อยากเคลียร์ปัญหาทีไร ทำไมยิ่งแย่กว่าเดิม
หลาย ๆ คน พอมีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน หรือคนใกล้ตัว ก็จะรีบเคลียร์ พยายามคุยให้จบ ซึ่งกลายเป็นแย่ลง… หลาย ๆ ครั้ง ก็มักจะบานปลายไปกันใหญ่… ถ้าเป็นแบบนี้ ควรจะแก้ยังไงดี?
ผมพอจะสรุปแนวทางจัดการปัญหาที่คนทั่วไปใช้ เมื่อเกิดความขัดแย้งกับคนใกล้ชิด ได้ดังนี้
วิธีแรก เปิดอกเคลียร์กันด้วยเหตุผล
ทำแบบนี้ทีไร มักเกิดการโต้เถียงกัน สุดท้ายหากเหตุผลแน่นกว่า คุณเป็นฝ่ายถูก เขาก็ต้องยอมรับ แต่ทุกครั้งกลับพบว่า บรรยากาศระหว่างนั้นจะอึดอัดตึงเครียด และความสัมพันธ์หลังจากนั้นมักแย่ลงเสมอ
ต่างคนแยกจากกันด้วยความรู้สึกไม่ดี ทำให้บางคนออกห่าง ไม่มาปรึกษาคุณอีก หรือไม่สนิทกันเหมือนเดิม
บางครั้งก็จะมีปัญหาว่า คุณอยากจะเคลียร์ปัญหาเรื่องนี้ แต่อีกฝ่ายกลับหลบลี้หนีหน้า หรือบ่ายเบี่ยงไปเรื่องอื่น หรือทำเฉยชาไม่สนใจ ก็ยิ่งทำให้โมโห และไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่คุยกันให้จบ ๆ ไป
วิธีที่สอง ไม่อยากเผชิญหน้า ทำเนียนเปลี่ยนเรื่องไป
การทำแบบนี้อาจทำให้สถานการณ์เบาลง แต่เมื่อปัญหายังไม่ถูกแก้ไข แล้วเกิดประเด็นปัญหาเดิมซ้ำขึ้นมาอีกครั้ง และอีกครั้ง ทำให้ในที่สุดจะมีคนทนไม่ไหว ระเบิดออกมา อีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจ ว่าทำไมถึงไม่พอใจได้ขนาดนี้ ก่อนนี้ไม่เห็นจะเดือดร้อนอะไรนี่นา
การรักษาสัมพันธ์โดยทำเปลี่ยนเรื่องไป หาเรื่องอื่นมาเอาใจ พยายามทำอะไรก็ได้ให้ลืม ๆ มันไป จะทิ้งปัญหาไว้ให้อยู่ในที่ ๆ เดิม รอวันปะทุขึ้นมาใหม่…
วิธีที่สาม ใช้วิธีอดทน และให้อภัย
ช่วงแรก ๆ ก็พอทนไปได้ นาน ๆ ไป คุณกลับรู้สึกเครียด อึดอัด เก็บกด มากเข้า ๆ วันหนึ่งก็จะปะทุ ปรี๊ดแตกทะลุปรอทขึ้นมา อีกฝ่ายก็จะตกใจ งง ไม่เข้าใจ แล้วถามว่า ทำไมเพิ่งจะมาบอกว่าไม่โอเคกับเรื่องนี้
คุณก็จะบอกอย่างเหลืออดว่า ไม่ชอบมาตั้งนานแล้ว แต่คิดว่าน่าจะสังเกตได้บ้าง เรื่องแค่นี้น่าจะรู้ได้เอง น่าจะปรับปรุงตัวเองได้ เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ น่าจะเข้าใจ เรื่องเล็ก ๆ ไม่น่าให้มันเป็นเรื่องเลย
แต่หารู้ไม่ว่า เพราะคุณเองนั่นแหละ ที่เก็บเรื่องเล็ก ๆ ไว้ จนบานปลายเป็นเรื่องใหญ่โต แล้วพอความสัมพันธ์ร้าวไปแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเหมือนเดิมได้…
สรุปแล้ว ทั้งสามวิธี ไม่น่าจะใช่วิธีที่ดีในการจัดการความขัดแย้ง หรือดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่ใช้วิธีทั้งสามนี่แหละ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กลับไปกลับมา แล้วก็สงสัยว่า ทำไมความสัมพันธ์ไม่เวิร์ค
ตรงก็แล้ว หยวนก็แล้ว ไม่สนใจก็แล้ว แต่ทำไม ปัญหาไม่เคยหมดไปเสียที จะทำยังไงดี มีวิธีอื่น ๆ อีกไหม
ผมมีแนวทางที่ทำให้คุณสามารถจัดการกับความขัดแย้งในความสัมพันธ์ได้อย่างน่าทึ่ง.. สรุปออกมาเป็นกระบวนการ 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. หยุดไว้ชั่วคราว
เมื่อเกิดความไม่ลงรอยใด ๆ ขึ้น ทำท่าจะบานปลาย เป็นการปะทะคารม ให้คุณหยุดการโต้เถียงทันที โดยการขอเวลานอก เดินแยกตัวออกมาจากสถานการณ์นั้นก่อน ป้องกันการลุกลามจนเป็นการทะเลาะที่รุนแรง
เพราะถ้าไม่เข้าใจกันแล้ว ต่างหาเหตุผลมาปกป้องความคิดตัวเอง จะไม่มีใครฟังใคร มีแต่อยากเป็นฝ่ายพูด และบังคับให้อีกฝ่ายเชื่อ หรือยอมตาม ซึ่งย่อมจะไม่เกิดผลใด ๆ นอกจากจะทำให้เหตุการณ์ตึงเครียดรุนแรงมากขึ้น
2. ดูแลใจตัวเอง
พอคุณห่างจากเหตุการณ์ออกมาแล้ว ตอนนี้ให้ใช้เวลาเงียบ ๆ กับตัวเอง ทิ้งระยะให้สงบสติอารมณ์ได้ก่อน แล้วเริ่มถามตัวเองว่า ไม่พอใจอะไร คุณไม่จำเป็นต้องทน หรือทำเป็นยินยอม ทั้งที่ใจจริงไม่ยอม และขอให้มองความต้องการของตัวเองให้ออก ว่าอยากให้ออกมาในรูปแบบไหน อะไรที่ขาดหายไป
3. พร้อมรับผิดชอบ
เมื่อชัดเจนกับตัวเองแล้ว ให้ถามตัวเองว่า คุณพร้อมจะเข้ามารับผิดชอบในความขัดแย้งครั้งนี้ไหม คนทั่วไป มักจะโทษอีกฝ่าย ว่าเป็นสาเหตุของเรื่องราว เขาทำให้เราเสียใจ เขาต้องมาขอโทษเราสิ เขาต้องทำนู่น ทำนี่ ให้พอใจ คุณถึงจะยอมดีด้วย ถ้าใครคิดแบบนี้ คงต้องรอไปอีกนาน เผลอ ๆ ไม่มีวันกลับมาดีกันได้อีกเลย
แต่หากมองให้ดี ทุกปัญหา คุณมีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยเสมออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แต่ให้มองว่า มีอะไรที่คุณทำได้ มีอะไรที่คุณแก้ปัญหาได้บ้าง เฉพาะในส่วนของตัวคุณเอง ให้คำมั่นกับตัวเองว่า จะรับผิดชอบสานสร้างความสัมพันธ์ให้กลับคืนมา
4. ปล่อยวางคำตัดสิน
เมื่อเข้าใจตนเองแล้ว ให้ลองมองว่า คุณจะวางความเห็นส่วนตัวไว้ชั่วครู่ แล้วเริ่มมองเหตุการณ์เดิมในมุมมองของอีกฝ่าย ไม่ต้องมองว่าใครผิดใครถูก คุณอาจจะไม่เข้าใจ แต่เป็นไปได้ไหม ว่าจะ “ยอมรับ” อย่างที่มันเกิดขึ้น อย่างที่เขาเป็นก่อน
5. ให้อภัย
ขั้นตอนนี้สำคัญมาก ๆ คุณจะไม่สามารถสานสร้างความสัมพันธ์ใด ๆ กลับมาได้ หากยังโกรธ และไม่พร้อมจะให้อภัย คุณจะไม่สามารถเคลียร์ใจ คุยเปิดอกกับใครได้ หากยังมองว่าเขาผิด คุณถูก หรือเขาด้อยกว่า คุณเหนือกว่า
จะสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจได้ ต้องมาจากความเท่าเทียมและปราศจากการกล่าวโทษ
