5 แก่นแท้สู่การเป็นผู้นำชั้นยอด
ทราบไหมว่า สิ่งที่ทำให้ผู้นำหลายคนล้มเหลว คืออะไร ทั้งที่บางคนมีความเฉลียวฉลาดถึงระดับวัดไอคิวได้เป็นอัจฉริยะ ผลงานส่วนบุคคลอยู่ในระดับเหรียญทอง หรือมีบุคลิกภาพดีจนน่าเลื่อมใส แต่สุดท้ายคนเหล่านั้นกลับไม่สามารถคุมองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้จนเป็นที่ร่ำลือมาต่อเนื่องยาวนาน
คำตอบก็คือ ผู้นำเหล่านี้ขาดสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)’
จากการค้นคว้าวิจัย หาความสัมพันธ์ของบรรดาผู้นำในองค์กรและระดับความสำเร็จที่เกิดขึ้น พบว่ายิ่งผู้นำฉลาดทางอารมณ์เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างสดใสมากเท่านั้น
=====
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่เรียนรู้และพัฒนาได้ ประกอบไปด้วย 5 แก่นหลัก ได้แก่ การรู้จักตัวเอง การควบคุมตนเอง แรงกระตุ้นจูงใจ ความเห็นอกเห็นใจ และทักษะทางสังคม
1.การรู้จักตัวเอง
ไม่ใช่เพียงรู้ว่าตัวเองเป็นใครในองค์กรเท่านั้น แต่ต้องรู้เท่าทันว่าตนเองมีคุณสมบัติอะไร อะไรคือข้อดี อะไรคือข้อเสีย และปรับใช้สิ่งเหล่านั้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ผู้นำชั้นยอดจะรู้จักปฏิเสธ ถ้าโปรเจคที่ได้รับข้อเสนอมานั้นไม่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนค่อนข้างอารมณ์ร้อน แต่ต้องทำงานกับหัวหน้าอารมณ์ร้อนพอๆ กันภายใต้สถานการณ์กดดันตลอดเวลา แบบนั้นก็จะคิดให้หนักก่อน
หรือผู้นำที่รู้จักตัวเองอาจจะรับงานดังกล่าว แต่มอบหมายให้ผู้นำระดับรองลงไปที่มีความอดทนดีกว่า เป็นคนเข้าไปจัดการแทน เป็นต้น
ถ้าคุณคิดว่ารู้และเข้าใจตัวเองดีพอแล้ว คุณจำเป็นต้องนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ศึกษาวิธีการนำความรู้จักตัวเองมาเป็นการปรับตัวได้ที่นี่
=====
2.การควบคุมตนเอง
ลืมเรื่องเล่าอย่างบอสจอมทำลายข้าวของและด่ากราดไปได้เลย เพราะคนเป็นผู้นำต้องมีน้ำอดน้ำทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวเองในการทำงานกับคนอื่น ลองนึกถึงผู้นำที่ยังใจเย็นได้ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุ เป็นใครก็ย่อมเคารพนับถือ
ผู้นำที่ควบคุมตนเองได้จะถูกมองว่ามีเหตุผลและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดี รวมถึงไม่แสดงอาการร้อนรน สามารถพาทีมก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้ดีไปด้วยนั่นเอง
=====
3.แรงกระตุ้นจูงใจ
เชื่อว่าคนทำงานที่ไหนต่างก็มีแรงกระตุ้นทั้งนั้น แต่การเป็นหัวหน้าทีม จะต้องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง แรงกระตุ้นในเรื่องเงินกับแรงกระตุ้นในเรื่องงาน
ผู้นำที่ทุ่มเทเพื่อให้ผลงานออกมาดี ด้วยความลุ่มหลงและความรักในงาน มีพลังงานที่จะทำงานอย่างล้นเหลือ ย่อมจะทำให้ลูกทีมเห็นถึงแบบอย่างที่ดี จนอยากจะร่วมมือผลักดันให้งานสำเร็จมากกว่าจะรอจังหวะหยิบฉวยผลประโยชน์เพื่อตัวเอง
=====
4.ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ไม่ว่าใครก็ล้วนอยากได้ความเข้าใจและความเห็นใจ ในชีวิตส่วนตัวคนอาจจะเห็นใจกันได้แต่เมื่อเข้าสู่เรื่องธุรกิจก็มักจะเต็มไปด้วยความเขี้ยวจนไม่ค่อยคิดถึงจิตใจกันสักเท่าไหร่
เหมือนประโยคที่บอกว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องธุรกิจ” แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำธุรกิจจะเห็นอกเห็นใจกันไม่ได้
ผู้นำไม่จำเป็นต้องแคร์คนในทีมถึงขนาดที่ต้องทำให้ทุกคนโอเคหรือเอาใจทุกคนเกินเหตุ แต่ในยามที่ต้องตัดสินใจหรือคิดถึงการทำงาน ผู้นำจะนำความรู้สึกของคนในทีมมาใคร่ครวญด้วยเพื่อหาหนทางที่จะสร้างสมดุลระหว่างการตัดสินใจกับความรู้สึกของผู้อื่นให้ได้มากที่สุด
=====
5.ทักษะทางสังคม
ในแก่นของความฉลาดทางอารมณ์ 3 ข้อแรกคือการเน้นไปที่ตัวเอง ส่วน 2 ข้อหลังจะเน้นไปที่คนอื่น ข้อนี้คือการเข้าสังคมที่ไม่ได้หมายความถึงการแต่งตัวเป็น ออกงานบ่อย สร้างภาพดีแต่อย่างใด
ทักษะเข้าสังคมของผู้นำ คือการมีมนุษย์สัมพันธ์อย่างมีจุดมุ่งหมาย รู้ว่าคนในสังคม (หมายถึงคนในทีมและคนภายนอก) เป็นอย่างไร มีทักษะว่าจะจูงใจคนให้มารวมกัน ปลุกเร้าให้คนเดินไปในทิศทางใด ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในธุรกิจ ก็สามารถใช้ทักษะโน้มน้าวคนจำนวนมากให้คล้อยตามได้
แก่นแท้ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา ทักษะข้อสุดท้ายมีความสำคัญมากที่สุด เพราะลูกทีมย่อมคาดหวังว่าผู้นำจะต้องหลอมคนในทีมให้เป็นหนึ่งเดียว แต่นั่นก็หมายความว่าผู้นำคนนั้นจะต้องมี 4 ข้อก่อนหน้านี้เป็นพื้นฐานก่อนนั่นเอง
=====
ถ้าคุณต้องการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำทั้ง 5 อย่างจริงจัง ขอแนะนำหลักสูตร High Performance Leader ที่เชื่อมโยงทฤษฎีสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง ดูรายละเอียดที่นี่
เรียบเรียงจาก “What Makes a Leader?” โดย Daniel Goleman จาก Harvard Business Review มกราคม 2014
เรียบเรียงโดย Learning Hub Thailand – เราพัฒนาคนในองค์กร ให้เพิ่มศักยภาพและทำงานอย่างมีความสุข
ปรึกษาเรื่องการพัฒนาทีมในองค์กร ติดต่อ Line @lhtraining หรือ โทร 094 959 2645
Recent Posts
- 3 กติกาง่าย ๆ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุขในการประชุม
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนคนเบื่องาน ทะยานสู่ TOP 5 ในออฟฟิศ
- 5 เคล็ดลับ เปลี่ยนวันจันทร์ ให้เป็นวันสุข
- 5 วิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานเจ้าอารมณ์
- 7 ขั้นตอนทำงานร่วมกับเจ้านายดุให้มีประสิทธิภาพและมีความสุข
- วิธีทำชีวิตช้าลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- 5 เทคนิครับมือกับเพื่อนร่วมงานเจ้าปัญหา
- 7 เทคนิค เลือกลูกน้องอย่างไรไม่ให้เปลี่ยนงานบ่อย
- 4 ขั้นตอน ลดความขัดแย้งภายในทีม
- 8 วิธีสร้างความน่าเชื่อถือในที่ทำงาน