9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพให้คนทำงาน

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในชีวิต เพราะมนุษย์คนหนึ่งสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะที่ธรรมชาติให้มาอย่างการฟังนั่นเอง

ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด อาจเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นได้เสมอ 

เพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ที่จะบอกในบทความนี้จะช่วยให้คุณ มีพัฒนาการด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณด้วย

====

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

====

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

====

3.ทวนความเป็นช่วงๆ 

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

====

4.ฝึกสมาธิเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

====

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงดู

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

====

6. เข้ารับการอบรมเรื่องการฟัง 

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

ผมมีหลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร ในชื่อหลักสูตร Executive Communication คลิกดูรายละเอียดที่นี่

====

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

====

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

====

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน

====


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

ฝึกฝนทักษะการฟังให้เข้มข้นเพิ่มขึ้นกับ Active Listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีมคลิกที่นี่

บทความโดย CEO เรือรบ – ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand / ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ

Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข 

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 0939254962

 

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่า คุณยังฟังไม่เป็น

4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่า คุณยังฟังไม่เป็น

“ยิ่งคุยกันมากขึ้น ทำไมเรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

บทความนี้ ผมจะเล่าถึง 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คนเรามักจะทำผิดพลาด ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักๆมาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้องอาศัย “สติ” และการ “เอาใจใส่”

ส่วนการได้ยิน เกิดขึ้นเองที่หู โดยเราไม่ต้องพยายามอะไร

 

ดังนั้น เรามีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่องๆนั้นเลย เป็นเหตุให้การสนทนาในชีวิตประจำวัน หากเราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายจริงๆ นั่นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นปมความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะ และเลิกคบหากันในเวลาต่อมา

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจมั้ย ว่าคุณฟังเป็น ? 

ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม  เรามักจะพลาดกัน ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังแบบผิดๆแบบนี้บ้างหรือไม่

1.ฟัง แบบคิดล่วงหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอ “คิดไปดักหน้า” หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เค้าเสร็จสรรพ

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่เราคิดมโนไปนั้น ก็ได้พลาดสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เค้าต้องการเลย

Tips: ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

ข้อนี้คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อนมักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น

และยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีต เรายิ่งจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่เรามีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆครั้ง อาการอินของเรา หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ย่อมจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้เราละเลยผู้พูดไป อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

Tips: เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเค้าได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วเราก็จะสามารถฟังได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง 

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น

แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชทได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

คนที่ใจลอยบ่อยๆเมื่อต้องฟังนั้น หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่องๆนั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าฟัง แต่หากสังเกตด้วยการมองตา ก็จะรู้เลยว่า ใจเค้าไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เค้าจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

Tips: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือเราไม่สะดวกคุยตอนนี้ 

การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆแล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเค้าจะรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว เราฟังเค้าอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่า เสียวเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่หากลองคิดให้ดี ในแต่ละครั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามบริบทและเวลา การรีบด่วนตัดสินนั้นย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่เรารับรู้ในอดีตเท่านั้น เราจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

Tips: เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้นๆไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

บทความนี้ ทำให้เรารู้ว่า “การฟัง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจมองข้ามไม่ได้

หากเรามีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย เราก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเค้าอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟังหากเราสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล

และจะส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว อย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

www.learninghubthailnd.com

หากคุณต้องการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารกับทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

17 พ.ย. นี้ โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

4 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในที่ทำงาน  

4 สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในที่ทำงาน

          ในหนึ่งวันคุณอาจมีอารมณ์แปรเปลี่ยนไปได้หลากหลายรูปแบบ มีทั้งความสุข ทุกข์ เครียด กังวล ดีใจ โล่งใจ หิว เหวี่ยง และอารมณ์อื่นๆ  ซึ่งหากอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับเพื่อนหรือคนรอบข้างคุณ คุณอาจมองว่าเป็นปัญหาเล็กนิดเดียว แต่ในทางกลับกันพวกเขาอาจรู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขา

อย่าตัดสินปัญหาของคนเราด้วยการเปรียบเทียบกัน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ควรตัดพ้อหรือโทษโชคชะตาเมื่อเจอกับปัญหา

สติปัญญา คือ สิ่งที่ช่วยทำให้คุณมองปัญหาออก และสามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ถ้าคุณมีความฝันและปรารถนาชีวิตที่มีความสุข คุณต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าคุณชอบทำอะไร สามารถทำอะไรได้ดี ทำอะไรแล้วมีความสุข และที่สำคัญสิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น คุณต้องยอมรับความจริงก่อนว่าคุณมีสัญญาณว่าคุณกำลังไม่มีความสุขในการทำงานเอาซะเลย

1.คุณมีความสัมพันธ์ที่อึดอัด

ความรักเป็นสิ่งสวยงามที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับชีวิตคุณ เมื่อไหร่ก็ตามที่ความรักเริ่มทำร้ายคุณ ทำให้ชีวิตแย่ลง เหนื่อยมากขึ้น และทำให้เสียใจบ่อยๆ คุณควรจะหันมาให้ความรัก และคุณค่ากับตัวเอง มากกว่าจะไปให้ความสำคัญกับคนที่ไม่สนใจและทำร้ายความรู้สึกคุณ  อย่าได้เสียดายเวลาที่สูญเสียไป แต่จงเสียดายเวลาในอนาคต หากคุณต้องทนอยู่อย่างไม่มีความสุข ยอดตัดความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่เสียตั้งแต่ตอนนี้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต

2.คุณไม่ยอมตัดสิ่งไม่ดีออกจากชีวิต

สิ่งรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของพฤติกรรมที่แย่ เพื่อนที่แย่ สิ่งแวดล้อมที่แย่  ทุกอย่างคือปัจจัยที่ทำให้ชีวิตคุณไม่มีความสุข  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนแย่ๆ ที่ชอบยืมเงินและไม่คืนคุณ  บ้านหรือที่อยู่อาศัยคุณที่อยู่ใกล้เพื่อนบ้านที่นิสัยไม่ดี พฤติกรรมการตื่นสายที่แก้ไม่ได้  หรือ พฤติกรรมการติดเหล้าติดบุหรี่  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งรบกวนที่ทำให้ชีวิตคุณแย่ลงเรื่อยๆ  คุณอาจเคยคิดที่จะตัดมันออกไปจากชีวิต แต่ถ้าคุณแค่คิด แต่ไม่สามารถตัดสิ่งไม่ดีออกไป ท้ายสุดคุณก็ไม่มีความสุขที่แท้จริงอยู่ดี

3.คุณเต็มไปด้วยความสงสัยและความกลัว

คุณอาจเคยผิดหวังมามาก คุณอาจกลัวในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ มีคำถามสงสัยเต็มหัวไปหมด ว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้อย่างไร ซึ่งบางทีเรื่องราวเหล่านั้นยังไม่เกิด และอาจไม่เกิดเลยก็ได้ การที่คุณคิดไปเองก่อน ทำให้คุณเป็นทุกข์และกังวลเปล่าๆ ถ้าคุณรู้ตัวว่าคุณกำลังมีความคิดวนเวียนซ้ำๆ ซากๆ มีความสงสัย ความกังวลในเรื่องเดิมๆ นั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกแล้วว่าคุณกำลังไม่มีความสุขเอาเสียเลย

4.คุณผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ

การที่คุณบอกตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยทำ และผลัดมันไปเรื่อยๆ คือปัญหาสะสมเรื้อรัง และดูเหมือนว่าสิ่งที่คุณเลื่อนไปเรื่อยๆจะไม่มีทางเป็นจริงขึ้นมาได้ ไม่มีใครอยู่ได้ไปตลอดกาล ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้หรือชาติหน้าอะไรจะมาก่อน คุณควรทำในสิ่งที่คุณอยากทำตอนนี้ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป การผัดผ่อนสิ่งต่างๆ ในชีวิตออกไปเรื่อยๆ เป็นอีกสัญญานที่บ่งบอกว่าคุณยังไม่พร้อม หรือ ติดค้างปัญหาอื่นๆอยู่

การเปลี่ยนแปลงคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง คุณต้องมีความเชื่อก่อนว่าคุณสามารถทำได้ และสามารถทำได้ดีด้วย คุณสามารถมีชีวิตอย่างมีความหวัง และมีความสุข ไม่มีสิ่งไหนในชีวิตได้มาง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม ชีวิตคุณลิขิตได้ เพียงแค่คุณเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยการเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อทำให้ชีวิตคุณมีความสุขขึ้น

คุณมีชีวิตที่มีความสุขหรือยัง?

หากคุณต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้มีความสุขมากกว่าเดิม ขอแนะนำหลักสูตร

“Personal Mastery : หลักจิตวิทยา พัฒนาคุณเป็นคนใหม่ใน 1 วัน”

ดูรายละเอียด คลิกที่นี่

ปรึกษาเรื่องการพัฒนาคนในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 02645

4 เทคนิค ฝึกเป็นผู้ฟังอย่างลึกซึ้ง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับการสื่อสารในโลกออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 


การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

แล้วการฟังอย่างลึกซึ้งจะต้องฝึกฝนแบบไหน?

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. สังเกตปฏิกิริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆ อย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆ ก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆ ที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง


2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดก็ตาม เวลาที่มีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา


3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆ ไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาส ที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆ เลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกิริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ทำให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มีคุณภาพ


 4. ให้ความเคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก


การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า สามารถคุยกับเราได้อย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆ ด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆ กันด้วย เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากคุณต้องการฝึกเพื่อเพิ่มศักยภาพการฟัง ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

ทักษะการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่

ปัจจุบัน “ปัญหาเรื่องคน” กลายเป็นปัญหาใหญ่ในองค์กร

เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ระบบสังคมมีความซับซ้อน ผู้คนนั้นก็มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของประสบการณ์ การศึกษา ทัศนคติ ความเชื่อ ทำให้การฟังของพวกเขามีข้อจำกัดมากขึ้น การสื่อสารจึงเป็นไปได้ยากขึ้น ไม่เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่พึงปรารถนา

ต่อไปนี้เป็น 5 ปัญหายอดฮิตในการทำงาน คุณเจอบ้างหรือเปล่า ?

  1. ความเร่งรีบในการสื่อสาร ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดบ่อย
  2. อยากจะคุยด้วย แต่อีกฝ่ายไม่ค่อยพูด ไม่ยอมเสนอความเห็น
  3. ลูกน้องพยักหน้าเข้าใจ แต่พองานออกมา ไม่เหมือนที่สั่งไป
  4. วิธีการสื่อสารในแบบเราคนนึงรับได้ แต่กับบางคนรับไม่ได้ เอาใจไม่ถูก
  5. ปัญหาการลาออกส่วนใหญ่ เป็นเพราะมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน

เพราะเหตุใด จึงเกิดปัญหาเหล่านี้ ?

เราจะพบว่ามีผู้บริหารอยู่ 2 ประเภทในองค์กร ที่ใช้หลักการบริหารที่ต่างกัน

การบริหาร ด้วย “ความกลัว”

โดยมากมักจะเกิดกับผู้บริหารแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative Style) ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต เขาจึงคิดว่าลูกน้องซึ่งเด็กกว่าและอ่อนประสบการณ์กว่า ควรจะเป็นฝ่ายเชื่อฟังและทำตาม โดยที่ไม่รู้ตัว เขามักจะใช้หลัก “6 บ.” ในการบริหารงาน นั่นคือ

  • บี้ ชอบสั่งการแบบขู่เข็ญโดยใช้อำนาจ
  • ใบ้ ไม่ค่อยสอนงาน เห็นอะไรดีไม่เคยชม
  • เบลม ชอบตำหนิต่อว่า เห็นอะไรก็ผิดไปหมด
  • โบ้ย หากถ้าตัวเองทำผิด หรือตัดสินใจพลาด ก็อ้างว่าเป็นเพราะคนอื่น
  • เบิ้ล ถ้าลูกน้องทำผิดมา จะถูกซ้ำเติม หรือลงโทษทันที
  • บล็อก เขาไม่อยากเห็นใครทำตัวโดดเด่น และไม่ค่อยฟังความเห็นใคร

ผลลัพธ์จากการบริหาร ด้วยความกลัว

พนักงานจะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดใดๆ ก็จะซุกไว้ด้วยกลัวความผิด อาจทำให้ปัญหาเล็กน้อยก็ลุกลามไปจนยากที่จะแก้ไข คนที่ไม่อยากถูกตำหนิ ก็คอยระวังตัวแจ จนไม่กล้าทำอะไร เห็นสิ่งที่ไม่เวิร์คก็จะเฉยชา องค์กรจะเป็นยังไงก็ช่าง ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่มีความผูกพันกันในองค์กร ใครทนได้ทน ทนไม่ได้ก็ลาออกไป

เพื่อหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรม 6 บ.” ซึ่งจะเป็นวงจรขาลงของการทำงานและส่งให้เกิดผลเสียมากมาย  จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้บริหารและหัวหน้างาน ควรที่จะเรียนรู้ทักษะการสื่อสารของผู้บริหารยุคใหม่ และนำไปปรับใช้ในการทำงาน

การสื่อสารด้วย “ความรัก”

ผู้บริหารยุคใหม่ จำเป็นจะต้องแก้ปัญหาเรื่องคน ประสานงานให้เกิดการสื่อสารที่ลื่นไหลในองค์กรได้ “ความสัมพันธ์ที่ดี” จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น “เจ้านาย หรือ Boss” ที่เอาแต่สั่งการและตำหนิ ไปเป็น “ผู้หล่อเลี้ยง หรือ Mentor” ที่จะคอยรับฟังและให้การสนับสนุน

ทักษะการสื่อสาร ของผู้บริหารยุคใหม่ ได้แก่

1.การฟังเสียงภายในตนเอง (Inner Listening)

การที่จะรักผู้อื่นได้ ต้องเริ่มด้วยการรู้จัก เข้าใจและยอมรับในตนเองให้ได้ก่อน ดังนั้น ทักษะการฟังเสียงภายในตนเอง จะทำให้ผู้นำคนนั้น เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างถ่องแท้ แล้วจะนำไปสู่ความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างแท้จริง ซึ่งนั่นจะทำให้เขาสามารถมอบความรักและความเห็นอกเห็นใจ ให้กับผู้คนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

2.การฟังเพื่อผลลัพธ์ (Active Listening)

การฟังเพื่อผลลัพธ์ เป็นทักษะที่ช่วยประหยัดเวลาในการฟังได้ อีกทั้งมีประสิทธิภาพอย่างสูง สามารถเก็บประเด็นได้ครบ และช่วยให้อีกฝ่ายได้แก้ปัญหาของตนเองด้วย

ซึ่งการจะฟังแบบนี้ต้องมีทักษะในการตั้งคำถามต่อยอด การสะท้อนอารมณ์ การทวนความ และการจับประเด็น เพื่อให้ผู้พูดรู้ว่า ผู้บริหารกำลังใส่ใจและรับฟัง อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้เค้าแก้ปัญหาและหาทางออกด้วยตนเอง โดยไม่ชี้นำและสั่งการ

3.การสื่อสารด้วยใจกรุณา (Compassionate Communication)

ผู้บริหารยุค AEC ควรมีความมั่นคงในใจและเปิดเผย จะสามารถพูดจากความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริง ออกมาจากใจอย่างตรงๆซื่อๆได้ โดยไม่ปิดบัง ไม่ต้องใช้กลยุทธ์ ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อมหว่านล้อมใดๆ การพูดแบบปากไม่ตรงกับใจ การพูดเป็นปริศนาที่ต้องทิ้งให้ผู้ฟังตีความเอง ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียเวลา

ผู้นำที่ดี มีสติตระหนักรู้ว่า คำพูดที่ตรงไปตรงมาของเขา จะไม่ไปทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เขาจะเลือกใช้คำพูดที่รับผิดชอบในความรู้สึกของตัวเองและไม่กล่าวหาโจมตีอีกฝ่าย

แทนที่จะพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “คุณเอ ทำไมงานที่สั่งไปทำไม่เสร็จ รู้ไหมว่าทำงานล่าช้าแบบนี้บริษัทเสียหาย คุณจะว่ายังไง”

ผู้นำจะเลือกใช้คำพูดที่แสดงถึงความรู้สึกและความต้องการแทน “คุณเอ ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกเครียด เพราะงานที่เราต้องส่งลูกค้าไม่เสร็จตามกำหนด ผมต้องการรักษาเครดิตของบริษัท เราควรทำยังไงดี มีอะไรให้ผมช่วยเหลือบ้างมั้ย”

ผลลัพธ์จากการสื่อสาร ด้วย “ความรัก”

ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในการทำงาน เกิดความรักและผูกพันซึ่งกันและกัน บรรยากาศการทำงานเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานไปด้วยนานๆ อยากเห็นองค์กรเจริญเติบโต มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คอยระวังความผิดพลาดและจุดบกพร่องรั่วไหล มีความคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งดีๆให้แก่องค์กรโดยไม่ต้องสั่ง และจะสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความรัก”แบบนี้ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นต่อไป

ผู้นำในยุคดิจิตอล นอกจากจะมีทักษะในด้านการบริหารจัดการและเทคนิค (Hard Skill) ที่ดีแล้ว จึงต้องมีทักษะในด้านการบริหารคน (Soft Skill) ที่เป็นเลิศ

โดยเฉพาะ “ทักษะการสื่อสารและการฟัง” (Communication & Listening Skill) ถือเป็นทักษะหลักที่ผู้บริหารยุคใหม่ต้องให้ความสนใจและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ จึงจะสร้างแรงบันดาลใจและปลุกศักยภาพในผู้คน และนำพาองค์กรฟันฝ่าความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของกระแสธุรกิจในอนาคตได้ต่อไป

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

www.learninghubthailand.com

หากคุณต้องการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารกับทีมงาน ขอแนะนำหลักสูตร

“Executive Communication : ทักษะการฟังและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารยุคใหม่”

9-10 มิ.ย. นี้ โดย อ.เรือรบ  ดูรายละเอียดคอร์ส คลิกที่นี่

ไดอะล็อคในองค์กร (1)

ในตอนนี้ เราจะมาดูรูปแบบในการทำไดอะล็อคในหน่วยงานหรือองค์กร ไว้ให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจลองนำไปใช้

เพื่อให้พอเห็นภาพจะบรรยายไปตามลำดับเหตุการณ์ พึงระลึกไว้ว่า การนำไปฝึกฝนและปฏิบัติเท่านั้น จึงจะทำให้เราสัมผัสไดอะล็อคได้อย่างแท้จริง แม้การอ่านอย่างตั้งใจ และมีความเข้าใจในทฤษฎีทั้งหมดแล้ว ก็เป็นเพียง 10% ของประสบการณ์จริงเท่านั้น

การจัดสถานที่ ควรเลือกให้อยู่ในพื้นที่สงบปราศจากเสียงรบกวนและมีความสบายเพียงพอ โดยมากหากจะได้ผล จะจัดให้นั่งล้อมกันเป็นวงกลม โดยไม่มีโต๊ะหรือสิ่งขวางกั้นอยู่กลางวง หากเป็นไปได้ให้นั่งกับพื้นหรือบนเบาะรองนั่งเพื่อสร้างความรู้สึกเท่าเทียม โดยที่ไม่มีประธานของกลุ่ม

เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เริ่มใหม่ อาจตั้งผู้มีประสบการณ์ในการทำไดอะล็อคคอยเป็นผู้อำนวยวงหรือเรียกสั้นๆว่า “ฟา (Facilitator) ” เพื่ออธิบาย คอยดูแลกติกาของกลุ่ม และจับประเด็นในการพูดคุย สมาชิกในการพูดคุยอาจเริ่มจาก 4-5 คน ไปจนถึง 20 คน

ระยะเวลาที่ใช้ ควรมีเวลาอย่างต่ำราว 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม

โดยมากชั่วโมงแรกบรรยากาศจะยังอึดอัดและไม่คุ้นชิน (Stress) การสนทนาในวงจะเริ่มเลื่อนไหล (Flow) ในชั่วโมงที่สอง เมื่อเข้าสู่ชั่วโมงที่สาม จะเกิดการใคร่ครวญภายในตน และเริ่มดำดิ่งลงลึกในการค้นหาคำตอบของตัวเอง (Deep Inquiry) และโดยมากจะรู้สึกอิ่มเอมและผ่อนคลาย (Relax) ในตอนจบ โดยไม่จำเป็นต้องตกตะกอนความคิดได้ในทุกครั้งที่ทำ

การเปิดวงไดอะล็อค รอบแรกนิยมเริ่มด้วยการเช็คอิน (Check in)

นั่นคือการพูดแสดงความรู้สึกสดๆในขณะนั้นทีละคน เพื่อเป็นการให้กลับมาสัมผัส รับรู้และมีสติอยู่กับปัจจุบัน อาจพูดถึงความรู้สึกเป็นห่วงเป็นกังวลในขณะนั้นก็ได้ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและสามารถละวางเรื่องราวภาระหน้าที่ต่างๆไว้นอกวงได้ชั่วคราว ให้รู้สึกว่าตนได้วางตำแหน่งหน้าที่ คุณวุฒิวัยวุฒิ ยศฐาหรือฐานะลงไว้ก่อน รู้สึกเท่าเทียมกับเพื่อนร่วมวง รู้สึกเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยในรอบต่อไป

รอบที่สอง พูดตามใจโดยไม่มีหัวข้อ หรือ Free Talk

หลังจากเช็คอินครบทุกคนแล้ว ให้เริ่มผลัดกันพูดทีละคน โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ใครจะสมัครใจพูดก่อนก็ได้ รอให้คนหนึ่งพูดจบก่อน แล้วอาจยกมือพอให้เป็นสัญญาณว่าเราขอเป็นคนพูดต่อไป โดยอยากจะพูดหัวข้อใดก็ได้ตามใจ ไม่จำเป็นต้องพูดหัวข้อเดียวกัน อยากจะเปลี่ยนหัวข้อ ข้ามหัวข้อ เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะความตั้งใจในการคุย เราไม่ได้มาฝึกพูด แต่เรามาฝึกที่จะ “ฟัง”

ใครไม่พร้อมก็ไม่จำเป็นต้องพูด คนที่เหลือก็เป็นผู้ฟังที่ดี ระหว่างที่ฟังนั้น ให้สังเกตอารมณ์ความรู้สึกภายในใจของตน สังเกตสิ่งที่ได้ยินและสิ่งที่เราตีความ การตัดสินถูกผิด ความชอบใจ หรือความไม่ชอบใจ ไม่เห็นด้วย

ยิ่งเราอึดอัดขัดข้อง อยากพูดค้านมากเท่าใด แสดงว่าเราสามารถจับการตัดสินของตนเองได้แล้ว ให้โอกาสตนเองได้ห้อยแขวนคำตัดสินนั้นไว้ก่อน แล้วฟังต่อจนจบ

การสนทนาแบบใหม่เช่นนี้ อาจทำให้อึดอัดและรู้สึกฝืนในช่วงแรก

แต่หากเราทำได้ จะเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้พูดเสมอกัน เป็นการสร้างพื้นที่ที่เท่าเทียมและปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น หากเป็นวงสนทนาเพื่อทำการจัดการความรู้ (KM) ก็จะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้พูดสามารถค่อยๆลำเลียงองค์ความรู้ภายในออกมาได้ เรายังไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะจะปิดกั้นความรู้สึกอยากแบ่งปันออกไป

ยิ่งการหาไอเดียใหม่ๆด้วยระดมความคิด (Brain Storming) โดยใช้วิธีนี้ยิ่งจะมีประโยชน์ เพราะความเห็นเพียงเล็กๆกับเรื่องง่ายๆหรือเรื่องธรรมดาๆ ก็อาจเปิดช่องให้สร้างโอกาสหรือความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราด่วนทำการตัดสินใจหรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใดๆ อาจทำให้ผู้คนเสียความรู้สึก และไม่อยากเสนอความคิดอื่นๆอีกเลยก็เป็นได้

การดำเนินการพูดคุยในวง ก็จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ วนไปเรื่อยๆ จนครบเวลา โดยในตอนหน้า จะอธิบายถึงตอนจบและประโยชน์ของกระบวนการนี้ต่อไป

………………..

(ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)

ไดอะล็อคในองค์กร (2)

ต่อจากตอนที่แล้ว เรากำลังกล่าวถึงการนำกระบวนการไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ซึ่งสิ่งที่แปลกไปกว่าการสนทนาหรือการประชุมทั่วไปก็คือ ในวงไดอะล็อค จะไม่มีหัวข้อในการพูดคุย อีกทั้งไม่จำเป็นต้องตั้งหัวข้อมาก่อน

ความน่าฉงนของบทสนทนาที่ไม่มีหัวข้อ

เราจะพบว่า เมื่อแต่ละคนพูดเรื่องบางอย่างออกมา ตอนแรกอาจดูไม่เกี่ยวกัน ไปคนละทิศละทาง แต่พอผลัดกันพูดวนไปสักรอบหรือสองรอบ อาจมีหัวข้อบางเรื่องที่กลายเป็น “วาระร่วม” หรือความสนใจร่วมในที่สุด เมื่อนั้นก็จะเกิดการเลื่อนไหลอย่างรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

อย่างไรก็ตาม หากเราจะมีจุดประสงค์ที่จะประยุกต์ใช้รูปแบบของการไดอะล็อค มาทำ KM หรือมาประชุมหารือใดๆ ก็อาจตั้งหัวข้อได้เช่นกัน แต่ถ้าหากมีการถกเถียงกันหรือต้องหาข้อยุติด้วยการโหวต หรือคำตัดสินของคนใดคนหนึ่ง เราก็ต้องประกาศและยอมรับการประชุมนั้นว่าได้เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการอภิปราย หรือวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่การไดอะล็อคอีกต่อไป

พูดคุยอย่างเปิดใจ ไม่ด่วนสรุป ห้อยแขวนคำตัดสิน

ในระหว่างที่พูดคุยทำไดอะล็อคกัน หากใครต้องการจะเสนอความคิดที่ตนเองกลั่นกรองหรือตกผลึกได้ ก็ควรพูดในลักษณะที่เป็นความเห็นเฉพาะตน ไม่ยัดเยียดข้อสรุปนั้นให้ใคร ไม่ฟันธง อาจทิ้งท้ายว่า มั้ง รึเปล่า เพื่อเตือนสติตนเองว่า ความคิดของตนนั้นไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปก็ได้

หากเมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่าตนคิดถูกเสมอ เราก็จะปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่ๆ ทั้งยังปิดโอกาสที่จะเข้าใจหรือยอมรับฟังความคิดเห็นที่ต่างออกไป ซึ่งนั่นเป็นชนวนบ่อเกิดแห่งความขัดแย้งระหว่างคู่สนทนา แต่หากเมื่อใดเราห้อยแขวนคำตัดสินได้ รับฟังเขาอย่างเต็มที่ แม้ภายหลังเรายืนกรานความคิดเรา อีกฝ่ายก็ย่อมยินดีจะเข้าใจมากกว่าที่เราปิดใจ รีบเถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่ยังไม่ทันฟังจนจบ ซึ่งล้วนเห็นในบทสนทนาทั่วไปในชีวิตประจำวัน


 

รอบสุดท้าย คือการ Check Out

เมื่อสมควรแก่เวลา ผู้อำนวยวงหรือฟา (Facilitator) ก็จะเชิญผู้ร่วมวงเช็คเอาท์ (Check out) ซึ่งก็คือการพูดถึงคุณค่าที่ตนได้รับจากการพูดคุยในครั้งนี้ รวมไปถึงสิ่งใดๆที่อยากพูดเพื่อให้รู้สึกเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ไม่ค้างคาใจ (Completion)

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากไดอะล็อคกันได้นานและลงลึกพอ สมาชิกในวงจะพบกับความอิ่มเอมใจ เพราะการสนทนานั้นจะเป็นไปอย่างมีคุณภาพ มีคุณค่าและมีความหมาย

เพียงระยะเวลาสั้นๆ เราจะได้รู้จักเพื่อนร่วมวงในมุมใหม่ที่ลึกซึ้งอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน การได้สัมผัสอารมณ์เบื้องลึกและคุณค่าในใจของกันและกัน ทำให้รู้สึกสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น อีกทั้งตลอดเวลาในการทำไดอะล็อคนั้น เราจะได้รับการรับฟังอย่างใส่ใจ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

เพียงแค่การรับฟังอย่างตั้งใจก็เปรียบเสมือนคำชื่นชมและการยอมรับ โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องกล่าวคำเยินยอหรือใช้คำพูดหวานหูใดๆเลย

เมื่อทุกคนเช็คเอาท์ครบแล้ว ฟาก็อาจเชิญทุกคนคารวะให้กัน เป็นแสดงการขอบคุณด้วยการโค้งงามๆในท่านั่งให้แก่กันและกัน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ


มหัศจรรย์ผลลัพธ์ของการไดอะล็อค

ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่ในช่วงเวลาแห่งการสนทนาเท่านั้น โดยมากผู้คนรายงานว่า หลังจากจบการไดอะล็อคแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ เพียงหนึ่งวันหรือสองวัน อยู่ๆพวกเขาก็จะเกิดญาณทัสนะหรืออาการปิ๊งแว้บบางอย่างขึ้นมา และสามารถแก้ไขโจทย์ที่ตนขบคิดไว้มานานก่อนการไดอะล็อคได้

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราต่างมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตและจิตใจใกล้เคียงกัน การสนทนาที่ผ่อนคลายก็นำพาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันอยู่ในวงนั้น ให้เลื่อนไหลเข้ามาสู่จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อมันเพาะบ่มได้ที่ หากมีปัญหาก็ถึงเวลาที่ปัญญาจะเผยออกมา

สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อาจมีปัญญาหาคำตอบได้เลยหากเราคิดเพียงคนเดียว เพราะถ้าหากเรารู้คำตอบอยู่แล้ว หรือหาคำตอบได้เอง นั่นก็จะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง หรือไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่อะไรนัก

แต่ปัญหาชีวิตหรือปัญหาสำคัญที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถขบคิดได้ด้วยตนเอง หากจะเกิดจากการตกผลึกจากกระบวนการคิดร่วมกัน ได้ค้นพบปัญญาญาณร่วม หรือ Collective Wisdom ในวงไดอะล็อคนั่นเอง

( ปรับปรุงจากบทความ วารสารกายใจ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ ส.ค.55)


 

ไดอะล็อค: บริหารงานได้ผล คนเป็นสุข

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นผู้บริหารองค์กร คือ “การฟัง”

มีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการฟังของผู้บริหารลดลง อาจเป็นด้วยเวลาจำกัดและภาระงานที่มาก หรืออาจะเป็นประสบการณ์ ความรู้ ความอาวุโส ทำให้พอฟังยังไม่ทันจบก็รีบตัดบท เพราะคิดว่า “รู้อยู่แล้ว“ ดังนั้นดูเหมือน ยิ่งอาวุโสมาก มิติการฟังยิ่งลดลง เป็นสัดส่วนผกผันกันไป

และคงปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ในองค์กรมีการฝึกทักษะการทำงาน การพูด และทักษะอื่นๆอีกมากมาย แต่สำหรับทักษะการฟังนั้น ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร เรื่องการฟัง ไม่เห็นความจำเป็นต้องฝึกเลย

ผลกระทบที่พบได้ คงจะไม่พ้น “ปัญหาเรื่องคน” ซึ่งปัญหาใหญ่ๆมักจะเริ่มด้วยสาเหตุเล็กๆ เช่น การสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แล้วกลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกันในการทำงาน
ก่อตัวเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ลงรอย นานเข้าเกิดการแบ่งแยกเป็นกลุ่มๆ ส่งผลให้เกิดการขาดประสิทธิภาพการทำงานและการประสานงาน และจบลงด้วยอัตราการลาออกที่เพิ่มสูง

ในแต่ละปีองค์กรต้องสูญเสียคนเก่งและมีความสามารถไป เพราะเรื่องสาเหตุเล็กนิดเดียว คือ “เราไม่ฟังกัน” สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ แต่จะมีทางแก้ไขอย่างไร….


ไดอะล็อค คือ การสนทนาด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้ง และไม่ด่วนตัดสิน

ซี่งเป็นกระบวนการสำคัญ ที่ใช้ในการฝึกทักษะการฟัง เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างทีมงานอีกด้วย มีกรณีศึกษาตัวอย่าง จากผู้บริหารธุรกิจวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลงานชนะเลิศด้านพลังงานระดับอาเซียนถึง 6 ปีซ้อน ผู้บริหารหญิงวัย 59 ปีท่านนี้ มาฝึกไดอะล็อคกับผมอย่างต่อเนื่อง แล้ววันหนึ่งก็เขียนจดหมายมาเล่า ว่าได้นำไปประยุกต์ใช้ในองค์กรอย่างไร ต่อไปนี้เป็นเนื้อความบางส่วนในจดหมายของท่าน

“โดยทั่วๆไปแล้วในการทำงาน เมื่อเราคุยกับลูกน้องเราจะฟังไปคิดไป มีข้อมูลมากมายวิ่งอยู่ในหัว และยิ่งมีตำแหน่งหน้าที่หรือความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมาเกี่ยวด้วย ทำให้ยิ่งต้องคิดหนักไม่เคยได้ตั้งใจฟังจนจบ เราก็มักจะมีข้อมูลที่แน่นหนา พร้อมสวนกลับทันทีที่ได้ยินอะไรไม่ถูกไม่ควร กติกาที่สำคัญในการไดอะล็อคคือ การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน

เพราะในการตัดสินเราจะต้องวิเคราะห์หาเหตุและผล ใช้ความคิดมากในขณะรับฟัง เมื่อได้นำทักษะการฟังจากไดอะล็อคมาใช้ในการทำงาน ทำให้เรามีความช้าลงในการตัดสิน ไม่คอยจ้องแต่จะสอนงานหรือจับผิดอย่างเดียว มีโอกาสได้ฟังความคิดเห็นของลูกน้องจนจบ

เมื่อเราลดการตัดสินความคิดเห็นของพวกเขา ทำให้บรรยากาศในการทำงานผ่อนคลายตามไปด้วย เกิดผลดีคือได้ความคิดเห็นที่ดีๆมากขึ้นหลากหลายขึ้น ลูกน้องเริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้นโดยที่เราไม่ต้องแนะนำมาก มันจึงช่วยลดภาระในการตัดสินใจเพราะเขาจะกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ใจเราโล่งได้ระดับหนึ่ง และถ้าทำได้มากขึ้นใจคงเบาสบายมากขึ้น

ประสบการณ์จากการร่วมวงไดอะล็อค ทำให้เราได้ฝึกความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ได้เห็น สิ่งที่ได้ยิน ก่อนที่จะตัดสิน ด้วยการค้นหาข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจ ก่อนที่จะเชื่อ ทำให้ดิฉันเริ่มระมัดระวังและเตือนตัวเองให้รู้จักแยกแยะ ว่าสิ่งที่กำลังได้ยินนั้น เป็นข้อมูลจากความจริง หรือเป็นความคิดเห็นจากการตีความของผู้พูดเอง ซึ่งเมื่อนำไปใช้ ก็จะทำให้เราสามารถตัดสินใจในสิ่งต่างๆอย่างเป็นกลางมากขึ้น ไม่ลำเอียงเข้าข้างความคิดเห็นฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือกระทั่งลำเอียงเข้าข้างความคิดตัวเอง

ความรู้สึกที่เคยหนักอึ้ง มาจนถึงปลายทางของชีวิตการทำงาน แต่เมื่อได้มาพบหนทางแห่งการฝึกตน ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะนำมาใช้ ในช่วงเวลามีค่าที่เหลืออยู่ คงทำให้ดิฉันได้ก้าวไปในการเดินทางแห่งความสุขบ้างก็เป็นได้”

จากกรณีศึกษาจะเห็นว่า “ทักษะการฟัง” ถือเป็นปัจจัยสำคัญของภาวะผู้นำ

การที่ผู้บริหารปรับทัศนคติและพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถช่วยในการพัฒนาทีมงาน ส่งเสริมให้ลูกน้องคิดเป็นแก้ปัญหาเป็น และภาคภูมิใจในตนเองได้

หากได้มีการนำไดอะล็อคมาประยุกต์ใช้ในองค์กร ถือเป็นนวัตกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสูง นอกจากจะได้ประโยชน์จากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมงานแล้ว จะได้เรื่องการจัดการความขัดแย้ง การบริหารความสัมพันธ์ เป็นการปลูกฝังภาวะผู้นำ ค่านิยมและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในระยะยาว

เรียกว่า งานได้ผล และคนก็เป็นสุข ไปพร้อมๆกัน…

บทความโดย เรือรบ


 

สนใจฝึกไดอะล็อค แนะนำคอร์ส “Dialogue & Deep Listening: ศิลปะแห่งการสื่อสารและการฟัง”

โปรโมชั่นพิเศษ มา 2 จ่าย 1 สำหรับ 10 ท่านแรกเท่านั้น คลิกที่นี่

หลักสูตร In house สำหรับการอบรมในองค์กร คลิกที่นี่

15 ข้อที่คุณควรรู้ ก่อนจะให้คำปรึกษาใคร

หลายครั้งที่เวลามีผู้ที่มาปรึกษาปัญหาต่างๆ กับเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัวหรือคนรัก แล้วเรารู้สึกทุกข์ไปกับเขาหรือรู้สึกไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่นำคำแนะนำของเราไปใช้ ปัญหาจะได้หมดไป จนบางครั้ง การให้คำปรึกษาเพื่อหาทางออกของปัญหา กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก มาดูกันว่าอะไรที่คุณควรรู้ ก่อนจะให้คำปรึกษาใคร

1. ทำตัวเองให้เป็นแก้วน้ำที่ว่างเปล่า

คุณจำเป็นต้องวางอัตตาตัวตนของคุณลงก่อน เพื่อรับฟัง เปรียบเหมือนเทน้ำในแก้วของตนเอง เพื่อรองรับน้ำใหม่จากผู้ขอคำปรึกษา

2. เข้าถึงความรู้สึกมากกว่าคำพูด

คุณต้องตระหนักอยู่เสมอว่า บุคคลตรงหน้า คือผู้ที่กำลังมีความทุกข์ มีปัญหาและต้องการคำตอบเพื่อบรรเทาทุกข์ ดังนั้น จิตใจของเขาย่อมอยู่ในช่วงเวลาที่กำลังอ่อนแอ สับสน และต้องการกำลังใจ

3. เปิดใจรับฟังด้วยความเมตตา

จงตั้งใจฟัง คุณต้องฟังให้ได้ยิน ไม่ใช่แค่เสียง ไม่ใช่แค่รู้ความหมาย แต่คุณต้องเปิดใจรับฟังด้วยความเมตตา และคิดถึงใจเขาใจเรา แสดงให้เขาสัมผัสได้ว่า เขาคือคนสำคัญที่คุณกำลังสนใจฟัง

4. ฟังอย่างลึกซึ้ง

ปล่อยให้เขาพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูด ให้เขาได้บอกเล่าความรู้สึก ให้เขาได้บอกเล่าสิ่งที่คิด เพราะนั่นคือการระบายความในใจ ซึ่งจะทำให้เขาคลายความอึดอัดลงได้

5. ตอบเฉพาะในสิ่งที่รู้จริง

เมื่อคุณรับฟังจนเข้าใจแล้ว จงให้คำแนะนำไปตามสิ่งที่ตนเองรู้ อะไรที่รู้ก็แนะนำไป อะไรที่ไม่รู้อย่าไปคาดเดา ตามความเข้าใจของตนเอง เมื่อไม่รู้ คุณก็บอกเขาไปตรงๆว่า คุณไม่รู้

6. เข้าใจความแตกต่างของบุคคล

แต่ละบุคคลมีข้อจำกัด และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสภาพจิตใจที่ต่างกัน วิธีแก้บางวิธีอาจได้ผลกับคนหนึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่า วิธีดังกล่าวจะได้ผลกับทุกคน ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษา จะต้องดูเป็นรายๆ ไป ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่ผ่านไปแล้วได้

7. ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

อย่าแนะนำในสิ่งที่เป็นอุดมคติ หมายความว่า คุณต้องเข้าใจว่า ทุกคนเป็นมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ หลง มีอ่อนแอ ผิดหวัง เสียใจ ดังนั้น คำแนะนำของคุณ ควรเป็นคำแนะนำที่ปฏิบัติตามได้ ไม่ใช่คำแนะนำในจิตนาการที่ฟังดูดี แต่ไม่อาจใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

8. ทำตัวเป็นพื้นที่ว่าง ไม่ใช้อารมณ์ในการให้คำปรึกษา

ผู้ให้คำปรึกษา ไม่ควรโกรธ ไม่ควรใช้อารมณ์ ไม่ควรยึดติดกับคำแนะนำของตนเอง เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหมายความว่า คุณไม่ใช่ผู้ให้คำปรึกษา แต่คุณคือผู้เพิ่มปัญหาให้ผู้ที่กำลังเดือดร้อนอยู่

9. ให้คำปรึกษาบนพื้นฐานของคุณธรรม

ผู้ให้คำปรึกษา สมควรมีความเข้าใจตนเอง มีความรู้ในด้านที่ตนเองกำลังให้คำปรึกษาอยู่ การให้คำปรึกษา สมควรอย่างยิ่งที่จะอยู่ในกรอบของความดีงาม ไม่ใช้ระบบลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน ผู้ให้คำปรึกษาควรเป็นผู้มีวุฒิภาวะ คุณธรรม และความเข้าใจธรรมดาของโลกเป็นของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น คุณไม่ควรให้คำแนะนำใครในช่วงเวลาที่คุณอยู่ในสภาพจิตใจที่ไม่พร้อมจะให้คำแนะนำ

10. เป็นที่ปลอดภัยและไม่ตัดสิน

การให้คำปรึกษา เป็นคนละเรื่องกับการอวดตน จงให้คำปรึกษาอย่างอ่อนน้อม ถ่อมตน คิดอยู่เสมอว่า เราเองก็เคยผิดพลาด เราเองก็ไม่ได้ดีไปทุกอย่าง และไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง และการที่เขามาขอคำปรึกษา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไร้ความสามารถ หากแต่เป็นธรรมดาที่คนเราจะมีช่วงเวลาที่ไม่สบายใจ และต้องการใครสักคน

11. ให้คำปรึกษาที่มีแบบแผนชัดเจน ไม่เลื่อนลอย

การให้คำปรึกษาที่ดี นอกจากจะให้ทัศนคติที่ถูกต้องแล้ว คุณควรมีแผนการปฏิบัติเพื่อถึงเป้าหมายให้เขาด้วย เช่นคุณบอกว่า ควรปล่อยวาง คุณก็ควรมีขั้นตอนว่า เขาจะไปถึงความปล่อยวางได้อย่างไรหนึ่ง สอง สาม สี่ การให้คำปรึกษาจึงไม่ล่องลอย จับต้องได้ และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

12. รักษาสมดุลระหว่างเหตุผลและความรู้สึก

ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรแนะนำในสิ่งที่ตนเองไม่มีความรู้ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความรู้สึก เพราะเรื่องเหล่านี้มีความละเอียดอ่อนเกินกว่าจะเอาเหตุผลเชิงตรรกะเข้าไปวิเคราะห์ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้การสันนิษฐาน ไม่ควรใช้การคาดเดา ไม่ควรมีการตัดสินในลักษณะฟันธงเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น คุณไม่ได้เป็นผู้เผชิญกับความเสียหายนั้น หากแต่ผู้ที่เผชิญก็คือผู้ที่ขอคำปรึกษา ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องตระหนักเป็นลำดับต้นๆ

13. ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกับสภาพจิตใจ

คำแนะนำต่างๆ ควรเป็นคำแนะนำที่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกกับสภาพจิตใจของเขาในช่วงเวลานั้นๆ และคำแนะนำที่ดีที่สุดไม่มีจริง คำแนะนำจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามบุคคล เหตุการณ์ และสภาพจิตใจ ยิ่งไปกว่านั้น คำแนะนำที่ดีควรมีทั้งทางออก การแก้ และหนทางป้องกันปัญหาครั้งต่อๆ ไปไม่ให้เกิดขึ้นอีก

14. การให้คำปรึกษาที่ดีและง่ายที่สุด คือ การรับฟัง

เมื่อพบว่า ผู้ขอคำปรึกษา มักปรึกษาในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็ให้มีความเข้าใจว่า เขาอาจยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจริงๆ ให้ยุติการให้คำปรึกษา แต่เปลี่ยนเป็นการรับฟังแทน

15. ทำตัวเป็นอ่างน้ำที่รั่ว… รับฟังเสร็จแล้ว ต้องปล่อยวาง

ผู้ให้คำปรึกษาควรระลึกไว้เสมอว่า ผู้ขอคำปรึกษาไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำ และเมื่อรู้ว่า เขาไม่ทำตามคำแนะนำ ก็ไม่สมควรโกรธ แต่ควรปล่อยวาง บนพื้นฐานความเข้าใจว่า ทุกคนย่อมมีความคิด ชีวิต รวมถึงแนวทางการตัดสินใจเป็นของตนเอง นอกจากนี้ผู้ให้คำปรึกษา ควรน้อมเอาปัญหาต่างๆ ของผู้ขอรับคำปรึกษามาพิจารณา จนเกิดเป็นปัญญาของตนเอง นำไปสู่การเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่น การให้คำปรึกษาต่างๆ จะต้องไม่ย้อนกลับมาสร้างความทุกข์ใจให้ตนเอง ควรรักษาจิตใจของตนเองให้มีความเบิกบานอยู่เสมอ ควรระลึกเสมอว่า ทุกคนมีวาระกรรมเป็นของตนเอง เมื่อช่วยเหลือจนถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องปล่อยวางอย่างถึงที่สุดเช่นกัน

เครดิตบทความโดย พศิน อินทรวงค์ https://www.facebook.com/Talktopasin


คอร์ส “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

หลักสูตร 1 วัน ที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิด เปลี่ยนชีวิตด้วยการฟัง สร้างความสุข และความสำเร็จในชีวิต ด้วยการฝึก “ทักษะการฟัง” เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่แท้จริงต่อกัน

ดูรายละเอียดคอร์สนี้ คลิกเลย —> ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save