คุณต้องใช้จิตใจที่มีเมตตา เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ถึงจะให้อภัยคน ๆ หนึ่งได้โดยไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าเขายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่คุณสามารถให้อภัยเขาก่อนได้
6. กล้าเปราะบาง
ปล่อยวางความเป็นผู้ถูก ความที่คุณต้องดูดี วางหัวโขนใด ๆ ที่สวมใส่ไว้ ไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไร แล้วยอมเปราะบาง ยอมห่วย ไม่ต้องดีก็ได้ ยอมอ่อนแอ ไม่ต้องเก่งก็ได้ เป็นเพียงคนธรรมดา ๆ ที่พร้อมจะเรียนรู้และรับฟัง พร้อมจะมองจากมุมมองที่แตกต่าง พร้อมจะทำความเข้าใจ และไม่ปกป้องตัวเอง
มาถึงจุดนี้ คุณสามารถปลดพันธนาการทางใจออกไปได้ คุณพร้อมแล้วที่จะเดินเข้าไปหาเขา ขอโทษในสิ่งที่ทำผิด ให้อภัยในความพลาดพลั้งไม่ตั้งใจของเขา คุณพร้อมจะเปิดใจและพร้อมที่จะรับฟัง เรียนรู้ในมุมมองของเขา
7. สื่อสารโดยไม่คาดหวัง
ให้คุณสื่อสารด้วยความเท่าเทียม เคารพในความคิดเห็น มุมมองของเขา ไม่พยายามยัดเยียดความคิดของคุณ ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดเขา ไม่พยายามแก้ไข ไม่คาดหวังว่าเขาจะเข้าใจ ตอบรับ หรือมาคืนดี นั่นไม่สำคัญเลย
สิ่งสำคัญก็คือ คุณเคลียร์ใจตัวเองได้หมดแล้ว ไม่ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร ก็ไม่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกของคุณที่มีต่อเขาได้
“คำพูด” ไม่ว่าจะเต็มไปด้วยเหตุผลมากแค่ไหน ไม่อาจเปิดใจของเขาได้ เท่ากับ “ท่าทีของคุณ” ที่เข้าไปพูดกับเขาด้วยความรักและมิตรภาพ ปราศจากโทสะและกำแพงแห่งอคติ เหมือนก่อนหน้านี้
มีข้อสังเกตว่า ข้อสุดท้ายนี้ เป็นเพียงข้อเดียว ที่คุณมีการกระทำหรือปฏิสัมพันธ์กับคู่กรณี ส่วนข้อ 1-6 นั้น เป็นการเตรียมเรื่องภายในใจของคุณเพียงฝ่ายเดียว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กระบวนการจัดการความขัดแย้งที่กล่าวมา ไม่ได้เกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสาร ทักษะการพูด หรือการปฏิบัติตัวอย่างให้เหมาะสมอย่างไรเลย หัวใจสำคัญก็คือ “การจัดการอารมณ์ภายในใจ” ของคุณล้วน ๆ
ดังนั้น “ก่อนจะเคลียร์ปัญหากับใคร ให้เคลียร์ใจของตัวเองก่อน”
บทความโดย
CEO เรือรบ
ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand
เรายินดีออกแบบหลักสูตรเฉพาะ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรของคุณ ปรีกษาเราได้ที่ Line @lhtraining
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน