วิธีรับมือการทำงานหลายอย่างให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรา เป้าหมายที่ต้องการย่อมเป็นการทำสิ่งเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมที่สุด แต่หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก็คือ เรามีอะไรหลายอย่างให้ทำมากเกินไปในช่วงเวลาอันจำกัด และเมื่อต้องพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมๆ กันเข้าไปแล้ว ก็จะพบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเหล่านั้นลดลงอย่างน่าใจหาย
การทำงานหลายอย่างพร้อมกัน มีแนวโน้มที่จะพบกับความผิดพลาดจากการทำงานได้มากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเราจะมีความตั้งใจในการทำงานที่ลดลง มีสมาธิจดจ่ออยู่กับงานน้อยลงกว่าเดิม นั่นทำให้เกิดผลลบต่อการทำงานของเราขึ้นได้
สาเหตุที่ทำให้การทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เป็นเพราะว่าสมองจะมีระบบการประมวลผลในการทำงาน หากเราทำงานที่หลากหลายพร้อมกันสมองจะต้องแบ่งพลังในการประมวลผล โดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้สมาธิทุ่มเทในการทำในระดับมากเท่าๆ กัน
สมองแบ่งการทำงานของตามกิจกรรมที่ทำในขณะนั้นๆ กล่าวคือ ขณะที่เราฟัง เรามองเห็นภาพ มีการเคลื่อนไหว หรือมีการใช้ภาษา จะใช้สมองคนละส่วนกัน
ดังนั้นหากเราทำกิจกรรมมากกว่าหนึ่งอย่างที่ใช้พื้นที่สมองเดียวกัน เช่น การฟังเพื่อนเล่าเรื่องหนุ่มคนใหม่ให้ฟังพร้อมๆ กับฟังดาราคนโปรดให้สัมภาษณ์ทางรายการวิทยุไปด้วย ก็จะพบว่าเราจับใจความทั้งสองเรื่องได้ไม่ค่อยดีนักเพราะเป็นงานด้านการฟังที่ขัดแย้งกัน หรือหากเราอ่านนิยายไปด้วยและคุยโทรศัพท์กับแฟนไปด้วย ก็จะพบว่าเราเข้าใจนิยายไม่ได้เต็มที่ นั่นเป็นเพราะว่าทำงานด้านภาษาที่ขัดแย้งกัน และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคุณลองนอนยกขาขวาขึ้นสูงพร้อมกับสลับเอาแขนซ้ายลงมาดูค่ะ จะพบว่าการเคลื่อนไหวจะเป็นไปแบบงงๆ ก็เป็นเพราะเราทำงานด้านการเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกันนั่นเองนะคะ
ข่าวดีก็คือ เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ โดยลองทำตามวิธีแนะนำของเราในวันนี้กันนะคะ
หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้ทักษะเหมือนกันพร้อมๆ กัน
เช่น หากคุณอยู่ในขณะขับรถไม่ควรพิมพ์แชทกับเพื่อนไปด้วยเนื่องจากเป็นการทำงานด้านการเคลื่อนไหวเหมือนกัน แต่สามารถฟังเพลงขณะขับรถไปด้วยได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเป็นการทำงานด้านการฟังและการเคลื่อนไหว
หากคุณอ่านหนังสือหรือทำงานแล้วอยากฟังเพลง
ควรเลือกเพลงบรรเลงแทนเพลงที่มีเนื้อร้อง หรือเลือกฟังเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาที่เราแปลไม่ออกแทน เนื่องจากสมองจะได้ไม่ต้องใช้การประมวลผลทางด้านภาษา ซึ่งจะดีกับการทำงานของคุณมากกว่า
หากคุณต้องสลับไปทำงานอีกอย่าง ให้พักสักครู่ก่อนเริ่มงานใหม่
วิธีนี้จะช่วยให้การเริ่มงานใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้คั่นกลางด้วยกิจกรรมง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การรดน้ำต้นไม้ การเก็บเสื้อผ้า เพื่อให้สมองคุณได้พักหลังจากที่ผ่านการใช้ความคิดมากๆ
รู้จักจัดลำดับความสำคัญงานจึงจะสำเร็จ
สิ่งใดๆ ที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 4 ด้านได้แก่ ด้านการงาน ด้านความสัมพันธ์ งานอดิเรกการพักผ่อน และสุดท้ายคือเรื่องของสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เราควรกำหนดเป้าหมายในชีวิตของเราให้ได้ก่อนว่าเป็นด้านใด เมื่อเรามีเป้าหมายแล้วจึงจะสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่เราทำว่า สอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิตของเราหรือไม่
โดยให้เราแบ่งกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้ คือ งานด่วนและทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น, งานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่รีบด่วน และงานที่ไม่ด่วนและไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น
เมื่อมีกิจกรรมใดๆ ก็ตามเข้ามาในชีวิตเราให้นำกิจกรรมเหล่านั้นเข้ามาใส่ในหมวดหมู่ 4 ประเภทข้างต้น
หากเรามีงานหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิตพร้อมกัน ก็ให้เลือกทำงานด่วนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยทำงานด่วนแต่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น และงานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่ไม่ด่วน ส่วนจะทำอย่างไรกับงานประเภทสุดท้ายน่ะเหรอคะ คำตอบก็คือโยนมันทิ้งไปได้เลยค่ะ ตลอดกาล!
เห็นไหมคะว่าเพียงเท่านี้เราก็จะสามารถจัดการกับงานต่างๆ ในชีวิตของเรา และรับมือไหวไม่ว่าจะมีงานเข้ามาพร้อมกันหลายๆ งานก็ตามทีค่ะ
บทความโดย Learning Hub Thailand
เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน