4 หลุมพรางของการฟัง ที่บ่งบอกว่าเรายังฟังไม่เป็น

“ยิ่งคุยกันมากขึ้น ทำไมเรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

บทความนี้ ผมจะเล่าถึง 4 หลุมพรางของการฟัง ที่คนเรามักจะทำผิดพลาด ทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้คน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์  ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ปัญหาการทะเลาะกันในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนมีสาเหตุหลักๆมาจาก “ปัญหาในการฟัง” ทั้งสิ้น

น่าแปลกที่หลายคนคิดว่า การฟังเป็นเรื่องไม่สำคัญ จึงไม่ค่อยได้ใส่ใจ อาจเพราะเห็นว่าเป็นความสามารถตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทั้งๆที่ “การฟัง กับ การได้ยิน” นั้นแตกต่างกัน อย่างสิ้นเชิง

การฟังที่แท้จริง ต้องอาศัย “สติ” และการ “เอาใจใส่”

ส่วนการได้ยิน เกิดขึ้นเองที่หู โดยเราไม่ต้องพยายามอะไร

ดังนั้น เรามีความสามารถในการได้ยิน แม้ว่าจะไม่เข้าใจในเรื่องๆนั้นเลย เป็นเหตุให้การสนทนาในชีวิตประจำวัน หากเราไม่ได้สังเกตตัวเอง เราก็อาจจะแค่ได้ยิน แต่ไม่ได้รับฟังอีกฝ่ายจริงๆ นั่นจึงเป็นบ่อเกิดแห่งความไม่เข้าใจกัน กลายเป็นปมความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะ และเลิกคบหากันในเวลาต่อมา

คุณฟังเก่งแค่ไหน แน่ใจไหมว่าคุณฟังเป็น ?
ต่อไปนี้เป็น 4 หลุมพรางของการฟัง ที่เรามักจะพลาดกัน ใครที่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่ฟังเก่งอยู่แล้ว หรือคิดว่าการฟังไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจ ลองพิจารณาดูว่าที่ผ่านมา คุณมีการฟังอย่างไร


1.ฟัง แล้วคิดดักหน้า

หลายคนมักจะคิดว่า การฟังที่ดีต้องคิดตามไปด้วย จะได้เข้าใจได้ดีขึ้น อันที่จริงการคิดก็ไม่ผิด แต่หลายครั้งที่ฟัง เรามักเผลอ “คิดไปดักหน้า” หมายถึง คิดวิเคราะห์ไปล่วงหน้าแล้ว ว่าคนพูดจะพูดอะไรต่อไป ถ้าเป็นเรา ในสถานการณ์นี้จะทำอย่างไรดี เตรียมคำแนะนำ หาทางออก ไว้ให้เค้าเสร็จสรรพ

โดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะที่เราคิดมโนไปนั้น ก็ได้พลาดสิ่งที่เค้าต้องการสื่อสารอย่างแท้จริงไป

ส่วนบางคนก็ขี้สงสัย เมื่อฟังไม่ทันไร ก็ชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต หรือออกความคิดเห็นส่วนตัว จนกระทั่งผู้พูด ไม่ได้พูดสิ่งที่เค้าต้องการเลย

Tips: ฟังด้วยความว่าง อย่างมีสติรู้ตัว ไม่ขัด ไม่แทรก ปล่อยให้ผู้พูด พูดจนจบ แล้วหากมีคำถามจึงสอบถามทีหลัง ไม่ด่วนให้คำแนะนำ หากคนพูดไม่ได้ร้องขอ

2.ฟัง แล้วจมกับอารมณ์

ข้อนี้คนเซนซีทิฟหรือใจอ่อนมักจะเป็น นั่นคือ เมื่อมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมาระบายความทุกข์ให้ฟัง เราก็จะจมไปกับเรื่องราว อารมณ์ก็จะเอ่อขึ้นมาแบบท่วมท้น อินไปกับเรื่องนั้น

และยิ่งหากเรามีประสบการณ์ใกล้เคียง ทำให้เราย้อนนึกถึงอดีต เรายิ่งจมดิ่งไปกับเรื่องของตัวเอง จนไม่ได้รับฟังอย่างแท้จริง

การที่เรามีอารมณ์ร่วม และแสดงความเห็นอกเห็นใจในการฟัง ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หลายๆครั้ง อาการอินของเรา หากมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า โกรธ เกลียดที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่รุนแรงเหล่านี้ย่อมจะมาบดบังการฟัง และครอบครองพื้นที่ในใจ จนทำให้เราละเลยผู้พูดไป อยู่แต่เรื่องของตัวเอง

Tips: เมื่อรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วมอย่างมากในการฟัง ให้กลับมาระลึกรู้ อยู่กับลมหายใจเข้าและออก หรือรับรู้ถึงการเต้นของหัวใจเรา ใช้สติแยกแยะว่า เราสามารถรับฟังเค้าได้ แสดงความเห็นใจคนข้างหน้าได้ โดยที่ไม่ต้องจมไปกับอารมณ์นั้น

มองเห็นความทุกข์ของเรื่องราวนั้นว่าเป็นเพียงอดีต ที่แยกจากคนพูด แยกจากตัวเรา แล้วเราก็จะสามารถฟังได้ โดยที่ไม่ต้องไปเป็นความทุกข์เสียเอง 

3.ฟัง แบบใจลอย

บางคนมักจะบอกกับตัวเองว่าเป็นคน “สมาธิสั้น” ใครพูดนานๆ จะไม่เข้าใจ พอฟังได้นิดเดียว ใจก็จะลอยไปเรื่องอื่น

แต่ปรากฎว่าหลายคนที่พูดแบบนั้น สามารถเล่นเกมหรือแชทได้นานๆ คำว่าสมาธิสั้นนั้น อาจจะดูเป็นเพียงข้ออ้างในการฟังเกินไป

คนที่ใจลอยบ่อยๆเมื่อต้องฟังนั้น หากลองวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นไปได้ 2 กรณี คือ 1. ไม่สนใจคนที่พูด 2. ไม่สนใจในเรื่องๆนั้น

ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ หากแม้ยังนั่งฟังอยู่ กริยาภายนอกดูเหมือนว่าฟัง แต่หากสังเกตด้วยการมองตา ก็จะรู้เลยว่า ใจเค้าไม่ได้อยู่กับตัวแล้ว และหากถามถึงเรื่องราวที่เพิ่งคุยกันไป เค้าจะรีบบอกปัดว่าเข้าใจ แต่ไม่สามารถจับประเด็นได้เลย

Tips: ในกรณีนี้ อยู่ที่ “ความพร้อม” ในการฟัง หากเราไม่สนใจจะสนทนาในเรื่องนั้น ก็ควรบอกอีกฝ่ายไปตรงๆว่าเราติดธุระอะไรอยู่ หรือเราไม่สะดวกคุยตอนนี้ 

การทำทีว่าฟัง แต่จริงๆแล้วไม่ได้ใส่ใจฟังนั้น จะสร้างความรู้สึกแย่ให้กับผู้พูดอย่างมาก ซึ่งคนที่พูดเค้าจะรู้สึกได้ว่า จริงๆแล้ว เราฟังเค้าอยู่หรือเปล่า

4.ฟัง แบบมีธงในใจ

กรณีสุดท้าย คนที่ใจร้อนมักจะเป็นกันมาก หากไม่สังเกตให้ดี ก็จะมองไม่เห็นตัวเองเลย การฟังแบบมีธงในใจ จะเกิดขึ้นเมื่อเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าผู้พูด หรือรู้อยู่แล้วว่าผู้พูดจะพูดอะไรต่อ

ทำให้เพียงเริ่มบทสนทนาได้ไม่นาน ก็จะปิดการฟังไป เพราะได้ตัดสินและมีคำตอบในใจอยู่แล้ว ไม่ว่าอีกฝ่ายจะพูดต่อไปอย่างไร ก็จะไม่ได้เข้าไปในใจเลย รอเพียงแต่ว่าเมื่อไหร่จะพูดจบ ตัวเองจะได้โอกาสพูดบ้าง

หลายๆคนอาจจะรู้สึกว่า เสียวเวลา ไม่อยากรอให้อีกฝ่ายพูดจบ เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ในเมื่อเรามีคำตอบที่ชัดเจนในใจอยู่แล้ว จึงมักขัดขึ้นมากลางทางเลย แย่งพูดโดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่หากลองคิดให้ดี ในแต่ละครั้งสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปตามบริบทและเวลา การรีบด่วนตัดสินนั้นย่อมมาจากข้อมูลเก่าที่เรารับรู้ในอดีตเท่านั้น เราจึงอาจพลาดข้อมูลสำคัญบางอย่างไป ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เพราะไม่ได้รับฟังจนจบนั่นเอง

Tips: เมื่อรู้สึกอึดอัด ไม่อยากฟัง ให้พิจารณาว่าเรากำลังตัดสิน หรือมีธงในใจอยู่แล้วใช่ไหม ถ้าหากใช่ ให้ลอง “ห้อยแขวนคำตัดสิน” นั้นๆไปก่อน แล้วกลับมามีสติอยู่กับการฟังใหม่อีกครั้ง

พยายามรับฟังให้ลึกซึ้งกว่าเนื้อความ ให้ลึกลงไปถึงอารมณ์ ความเชื่อ มุมมองของผู้พูด ก็จะทำให้เราเข้าใจผู้พูดได้ดีขึ้น

หลุมพรางในการฟังทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องที่หากไม่ตระหนักรู้หรือสังเกตตัวเองให้ดีพอ เราจะคิดว่าเราฟังเป็นอยู่แล้ว แต่ที่ไหนได้ เราไม่เคยฟังเลย

บทความนี้ ทำให้เรารู้ว่า “การฟัง เป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝน” และเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจมองข้ามไม่ได้

หากเรามีทักษะการฟังที่ดี ก็จะมีความเข้าใจอีกฝ่าย เราก็จะรู้ว่า ควรจะพูดกับเค้าอย่างไร

การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีคนพูดและมีคนรับฟังหากเราสนใจฝึกฝนแต่ทักษะการพูด ละเลยฝึกทักษะการฟัง ทำให้การสื่อสารขาดความสมดุล

และจะส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน การเป็นผู้นำ มีปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว อย่างแน่นอน


เรียบเรียงโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง

อ้างอิงจากหนังสือ “เอนหลังฟัง: ศิลปะการฟังอย่างลึกซึ้ง” โดย ภินท์ ภารดาม 

ท่านที่สนใจ ฝึกทักษะการฟัง ขอแนะนำหลักสูตร ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต
พบกัน 11 มิ.ย.นี้ อบรมโดย เรือรบ ดูรายละเอียด คลิก

9 วิธีเพิ่มทักษะการฟัง สำหรับคนทำงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง

listenatwork

การฟัง หรือ Listening ถือเป็นหนึ่งทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งของผู้ที่กระหายในความสำเร็จของชีวิต เพราะเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งนั้น สามารถเริ่มต้นเรียนรู้ได้จากทักษะแรกสุดที่ธรรมชาติให้มา นั่นคือการฟังนั่นเอง ยิ่งถ้าคุณทำงาน หรือสร้างธุรกิจ (Start Up) ด้วยแล้ว การฟังยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เพราะหากการฟังไม่ดี เกิดการเข้าใจผิดหรือตัดสินใจผิด ปัญหาจะเกิดกับธุรกิจทันที

ดังนั้นเพื่อให้ทักษะการฟังพัฒนาขึ้น “9 วิธีการเพิ่มทักษะการฟัง” ต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณ มีพัฒนาการที่ดีด้านการฟัง และที่สำคัญ อาจกลายเป็นจิ้กซอว์ สำคัญในการสร้างความสำเร็จของคุณได้ด้วย

1.เรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน

ผมเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เราอาจลืม หรือไม่ได้นึกถึงมากที่สุด นั่นคือ จงเริ่มต้นที่การเรียนรู้ที่จะฟังเสียก่อน เราฟังเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้ถอดรหัสของเสียงเหล่านั้นกลายเป็นข้อมูลเพื่อการนำไปใช้ เช่น ฟังการสอน  ฟังวิธีการในการทำอาหาร เสียงช่วยให้เราถอดรหัสได้ง่ายเพิ่มขึ้น

2.คิดตามเสมอที่คุณฟัง

อย่าฟังเรื่องใดๆแบบปล่อยผ่าน แต่จงฟังอย่างตั้งใจ และพยายามตรองเรื่องที่เราฟังไปพร้อมๆกับเสียงที่ได้ยิน การที่เรานึกถึงสิ่งเหล่านั้นไปด้วย จะช่วยให้สมองได้รับการสนับสนุนให้กระตุ้นความคิดในเรื่องนั้นๆอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และมันจะกลายเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับคุณ

3.ทวนความเป็นช่วงๆ ช่วยคุณได้

เพื่อให้การจดจำในสิ่งที่คนอื่นพูด เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว หากคุณสนทนากับบุคคลดังกล่าวอยู่ ลองเปลี่ยนเป็น การพูดสลับออกมาจากที่คุณฟังด้วย โดยพูดในเรื่องที่ผู้พูดคนนั้นได้ถ่ายทอดบทความออกมา ผมมักทำแบบนี้อยู่เสมอๆ และเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก คือผมสามารถจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากเลยครับ

4.ฝึกสมาธิของคุณเป็นประจำ

อย่าดูเบาในเรื่องของสมาธินะครับ มีงานวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์ และด้านจิตวิทยาทั่วโลกมากมาย ที่สนับสนุนให้เรารู้ว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำอย่างน้อย 15 นาทีทุกวัน สามารถพัฒนาขีดความสามารถด้านความจำของคุณได้อย่างมาก ดังนั้นเมื่อมีการค้นพบเทคนิคง่ายๆอย่างนี้แล้ว ก็อย่ารอช้า ฝึกสมาธิเลยครับ หรือเลือกเข้าคอร์สการอบรมเรื่องโยคะก็ได้

5.ลองฟังเสียงธรรมชาติและแยกเสียงสิ

ผมว่าเทคนิคข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ที่ฝึกฝนทักษะในเรื่องของการฟังอยู่ไม่น้อย นั่นคือ คุณลองหาโอกาสในการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะหากสถานที่นั้นเป็นสถานที่แบบธรรมชาติ เพื่อที่ว่า ผมอยากให้คุณลองฟังดูเสียของธรรมชาติ เสียงต้นไม้ เสียงลมพัด หรือเสียงน้ำตกที่ไหลรินอย่างอ้อยอิ่ง ตามลำธารต่างๆ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า ถ้าเราสามารถฟังและแยกเสียงเหล่านั้นได้ดี จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการฟังอย่างเหลือเชื่อเลยทีเดียว

6. การอบรมเรื่องการฟัง ช่วยได้มาก

อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่จำเป็นนะครับ หากคุณมีปัญหาว่า ไม่สามารถเข้าใจสารที่เจ้านายสั่งงานคุณเป็นประจำ หรือรู้สึกว่าตนเองนั้นค่อนข้างมีสมาธิสั้นในการฟังแล้ว จงเริ่มเปลี่ยนแปลงวิถีของตนเองอย่างง่ายๆด้วยการเรียนรู้ทักษะการฟังที่ถูกต้อง จากวิทยากรที่มากด้วยความสามารถอย่างนี้จะดีกว่า การเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นทักษะการฟังจากศูนย์

หลักสูตรสอนเรื่องการสื่อสารและการฟัง สำหรับคนทำงานในองค์กร เช่น “Communication for AEC Leadership: ทักษะการสื่อสารสำหรับผู้บริหารยุค AEC”

7.จดด้วยทุกครั้งที่คุณฟัง

สิ่งหนึ่งที่ผมนั้นชื่นชอบมากๆ เวลาเข้าไปฟังการอบรมหรือสัมมนานั่นคือ ยิ่งถ้าเรานั้นฟังมากเท่าใด สิ่งที่ตามมาคือปริมาณของข้อมูลที่ดีๆอาจล้นทะลัก จากคลังสมองของเรา ทำให้เราพลาดในการเลือกใช้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว อย่ารอช้า เตรียมสมุดจดไปสักเล่ม และบันทึกเรื่องราวต่างๆไปด้วยเสมอในระหว่างที่คุณฟัง การทำอย่างนี้จะทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องของข้อมูล ที่เกินกว่าจำนวนที่คุณรับรู้ได้อย่างแน่นอน

8. บันทึกผลของการฟังไว้บ้าง

หากเป็นไปได้ ผมแนะนำว่า คุณควรจดบันทึกผลของการฟังลงในสมุดเสียหน่อย เช่นวันนี้ฟังเรื่องอะไร และสามารถฟังได้นานกว่าปกติมากน้อยแค่ไหน ผมว่าการทำอย่างนี้ช่วยให้เราเห็นพัฒนาการและความก้าวหน้าของการฟังได้ชัดเจนขึ้นมากเลยนะครับ

9.เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนาทักษะด้านการฟังได้

เทคนิคข้อที่เก้านี้ อาจเป็นเทคนิคที่หลายๆคนมองข้าม หรืออาจเกิดความไม่มั่นใจว่า มันจำเป็นจริงหรือ ผมยังจำได้ตอนที่ผมเริ่มฝึกทักษะการฟังใหม่ๆ และสามารถฟังเรื่องราวของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่องเกินกว่า 1 ชั่วโมง ในตอนนั้นผมคิดเสมอว่า มนุษย์เราจะสามารถฟังอะไรได้ต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้นได้หรือไม่ ซึ่งท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่า ผมต้องฟังอะไรได้ยาวกว่านั้น และเมื่อผมเชื่อ! ในที่สุดผมก็ทำได้ และนั่นควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณด้วยเช่นกัน


เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 9 วิธีการอย่างง่ายๆในการเพิ่มทักษะด้านการฟัง ที่เราสามารถนำแนวทางข้างต้นต่อไปนี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานของเราได้จริง และถ้าเราหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ผมมั่นใจว่า ทักษะด้านการฟังของคุณจะต้องดีขึ้นอย่างมากอย่างแน่นอนครับ

บทความโดย Learning Hub Thailand

พัฒนาทักษะการฟัง อย่างก้าวกระโดดใน 1 วัน ด้วยหลักสูตร “Dialogue & Deep Listening : ศิลปะการสื่อสารและการฟัง” โดย เรือรบ ดูรายละเอียดคลิก

4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง

deeplistening

“โลกออนไลน์ ทำให้เราพูดได้มากขึ้น แต่กลับฟังกันได้น้อยลง

เทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน ที่ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้การสื่อสารรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทำไม “ยิ่งคุยกันมากขึ้น เรากลับยิ่งเข้าใจกันน้อยลง”

ทุกคนล้วนคุ้นชินกับสื่อสารออนไลน์ โทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ห้า ที่ขาดไม่ได้ ทุกคนมีมือถือใช้ ตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงคุณปู่วัยเกษียณ 

โซเชียลเน็ตเวิร์ค แอพพลิเคชั่น เกม และคลิปวีดีโอออนไลน์ ทำให้เราต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เกิดพฤติกรรม“สังคมก้มหน้า” 

 “การฟัง” ที่มีให้กันน้อยลง ย่อมก่อให้เกิดปัญหา “ความล้มเหลวในการสื่อสาร” ที่ทำให้เกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคมมากมาย 

คุณสังเกตเห็นปัญหาเหล่านี้รอบๆตัวบ้างไหม ?

  • คนคุยกันน้อยลง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างกัน จึงเข้าใจผิดกันง่ายขึ้น
  • คนที่ยึดความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่รับฟังความเห็นที่แตกต่าง
  • การด่วนสรุป ด่วนตัดสินอย่างรวดเร็ว มักทำให้สถานการณ์แย่ลง
  • ไม่อยากทะเลาะ การเก็บงำไม่พูด ทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลาย
  • เบื่อที่จะพูด จึงหลบอยู่กับโลกส่วนตัว ยิ่งทำให้อีกฝ่ายคิดไปเอง
  • หลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะไม่มีใครเข้าใจ จึงหันหาโลกออนไลน์

ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ ด้วยการหันกลับมาฝึก “ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง” 

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) คือ การฟังด้วยหัวใจ ประหนึ่งว่าโลกทั้งใบ ณ ขณะนั้น มีเขาอยู่ตรงหน้าเราเพียงคนเดียว

ฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังให้ลึกไปกว่าแค่คำพูด ได้ยินสิ่งที่เค้าไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความเชื่อ ทัศนคติ และคุณค่าที่ยึดถือ โดยเราจะไม่ตีความ ไม่ด่วนตัดสิน ประเมินค่าว่าถูกหรือผิด จะเป็นเพียงพื้นที่แห่งการฟังล้วนๆ อยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น

หลายคนคงเริ่มรู้สึกกังวลว่า การฟังแบบที่ว่านี้ ในทางปฏิบัติจะทำยากมาก แต่เราก็สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะนี้ได้ โดยมีเทคนิค 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สังเกตปฏิกริยาทางกาย

ขณะที่ฟังให้สังเกตความรู้สึกและสังเกตปฏิกิริยาของร่างกายไปด้วย ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไรอยู่ ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบสนองกับคำพูดนั้นๆอย่างไร

เช่น เมื่อได้ยินคำพูดไม่ถูกหู อยู่ๆก็หายใจติดขัด รู้สึกร้อนผ่าวๆที่หน้า เพียงรับรู้ว่าอาการนั้นเกิดขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แค่ให้รู้สึกตัวก็พอ ไม่ต้องพยายามไปกดข่ม

พยายามใช้ลมหายใจช่วย หายใจเข้าลึกยาว หายใจออกผ่อนคลาย สัก 2-3 รอบ หลังจากนั้นก็กลับมาฟังต่อ เทคนิคนี้จะทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะได้มากที่สุด 

Tips: ฟังด้วยความผ่อนคลาย โดยไม่ขัด ไม่ถาม ไม่แทรก จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพื่อให้เราได้รับรู้ข้อความนั้นทั้งหมด อย่างแท้จริง

2. สังเกตอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เมื่อใดมีใครพูดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจ ไม่อยากได้ยิน หรือกระทั่งกดปุ่มให้เราจี๊ดขึ้นมา เราอาจสังเกตร่างกายไม่ทัน เพราะมันเกิดอารมณ์รุนแรงขึ้นแล้ว

สังเกตว่า หูจะปิด จะไม่ได้ยินเสียงพูดของเค้า จะมีแต่เสียงโวยวายในหัวมากลบทับ เราจะอยากโต้ตอบหรือขัดแย้งขึ้นมาทันที

 Tips: ติดตามความอึดอัดขัดเคืองใจที่เกิดขึ้นนั้นไป ให้ยอมรับในความรู้สึกนั้น แล้วจงเผชิญหน้ากับความแตกต่าง บอกกับตนเองว่า เราจะค้นหาสาเหตุของความไม่พอใจนี้ว่ามีที่มาจากอะไร เพื่อพัฒนาทักษะการฟังของเรา 

3. ห้อยแขวนคำตัดสิน 

ที่ผ่านมาเมื่อฟังอะไรก็ตาม ในทันทีจะเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งโดยมากก็มาจากความทรงจำเก่าของเรา ซึ่งมันบรรจุแบบแผนการตอบสนองเดิมๆไว้ เช่น พอได้ฟังเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะรู้สึกน้อยใจ ไม่พอใจ หรือเสียใจในทันที เราจึงไม่ได้โอกาสที่จะมีการตอบสนองต่อการฟังในรูปแบบใหม่ๆเลย

สังเกตว่าเรามีการตัดสินผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างเป็นอัตโนมัติ อยู่เสมอ

เมื่อเกิดความไม่พอใจ หากสามารถสังเกตปฏิกริยาทางกาย หรือสัมผัสอารมณ์ที่ขึ้นมาได้ ให้เรารู้ว่า เราได้ตัดสินเค้าไปแล้ว เราไม่อาจห้ามการตัดสินได้ แต่เราสามารถห้อยแขวนมันไว้ชั่วคราว แล้วฟังคนพูด พูดให้จบก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา ว่าจะสื่อสารกลับไปอย่างไร

ความเร็วในการคิดและตอบโต้ อาจกลายเป็นความวู่วาม ที่ทำให้เราเสียใจทีหลังได้

 Tips: ฝึกห้อยแขวนคำตัดสิน ฝึกที่จะช้าลงในการตอบโต้  ทำให้เราหยุดยั้งสถานการณ์แย่ๆที่อาจเกิดขึ้นเพราะความวู่วามได้ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนการตอบโต้อย่างอัตโนมัติ ให้เป็นการตอบสนองที่มึคุณภาพ

 4. เคารพ และเท่าเทียม

ตราบใดที่เรามองว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด แล้วเราเป็นผู้ถูก ด้วยทัศนคตินี้ เราไม่อาจเข้าใจเค้า หรือทำให้เค้าเข้าใจเราได้เลย

หากเราต้องการให้บทสนทนาครั้งนี้ เป็นไปได้ด้วยดี จึงต้องวางเรื่องถูกผิดไปก่อน

รับฟังเค้าด้วยความเท่าเทียม และเคารพในมุมมองที่แตกต่าง

เมื่อเราฟังเค้าพูดจบ บางครั้งเราจะรู้สึกเมตตาสงสารเค้า หรือเห็นที่มาของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน กระทั่งเห็นสมมติฐานเบื้องลึก ความเชื่อที่เค้าไม่ได้พูดออกมา

ด้วยความเข้าใจถึงรากแบบนี้เท่านั้น จึงจะเกิดพื้นที่ในการพูดคุย ทำความเข้าใจต่อกันได้ง่ายกว่า

เมื่อเกิดการตัดสิน ให้ฟังเสียงในหัวที่เราวิพากษ์วิจารณ์ตัวเค้า หรือสิ่งที่เค้าพูด แล้วถามตัวเองอย่างใคร่ครวญว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคืออะไร ? สิ่งที่เราตีความไปเองคืออะไร ? 

ระลึกไว้ว่าสิ่งที่เป็นความจริงกับสิ่งที่เราตีความ มันแยกออกจากกันได้เสมอ

Tips: ให้ใช้การใคร่ครวญและตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้เรารู้จักตนเองมากขึ้น มากกว่าจะไปสนใจว่าเราต้องตอบโต้อย่างไรเพื่อรักษาจุดยืนของเรา หรือแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูก

การฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับมันหรือไม่

เมื่อฝึกใหม่ๆ เราอาจพลาดไป เผลอสวน เผลอตอบโต้ ก็ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง  หากได้มีโอกาสฝึกฝนมากเท่าใด เราก็จะสามารถพัฒนาทักษะการฟังของเราได้มากขึ้นเท่านั้น

ขอให้ใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาที ตั้งใจกับตัวเอง ว่าเราจะฟังคนตรงหน้าอย่างลึกซึ้ง เพียงเท่านี้เราก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายในชั่วขณะนั้น 

แล้วเราจะพบว่าคนตรงหน้า จะคุยกับเราอย่างสบายใจ และหลังจากคุยกันเสร็จ เค้ารู้สึกดีมากๆ แม้ว่าเราไม่ได้พูดอะไรเลยก็ตาม

และนี่คือ “4 เทคนิค ฝึกการฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งหากเราฝึกได้ดีขึ้น จะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆด้าน

เพียงแค่พัฒนาทักษะการฟัง จะทำให้เรา ได้พัฒนาจิตใจไปด้วยพร้อมๆกันด้วย

เมื่อเราฟังคนทุกคนได้มากขึ้น อัตตาของเราก็จะลดลง ความขัดแย้งลดลง ความสุขก็จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บทความโดย “เรือรบ” ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสาร

หากสนใจฝึก การฟังอย่างลึกซึ้ง ขอแนะนำหลักสูตร “ฟังเป็น เปลี่ยนชีวิต”

วันที่ 11 มิ.ย.59 นี้ ครั้งสุดท้ายของปี อบรมโดย “เรือรบ” ดูรายละเอียดที่นี่

หลักพื้นฐาน 3 ประการ ของไดอะล็อค

“Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา” คือ กระบวนการสนทนาที่เน้นการฟังอย่างลึกซึ้ง ใคร่ครวญ และไม่ด่วนตัดสิน

หลายท่านคนที่เคยไปเข้าวงไดอะล็อค จะรู้สึกว่า มันก็คือการตั้งวงสนทนาแบบนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้ว่าการไดอะล็อคส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมกันเป็นวงกลมในการพูดคุย ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียง “รูปแบบ” ภายนอกเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับความพิเศษของกระบวนการไดอะล็อคอยู่มากทีเดียว

การที่เราจะเริ่มฝึกสนทนาแบบไดอะล็อคนั้น สำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องสามารถ “แยกแยะ” ความแตกต่างระหว่างการไดอะล็อค กับการสนทนารูปแบบอื่นๆได้ ซึ่งในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน

Deep Listening – การฟังอย่างลึกซึ้ง อย่างใส่ใจและไม่ตัดสิน

บทสนทนาทั่วไป แม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ และถ้าเกิดมีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็วจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ “ค้นหาจุดอ่อน” ที่เราจะเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที

ในขณะที่การฟังในวงไดอะล็อคจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจและโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นค่อยๆห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังเค้าต่อจนจบ ทักษะนี้เรียกว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งต้องอาศัย “สติ” และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในการที่จะสามารถใส่ใจรับฟัง “สิ่งที่เค้าไม่ได้พูด” อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังแบบนี้ จึงไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ “รับรู้” ผู้พูดได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเห็นอกเห็นใจเค้าจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเค้า โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเราเข้าไปเป็นมาตรฐาน

การพูดคุยแบบอื่นนั้น มักจะลงเอยที่มี “ผู้แพ้ และผู้ชนะ” “มีคนถูก คนผิด” แต่สำหรับไดอะล็อคแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา “ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆกัน”

เนื่องจากในวงไดอะล็อค ให้ความสำคัญกับ “การค้นหาความเข้าใจร่วม” ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูกผิด หรือการให้ความสำคัญของความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวง และจะทำให้ไม่เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

Respect & Equalityความเท่าเทียม โดยปราศจากอิทธิพลใดๆครอบงำ

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อค ต่างมีข้อตกลงว่า ภายใต้การล้อมวงนั้นแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากก็ตาม

สภาวะแห่งความเท่าเทียมกัน จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโสหรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อคได้

Unfolding Assumptions – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อคกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อค พร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนขึ้นมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้ว่าจะรู้สึกเปราะบางหรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก “ตัดสิน” จากคนอื่น แต่จะกลายเป็นการสร้าง “พื้นที่แห่งความจริง (moment of truth)” ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้และพร้อมเปิดใจของตนเองเช่นกัน

ในวงไดอะล็อค ไม่ได้จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความสุนทรียะ หรือให้รู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกจะทำให้เราได้เคลียร์ความในใจต่อกัน และไม่ต้องเดาหรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิดหรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่า ในบางครั้งการเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูมีอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่นและทำให้บางคนมีอารมณ์ที่ขึ้นสูงได้ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เป็นไปเพื่อทำร้ายกัน  นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากเรายังไม่รู้สึกไว้วางใจเต็มที่ ก็สามารถค่อยๆเปิดเผยความคิดของเราไปทีละชั้นๆได้ วงไดอะล็อคก็จะค่อยๆเติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กันและกัน ด้วยความเคารพให้ความเท่าเทียมกัน มีการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสินกัน  ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราก็สามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ


หากจะตอบคำถามในบรรทัดแรก ไม่ว่ารูปแบบการนั่งสนทนาจะนั่งพื้นเป็นวงกลมหรือไม่ สมาชิกจะพูดคุยกันอย่างออกรสเพียงใด หากองค์ประกอบ 3 ข้อตามที่กล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น หรือยังไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นการไดอะล็อค

อย่างไรก็ตาม ในทุกบทสนทนา โดยไม่ทันรู้ตัว ก็อาจจะกลายเป็นการไดอะล็อคได้อย่างเป็นธรรมชาติได้ หากผู้ร่วมวงสามารถเปิดใจรับฟังกันและกัน เคารพในความคิดของผู้อื่นอย่างเท่าเทียม และเปิดใจจนเกิดการสนทนาที่ลึกซึ้งได้

ผลลัพธ์ของการพูดคุยครั้งนั้น จะสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สานสายสัมพันธ์ของผู้คน และประสานพลังความคิดให้เห็นมิติใหม่ๆ เกิดเป็นความเข้าใจร่วมที่สอดคล้องกันได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

หากต้องการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง และมีประสบการณ์เข้าร่วมวงไดอะล็อคอย่างแท้จริง ขอแนะนำหลักสูตร Dialogue & Deep Listening โดย อ.เรือรบ

Deep listening การฟังอย่างลึกซึ้งคืออะไร?

201003-omag-oprah-thich-nhat-hanh-600x250

ถอดความและเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ หลวงปู่ ติช นัท ฮันน์ ในรายการของ โอปรา วินฟรีย์

การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการฟังที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์จากใจของผู้อื่นได้ หรือจะเรียกว่า การฟังด้วยความเมตตาก็ได้ เธอจะฟังด้วยวัตถุประสงค์เดียวก็คือ ช่วยให้พวกเขา ได้ปลดปล่อยทุกสิ่งจากหัวใจจนหมดสิ้น ด้วยเธอตระหนักว่ากำลังช่วยเขาเหล่านั้นให้คลายความทุกข์ลง

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะพูดหรือคิดในมุมมองที่เต็มไปด้วยความเห็นผิด หรือด้วยความระทมขมขื่นก็ตาม เธอก็ยังสามารถรับฟังต่อไปด้วยจิตแห่งความเมตตาได้ เพราะเธอรู้ว่า การฟังแบบนี้ ด้วยจิตแห่งความเมตตา เธอกำลังมอบโอกาสให้พวกเขา บรรเทาความทุกข์ลงได้

หากเธอต้องการที่จะช่วยแก้ไขมุมมองความคิดของพวกเขา ให้เธอรอในโอกาสต่อไป แต่ในช่วงเวลาขณะนี้ เธอเพียงมอบการฟังอย่างลึกซึ้ง และช่วยให้เขาบรรเทาทุกข์ลง เพียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการเยียวยา

ความกลัว ความโกรธ และความสิ้นหวัง บังเกิดจากพื้นฐานมุมมองที่เห็นผิด พวกเราล้วนต่างมีมุมมองที่เห็นผิด ในการคำนึงถึงแต่ตนเอง และไม่สนอีกฝ่ายหนึ่ง และนี่เป็นรากฐานของความขัดแย้ง สงคราม และความรุนแรงทั้งมวล

ผู้คนควรจะเริ่มพูดต่อกันอย่างนี้ “เพื่อนรัก ฉันรู้ว่าคุณมีความทุกข์อย่างมาก ฉันไม่อาจทำความเข้าใจได้เพียงพอถึงความยากลำบากและความทุกข์ที่คุณมี มันไม่ใช่ความตั้งใจของฉันที่จะทำให้คุณทุกข์มากขึ้น มันตรงกันข้ามเลย ดังนั้นขอให้คุคุณกรุณาเล่าให้ฉันฟัง ถึงความทุกข์ที่คุณมี ความยากลำบากที่เผชิญอยู่ ฉันต้องการที่จะรับรู้และเข้าใจมัน”

บทสนทนาต้องเริ่มจากสิ่งนี้ ด้วยคำพูดที่เต็มเปี่ยมไปด้วยรัก และถ้าเธอมีความจริงแท้และซื่อตรงในใจ พวกเขาจะเปิดหัวใจออกและบอกกับเธอ

และเมื่อเราฝึกที่จะมอบความเมตตาด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ในท่ามกลางกระบวนการแห่งการฟังนั้น เราจะได้เรียนรู้อย่างมากมายเกี่ยวกับมุมมองของเราเองและมุมมองของพวกเขาด้วย

และนี่คือหนทางที่ดีที่สุด เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งความขัดแย้งทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากระหว่างตัวเธอกับครอบครัว ลูกกับพ่อ เจ้านายกับลูกน้อง แม้กระทั่งสงครามและการก่อการร้าย หลักการเดียวกันนี้ ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ว่ากับระดับความขัดแย้งรูปแบบใดก็ตาม…


 

การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

โสคราติส

“The Triple Filter Test of Socrates” การทดสอบ 3 ชั้นของโสคราติส

มีเรื่องเล่ากล่าวขาน ที่ได้รับการสืบต่อกันมาจากยุคสมัยที่อาณาจักรกรีกยังรุ่งเรือง เป็นเรื่องราวของนักปราชญ์คนสำคัญนามว่า “โสคราติส” ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง ได้เตือนสติผู้คนเกี่ยวกับเรื่องของการพูดและการฟังไว้ได้ดีมาก

วันหนึ่ง มีคนรู้จักบังเอิญได้พบกับ นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จึงพูดขึ้นว่า..”คุณรู้อะไรมั้ย? ผมเพิ่งได้ยินเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนของคุณมา”

“ช้าก่อน…” โสคราติสตอบ “ก่อนที่ท่านจะเล่าเกี่ยวกับเรื่องเพื่อนของข้า มันอาจเป็นความคิดที่ดี ถ้าจะใช้เวลาสักครู่ กลั่นกรอบเรื่องที่ท่านกำลังจะพูด ซึ่งข้าจะเรียกมันว่า “การทดสอบกลั่นกรองสามชั้น”

“กลั่นกรองสามชั้น?”

“ถูกต้องแล้ว” โสคราติสกล่าวต่อไป ตัวกลั่นกรองแรก คือ “ความจริง”

ท่านแน่ใจจริงๆหรือว่า สิ่งที่ท่านกำลังจะบอกข้า นั้นเป็นเรื่องจริง?”

“เปล่าหรอก…” ชายผู้นั้นตอบ “อันที่จริง ข้าก็แค่ได้ยิน เรื่องนี้มาเท่านั้นเอง แล้วก็…”

“เอาเถอะ เอาเถอะ ” โสคราติสกล่าว “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ไม่รู้ว่า เรื่องที่ท่านรู้มาจริง หรือเท็จ
คราวนี้มาลองทดสอบ ตัวกลั่นกรองตัวที่สองกันดู

ตัวกลั่นกรองที่สอง คือ “ความดี”

เรื่องที่ท่านกำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้าพเจ้า เป็นเรื่องดีหรือไม่?”

” อืม ก็ไม่นะ ที่จริงมันเป็นเรื่องตรงกันข้าม…”

“ถ้าเช่นนั้น” โสคราติส กล่าวต่อ “ท่านต้องการบอกข้า เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีของเขา แต่ท่านไม่แน่ใจว่า มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่…
ไม่เป็นไร ยังไงเสียท่านอาจจะ ผ่านการทดสอบนี้ก็ได้ เพราะยังเหลือตัวกลั่นกรองอีกหนึ่ง :

ตัวกลั่นกรองสุดท้ายนี้คือ “ความมีประโยชน์”

ท่านคิดว่าเรื่องที่ท่าน กำลังจะบอกข้าเกี่ยวกับเพื่อนของข้านั้น จะเป็นประโยชน์อะไรกับข้าหรือไม่?”

“จริงๆ มันก็ไม่เกี่ยวกับท่านนักหรอก”

“อืม…” โสคราติสสรุป “ถ้าเรื่องที่ท่านจะบอกข้านั้น ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องดี และ ไม่มีประโยชน์ เหตุใดท่านจึงอยากบอกข้าเล่า?”
……………..
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้โสคราติสเป็นมหาปราชญ์ และได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงนับตั้งแต่อดีต มาจนบัดนี้…
สรุปว่าตัวกลั่นกรอง 3 ชั้น ที่ควรรับฟัง ก็คือ 1 ความจริง 2 ความดี 3 ความมีประโยชน์

ก่อนที่จะพูดหรือกระจายข่าวเรื่องอันใด หากเราได้ทบทวน ใช้ตัวกลั่นกรองทั้ง 3 นี้ ก็จะทำให้เรารู้ว่า สิ่งใดควรพูด สิ่งใดไม่ควรพูด และหากเราเป็นผู้รับฟัง สามารถใช้เป็นเครื่องพิจารณาว่า ถ้าขาดทั้ง 3 สิ่งนี้ไป เราก็ไม่ควรจะปักใจเชื่อในทันที และลองมองอีกด้านว่าคนผู้นั้น อาจไม่ใช่คนที่หวังดีกับเราอย่างแท้จริงก็เป็นได้


 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Ads, Google Analytics

    Statistics

  • Google Analytics

    Statistics

  • Facebook

    Marketing/Tracking

  • ActiveCampaign

    Functional

  • ActiveCampaign

    Marketing/Tracking

Save