค่า เลือกทำตามที่ใจต้องการ คุณจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง ว่ายังไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำ!

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เพราะความลำบาก คือหนทางสู่ความสำเร็จ

27 03 2017

ดอกเตอร์ จอยซ์ บราเธอร์ส อาจารย์ด้านจิตวิทยา เคยกล่าวไว้ว่า “คนประสบความสำเร็จ ต้องเรียนรู้ที่จะมองความล้มเหลวเป็นสิ่งดีมีประโยชน์ และเป็นส่วนที่เลี่ยงไม่ได้ของกระบวนการก้าวสู่ความสำเร็จ”

เราอาจสรุปได้ว่า “ความลำบากและความล้มเหลว คือส่วนสำคัญของกระบวนการสู่ความสำเร็จ” และข้อดีของความลำบากนั้นมีอยู่มากมาย… เราลองมาดูเหตุผลสำคัญๆ ว่าทำไมถึงต้องยอมรับความลำบาก และต้องพยายามมุ่งมั่นบากบั่นให้เต็มความสามารถ…

 

1. ความลำบาก ทำให้เกิดความยืดหยุ่น

 

ไม่มีอะไรในชีวิตที่ทำให้เกิด “ความยืดหยุ่น” ได้ดีเท่ากับความลำบากและความล้มเหลว… จากการศึกษาวิจัยซึ่งได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารไทม์ ช่วงกลางทศวรรษ 1980 ได้ขยายความให้เห็นถึงพลังความยืดหยุ่นที่เหลือเชื่อของกลุ่มคนซึ่งสูญเสียงานของตนจากการปิดโรงงานถึงสามครั้ง!

ตอนแรก นักจิตวิทยาคาดว่าพวกเขาน่าจะท้อใจ แต่พวกเขากลับมองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ความลำบากของพวกเขากลับกลายเป็นความได้เปรียบ เพราะพวกเขาต้องตกงาน และสามารถหางานใหม่ได้อย่างน้อยสองครั้ง นั่นแสดงว่า พวกเขาสามารถจัดการกับความลำบากได้ดีกว่าคนซึ่งทำงานกับบริษัทเพียงแห่งเดียว แล้วตกงาน…

 

2. ความลำบาก ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ความลำบากทำให้คุณดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ปล่อยตัวเองให้ขมขื่นจนเกินไป… อีกทั้งความลำบากยังช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาและความกล้าแกร่ง อีกด้วย… วิลเลียม ซาโรยัน นักประพันธ์ชาวอเมริกัน เคยกล่าวว่า “คนเราประสบความสำเร็จได้ เพราะเรียนรู้จากความล้มเหลว… ลองนึกดูสิ เราแทบไม่ได้รู้อะไรจากความสำเร็จมากนักหรอก”

ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ ความกล้าแกร่งพร้อมด้วยความยืดหยุ่น จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณสมบัติเหล่านี้ ได้มาจากการฝ่าฟันอุปสรรคความลำบากต่างๆ…

จอห์น คอตเตอร์ ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด บิสสิเนส กล่าวว่า “ผมนึกภาพกลุ่มผู้บริหารเมื่อ 20 ปีก่อน กำลังถกกันเรื่องผู้สมัครในตำแหน่งงานระดับสูงสุดตำแหน่งหนึ่ง และพูดว่า ‘คนๆ นี้เคยประสบความล้มเหลวครั้งใหญ่ ตอนอายุ 32’ คนอื่นๆ ต่างก็พูดว่า ‘ใช่… ใช่… แบบนี้เป็นลางไม่ดีเลย’ แต่ถ้าพิจารณาด้วยเงื่อนไขเวลาปัจจุบัน เชื่อว่า สิ่งที่ทำให้ทุกคนหมดห่วงคือ ‘คนๆ นี้เคยล้มเหลวมาก่อน’…”

เพราะปัญหาที่เราเผชิญและเอาชนะได้ จะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาในอนาคต

 

3. ความลำบาก ทำให้คุณกล้าเสี่ยง

 

ลอยด์ โอกิลวี่ เล่าว่า เพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งเคยเป็นนักแสดงในคณะละคร เล่าประสบการณ์การเรียนรู้วิธีเล่นชิงช้าสูง ดังต่อไปนี้…

เมื่อคุณรู้ว่าเบื้องล่างมีตาข่ายคอยรับคุณอยู่ คุณก็จะไม่วิตกเรื่องการตกจากชิงช้าอีกต่อไป… ตอนนี้คุณเรียนรู้ที่จะตกลงไปอย่างประสบความสำเร็จ ความหมายของมันก็คือ คุณสามารถพุ่งความสนใจไปที่การคว้าชิงช้าที่กำลังเหวี่ยงตัวเข้าหาคุณ ไม่ใช่เรื่องการตกไปข้างล่าง เพราะการตกซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ทำให้คุณมั่นใจว่าตาข่ายมีความแข็งแรงและไว้ใจได้เวลาที่คุณตกลงไปจริงๆ…

ผลของการตกลงไปและได้รับการรองรับด้วยตาข่าย คือความมั่นใจและความกล้าที่จะโหนชิงช้าสูงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ คุณจะพลาดน้อยลง และทุกครั้งที่พลาด หรือหล่นลงไป กลับทำให้คุณกล้าเสี่ยงมากขึ้น…

 

4. ความลำบาก ทำให้เห็นโอกาสมากขึ้น

 

“การหลีกหนีปัญหา คือการจำกัดศักยภาพของเรา” ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายคน ต่างก็มีประสบการณ์ หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความลำบาก-ความผิดหวัง ซึ่งกลายเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ มากมาย…

ตัวอย่างเช่น ในปี 1978 เบอร์นี่ มาร์คัส ลูกชายช่างทำตู้ชาวรัสเซียน ในเมืองนวร์ก, นิวเจอร์ซี่ ถูกไล่ออกจากบริษัทแฮนดี้แดน ร้านจำหน่ายเครื่องมือเพื่อการซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง เหตุการณ์นี้กระตุ้นมาร์คัสให้ไปจับมือกับ อาร์เธอร์ แบลงค์ เริ่มต้นธุรกิจของตนด้วยกัน และในปี 1979 ทั้งสองได้เปิดร้านแห่งแรกในเมืองแอตแลนต้า, จอร์เจีย มีชื่อว่า “โฮม ดีโปต์” ปัจจุบัน โฮม ดีโปต์ มีร้านกว่า 760 แห่ง มีพนักงาน 157,000 คน ทั้งสองได้ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และสามารถทำยอดขาย ปีละกว่า 30 พันล้านเหรียญฯ เลยทีเดียว

เมื่อมองย้อนกลับไป เบอร์นี่ มาร์คัสคงไม่รู้สึกยินดีกับการถูกไล่ออกจากแฮนดี้แดน สักเท่าไหร่… แต่ถ้าเขาไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ ใครจะไปรู้ว่า เขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้หรือไม่…


5. ความลำบาก กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม


ช่วงต้นศตวรรษ 20 เด็กชายคนหนึ่งซึ่งครอบครัวของเขาอพยพมากจากสวีเดน เพื่อมาตั้งรกรากในอิลลินอยส์ ได้ส่งเงินจำนวน 25 เซ็นต์ เพื่อสั่งซื้อหนังสือเกี่ยวกับภาพถ่าย จากสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง แต่กลับได้รับหนังสือเกี่ยวกับศิลปะการดัดเสียงพูดแทน…

แล้วเขาทำอย่างไรน่ะเหรอ? เขาก็ปรับตัวและเรียนรู้ศิลปะว่าด้วยการดัดเสียงพูด เด็กคนนี้คือ เอ็ดการ์ เบอร์เกน และตลอดเวลากว่า 40 ปี เขาสร้างความสำราญแก่ผู้ชม พร้อมกับหุ่นไม้ “ชาร์ลี แมคคาร์ธี” กลายเป็นรายการโชว์ชื่อดัง “เอ็ดการ์ เบอร์เกน กับหุ่นไม้ชื่อ ชาร์ลี แมคคาร์ธี ของเขา” 

ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งแปลกใหม่ คือหัวใจของความสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ… แจ๊ค แมตสัน แห่งมหาวิทยาลัยฮูสตัน เข้าใจความจริงข้อนี้ และได้พัฒนาหลักสูตรซึ่งนักศึกษาของเขาเรียกชื่อว่า “Failure 101”

ในหลักสูตรดังกล่าว แมตสันจะมอบหมายให้ผู้เรียนสร้างผลิตภัณฑ์จำลองที่ไม่มีใครซื้อ เป้าหมายของเขาคือ ทำให้มองความล้มเหลวเป็นเหมือนนวัตกรรม ไม่ใช่ความพ่ายแพ้… วิธีนี้ช่วยปลดปล่อยพวกเขาให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ “นักศึกษาจะได้เรียนรู้ที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะเล็งเป้าหมายอีกครั้ง” แมตสันกล่าว

ถ้าคุณต้องการความสำเร็จ คุณต้องเรียนรู้ ปรับวิธีการ และลองใหม่ซ้ำอีกครั้ง… เพราะสุดท้ายแล้ว ความลำบากจะช่วยพัฒนาศักยภาพขึ้นมาได้…

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เพียงแค่เอ่ยปากร้องขอ… คุณก็จะได้…

09 03 2017

คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คงไม่เจอโลกใหม่ ถ้า “ไม่ขอ” ให้พระราชินีพระราชทานเรือสำรวจมหาสมุทร พร้อมลูกเรือ? ถ้า โธมัส เอดิสัน ไม่ขอทุนเพื่อทำการทดลอง เราคงต้องอ่านหนังสือกันโดยใช้กองไฟ? กระทั่ง ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ยังร้องขอคนอเมริกัน ด้วยประโยคทรงพลังที่ว่า “อย่าถามว่าประเทศชาติจะทำอะไรให้คุณ แต่จงถามว่าคุณจะทำอะไรให้ประเทศชาติได้บ้าง”

เพอร์ซี่ รอสส์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่สร้างตัวจากศูนย์ เคยกล่าวไว้ว่า “เธอต้องเอ่ยปากออกมา เพราะการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ คือเคล็ดลับสู่ความสำเร็จที่ทรงพลัง แต่กลับถูกมองข้ามมากที่สุด”

หนทางสู่ความสำเร็จในชีวิตของเราทุกคน มีเทคนิควิธีมากมาย ซึ่งการเอ่ยปาก “ขอ” ความช่วยเหลือ ก็เป็นหนึ่งในวิธีการนั้น และจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มีตัวอย่างนับไม่ถ้วนที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตบางคนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพียงแค่ “เอ่ยปากขอให้ถูกวิธี”

นักจิตวิทยาแนวพัฒนาตนเองยืนยันว่า “การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนอ่อนแอ หรือไร้ความสามารถ แต่มันเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของคนกล้าและมีไหวพริบ ต่างหาก!”

ไทเกอร์ วูดส์ ก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาที่โดดเด่น เพราะเขา “ขอ” คำแนะนำและขอฝึกเพิ่ม… ตอนที่ บิลล์ เมอร์เรย์ ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง เพิ่งเริ่มสร้างชื่อให้ตัวเอง เขา “ขอ” ให้ จอห์น เบลุคชี่ ดาวตลกที่ได้รับการยกย่องในยุคนั้น ช่วยเป็นพี่เลี้ยง… ขนาดศิลปินชื่อก้อง ลีโอนาร์โด ดาวินชี ยังเคย “ขอ” คำแนะนำจาก เวรอคชิโอ ศิลปินอีกท่าน ที่มีผู้คนนับหน้าถือตา…


คนส่วนใหญ่กลัวที่จะขอ


เป็นเรื่องปกติ ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ… มีเหตุผลมากมาย เช่น อึดอัดเวลาถูกมองว่าไร้ความคิด เป็นคนขัดสน เป็นคนไม่ฉลาด ไม่มีใครอยากโดนมองแบบนั้นแน่ๆ แต่สาเหตุสำคัญที่นักจิตวิทยาได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคที่ทำให้คุณไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ นั่นคือ กลัวโดนปฏิเสธ และไม่อยากได้ยินคำว่า “ไม่ได้”

นั่นหมายความว่า พวกเรากำลัง “ปฏิเสธตัวเอง” ตั้งแต่เริ่มต้น หรือพูดอีกอย่างได้ว่า คุณกำลังบอกตัวเองว่า “ไม่ได้” ก่อนที่คนอื่นจะพูดคำนั้นใส่คุณ เสียอีก! เพราะเรา ๆ ท่านๆ มักคิดเอาเองว่า สิ่งที่คิดหรือสิ่งที่ต้องการขอความช่วยเหลือ จะถูกปฏิเสธ!

แทนที่จะคิดแบบนั้น ลองเสี่ยงเอ่ยปากขอในสิ่งที่คุณต้องการ หรืออยากได้ ดูสิ! ถ้าไม่ได้ ก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน แต่ถ้าได้ขึ้นมา คุณจะรู้สึกดีขนาดไหนล่ะ! ได้ออกเดทกับคนที่แอบชอบ ได้หน้าที่การงานที่ดีกว่า ได้ร่วมทีมที่แข็งแกร่ง หรือกระทั่งได้ความช่วยเหลือในการเริ่มต้นธุรกิจ ได้ทำโครงการใหม่ ๆ

อย่าปล่อยให้ “ความกลัวถูกปฏิเสธ” ฉุดรั้งเราไว้อีกเลย


4 เทคนิคเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ


“แล้วควรจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลืออย่างไร?” เป็นคำถามที่นักจิตวิทยาถูกถามมากที่สุด และคำตอบก็คือ เทคนิคในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้คุณได้ในสิ่งที่ปรารถนา มันไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากอะไรเลย ก็แค่…


1. เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ โดยหวังว่าจะได้


จุดเริ่มต้นคือ “ความคิดของคุณเอง” เมื่อไหร่ที่คิดในเชิงลบ นั่นหมายถึงคุณกำลังต่อต้านตัวเองอยู่ ให้คิดไว้เลยว่า สิ่งต่างๆ จะออกมาอย่างที่คุณปรารถนา แล้วคุณจะมีแรงผลักดันให้สิ่งที่ต้องการ กลายเป็นจริง!

อย่าเอ่ยปากขอ โดยตั้งความหวังไว้แค่นิดๆ หน่อยๆ ว่าจะได้รับความช่วยเหลือ คุณต้องเอ่ยปากด้วยความมั่นใจและรู้สึกลึกๆ เต็มเปี่ยม ว่าจะได้สมใจ! จงเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ โดยคิดไว้ล่วงหน้า ว่าจะได้ยินคำว่า “ได้”

เมื่อคุณมั่นใจว่าได้ การเข้าหาคนที่ต้องการให้ช่วยเหลือ ก็ควรมีมารยาทนอบน้อม อย่าวางมาดหยิ่ง หรือแสดงสีหน้ายโส ทำตัวน่ารัก แล้วพวกเขาจะเอ็นดู พร้อมทั้งแนะนำว่าจะช่วยเหลือคุณได้อย่างไร?


2. ขอคนที่จะให้ความช่วยเหลือได้


คุณต้องคิดให้ชัดว่าจะขอใคร? เหมาะหรือไม่ที่จะขอจากคนนั้น?

การจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ คุณควรเริ่มด้วยการถามตัวเองก่อนว่า “ฉันต้องเอ่ยปากขอ…จากใคร ถึงจะได้?”, “ใครจะอนุญาตฉันให้ทำ…ได้?” และ “ใครมีข้อมูลหรือทรัพยากรที่ฉันต้องมี เพื่อที่จะทำ….ได้?”

เทคนิคข้อนี้คือการมองให้ออกถึงบุคคลที่เหมาะสม การเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ไม่ใช่จะขอ “ใครก็ได้” เพราะการขอใครก็ได้ คือการขอโดยไร้จุดหมาย!


3. ขอความช่วยเหลือให้ชัดเจน


นักจิตวิทยาเล่าตัวอย่างของเทคนิคนี้ให้เห็นภาพว่า ตอนที่เขาไปเป็นวิทยากร เขามักจะถามผู้เข้าฟังการบรรยายว่า “ใครอยากได้เงินเพิ่มบ้าง?” แล้วเลือกใครสักคนที่ยกมือขึ้น และส่งให้เขาหนึ่งเหรียญ จากนั้นก็ถามต่อว่า “ตอนนี้มีเงินเพิ่มแล้ว พอใจหรือยัง?” คนส่วนใหญ่มักตอบว่า “ยัง ผมอยากได้มากกว่านี้”

นักจิตวิทยาจะให้เหรียญเขาอีกสองเหรียญ แล้วถามว่า “พอหรือยัง?” คำตอบยังคงเป็น “ยัง ผมอยากได้มากกว่านี้”

เกมนี้ชื่อว่า “มากกว่านี้ได้อีก” สุดท้ายเขาต้องระบุตัวเลขที่แน่นอน ถึงจะจบเกม!

นักจิตวิทยานำเสนอให้คนฟังการบรรยายเห็นว่า “จำเป็นแค่ไหนที่ต้องระบุสิ่งที่ต้องการขอให้ชัดเจน… การขอกว้างๆ ย่อมได้ผลกว้างๆ การเอ่ยปากร้องขอความช่วยเหลือต้องชัด ถ้าคุณอยากได้ผลลัพธ์เฉพาะเจาะจง”

เขายกตัวอย่างการเอ่ยปากขอแบบเฉพาะเจาะจง ดังนี้…

อย่าพูดว่า “ขอที่นั่งที่ดีกว่านี้ได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “ขอที่นั่งแถวหน้าได้ไหม?”, อย่าพูดว่า “คุณจะสนับสนุนวงดนตรีของเรา ด้วยการบริจาคเงินสักหน่อยได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “คุณช่วยกรุณาบริจาคสักหนึ่งร้อยเหรียญ ให้วงของเราได้ไหม? เราจะได้เดินทางไปร่วมประกวดการแข่งขันวงดนตรีระดับรัฐ”

อย่าพูดว่า “เราพอจะมีเวลาอยู่ด้วยกันสุดสัปดาห์นี้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “คืนวันเสาร์นี้ ออกไปกินข้าวดูหนังด้วยกันไหม?”, อย่าพูดว่า “คุณช่วยทำโปรเจ็คท์นี้หน่อยได้ไหม?” แต่ให้พูดว่า “ขอเวลาสักชั่วโมง หลังเลิกงานวันพฤหัสฯ มาช่วยทำโปรเจ็คท์พิเศษนี้หน่อยได้ไหม?”

คุณเริ่มเห็นภาพของคำพูดที่ “ชัดเจน” ในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ แล้วใช่ไหม!


4. ขอความช่วยเหลือ ซ้ำได้!


บางที เราอาจยังไม่ได้รับความช่วยเหลือตั้งแต่ครั้งแรกที่เอ่ยปากขอ ที่สำคัญ อย่ามองว่าการถูกปฏิเสธในตอนต้น คือทางตันถาวร เพราะหนึ่งในหลักการสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือความไม่ย่อท้อ-ไม่ยอมแพ้

เมื่อไหร่ก็ตามที่ขอให้ใครสักคนช่วยเหลือ บางคนอาจปฏิเสธ นั่นอาจเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ณ เวลานั้น พวกเขาอาจมีงานด่วน หรือรับปากใครไว้แล้ว หรือมีเหตุผลอื่นที่ยังช่วยเหลือเราไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่กระจกสะท้อนให้เห็นตัวคุณ หรือความฝันของคุณ ว่าตัวคุณไม่โอเค หรือฝันของคุณไร้สาระ

คุณควรยอมรับความจริงว่า คงต้องมีถูกปฏิเสธบ้างล่ะ… สิ่งสำคัญคืออย่ายอมแพ้ หลังจากโดนปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ อย่าเพิ่งเลิกล้มความตั้งใจในการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ มันอาจเป็นแค่เรื่องของจังหวะเวลา หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือไม่ก็แค่…ถึงเวลาไปขอให้คนอื่นช่วย!

อย่าปล่อยให้คำว่า “ไม่ได้” มาทำให้เราเปลี่ยนใจ (ไม่ขอแล้ว) พวกที่คิดว่า “ต้องได้” ย่อมมีหวังว่า “ได้” พวกเขาจะเห็นผลประโยชน์และโอกาสที่จะได้รับเสมอ… ขอแค่เติมกำลังใจตลอดเวลา และอย่าท้อ


เริ่มขอความช่วยเหลือ ตั้งแต่ตอนนี้


เพื่อปลดปล่อยพลังของการขอ ก่อนอื่น คุณต้อง “เต็มใจ” ที่จะขอความช่วยเหลือ… เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า จุดเริ่มต้นมักน่ากลัวและอาจจะยาก นักจิตวิทยาแนะนำให้ลองหยิบกระดาษขึ้นมาตอบคำถามดังต่อไปนี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการขอความช่วยเหลือ…

– เขียนสิ่งที่อยากได้ แต่ไม่ค่อยได้ขอความช่วยเหลือจากใคร?
– แต่ละข้อ เขียนอธิบายว่า คุณห้ามตัวเองไม่ให้ขอ อย่างไร? และทำไม? คุณกลัวอะไร? คุณรู้สึกอย่างไรเวลาที่ต้องขอความช่วยเหลือ?
– หลังจากนั้น ให้เขียนลงไปว่า คุณต้องสูญเสียอะไร ถ้า “ไม่ขอ” อะไรที่อาจขาดไป เพียงเพราะคุณไม่ยอมขอ?
– สุดท้าย เขียนว่าชีวิตจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง ถ้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ? คุณจะได้อะไร? คุณจะถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จได้เร็วขึ้นขนาดไหน?

เมื่อคุณได้อ่านทบทวนทั้งหมดที่เขียนข้างต้น คุณจะมีความมั่นใจมากขึ้น และเห็นความสำคัญของการแค่… “เอ่ยปากขอความช่วยเหลือออกมา”

 

เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

กระตุ้น PASSION ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน

13 03 2017

คุณ วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนสองรางวัลซีไรต์ จากผลงาน “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” และ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน” เคยเขียนถึงประเด็น “ว่าด้วย PASSION” โดยยกตัวอย่าง บิล แบลส นักออกแบบเสื้อผ้าชาวอเมริกัน ผู้มีชื่อเสียงในโลกแฟชั่นฝั่งตะวันตก ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า “คนทำงานแฟชั่น ต้องมี Passion ถ้าไม่มีเมื่อไหร่ ก็ควรเลิกทำ… ซึ่งถ้าวันไหนผมไม่มี Passion ผมก็จะไป…”

แล้ววันหนึ่งบิลก็ไป! เขาขายธุรกิจเสื้อผ้าที่ตนก่อร่างมาจนใหญ่โต และลาออกจากวงการ!

คุณวินทร์ เลียววาริณ อธิบายความหมายของ “Passion” ว่า “คือความกระตือรือร้น ความหลงใหล ความคลั่งไคล้ในงานที่ทำ เป็นไฟที่ขับเคลื่อนให้ผู้สร้างสรรค์งาน เดินหน้าอย่างเปี่ยมพลัง!”

พร้อมกันนั้น คุณวินทร์ยังเล่าถึง กิมย้ง นักเขียนนวนิยายจีนกำลังภายในชาวฮ่องกง ซึ่งเขียนนวนิยายเพียง 15 เรื่องในชีวิต กินช่วงเวลาเพียง 17 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2498-2515) ก็ยุติบทบาทนักเขียนนวนิยาย… ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ ว่าด้วยมันสมองของเขา ไม่ยากที่จะเขียนนิยายกำลังภายในอีกสัก 50 เรื่อง โดยรีไซเคิลจากงานเก่า เช่นที่ฮอลลีวู้ดปฏิบัติมานานนม และด้วยฝีมือของเขา งานย่อมไม่แย่แน่นอน

แต่สำหรับกิมย้ง “หากไม่มีอะไรใหม่กว่าสิ่งที่เคยสร้างสรรค์มา ก็อย่าเขียนดีกว่า!” ว่าแล้วเขาก็ยุติบทบาทการเขียนนิยายจีนกำลังภายในที่เขาเป็นหัวหอก แล้ว “ล้างมือในอ่างทองคำ” (สำนวนนิยายกำลังภายใน หมายถึง “ลาออกจากวงการ”)

คุณวินทร์สรุปปิดท้ายในบทความว่า…

“มีศิลปินไม่มากนักในโลกที่สามารถทำเช่นนั้นได้ บิล แบลส ขายธุรกิจของเขาไปเป็นเงิน 50 ล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 1,650 ล้านบาท) ส่วนกิมย้ง เป็นนักเขียนชาวจีนที่รวยที่สุด ประมาณทรัพย์สินของเขาที่ได้มาจากการเขียนหนังสือ ไม่ต่ำกว่า 600 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 2,520 ล้านบาท) แต่ศิลปินไทยส่วนใหญ่ ต่อให้หมดไฟหมดแรง ก็ยังต้องลุกขึ้นมาทำงาน มิเช่นนั้นจะหมดลมหายใจด้วยความหิวโหย!”

จากบทความของคุณวินทร์ ทำให้นึกไปถึงสิ่งที่ จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เคยเขียนเกี่ยวกับ “การกระตุ้น PASSION ง่ายๆ ใน 4 ขั้นตอน” ซึ่งมีดังต่อไปนี้…

 

1. รู้จักนิสัยส่วนตัวอย่างแท้จริง

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ อธิบายว่า บนโลกใบนี้ ทุกคนล้วนแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกัน… บุคลิกของเราโดยธรรมชาติ อาจเป็นคนชอบความถูกต้อง รักความสงบสุข ไม่ใช่คนกระตือรือร้น หรือชอบแสดงออก ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีบุคลิกแบบไหน ไม่ใช่ปัญหา ไม่มีถูก-ผิด เพียงแค่ต้องพิจารณาให้ชัดว่าเราเป็นคนแบบใด เพื่อนำมาปรับใช้

จอห์นเล่าถึง ชาร์ลี เวตเซล ผู้ร่วมเขียนหนังสือกับเขาหลายเล่ม ซึ่งมีลักษณะนิสัยไม่ชอบแสดงออก หรือตื่นเต้นในสิ่งที่สนใจจนออกนอกหน้า แต่เขาจะทำสิ่งต่างๆ ด้วยบุคลิกนิ่งๆ สงบ และเพียรพยายามอย่างยิ่ง… ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองเขียนหนังสือร่วมกันถึง 45 เล่ม ซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ได้ หากเขาเป็นคนไม่มีความต่อเนื่อง… ถ้าคุณเป็นคนแบบเดียวกับชาร์ลี คุณย่อมสามารถใช้ความเพียรอย่างสม่ำเสมอที่มีอยู่ในตัว กระตุ้น Passion ให้ลุกโชน

กลับกัน หากคุณมีบุคลิกรักสนุก หรือชอบทำอะไรตามวิธีของตนเอง คุณมีแนวโน้มที่แสดงออกอย่างกระตือรือร้นในสิ่งที่คุณสนใจ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะหมดความสนใจได้อย่างรวดเร็ว เช่นกัน!

Passion จะร้อนแรง แต่ไม่คงทน… จอห์นยอมรับว่าเขาเป็นคนแบบนี้!

“ผมจะตื่นเต้นกับสิ่งต่างๆ มาก แต่ก็จะเปลี่ยนความสนใจไปยังสิ่งอื่นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีนิสัยแบบนี้ ก็ต้องเอามาคิดด้วยว่า ตัวเราเหมาะกับการทำงานประเภทใด ควรกระตุ้น Passion ในด้านใด”

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เปรียบเทียบ Passion เหมือนการทำอาหาร เนื้อบางส่วน เช่น เนื้อที่ไม่มีมัน จะอร่อยที่สุด ก็ต่อเมื่อปรุงด้วยความร้อนสูง โดยใช้เวลาสั้นๆ แต่หากเป็นเนื้อติดมัน การปรุงย่อมต้องใช้ความร้อนต่ำ และเวลานาน… แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เราก็ปรุงอาหารให้อร่อยได้ เพียงแค่รู้ว่ากำลังปรุง “เนื้อแบบไหน” อยู่… เท่านั้น!

 

2. สังเกตเสมอ ว่าอะไรสำคัญสำหรับเรา

 

The Leadership Challenge คือหนังสือเกี่ยวกับผู้นำที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในโลกทุกวันนี้ ผู้เขียนคือ เจมส์ คูเซส และ แบร์รี่ โพสเนอร์ ผู้เขียนถาม จอห์น เอช สแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นพลตรีแห่งกองทัพสหรัฐฯ ว่า เขาพัฒนาผู้นำอย่างไร?

สแตนฟอร์ดตอบว่า “สำหรับผม ความลับที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็คือ จงมีความรักอยู่เสมอ การมีความรักในสิ่งที่ทำ จะส่งผลให้เรามีไฟจุดประกายให้คนอื่นๆ เกิด Passion ที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จมากกว่าปกติ ผู้ไม่มีความรัก จะไม่มีวันเข้าใจความตื่นเต้นนี้ ความรักจะทำให้เรามุ่งไปข้างหน้า และนำคนอื่นไปสู่ความสำเร็จ ผมไม่รู้ว่านอกจากพลังงานแห่งความรักแล้ว จะมีพลังงานอื่นที่ทำให้เรามีความสุข และรู้สึกดีได้มากกว่านี้อีกไหม”

สแตนฟอร์ดรู้สึกเสมอว่า ต้องรักษาความมุ่งมาดปรารถนาของตน ซึ่งก็คือ “การรักผู้อื่น” เอาไว้ ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่สามารถนำคนอื่นได้ แต่มีหลายคนทำเช่นนี้ไม่ได้ หลงลืมสิ่งที่มีความหมายต่อตนเอง ซึ่งในที่สุดก็ทำให้ Passion ของคนเหล่านั้นมอดดับลง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มไม่รู้สึกถึง Passion ของตน… จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ แนะนำว่า “ให้ย้อนถามตัวเอง ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ และเหตุใดจึงอยากไล่ตามความฝันนั้นในตอนแรก ตราบเท่าที่คุณจำความรู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ การรักษา Passion ให้คงอยู่ ก็จะเป็นเรื่องง่าย”

 

3. อย่ากังวล ถ้าคุณจะต่างจากคนอื่น

 

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ เล่าถึง ผู้ก่อตั้ง “เทย์เลอร์ กีตาร์” บริษัทผลิตเครื่องดนตรีที่ประสบความสำเร็จรายหนึ่งของโลก โดยเฉพาะชื่อเสียงในด้านการออกแบบเครื่องดนตรีใหม่ๆ ด้วยความรู้เกี่ยวกับกีตาร์ที่หาตัวจับยาก

บ็อบ เทย์เลอร์ เป็นคนที่แตกต่างจากเพื่อนๆ เด็กมัธยม กระทั่งตอนที่เข้าไปทำงานในร้านกีตาร์ “อเมริกัน ดรีม” เมื่ออายุ 19 เขาก็แตกต่างจากคนในร้านนั้นเช่นกัน! บ็อบไม่สนใจว่าตัวเองไม่เหมือนใคร เขาสนใจเพียงการไล่ตามความฝันของเขาเท่านั้น

“ช่วงแรกๆ ที่ทำงาน ผมเองรู้สึกว่าตัวเองแปลกประหลาด รู้สึกว่าตัวเองเข้ากับคนอื่นๆ ในหน่วยงานไม่ได้ ผมไม่เคยเป็นหนึ่งในพวกเด็กใหม่… ตอนแรก ผมก็ไม่ค่อยสบายใจ แต่ด้วยความเชื่อในสิ่งที่ทำ ผมมุ่งมั่นไปข้างหน้า แม้จะใช้เวลาหลายปี แต่ในที่สุดผมก็ทำสำเร็จ สิ่งที่น่าแปลกใจคือ หลังจากนั้นไม่นาน คนอื่นๆ ล้วนมาขอคำแนะนำจากผมทั้งสิ้น”

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ สรุปจากประสบการณ์ของบ็อบ เทย์เลอร์ ว่า “ผู้บรรลุฝั่งฝันได้ ย่อมต้องมีความโดดเด่นบางอย่าง คุณไม่สามารถบรรลุความฝันที่ต้องการ หากยังไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ ถ้าคุณต้องการมีชีวิตที่พิเศษและสร้างสิ่งมหัศจรรย์ คุณต้องก้าวไปตาม Passion โดยไม่ต้องสนใจ ว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับคุณ”

 

4. ไม่ปล่อยให้อายุ และอุปสรรค ทำร้ายคุณ

เด็กๆ จะมี Passion และความกระตือรือร้นตามธรรมชาติ พวกเขารักที่จะใช้ชีวิต มีความฝันใหญ่โต บางคนสามารถเก็บความกระตือรือร้นและพลังงานเหล่านี้ไว้ได้จนโตเป็นผู้ใหญ่

แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิตที่ยาวนาน มนุษย์จะทำความกระตือรือร้นหล่นหาย แล้วจะมีความเฉื่อยชาเข้ามาแทนที่ มากขึ้นๆ สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเพราะเราสูญเสียอุดมคติ หรือเพราะอุปสรรคที่เกิดขึ้นทุกวันทำให้เราหมดกำลังใจ และสุดท้าย Passion ของเราจะหายไป!

อย่าปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับความผิดหวังและความยากลำบากสักแค่ไหน? อย่าให้มันมาบั่นทอน Passion ของเรา เพราะแม้ผู้ที่ต้องเผชิญกับความทุกข์แสนสาหัส ก็ยังสามารถค้นหาเป้าหมายในชีวิตได้

จอห์น ซี. แม็กซ์เวลล์ ย้ำว่า “ในแต่ละช่วงของชีวิต มีทั้งอุปสรรคและสิ่งดีๆ มีทั้งความทุกข์ทรมานและชัยชนะ ขึ้นอยู่กับคุณที่จะดึงด้านดีออกมาให้มากที่สุด และอย่าปล่อยให้ด้านลบทำให้คุณท้อแท้และสิ้นหวัง”

จอห์นยอมรับว่า ถึงตอนนี้จะอายุใกล้ 70 พลังงานในตัวมีน้อยกว่าแต่ก่อนมาก แรกๆ เขารู้สึกไม่สบายใจ เพราะไม่อยากให้ตัวเองทำอะไรช้าลง แต่เขากลับได้เติม Passion อยู่ตลอดเวลา ด้วยการใช้ชีวิตกับครอบครัว…

“ผมให้เวลากับตัวเองมากขึ้น มีความสุขกับครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลานๆ ทั้ง 5 คน ผมยังคงมีไฟ มี Passion และมีความสุขกับชีวิตช่วงนี้ ไม่ต่างจากช่วงที่แล้วๆ มา”

การทำในสิ่งที่รัก และรักในสิ่งที่ทำ จะทำให้เรามีพลังก้าวต่อไป… มันจะเปลี่ยนเราในด้านวิธีคิด วิธีทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น… Passion เป็นพลังอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงเราได้…

จอห์น รัสกิน นักเขียนและนักวิจารณ์ เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อความรักกับทักษะ รวมเข้าด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิด Passion ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอก”

 


เรียบเรียงโดย LEARNING HUB THAILAND

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save